×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการเกษตร

October 25, 2017 11647

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นยำและทรงให้ความสำคัญมาโดยตลอดว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม ดังพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ว่า

 

“...เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและต้องยึดอาชีพนี้มาและไม่ใช่เพราะเหตุนั่นเท่านั้นเอง แต่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใดจะอยู่ได้ก็เพราะว่ามีกสิกรรม การประกอบอาชีพ ในด้านผลิตผลที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งในด้านที่จะเป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผลไม้ หรือทำมาหากินในด้านปศุสัตว์หรือประมง...”

 

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริบนหลักการสำคัญ คือ การทำเกษตรแบบยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า เน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างประหยัดที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำการเกษตรของเกษตรกรให้เหลือน้อยที่สุด และต่อจากนี้คือหลากหลายโครงการในพระราชดำริของพระองค์ที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนชาวไทยอย่างได้ผล

 

 

 

การพัฒนาแหล่งน้ำ หัวใจเกษตรกรรมยั่งยืน

พระองค์ตรัสอยู่เสมอๆ กับคณะทำงานว่า “น้ำนั้นคือชีวิต และโดยเฉพาะชีวิตของเกษตรกรนั้นก็คือปัญหาเรื่องน้ำ” พร้อมทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานแนวทางสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำไว้ด้วยว่า

“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ ก็คือ การควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อน้ำมีปริมาณมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง...”

 

และจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ยังทำให้พระองค์ทรงทราบถึงสาเหตุแห่งความยากจนของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำมาหากินในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญว่า ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนามักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำกิน และน้ำใช้ เพื่อการเกษตร จึงไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรให้ได้ประสิทธิผลตามมุ่งหมาย 

 

ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จึงเป็นงานส่วนใหญ่ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ และมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา หรือบรรเทาความเดือดร้อน จนสามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของราษฎร ในการจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ในท้องที่ซึ่งขาดแคลนน้ำ ให้มีน้ำใช้ทำการเพาะปลูกพืช สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนจัดหาน้ำให้แก่ราษฎรในเขตโครงการ ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอีกด้วย

 

 

 

ทั้งนี้ งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ที่นิยมก่อสร้างกันทั่วไปมีหลายประเภท ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ อย่างงานอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งเก็บน้ำที่ไหลมาตามร่องน้ำหรือลำน้ำธรรมชาติ โดยการสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขา หรือเนินสูง เพื่อเก็บกักน้ำรวมไว้ในระหว่างหุบเขา หรือเนินสูงนั้น จนเกิดเป็นแหล่งเก็บน้ำที่มีขนาดต่างๆ กัน โดยเรียกเขื่อนกั้นน้ำนี้ว่า “เขื่อนเก็บกักน้ำ” หรือ งานฝายทดน้ำ เป็นงานก่อสร้างฝาย ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง จนสามารถผันเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำ ให้พื้นที่เพาะปลูกตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามสันฝายไปเอง

 

ต่อมาการวางโครงการ และก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตามพระราชดำริ ได้ขยายออกไปตามภาคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แห่งแรกในภาคเหนือเริ่มก่อสร้างโครงการแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 และกระจายไปเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ปีละหลายสิบโครงการ จนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2529 กรมชล-ประทาน ได้ทำการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตามพระราชดำริขนาดต่างๆ รวมทั้งหมดมากกว่า 700 โครงการ เช่น ภาคเหนือ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 188,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ โครงการเขื่อนระบายน้ำน้ำเชิน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 25,000 ไร่ และ ภาคใต้ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน อำเภอ เมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,800 ไร่ เป็นต้น



แนวพระราชดำริ อนุรักษ์และพัฒนาดิน 

ในส่วนของงานอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดิน ซึ่งประสบปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินจึงต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปตามสภาพดินในแต่ละพื้นที่ เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุ ในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โดยมีหนึ่งในพระราชดำริด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ดินที่ชาวไทยรู้จักกันดีนั่นคือ การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธี “แกล้งดิน”

 

แนวพระราชดำริ “แกล้งดิน” เกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์ทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ปรับดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ ทำการเพาะปลูกได้ โดยพระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี “แกล้งดิน” เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวถึงขีดสุด จากนั้นทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถัน เพื่อทำให้ดินเปลี่ยนสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง แล้วจึงปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวได้

 

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงริเริ่มนำ “หญ้าแฝก” มาเป็นวิธีอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นดินที่เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะสภาพดินในพื้นที่เชิงเขาที่มีสภาพเสื่อมโทรมเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2534 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกแก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน กปร. ในขณะนั้น ว่า ให้ศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน นับเป็นวิธีที่ง่ายๆ ประหยัด และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ยกตัวอย่าง ที่โครงการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี ได้นำวิธีนี้ไปศึกษาวิจัย และสาธิตในท้องที่ต่างๆ เมื่อเกษตรกรได้รับทราบและนำไปปฏิบัติก็บังเกิดผลที่น่าพอใจดังที่คาดหมายไว้



กังหันชัยพัฒนา ปรับน้ำเสียให้เป็นน้ำดี

ปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดจากสภาพน้ำเสียในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะในเขตเกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล หรือต่างจังหวัด เป็นปัญหาที่อยู่ในสายพระเนตรมาโดยตลอด เนื่องด้วยพระองค์ทรงตระหนักถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยาก ของราษฎรที่ต้องประสบกับปัญหานี้ เป็นที่มาให้ทรงคิดค้นนวัตกรรมบำบัดน้ำเสีย ชื่อว่า “กังหันชัยพัฒนา” ขึ้น เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการหมุนปั่นเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี ซึ่งบังเกิดผลดีต่อการพัฒนาและบำบัดแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Chaipattana Low Speed Surface Aerator) Model RX-2 หมายถึง Royal Experiment แบบที่ 2 มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้แบบอเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1.00 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3.00 เมตร โดยนวัตกรรมของพระองค์ชิ้นนี้ ได้สร้างขึ้นเป็นต้นแบบในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยได้นำไปติดไว้ในพื้นที่ทดลองซึ่งก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง

 

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 กังหันชัยพัฒนา ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ จึงนับได้ว่าเป็น สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก และยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย เช่น ถ้วยรางวัล MINISTER J. CHABERT เป็นรางวัลผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น มอบโดย Minister of Economy of Brussels Capital Region และถ้วยรางวัล Grand Prix International เป็นรางวัลผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น มอบโดย International Council of the World Organization of Periodical Press เป็นต้น

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา จึงได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพด้านบำบัดน้ำเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องด้วยผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นได้จริง ด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิผลมาก 

 

  

 

ฝนหลวง น้ำพระทัยฉ่ำเย็นสู่ปวงประชา

เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราช-ดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรภาคอีสานในปี พ.ศ. 2498 ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และสำหรับทำการเกษตร จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานโครงการในพระราชดำริ “ฝนหลวง” (Artificial Rain) เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพ-มหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ 

 

โดยการทำ “ฝนหลวง” นี้มีทฤษฎีต้นกำเนิด หลักการแรก คือ ให้โปรยสารดูดซับความชื้น (เกลือทะเล) จากเครื่องบิน เพื่อดูดซับความชื้นในอากาศ แล้วใช้สารเย็นจัด (น้ำแข็งแห้ง) เพื่อให้ความชื้นกลั่นตัวและรวมตัวเป็นเมฆ จากทฤษฎีนี้ พระองค์ทรงใช้เวลาอีก 14 ปี ในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ พระราชทานให้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด

 

จนกระทั่งเกิดการทดลองในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะปฏิบัติงานสนองพระราชประสงค์  หม่อม-ราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้น กราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อให้ทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามพระ-ราชประสงค์แล้ว ดังนั้น ในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ.2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลอง และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากประชาชนในพื้นที่ว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้ เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

 

ที่ผ่านมา ฝนหลวงนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับการกักเก็บน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรในสภาวะแห้งแล้งเท่านั้น หากรวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ ให้มีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้ใช้ตลอดปีอีกด้วย

 

 

เรื่อง :  กองบรรณาธิการ

 

X

Right Click

No right click