Technology Disruption & The Future Education

February 13, 2019 2936

นับแต่อดีตแต่ไหนแต่ไรมางานบริหารจัดการสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยก็เรียกได้ว่าเป็นงานยากอยู่แล้ว  ยิ่งมาถึงยุคนี้และอนาคตข้างหน้าคำว่า Disruptive Education  ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความยากให้ท่วมทวีขึ้นไปอีกหลายเท่า

เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญหน้าทุกวันนี้เป็นความท้าทายใหญ่ยิ่ง  เพราะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ ที่ใช้คอนเซ็ปว่า "ฟรี"  หรือ Course free ของมหาวิทยาลัยชั้นนำชื่อดังจากทั่วโลก ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเพียงแค่คลิ๊ก ก็สามารถเข้าสู่เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที ยังไม่นับกับหลักสูตร E-learning ของมหาวิทยาลัยนับร้อยๆและที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยอีกจำนวนไม่น้อย ที่พัฒนาคอร์สและแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการ และความสนใจของผู้เรียนอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ค่าเล่าเรียนที่ถูกขึ้น สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ใหม่  และยังมีอีกปัจจัยคือ  ทัศนคติ และค่านิยม ของผู้คนที่มีต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้ได้เริ่มเปลี่ยนไปและไม่เหมือนเดิม

ศ.ดร. กำพล  ปัญญาโกเมศ อธิการบดี’  คนใหม่ล่าสุดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)  ได้กล่าวถึงประเด็นและความคิดเห็นเรื่องเทคโนโลยีทีสร้างผลกระทบต่อภาคการศึกษา  โดยผลกระทบนี้กำลังไล่ระลอกเข้าสู่วงการการศึกษา ทั้งในไทยและในต่างประเทศ

"หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป  จากอดีตนับร้อยร้อยปีที่การเรียนการสอนเคยดำเนินและตั้งอยู่บนรากฐานของการบรรยายโดยครู หรือผู้สอนที่จัดขึ้นภายในห้องเรียน  หรือหอประชุมที่สองฝ่ายมาพบเจอกัน  แต่ปัจจุบัน  Disruptive education  เป็นผลจากการที่เทคโนโลยีได้เข้ามาแทรก มาเป็นกลไกในการจัดการเรียนการสอน เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง เข้ามา Change รูปแบบการเรียนรู้ใหม่  และนับแต่นี้ต่อไปถ้าสถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัว หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เท่าทัน ก็มีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาอาจหมายถึงการปิดตัวลงของสถาบันการศึกษาจำนวนมากมายในที่สุด  ประเด็นนี้เคยถูกคาดการณ์ ไว้ในหนังสือ The Innovative University :Changing the DNA of Higher Education from the inside out ที่เขียนโดย เคย์ตัน คริสเทนเซ่น ( Clayton Christensen) และทีม  ซึ่งได้ระบุไว้ว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาจะปิดตัวและลดจำนวนลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในปัจจุบันหากไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน  และสิ่งนี้คือเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น  และไม่ได้จำกัดขอบเขตเพียงที่อเมริกา แต่ว่ากระแสและแนวโน้มนี้กำลังแพร่ขยายออกไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก"

ธิการบดีนิด้า กล่าวถึงเรื่องนี้และชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในโครงสร้างสังคมของเราที่เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging society) ในหลายปีที่ผ่านมาอัตราเพิ่มของประชากรเกิดใหม่ของเมืองไทยได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง  เด็กเกิดลดลงทุกปีและแน่นอนว่าผลที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ จำนวนนักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาย่อมต้องลดน้อยถอยลงอย่างไร้ข้อสงสัย ในขณะที่สถานศึกษาทุกวันนี้ก็เริ่มมีเก้าอี้โดยรวมกันมากกว่าผู้สมัครเข้าเรียนเป็นสถิติที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว   ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ล้วนส่งผลที่กำหนดและกดดันให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  ศ.ดร กำพล กล่าวว่า ‘นิด้า’ ก็มิได้อยู่นอกเหนือไปจากวงจรของความท้าทายดังที่ได้กล่าวมา

Technology disruption and The Future education

เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ทำให้การเรียนรู้ในวันนี้และอนาคตสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ จะหมายถึงการ Disrupt ระบบการศึกษาในแบบเดิมได้นั้น ศ.ดร โกเมศ เผยความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า

เพราะออนไลน์ได้กลายเป็นเทรนด์  แต่ไม่ใช่ว่าทุกๆรูปแบบที่เป็น E-Learning หรือ Online Learning จะเป็น Disruptive Education  ยกตัวอย่าง MOOC ( Massive Open Online Courseware ) ที่ฮือฮากัน  วิเคราะห์กันจริงๆ  ก็เป็นเพียงติ่งเล็กๆ  เพราะ E-learning ที่จะแก้ pain point ในด้านการศึกษาได้นั้น  ต้องพิจารณาไปที่ 3  ปัจจัยสำคัญ อันได้แก่

1. การลดต้นทุน การเรียนการสอน เช่น MOOC ลดต้นทุนได้จริง แต่ยังเป็นเพียง one way learning ยังไม่ใช่ interactive

2. ความง่ายในการเข้าถึง ( Easier to access) ซึ่ง E-learning ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เพราะทำให้คนเข้าสู่การเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น แต่เพียงความง่าย ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมา disrupt ระบบการศึกษาทั้งหมดได้ ซึ่งเทรนด์จริงๆในเรื่องนี้นั้น อธิการบดีนิด้า ให้ความเห็นว่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องที่ 3 คือ

3. Adaptive Learning  โดยโมเดลนี้เป็น  More effective learning ที่ให้ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนจริงๆ  ซึ่งคิดว่าตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สามารถตอบโจทย์ในข้อนี้ได้เต็มร้อย แต่มีความพยายามในการสร้างความเชื่อมโยงกับระบบ Smart classroom ซึ่งทางนิด้าเองก็กำลังทำในเรื่องนี้อยู่

ศ.ดร กำพล  เผยต่อว่า ในขณะนี้มหาวิทยาลัยในอเมริกาก็พยายามสร้างแพลตฟอร์ม E-learning ที่เป็นInteractive เพื่อเป็นระบบการเรียนการสอนแบบ2ทาง แต่จุดอ่อนก็คือ ต้นทุนสูงมาก เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง  ซึ่งถ้าทำสำเร็จได้นั่นน่าจะคือความหมายของ Disruptive Technology ของภาคการศึกษาโดยแท้จริง 

"มีช่วงหนึ่งที่ MOOC  ฮือฮามาก เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คือMIT และ Harvard  ได้ตัดสินใจที่จะ Disrupt ตัวเองโดยการนำคอนเทนต์ของโปรเฟสเซอร์ชื่อดังของตนมาทำเป็นหลักสูตรออนไลน์ให้ทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้และที่สำคัญคือมีทั้ง ’ฟรี’ และ’ จ่าย’  กลายเป็นที่มาของกระแสที่มหาวิทยาลัยนับร้อยๆ แห่งเข้ามาร่วมสร้างคอร์สเรียนออนไลน์มากมายเต็มไปหมด  คำถามต่อมาก็คือ ในขณะที่การทำ MOOC ของมหาวิทยาลัยอย่าง  MIT นั้นทั้งในด้านคอนเทนส์  ชื่อเสียงของโปรเฟสเซอร์   เมื่อรวมกับโปรดักชั่นส์ที่ MIT ใช้ผลิตซึ่งดำเนินการโดยมือหนึ่งของฮอลลีวูด อย่างสตีเว่น สปีลเบิร์ก(steven Spielberg)  ด้วยงบประมาณมหาศาล แล้วมหาวิทยาลัยทั่วๆไปจะสามารถทำMOOC ออกไปเทียบหรือไปแข่งกับเขาอย่างไร?"

ศ.ดร กำพล  กล่าวถึงความท้าทายเหล่านี้ที่ท้าให้สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยน้อยใหญ่ต่างต้องเตรียมพัฒนาแนวทางเพื่อตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลง  โดย 'นิด้า' ก็ได้เริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนของสถาบัน เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้  ภายใต้จุดแข็งของนิด้าซึ่งมีอยู่หลายประการ ดังเช่นการมี Local content โดยหลายปีที่ผ่านมา นิด้าได้ผลิตและเขียน Case study ซึ่งเป็นเคสของประเทศไทย โดยคณาจารย์ของนิด้าผู้ได้รับการฝึกฝนการเขียนเคสโดยโปรเฟสเซอร์ผู้เชี่ยวชาญ


"นิด้าใช้รูปแบบการเรียนผ่านกรณีศึกษาหรือ case study มายาวนาน ซึ่งในระยะแรกก็ใช้caseของต่างประเทศในการสอน แต่ต่อมาก็พบว่าเคสส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไกลตัว พอเรียนแล้วจะประยุกต์ใช้ก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมดเพราะบริบทของต่างประเทศกับไทยเรามีความต่างกัน จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมและพัฒนาให้อาจารย์ของนิด้าเริ่มเขียนเคสของเราขึ้นมาเอง เป็นlocal case ซึ่งเป็นจุดเด่น เป็นจุดแข็ง และเป็นจุดขายที่สำคัญเพราะมีที่ ’นิด้า’ แห่งเดียว ถือได้ว่าเป็นความเข็มแข็งทาง content ที่เรามี นิด้าทำวารสารรวบรวมเคสเหล่านี้ไว้ เพื่อใช้ในการสอนและบริการวิชาการ และกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลาง Case center ของประเทศไทย"

ศ.ดร.กำพลเผยว่านอกจากเรื่อง content ที่เป็นองค์ความรู้แล้ว  เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นิด้าจึงพัฒนาแนวทางการเอาประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพื่อมารับใช้และพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยตอนนี้นิด้ากำลังจัดทำห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ Smart Classroom ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางของการศึกษาของอนาคต

เมื่อกล่าวถึง ’นิด้า’ เป็นที่ยอมรับกันว่า ด้วยรากฐานอันแข็งแกร่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและความเชื่อถืออันเป็นที่ยอมรับมายาวนากว่าครึ่งศตวรรษ  เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 70,000 คนเป็นเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็งและมีจิตสำนึกรักสถาบันเป็นอันดี  การขับเคลื่อนนิด้าฟันฝ่าความท้าทายของ Disruptive Education ในช่วงเวลานี้นั้น  ศ.ดร กำพล กล่าวว่า "ผู้นำเพียงผู้เดียว คงไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ทั้งหมด แต่ความสำเร็จเกิดได้ ต้องภายใต้การสนับสนุนของทั้งองค์กร นิด้าวันนี้ได้เริ่มก้าวสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง ภายใต้แคมเปญ REDESIGN NIDA Together มีเป้าหมายสำคัญยิ่งคือต้องการเชิญชวนให้ประชาคมของนิด้าทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมมือร่วมใจร่วมกันออกแบบและสร้างอนาคตใหม่ เพื่อความเติบโตและยั่งยืนของ นิด้าสืบต่อไป"


เรื่องและภาพ กองบรรณาธิการ 

 

 

 

 

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 10 March 2022 05:08
X

Right Click

No right click