โมเดลธุรกิจใหม่ “AMORN “สมาร์ทบัส” สู่ “บิ๊กดาต้า” และเหรียญ ARK ที่มี Eco System ครบครัน

February 15, 2019 3482

หลังจากที่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เปิดบริษัทลูก “บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด” ก็เตรียมเดินหน้าตามแผน ระดมทุนผ่าน ไอซีโอ ในไตรมาส 2 โดยเตรียมเปิดตัวเหรียญ ARK โทเคนแรกของอุตสาหกรรมขนส่งสาธารณะไทย เพื่อนำมาลงทุนใน 2 ธุรกิจ คือ รถเมล์อัจฉริยะ (SMART BUS) และบริษทดาต้าไทย ในด้านฐานข้อมูลของธุรกิจไทยและต่างประเทศ

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เผยกับนิตยสาร MBA ถึงความเป็นมาของการก่อตั้ง บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด โดยมีที่มาจากมุมมองและวิสัยทัศน์เรื่องการขนส่งมวลชนว่า เป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย โดย สุรเดชกล่าวว่า “ประเทศที่เจริญแล้วนั้น ไม่ใช่เมืองที่คนจนมีรถแต่เป็นเมืองที่คนรวยใช้บริการรถสาธารณะ การที่ประเทศไทยจะแสดงให้ถึงการเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เราต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลก็ทำส่วนใหญ่ คือ รถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ แต่รถเมล์ ขสมก. และรถร่วมบริการต่างๆ ยังไม่มีการปรับปรุงเป็นกิจจะลักษณะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองว่า รถขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ในกรุงเทพฯ ควรจะมีการปรับปรุง และยกระดับให้มีความทันสมัยและสามารถให้การบริการที่ดีต่อผู้ใช้รถ”

ในด้านโอกาสและความท้าทายของการดำเนินธุรกิจขนส่งสาธารณะกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น สุรเดช กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่เราเริ่มทำโครงการรถขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีกสาย คือ รถขอนแก่นซิตี้บัสสาย 24 เป็นเสมือนจุดเริ่มต้น และเปรียบเสมือนห้องแล็บเรื่อง Smart Bus ที่เรานำ 6 เทคโนโลยีเข้ามาทดลองใช้ ทั้งการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ระบบนับคนขึ้นลง มี WiFi ให้บริการ เป็นรถเอ็นจีวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและในอนาคตจะเป็นรถไฟฟ้า นอกจากนั้น แอพพลิเคชั่นยังตรวจสอบตำแหน่งได้ว่า รถสายที่จะขึ้นจะมาที่ป้ายรถเมล์เมื่อไร โดยที่ไม่ต้องไปยืนรอที่ป้าย และสุดท้ายคือ มีกล้องเพื่อช่วยเรื่องความปลอดภัย ในตัวรถที่หน้ารถและหลังรถ เรียกได้ว่า เป็นตัวช่วยตำรวจเมื่อ Smart bus กว่า 4,000 คัน วิ่งไปมาในเขตกรุงเทพ พร้อมกล้องนั้นจะทำให้กรุงเทพฯ ปลอดภัยขึ้นมาก

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีการหารือกันในกลุ่มรถร่วมบริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเรื่องความร่วมมือเพื่อพัฒนาและยกระดับการให้บริการ ซึ่งมีประเด็นติดค้างอยู่หลายเรื่อง อาทิจุดร่วมของการรวมตัว การปรับเส้นทางต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ต่างคนต่างวิ่ง เมื่อเวลาผ่านไปรถเมล์ส่วนใหญ่ก็ค่อยๆ เสื่อมสภาพทรุดโทรมลงไปทุกปีๆ

อย่างไรก็ดีภายใต้นโยบายของรัฐบาลล่าสุดได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สัมปทานของเหล่ารถร่วมบริการจากที่เคยต้องขึ้นตรงกับขสมก. แต่ปรับเปลี่ยนใหม่โดยให้มาขอสัมปทานจากทางกรมการขนส่งทางบก และภายใต้การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นจังหวะที่บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) โดย สุรเดช ได้เดินสายออกตัวเจรจากับบริษัทรถร่วมบริการทั้ง 40 แห่งจนได้ข้อสรุปและเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทอมรรัตนโกสินทร์ ที่มีชื่อย่อว่า ARK โดย ARK จะเป็นบริษัทร่วมทุนของ ช ทวี และอีก 40 บริษัทโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อที่จะดำเนินธุรกิจรถเมล์ร่วมบริการโดยบริหารกิจการเดินรถของทั้ง 40 บริษัทรถร่วมบริการ ภายใต้ความครอบคลุมการเดินรถกว่า 300 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยจำนวนรถเมล์ให้บริการกว่า 3,000 คัน ด้วยความสามารถบริการผู้เดินทางนับล้านคนต่อวัน

ทั้งนี้และทั้งนั้น เป้าหมายสำคัญของการก่อเกิด อมรรัตนโกสินทร์หรือ ARK คือความต้องการปรับปรุงและยกระดับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนรถเมล์ร่วมบริการในกรุงเทพฯ ให้มีมาตรฐาน ความปลอดภัยและความสะดวกสบายอย่างสมควรที่ประเทศที่เจริญแล้วพึงมี

โอกาสและความท้าทายของรถเมล์กรุงเทพฯ และปริมณฑล

สุรเดช เผยว่าระบบรถรางของรัฐบาลที่กำลังก่อสร้างหลายเส้นทางนั้นถือว่า ดีและไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน เรียกได้ว่า เราเป็นอีกคนที่มาช่วยกรุงเทพทำเรื่อง Connectivity ซึ่งหมายถึงว่า ระบบรถรางต่อกับรถเมล์ ต่อกับสองแถว ต่อกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น

Connectivity ของประเทศไทยต้องทำให้ครบ เมื่อครบ คนก็ไม่จำเป็นต้องเอารถออกมาใช้ ช่วยแก้ปัญหาได้เรื่องรถติด ซึ่งเป็นช่วยสังคมในอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ Partที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ Part ที่พวกเราทำ คือ เส้นเลือดฝอย และเราจะเริ่มพัฒนาระบบในการนำโทเคนมาใช้ และถ้าระบบใช้ได้กับรถเมล์ของเราสมบูรณ์เมื่อไหร่ ก้าวต่อไปคือการประยุกต์ไปใช้กับส่วนอื่นเช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือต่อเรือ เป็นต้น ซึ่งถ้าใช้ได้เมื่อไหร่ ก็จะเป็นอีก Eco System เรื่องการเดินทางที่สมาร์ท

สมาร์ทบัส ของ AMORN

รถเมล์ในระบบบริการเดินรถของบริษัท อมรรัตนโกสินทร์ หรือ AMORN จะถูกพัฒนาเป็นสมาร์ทบัส และมีจุดเด่นอย่างแรก คือ เวลาเราขึ้นไประบบจ่ายเงินจะใช้ แอปพลิเคชันที่เราดีไซน์ออกมา จุดเด่นต่อมาคือ มีระบบนับคนขึ้นลง อย่างที่ 3 คือ มี WiFi ให้ใช้ฟรีในตัวรถ ประการที่ 4 เป็นรถที่รักษาสิ่งแวดล้อมเอ็นจีวี และต่อไปจะพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าในอนาคต ประการที่ 5 คือว่า มีแอปพลิเคชันที่ดูว่า เมื่อไหร่รถที่เราต้องการจะไป จะเข้าจอดที่ป้ายรถเมล์ ช่วยให้เราไม่ต้องไปยืนรอที่ป้ายรถเมล์

และประการสุดท้าย สมาร์ทบัสเหล่านี้จะมีกล้องเพื่อช่วยในเรื่องความปลอดภัย กล้องในตัวรถ กล้องส่องออกไปข้างหน้า ข้างหลัง สมาร์ทบัสตัวนี้เรียกได้ว่า เป็นเสมือนผู้ตรวจอีกตัวช่วยของตำรวจ เพราะเรามีรถเมล์ร่วม 4,000 คัน วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในกรุงเทพ พร้อมกล้องที่ติดอยู่ แล้วกรุงเทพฯ จะปลอดภัยขึ้นขนาดไหน

แน่นอนว่า โครงการพัฒนาสมาร์ทบัส ต้องใช้เงินลงทุนเฉพาะตัวรถร่วมคันละประมาณ 4 ล้านบาท และค่าระบบที่ประมาณ 4 แสนกว่าบาท และนั่นหมายถึงเงินลงทุนโครงการมูลค่าไม่ต่ำกว่า หมื่นล้านบาทในการพัฒนาระบบรถเมล์ร่วมบริการให้เป็นรถเมล์อัจฉริยะสำหรับเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งนี้

แผนระดมทุน ICO ออกเหรียญ ARK

สำหรับความคืบหน้าในวันนี้ สุรเดช บอกว่าเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการรถร่วมฯ เห็นด้วยว่า ต้องรวมกันถึงจะไปต่อได้ ส่วนในขั้นตอนเรื่อง M&A หรือการควบรวมและการซื้อกิจการนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับหลักการและระยะเวลาจากนั้นภายในไตรมาสที่ 2 เราจะใช้การระดมทุนแบบใหม่ ในรูปแบบ ICO (Initial coin offering) โดยจะออกเป็นโทเคน ชื่อว่า ARK

ใน White Paper จะระบุชัดเจนถึงเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน ว่าจะนำมาลงทุนในโมเดลธุรกิจที่แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ธุรกิจรถเมล์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเรื่องฮาร์ทแวร์ อาทิการเปลี่ยนรถใหม่ การติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ และตัวตรวจจับต่างๆ ฯลฯ คิดเป็นสัดส่วน 50% และอีก 50% เราจะนำไปทำเรื่อง Big Data โดยจะตั้งบริษัทชื่อว่า ดาต้าไทย ขึ้นมาดำเนินการในส่วนนี้

สุรเดช อธิบายถึง ARK อีกว่าจะเป็นเหรียญดิจิทัลโทเคนเหรียญแรก ที่จะใช้กับขนส่งมวลชนของไทยได้ โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนไว้ที่ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่ได้กำหนดราคา แต่ไอเดีย คือ ราคาของเหรียญจะต้องต่ำ และมี 2 ประเภท คือ Investment Coin โดยจะเป็นเหรียญเพื่อการลงทุน ซึ่งตรงนี้มีการขึ้นลง เหรียญพวกนี้ไม่สามารถนำมาใช้กับขนส่งมวลชนได้ ส่วนเหรียญ ARK อีกประเภท จะเป็น Stable Coin เหรียญนี้จะมีที่ค่าที่มัดอยู่กับมูลค่าอย่างเช่น เงินบาทยกตัวอย่าง 1 เหรียญเท่ากับหนึ่งสลึง เพื่อเอาไว้ใช้ใน Eco System ในการจ่ายค่ารถเมล์ จ่ายค่าแท็กซี่ จ่ายค่าต่างๆ เหรียญที่ออกจากตรงนี้ จะถูกกลับนำมาใช้ในขนส่งมวลชนของ ARK และในเครือข่าย ซึ่งเรียกว่า Eco System จนครบ ซึ่งมีตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพ นนทบุรี สระบุรี และที่จะขยายความร่วมมือต่อไปในอนาคต

จาก Eco System ที่มีครบนั้น คือ โอกาสของการใช้เหรียญให้เกิดประโยชน์ได้จริง เพราะเรามีรถเมล์จำนวน 3,000 คัน มีคนที่กำลังจะขึ้นรถเมล์ เฉพาะในประเทศไทยที่อยู่ในวงจรนี้ ประมาณ 2.2 ล้านคน/เที่ยว มีระบบเตรียมจ่ายเงินที่เข้าใจง่าย เมื่อ Eco System ครบ นั่นหมายถึงเริ่มนำเหรียญ ARK มาใช้ได้เลย และวันนี้เป้าหมายของ ARK ไม่ใช่เหรียญของประเทศไทยอย่างเดียว แต่หวังว่าจะสามารถนำไปใช้ที่ต่างประเทศได้ ด้วย 2 โมเดลการเดินรถเมล์กับ Big Data สามารถขยายไปได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา

หลังการเปิดตัวเหรียญ ARK เข้าสู่ตลาด และมีงบประมาณเพื่อการลงทุน จากการระดมทุน ICO ตามเป้าหมายได้แล้ว เราก็จะเริ่มทำตามแผน โดยแผนที่วางไว้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเริ่มเห็นความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง Application, Software และระบบ Big Data นี่คือแผนธุรกิจในส่วนของดาต้าไทย

ขณะที่ในส่วนของรถเมล์ จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนรถร่วมใหม่ประมาณ 400 - 500 คันต่อปี ซึ่งหมายถึงจะมีรถร่วมใหม่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ประมาณ 2,000 คัน ภายใน 3 -4 ปี ในขณะที่ทางฝั่ง ขสมก.วันนี้ก็มีการเปลี่ยนไปแล้วถึง 400 คัน และกำลังจัดประมูลต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงภายใน 3-4 ปีสภาพรถเมล์ของกรุงเทพฯ จะเป็นรถใหม่ทั้งหมด

เมื่อถึงตอนนั้นบริษัทอมรรัตนโกสินทร์ จะเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดี มีโอกาสในการขยาย จึงวางแผนต่ออีกว่า จะมีการทำ IPO ในธุรกิจรถเมล์ โดยเปิดระดมทุนเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

คุณค่าของ ARK ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย

สุรเดช กล่าวในตอนท้ายถึง คุณค่าของการดำเนินธุรกิจแบบระบบขนส่งมวลชนว่า "นี่คือการแก้ปัญหาสังคม ที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดยภาคเอกชนเป็นคนทำ ลดทอนเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยความเหลื่อมล้ำคือ PLACE สถานที่ที่มนุษย์ทุกชนชั้นสามารถอยู่ด้วยกันได้ สถานที่ที่มนุษย์ทุกชนชั้น สามารถอยู่และ Conversation กันได้

Place เป็นสถานที่ อย่างเช่น สวนสาธารณะดีๆ ที่ดีๆ รถเมล์ก็คือหนึ่ง ในสถานที่นั้น ถ้าเราทำดีๆ คนทุกชนชั้นจะขึ้นไปอยู่บนนั้น ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ไม่ใช่เรื่องไฟแนนซ์ ไม่ใช่การเงิน แต่เป็นความเหลื่อมล้ำด้านจิตใจ ซึ่งสำคัญที่สุด

ยิ่งกว่านั้นเราทำให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาเมือง พวกเราทำบริษัทขอนแก่น พัฒนาเมือง เราต้องการให้สังคมรับรู้ว่า เมืองที่ดี คืออะไร เมืองที่ดีไม่ใช่การแก่งแย่ง ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้เงินมา หรือเป็นเมืองที่เห็นแก่ตัว เมืองที่ดี คือเมืองแห่งการแบ่งปัน เมืองที่ออกแบบถูกต้อง ออกแบบระบบขนส่งมวลชนที่ดีและเกิด Connectivity นี่คือการ Contribute กับสังคม และที่สำคัญที่สุด ทำให้ประเทศเห็นว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ดาต้าที่มีอยู่เป็นประโยชน์ได้อย่างไร


เรื่อง ชนิตา งามเหมือน

ภาพ ยุทธจักร

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 10 March 2022 05:06
X

Right Click

No right click