Do or Die, Now or Never

February 15, 2019 3601

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีช่วงปีที่ผ่านมามีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างเป็นวงกว้าง เรากำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ต้องเรียนรู้และพัฒนากันทุกวินาที ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษาก็ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ทำให้กระแสการเรียนรู้เปลี่ยนไปจากในอดีต วันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น มีแนวคิดและตัวเลือกในการเรียนรู้ที่มากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล็งเห็นถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นทุกวัน เป็นมุมสะท้อนให้ต้องตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมเองก็ยังกำลังบีบคั้นให้มนุษย์ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ รวมถึงกระแสเรื่องออนไลน์ที่เริ่มเข้าถึงทุกคนทุกที่ทุกเวลา เพราะปัจจุบันคนไทยมีเบอร์โทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากร ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้มากขึ้น สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเห็นชัดมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่ด้านการศึกษาเริ่มเห็นได้ชัดเจนอีกประเด็นว่าจำนวนเด็กที่สมัครลงทะเบียน TCAS ในปี 2562 มีน้อยกว่า 3 แสนคน เทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีคนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบกลางเกือบหนึ่งล้านคน มหาวิทยาลัยมีคนเรียนน้อยลง ต้องเจอความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีของสจล. ยังได้เผยต่อว่า แม้จำนวนผู้เรียนในปัจจุบันจะลดลงอย่างมีนัยก็ตาม แต่ความต้องการในการเรียนรู้กลับไม่ได้ลดตาม เพราะทุกวันนี้เราสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น เว็บไซต์ Master Class ที่มีหลักสูตรซึ่งเอาคนมีชื่อเสียงและมีความสามารถระดับโลกมาสอน คุณจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวเรียนได้ทุกคลาส หรือบางคนอาจจะเข้าไปเรียนรู้จากองค์กรบริษัทต่างๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการทำงานโดยตรง ไม่จำเป็นต้องเรียนจนจบปริญญาก็สามารถประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จได้ เหมือนคนดังระดับโลกที่มีให้เห็นอยู่มากมายเพราะฉะนั้น คู่แข่งของมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้เป็นใครก็ได้มหาวิทยาลัยจึงต้องเร่งการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์และเดินตามเกมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ให้เท่าทัน

ศ.ดร. สุชัชวีร์ ได้แสดงแนวคิดและความเห็นถึงแนวทางการปรับตัวเข้าสู่อนาคตของสถาบันการศึกษาว่า ในปี พ.ศ. 2562 เราควรมีการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับในทันที มหาวิทยาลัยต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนแบบหักศอกเพื่อก้าวให้ทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงแบบปีต่อปี

อันดับแรก เราต้องทลายกำแพงระหว่างคณะ สาขา จากประสบการณ์การเป็นกรรมการรายการธุรกิจเพื่อสังคม Win Win War ช่องอมรินทร์ทีวี ผมเห็นวิศวกรออกมาปลูกผัก ทำโปรแกรมขายผักประสบความสำเร็จ แล้วแบบนี้คนเรียนเกษตรจะทำอย่างไรแสดงว่าวันนี้ไม่ใช่เรียนสาขาเดียวเป็น Background แล้วจะสามารถแข่งขันในโลกยุคนี้ได้ คนสนใจเรียนมากกว่าหนึ่งปริญญา ถ้าคนน้อย เลือกปริญญาเดียว มหาวิทยาลัยก็จะมีที่ว่างเหลือเยอะ ดังนั้น ต้องมีการบูรณาการระหว่างสาขาวิชา จากคนจำนวนแสนกว่าคนสามารถ Multiply เป็นล้านได้ จบเกษตรอย่างเดียวไม่รอดแล้ว ต้องเรียนวิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมไอทีการออกแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ด้วย เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยในยุคนี้อาจจะได้มากถึงห้าปริญญาอย่างเด็ก Stamford, MIT และ Harvard มีห้าปริญญาแล้วเด็กไทยเรามีแค่ปริญญาเดียวจะสู้เขาได้อย่างไร

ประการที่สอง บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุค disruption ต้องกล้าออกไปสู้กับในระดับโลก วัฒนธรรมที่กลับมาเก่งในบ้านอย่างเดียวไม่รอดแล้ว ยึดคติพจน์ที่ว่า เป้าหมายต้องชัด วิสัยทัศน์ต้องเว่อร์ แต่ถ้ายังไม่กล้าออกไปถึงอเมริกา ไปถึงญี่ปุ่น ก็ไปมาเลเซีย อินโดนีเซียก็ได้ ไม่ต้องนึกถึงเพียง CLMV เราต้องข้ามช็อต ทำให้เขารู้ว่ามหาวิทยาลัยไทยมีหลักสูตรนี้ ยกตัวอย่างเช่น สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเขตร้อน ประเทศไทยสู้ได้ หรือแพทย์ทางด้านโรคเวชศาสตร์เขตร้อนก็สามารถไปปักธงได้ทั่วโลก

ประการที่สาม คือ คนที่จบออกไปแล้วสามารถกลับมาเรียนปริญญาตรีแบบปีครึ่งได้ เพื่อเติมทักษะ (Reskill) หรือ เพิ่มทักษะ (Up Skill) มีหลักสูตรปริญญาตรีหรือหลักสูตรที่มีใบรับรองที่ดีๆ

ประการที่สี่ หลักสูตรต้องมีความท้าทาย ปรับเปลี่ยนได้ เน้นผู้เรียนเป็นหลัก มหาวิทยาลัยต้องไปดูว่าตอนนี้สังคมกำลังมีกระแสอะไร อะไรเป็นที่ต้องการ ซึ่งตรงนี้มหาวิทยาลัยยังอ่อนอยู่เพราะคิดว่าที่ทำอยู่นั้นนี้ดีแล้วแต่ไม่รู้ว่าผู้เรียนชอบหรือเปล่า  ตรงกับความต้องการหรือไม่

สำหรับประการสุดท้าย หรือข้อที่ห้า  ทุกสาขาวิชาไม่ว่าสาขาไหนก็ตามต้องลดวิชาบังคับ เพราะบังคับไปก็ล้าหลัง ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่เรียนรู้ต่อเนื่อง คนเรียนจบไปแล้วอาจจะไปทำงานประกอบอาชีพที่ไม่ตรงสาขา วิศวฯไปทำเกษตร สถาปัตย์ฯไปทำร้านกาแฟ เปิดร้านขนม เรียนจบบัญชีไปทำเสื้อผ้าก็ได้  เพราะฉะนั้น ต้องมีวิชาเลือกให้เยอะๆ วิชาบังคับลดลงให้ได้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสสำหรับทางเลือกมากขึ้น”

โดยส่วนของ สจล. นั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์  กล่าวว่าได้มีเริ่มมีการปรับเพิ่มวิชาเลือกใหม่ๆ ที่เข้ามาในหลักสูตร ที่แตกต่างไปจากในอดีต อาทิ วิชาโหราศาสตร์,  วิชา AI ในชีวิตประจำวัน  หรือศาสตร์การสร้างเสน่ห์ Charming School  เป็นต้น  แน่นอนว่าวิชาเลือกใหม่เหล่านี้ก่อนจะตกผลึกและเปิดสอน  ล้วนมีการสำรวจความสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้เรียนมาก่อนหน้า  อย่างกรณี ศาสตร์การสร้างเสน่ห์  ที่ได้รับความสนใจจากไม่เพียงนักศึกษาภายในแต่ยังได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอก  เพราะนอกจากความรู้ที่เรียนทันกันได้ แต่เสน่ห์ต้องมีการฝึกฝนและยังถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผู้นำ เพราะต่อให้ผู้นำเก่งแค่ไหนถ้าขาดเสน่ห์  หรือสื่อสารไม่เป็นทำให้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ให้คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจไม่ได้ ก็ไม่สามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนได้ ทำให้การสร้างความสำเร็จยากขึ้น

Today Leader to Tomorrow

ต่อมุมมองเรื่อง ผู้นำ ซึ่ง ศ.ดร. สุชัชวีร์ จะเน้นความสำคัญของเรื่องมาโดยตลอด  ยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ต้องตลอดเวลาอย่างในทุกวันนี้   ศ.ดร. สุชัชวีร์  กล่าวถึงคุณสมบัติที่ผู้นำวันนี้พึงต้องมี  โดยสิ่งแรกเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากคือ ความรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาใดสาขาหนึ่ง บางคนอาจจะมองว่ารู้ลึกเรื่องเดียวแล้วโง่กว้าง แต่จริงๆ คนที่รู้อะไรลึกซึ้งจะมี Format หรือ Logic ในการเรียนรู้ เพราะการที่จะไปถึงแก่นแท้ของสาขานั้นๆ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ ต้องเป็นนักอ่านและรู้จักค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน  หากต้องทำความเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เขาจะนำเอา Format ในการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้ และเมื่อรู้ลึกแล้วก็ต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คิดแบบ System Dynamics ยิ่งในยุค Disruption ถ้าคิดว่าตัวเองถูก ไม่อ่านหนังสือไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะนำพาองค์กรไปในทางที่ผิด นอกจากนี้ ผู้นำที่ดีต้องเป็นนักเปลี่ยนแปลงโดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความกล้า เพราะการอยู่อย่างเดิมนั้นไม่เหนื่อย ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากเปลี่ยนแปลง ผู้นำจึงต้องกล้าและใช้พลังทางกายมหาศาล ลงพื้นที่จริงสำรวจปัญหาแล้วผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเรื่องการสื่อสารกับคนในองค์กรก็สำคัญ และท้ายที่สุด คือ ต้องมีความเป็นสากล เพราะเราต้องทำมาหากินค้าขายกับคนอื่น ต้องกล้าออกไปเก่งนอกบ้าน สร้างความศรัทธาให้ต่างประเทศได้ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของผู้นำยุคใหม่

เพื่อตอบข้อคำถามและความคิดเห็น  ศ.ดร.สุชัชวีร์   ได้แสดงทรรศนะต่อมุมมองของการเป็นผู้นำในระดับประเทศว่า “การพัฒนาประเทศจะหวังให้ผู้นำเพียงคนเดียวขับเคลื่อนคนทั้งประเทศไปข้างหน้านั่นเป็นไม่ได้  หากยกตัวอย่างในต่างประเทศ  ผู้บริหารประเทศที่ก้าวหน้ามักจะมี Science Advisor ซึ่งเป็น Professor เก่งๆ คอยให้คำแนะนำและบอกทิศทางความต้องการและข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้นำในด้านต่างๆ  เป็น Think Tank ของผู้นำให้สามารถพิจารณา และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ  ได้อย่างมีตรรกะและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่พึงจะเป็น หรือตรงใจกับความคาดหวังของสังคม  กล่าวอีกนัยคือการบริหารแบบ Bottom Up นั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงบทบาทการเป็น ‘ผู้นำ’ ของสถาบันการศึกษา  ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นั้น  ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้เผยว่า “ตั้งเป็นโจทย์และตั้งในใจอย่างมุ่งมั่นเพียงหนึ่งเดียวเลย คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนในทุกรูปแบบ คนไทยมีความสามารถและทักษะไม่แพ้ชาติอื่น แต่สิ่งที่เรายังขาดไปคือ โฟกัสและความมุ่งมั่น”  

ต่อพันธะกิจของอธิการบดี ที่ สจล. ศ.ดร. สุชัชวีร์  กล่าวถึงหลักการทำงานตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาและเป้าหมายในอนาคตที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นว่า “ตั้งแต่ผมเป็นผู้นำ ผมจะบอกเสมอเลยว่า Do or Die, Now or Never ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลง กำหนดเป้าหมาย เล็งเป้าหมายคู่แข่งขัน ตั้งให้ใหญ่ แล้ววิ่งไปให้ถึง  ผมเองก็เริ่มจากจุดเล็กๆ นำพามหาลัยมาจนถึงวินาทีนี้ ผ่านมา 3 ปี เป็นเหมือนหนังคนละม้วน ผลงานล่าสุดวันนี้ เราสามารถนำ Carnegie Mellon University ที่ Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นพาร์ทเนอร์ได้  หรือโดยส่วนตัวเอง ก็เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Institutions of Higher Learning: ASAIHL)  เราต้องเอาชนะใจต่างชาติ เพิ่มคุณค่าในระดับสากล เก่งในระดับโลกทำให้เขาเชื่อมั่น เหล่านี้คือสิ่งที่ผมพยายามพัฒนาให้เกิดขึ้น อาจมีถูกบ้างผิดบ้าง แต่ทุกอย่างคือการเรียนรู้

สำหรับเป้าหมายในระยะยาวของอธิการบดีท่านนี้คือ  การสร้างและเตรียมผู้นำในรุ่นต่อไป  เพราะงานบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย  การต้องแบกรับทั้งมหาวิทยาลัยไว้ให้ได้  ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาต้องมีความพร้อม ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมการ  เพราะบทบาทนี้ไม่ใช่เพียงการวิ่งไปข้างหน้าแต่อย่างเดียว  บทบาทผู้นำยังต้องมีการ Facilitate, Coaching และ Dialogue  เพราะต้องอาศัยพลังของภาคส่วนต่างๆ มารวมกัน  ตอนนี้จะเห็นได้ว่าผู้บริหารหลายท่านของ สจล.เริ่มมีความฮึกเหิมและก็เริ่มกระจายพลังและการทำงานลงไปยังภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น อาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด  แต่ค่อยๆ ซึมลงไป  ในฐานะผู้นำต้องแข็งแรงและใจสู้ไปตลอด คงเส้นคงวา เพราะเรามีหน้าที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลง สร้างสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น  และที่สำคัญเราก็ต้องมีความต่อเนื่อง


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
ภาพ : ยุทธจักร

 

 

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:21
X

Right Click

No right click