ไมโครซอฟท์จัดงาน Innovation Conference ชูนวัตกรรม AI และคลาวด์เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อขับเคลื่อน SME ไทยสู่อนาคต

April 11, 2019 2170

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ชูนวัตกรรมอัจฉริยะจาก AI คลาวด์ และ IoT ยกระดับศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้ทัดเทียมองค์กรขนาดใหญ่บนเวทีโลก ในงาน Microsoft Innovation Conference ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อให้คำแนะนำทั้งในเชิงเทคนิคและกลยุทธ์กับผู้บริหารและพนักงานฝ่ายไอทีของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไทย และนำเสนอโซลูชันเด่นที่พร้อมเร่งประสิทธิภาพให้กับทุกองค์กร

ภายในงาน ทีมผู้บริหารไมโครซอฟท์ นำโดยนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เสนอแนะแนวทางการนำเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจในทุกประเภทและอุตสาหกรรม ทั้งยังเจาะลึกแนวคิด “Three Clouds” กับการผสมผสาน 3 โซลูชันและแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์อย่าง อาซัวร์  Office 365 และ Dynamics 365 เข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้รุดหน้าอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

“คำพูดที่ว่า ‘AI มีอยู่ทุกหนแห่ง’ นั้น กำลังใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นแชทบอทของร้านค้าที่ตอบคำถามของลูกค้าอย่างอัตโนมัติ หรือระบบ Electronic Know-Your-Customer สำหรับการยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคาร ก็ล้วนทำงานโดยมี AI เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานอยู่เบื้องหลัง” นายธนวัฒน์กล่าว “AI และคลาวด์ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพราะเงินทุนไม่ใช่อุปสรรคในการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องของกลยุทธ์และแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจที่ยังขาดหายไปอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีธุรกิจเพียง 26% เท่านั้นที่นำ AI มาเป็นหัวใจหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจ เราเชื่อว่าธุรกิจในยุค AI จะต้องมี Tech Intensity หรือความเข้มข้นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ผ่านทางการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพจากเทคโนโลยี”

ยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า พร้อมเสริมความคล่องตัวให้พนักงานและองค์กร ด้วยโซลูชันคุณภาพจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับพันธมิตรผู้พัฒนาและติดตั้งโซลูชันชั้นนำในประเทศไทยเพื่อร่วมกันจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการล่าสุดสำหรับทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยครอบคลุมการทำงานในหลายด้าน นับตั้งแต่ประสบการณ์ของลูกค้าไปจนถึงระบบงานภายในองค์กร เช่น Wolf Approve ระบบการขออนุมัติเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ โดยบริษัท เทคคอนส์บิส จำกัด จะช่วยลดความซับซ้อนในการเดินเอกสารทั่วไปภายในองค์กร เช่นการขอเบิกค่าใช้จ่าย เบี้ยเลี้ยง หรือการยื่นใบลา เป็นต้น ด้วยการสร้างแบบฟอร์มและกระบวนการอนุมัติที่เป็นดิจิทัลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์

คุณสิโรฒม์ ทัศนัยพิทักษ์กุล Solution Specialist จากเทคคอนส์บิส เผยว่า “นอกจากจะเป็นการย้ายระบบงานเอกสารจำนวนมากขององค์กรให้กลายเป็นระบบดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งพากระดาษแล้ว Wolf Approve ยังรองรับการตั้งเงื่อนไขการอนุมัติเอกสารได้โดยอัตโนมัติ ตามรูปแบบการทำงานของแต่ละบริษัท ไม่สับสนในการส่งเอกสารไปหาผู้อนุมัติที่ถูกต้องอีกต่อไป ทั้งยังเปิดให้ใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันในอุปกรณ์พกพาต่างๆ จึงทำให้พนักงานและผู้อนุมัติเอกสารสามารถทำเรื่องและอนุมัติคำร้องต่างๆ ได้จากทุกที่ ทุกเวลา แม้ในขณะเดินทาง”

ส่วนโซลูชัน Smart Self-Checkout จุดชำระเงินซื้อสินค้าแบบอัจฉริยะ โดย บริษัท ริเวอร์พลัส จำกัด นำบริการ Custom Vision บนแพลตฟอร์มอาซัวร์ มาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบ AI ที่สามารถแยกแยะวัตถุตรงหน้าเพื่อให้บริการลูกค้าได้โดยอัตโนมัติ เช่นในกรณีตัวอย่างของร้านเบเกอรี่ ที่สามารถฝึกสอนให้ AI ดังกล่าวจดจำลักษณะของขนมปังแต่ละชนิดจากภาพที่มองเห็นผ่านกล้อง เมื่อลูกค้านำถาดมาวางใต้กล้อง AI จะระบุชื่อสินค้า ระบุราคา ปริมาณแคลอรี่ โปรโมชั่น สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบนหน้าจอได้ทันที นอกจากนี้ AI และแพลตฟอร์มอาซัวร์ ยังสามารถเก็บข้อมูลอื่นไม่ว่าจะเป็นยอดขาย สินค้าขายดี อายุ เพศ ความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งฟังก์ชั่นดังกล่าวสามารถนำมาดัดแปลงให้เข้ากับการทำงานในแต่ละธุรกิจได้อีกด้วย

“เทคโนโลยีด้าน Machine Vision หรือการมองเห็นของระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทางริเวอร์พลัสพัฒนาขึ้นมานั้น ไม่ได้ใช้ได้เพียงแต่ในกรณีนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้อีกหลากหลายรูปแบบด้วย เช่นในกรณีของการตรวจสอบรหัสชิ้นส่วนหรือคุณภาพสินค้าในสายการผลิต เป็นต้น” คุณจิราภรณ์ ตีระมาศวณิช ผู้จัดการทั่วไปของริเวอร์พลัสเผย

บริษัท จีเอเบิล จำกัด ได้นำโซลูชันระบบงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล Staffio และระบบจัดทำ นำส่ง และจัดเก็บข้อมูลภาษีแบบครบวงจรบนคลาวด์ Taxircle มาจัดแสดงภายในงาน โดย Staffio เป็นระบบที่รองรับงานทั้งในด้านโครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการพนักงานเป็นรายบุคคล การบันทึกเวลางาน วันลาหยุด การจัดการเงินเดือน ส่วน Taxircle จะช่วยแปลงข้อมูลจากระบบบัญชีให้กลายเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมนำส่งไปยังกรมสรรพากรและคู่ค้าได้ทันที และเก็บรักษาข้อมูลได้ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

คุณปณต กาญจนศูนย์ หัวหน้าแผนกการตลาดและดิจิทัลโซลูชันจากจีเอเบิล เสริมอีกว่า “เราต้องการนำโซลูชันดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการข้อมูลและระบบงานที่มีในมือได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้ง Staffio และ Taxircle เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการ Corporate Digital Solution ของจีเอเบิล ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะงานด้าน HR และภาษีเท่านั้น แต่ยังมีโซลูชันด้านการตลาดแบบดิจิทัลแบบครบวงจรที่เพียบพร้อมด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายรูปแบบอีกด้วย”

ทางสตาร์ทอัพไทย ฟีดแบค 180 ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรฝ่ายวิจัยและพัฒนาในบริษัทมาสร้างสรรค์โซลูชัน Closed Loop Feedback ซึ่งนำ AI และ machine learning มาช่วยให้ธุรกิจได้รับรู้และเข้าใจในเสียงตอบรับจากลูกค้าในทุกช่องทางอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบช่วยวิเคราะห์และตีความความคิดเห็นจากข้อความภาษาไทยที่ถูกโพสท์ลงบนโลกออนไลน์

คุณยงยุทธ ทรงศิริเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของฟีดแบค 180 เผยว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำในด้านการทำความเข้าใจในตัวลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะและจดจำลักษณะของลูกค้าที่แวะมาที่หน้าร้านค้าหรือสาขา หรือการเปลี่ยนกระแสเสียงตอบรับของฐานลูกค้าให้กลายเป็นข้อเสนอพิเศษที่ตรงเป้า โดยที่ลูกค้าองค์กรสามารถเลือกเติมความสามารถให้กับโซลูชัน Closed Loop Feedback ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงได้ตามต้องการ เช่นโมดูล Social Voice ที่รองรับการวิเคราะห์ข้อความเกี่ยวกับแบรนด์หรือสินค้าที่กำหนดไว้ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญของเราในด้านการวิเคราะห์และทำความเข้าใจภาษาด้วย AI ยังช่วยให้เราสามารถสร้างระบบคลังความรู้ภายในองค์กรแบบ Knowledge Graph ที่ค้นหาข้อมูลได้ด้วยประโยคคำถามที่เรียบเรียงแบบธรรมชาติและไม่ตายตัว”

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชัน AI ของไมโครซอฟท์ได้ที่

https://news.microsoft.com/apac/features/artificial-intelligence/

X

Right Click

No right click