×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่ให้มุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราและโลกธุรกิจรวมไปถึงการบริหารงานต่างๆ อย่างคมชัด

เพราะเราคงไม่สามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีที่กำลังขับเคลื่อนโลกใบนี้อยู่ได้ ยิ่งในโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันจนยากจะจำกัดหรือกำจัดเทคโนโลยีเหล่านี้ออกไปจากชีวิตใครคนใดคนหนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่งไปได้ การอยู่ร่วมกันโดยที่ยังคงรักษาผลประโยชน์ของเราไว้ได้จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจที่สุด เพราะคงไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์จากทุกมุมโลกเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ดร.เศรษฐพงค์เปิดห้องพูดคุย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น และนวัตกรรมที่กำลังเข้าสู่ช่วงอัตราเร่งในการพัฒนา การที่ธุรกิจถูก Disrupt จากเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบล็อกเชน และเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะกลายเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้จะเชื่อมต่อเซนเซอร์ทั้งหลายช่วยให้โลกชาญฉลาดมากขึ้น การเติบโตของนวัตกรรมจะรวดเร็วเพราะคนสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ง่ายขึ้นทุกมุมโลก โลกจะก้าวสู่โลกยุค Industry 4.0 ที่หมายถึง Autonomous Decentralize Distributed เป็นยุคที่คนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการสร้างงานสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข่าวสาร สร้างนวัตกรรมร่วมกัน

  ผลกระทบของบล็อกเชน

ดร.เศรษฐพงค์มองว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี จากยุคเทปคาสเซ็ทที่การก๊อบปี้ทำได้ยาก สู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตมีความเร็วเพิ่มขึ้นเพลงถูกเปลี่ยนเป็นไฟล์ดิจิทัลและสามารถแชร์กันได้ ทำให้ป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ได้ยาก ส่งผลให้ไม่สามารถกำหนดจำนวนอุปทานที่จะออกมาได้

มาในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตมีพลังมากขึ้น สมาร์ตโฟนสามารถเข้าถึงผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก เกิดแนวคิดที่จะกำหนดจำนวนไฟล์ จำนวนลิขสิทธิ์ของเพลงเช่นเดียวกับการผลิตเทปคาสเซ็ทในอดีต ช่วยให้เกิด Business Value บนเครือข่าย

ในปี 2008 ซาโตชิ นากาโมโตะ ซึ่งเป็นชื่อสมมติ เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งและส่งให้โปรแกรมเมอร์ระดับโลกว่ามีวิธีการสำหรับเรื่องข้างต้น นั่นคือแนวคิดของบล็อกเชน เป็นจังหวะเดียวกันที่อินเทอร์เน็ตไปถึงจุดที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกได้ ด้วยแนวคิดว่าให้คนบนเครือข่ายมาช่วยกัน Verify ไฟล์ที่เรากำหนดไว้ ทำให้ทุกคนไม่สามารถโกงกันได้ เพราะจะเห็นจำนวนที่ตรงกัน มีรหัสเดียวกัน หากใครมีรหัสที่แปลกปลอมก็จะถูกเตะออกนอกระบบ

บิทคอยน์คือตัวอย่างที่ทำให้โลกเห็นว่า มีแอปพลิเคชันหนึ่งที่สามารถสร้างและเก็บรักษามูลค่าโดยกำหนดจำนวนได้ เป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่นๆ สามารถจะนำไปต่อยอด เช่นศิลปิน สามารถออกเพลงโดยกำหนดจำนวนก๊อบปี้ที่ชัดเจนบนแอปพลิเคชันมิวสิกบล็อกเชน ผู้อยากได้ไฟล์ไปฟังก็ส่งเงินไปที่วอลเล็ตของศิลปิน และหากมีการส่งต่อหรือซื้อขายเพลงดังกล่าวไปสู่ผู้ฟังรายอื่น ตัวศิลปินก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้ จากโค้ดที่เขียนไว้

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในชุมชนของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่นหัวเหว่ยที่เตรียมจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาอยู่บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากวันใดก็ตามที่บริษัทสมาร์ตโฟนที่มีชื่อเสียง มีผู้ใช้งานเป็นพันล้านคนนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก็เป็นการเปิดช่องทางให้ทุกคนต้องเข้ามาใช้เทคโนโลยีนี้

ดร.เศรษฐพงค์เปรียบเทียบอินเทอร์เน็ตว่าเหมือนกับทะเล เป็นตัวกลางที่ยังไม่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ ขณะที่บล็อกเชนเปรียบดังเรือที่สามารถบังคับตัวเองได้ตามที่กำหนดไว้ เมื่อมีคนขึ้นเรือก็เก็บเงินผ่านวอลเล็ต หรือจะเรียกบล็อกเชนว่า Programmable Internet ก็ได้ บล็อกเชนจะกำหนดอุปทาน และกำหนดการทำ Smart Contact รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง การแลกเปลี่ยนพลังงาน และอื่นๆ

“บล็อกเชนเป็นตัวกำหนดว่าเรือลำนี้กับเรือลำนั้นเป็นเพื่อนกัน จะคุยกัน แต่ถ้าเรือลำนี้ไม่มีโค้ดเราจะไม่คุยกับเรือลำนี้ เราจะไปส่งคนให้เรือลำที่เรารู้จักเท่านั้น เรือก็ล่องเต็มไปหมดเป็นโหนดๆ เต็มไปหมด เรือจะมากขึ้นๆ เพราะคนเป็นพันล้านคน บล็อกเชนคือการทำทรานเซกชันแบบเรียลไทม์และอัตโนมัติ โดยเขียนโปรแกรมไว้แล้ว เป็นข้อตกลงกัน และจะทำงานให้อัตโนมัติ ผมแค่ออกเพลง 1 ล้านเพลงเป็นดิจิทัลไฟล์ที่มีการเข้ารหัสไว้เรียบร้อยแล้ว ใครซื้อมาก็โอนให้”

ผลกระทบของบล็อกเชนจะทำให้ตัวกลางที่เคยมีอยู่ถูกลดหรือเปลี่ยนบทบาทลงไป เช่นอุตสาหกรรมสื่อสาร อุตสาหกรรมการเงิน ทนายความ รวมไปถึงภาครัฐต่างๆ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่กันใหม่

ดร.เศรษฐพงค์มองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นเหมือนกับแอปพลิเคชันที่เราใช้กันเป็นประจำในวันนี้ ที่เมื่อเกิดมาแล้วมีผู้ใช้งานจำนวนมากก็กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องใช้ เพื่อติดต่อสื่อสารหรือทำธุรกรรมระหว่างกัน ดังนั้นการเตรียมเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีนี้อย่างชาญฉลาดจึงเป็นทางออกของเรื่องนี้

  5G จะพาเราไปไหน

ดร.เศรษฐพงค์เล่าถึงเทคโนโลยี 5G ที่เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ว่า เป็นการพัฒนาต่อจากระบบ 4G LTE Advance และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่พัฒนาแบบแยกออกไปต่างหากซึ่งกำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นเทคโนโลยีหลักอยู่ เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสร้างมูลค่าได้ลดลง ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่การเชื่อมโยงธุรกิจสู่ธุรกิจ (Business to Business) มนุษย์สู่มนุษย์ (Human to Human) และ มนุษย์สู่ธุรกิจและสู่อะไรก็ได้ (Human to Business to X)

ดังนั้น 5G จึงสามารถเป็นได้ทั้งแพลตฟอร์มในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นช่องทางทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมทางการเงิน หรือจะนำไปใช้ในรถอัตโนมัติ โดยสามารถสร้างแพลตฟอร์มเฉพาะแต่ละธุรกิจได้ เช่นเป็น Mobile Commerce เป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเป็น IoT ที่ทำงานด้านบริการ

“ระบบ 5G จะเป็นระบบซึ่งไม่ใช่ผู้คนคุยกันเอง แต่ผู้คนคุยกับองค์กร ผู้คนลงทุนกับองค์กร องค์กรทำงานแบบอัตโนมัติมากขึ้น มูลค่าก็จะไปสร้างใหม่เพราะแบบเดิมสร้างไม่ได้ นั่นคือเส้นทางของ 5G ที่แตกต่างจาก 4G 3Gโดยสิ้นเชิง ทำให้บล็อกเชนและเอไอต้องเข้ามาเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 5G เป็นพื้นฐานของIndustry 4.0 ที่ทำให้บล็อกเชนเป็น Simple Application เหมือนซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง แต่ข้างในก็ verify ด้วยบล็อกเชน คนใช้งานไม่รู้เรื่องเลย แต่ที่บล็อกเชนดังเพราะมีอิทธิพลสูงมากจนคนทุกคนได้ยิน”

สำหรับประเทศไทยการจะได้ใช้ระบบ 5G ซึ่งต้องใช้ช่วงความถี่ถึง 100 เมกกะเฮิร์ตช ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนจำนวนมาก ดร.เศรษฐพงค์ทำนายว่า ประเทศไทยอาจประสบปัญหาทางตันสักระยะหนึ่งจนต้องไปแก้กฎหมายและ 5G จะกลับมาเริ่มได้ช่วงปี 2022 เพราะตามกำหนดที่วางไว้โลกจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ในปี 2020 แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มไปแล้วไม่ว่าจะเป็น อเมริกา จีน เกาหลีใต้

 

  โลกของผู้เชี่ยวชาญ

ดร.เศรษฐพงค์เล่าว่า นับจากความสำเร็จของเทคโนโลยี 4G ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราเห็นว่า ประชาชนสามารถผลิตสื่อ บริโภคสื่อต่างๆ กันได้เอง ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาโดยที่สื่อตัวกลางเริ่มลดบทบาทลง ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่

“โลกอนาคตจะเป็น self regulation เช่น ส.ส. กำลังจะไปโหวตในสภา ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าประชาชนไม่รับ ถ้าส.ส.คนนี้โหวตแบบนี้ ฉันขอโหวตผ่านบล็อกเชนว่าไม่เห็นด้วยกับคุณ คน 1 ล้านคนโหวตบอกไม่เอาอย่างนี้แต่คุณไป
โหวตในสภาแบบนี้ ครั้งหน้าคุณจะได้เป็นไหม บล็อกเชนจะเป็นระบบโหวตที่มีประสิทธิภาพมาก”

ความรวดเร็วของเทคโนโลยีส่งผลต่อการกำกับดูแลในอนาคต ดร.เศรษฐพงค์มองว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่จินตนาการแต่เป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้ว โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยี 4G ที่กำหนดมากว่าจะมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อที่เราได้เห็นไปแล้ว

“สึนามิมาน้ำในแม่น้ำไม่มีความหมายหรอก คุณคิดว่าคุณจะสร้างเขื่อนกันระบบชลประทานในประเทศ แต่อินเทอร์เน็ตคือทะเล น้ำขึ้นน้ำลงไปห้ามได้หรือ หรือแผ่นดินไหวใต้ทะเล สร้างสึนามิคุณห้ามแผ่นดินไหวได้หรือ คุณต้องอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้”

การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล นับเป็นโลกใหม่ ที่เราต้องรู้จักการสร้างมูลค่าใหม่ๆ เพื่อทดแทนสิ่งที่กำลังจะหายไป เพราะหากไม่ทำก็จะมีคนที่มีความรู้และแนวคิดเข้ามาแล้วทำธุรกิจเหล่านั้นแทนที่ ดร.เศรษฐพงค์เปรียบเทียบกับที่ดินในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ว่าในอดีตแทบไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นในปัจจุบันก็แย่งซื้อขายกันเพื่อนำมาพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เปลี่ยนแปลงย่านที่เคยเงียบเหงาให้กลายเป็นย่านชิคชิลล์ยกระดับให้มีมูลค่าสูงขึ้น

การอยู่กับโลกโดยเราได้มูลค่าร่วมไปด้วย หากเราไม่สามารถหารูปแบบการยึดโยงได้เราก็จะสูญเสียรายได้ไปกับโลกดิจิทัล เช่นการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกหลายรายสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ ปัญหาคือภาครัฐจะเก็บภาษีธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

“ถ้าเราไม่สร้างแพลตฟอร์มของเรา เราไม่ Engage กับโลก เราไม่ไปสร้าง Value Chain ของเรา เราก็ไม่สามารถไปเก็บภาษีได้ ภาษีก็จะหลอมละลายไปในอินเทอร์เน็ต และการทำ Transaction (ธุรกรรม) ระหว่างประเทศ เขาก็เอา Transaction เราไป เราซื้อของต่างประเทศภาษีเราจะไปเก็บที่ไหน เราก็ได้แต่เก็บภาษีบนเรือนร่างประเทศไทย ค่าแรงงาน การค้าภายในประเทศ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย”

การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับจากปีนี้จะเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง ในมุมมองของดร.เศรษฐพงค์มองว่า เราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยกำหนดแนวทางเพื่อช่วยสร้างระบบให้ประเทศไทย “ถามว่าประเทศไทยต้องการคนเป็นล้านมาสร้างระบบเพื่อให้ประเทศเจริญและมีงานทำรูปแบบใหม่หรือไม่ เราต้องการคนที่เป็น expert (ผู้เชี่ยวชาญ) ไม่กี่พันคน” เขาเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลที่มีผู้ใช้งานนับพันล้านคนว่ามีนักวิทยาศาสตร์วิศวกรที่คิดซอฟต์แวร์เป็นหลักพันแม้จะจ้างคนเป็นหลักหมื่นคน

และบอกต่อว่า “ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาจะค่อยๆ มาเปลี่ยน เขาจะมีบทบาทในนิติบัญญัติมากขึ้น เขาจะมองออกว่าแล้วทำไมเรามานั่งคิดเรื่องพวกนี้” 

เจ้าพระยา ถือกำเนิดขึ้นและทรงพลังได้ด้วยการรวมตัวของ ปิง วัง ยม น่าน ฉันใด

Cryptocurrency ก็อุบัติและเสริมสร้างตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นได้ด้วย Blockchain, Miner, Trader, และ ICO ฉันนั้น

กล่าวได้ว่า Blockchain + Miner + Trader + ICO เปรียบเสมือน "แม่น้ำ 4 สาย" ของ Cryptocurrency ทั้งมวล ซึ่งกำลังทรงพลังอยู่อย่างมากในโลกขณะนี้

สายบล็อกเชน สายขุด สายเทรด และสายไอซีโอ

แม่น้ำ 4 สาย ดังว่านี้ ยังเปรียบได้กับ "เสาหลัก" และ "ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก" ที่ทั้ง "ค้ำจุน" และ "ปกป้อง" มิให้ผู้ใดมาทำลาย Cryptocurrency ให้ย่อยยับลงไปต่อหน้าต่อตาอีกด้วย

แม้จะมีผู้เกลียดชังหรือหมั่นไส้ Cryptocurrency อยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม

ที่สำคัญ จำนวนไม่น้อยในบรรดาผู้เกลียดชังเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคม

ทว่าเขาเหล่านั้น ก็ไม่สามารถโค่นล้ม Cryptocurrency ลงได้ แม้จะมีความพยายามใช้ทั้งอำนาจทางการเมืองและกฎหมาย ก็ตามที

เพราะมี "แม่น้ำ 4 สาย" เป็น "องครักษ์พิทักษ์คริปโต" อย่างแข็งขันนั่นเอง

ทำให้คิดถึง จั่นเจา หวังเฉา หม่าฮั่น และ จางหลง ของ "ท่านเปาบุ้นจิ้ง" แห่ง "ศาลไคฟง" ขึ้นมาตงิดๆ

ในบรรดาองครักษ์ทั้งสี่นี้ Blockchain ถือเป็นพี่ใหญ่และมีความสำคัญสูงสุด เพราะถ้าไม่มี Blockchain เสียแล้ว Cryptocurrency ทั้งมวลก็ยืนหยัดอยู่ไม่ได้

Blockchain นั้น ถือกำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้เป็นการบันทึกข้อมูลธุรกรรมทุกธุรกรรมของ Bitcoin ซึ่งถือเป็น "พี่เอื้อย" ของ Cryptocurrency ทั้งมวลที่มีอยู่ในโลกขณะนี้

กล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี Bitcoin ก็ไม่มี Blockchain และในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มี Blockchain ให้เป็นหลังพิง Bitcoin ก็ไม่น่าจะได้รับความเชื่อถือมากมายขนาดนี้ จนส่งผลให้เกิด Cryptocurrency อื่นๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมากและหลากหลาย ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว

แนวคิดของ Blockchain นั้น ถือได้ว่ายอดเยี่ยมมาก เพราะมันเปิดเผย และเป็นอะไรที่ง่ายๆ ทว่าทรงพลัง

วิธีการของ Blockchain อนุญาตให้ใครก็ได้ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย สามารถไว้ใจและวางใจกันได้ ถึงขั้นโอนสินทรัพย์ให้กันได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องคิดมาก แม้จะเป็นมูลค่าสูงๆ ก็ตามที เพราะวิธีการของ Blockchain นั้น สามารถพิสูจน์ให้ทั้งสองฝ่ายเห็นได้อย่างง่ายๆ ว่า การโอนครั้งนั้น จะโกงกันไม่ได้ แม้เวลาผ่านไปก็กลับมาแก้ไขได้ยาก

ที่สำคัญคือ วิธีการของ Blockchain นี้ มันตัดตัวกลาง (ที่ทั้งสองฝ่ายเคยไว้ใจให้เป็นผู้ลงบัญชีและตรวจสอบธุรกรรม) ออกไปจากสมการการโอนสินทรัพย์ในครั้งนั้น

ตรงนี้เองที่ทำให้ Miner เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะผู้ (ช่วยกัน ร่วมกัน และแข่งขันกัน) ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมการโอนสินทรัพย์ดังกล่าว โดยระบบได้ออกแบบให้ Miner ที่สามารถรับรองธุรกรรมนั้นๆ ได้ก่อนใคร ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็น Bitcoin ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงจูงใจอยู่ในที

ยิ่ง Bitcoin มีราคาตลาดสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจูงใจให้มีคนเข้ามาทำหน้าที่ Miner มากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

คนที่ออกแบบ Blockchain และ Bitcoin ไว้แต่แรกนั้น (นามแฝงว่า Satoshi Nagamoto แต่ไม่มีใครรู้จักตัวจริง) ต้องการให้ Miner มีความหลากหลาย และมีจำนวนมากพอ กว่าที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถเข้าไปครอบงำได้

แม้ว่าการแยกตัว (Fork) ของ Bitcoin และ Ethereum เมื่อปีที่ผ่านมา จะแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของ Blockchain ว่านอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือ Self-Correcting ได้แล้ว (ต้องแตกหักสถานเดียว) มันยังล่อแหลมต่อการถูกครอบงำด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อีกด้วย (ก่อนการแยกวงครั้งนั้น ก็ได้มีคนวงใน ให้ข้อมูลอันน่าหวาดหวั่นออกมาว่า Miner ส่วนใหญ่ของ Bitcoin ขณะนั้นอยู่ในประเทศจีน (เกิน 70%) และกว่า 50% ของมูลค่าซื้อขาย Bitcoin ในแต่ละวันนั้น มาจากเมืองจีน)

บทเรียนครั้งนั้น ทำให้ผู้คนเริ่มระวังมากขึ้น โดยเฉพาะกับแนวคิดของ Cryptocurrency ที่อาศัยเครือข่ายคนกันเองให้มาทำหน้าที่ Miner ที่เรียกว่า Native Blockchain

กระนั้นก็ตาม เมื่อ Bitcoin กลายเป็นกระแสสูง ทำให้เกิดการซื้อขายกันในตลาดรองอย่างล้นหลาม ซึ่งหมายความว่าบรรดา Trader หรือ "สายเทรด" ทั้งหลาย เริ่มเข้ามาซื้อขาย Bitcoin และ Cryptocurrency กันเหมือนกับหุ้น พันธบัตร ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคนสำคัญๆ จำนวนมาก ในหลายอุตสาหกรรม เริ่มมองเห็นว่าวิธีการของ Blockchain เป็นวิธีการที่เปิดเผยดีมาก น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกรรมประเภทอื่นได้ด้วย จึงเกิดกระแสการลงทุนที่นำเอา Blockchain ไปใช้ในงานหลายอย่าง ในหลากหลายอุตสาหกรรม ส่งผลทางอ้อมให้ความนิยมในตัว Bitcoin (และ Cryptocurrency อื่น) เพิ่มมากขึ้นไปอีก และราคาของมันในตลาดรองก็ยิ่งร้อนแรงขึ้น จนกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก และตัวมันเองก็ได้กลายเป็นเครื่องมือในการลงทุน หรือ Asset Class หมวดหนึ่ง ในสายตานักลงทุนที่หัวก้าวหน้าและศึกษาจนเข้าใจสินทรัพย์ประเภทนี้

ปัจจุบัน มีนักลงทุนใช้ Bitcoin และ Cryptocurrency เป็นตัวกระจายความเสี่ยงใน Portfolio ของตนมากขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ "สายเทรด" เข้ามามีบทบาทต่อความนิยมในตัว Cryptocurrency มากขึ้น และมีความพยายามที่จะหาวิธี "ประเมินมูลค่า" (Valuation) ที่น่าเชื่อถือ ของสินทรัพย์ประเภทนี้

เมื่อความต้องการมีมากขึ้นในตลาดรอง จึงเกิดปรากฏการณ์ ICO หรือการเสนอขาย Cryptocurrency ชนิดต่างๆ ขึ้นในตลาดแรก ถือเป็นการเพิ่มสินค้าให้นักลงทุนได้เลือกลง

ICO เป็นประโยชน์ต่อกิจการเกิดใหม่ทั่วโลก ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และการเกิดขึ้นของ Cryptocurrency ตัวใหม่ๆ ก็เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเก่าๆ ได้ด้วย เช่น LiteCoin ออกมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของ Bitcoin ในแง่ของความรวดเร็วของธุรกรรมการโอน หรืออย่าง DeepOnion ซึ่งกำลังโด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมาก ณ บัดนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของ Cryptocurrency ตัวก่อนหน้าทั้งหลาย ในเชิงของการปกป้องตัวตน (หรือรักษาความลับ) ของผู้โอนและผู้รับโอน ซึ่งบรรดาผู้ร่วมพัฒนาเหรียญหลังนี้ มองว่ามันยังไม่เป็นความลับเท่าที่ควร เป็นต้น

Cryptocurrency และ Blockchain ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เปรียบกับคนก็ต้องถือว่า ยังอยู่ในช่วงทารก ที่เพิ่งจะพูดและลุกเดินขึ้นได้แบบเตาะแตะๆ

แต่ทารกคนนี้ เป็นทารกพิเศษ ที่มีศักยภาพสูง ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก

และทารกคนนี้ นอกจากจะได้รับการประคบประหงมจากบรรดา "แม่น้ำสี่สาย" ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังได้รับการ "ขุน" จากบรรดาคนเก่งๆ และรวยๆ จำนวนมากทั่วโลก

อีกไม่นาน ทารกผู้นี้จะโต แต่แทนที่จะเติบโตแบบทารกทั่วไป ที่เริ่มเดินและวิ่งแบบเป็นขั้นเป็นตอนไป ทารกผู้นี้อาจลุกขึ้นแล้วเหาะเหินไปในอากาศเลย ก็เป็นได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

 

สำหรับผู้สนใจ ขอเชิญเข้าร่วมงานสัมมนา "ICO in Action - ยุทธการก้าวสู่ ICO"

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียน "คลิกที่นี่"

 

การตัดสินใจทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นทางด้านการตลาด การขาย การเงิน หรือว่าการผลิตให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรได้อย่างถูกต้องและทันต่อเวลา อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทางธุรกิจนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินงานของผู้บริหารทั้งในด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การกำหนดแผนงาน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในองค์กร กล่าวคือ การตัดสินใจที่ดีนอกจากจะต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และทักษะของผู้บริหารแต่ละคนแล้วนั้น ยังต้องมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นระบบ มีหลักเกณฑ์และทฤษฎีตามหลักของวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะลดข้อผิดพลาดจากปัจจัยที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร และทำให้ผลของการตัดสินใจมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจอาการของปัญหาว่ามีประเด็นอะไรที่จำเป็นต้องตัดสินใจแก้ไข อะไรเป็นปัจจัยแวดล้อมของปัญหาและทำการวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการตัดสินใจของผู้บริหาร นักวิเคราะห์คงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” ที่องค์กรส่วนใหญ่มักประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งๆ ที่วิธีการแก้ปัญหาก็ถูกต้องตามหลักทฤษฎีและวิธีปฏิบัติที่มีมาตรฐาน ปัญหาหลักๆ ที่ถูกมองข้ามก็คือ การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและตรงประเด็น

การตัดสินใจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดทั้ง 2 ตัว คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ของการตัดสินใจ ประสิทธิผลจะเป็นตัวชี้วัดว่าผู้บริหารตัดสินใจในเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ (Doing the Right Things) ในขณะที่ประสิทธิภาพจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารตัดสินใจด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ (Doing the Things Right) นอกจากนี้ การตัดสินใจระดับผู้บริหารก็ยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ1 ได้แก่

1.การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision Making) จะเป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรในระยะยาวทั้งในเรื่องของการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและบุคลากร เป็นต้น

2.การตัดสินใจในระดับการบริหารงาน (Managerial Decision Making) จะเป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารระดับกลาง ในการวางแผนปฏิบัติงานตามทิศทางและนโยบายขององค์กร รวมถึงการติดตามการทำงาน การตรวจสอบและการประเมินผลงานตามแผนปฏิบัติงาน และการตรวจสอบการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ว่ามีประสิทธิภาพตามแผนงานหรือไม่ เป็นต้น

3.การตัดสินใจในระดับการปฏิบัติงาน (Operational Decision Making) จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับล่างซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจตามระเบียบ กฎเกณฑ์และแบบแผนที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดไว้ให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อมูลมีความหลากหลายและมาจากหลายช่องทาง หรือ Big Data หลายๆ องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการตัดสินใจขององค์กรทั้งในระดับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ระดับการบริหารงาน และระดับปฏิบัติงาน ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ (Business Analytics) จึงถูกพัฒนาขึ้นและเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้การตัดสินใจขององค์กรเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นแบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AI สามารถเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการประมวลผลข้อมูล รวมถึงการสร้างแบบจำลองเพื่อการทำนายข้อมูลที่มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ระบบการตัดสินใจในยุคใหม่ขององค์กรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยปกติแล้วทุกๆ 10 ปี เราจะได้เห็นการพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจของหลายๆ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม (จากภาพที่ 1)

 

ภาพที่ 1: วิวัฒนาการของระบบการตัดสินใจ2

 

ในยุค 1980’ s หลายๆ บริษัทเริ่มมีการพัฒนาระบบสารสนเทศหรือซอฟต์แวร์เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) ของผู้บริหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการจัดการฐานข้อมูล (Database Management) การสร้างแบบจำลองเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล (Model Management) และการพัฒนาส่วนเชื่อมต่อประสานงานของผู้ใช้งานกับระบบสารสนเทศ (User Interface Management)

ในยุค 1990’ s เมื่อข้อมูลขององค์กรมีขนาดใหญ่มากขึ้น ระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management) เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น จากการจัดเก็บข้อมูลทั่วไปขององค์กรแบบแยกตามประเภท เช่น ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการซื้อขาย หรือข้อมูลของลูกค้าและพนักงาน เป็นต้น มาเป็นการจัดการคลังข้อมูล (Data Warehousing) ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลในหลายมิติ และถูกออกแบบมาให้เหมาะแก่การนำข้อมูล (Query) ไปใช้ในการวิเคราะห์ได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ในขณะที่คำสั่งที่ใช้ในการจัดการข้อมูลจะมีความยาวและซับซ้อนน้อยลง

ในยุค 2000’ s การจัดการคลังข้อมูลถูกพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริหารมากขึ้น มีการอัปเดตข้อมูลทั้งในปัจจุบันและข้อมูลย้อนหลังซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบได้โดยตรง หลายมุมมอง และทันท่วงที สามารถวิเคราะห์และดำเนินการเรียกข้อมูลตามระยะเวลาที่ต้องการ และสามารถรองรับการใช้งาน Workload ระดับองค์กรใหญ่ๆ ได้รวดเร็ว นอกจากนี้ระบบคลังข้อมูลยังมีความยืดหยุ่นในการตอบโต้กับผู้ใช้งาน การตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลและการสร้างแบบจำลองข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ในยุคปัจจุบัน 2010’ s เป็นยุคของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิบในการหาความรู้ใหม่ๆ และสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ให้เกิดเป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรม หลายๆ บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่มีการพัฒนาระบบ Data Warehouse และ Big Data บน Cloud เพื่อลดต้นทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมือ แอปพลิเคชัน หรือระบบที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล (Real-Time Data Analytics) หรือการทำ Data Visualization ซึ่งสามารถรองรับข้อมูลที่มหาศาลและข้อมูลที่เป็นแบบโครงสร้าง (Structured Data) และไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพที่ 2 แสดงตารางความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data Analytics) ในอดีตที่ผ่านมา การลงทุน Big Data Projects ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงสูงมากที่จะประสบความล้มเหลวเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี การสร้างคน และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร แต่ในปัจจุบันมีกรณีศึกษาและงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นแล้วว่า Big Data Projects สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาวได้ ดังนั้นในยุค 2010’ s จึงถือได้ว่าการประยุกต์นำแนวคิดของการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ระบบธุรกิจอัจฉริยะ และ Big Data เข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงและความเสี่ยงของการลงทุนที่ต่ำลง (Low-Risk/High-Return)

ภาพที่ 2: Risk and Return (Analytics Roadmap)3

 

พร้อมหรือยังกับระบบการตัดสินใจในยุค 2020’ s

ในอนาคต สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารจำเป็นจะต้องคำนึงถึงก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital/Technology Disruption) ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทำให้สภาพการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หลายๆ องค์กรต้องประสบปัญหาทางด้านการเงิน เกิดการควบรวมกิจการ หรือประสบกับภาวะล้มละลาย โดยที่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากผู้บริหารเหล่านั้นมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้า ยึดติดกับการตัดสินใจในรูปแบบเดิมๆ และไม่ได้มีการเตรียมทรัพยากรขององค์กรให้พร้อมต่อโอกาสหรือความท้าทายในการตอบสนองต่อ Technology Disruptions ดังกล่าว

เทคโนโลยีทางด้าน Cloud Computing วิทยาการด้านระบบหุ่นยนต์ (Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบ Sensor Network และ Internet of Thins (IoT) เป็นตัวอย่างของ Technology ที่ถูกนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการตัดสินใจยุคใหม่ เช่น

- การเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของระบบ Cloud มากขึ้น เพื่อให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ลดความเสี่ยงของการลงทุนระบบ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีขององค์กรได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถควบคุมต้นทุนได้ง่าย เช่น การจ่ายเงินตามลักษณะการใช้งานจริง (Pay-As-You-Go) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันการใช้งานของระบบ Cloud สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระบบหลักๆ คือ 1. Infrastructure as a Service (IaaS) 2. Platform as a Service (PaaS) และ 3. Software as a Service (SaaS) เป็นต้น

- การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าผ่านระบบ Robotics Sensor Network และ IoT แบบ Real-Time ผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน นาฬิกา แท็บเล็ต ยานพาหนะ หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ถูกเชื่อมต่อและสื่อสารถึงกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ลดขั้นตอนในการทำงาน หรือลดต้นทุนในการผลิต

- การนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบบจำลองเพื่อการทำนาย (Predictive Modeling) เพื่อแยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อน เพิ่มศักยภาพในการประมวลผล เรียนรู้ ลดอุปสรรคของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และข้อผิดพลาดในการทำนาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นลักษณะแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข ประเภท ภาพ เสียง ข้อความ หรือข้อมูลที่มาจากระบบ Sensor Network และ IoT เป็นต้น การพัฒนาระบบ AI เพื่อให้สามารถตอบคำถามหรือโต้ตอบกับลูกค้าที่โทรเข้ามาที่ Call Center การประยุกต์นำศาสตร์ของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เช่น Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และภาษามนุษย์ เช่น การพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้าของกล้อง CCTV แบบ Real-Time โดยการนำ Graphics Processing Units (GPU) เข้ามาใช้ โดยกระบวนการสอนและอัลกอริทึมที่ใช้ในการสอน AI จะช่วยเรียนรู้ ตรวจจับ และทำนายใบหน้าได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น การนำระบบ AI มาช่วยพัฒนาระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) เช่น ระบบแชตบอต (Chatbot) เพื่อใช้ตอบสนองผู้ใช้งาน รวมถึงการตอบโต้ด้วยเสียง (Speech Recognition) หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์แนวโน้มของการลงทุน การทำนายราคาที่เหมาะสมของหุ้นรายวัน การจัดอันดับความเสี่ยงของลูกค้าธนาคาร หรือการประมาณแนวโน้มยอดขายและความต้องการของสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจของผู้บริหารทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นระบบช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารในอนาคตก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งในด้านการลงทุนระบบ Platform ในการเข้าถึงข้อมูล ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูล รูปแบบและความรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูล และความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูล

 

References:

1. Turban, E., Sharda, R., & Delen, D. (2011) . Business Intelligence: A Managerial Approach. Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall.

2. Watson, HJ (2017) . Preparing for the cognitive generation of decision support. MIS Q Exec 16 (13) : 153–169

3. Lund, V (2017) . Teradata Partners Conference, Anaheim, CA Oct 23-26, 2017

 

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล

 

 

 

สมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ ทิพยประกันภัย รศ.จินตนา บุญบงการ กรรมการโครงการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานและร่วมงานในพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมผู้บริหารระดับสูง ทิพยประกันภัย ในโอกาสที่จบหลักสูตรโครงการอบรม MINI INSURANACE MBA โดยมี ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร ให้เกียรติร่วมพิธี ณ โรมแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

กาแฟดอยช้าง ฉลองครบรอบ 15 ปี กาแฟดอยช้าง จากธุรกิจเพื่อชุมชน สู่มาตรฐานกาแฟโลกปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ต่อยอดธุรกิจเพื่อชุมชน รุกตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเปิดตัว ผลิตภัณฑ์กาแฟในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การบริโภคกาแฟที่หลายยิ่งขึ้น

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา กาแฟดอยช้าง ถือเป็นกาแฟสัญชาติไทยเจ้าแรกที่นำเอาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและเมล็ดกาแฟคุณภาพระดับสูงไปปักหมุดและสร้างชื่อเสียงอยู่ในแผนที่กาแฟโลก เทียบเท่าแหล่งผลิตกาแฟระดับโลกอย่าง บราซิล และ โคลอมเบีย เพราะนอกจากรสชาติอันเข้มข้นและกลิ่นหอมแล้ว กาแฟดอยช้างยังเป็นกาแฟอราบิก้าชนิดพิเศษคุณภาพสูง (Specialty Coffee) ที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะ (Single Origin) บริเวณดอยช้าง จังหวัดเชียงราย แหล่งเดียวเท่านั้น ซึ่งผลผลิตเมล็ดกาแฟจากดอยช้างจะมีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เจือรสชาติอมเปรี้ยว และมีคาเฟอีนต่ำ ทำให้กาแฟทุกแก้วของดอยช้างมีรสชาติกล่มกล่อม จนได้รับการยอมรับในเวทีโลกและมีมาตรฐานระดับสากล อาทิ USDA Organic, EU Organic Farming, EU Geographical Indication และ Specialty Coffee Association เป็นเครื่องการันตีคุณภาพคุณพิก่อ พิสัยเลิศ โลโก้แมน

ปณชัย พิสัยเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด กล่าวว่า “ด้วยแนวความคิด จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ เราพิถีพิถันและให้ความสำคัญในแต่ละกระบวนการผลิตและแปรรูป ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์กาแฟชั้นเลิศ การเพาะปลูก การเก็บผลกาแฟสดจากต้นด้วยมือ จนมาสู่ขั้นนตอนการทำความสะอาดและกระเทาะเปลือกภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาคุณภาพและความสดเอาไว้ กาแฟกะลาเปียกที่ได้จากขั้นตอนกะเทาะเปลือกจะถูกนำมาหมักแห้งเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมงและนำไปหมักเปียกต่ออีก 24 ชั่วโมง กระบวนการหมักจะช่วยในการขจัดเมือกเคลือบออกจากกาฟกะลา ในขั้นตอนสุดท้ายจะมีการแช่พักเมล็ดที่ผ่านการหมักในน้ำสะอาดอีก 20-24 ชั่วโมงเพื่อทำให้กาแฟมีกลิ่นรสสะอาดยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการตากกาแฟด้วยแสงอาทิตย์ให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม กาแฟกะลาที่ได้จะถูกจัดเก็บและบ่มในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมประมาณ 8 เดือน หลังจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟจากเครื่องคัดแยกคุณภาพสูงและยังมีการคัดซ้ำด้วยมือคนอีกรอบเพื่อให้ได้กาแฟสารคุณภาพสูงสุดที่พร้อมนำมาคั่วสำหรับการจัดจำหน่าย และด้วยความพิถีพิถันนี้ คอกาแฟจึงมั่นใจได้เลยว่า เมล็ดกาแฟที่ถูกนำมาบดคั่วให้กลายเป็นกาแฟในแก้วที่ดื่มนั้นคือเมล็ดกาแฟที่ถูกคัดเลือกมาแล้วอย่างดีที่สุด”

“ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา กาแฟดอยช้างมีช่องทางการขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เฉลี่ยเป็นอัตราส่วนในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยกาแฟดอยช้างเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันกาแฟดอยช้างสามารถผลิตกาแฟตอบสนองตลาดพรีเมียมได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อปี โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขาในประเทศมากกว่า 200 สาขา ทั้งในระบบแฟรนไชส์และร้านกาแฟพันธมิตร และอีกกว่า 50  สาขาในต่างประเทศ อาทิเช่น แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และ เมียนมา เป็นต้น โดยหากสามารถบรรลุแผนการดำเนินงานที่ตั้งเอาไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ กาแฟดอยช้างจะสามารถเพิ่มงานและรายได้อีกมากมายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ”

ปณชัย พิสัยเลิศ และพิษณุชัย แก้วพิชัย

พิษณุชัย แก้วพิชัย ประธานที่ปรึกษาด้านธุรกิจ บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เปิดเผยถึงกลยุทธ์ด้านการตลาดและแนวโน้มของธุรกิจของกาแฟดอยช้างว่า “ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา กาแฟดอยช้างยังคงยึดมั่นคำสัญญาในการนำส่งกาแฟอราบิก้าชนิดพิเศษคุณภาพสูง (Specialty Coffee) ออกสู่ผู้บริโภค ซึ่งหลักการทำกาแฟที่มีคุณภาพสูงและมีความพิถีพิถัน โดยองค์ประกอบของกาแฟดี ได้แก่ สายพันธุ์กาแฟ ดิน อากาศ เกษตรกร กระบวนการทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และแบรนด์ดิ้ง การได้รับรางวัลด้านมาตรฐานระดับสากล ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่ากาแฟดอยช้างเป็นกาแฟระดับพรีเมี่ยมที่เราอยากนำเสนอให้คอกาแฟคนไทยได้ลิ้มรส เราจึงได้ปรับมุมมองการบริหารธุรกิจกาแฟดอยช้างจากธุรกิจเพื่อชุมชนสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกลุ่มคอกาแฟตัวจริง”

หลังจากบริษัทย่อยของกลุ่มเจมาร์ท บริษัท เจเวนจอร์ส ประกาศทำ ICO (Initial Coin Offering) ในชื่อ JFin Coin โดยเริ่มเสนอขาย Pre-Sale วันแรก เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น. ผ่าน TDAX ตลาดแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลของคนไทยเหรียญที่นำมาเสนอขายครั้งนี้ทั้งหมดจำนวน 100 ล้านโทเคน ที่ราคา 6.60 บาท หรือคิดเป็นเงิน 660 ล้านบาทสามารถขายได้หมดในเวลาเพียง 55 ชั่วโมง และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดรองไม่เกิน 2 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่วงการการเงินและฟินเทคในประเทศไทยต้องบันทึกไว้

จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่นี้เริ่มจาก Bitcoin เหรียญชื่อดังเจ้าแรกเป็นต้นมา ผู้ที่สนใจวงการนี้ในประเทศไทย ก็เริ่มขยับตัวตามกันมา ในช่วงแรกยังคงอยู่ในวงแคบๆ ไม่โด่งดังเท่าไรนัก จนกระทั่งราคา Cryptocurrencies ในตลาดโลกพุ่งสูงทำสถิติกันเป็นรายวัน ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในฝั่งผู้ลงทุน และกลุ่มที่ต้องการทำเหมือง (Miner) ขุดเหรียญต่างๆ จนปัจจุบันตลาด Cryptocurrencies ในไทยมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น จำนวนเหรียญที่อยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนหลายล้านเหรียญ คือเครื่องยืนยันในเรื่องนี้รวมถึงงานพูดคุยสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีให้เห็นอยู่แทบจะทุกสัปดาห์

ตาม White Paper ของ JFin Coin ระบุว่า จะนำเงินที่ได้ไปใช้พัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกู้ยืมแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Blockchain แน่นอนว่าเจ้าของโครงการย่อมมีความยินดีที่ ICO ของตนได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) กล่าวหลังจากการ Pre-Sale สิ้นสุดเนื่องจากมีผู้จองซื้อโทเคนหมด 100 ล้านโทเคนว่า “ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้โอกาสเราในการอธิบาย และคำแนะนำต่างๆ การทำ ICO ครั้งนี้ เราถือเป็นกลุ่มบริษัท
จดทะเบียนรายแรกที่ทำเรื่องนี้ ผมเข้าใจดีว่าย่อมมีอุปสรรคในด้านการอธิบายความเข้าใจ และมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ด้วยความตั้งใจของผมและทีมงานที่มุ่งหวังให้ ICO นี้เกิดขึ้นให้ได้ในประเทศไทย ที่ผมทำธุรกิจมาตั้งแต่ต้น”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้เห็นการออกตัว ICO อีกหลายรายติดตามมา บางรายก็ไปออกขายในต่างประเทศ บางรายเสนอขายในประเทศ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดเท่าที่ควร แต่ก็เห็นได้ว่ามีหลายธุรกิจที่มองว่า ICO คือช่องทางหนึ่งในการระดมทุนสำหรับกิจการ

ความใหม่ของ ICO เป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หนึ่งในหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับ Cryptocurrency ก็ออกข่าวเตือนเกี่ยวกับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ICO มาเป็นระยะในช่วงที่เกณฑ์การกำกับดูแลยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ โดย ก.ล.ต. เตือนและให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่า “การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ICO และ Cryptocurrencies จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงในหลายแง่มุม หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเสียหายได้โดยง่ายนอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแสโดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ/หรือนำเรื่องเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน
ผู้ที่ได้รับการชักชวนหรือคิดที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน ตัวกิจการ สิทธิของผู้ลงทุน และโครงสร้างของโทเคนที่จะได้รับจากการลงทุน และประเมินความเหมาะสมเทียบกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนก่อนลงทุนเสมอ ตลอดจนระวังความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลความเสี่ยงและไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์และอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรตระหนักว่า การกำกับดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น ป้องกันการหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ ความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากการที่ระบบเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกโจรกรรมไซเบอร์ และที่สำคัญที่สุด ควรตระหนักว่า หากเกิดความเสียหาย มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ อย่าลงทุน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน”

โดย ก.ล.ต. เตรียมออกเกณฑ์กำกับดูแล ICO ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนในประเทศไทยคาดว่าจะออกมาภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาแล้ว 2 รอบ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีประกาศไปยังสถาบันการเงินให้งดทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrencies ก็เป็นอีกหนึ่งดาบที่หยุดความร้อนแรงของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยไปได้ระดับหนึ่ง

ฝั่งผู้ให้บริการอย่าง TDAX ต้องออกประกาศในหน้า ICO Portal ว่า “เนื่องจากความไม่แน่นอนต่อกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. อาจจะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ ทางเราได้ทำการระงับการดำเนินการของ ICO portal ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีความชัดเจนต่อสถานการณ์นี้มากขึ้น” ทำให้ ICO ที่เตรียมจะขายใน TDAX ต้องรอต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจน

ผลกระทบจากปรากฏการณ์ ICO ที่เปิดตัวกันอย่างร้อนแรงจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องติดตามดูท่าทีจากหน่วยงานกำกับดูแล ในการออกเกณฑ์การควบคุมดูแลที่ความชัดเจน ป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนจากผู้ที่คิดใช้เครื่องมือนี้เพื่อหลอกลวง และป้องกันการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่นี้ในทางที่ผิด โดยต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเคลื่อนตัวไปได้ทุกแห่งตราบที่ยังสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เราจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ในระดับใด และทำอย่างไรให้ประเทศไทยปรากฏตัวอยู่บนแผนที่ของเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เราเสียโอกาสได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้  

ประกันภัยเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกระแสดิจิทัล โลกเริ่มเห็นความเคลื่อนไหว Insure Tech ตีคู่มากับ Fin Tech ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำ ปตท. ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน

ไม่ว่าใครก็อยากให้บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเจริญรุดหน้า เพื่อส่งมอบเมืองที่มีคุณค่าต่อให้กับลูกหลานที่จะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นในอนาคต การพัฒนาเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและใกล้ชิดมากที่สุดคือ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ก็ควรจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองที่อยากให้เป็นในอนาคตได้

ในประเทศไทยการพัฒนาเมืองโดยภาครัฐส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลวง ด้วยจำนวนประชากรที่มากและความใกล้ชิดของผู้มีบทบาทในการตัดสินใจรวมถึงปัญหาที่สะสมมายาวนาน ทำให้ต้องเร่งจัดการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างไปทั่วเมืองในขณะนี้ จากภาพการพัฒนาเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมา ส่งผลให้คนขอนแก่นกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามกับวิธีคิดพัฒนาเมืองของภาครัฐและมองหาทางออกด้วยการรวมกลุ่มกัน ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) เพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างที่ควรจะเป็น และได้บทสรุปเป็นแผนแม่บทที่จะบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นเกี่ยวกับสมาร์ตซิตี้ในอีกไม่นานนี้
“ขอนแก่นโมเดล” คือชื่อที่พวกเขาเลือกใช้นำเสนอแนวคิดวิธีการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีเมืองอื่นในประเทศไทยคิดทำกันมาก่อน


ขอนแก่นโมเดล

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด KKTT, รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) พูดถึงคำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ว่า ต้องการเปลี่ยนภาพพจน์ที่เคยมีกับคำนี้เสียใหม่ ให้เป็นเรื่องที่ดี และวันนี้พวกเขาก็สามารถล้างคำเก่าที่เคยมีมา กลายเป็นความหมายใหม่ที่รับรู้กันว่า ขอนแก่นโมเดล คือ “ความหมายของการสามัคคี เอกชนร่วมรัฐพัฒนาเมือง” นับเป็นความสำเร็จขั้นต้นของ KKTT ที่ทำได้แล้ว
ในขั้นต้น KKTT พบว่าปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นที่พบเห็นคือปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนและงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการพัฒนา แต่ก็ยังมีหนทางสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐท้องถิ่นในการพัฒนา ในด้านทุนก็เลือกใช้ตลาดทุนและงบประมาณของภาครัฐมาขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น แก้ปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทยในหลายด้านอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ ซึ่งเริ่มต้นสร้างฐานด้วยระบบขนส่งมวลชนเพื่อพัฒนาเมืองพร้อมกับพัฒนาระบบอื่นๆ ไปพร้อมกัน


สุรเดชบอกว่า ระบบขนส่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำสมาร์ตซิตี้ เพราะหากใช้ขั้นตอน PPP (Public Private Partnership) การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนตามปกติ จะต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 ปีโครงการจึงจะสำเร็จ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทั้งภาครัฐและเอกชนในขอนแก่นจึงสามารถจัดทำแนวทางใหม่ที่เปิดให้พัฒนาโครงการภายใต้กระทรวงมหาดไทยโดยท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานซึ่งสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง
บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) จัดเป็นวิสาหกิจของรัฐ มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นคือ 5 เทศบาลในขอนแก่น ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลเมืองเก่า
และเทศบาลตำบลท่าพระซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว คือหน่วยงานขับเคลื่อน ‘โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบ ขนส่งมวลชนระบบรางเบา รถไฟฟ้ารางเบา LRT สายเหนือ-ใต้ (สำราญท่าพระ) ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
KKTS จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินโครงการ ด้วยวิธีระดมทุนจากภาคเอกชนในท้องถิ่นและเอกชนทั่วประเทศเพื่อดำเนินโครงการโดยไม่เป็นภาระหนี้ภาครัฐ


KKTS’ s Wealth

สุรเดชอธิบายเรื่องทรัพย์สินของ KKTSว่า “เกิดจากมูลค่าโครงการที่มีอยู่ 15,000 ล้านบาท ถ้าโครงการนี้เสร็จ ซึ่ง KKTS ก็กู้เงินเขามาสร้าง แต่เมื่อเขาเริ่มดำเนินการ และเกิดกำไรขึ้นมาซึ่งที่เราดีไซน์กำไร กำไรคุณจดทะเบียนได้ เมื่อเข้าจดทะเบียนอย่างบริษัทผม (CHO) มูลค่าบริษัทขึ้นมา 7 เท่า นี่ระดับจังหวัดของประเทศไทย ผมว่า 10 เท่าเป็นอย่างต่ำ ถึงประเมินไว้ 150,000 ล้านบาท บริษัทนี้ถ้าอยากทำโครงสร้างพื้นฐานต่อก็ทำไป จะเอาหุ้นไปค้ำประกันบ้าง ก็ได้”


 ทำไมรถไฟฟ้าขอนแก่นไม่ขาดทุน

เป็นที่ทราบกันดีกว่าการลงทุนในระบบขนส่งไม่ใช่โครงการที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว สุรเดชมีคำตอบให้กับเรื่องการเงินของระบบรถไฟฟ้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ว่า “ข้อแรกคือรถไฟฟ้าขอนแก่นใช้ Technology Transfer ผลิตเองในประเทศต้นทุนถูกลง แต่ปัญหาคือ IRR (Internal Rate of Return อัตราผลตอบแทนภายใน) ออกมาแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครมาลงทุนด้วยหรอก แต่ขอที่ดินตรงนี้ มีที่นาอยู่กลางเมืองขอนแก่นของกระทรวงเกษตร แล้วที่นานี้ติดโครงการเอามาทำดีโป้ให้รถไฟฟ้า เป็นโครงการเดียวกัน โครงการก็จะเป็นรถไฟฟ้าแล้วมีที่นามาสวม ก็เป็นโครงการเดียวกันที่มีการพัฒนาที่ดินบวกรถไฟฟ้า พอทำIRR มาก็กลายเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่ดินสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 รถไฟฟ้า 2 กลายเป็นว่าขอนแก่นใช้เงินแค่ 15,000 ล้าน ทำโครงการนี้แล้วรัฐไม่ต้องลงทุน รัฐให้ที่กับบริษัทของรัฐ KKTS ไปพัฒนา ที่ 231 ไร่ ใช้ได้จริงๆ ประมาณ 100 ไร่ ที่เหลือจะเป็นบึงขนาดใหญ่ ทำที่จอดรถ แล้วทำมิกซ์ยูส ห้างโรงแรม อยู่ข้างใน ที่ถามรายรับมาจากไหน ก็จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเดินขนส่งมวลชน และค่าตั๋วของขอนแก่นเป็นค่าตั๋วที่ทุกอาชีพขึ้นได้ ค่าตั๋วสูงสุด 20 บาท นี่เป็นการทำโครงการที่เป็นขนส่งมวลชนจริงๆ”


เริ่มที่ขนส่งสู่Smart City


แนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยระบบขนส่งของ KKTT เริ่มจากการมองเห็นปัญหาของเมืองในประเทศไทยว่า เมืองด้านในเริ่มร้างผู้คนเพราะรถติดไม่สามารถหาที่จอดรถได้ ผู้คนย้ายออกไปอยู่อาศัยด้านนอกเมืองและมาใช้งานอาคารในเมืองช่วงกลางวัน การจะสร้างเมืองที่กระชับ (Compact City) จึงเริ่มด้วยการวางแผนให้มีรถรางวิ่งระหว่างเหนือใต้กลางถนนมิตรภาพ และเชื่อมต่อกับเมืองด้านในด้วยเส้นทางฟื้นฟูเมือง ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่พัฒนามาแล้ว 3 ปี
“คือเมืองไม่โตไปกว่านี้แล้ว คำว่าโตแบบไม่กลวง เพราะนี่คือสินทรัพย์ของประเทศนะ ห้องแถว อย่าบอกว่าเป็นทรัพย์สินของนาย ก. สร้างแล้วปิดไว้เฉยๆ”
สุรเดชเล่าตัวอย่างเมืองทั่วโลกที่เปลี่ยนเมืองด้วยการนำระบบขนส่งเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองจากเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นเมืองที่ใช้ระบบขนส่งและการเดินจนพัฒนาเป็นเมืองที่คน 62 เปอร์เซ็นต์ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง เช่นเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา โดยคณะทำงานไปเรียนรู้จาก Portland State University เกี่ยวกับวิธีพัฒนาเมือง การกำหนดผังเมือง กำหนดแผนงานต่างๆ
“นี่เป็นการ Disruption วันนี้เป็นเรื่อง Disruption เป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ ประเทศไทยจะไปต่อในโลกของการเปลี่ยนแปลง จะต้องเป็น Constructive Disruption แล้วเราจะยอมลอกคราบไหม แสบ เจ็บแต่ต้องทำ” สุรเดชระบุ
การผลักดันขอนแก่นเป็นสมาร์ตซิตี้ภายใต้ขอนแก่นโมเดล นอกจากจะได้ระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองเพื่อช่วยฟื้นฟูเมือง ลดปัญหาการจราจรภายในเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ สุรเดชสรุปว่า ช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐด้วยการระดมทุนผ่านตลาดทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบเข้มข้นเห็นได้ชัดเจน ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศด้วยการกำหนดให้รถที่ใช้ต้องใช้รูปแบบ Technology Transfer นำแบบจากต่างประเทศมาสร้างเองภายในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่ม Market Capital ให้กับตลาดทุนไทย เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน และเป็นการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนป้องกันปัญหาในอนาคต


ตามแผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ที่วางไว้ถึงปี 2573 จะเห็นว่าระบบขนส่งทางรางเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ยังมีแผนงานอีกจำนวนมากที่รอการดำเนินการเพื่อทำให้เมืองขอนแก่นกลายเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน รองรับความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
“ฐานคือฮาร์ดแวร์ ขึ้นไปคือซอฟต์แวร์ ที่สำคัญคือตรงนี้เราได้งบมา 100 ล้านบาท มาทำ SCOPC (Smart City Operation Center) ซึ่งเป็นหัวใจ สมาร์ตซิตี้ต้องกลายเป็น IOT หมด สมาร์ตซิตี้คืออินฟราทั้งหมด และผมจัดโครงสร้างขอนแก่นไว้ว่าฝั่งสถาบันการศึกษาอยากทำก็มาฝั่งนี้ อยากมาเรื่องการลงทุนมาฝั่งนี้”

กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้


การจะสร้างแผนงานพัฒนาเมืองโดยใช้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นร่วมกันผลักดันจนได้ในระดับเมืองขอนแก่นไม่ใช่เรื่องง่าย สุรเดช ย้อนความหลังกว่าที่แผนจะเดินมาถึงจุดนี้ว่า เริ่มจากเอกชน 20 รายรวมกันเป็น KKTT แล้วก็เริ่มเดินสายคุยกับเทศบาล
“คุยเทศบาล 5 ปี คุยกันเองอีก 2 ปี กว่าจะสรุปว่าเดินหน้าทำกันเถอะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ยังไม่เห็นภาพ ทุกคนบอก ถ้าเราออกเงิน 200 ล้านแล้วเปลี่ยนเมืองขอนแก่นได้จริง ถูกนะ เราทำ 3 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 เราลงเงินเองหมด ไปศึกษาไปดูงานพาเทศบาลไป ลงทุนรถบัส ไม่มีเงินหลวง บาทเดียวก็ไม่เอา ขั้นที่ 2 ตั้งบริษัท KKTS ได้แล้ว ตอนนี้เปิดประมูลแล้ว ต่อไป ขั้นที่ 3 คือก่อสร้าง เสร็จแล้ว KKTS ก็จดทะเบียนเข้าตลาดฯ”


สุรเดชใช้ทฤษฎี 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี อธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมคือการที่ภาคเอกชนรวมตัวกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นได้ สร้างความรู้ให้คนในเมืองขอนแก่นได้ทราบถึงประโยชน์ของระบบขนส่งมวลชนและเรื่องอื่นๆ และสุดท้ายคือได้ภาครัฐ (คสช./รัฐบาล) อนุมัติโครงการ
เคล็ดลับการเขยื้อนภูเขาของจังหวัดขอนแก่นคือการพูดคุยกันมาต่อเนื่องเกือบ 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นใน KKTT เทศบาล อบจ. จังหวัด เอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน รวมถึงประชาชนคนขอนแก่น ผ่านเวทีต่างๆ ผลที่ได้คือวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับเมืองขอนแก่นที่เป็นที่รับทราบของคนในพื้นที่ ซึ่งลงไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับโครงการ
สุรเดชตอบคำถามว่าทำไมขอนแก่นจึงพร้อมกว่าจังหวัดอื่นในการทำโครงการเช่นนี้ว่า เกิดจากไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัด การเมืองท้องถิ่นไม่อิงกับพรรคใหญ่ และคนในเมืองมีภาพจำเรื่องความเสียสละ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ กลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มร่วมคิดร่วมทำอยู่ในวัยเดียวกันคือเป็นคนรุ่นอายุประมาณ 50 ปี โดยเหล่าผู้อาวุโสของจังหวัดก็เปิดทางคอยให้กำลังใจแทนที่จะลงมาควบคุม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นภาครัฐก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองโดยไม่หวังพึ่งแต่งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
“สุภาษิตจีน บอกว่าสังคมยิ่งใหญ่เมื่อชายชราปลูกต้นไม้ที่รู้ดีว่าตัวเองไม่ได้ใช้ เราทำไป ผมอาจจะได้ใช้ รุ่นที่เขาลงเงินแก่ๆ อาจไม่ได้เห็น แต่เด็กๆ วันนี้เห็นต้นไม้ของเขาแล้ว อย่างน้อยเขาเห็นขุดหลุมปลูกกันจริง เริ่มกันแล้วตั้งแต่โครงสร้าง
มียุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว” สุรเดชกล่าว
ภายหลังจากขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มกระจายไปสู่เมืองอื่นๆ 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการรวมกลุ่มกันแบ่งปันความรู้และวิธีคิด เพื่อที่แต่ละจังหวัดจะไปหาแผนงานที่เหมาะสมกับท้องถิ่นตัวเองในการพัฒนาเมืองต่อไป สุรเดชมองว่า เคล็ดลับในการทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องไม่ลืมเรื่องการสื่อสาร
“ขอนแก่นตั้งมา 7 ปีกลายเป็นฝังเข้าไปในดีเอ็นเอแล้วว่า ทำอะไรอย่าลืมประชาสังคม ทำอะไรอย่าลืมเทศบาล อบจ.ต้องเรียกมา 24 องค์กรจีนอีก แต่พวกนี้พอขึ้นมาบางเมืองไปเร็วไป พอลืมก็มีเสียบ่นด่า ก็เกิดความขัดแย้งพวกนี้ต้องไปช้าเวลามีอะไรก็เรียก ถึงเขาไม่ไปเราก็ไปนั่งเล่า นั่งพูดให้เขาฟัง แต่ละกลุ่มก็ต้องมีความรู้แต่ละชุด เรื่องพวกนี้ก็ต้องทำ หลายๆ เมืองวิ่งเร็วเกินไปทำให้บางทีสะดุดบ้าง ก็เกิดท้อขึ้นมา”


ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส


สุรเดชมองภาพเมืองขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นภายหลังโครงการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นสมาร์ตซิตี้เดินหน้าไปว่า ขอนแก่นจะเป็นเมืองแห่งโอกาส “หมายความว่าคนจะมาขอนแก่น เป็นเมืองที่มีโอกาส เมืองที่เข้ามาแล้วเสมอภาคกัน คนดีที่ต้องการทำเรื่องสุจริตมีโอกาส ความเท่าเทียมในการเจริญเติบโต สร้างสิ่งดีๆ ให้เมือง”
ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ของขอนแก่นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเกษตรกรก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเติบโตไปกับเมืองที่กำลังพัฒนาด้วยโครงการ Smart Farming ที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นให้สามารถสร้างรายได้สูงขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนผ่านกองทุนที่จะเปิดขึ้นมาให้ลงทุนใน KKTS
“เวลาคอมเมนต์ พวกเอ็นจีโอ ประชาสังคม เขาก็จะบอกว่า สมาร์ตซิตี้เหมือนไข่ดาว ทำแต่ในเมืองเป็นไข่แดง ผมบอกว่าไม่ใช่ พี่ไปอ่านสมาร์ตซิตี้ขอนแก่นเป็นไข่เจียว เริ่มแรกคือสมาร์ตฟาร์มมิ่ง เรื่องของเกษตรกรล้วนๆ ในเฟสแรก 60 เปอร์เซ็นต์ของพวกเราคือเกษตรกร เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับเขา เขาจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับ เมืองไม่จำเป็นต้องเจริญทั้งหมด เขายังเป็นทุ่งนาเหมือนเดิม แต่เขาต้องปลูกของที่แพงขึ้นกว่าเดิมเขาต้องมีรายรับที่ดีกว่าเดิม และเขายังมีโอกาสขี่รถเข้าตลาดทุนที่พวกเราทำไว้อีก นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเขา เปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเมือง”
ตามแผนที่เขียนไว้ภายใน 12 ปี จีดีพีของขอนแก่นจะเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเท่า หรือมีจีดีพีเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยังมีการดูเรื่องดัชนีความสุขประกอบไปด้วย สุรเดชมองว่าหากโครงการระบบขนส่งมวลชนนี้สามารถเดินหน้าได้ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้มีมากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนต่อเนื่องในจังหวัด ตัวเลขจีดีพีภายในจังหวัดที่หวังว่าจะขยับขึ้นถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้อาจจะเร็วขึ้นมาได้อีก
สุรเดชมองว่าการเตรียมความพร้อมให้กับเมืองขอนแก่น เป็นเรื่องที่คนรุ่นเขาต้องเตรียมไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เมืองขอนแก่นสามารถหาข้อสรุปแบบวิน-วินกับกระแสที่เข้ามาได้ คนขอนแก่นมีวิธีคิด มีเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และ ‘ขอนแก่นโมเดล’ คือตัวอย่างรูปแบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐท้องถิ่นและภาคธุรกิจที่เหนียวแน่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่ออนาคตของลูกหลานขอนแก่นที่จะได้ใช้ชีวิตประกอบสัมมาชีพ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

 


                                         SPV for Everyone

               

SPV หรือ Special Purpose Vehical นิติบุคคลหรือบริษัทจัดการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนคืออีกคำหนึ่งที่สุรเดชพูดถึงตลอดการสนทนา เพราะการจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน จำเป็นต้องอาศัยตลาดทุนเป็นเครื่องมือหนึ่ง โดยจะจัดตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองขอนแก่นกับ KKTS เปิดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
“กองเปิดกว้าง วันนี้คนหลายคนรู้แล้วก็บอกว่าเมื่อไหร่เปิดบอกนะ กองนี้เวลา KKTS เข้าจดทะเบียนกองนี้ก็โตด้วย เราไม่ได้บอกว่าเราลดความเหลื่อมล้ำ เราพูดว่าเรามีวิธีไม่ถ่างความเหลื่อมล้ำ คุณต้องสร้าง SPV ให้เขา สร้าง vehicle ให้เขาขี่เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้หรอกไปตั้งกองอย่างไร ถ้าคุณบอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังถ้ามองออก อย่างกลุ่มทุนใจบุญก็สร้างกองอย่างนี้ใส่บริษัทเข้าไป ทำกองพวกนี้ขึ้นมาให้คนไปถือ คุณต้องมีรถให้เขาขี่เข้าตลาด และเข้าตอนพาร์ นี่คือรถคันนี้กำลังไป”


 

ภาคอุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความต่อเนื่องมานับครึ่งศตวรรษ และเมื่อมาถึงจุดที่เทคโนโลยีกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงไปแทบทุกวงการ อุตสาหกรรมของประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดโอกาสให้นิตยสาร MBA เข้าพบเพื่อรับฟังแนวทางมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตของประเทศเป็นแต้มต่อสำหรับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

กระทรวงฯ มีนโยบายอย่างไรในการสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำ พัฒนาองค์ความรู้ออกแบบ ผลิตและจำหน่าย

นโยบายเราชัดเจนอยู่แล้ว และรัฐบาลนี้ทำจริงจัง คือวันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ตอัพ ต้องเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้น ชุดมาตรการเรามุ่งไปทางนั้น เป้าหมายตอนนี้คือภาครัฐ เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ สสว. ทั้งหลาย ทำงานด้วยกัน เพื่อเปิดทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีทักษะที่จะใช้ และรัฐก็ดูแลส่งเสริมให้เขาแข็งแกร่ง เรื่องทุนก็เป็นอีกด้านหนึ่ง ที่จะให้เข้าถึงเครื่องมือเครื่องจักร เป้าหมายเป็นแบบนี้ มาตรการที่ออกมาก็สอดรับกัน เช่น ในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี วันนี้เราลงไปถึงระดับชุมชน เพราะวันนี้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งก็เปิดให้ระดับชุมชนเข้ามาใช้ได้ เราอาจจะดู Simple นั่งอยู่กรุงเทพแต่สำหรับชุมชนสามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ ได้ด้วย ดีไซน์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติง

กระทรวงฯ มีการปรับโครงสร้างการสนับสนุนอย่างไร
วันนี้ผมมีศูนย์อุตสาหกรรมภาค ทั้งหมด 10 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพ ที่กล้วยน้ำไท วันนี้เราปรับให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับกลุ่มจังหวัด ศูนย์ฯ วันนี้ไม่ได้ทำแต่หน้าที่แค่ออกไปตรวจโรงงาน ควบคุมดูแลเรื่องมลพิษ แต่ที่เสริมเข้ามาใหม่ คือหน้าที่ในเรื่องส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยี เราเรียกว่าเป็นแล็บหรือโรงงานต้นแบบมีเครื่องมือทั้งหลายไม่ว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือพวกจักรกล ออโตเมชัน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้ได้ มีที่ปรึกษา เราก็รู้ว่าในระดับชุมชนมีสินค้าดีๆ เยอะ แต่พอไปแล้วของไทยไปไม่ถึงฝั่งเพราะแพ็กเกจจิ้งของเราสู้เขาไม่ได้ ศูนย์พวกนี้ก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือเรื่องดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง และทำต้นแบบให้ดูเลยว่าอย่างนี้นะ สมมติพื้นที่ 150 ตารางเมตรจะมีทุกศูนย์ตอนนี้ทำเสร็จไปครึ่งหนึ่งคือ 5 ศูนย์ เพื่อให้ยั่งยืนเราเชิญชวนผู้-ประกอบการรุ่นใหญ่ Big Brother มา อย่างที่ศูนย์กล้วยน้ำไท เดนโซ่เข้ามา เขาปรับปรุงใหม่หมดเลย เขาเอากระบวนการผลิตจำลองสำหรับเอสเอ็มอีที่เดนโซ่เขาพัฒนาโดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นมาตั้งเลย เป็นระบบออโต-เมชันซึ่งเดี๋ยวจะโยงไปมาตรการที่สองเรื่องหุ่นยนต์และออโตเมชันและการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ตอนนี้เราไปโยงกับโครงการ Big Brother ประมาณ 50 ราย รวมถึงบริษัทไทยเช่น SCG ปตท. ผมมีศูนย์ 10 แห่งก็เชิญชวนเป็นกลุ่มมาช่วยกัน เหมือนพี่เลี้ยงสปอนเซอร์ให้ศูนย์ขณะที่คนของกระทรวงเข้าทำงานเต็มที่อยู่แล้วแต่ละศูนย์เป็นโรงงานต้นแบบ แต่แตกต่างกันได้ คือเราคุยในพื้นที่ก่อน ไม่ใช่ไปยัดใส่ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าต้องการอะไร ถ้าภาคเหนือเขาบอกว่าผมต้องการเป็น Food Valley เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องไปทางนั้น ถ้าอีสานบางที่บอกผมหนักวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่อง Packaging Design เครื่องไม้เครื่องมือก็ไปทางนั้น ถ้าตรงกลางอย่างกล้วยน้ำไท หนักเรื่องกระบวนการผลิต เพราะเอสเอ็มอีแถวนี้ค่อนข้างใหญ่แล้ว ก็ต้องออกไปเรื่องออโตเมชันเยอะหน่อย มิฉะนั้นการเข้าถึงก็จะช้า และวันนี้เทคโนโลยีไปเร็วมากถ้าเอสเอ็มอีต้องไปหาความรู้เอง ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และไม่กล้าลงทุน

กระทรวงมีมาตรการสนับสนุนด้านทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไร
ก็มามาตรการที่ 2 เรื่องของเงินทุน ถ้าเขาเข้ามาใช้ประโยชน์จากศูนย์ที่เรามี ได้รับคำแนะนำจาก Big Brother เขาก็จะบอกว่าแล้วผมเอาเงินทุนที่ไหนมาปรับเปลี่ยน เรามีมาตรการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ปล่อยเป็นระดับเอสเอ็มอีใหญ่จนถึงชุมชนระดับแสนเราก็ปล่อย แต่วัตถุประสงค์เดียวกันหมดคือเพื่อการปรับตัวสู่ 4.0 ดังนั้นเงินทุนมีพร้อมแต่ต้องมาคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว เราจะไม่ให้แต่เงิน เราจะผูก สมมติคุณจะไปซื้อเครื่องจักร เราจะมีพี่เลี้ยงดูแลไปด้วยในช่วง 3-4 ปีว่าเครื่องจักรติดตั้งโอเค และใช้เป็น พี่เลี้ยงก็คือ 50 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมนั่นเอง

ในเรื่องผลิตภาพ (Productivity) มีแนวนโยบายอย่างไร
เรื่องผลิตภาพเอสเอ็มอีต้องเข้าใจว่า เวลาเราพูดถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี จะเอาเทคโนโลยีมาใหม่ ในการผลิต แม้กระทั่งเอสเอ็มอีภาคบริการ สุดท้ายเป้าหมายคือ ยกระดับผลิตภาพของตัวเอง ซึ่งสะท้อนออกมาในด้านที่สำคัญมากๆ เช่น ต้นทุนที่แข่งขันได้ ในยุคของอินเทอร์เน็ต ดิจิทัล การจัดซื้อเปลี่ยน การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory) เปลี่ยน เอา Enterprise Software สำหรับเอสเอ็มอีมาใช้ และที่สำคัญถ้าพูดถึงกระบวนการผลิตออโตเมชัน ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ (Robotic) ต้องรู้แล้วว่าจะใช้ได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ต้องเอามาทุกราย
กระทรวงการมีโครงการใหม่ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมนี กลุ่มสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่อง Robotic Automation ขณะนี้มีประมาณ 8-10 มหาวิทยาลัย แนวทางคือเราเชิญเอสเอ็มอีให้เข้าโครงการ แบ่งเป็นหลายระดับ เราวางเป็นกลุ่มใหญ่ๆ
1. กลุ่มเกษตรแปรรูป เพราะอย่างไรประเทศไทยก็เป็นพื้นฐานเกษตร
2. กลุ่มผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซัพพลายเออร์ทั้งหลายและมีความพร้อมจะออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง
3. กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแต่เราต้องเริ่มวางพื้นฐานให้
เราเอาเข้ามา ที่ปรึกษาเราเข้าไปวินิจฉัยร่วมกันก่อนเลยว่า ของคุณนี่เทคโนโลยีระดับไหนเหมาะ เราก็ขอว่าต้องมาทำด้วยกันนะ มีโปรแกรมมีซอฟต์แวร์ที่จะมาช่วยวินิจฉัยแม้กระทั่งการเงิน เช่นที่เราคิดว่าต้นทุนที่จะลงจำลองขึ้นมาเลย เจ้าของต้องมานั่งกับเราว่าจริงไหม แล้วเครื่องมืออะไร ลงทุนเท่าไร ถ้าสมมติบอก 20 ล้านภายใน 3-4 ปี ถ้าเห็นตรงกัน มาตรการเงินทุนเราก็จะเข้าไปเสริมโครงการผลิตภาพเกิด วินิจฉัย ทุนมา ติดตามดูแล นี่ต้องรับเป็นเงื่อนไข ถ้าไม่อย่างนี้ เราไม่เอา อย่างน้อยต้องปั้นให้ผ่านตรงนี้ และต้องมีเป้าหมาย อย่างโครงการนี้เป้าคือในปีแรก ถ้าพูดถึงต้นทุนต้องลดให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไม่ใช่ว่าต้องเข้ากี่รายต้องนับว่าทำได้กี่ราย ถึงเวลาต้องปฏิบัติ ก็ตั้งเป้าไว้ว่า 3 ปีแรก น่าจะเชิญชวนเอสเอ็มอีเข้าโครงการนี้ได้ประมาณ 10,000 ราย

กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณเท่าไร
ผมคิดว่าไม่เกิน 2 เดือนวินิจฉัยแล้ว ภายใน 3-4 เดือน Simulation เสร็จ ก็พอๆ กับแบงก์ แต่เราไม่ได้ไปแทนที่ธนาคาร วัตถุประสงค์เราคือมาเติมเต็ม และเราต้องส่งเสริมเขาว่าสุดท้ายต้องเข้าระบบธนาคาร เข้า VC ได้
ผมโยงไปอีกมาตรการ Financial Literacy เราทำร่วมกับธปท. สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ที่สำคัญที่สุดคือสมาคมธนาคารไทย ดังนั้นตามเครือข่ายศูนย์ที่ผมมีเราจับมือกันไป ในพื้นที่ให้นายธนาคารเขามาสนับสนุน ออกไปให้ทักษะ เพราะคนที่สอนเรื่องการเงินดีที่สุดไม่ใช่คนกระทรวง เพราะสุดท้ายเราต้องการให้เขากู้แบงก์ได้ ก็ไปสอนตั้งแต่ทำไมต้องมีบัญชีเดียว เราก็มีเป้าหมายว่า ให้เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียว ให้จดนิติบุคคล อย่างเรื่องเงินกู้ไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลทันทีแต่เราจะบอกว่าถ้าเราให้การสนับสนุนขอว่าภายใน1-2 ปีแล้วแต่กรณี จดทะเบียนนิติบุคคล นี่พูดถึงรายเล็กที่ยังไม่ได้จดนะ แล้ววันนี้จดทะเบียนนิติบุคคลกระทรวงพาณิชย์เขาจด 48 ชั่วโมงก็จดได้ และไม่ต้องใช้ 7 คนแล้ว ถามว่าทำไปทำไม เพราะไปสอดรับว่า ในเรื่องการเงินคุณจะเข้าระบบ กระทรวงการคลังก็เป็นระบบในเรื่องฐานภาษี ทุกอย่างก็ไปด้วยกัน

สถาบันการศึกษาจะอยู่ส่วนใดในมาตรการเหล่านี้
กลับไปที่โครงการเพิ่มผลิตภาพ โครงการนี้จะคู่ไปกับโครงการ Robotic and Automation ซึ่งเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ ดังนั้นในโครงการนี้ เราใช้กลไกที่เรียกว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรบอต CORE (Center of Robotic Excellence) แต่ละศูนย์คนที่ดูแลเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา มี 8 ศูนย์ทั่วประเทศไทย ตรงกลางอาจจะมากหน่อย นี่คือเครือข่าย คนจาก CORE สภาอุตสาหกรรม เอาตัวจริงเข้าไปมีเรื่องของวิทยาการเข้าไป ขณะเดียวกัน CORE ก็กลับไปที่คำถามว่าเมื่อไรคนไทยจะสร้างอะไรเป็น นี่ผมแค่พูดเรื่องใช้ โครงการหุ่นยนต์นี่จะทำเรื่องสร้างด้วย เพราะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หมายความว่าคนไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้เอง วันนี้เรานำเข้าหุ่นยนต์มูลค่าประมาณแสนกว่าล้านบาทที่จำเป็นต้องใช้นะครับ ตรงนี้คนไทยทำได้เองเยอะมากผลิตเครื่องจักร ชิ้นส่วนได้ระดับหนึ่งเลย และสองผลิต System Integrator ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นบุคคลไม่ใช่บริษัทใหญ่ System
Integrator เป็นคนศึกษาและบอกผู้ประกอบการว่าโรงงานคุณต้องใช้ Automation System ไหนบ้าง จากเจ้าไหนบ้าง เวลาสั่งซื้อของคนนี้เป็นคนสำคัญ วันนี้ประเทศไทยมีอยู่แค่ 400 คน เป้าหมายหนึ่งปีจากนี้ไปเราจะมี 1,200 คน นี่คือการพัฒนาการสร้างหุ่นยนต์ Robotic Automation System ในประเทศ เราเริ่มอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยเรามองเรื่องสร้างคนไปพร้อมกัน นี่คือยึดโยงโจทย์สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายคู่ขนาน เพราะเอสเอ็มอีจำนวนมากก็อยู่ในคลัสเตอร์ ถ้าเราต้องการส่งเสริมก็ต้องพัฒนาคู่กันเพื่อให้ตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง นี่เป็นวิธีที่เราทำวันนี้ เสียเวลานิดหนึ่งตอนแรกที่ต้องมาออกแบบให้ยึดโยงกันและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่ปัญหาของประเทศไทยที่เราสังเกตมาตลอดคือเรื่อง Content
เราก็ต้องเริ่ม อย่างหุ่นยนต์ CORE เขารู้อยู่เขามีองค์ความรู้ หน้าที่เขาคือมาดูว่าประเทศไทยทำตรงไหนได้อย่างไร และอนาคตจะเอาอย่างไร เซนเซอร์ยังไม่ได้วันนี้ 5 ปีข้างหน้ามาพูดกันสิว่าทำได้ไหม และจะต้องส่งเสริมอย่างไร พูดถึงส่งเสริมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทุกคลัสเตอร์เป้าหมาย เราคุยกับ BOI ใกล้ชิดมาก วันนี้มีว่าถ้าบริษัทไหนที่ลงทุนเรื่องหุ่นยนต์ BOI ให้สิทธิพิเศษอย่างไร ก็คือมาทั้งแพ็กเกจ 10 อุตสาหกรรมมีโรดแมปหมด กระทรวงเป็นคนประสาน ผมเอาเข้าครม.หมด ตอนนี้ยังไม่ครบ เข้าครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ผูกพันที่ต้องสนับสนุน

แนวทางการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีอย่างไร
สิ่งที่ทำ เอาญี่ปุ่นเป็นเคสจริงๆ เลย รมต. METI พูดเองเลยว่า วันนี้ประเทศไทยอย่างไรเขามองว่าเป็น Strategic Partner ของเขา โดยที่ตั้งโดยความคุ้นเคย แต่ด้วยเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวง ญี่ปุ่นก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน เขาก็ต้องดูแลว่าพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยรวมถึงระดับเอสเอ็มอีไปด้วยกันนะ เราไม่ได้ดีลกับเขาคนเดียวแต่เราใกล้ชิดเป็นพิเศษ และโดยเทคโนโลยีวันนี้ต้องยอมรับว่านวัตกรรมใหม่ๆ เกิดจาก SME ไม่ใช่รอบริษัทใหญ่ เมื่อก่อนเป็นแบบนั้น บริษัทใหญ่ทุนหนาสร้างนวัตกรรม อย่างที่ว่าเก็บเทคโนโลยีไว้ วันนี้ภาพเปลี่ยนแล้ว เอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพสามารถคิดของใหม่แล้วขายกลับยังได้เลย เขารู้แล้วว่าเขาต้องมาช่วยบ่มเพาะเอสเอ็มอีในประเทศไทยเหมือนกัน ดังนั้นการแชร์ แน่นอนอาจจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าใจว่าเขาลงทุนมาเป็น 10-20 ปี เทคโนโลยีบางอย่างเขาไม่สามารถให้เราได้ทันที แต่วันนี้ผมเชื่อว่าเปิดขึ้น เรามีโครงการอีกโครงการ Technology Transfer ในรูปแบบที่ Practical ภายใต้ข้อตกลงเป็นทางการ ญี่ปุ่นมี แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีและรายใหญ่เชื่อมกันวัตถุประสงค์ตรงนี้คือแชร์เทคโนโลยี ชื่อ J-GoodTech.com เรากำลังสร้าง ThaiGoodTech.com เป็น B2B ไม่ใช่ B2C แลกเปลี่ยนกันตรง แต่ไม่ใช่แค่เอสเอ็มอีกับเอสเอ็มอี บริษัทใหญ่ที่เราจะเชื้อเชิญ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน บริษัทใหญ่ทางญี่ปุ่นเขาก็เห็นแล้วเอสเอ็มอีไทยเดี๋ยวนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เอสเอ็มอีทางนี้ก็เห็นแล้วว่าเขามีเทคโนโลยีอะไร จะเกิดการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อก่อนไม่มีท่อนี้ เขาก็ไม่เห็นเอสเอ็มอีไทยเก่งๆ มีศักยภาพสูง วันนี้จะเห็นเลยเพราะเราเอาข้อมูลขึ้น และเขาติดต่อตรง ThaiGoodTech คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 2 ของปีนี้

ผู้ประกอบการจะเข้าร่วมได้อย่างไร
เราจะเป็นคนเชิญ เรามีอยู่แล้วและนี่ไม่ใช่แต่กรุงเทพ เราสั่งการไปทั่วประเทศ ผ่านศูนย์ ตอนนี้เราทำข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมกับหอการค้า คัดเข้ามา ที่จะขึ้น ThaiGoodTech รู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอย่างไร ในพื้นที่ของท่านอะไรเด็ดก็มาหารือกันก่อน แล้วเชิญต้องโค้ชเขาเหมือนกัน จะขึ้น ThaiGoodTech ติดต่อ J-GoodTech คุณต้องมีข้อมูลอย่างไร คุณต้องระดับไหน เป็นการส่งเสริมในตัวถ้าเราทำให้ติดได้ในแง่การตลาดให้คนอยากขึ้น นี่ B2B นะไม่ได้ให้ขายของ และให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ระดับเอสเอ็มอีจับมือกันเอง เป็นการกระตุ้นเขาออกสู่ตลาด

เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ EEC
EEC ประเด็นที่ผมมักจะคุยกับหลายคนเสมอ คือ EEC เป็นโครงการซึ่งถูกพัฒนาให้ขับเคลื่อนเรื่องการปรับเปลี่ยนประเทศ แล้วว่าทำไมต้องไปทำตรงนั้น เพราะว่าต้องการทำให้เป็นรูปธรรม ตรงนี้ทำได้เพราะมีฐานเดิมอยู่แล้ว แต่เราต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น ต่อยอด และเราต้องการสร้างเอสเอ็มอีใหม่ด้วย EEC เป็นก้าวแรกที่จะยกฐานตรงนี้ขึ้นมา

ประเด็นที่สองไม่ใช่เรื่องอุตสาหกรรมเท่านั้น ทุกโครงการใน EEC แม้จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่คิดในองค์รวมหมด (Holistic) เป็นเรื่องการสร้างฐานความเจริญ อุตสาหกรรมแน่นอนมีบทบาทสูง สร้างเมืองใหม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ เรื่องของคน ผู้ประกอบการเราจะใช้ EEC เป็นพื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ตรงนั้น สถาบันการศึกษาแข็งๆ มีอยู่เยอะ ดังนั้นเป็นภาพองค์รวม ระบบโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนอยู่แล้ว รถไฟไม่ใช่แค่ตัวรถไฟเอง ผ่านตรงไหนเมืองใหม่มีโอกาสเกิด ไม่ใช่ไปรองรับอุตสาหกรรมเฉยๆ และเราคิดโยงกับระบบคมนาคมทั่วประเทศออกสู่เพื่อนบ้าน
ดังนั้น เราเริ่มจาก EEC จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดฐานความเจริญใหม่ในหลายๆ ด้าน ประชุมล่าสุดคณะกรรมการที่มีนายกฯ เป็นประธานก็มีมติให้เริ่มขยายพื้นที่ได้แล้ว จะใช้เวลา 4 เดือนทำการศึกษาจังหวัดโดยรอบ สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว บางคนถามทำไมสระแก้ว ไม่เห็นมีอุตสาหกรรมเท่าไร นี่คือประเด็นเลย สระแก้วเป็นเรื่องของประชาชนที่เราต้องการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ผมใช้คำว่าครอบคลุมและทั่วถึง สระแก้วไม่ใช่ระยอง ไม่ใช่ฉะเชิงเทราจันทบุรีที่มีอุตสาหกรรมมีผลไม้ แต่ถามว่าสระแก้วต้องเอาเขาเข้ามาไหม ถ้าพูดถึงช่องทางค้าขายลงทุนเขาเป็นทางออกกัมพูชา รถไฟวันนี้เราคิดไปถึงตรงนั้น เส้นนั้นต้องทำแล้ว ฉะนั้นคิดในกรอบใหญ่และคิดแบบ Inclusive นี่คือ EEC ที่กำลังจะเกิด
ขอกลับไปประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตัวอย่างอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะเกิดที่ EEC คือ การบำรุงซ่อมสร้างอากาศยาน MRO (Maintenance Repair Overhaul) แอร์บัสจับมือกับทีจีจะลงทุนสร้าง MRO แต่ไม่เพียงเท่านั้น จะสร้างคู่ขนานคือคลัสเตอร์ของชิ้นส่วน อุปกรณ์อากาศยานซึ่งคนไทยสามารถทำได้เอง นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เขาต้องถ่ายทอดมา เพราะเป็นเงื่อนไขของเราว่าไม่ใช่คุณมาลงทุนแค่ MRO ซึ่งเขาอยากทำด้วยอุตสาหกรรมตรงนี้ นี่เป็นเอสเอ็มอีจะไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะมาทำ จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีคลัสเตอร์ที่จะเกิดแถวอู่ตะเภา เราผูกเป็นแพคเกจมาต้องมาด้วยกัน

ICO กับอุตสาหกรรมไทย

ในฐานะที่ ดร.อุตตม มีพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในธุรกิจการเงินมายาวนาน MBA จึงสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในโลกทุกวันนี้นั่นคือ ICO (Initial Coin Offering) ว่าจะสามารถนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในระดับใด
ดร.อุตตม มองว่า “ผมคิดว่าต้องแยกเป็น 2 เรื่อง หนึ่ง คือพื้นฐานที่ว่า วันนี้ถ้าพูดถึง สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการใหม่ หลีกไม่พ้นที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นจะมากจะน้อยก็ต้องรู้ เพราะประเดี๋ยวมาเคาะประตูถึงบ้านแล้ว นั่นเรื่องหนึ่งว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มเข้าใจ
ประเด็นที่สอง คือในเชิงปฏิบัติ ว่า ถ้าเราพูดถึงสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลาง ก็ต้องการทุนที่จะโต การเข้าถึงทุนวันนี้เปิดกว้างขึ้น VC (Venture Capital) คือแนวทางเดิม แต่วันนี้มี Crowdfunding วันนี้มา Cryptocurrencies ซึ่งวันนี้ต้องพูดกันตามตรงว่ายังมีความสับสน ความไม่เข้าใจอยู่พอสมควร ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย ในหลายที่ว่า คืออย่างไรแน่ รู้แต่ว่าน่าจะใช้ระดมทุนได้ และผลตอบแทนดูเหมือนสูงมาก ตรงนี้ผมคิดว่าแน่นอนเปิดโอกาส แต่ประเด็นที่สองอยากจะเรียนคือ ต้องเรียนรู้และใช้ด้วยความระมัดระวัง คือนวัตกรรมเป็นของใหม่ นวัตกรรมมีทั้งที่ดี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงมาด้วยต้องระมัดระวังในกรณีนี้ ในการใช้ยังใหม่มาก
อย่างวันนี้ในประเทศไทยเอง ผู้กำกับดูแลก็ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าเป็นหลักทรัพย์ประเภทไหน คุณจะระดมทุนระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ ยังไม่ชัดเจนว่าประเภทไหน และอะไรในแง่ของมูลค่าที่ Support จริงๆ จะประเมินราคาอย่างไร นี่เป็นเพียงยกตัวอย่างว่ามันมีความซับซ้อนเรื่องนี้อยู่
เพราะฉะนั้นถ้าผมเป็นสตาร์ตอัพเป็นเอสเอ็มอี ผมจะเรียนรู้แต่ไม่ใช่กระโดดใส่เพราะว่า ด้วยความที่เราไม่รู้ Cryptocurrencies โดยธรรมชาติซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าอย่างไรจะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ในฐานะภาครัฐ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ต้องยอมรับทุกอย่างเป็นไปได้หมดในโลกปัจจุบัน แต่วันนี้ถ้าถามผมว่าควรให้เกิดไหม ผมยังไม่ตอบ เพราะอย่างที่เราคุยกันตอนต้นเราต้องดูให้ชัดว่าความเสี่ยงคืออะไรและวันนี้รัฐกำลังออกกฎเกณฑ์อะไร ถ้าจะให้ตอบว่าควรไหมผมยังไม่ตอบ ควรเข้าไปศึกษาไหมผมว่าควร แต่ถ้าฟันธงว่าทำเลย ผมว่ายังไม่ใช่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การดูแลให้รอบคอบเป็นสิ่งสำคัญมาก นวัตกรรมมีประโยชน์แต่นวัตกรรมโดยตัวมันเองต้องดูให้รอบคอบทุกกรณี โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและการเงิน
ผมไม่ต่อต้านนะ แต่จากประสบการณ์ บริหาร Private Equity มา แบงก์ก็ผ่านมา มาอยู่ภาครัฐถึงเห็นว่า ต้องดูแลในทุกด้าน แล้วจะไปได้อย่างยั่งยืน”

 

Page 6 of 9
X

Right Click

No right click