รู้ทันการเลือกตั้ง

January 27, 2019 3063

ใกล้ฤดูเลือกตั้งแล้ว เราจึงได้ยินคำหวานบ่อยขึ้น จากผู้ปกครองและบรรดานักการเมืองที่คิดจะเข้ามาชิงหรือขอแชร์อำนาจในการปกครองกับเขาบ้าง

"รัฐบาลของเราต่อไปจะต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน" หัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พูดออกอากาศ ในความหมายคล้ายคลึงกันนี้

หลักนิยมของรัฐบาลสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันคือต้องยึดเอา "ประชาชน" เป็นหัวใจสำคัญ

"ประชาชน" ต้องเป็นผู้ตัดสินใจหลัก พวกเขาคัดเลือกเอาตัวแทนของพวกเขา ซึ่งจะทำหน้าที่นำเอาความคิด ความฝัน ความหวัง ความตั้งใจ ตลอดจน "wishes" ของพวกเขา ไปสร้างเป็นกฎหมายของประเทศและสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่นั้น

อย่างน้อย มันก็เป็นหลักการหรือทฤษฎีทางการเมืองที่สังคมส่วนใหญ่อ้างว่ายึดถือกันทั้งนั้น รวมทั้งสังคมไทยที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งนี้ด้วย

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว "การปกครอง" ไม่ว่าที่ไหนในโลก และไม่ว่าในยุคใดๆ ย่อมไม่ได้เป็นแบบนั้น

เพราะ "รัฐบาล" ไม่ว่าที่ใดในโลก และไม่ว่าในยุคสมัยใดๆ ย่อมเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มน้อย เพื่อเอาเปรียบคนหมู่มาก

สมัยที่ขอมเข้ามายึดบางส่วนของไทย พวกเขาก็ยึดเอาชัยภูมิที่ดี อุดมสมบูรณ์ คมนาคมสะดวก อากาศดี ไปเป็นของพวกเขา สร้างปราสาทราชวังและรีสอร์ต แล้วก็ยกเอาพวกตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง

พม่าก็เช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาเข้ายึดเชียงใหม่และล้านนานั้น ก็ยกเอาพวกตัวเองเป็นชนชั้นปกครอง มีสิทธิเหนือคนพื้นเมือง

พวกโมกุล ก็ทำเหมือนกันนี้ที่อินเดีย โดยมองโกลและแมนจูก็ทำเช่นเดียวกันที่เมืองจีน หรือแม้สมัยใหม่นี้ ตั้งแต่เหมาเจ๋อตงนำพลพรรคคอมมิวนิสต์ เข้ายึดอำนาจรัฐได้แล้วเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนจนกระทั่งปัจจุบัน พวกที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ย่อมมีสิทธิเหนือประชาชนทั่วไป และพวกเขาเท่านั้น ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครองและรัฐบาลได้

โปรตุเกส วิลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็เช่นเดียวกัน สมัยเมื่อเข้ายึดครองอาณานิคม ก็ได้ทำเช่นเดียวกันนี้

เร็วๆ นี้ ผมได้อ่านอัตชีวประวัติของ Robert Kuok อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลกที่เติบโตขึ้นมาในมาลายาสมัยเมื่ออังกฤษยังปกครอง เขาขมขื่นและแสดงให้เห็นอย่างละเอียดว่าอังกฤษซึ่งเป็นชนชั้นปกครองสมัยนั้น อาศัย "รัฐบาล" เป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบประชาชนและคนพื้นเมืองอย่างไรบ้าง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคนฉลาดๆ ที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ผลดีที่สุด ต้องเข้าไปมีอำนาจใน "รัฐบาล"

ส่วนจะยึดอำนาจรัฐโดยวิธีไหนนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เลือกตั้ง รัฐประหาร ตั้งกองกำลังปฏิวัติก่อสงครามกลางเมืองเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจอยู่ก่อน เขียนรัฐธรรมนูญให้พวกตนได้แต้มต่อและคงอำนาจไว้ในหมู่พวกพ้อง หรือรอจังหวะจนกว่าแน่ใจแล้วว่าฝ่ายไหนชนะ แล้วค่อยเข้าไปรับใช้ เพื่อขอมีส่วนร่วมหรือส่วนแบ่งในการใช้อำนาจรัฐ

คนฉลาดๆ (หรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นคือ "พวกฉลาดแกมโกง") จำนวนมากเหล่านี้ ค้นพบแล้วว่านั่นเป็นการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้ตัวเองได้ดีที่สุด โดยไม่สนว่าจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีใด

เพราะ "รัฐบาล" เป็นองค์กรสูงสุด ที่มีอำนาจเด็ดขาด และมีเครื่องมือหลากหลายให้เลือกใช้ ในการรวบรวมและจัดสรรทรัพยากร ทั้งเงิน (ในรูปของภาษี เงินตรา และระบบเครดิต) ที่ดิน ทรัพย์สิน ตลอดจนสัมปทานผูกขาด บนดิน ใต้ดิน บนผืนน้ำและใต้น้ำ และคลื่นในอากาศ

รัฐบาลเท่านั้น ที่ฆ่าคนได้ตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่ลิดรอนสิทธิได้ตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่สามารถบังคับเอา ตัดส่วนเอา หรือเบียดบังเอา "ความมั่งคั่ง" หรือรายได้หรือทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นของส่วนกลาง ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่จะเป็นผู้บอก (ในกรณีของรัฐบาลเผด็จการ) หรือไม่ก็เป็นผู้กำหนดกรอบและกฎเกณฑ์กว้างๆ (ในกรณีของรัฐบาลประชาธิปไตย) ว่าใครทำอะไรได้บ้าง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ใครเท่านั้นที่ทำบางอย่างได้ ที่ไหนไปได้ ที่ไหนไปไม่ได้ เมื่อไหร่ควรทำอะไร ใครต้องจ่าย จ่ายเท่าไหร่ และใครจะได้อะไรเท่าไหร่ ฯลฯ

รัฐบาลมี กฎหมาย ทหาร ตำรวจ และระบบราชการ เป็นเครื่องมือ

โดยผ่านเครื่องมือเหล่านี้ รัฐบาลสามารถควบคุมให้ประชาชนทำตาม

ควบคุมให้ประชาชนและนิติบุคคลต้องจ่ายภาษี ให้ตรงเวลา และตามจำนวน

แล้วนำภาษีนั้นส่วนหนึ่ง ไปสร้างระบบราชการให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก เพื่อกระชับการควบคุมให้ทรงประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือกองทัพทั้งสามนั้น นอกจากจะเป็นเจ้าของกำลังพลที่ถูกฝึกมาให้ใช้อาวุธหนักฆ่าคนแล้ว ยังเป็นผู้ผูกขาดการเป็นเจ้าของอาวุธหนักไว้ทั้งหมดในสังคม (โดยใช้ภาษีของประชาชนไปจัดหามา)

ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดนอกเหนือจากนั้นครอบครองอาวุธหนักในราชอาณาจักร

ซึ่งกองทัพและอาวุธหนักเหล่านี้แหล่ะ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมประชาชน

นอกจากนั้น รัฐบาลยังเป็นเจ้าของธนาคารชาติ ซึ่งควบคุมระบบการเงินของประเทศ สามารถสร้างเงินและเครดิต (หรือทำลายเงินและเครดิต) ได้ตามที่เห็นสมควร แถมยังสร้างเงินมาให้รัฐบาลกู้ไปใช้ในจำนวนมากๆ ได้อีกด้วย

ยังอีกรัฐวิสาหกิจ ที่ครอบครองทรัพย์สินและสัมปทานสำคัญๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาล

ผลประโยชน์ในแวดวงรัฐบาลนั้นมีจำนวนมหาศาล สุดจะคณานับ

มองอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลก็คือธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลโดยตัวมันเอง

และนับวันมันยิ่งจะเพิ่มพูนอำนาจและความมั่งคั่งให้กับตัวเองยิ่งขึ้น (ยกตัวอย่าง รัฐบาลแบบใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ สมาชิกแห่งราชวงศ์จักรี พร้อมด้วยขุนนางบางตระกูล ช่วยกันสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มาบัดนี้ได้ขยายขนาดและขอบข่ายใหญ่โตกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นไม่รู้กี่เท่าตัว หรือรัฐบาลสหรัฐฯ เวลานี้ เมื่อเทียบกับสมัยปี 1789ที่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใหม่ๆ ก็ขยายตัวขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งในเชิงความมั่งคั่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบและมีส่วนจัดสรร เครือข่าย อำนาจ และงบประมาณ)

ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นที่หมายปองของคนฉลาดๆ ที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตัวเอง

และคนฉลาดๆ ก็ย่อมมองออกโดยไม่ยาก ว่าจะใช้กลไกของรัฐบาลในการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตัวพวกเขาเองได้อย่างไร

นักธุรกิจ นายทุน นักลงทุน พ่อค้า ล็อบบี้ยิ้สต์ นักการเมือง ข้าราชการ ชนชั้นนำ และพรรคพวก ย่อมเกาะเกี่ยวตัวเองเข้าไปสู่วงใน เพื่อหาทางให้ตัวเองได้รับแต้มต่อ อภิสิทธิ์ และผลประโยชน์ต่างๆ

ลดภาษี ยกเว้นภาษี บัตรส่งเสริมการลงทุน สัญญาก่อสร้าง สัญญาสัมปทานผูกขาด กำแพงภาษี มาตรการกีดกันทางการค้าต่อต่างประเทศ หรือกฎหมายกีดกันคู่แข่งขัน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ยอดขายอาวุธ ส่วนแบ่งงบประมาณ เปอร์เซ็นต์จากการจัดซื้อ หรือต้องการอาศัยขอบเขตของอำนาจให้ช่วยปกป้องความผิดแต่หนหลังของตน ตลอดจนขอตำแหน่งที่มีอำนาจแต่ทำงานแบบสบายๆ และอภิสิทธิ์สารพัดสารพัน ฯลฯ

คนเหล่านี้บางคน สามารถใช้อำนาจและกลไกของรัฐบาลผันแปรสมบัติของชาติให้กลายมาเป็นสมบัติส่วนตัวและพวกพ้องได้แบบง่ายๆ

เหล้า โทรศัพท์มือถือ หวย ธนาคารพาณิชย์ คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ

อีกด้านหนึ่ง พวกวงในเหล่านี้ ก็ใช้รัฐบาลเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ ความมั่งคั่ง รายได้ ทรัพย์สิน อำนาจ ตำแหน่ง ของตัวเอง

พวกเขาใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือในการปกป้องความได้เปรียบ หรือ Unfair Dealsที่พวกเขามีแต้มต่อเหนือคนอื่น

สมัยก่อน บรรดาเจ้าที่ดินก็อาศัยรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการเกณฑ์แรงงานและขูดรีดค่าเช่า

สมัยนี้ บรรดาเจ้าของทุน ก็อาศัยรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนทุนทรัพย์ของตน ทั้งโดยการฉวยเอาไปลงทุนในโอกาสที่ตัวเองรู้ก่อนจากข้อมูลวงใน หรือในโอกาสและโครงการที่ได้รับการปกป้องจากกลไกของรัฐ ตลอดจนการควบคุมค่าจ้างแรงงานให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อกำไรส่วนเกินจะได้เหลือตกอยู่ในมือของพวกตน

บางที พวกคนฉลาดที่เข้ามากุมรัฐบาล ก็ต้องลดความตึงเครียดลงบ้าง โดยอาศัยกลยุทธ์การตลาดที่เรียกกันว่านโยบายประชานิยม คือแจกเงินและผลประโยชน์ให้กับกลุ่มล่างๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นพวกวงในและได้ประโยชน์จากกลไกของรัฐโดยตรง

แต่ก็เป็นการสนับสนุนแบบมีเลศนัย คือเลือกสนับสนุนเฉพาะเครือข่ายของพวกตน และที่คิดว่าจะเป็นฐานสนับสนุนตนและพรรคพวกของตนให้อยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกในอนาคต

บางทีการหว่านเงินเหล่านั้น ก็เพื่อต้องการให้คนกลุ่มล่างๆ ที่ได้รับไป นำไปใช้จ่ายซื้อข้าวของ ซึ่งสุดท้ายเงินก้อนนั้น ก็จะย้อนกลับมาเข้ากระเป๋าของพวกวงในอยู่ดี

เท่ากับเป็นการโอนเอา Wealthส่วนกลาง ไปเข้ากระเป๋าส่วนตัว โดยถูกกฎหมายนั่นเอง

และบางที เงินที่แจกไปนั้นก็สูญไปแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ หาใครรับผิดชอบไม่ได้ แล้วก็ถือว่าจบกันไป แบบหายไปในสายลม

ไม่ว่านโยบายจะมาในรูปไหน คนฉลาดๆ ที่สามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นวงในเหล่านี้ ก็จะได้รับผลประโยชน์อยู่ดี

ไม่ว่าฝ่ายไหนหรือกลุ่มไหนได้กุมอำนาจรัฐ คนเหล่านี้ก็จะเล่นเกมแบบเดิม เกมที่พวกเขาจะได้ยื้อให้ตัวเองมีแต้มต่อไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ดังนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว อนาคตคือ "ไม่มีอนาคต"

อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "A Future without Future"

หมายความว่า อนาคตต้องไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ต้องคงระบบแบบนี้ไว้สืบไป

ประชาชนจำนวนมากในปัจจุบัน แอบรู้สึกได้ว่าระบบแบบนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด

แต่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง

คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า "การเลือกตั้ง" จะเป็นตัวแก้ปัญหาเหล่านี้

จำนวนมากเชื่อว่า การเข้าไปในคูหาเพียงไม่กี่นาที แล้วกาบัตรว่าจะเลือกใครมาเป็นรัฐบาล นั้นหมายความว่าเสียงของตัวเอง จะสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกลไกของรัฐให้มารับใช้พวกตนได้

แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ

ความเชื่อที่ว่า คนซึ่งตัวเองเลือกมา จะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงโลกได้ มันก็ยังเป็นแต่เพียงความฝัน

เพราะคนที่เขาเลือกมา ร้อยทั้งร้อย ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

กลายมาเป็นวงในเสียเอง แล้วก็ใช้กลไกของรัฐบาลนั้นเสียเอง เพื่อความมั่งคั่งและอำนาจของตนและสมัครพรรคพวก

สุดท้ายก็ Cronyism อยู่ดี

ไม่ว่าใครเข้ามา ก็จะถูกระบบกลืน

แล้วระบบ ก็สร้างตัวเองให้เข้มแข็งและเด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ

เพียงเฉพาะระบบราชการของไทยส่วนเดียว ก็สร้างตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นอย่างมากมายด้วยเงินภาษีของส่วนรวม

ด้วยข้าราชการเพียงไม่กี่พันคนในสมัยรัชกาลที่ 5 (เมื่อเริ่มระบบราชการใหม่ๆ) เติบโตมาเป็นกว่าสองล้านสองแสนคนที่อยู่ในบัญชีเงินเดือนซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนในปัจจุบัน คิดเป็นกว่า7% ของGDPประเทศไทย ทุกปี

กลไกเหล่านี้ ครอบคลุมและสามารถแทรกแซงไปได้ในเกือบทุกกิจกรรมของการดำเนินชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงดักฟังโทรศัพท์ และอายัดบัญชีธนาคาร ด้วย

ถ้าหันเหให้มันมารับใช้คนส่วนใหญ่ได้ก็ดีไป แต่ที่ผ่านมามันไม่ใช่

ถ้าไม่กลายเป็นเครื่องมือของพวกวงใน ก็รับใช้ตัวมันเอง

ดังนั้น คนฉลาดๆ อย่างพวกเรา ซึ่งต้องมีหน้าที่ไปเข้าคูหาเลือกตั้ง คงต้องศึกษานิสัยใจคอของพวกที่อาสาตัวเองมาเป็นตัวแทนของประชาชน ให้ดีเสียก่อน ว่าแต่ละคนเคยโกหกหลอกลวงมาก่อนหรือไม่

เพราะในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่นี้ การใช้อำนาจปืนหรืออำนาจมืดบีบบังคับให้เลือกนั้น มักทำได้ยากในทางเปิด ดังนั้นพวกเขาต้องใช้วิธีโกหก หลอกลวง ให้เชื่อก่อน แล้วพอนานไปก็ไม่ทำตามนั้น หรือไม่ก็ใช้วิธีให้สินบาทคาดสินบน

นอกจากนั้น ยังต้องดูประวัติแต่ละคนว่าเคยอาศัยรัฐบาลหรือเครือข่ายอำนาจรัฐ สมคบคิดกับพ่อค้านักธุรกิจและข้าราชการ ในการสร้างความมั่งคั่งและทรัพย์สินให้ตัวเองอย่างมีเลศนัยหรือไม่ หรือเคยใช้องค์กรเหล่านี้เอาเปรียบและทำร้ายประชาชนมาก่อนหรือไม่ เคยผันเงินภาษีเราไปเป็นของตนและพวกพ้องหรือไม่ หรือเคยใช้เงินภาษีของพวกเราไปละลายน้ำโดยใช่เหตุหรือไม่ เคยพูดจาราวกับประชาชนเป็นเบี้ยล่างหรือไม่.... ฯลฯ

ถ้าหากพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่มีใครเชื่อได้เลย ก็ไม่จำเป็นต้องเลือก อาจหยิบเสื้อกั๊กเหลืองมาสวมใส่คนละตัว แล้วออกมาแสดงพลังเหมือนราษฎรชาวฝรั่งเศสที่แสดงความไม่พอใจกลุ่มผู้นำของตัวเอง ที่ทำอะไรตามอำเภอใจ โดยไม่แคร์คนทั่วไปมานานแล้ว หรือลุกขึ้นมาขอลงประชามติ เหมือนราษฎรอังกฤษที่โหวตให้ประเทศต้องตีตัวออกจากสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้นำก่อนหน้านั้น กระทำตรงข้ามกับความในใจลึกๆ ของประชาชนมาตลอด


บทความโดย | ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 01 November 2019 09:55
X

Right Click

No right click