กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึก ซีพี ออลล์ ผ่านเซเว่นฯ สนับสนุน SMEs ไทยให้เติบโต พร้อมเปิดโอกาสทางการตลาดส่งสินค้า SMEs สู่มือผู้บริโภค พร้อมยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านโครงการและกิจกรรมเด่น  ตั้งเป้ายกระดับสินค้า นวัตกรรม สู่มาตรฐานสากล

นายณัฐพล รังสิต ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการและการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ (Kick-off) ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ โดยระบุว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ (5 เม.ย.67) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุน SMEs เพื่อเริ่มต้นทำกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในประเทศไทยมีส่วนสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างยิ่ง ทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน แหล่งอาชีพ แหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ของ SMEs สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม SMEs ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงฯดำเนินการสนับสนุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้กับ SMEs ให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และเมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าแล้วจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมีสาขามากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่ม จึงมั่นใจว่าการลงนาม MOU ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ใน 4 มิติ ก็คือ รายได้ การอยู่ร่วมกันกับชุมชน การลงตัวสอดคล้องกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นที่รักของชุมชน ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อย SMEs รวมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งช่วยผลักดันให้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศส่งผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สร้างรายได้ สร้างโอกาส ให้แก่ผู้ประกอบการได้เติบโตและดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะการแข่งขันของตลาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งขยายไปยังหน่วยอื่น ๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตควบคู่กับการกินดีอยู่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในรอบนี้มีผู้ประกอบการที่ผ่านโครงการของ อก. ที่ได้รับโอกาสในการเชื่อมโยงกับเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 50 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี” นายณัฐพล กล่าว

ด้าน นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า เซเว่น อีเลฟเว่น ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม SMEs มาโดยตลอด ตามนโยบาย SMEs โตไกลไปด้วยกัน” ผ่านกลยุทธ์ 3 ให้ ประกอบด้วย 1.ให้ช่องทางขาย 2.ให้ความรู้ และ 3.ให้การเชื่อมโยงเครือข่าย จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ SMEs ในอนาคต

“การลงนามความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะภาครัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสนับสนุน ส่งเสริม SME อย่างจริงจังในทุกรูปแบบและทุกช่องทาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเติบโตของทั้ง 2 หน่วยงานคือ ต้องการสร้างการเติบโตแบบองค์รวมทั้งในภาคของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ SMEs และระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในอนาคตให้พร้อมแข่งขันในระดับสากล” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน พัฒนา เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายและพันธกิจในการสร้างอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี เพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากรผ่านการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดสัมมนา การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับสถานประกอบการและประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และร่วมมือกันดำเนินงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา (Feedback) ให้ความรู้เชิงวิชาการ เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และสร้างโอกาสทางการตลาดการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมการทดสอบตลาด ตลอดจนกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไปในชุมชนและสังคม

เติบโตภายใต้หลัก 2 ดี “สินค้าดี-พันธมิตรดี” ดันยอดขายปี’66 โตทะลุ 260 ล้าน  

คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้าน ประกาศปี’67 พร้อมเดินหน้าสนับสนุน ส่งเสริม SME ภายใต้ "กลยุทธ์ 3 ให้” ต่อเนื่อง

การพัฒนา SME อาจไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็มีปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของเอสเอ็มอีที่น่าสนใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาของผู้ประกอบการรายย่อยได้ เคล็ดลับหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในงานอบรมโครงการ “ตอกเสาเข็มเพื่อ SME” ปี 2567 ที่ทางศูนย์เซเว่น อีเลฟเว่น สนับสนุนเอสเอ็มอี ภายใต้การบริหารของซีพี ออลล์ หยิบยกขึ้นมาคือ “การสร้างแบรนด์” ได้จุดประกายให้เกิดคำถามต่อเนื่องที่เชื่อมโยงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผศ.ดร.วราภรณ์ คล้ายประยงค์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ SME หนึ่งในวิทยากร ได้ขยายความเรื่องของ “การสร้างแบรนด์” สิ่งที่ SME ควรรู้ก่อนที่จะปั้นแบรนด์ให้ปัง เพื่อพิชิตใจผู้บริโภคอย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ในปัจจุบันมีการแบ่งแยกประเภทลูกค้าตามพฤติกรรมของลูกค้า แทนแบ่งแยกตามอายุ (Generation) เนื่องจาก Digital เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิต และภาพเหล่านี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังเหตุการณ์โควิด 19 โดยมีวางกรอบกลุ่มผู้บริโภคใหม่ดังนี้ กลุ่มที่น่าจับตามองคือกลุ่ม Generation C (Connected Generation) ซึ่งมีประมาณ 75% ของประชากรวัยทำงาน ต่างกับ Generation X, Y และ Z ในอดีต ตรงที่อายุไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

Gen C กลุ่มนี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ แต่มุ่งเน้นไปที่ทัศนคติและกรอบความคิดในการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับไลฟ์สไตล์ จากข้อมูล Parachute Digital. 2024 พบว่า กลุ่ม Gen C ส่วนใหญ่จะเสพข้อมูลผ่านเว็บไซต์โซเซียลมีเดีย โดย 42% ใช้แท็บเล็ตขณะดูทีวี และ 64% ของเวลาบนมือถือถูกใช้ไปกับ Application ต่างๆ เรียกว่า กลุ่ม Gen C มีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เพียงแต่บริโภคเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังสร้าง content ขึ้นมาด้วย

จากการวิจัยของ Think with Google พบว่า 90 % ของผู้บริโภค Gen C สร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง การแบ่งปันชีวิตกับโลกดิจิทัลผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter และ Instagram ความคิดสร้างสรรค์และกรอบความคิดดิจิทัลคือสิ่งที่ทำให้คน Gen C แตกต่างจากคนรุ่นอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนเหล่านี้คือคนที่กิน นอน และหายใจผ่านสื่อดิจิทัล (ข้อมูลจาก : Appleton. 2024) ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อกลุ่ม Gen C มีขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่จะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ หนึ่งในวิธีที่เห็นผลและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนก็คือ “การสร้างแบรนด์” โดยการสร้างแบรนด์ในสมัยนี้ง่ายและสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนมาก แบรนด์ที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

1.ทัศนคติในเชิงบวกกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง : การมองโลกในแง่ดีและสนับสนุนผู้บริโภคด้วยการสร้างมูลค่าเชิงบวกกับการขายที่ลำบากจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นใจและสร้างความสัมพันธ์ในแบรนด์ เช่น ผู้ประกอบการจำหน่ายพลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งจะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อเกิดบาดแผล หากผู้ประกอบการมีการนำข้อความดีๆหรือออกแบบลายที่ดูสดใส ก็จะช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่ดีได้

2.มีความเป็นมิตร : ผู้บริโภคกำลังมองหาความไว้วางใจและมูลค่าในการซื้อสินค้า ที่มากกว่ามูลค่าทางตัวเงิน ผ่านการให้ความใส่ใจผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริการด้วยใจ ดังนั้นเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกจึงยังคงสำคัญ แม้ว่าจะมีความอ่อนไหวต่อราคาเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ ผู้ประกอบการก็มีบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ หรือมีการสอบถามเพื่อแสดงความห่วงใย

3.ผสานเทคโนโลยีทั้งในการทำงานและชีวิตประจำวัน : เมื่อกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เลือกทำตลาด และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง เหมาะกับผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่ให้ได้ทำตลาดและสร้าง  แบรนด์ โดยผู้ประกอบการจะต้องศึกษารูปแบบและวิธีการขายในแต่ละแพลตฟอร์มให้ดี เพื่อสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

4.ให้ความสำคัญกับงานและชีวิต : การที่กลุ่ม Gen C เข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลขององค์กร ดังนั้น หากแบรนด์มีการสร้างการตระหนักรู้ถึงความใส่ใจขององค์กรที่มีต่อพนักงาน ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เพราะความสุขของพนักงานที่มีต่อการทำงานจะสะท้อนออกมาผ่านตัวสินค้าและบริการนั่นเอง

5.ให้ความสำคัญกับสังคม : ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องการเห็นธุรกิจดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ กลุ่ม Gen C มักจะค้นหาข้อมูลของผู้ประกอบการและที่มาของสินค้าว่า สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมถึงมีการทำกิจกรรมหรือโครงการดีๆ เพื่อตอบแทนสังคมหรือรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมาก

หากดำเนินการสร้างแบรนด์ครบทั้ง 5 เรื่องแล้ว ลำดับถัดไปคือการเลือกช่องทางในการสร้างแบรนด์ ผู้ประกอบการควรเลือกจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีการการันตีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางในการขายสินค้าจำนวนมาก หากผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทางขายออนไลน์ของตัวเอง ก็สามารถการันตีสินค้าได้เช่นกัน และต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความพึงพอใจ

Page 1 of 17
X

Right Click

No right click