13 องค์กรไทยจากหลากหลายภาคส่วน คว้ารางวัล Thailand Quality Class Plus และรางวัล Thailand Quality Class ประจำปี 2561

February 04, 2019 2035

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติประกาศรายชื่อ 13 องค์กรไทยคุณภาพ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินกิจการในภาคการศึกษา การสาธารณสุข การบริการ และภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านเกณฑ์คว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ (Thailand Quality Class: TQC) ประจำปี 2561 ได้สำเร็จ ในงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 30 มกราคม 2562 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมทองคำ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับในปีนี้ ไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA)

งานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.พสุ โลหารชุน กล่าวถึงการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถขององค์กรไทยอย่างยั่งยืนไว้ว่า “หนึ่งประเด็นสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้สามารถรับมือกับความโลกาภิวัฒน์คือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องทำให้ผลิตภาพเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้องค์กรไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการ ขีดความสามารถและผลลัพธ์ ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินผลต่างๆ สามารถยกระดับผลิตภาพของประเทศไทยได้อย่างสัมฤทธิ์ผล”

ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล ในปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กร ดังต่อไปนี้

  • รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

  • รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า (Thailand Quality Class Plus : Customer) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่

ธนาคารออมสิน

  • รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) จำนวน 11 องค์กร ได้แก่
  1. เขื่อนรัชชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  2. เขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  3. เขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  4. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  6. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  7. บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด
  8. บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
  9. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
  10. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  11. โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

และยังมีการกล่าวถึงผลลัพธ์และกลยุทธ์ในการสนับสนุนให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการยกระดับองค์กรไทยให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต “คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี  2562 และต่อเนื่องในปีถัดไป  โดยมีเป้าหมายในการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ให้ขับเคลื่อนด้วยผลิตภาพ ผ่านการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านผลิตภัณฑ์ การขยายโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ อาทิ องค์กรขนาดใหญ่ องค์กรในตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรในภาคการศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือระดับนโยบายกับเครือข่ายรางวัลคุณภาพแห่งชาติของภาคส่วนอื่นๆ ตลอดจนการเพิ่มจำนวนและพัฒนาผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถรองรับกับจำนวนองค์กรที่ต้องการสมัครขอรับรางวัลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้”

ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี 2561-2562 “เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินตนเองขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกภาคส่วน ให้มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เพื่อยกระดับองค์กรภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อีกทั้งยังกล่าวถึงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ได้รับการนำไปปรับใช้เป็นเกณฑ์สำหรับหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐ  รัฐวิสาหกิจ ทั้งในด้านการสาธารณสุขและการศึกษา “ภาคสาธารณสุขได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปปรับใช้ในระบบการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลหรือ Hospital Accreditation: HA   ส่วนภาคการศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาได้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ Office of the Basic Education Commission Quality Award: OBECQA  ตลอดจนภาคการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ หรือ Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx”

“นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ในการวางแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือ Public Sector Management Quality Award: PMQA เพื่อการประเมินองค์กรที่ครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ สามารถยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ส่วนภาครัฐวิสาหกิจที่ได้ใช้ระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ หรือ State Enterprise Performance Appraisal: SEPA เป็นกลไกส่งเสริมขีดความสามารถในการดำเนินงานให้เทียบเท่าระดับสากล ก็ได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปช่วยในการปรับปรุงระบบการประเมินของตนเองด้วยเช่นกัน”

ตลอดจนกล่าวถึงกิจกรรมใหม่ที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติยังได้ริเริ่มขึ้น เพื่อขยายผลในการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในองค์กรภาคส่วนต่างๆ และกระตุ้นให้องค์กรมีความพร้อมในการสมัครขอรับรางวัลเพิ่มขึ้น“สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติริเริ่มกิจกรรมการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินองค์กรที่ผ่านการรับรอง (Organization Assessment Certified Expert)  โดยพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินองค์กร พร้อมแบบประเมินองค์กร เพื่อช่วยให้องค์กรที่ริเริ่มนำเกณฑ์รางวัลมาใช้ในองค์กร ได้มีเครื่องมือตรวจประเมินตนเองพร้อมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ”

“กิจกรรมใหม่ประการต่อมาคือ การจัดทำสรุปองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขององค์กรที่ได้รับรางวัลเพื่อเผยแพร่ และหนังสือ Best Practices ซึ่งเผยแพร่วิธีปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศขององค์กรจากการศึกษาในเชิงลึก รวมทั้งยังได้ริเริ่มโครงการ Collaborative Assessment for TQC กิจกรรมความร่วมมือเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อยกระดับองค์กรที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และกิจกรรม Collaborative Assessment for SMEs ซึ่งมุ่งสร้างองค์กร SMEs ต้นแบบที่ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ”

 “แผนงานในอนาคตอีกประการหนึ่งคือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ The Global Excellence Model Council หรือ GEM Council ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีความร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษาวิจัย และเปรียบเทียบการดำเนินงานด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ”

X

Right Click

No right click