×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ A Passion for Sustainability

June 22, 2018 4352

อย่างยั่งยืน (Sustainable) กลายเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในแทบทุกอุตสาหกรรม เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้แบรนด์หรือธุรกิจที่ตนเองใช้บริการมีจริยธรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคมรอบตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และแน่นอนว่าธุรกิจก็รับทราบเรื่องนี้และพยายามทำตัวเองให้เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้บริโภค

และการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล เครือข่ายสื่อสารคือสิ่งสำคัญที่คอยเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการกิจกรรมต่างๆ สภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจของกิจการต่างๆ
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค คือผู้หนึ่งที่สามารถอธิบายเรื่องความพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจผ่านกลไกต่างๆ ได้อย่างดี ด้วยหน้าที่รับผิดชอบที่เธอทำอยู่ ทั้งการดูแลงานสื่อสารองค์กร ที่มีหน้าที่ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของดีแทคทั้งหมด

ภายในองค์กรโดยเฉพาะพนักงานที่เธอเข้ามาเปลี่ยนวิธีการสร้างความมีส่วนร่วมกับพนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานที่มีความหลากหลายทั้งเพศ วัย การศึกษา พื้นฐานครอบครัวให้เข้าใจและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร เพื่อผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมาย
ในขณะที่การสื่อสารกับภายนอกองค์กรผ่านการทำงานร่วมกับสื่อสารมวลชนต่างๆ ก็ต้องสร้างความเข้าใจจุดยืนของดีแทคต่อเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเรื่องการช่วยสร้างประเทศไทย 4.0 ด้วยทรัพยากรที่ดีแทคมีอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับอีกงานที่เธอทำอยู่คือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เธออธิบายผ่านตัวอย่างว่า “สิ่งที่ดีแทคเน้นย้ำคือเราต้องการเป็น CSR in Process คือการให้บริการต่างๆ เราแสดงความรับ
ผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้า ต่อพนักงาน อย่างไร ตัวอย่างเช่น เราเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่ให้พนักงานลาคลอดได้ 6 เดือน โดยยังจ่ายเงินเดือน เรามองว่าเป็นความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคนซึ่งควรจะได้รับจากดีแทค เวลาทำงานกับดีแทคคุณต้องรู้สึกว่า ดีแทคแคร์คุณ พร้อมจะช่วยลดอุปสรรคในการทำงานให้คุณ และพร้อมจะให้ผู้หญิงไต่บันไดความสำเร็จในการทำงานในองค์กรให้มากที่สุด”
อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของดีแทคคือการดูกระบวนการดำเนินธุรกิจภายในให้ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางธุรกิจ เช่นมีทีมตรวจสอบ Supply Chain Sustainability ตรวจสอบการทำงานต่างๆ มีรายการที่ผู้ที่มาทำงานร่วมด้วยต้องตอบหลากหลาย เช่น การใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงานในองค์กรนั้นๆ

“ดีแทคตั้งใจว่าดูไปจนสุดสาย ไม่ใช่เซ็นกับบริษัทใหญ่แล้วจบ เราตามไปจนสุดสายที่เขา Sub ไปจนสุด ทีมเราลงไปตรวจจนสุดสาย ไปตรวจโดยไม่บอกล่วงหน้า และถ้าพบจุดบกพร่องเราจะแจ้งเตือน 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 เราจะหยุดสัญญาแล้วไม่ทำธุรกิจร่วมทันที เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจในประเทศที่เป็นบริษัทเล็กบริษัทน้อยจะยกระดับตัวเองขึ้นมาตามมาตรฐานสากล”

และดังที่ทราบกันดีว่า ดีแทคเป็นธุรกิจสื่อสารที่สนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ การช่วยพัฒนาสังคมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นอีกสิ่งที่ดีแทคทำได้ดี ตัวอย่างเช่น Smart Farmer ที่เกิดขึ้นมานานแล้วและกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อสร้างสังคมเกษตร-กรรมที่ยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปให้บริการกับเกษตร

อีกโครงการคือ DTAC Safe Intenet ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้ที่ถูกรังแกเริ่มจากการรังแกกันในโลกไซเบอร์สู่การรังแกในทุกด้าน โดยปีที่ผ่านมาโครงการนี้ช่วยเหลือคนไปกว่า 500 กรณี โดยทำงานร่วมกับ Path2Health และหน่วยงานด้านจิตวิทยาของภาครัฐที่มาร่วมสนับสนุนโครงการนี้
และล่าสุดคือโครงการพลิกไทย ที่มีโครงการร่วมสมัครเข้ามากว่า 500 โครงการ ผ่านการคัดเลือก 10 โครงการเพื่อที่ดีแทคจะช่วยระดมทุนและหาอาสาสมัครเข้าไปร่วมทำกิจกรรมดีๆ ให้เกิดขึ้น เช่น เครื่องสอนอักษรเบลล์ในรูปแบบเกม ของครูเบนซ์ ที่อยากให้คนตาบอดอ่านออกเขียนได้ และโครงการตะบันน้ำ ที่ช่วยสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักขึ้นไปให้พื้นที่ด้านบนสองข้างแม่น้ำใช้ทำเกษตรกรรม โดย
พี่ดิว เพื่อให้ผู้คนในบริเวณนั้นได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและร่วมกันรักษาดูแลแม่น้ำป่าสัก ช่วยลดตะกอนดินที่จะตกมาทับถม จนรัฐบาลต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาทต่อปีเพื่อขุดลอกตะกอนดินที่ตกค้างในแม่น้ำป้องกันน้ำท่วม

ร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมที่ยั่งยืน

อรอุมาเล่าว่าดีแทคเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้คนที่มีความหลากหลาย ได้ทำงานร่วมกันโดยใช้ความหลากหลายนั้นผลักดันองค์กรด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่อรอุมาบอกว่า เปิดกว้างที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศไทย การทำงานแบบไม่มีระบบสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน ช่วยให้เธอสามารถผลักดันโครงการเช่น พลิกไทย ด้วยการเสนอแนวคิดและได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว โดยมีเงื่อนไขที่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งขององค์กรคือ หากล้มต้องหยุดให้เร็วและลุกให้เร็ว

การทำงานที่ยืดหยุ่นมุ่งหวังผลงานที่ดีที่สุดให้กับองค์กร ทำให้คนทำงานสนุกกับงานที่ทำ “ที่ดีแทค งานเยอะมาก แต่ไม่เหนื่อย ทำงานแล้วสนุกทุกวัน เราอยากจะลองทุกวัน แต่ถ้าลองแล้วไม่เวิร์กก็หยุดนี่คือกฎของเรา หยุดแล้วแก้ไข แล้วลุกให้เร็ว”
ขณะเดียวกันค่านิยมขององค์กรในเรื่อง Integrity (การยึดหลักคุณธรรม ความถูกต้องชอบธรรม) เป็นอีกเรื่องที่ผูกพันกับพนักงานทั้งองค์กรตั้งแต่ซีอีโอลงมา

อรอุมาบอกว่าเป้าหมายการทำงานของเธอคือ “อยากเห็นคำว่า Sustainability by Design เข้าไปอยู่ในธุรกิจ หมายความว่า เวลาจะทำอะไรก็แล้วแต่ คิดผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ จะต้องฝังลงไปด้วยกับสิ่งนั้น อยู่บนหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันสูงมาก ผู้บริโภคเองก็คาดหวังว่า อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด บริการที่ดีที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด คือหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อของผู้บริโภคในประเทศไทยยังค่อนข้างอยู่กับเรื่องราคาและคุณภาพเป็นหลัก แต่ว่าเราอยากเห็น หรืออยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง Ethical Consumer คือผู้บริโภคที่เพิ่มเกณฑ์การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอีกสักเรื่องคือ เลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทที่มีหลักปฏิบัติทางธุรกิจที่มีจริยธรรม และทำเพื่อสร้างระบบแวดล้อมให้ดีขึ้นไปด้วย”

การจะสร้างผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกเช่นนี้ได้ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการอุดหนุนสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ที่ไม่มีจริยธรรมว่าจะส่งผลอย่างไรในเชิงโครงสร้างและระบบ ซึ่งต้องใช้พลังของมวลชนร่วมกันกดดันให้ธุรกิจประพฤติตัวให้ดี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเธอสนุกกับการทำงานเรื่องการสร้างความยั่งยืนมาก เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับองค์กรท่ามกลางการแข่งขันที่สูง แต่ยังต้องรักษาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมขององค์กรไปพร้อมกัน เป็นความท้าทายของทุกองค์กร

เธอประทับใจเวลาได้เห็นสิ่งที่ตนเองและทีมร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาด้วยกันออกดอกออกผล ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เธอยกตัวอย่างเมื่อต้องเดินสายไปพูดคุยเรื่อง Smart Farmer และมีลูกค้าดีแทคเข้ามาพูดคุยด้วยว่า “คนเดินมาบอกว่าเขาภูมิใจนะ ใช้ดีแทคมา 20 กว่าปี ดีแทคทำแบบนี้เลยหรือ อย่างนี้ทำให้เรายิ้มและทำงานอย่างมีความสุข เป็นแรงผลักดันให้เราทำมาตลอด ตอนไปพูดที่เชียงใหม่ก็มีคนเดินมาพูดว่า ผมใช้ดีแทคมา 20 ปี วันนี้คุณทำให้ผมคิดว่าจะใช้ไป ไม่ย้ายค่ายเลย ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริงๆ แล้วผู้บริโภคส่วนหนึ่ง หัวก้าวหน้า เขาไม่ได้เลือกเพราะแค่ของของเรามีคุณภาพหรือถูก แต่เขาเลือกด้วยจิตวิญญาณของเรา เขามองทะลุไปถึงองค์กร คือฟังแล้วมีความสุข เป็นยาใจของทีม”

วิถีสู่ความสำเร็จ

เมื่อถามว่าใช้ความเป็นผู้หญิงในการทำงานจนเติบโตมาในระดับนี้ได้อย่างไร อรอุมา บอกว่า เธอใช้ความเป็นผู้หญิงให้เป็นประโยชน์ ด้วยธรรมชาติที่ผู้หญิงจะใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่า แต่เธอเปลี่ยนอารมณ์เหล่านั้นให้เป็นเรื่องการทำงานด้วยความลุ่มหลง มีความอดทน

“ความเป็นผู้หญิงทำให้เราได้เปรียบ ที่สำคัญผู้หญิงสุภาพและนอบน้อมได้ดี ซึ่งบางครั้งในการทำงานเรารวมสิ่งเหล่านี้มาและจะได้ผลตอบแทนที่ดี ถ้าเราทำงานโดยใช้ความสามารถ และรู้จักการปกป้องตัวเอง ในการทำงานที่มีความหลากหลายเรื่องเพศ เราจะได้เปรียบ”
อย่างไรก็ตามเธอให้คำแนะนำว่าบางเรื่องผู้หญิงต้องฝึกและเตรียมตัวในการทำงาน เช่นเรื่องการวางตัว การสร้างความมั่นใจในตัวเองในการแสดงความคิดเห็น

“ต้องวางตัวและสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้ตัวเองปล่อยความสามารถของตัวเองออกมาให้มากที่สุด ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้ตัวเองอยู่เสมอ เริ่มจากตัวเองก่อน พอตัวเองคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมนั้นแล้วก็จะสามารถปล่อยความคิดความสามารถของตัวเองออกมาให้คนอื่นได้รับทราบ เข้าใจ หรือสร้างความน่าเชื่อถือได้โดยง่าย เพราะบางครั้งเราจะเห็นว่าผู้หญิงชอบคิดว่าทำๆ กันไป หรือเหนียมอาย แต่ถ้าเรานำเสนอความคิดเห็นของเราอย่างสุภาพ รอบด้าน ใช้ความรู้ในการนำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง ใครๆ ก็ฟัง ตัวเราต้องฝึกตัวเราเอง และ Set Stage ของตัวเองอยู่เสมอ อะไรที่ไม่เคยทำแต่จำเป็นต้องทำก็ทำซะ อย่าไปคิดว่าถ้าอย่างนี้ไม่ควรทำ หรือผู้หญิงทำไม่ได้หรอก เพศไม่ได้มีไว้เป็นข้อจำกัด แต่เป็นแรงผลักดันให้เราทำงานหนักขึ้นมากกว่า”

สังคมในอุดมคติ

อรอุมาตอบเรื่องนี้ว่า “อยากเห็นทุกคนมี Personal Leadership คือ คุณต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อผู้อื่น อย่างเช่น Ethical Consumer คือรับผิดชอบต่อตัวเอง ซื้อสินค้ามีคุณภาพ ราคาประหยัด ขณะเดียวกันคุณต้องคิดรับผิดชอบต่อสังคมว่าสิ่งที่ซื้อคุณสนับสนุนสิ่งที่ผิดในสังคมหรือเปล่า ถ้าใช่ไม่ควรทำ

“สองคือ คุณต้องเสียสละ คำนี้ยิ่งใหญ่ คือทุกคนชอบคิดว่า นี่คือสิทธิของฉัน ฉันไม่เอาเปรียบใคร แต่ใครอย่ามาเอาเปรียบฉัน เรากำลังขีดคั่นและสร้างสังคมเห็นแก่ตัว จริงๆ ควรจะเป็นว่า เราไม่เอาเปรียบใคร แต่คุณสามารถมาเอาจากฉันได้บ้าง ควรเป็นแบบนั้น สังคมที่เสียสละ คือคำที่ยิ่งใหญ่ เป็นคุณสมบัติส่วน

หนึ่งของคุณสมบัติ Leadership ของคนทุกคนในสังคม

“สามต้องมีคุณสมบัติในการนำ อย่ากลัวที่จะแตกต่าง สร้างความแตกต่างในสังคม คือสังคมบางครั้งต้องใช้ความกล้า กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

“สามคุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่ยึดถือกับตัวเองมาตลอด และเวลาทำงานก็จะเอาหลักการนี้มา และการทำอย่างนี้จะสร้างพลังให้ตัวเอง ทุกครั้งที่คุณเสียสละจะรู้สึกเลยว่ามีพลัง คนที่รับไปรับรองไม่มีวันมองคุณเหมือนเดิม เขาจะรัก จะเคารพ เขาจะรู้สึกคราวหน้าถ้าเขามีโอกาสบ้างเขาจะให้คืนเหมือนกัน และไม่ใช่ให้คุณคนเดียวเขาจะให้คนอื่นด้วย ตรงนี้คือพลังถ้าเรารับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น รู้จักเสียสละ สิ่งที่มีเพื่อส่วนรวมบ้างในบางครั้ง และสุดท้ายจะช่วยสร้างพลังให้กับตัวเองและสังคม จะส่งต่อไปเรื่อยๆ”

X

Right Click

No right click