×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ผลประกอบการธนาคารกรุงไทยงวดครึ่งปีแรก ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนสำรอง  36,620 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 12,528 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้น ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อใหม่ มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ดูแลและการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนการกันสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ จำนวน 36,620 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันในปีก่อน โดยลดลงเพียง 359 ล้านบาท (ร้อยละ 0.97) การบริหารจัดการในธุรกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 936 ล้านบาท (ร้อยละ 8.88) จากธุรกิจบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 204 ล้านบาท (ร้อยละ 0.83) จากนโยบายการควบคุมค่าใช้จ่าย อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio) เท่ากับร้อยละ 39.85  ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.81 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเพียง 94 ล้านบาท (ร้อยละ 0.22)  จากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก ด้วยการเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดีลงร้อยละ 0.50 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับร้อยละ 3.40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 3.24

นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยต่อไปว่า กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับงวด 6 เดือนเท่ากับ 12,528 ล้านบาท ลดลง 4,317 ล้านบาท (ร้อยละ 25.63) กำไรสุทธิส่วนของธนาคารจำนวน 11,760 ล้านบาท  ลดลง 4,471 ล้านบาท (ร้อยละ 27.55) สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ที่เพิ่มขึ้น จำนวน 4,974 ล้านบาท (ร้อยละ 30.40) จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงและหลักเกณฑ์ความระมัดระวังของธนาคาร โดยได้กันสำรองหนี้สูญเต็มจำนวน สำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทำให้สามารถคงอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารและบริษัทย่อยร้อยละ 112.50

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 99,078 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio-Gross) ร้อยละ 4.33 ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามดูแลและการแก้ไขมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรักษาระดับของอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้มีความเหมาะสม คงอัตราเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 110 ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ธนาคารและบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ เท่ากับ 1,918,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,921 ล้านบาท (ร้อยละ 0.73) จากสิ้นปี 2559 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าภาครัฐ ด้านเงินรับฝาก ลดลง 9,982 ล้านบาท (ร้อยละ 0.51) ธนาคารยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในการรองรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศระยะยาว เท่ากับ AA+(Tha) โดย Fitch Ratings และอันดับความน่าเชื่อต่างประเทศ เท่ากับ Baa1 (Moody’s), BBB (Standard and Poor’s) และ BBB (Fitch Ratings)

test

July 21, 2017

หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า  ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือน มิถุนายน 2560 บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อัตโนมัติซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แล้วจำนวน 16 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1,400 ล้านบาท  คือ

  • กิจการผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CNC Lathe Machine) ของบริษัทซิติเซ็น แมชชีนเนอรี่ เอเชียจำกัด  
  • กิจการผลิตเครื่องออกตั๋วและประตูกั้นชานชลาในรถไฟฟ้าใต้ดิน ของบริษัทจินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด
  • กิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ ของบริษัท อิโซเบะ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น

ล่าสุดบีโอไอยังได้อนุมัติการลงทุนในกิจการผลิตหุ่นยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม ของบริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วถึง 9 โครงการ ตั้งแต่ปี 2542 โดยได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เพื่อตั้งโครงการผลิตหุ่นยนต์  (Industrial Robots) ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง

โดยเป็นหุ่นยนต์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป รวมทั้งจะมีบริการซ่อมแซมหุ่นยนต์ที่ผลิตเอง ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าหุ่นยนต์และเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 764 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้บริษัทยังได้ตั้งศูนย์จัดแสดงสินค้าสำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนส่วนทดสอบการให้บริการ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ และอบรมการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับลูกค้า  (Robot Technical Center) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์แห่งที่ 4  ของบริษัท หลังจากที่มีการจัดตั้งแล้วที่สหรัฐอเมริกา  จีน และไต้หวัน และในอนาคตหากการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยขยายตัวบริษัทก็มีแผนจะขยายการผลิตและเปิดศูนย์ฯเพิ่มขึ้น

 

นางหิรัญญา กล่าวว่า โครงการลงทุนของบริษัทครั้งนี้นับเป็นการลงทุนโครงการที่ 10 ในประเทศไทย และเป็นโครงการแรกของบริษัทที่มีการลงทุนผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์เหมือนกับบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในรูปแบบสหกิจศึกษา (Work Integrated Learning :WiL) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาบุคลากรช่างฝีมือในประเทศไทย

แบรนด์ “กิจการเพื่อสังคม” วีซ่าผ่านทางเพื่อค้นหา “งานที่ชอบ  อาชีพที่ใช่“

บันทึกล่าฝัน และงานของ“ชาร์ลี”

หากหลับตาแล้วนึกภาพเด็กหนุ่มสัญชาติไทยผู้เติบโตในสิงคโปร์ตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มต้นค้นหาความชอบของตัวเองในช่วงสมัยวัยรุ่น งานแรกที่เขาเริ่มคือการเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านราเม็ง ทำงานไปโดยที่ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองชอบ รู้เพียงแต่ว่าชอบการพบปะและพบเจอกับผู้คน จนกระทั่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และก้าวเข้าสู่อาชีพการทำงานด้านโรงแรมในประเทศไทยในเวลาต่อมา เขาคิดเสมอว่าชอบอาชีพด้านการโรงแรม จนกระทั่งได้รับการเชิญออกจากงาน ด้วยสาเหตุอันมีที่มาจากความขัดแย้งกับหัวหน้างาน เพราะขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร

เป็นเวลามากกว่า 6 เดือนที่เขาต้องเฝ้าสับสน พร้อมด้วยอาการ “หลงทาง” เต็มรูปแบบ แต่แล้วโอกาสก็ผลักให้เขาให้กระโจนลงถนนแห่งอาชีพ sale จนเริ่มรู้สึกตัวในเวลาต่อมาว่า “ยังไม่ใช่” เขาปิดเกมอาชีพ sale อย่างรวดเร็วแล้วเดินต่อด้วยการเริ่มอาชีพใหม่ ด้วยการเป็น Head Hunter ที่นี่เองที่เขาค้นพบว่าเป็นอาชีพที่เขาทำได้ดี และดีสุดขีดทั้งหน้าที่การงานและรายรับต่อเดือนจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับเพื่อนมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไป หากแต่คำถามก็เกิดขึ้นและยังเฝ้าวนเวียนอยู่ในหัวว่า “ทำไมผมจึงไม่มีความสุข? แม้จะเป็นงานที่ทำได้ดี”

บนเส้นทาง และระยะเวลาที่เขาใช้เพื่อการค้นหาคำตอบสำหรับคำถามเรื่อง “งานที่ชอบ และ อาชีพที่ใช่” โดยในที่สุด “เขา” หรือ “ชาร์ลี” ชาลี วิทยชำนาญกุล ได้ค้นพบว่า เขามีความสามารถและโดดเด่นในด้านการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมไปถึงการมีปฏิสังสรรค์ในด้านธุรกิจที่ต้องอาศัยศิลปะในการเจรจากับผู้คนเป็นหลัก เมื่อล่วงรู้ว่าสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในแทบทุกครั้งว่าคืออะไร ในปัจจุบันชาร์ลีผู้มีวัยเพียง 24 ปีจึงพบกับความสุข กับงานและการเป็น Co-Founder และ CEO ของบริษัท Asia สตาร์ทอัพ โดยได้เป็นผู้ทำการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรด้วยตนเองตามสิ่งที่ตนเองรัก และดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองเป็น

ชาร์ลี เปิดเผยอย่างเป็นกันเองในห้องประชุม CareerVisa ที่จัดสัมมนาให้กับเยาวชนรุ่นน้อง ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมการทำงานในเวลาอันใกล้นี้ว่า “หัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ที่ค้นพบคือ การตัดสินใจที่มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว พยายามค้นหาว่าตัวเองทำอะไรได้ดีแล้วทดลองทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องลังเล หรือกลัวจะเสียเวลา ไม่กลัวที่จะล้มเหลวเพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า สิ่งที่คิดว่าตนเองชอบนั้นอาจจะไม่ใช่วิถีทางอันเหมาะสมที่จะก้าวไป และต้องไม่ลืมที่จะเก็บเกี่ยวการตัดสินใจในอดีตมาเป็นประสบการณ์ สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ต้องไม่หลอกตัวเอง หรือจำกัดความคิดของตัวเองไปที่การรักหรือสนใจงานอะไรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นธรรมดาที่ทุกๆ 5 หรือ 10 ปี เมื่อเราโตขึ้น ความสนใจและแรงบันดาลใจของเราก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย” และ ชาร์ลี คือหนึ่งในสองของวิทยากรผู้มาร่วมแชร์ประสบการณ์และมุมมองทางความคิด ใน bi-weekly meeting ครั้งที่ 1 ของกิจกรรม Career Launcher ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพให้กับ นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมทักษะ และความพร้อมก่อนเข้าสู่วงจรสายอาชีพ

(วิน) วารินทร์ จรรยาภรณ์พงษ์,(ชาร์ลี) ชาลี วิทยชำนาญกุล

 

เรื่องของ “วิน” และงานสายศิลป์ที่ตามหา

อีกหนึ่งผู้แบ่งปัน ชื่อว่า “วิน” วารินทร์ จรรยาภรณ์พงษ์ Interior designer ดีกรีศิษย์เก่าเตรียมอุดม สายวิทย์หัวไบรท์ แต่จิตใจฝักใฝ่ศิลปะ, เกม และการ์ตูนฯลฯ เดิมเลย วิน สมัยมัธยมมีความคิดที่เชื่อแค่ว่า ศิลปะเป็นได้แค่งานอดิเรกตามสไตล์เด็กสายวิทย์ “วิน” เฝ้าหาคำตอบตลอดช่วงมัธยมปลายว่าควรจะเลือกคณะอะไรดี ระหว่างวิศวะฯ สาขาคอมพิวเตอร์ เพราะคิดว่าตัวเองชอบเล่นเกมการเรียนคอมพ์ฯ คงไปกันได้ แต่อีกใจก็ลังเลอยากเลือกเรียน สถาปัตย์ฯ เพราะสนใจการออกแบบและงานตกแต่งภายใน เผื่อจะมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะหากได้เรียนในสาขาอาชีพดังกล่าว 

และแล้วเมื่อถึงเวลา สิ่งที่ “วิน” เลือกคว้าไว้ คือการเป็นนักศึกษา BBA International Program คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะคิดว่าบริหารธุรกิจสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลาย ระหว่างเรียน เขาติด F วิชาไฟแนนซ์ ทำให้รู้ทันทีว่าตัวเองไม่ชอบสายการเงินอย่างแน่นอน วินหันกลับมาสำรวจตัวตนของตัวเองอีกครั้งด้วยการค้นคว้าตำรา How To ต่างๆ โดยให้คุณค่าไปกับสิ่งที่เขาชอบและสามารถทำได้เป็นอย่างดี อะไรที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากเท่าที่ควร จนกระทั่งค้นพบอยู่ 2 สิ่ง นั่นคือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและการวาดรูป 

เมื่อจบบริหารธุรกิจ เขาตัดสินใจไปศึกษาสาขา Interior Design ที่ประเทศอังกฤษในทันที โดยสรุปแล้ว “วิน” ใช้เวลารวม 8 ปีกับดีกรีปริญญาตรี 2 ใบ สถาปัตย์ฯ จาก Leeds University และ BBA จาก ม.ธรรมศาสตร์ เป็นแรงส่งที่ทำให้” วิน” ในปัจจุบันคือ ผู้ก่อตั้ง Varin Interior Design โดย “วิน” คือหนึ่งในวิทยากรผู้มาร่วมแบ่งปัน ประสบการณ์ในการค้นหาสิ่งที่เรียกว่า งานที่ชอบ และอาชีพที่ใช่ “เขาบอกเล่ากับน้องๆ ในกิจกรรม Career Launcher ว่า “ไม่เคยมองว่าเป็นการเสียเวลาในชีวิตกับการเรียนปริญญาตรีถึง 2 ครั้ง แต่คิดว่ามันคือประสบการณ์ที่มีคุณค่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ขีดความสามารถของเราในขณะนั้นจะเอื้ออำนวย และช่วยนำพาเราไปยังเป้าหมายในแต่ละจุดที่ได้ตั้งเอาไว้” 

เรื่องราวทั้งสอง ของสองวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันอย่างเป็นกันเองในเวิร์คช็อป bi-weekly meeting ซึ่ง CareerVisa Thailand เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบอกเล่าพูดคุยประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทาง และไกด์แนวทางให้กับน้องๆ ในการออกแบบอนาคตและเลือกเส้นทางสายอาชีพบนแนวคิด “งานที่ชอบ และ อาชีพที่ใช่” ด้วยหวังว่าจะเป็นเหมือนปุ่ม “ทางลัด” บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้น้องๆ นิสิตนักศึกษารุ่นหลังๆ ที่คิดว่าตนเองกำลัง “หลงทาง” ได้ “คลิก” เพื่อเก็บเกี่ยวเอาหลักคิดหรือมีส่วนช่วยจุดประกายการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น 

(เอ็ม) ธีรยา ธีรนาคนาท

 

CareerVisa Thailand , More than Start-up : Social Enterprise Start-up

เมื่อเรียนรู้งานด้านที่คิดว่า “ใช่” จนอิ่มตัว และ “แน่ใจว่า ไม่ใช่”

Career Launcher คือโครงการพัฒนาศักยภาพในด้านอาชีพทั้งในและนอกองค์กร เป้าหมายสำคัญคือการมุ่งเสริมทักษะและประสบการณ์จริงให้กับนิสิตนักศึกษาที่มีความต้องการพัฒนาตนเอง ทั้งที่อยากเป็นผู้ประกอบการและการเข้าทำงานกับองค์กรชั้นนำที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้ โดยโครงการกำหนดระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยเริ่มจากการ (1) อบรมเวิร์คช็อป เพื่อปูพื้นฐานด้านทักษะสำคัญ ใน 6 ด้าน ผ่านกรณีศึกษาทางธุรกิจเป็นระยะเวลา 4 วัน จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสใน (2) การฝึกงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่เรียกว่า “Project-Based Internship” เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยในระหว่างนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ จะมีการพบปะพูดคุยกันในหัวข้อที่กำหนด (Bi-weekly meeting) โดยมีผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพต่างๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์อย่างใกล้ชิด เหมือนกรณีอย่างเช่น “พี่ชาร์ลี และ พี่วิน” ในเรื่องราวข้างต้น ในขณะเดียวกันน้องๆ ผู้ร่วมโครงการก็จะมีพี่เลี้ยงที่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ และบทปิดท้ายด้วย (3) Networking Party ซึ่งเวทีนี้นี่เองที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้รวมทั้งทักษะที่ได้พัฒนา และประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการ Career Launcher รวมถึงแนวความคิดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพที่สั่งสมมาให้กับแขกผู้มีเกียรติจากองค์กรและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชั้นนำ ทั้งหมดตั้งเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาตัวเองขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 2 เดือน

“อยากให้มองเราเป็น Social Enterprise มากกว่าเป็นธุรกิจทั่วๆ ไป” เอ็ม ธีรยา ธีรนาคนาท หนึ่งใน Co-founder และ COO แห่งบริษัท แคเรียร์วีซ่า (ประเทศไทย) จำกัด เกริ่นยิ้มๆ กับ MBA ด้วยความเป็นมิตรและกระตือรือร้นอยู่ในที

แรกเริ่มเดิมที บทบาทของเอ็มที่ Career Visa Thailand นั้นมาจากอาการ “หลงทาง” ในเส้นทางอาชีพของตัวเอ็มเองเช่นกัน แม้จะตั้งธงไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องเป็น CEO ขององค์กรชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ และรู้ว่าตัวเองเอาดีกับงานด้านการเงินได้ แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตัวเธอมีความสุขเมื่อต้องทำงานเหล่านั้นซ้ำๆ วนเวียนอยู่ทุกวัน และเมื่อเธอได้มีโอกาสไปศึกษาและจบโท MBA ที่ Kellogg University ที่อเมริกา สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้เปิดให้เห็นถึงประสบการณ์ใหม่ๆ และมองออกถึงช่องว่างในรอยต่อของสิ่งที่หายไปจากระบบการศึกษาในบ้านเกิด และนั่นคือจุดประกายที่มองเห็น “ความจำเป็น” จนกลายเป็น CareerVisa Thailand ในเวลาต่อมา 

เอ็ม ร่วมกับพิณ และเพื่อนในรุ่นก่อตั้งอีก 1 คน ร่วมผลักดัน CareerVisa Thailand บนแนวคิด กิจการเพื่อสังคม โดยทั้งสามได้ช่วยกันกำหนดทิศทางการของกิจการ โดยเฉพาะโปรแกรมฝึกอบรม ที่ตั้งเป็น “ธง” ของธุรกิจ ด้วยแนวคิดว่าต้องกระชับและคัดสรรเฉพาะเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อการพัฒนาความคิดและเอื้อต่อการสร้างสรรค์ต่อยอดให้มากที่สุด 

หลักสูตรของ CareerVisa ที่ทั้งสามร่วมกันดีไซน์และสร้างขึ้นมา ได้รับการตอบรับหลังนำเสนอไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีก 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำ หลังพิจารณาถึงสาระของเนื้อหา ทางคณาจารย์ผู้พิจารณาได้ดำเนินการบรรจุให้เป็นวิชาเลือกของภาคบังคับอย่างไม่ช้านาน นอกจากนี้ในภาคเอกชน ได้มีองค์กรชั้นนำที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาก่อนที่จะเรียนจบและก้าวเข้าสู่สังคมการทำงาน ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโดยผ่านรูปแบบของโครงการ CSR ที่มีความต่อเนื่องและมุ่งเน้นประสิทธิผลในการเข้าอบรมเป็นสำคัญ

“ด้วยสภาพสังคมในบ้านเราที่ต่างรู้กันดีว่าเด็กไทยส่วนมากมีค่านิยมมุ่งเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ รวมทั้งการแนะแนวทางการศึกษาในบ้านเรายังมีความจำกัด ทำให้เด็กค่อนข้างลำบากในการมองภาพรวมของอาชีพที่เป็นไปได้ บางสาขาที่นักศึกษาเข้าเรียนนั้นมีอัตราการว่างงานสูงมากๆ แต่เด็กยังไม่ทราบ ว่าถ้าเรียนจบออกมาแล้วต้องการจะมุ่งไปทางไหนและยังหลงทางว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดของอาชีพที่ตนเองมุ่งหวัง“

 “เราอยากให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสค้นหาและออกแบบอาชีพที่ใช่สำหรับตัวเอง แล้วเขาจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าเขายังขาดอะไร จึงต้องการมาเสริมทักษะและประสบการณ์ตรงนี้ เราเริ่มบิวด์ให้น้องๆ ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อตอบโจทย์ Lifestyle & Value ของแต่ละคนอย่างแท้จริง” 

เรายังอยากกระตุ้นให้น้องๆ มีแรงบันดาลใจที่ดีเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยที่น้องๆ เหล่านั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเป็นสตาร์ทอัพ เพราะองค์กรไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็ต้องการคนในลักษณะนี้เช่นกัน มันเป็นสิ่งที่ดีต่อองค์กรด้วย ธีรยาเล่าถึงความตั้งใจที่แท้จริงในการก่อตั้ง Career Visa Thailand

เพราะโลกหมุนเร็วและเปลี่ยนเร็วมาก เวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งเหนือคู่แข่ง เพราะเป็นไปได้ที่ เมื่อเรียนจบหลัง 4 ปีผ่านไป สิ่งที่เรียนมาก็อาจจะยังไม่พอ เพราะโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา Career Visa Thailand ไม่ได้ต้องการเป็นเพียงคนนำทางให้เด็กหลงทางได้พบทางออก แต่เรายินดีเป็นพี่เลี้ยงที่คอยเดินนำและประกบอยู่ใกล้ๆ และจะคอยส่งเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อให้น้องได้ทดลองใช้เครื่องมืออย่างถูกต้อง-เต็มศักยภาพ-ในเวลาที่เหมาะสม จนสามารถที่ก้าวไปพบ “งานที่ชอบ และอาชีพที่ใช่ “ในที่สุด 

 

หากพลิกดูหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ชาวโลกต่างขนานนามให้ว่าเป็น ดินแดนอาทิตย์อุทัย แห่งนี้ จะพบว่า หนึ่งในวิถีการปฏิบัติตนที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือและผูกพันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอย่างแยกไม่ออก

นั่นคือ วิถีแห่งนักรบ หรือ บูชิโด (The Way of Warrior) อันมี “นักรบ” ผู้ขนานนามตัวเองว่า “ซามูไร” ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อรับใช้องค์จักรพรรดิ ด้วยความจงรักภักดีตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเหล่านักรบซามูไร ได้ถูกพรากไป

เมื่อแปลความหมายเป็นรายคำ บูชิ แปลว่า นักรบ ส่วน โด มีความหมายว่า วิถีทาง หลักปฏิบัตินี้จึงเป็นหัวใจของชายชาติ “นักรบ” มาตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุคศักดินา อันมี ไดเมียว หรือ โกะเกะนิน (Gokenin) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ซึ่งชนชั้นสูงเหล่านี้ต่างก็มี นักรบ ผู้ถือหลักปฏิบัติ บูชิโด เป็นผู้คอยรับใช้ โดยเรียกว่า ซะบุระฮิ (Saburahi) เพื่อสื่อความหมายว่า เพื่อรับใช้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำเรียกชื่อคุ้นหูอย่าง “ซามูไร” ในเวลาต่อมา

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไร หรือ Samurai Spirit ให้ถ่องแท้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจหลักปฏิบัติ บูชิโด ก่อน ตั้งแต่ฐานรากและที่มา โดยหลักปฏิบัติบูชิโด เป็นหลักสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน ช่วงศตวรรษที่ 9-12 และดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ซึ่งหลักใหญ่ใจความของ บูชิโด มาจากคำสอนของลัทธิขงจื๊อ ผสมผสานด้วยอิทธิพลคำสอนในศาสนาชินโต พุทธศาสนา นิกายเซน และลัทธิเต๋า เพื่อชี้แนะแนวทางในการใช้ชีวิตของซามูไรทุกคนให้ดำรงอยู่ด้วยความสงบเยือกเย็น มีปัญญา ซามูไรทุกคนสมควรต้องเก็บทุกอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่า จะรัก โกรธ เจ็บปวด ไว้ภายใต้ใบหน้าที่สงบนิ่งเรียบเฉย แสดงออกมาได้แต่ความเข้มแข็งและหาญกล้าตามวิถีนักรบเท่านั้น

ดั่งที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า บูชิโด เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของแนวคิดแห่งคุณธรรมทั้ง 5 แหล่งที่มา ขอขยายความให้เข้าใจดังนี้

ลัทธิเต๋า มีหลักคำสอนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อันมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานอยู่ที่การประสาน 2 สิ่งของธรรมชาติที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่าง หยิน พลังลบสีดำ และ หยาง พลังบวกสีแดง

นิกายเซน ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน มีคำสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า

มุ่งเน้นการฝึกตนด้วยการนั่งสมาธิจนรู้แจ้ง เซน ถือเป็นพุทธปรัชญาที่ชาวญี่ปุ่นน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อย เห็นได้ชัดจาก พิธีชงชา หรือ ซะโด และศิลปะการจัดดอกไม้ “อิเคะบะนะ” เป็นต้น

ศาสนาพุทธ เป็นคำสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับนิกายเซน ชี้ทางให้เหล่านักรบเข้าใจในกฎของธรรมชาติ มองเห็นความเป็นจริงในชีวิตว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ซามูไรที่ปฏิบัติตามหลัก บูชิโด จึงไม่เกรงกลัวกับอันตรายและความตายใดๆ หากความตายนั้นจะเป็นไปเพื่อปกปักรักษาแผ่นดินและองค์จักรพรรดิที่พวกเขาเคารพยิ่งชีพ

ศาสนาชินโต เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ และความรักต่อสิ่งมีชีวิต

ทั้งมวล คำสอนของศาสนาชินโตบ่มเพาะให้ชายชาตินักรบรักชาติ จงรักภักดีกับเจ้านาย บูชาบรรพบุรุษ และเคารพนับถือจักรพรรดิดุจพระเจ้า

ลัทธิขงจื๊อ มุ่งเน้นสอนสั่งในคุณธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติเรื่อง ความเป็นธรรม การมีเมตตา โดยขงจื๊อ ให้ใส่ใจมีคุณธรรมกับความสัมพันธ์ 5 ประการ ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง สามีกับภรรยา พ่อกับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน

อิทธิพลของหลักธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดนี้ นำสู่บทสรุปเป็น คุณสมบัติสำคัญ 7 ประการ ที่เหล่าซามูไรต้องยึดถือปฏิบัติ

  1. Gi – ความถูกต้อง ความยุติธรรม และซื่อสัตย์สุจริต
  2. Yu  – ความกล้าหาญอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ
  3. Jin – มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่
  4. Rei – ความนับถือซึ่งกันและกัน ความสุภาพ
  5. Makoto – ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง
  6. Meiyo  – เกียรติยศ ความมีเกียรติ
  7. Chugi – ความจงรักภักดี

นอกเหนือจาก 7 ข้อแล้ว ยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่

  1. Ko – ความกตัญญู
  2. Chi – การมีสติปัญญาเฉียบแหลม
  3. Tei – การดูแลสุขภาพตนเองทั้งกายและใจ รวมถึงสุขภาพของครอบครัวของตนทุกคนด้วย

การถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติ บูชิโด ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่เป็นการปลูกฝังและสั่งสมสืบต่อกันมาทางสายเลือดนักรบซามูไรจากรุ่นสู่รุ่น วิถีนักรบ บูชิโด และจิตวิญญาณของซามูไร Samurai Spirit จึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั่วทั้งญี่ปุ่น เป็นบทพิสูจน์ว่า บูชิโด ไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการล่มสลายของ ซามูไร เรายังคงพบหลักคำสอนของบูชิโด หยั่งรากลึกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย ในศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่น รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทบทุกบริษัทด้วย

ไล่เรียงมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้แก่สงคราม ประเทศชาติเฉียดเข้าใกล้ “ความล่มสลาย” และในช่วงเวลานี้เองที่ชาวญี่ปุ่นได้ก้าวผ่านโมงยามแห่งความย่ำแย่ด้วยการปฏิบัติตามวิถีบูชิโดอย่างเข้มข้น

ก่อเกิดนักรบบูชิโดยุคกู้ชาติ เป็นนักรบธุรกิจ ที่ปรับเอาหลักปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจให้มั่นคงด้วยการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่ โดยนักรบธุรกิจทุกคน จะยึดถือในศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์อย่างที่สุด ความแข็งขันและความร่วมมือของคนทั้งชาติด้วยจิตวิญญาณซามูไรในครั้งนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ใครจะคาดคิด เพียง 60 ปีให้หลังประเทศญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะประเทศทรงอำนาจที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างภาคภูมิ

มาในปี 2011 เชื่อว่าภาพของความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น ยังคงเป็นที่จดจำและสร้างความหดหู่ สะเทือนใจ ให้แก่ผู้พบเห็นทั่วโลก ณ เวลานั้น ชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากมหันตภัยต้องเสียขวัญและเผชิญกับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส หากแต่ภาพต่อมาที่ชาวโลกได้เห็น คือการก้มหน้ายอมรับสภาวะวิกฤตนั้น โดยไม่แสดงอาการตื่นตระหนก ไม่แสดงความอ่อนแอ ไม่แม้แต่จะกล่าวโทษธรรมชาติ โชคชะตา หากแต่ ผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นกลับฉายภาพของความเอื้ออาทร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือกัน ไม่มีภาพการแย่งซื้อข้าวของหรือรับของบริจาคให้เห็น มีแต่ภาพของผู้ประสบภัยที่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอรับของบริจาคและซื้อข้าวของจำเป็นในการดำรงชีวิตแค่พอใช้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นแสดงให้โลกเห็นว่า การรับมือกับปัญหาด้วยหลักปฏิบัติ บูชิโด วิถีแห่งนักรบซามูไร นั้น ทำให้พวกเขารอดพ้นและก้าวผ่านวิกฤต กระทั่งสามารถฟื้นฟูเมืองได้ในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร

มาถึงการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน เปรียบไปนักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่นก็แค่เพียง วางดาบ เอาอาวุธ เอาเสื้อเกราะของซามูไรออก แล้วแทนที่ด้วย คอมพิวเตอร์ ต่อสู้กันผ่าน กลยุทธ์การตลาด ผลิตภัณฑ์ ไอเดียทำธุรกิจหรือการให้บริการเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน แต่ในยามที่ว่างเว้นจากการศึก การรบ เหล่าซามูไรก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ใช้เวลานั้นฝึกฝนวิชายุทธ์ ดูแลรักษาสุขภาพกาย ใจ เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อสู้ครั้งต่อไปอยู่ตลอดเวลา เช่นกันกับการทำธุรกิจ เมื่อว่างเว้นจากการแข่งขันก็เป็นเวลาของการศึกษา เตรียมพร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่เพื่อตีตลาด สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและมีชัยเหนือคู่แข่งนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่เกินจริงเลย หากจะกล่าวว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด ล้วนประสบความสำเร็จได้ด้วยการปรับเอาแนวทางปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทเหล่านั้นต่างเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหูใครหลายคนอย่าง พานาโซนิค เคียวเซรา อิโตชู ไปจนถึง โตโยต้า ด้วยวิถีการทำธุรกิจที่อิงกับหลักบูชิโด ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม มนุษยธรรม รวมไปถึงมีความซื่อสัตย์ ทำให้การทำธุรกิจของคนตะวันออกอย่างญี่ปุ่น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำธุรกิจแบบคนในซีกโลกตะวันตก ที่มุ่งเน้นผลกำไรและผลประโยชน์มาเป็นลำดับต้นๆ

ตัวอย่างที่อินเทรนด์ และแสดงให้เห็นได้ชัดถึงวิถีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออกในแบบญี่ปุ่นอย่างมาก นั่นคือ เรื่องราวของการทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในการทำธุรกิจปัจจุบัน กับแนวคิดที่ถ่ายทอดมาจากโลกตะวันตก ที่กำหนดว่า การทำธุรกิจให้ได้ผลกำไร นอกจากจะเพื่อความรุ่งโรจน์ของเจ้าของกิจการ บริษัทและพนักงานแล้ว ยังเป็นไปเพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสในการแบ่งปันคืนกลับไปให้สังคมบ้าง ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากรูปแบบ ฟังดูแล้วแนวคิดนี้ดูจะเป็นแนวคิดใหม่ที่แสดงถึงความตั้งใจดีไม่น้อย หากแต่สำหรับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น แนวคิดนี้บอกได้เลยว่าไม่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะแทบทุกบริษัท ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผลกำไร ก็ต่างดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม ชุมชน ประเทศชาติมาเป็นเวลานานอยู่แล้ว เช่น หลายบริษัทมีข้อกำหนดชัดเจนว่า เมื่อไปขยายสาขา ตั้งโรงงานในเมืองไหน ให้เปิดโอกาสให้คนพื้นถิ่น หรือคนในชุมชนมาสมัครทำงานได้ก่อน ด้วยวัตถุประสงค์อยากสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วไม่ต่างอะไรกับการทำกิจกรรมตอบแทนสังคมในบริบทของทางฟากฝั่งตะวันตกเลย

ถึงตอนนี้ เราอยู่ในยุค Digital Economy ที่การทำธุรกิจดำเนินไปได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น นักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่น ก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักบูชิโด ด้วยจิตวิญญาณแห่งซามูไรอย่างเคร่งครัด และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้องค์กรธุรกิจญี่ปุ่นยังคงรักษาพื้นที่ได้อยู่ในแถวหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

‘ลา บูทีคส์’ (La Boutique) แบรนด์แฟชั่นไทยอันเกิดจากความตั้งใจของครีเอทีฟไดเรคเตอร์มากฝีมือ “โต-พัชรวัฒน์ ตระกาลสันติกูล” ผู้ใส่ใจในรายละเอียดและความต้องการของผู้หญิงเป็นสำคัญ ลา บูทีคส์ (La Boutique) นับเป็นวูแมนแวร์ (Womanswear) ระดับไฮเอนด์ที่มีความนิยมอย่างมากในหมู่สาวๆ เมืองไทยและเอเชีย

เบื้องหลังความสำเร็จอย่างท่วมท้นนี้เกิดจากแนวความคิดของแบรนด์ที่หยิบยกงานดีไซน์คลาสสิกในช่วงเวลาต่างๆ มาปัดฝุ่นออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันในรูปแบบการตัดเย็บแพทเทิร์นเฉพาะตัวอันเป็นซิกเนเจอร์ของลา บู ทีคส์ เอง ซึ่ง “โต” ได้ให้คำนิยามแฟชั่นแบบ ลา บู ทีคส์ ว่า New Vintage

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นหัวใจในการรังสรรค์แฟชั่นในแบบ ลา บูทีคส์ คือ ความเข้าใจของ “โต” ในฐานะนักออกแบบว่าการสร้างแฟชั่นแบรนด์และแฟชั่นไอเทมนั้นแตกต่างกัน แฟชั่นนั้นเกิดจากส่วนผสมอันลงตัวของเส้นสาย (Line), รูปร่าง รูปทรง (Shape and Form), สี (Colour), ผิวสัมผัส (Texture) และแพทเทิร์น (Pattern) ในขณะที่การสร้างแบรนด์แฟชั่นให้ประสบความสำเร็จนั้น “โต” รู้ดีว่าตลาดเมืองไทยและตลาดเอเชียนั้นความต้องการของผู้บริโภคสุภาพสตรีแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับลักษณะตลาดแฟชั่นในฝั่งยุโรปหรืออเมริกาและการบริหารแบรนด์ของดีไซเนอร์เลเบล (Designer Label) ของไทยต้องมีแนวทางที่ชัดเจนโดดเด่น (Be Bold) และแตกต่าง (Differentiation) เป็นไฮบริด (Hybrid) ระหว่างแฟชั่นชั้นสูงและแมสมาร์เก็ต (Mass Market) เพื่อสร้างคุณค่าในจิตใจผู้บริโภคและตัวตนของแบรนด์ผ่านขั้นตอนการผลิตของช่างฝีมืออันประณีต เหตุนี้เองที่ทำให้แบรนด์ ลา บูทีคส์ เติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียงข้ามปี

เมื่อกล่าวถึงตลาดเอเชียความสำเร็จของลา บูทีคส์นั้นมีให้เห็นในหลายประเทศอย่างเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และโดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังการซื้อมหาศาลอย่างจีน ลา บูทีคส์ ถือได้ว่าเป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่สาวๆ ชาวจีนคลั่งไคล้ถามหามากที่สุด ฮันเตอร์ (Hunter) ชาวจีนต่างบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจับจองเสื้อผ้าของลา บูทีคส์ไปให้ลูกค้าที่นั่น ไม่เพียงแต่ในโลกของการซื้อขายหน้าร้านเท่านั้น แต่ในโลกออนไลน์ ลา บูทีคส์ ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม (Social Media Platform) ที่ประเทศจีน เซเลบริตี้สาวต่างพาเหรดกันใส่ชุดของลา บูทีคส์อวดโฉมผ่านสื่ออันนำมาถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่นั่น

แม้ลา บูทีคส์ จะก้าวเดินในฐานะแบรนด์แฟชั่นสู่ขวบปีที่สามแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าสินค้าของแบรนด์เป็นที่ถูกตาต้องใจชาวจีนตั้งแต่เริ่มออกคอลเล็คชั่นแรกๆ เพราะคอนเซ็ปต์หลักที่ “โต” ยึดเป็นคติ คือ “Dress shabbily and they remember the dress; dress impeccably and they remember the woman” และ “Elegance is the only beauty that never fades” ดังนั้นเสื้อผ้าจากลา บูทีคส์ ทุกตัวจะถูกออกแบบเพื่อให้ผู้หญิงโดดเด่นออกมา (Stand out from the crowd) ด้วยการรังสรรค์ดีไซน์อันเป็นอัตลักษณ์ ประกอบกับแพทเทิร์นตัดเย็บอันเป็นซิกเนเจอร์เฉพาะตัวที่ลูกค้าชาวจีนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใส่แล้วทำให้รูปร่างดูดี เด่นเป็นสง่า ใส่แล้วคนรอบข้างถึงกับเหลียวหันมามอง “โต” กล่าวอย่างน่าสนใจไว้ว่า “ผู้หญิงเอเชียมีนิสัยที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวจีน ผู้หญิงมักจะให้ความสำคัญกับโอกาสต่างๆ ทำให้แฟชั่นเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการปรุงแต่งรูปลักษณ์ เสื้อผ้าลา บูทีคส์ ทุกตัวจึงเกิดจากไอเดียพื้นฐานในการสร้างให้ผู้หญิงทุกคนเป็นบุคคลสำคัญ” ซึ่งสอดคล้องกับความจริงของตลาดผู้บริโภคจีน ที่ความต้องการในสินค้าแฟชั่นถูกนำมาใช้เพื่อแสดงสถานะทางสังคม

อย่างไรก็ดีการศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนถือเป็นหัวใจของการออกแบบและสื่อสารแบรนด์ “เพราะถึงแม้ชาวจีนจะให้ความสำคัญ แต่ผู้หญิงมีหลายด้านทั้งด้านอ่อนโยน นุ่มนวล เข้มแข็ง ลึกลับ หรือเย้ายวน ดังนั้นเสื้อผ้าแฟชั่นต้องเป็นตัวช่วยให้ผู้หญิงสามารถสะท้อนบทบาทและอิมเมจเหล่านั้นออกมาได้อย่างสวยงาม ชาวเอเชียไม่เหมือนฝรั่งที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าแสดงออกการแต่งกายของแต่ละบุคคลมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ในขณะที่ฝั่งเอเชียผู้หญิงจะมีกรอบของสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นตัวกำหนด ทำให้ผู้หญิงหนึ่งคนมีหลายลุค ยกตัวอย่าง เวลาที่ฝรั่งแต่งตัวเซ็กซี่ เสื้อผ้าก็จะโชว์ความเย้ายวนของบอดี้ชัดเจน แต่ความหมายเซ็กซี่ของคนเอเชียจะไม่เป็นแบบนั้น เสื้อผ้าไหล่ปาดหรือโชว์แผ่นหลังเล็กน้อยก็ให้ความรู้สึกเซ็กซี่แล้ว อีกทั้งในความเซ็กซี่นั้นต้องแฝงรายละเอียดที่แสดงถึงความอ่อนหวานแบบผู้หญิงด้วย เพราะสังคมไทยและเอเชียไม่ได้เปิดกว้างแบบฝรั่ง ถ้าเรารู้และเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริงย่อมส่งผลให้การออกแบบประสบความสำเร็จและสินค้าเป็นที่ต้องการอีกด้วย” กล่าวคือ แผนทางการตลาดสินค้าแฟชั่นต้องสามารถแสดงอัตลักษณ์ (Brand Identity) บนพื้นฐานความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภค

      

เพราะการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนนำพามาซึ่งความมั่งคั่งของธุรกิจผู้บริโภคชาวจีนจึงต้องการแบรนด์และสินค้าที่สามารถแสดงฐานะทางสังคม เมื่อมีความเข้าใจเช่นนี้แล้วอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับแผนสื่อสารการตลาดเพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวจีนนั้น แบรนด์สินค้าแฟชั่นไฮเอนด์จำเป็นต้องถ่ายทอดเนื้อหาหัวใจของแบรนด์ (Brand Content) อันสะท้อนถึงคุณภาพ (High-quality) ออริจิน (Origin) และความแตกต่าง

เฉกเช่นคำพูดของ Kapferer and Bastien (2012) “In luxury, you communicate in order to create the dream and to recharge the brand’s value, not in order to sell. Luxury brand communication is situated far upstream of the purchase; the product and the brand universe are spoken of in a dreamlike way”. คือแนวคิดการสื่อสารที่แบรนด์ลักชัวรี่และไฮเอนด์ยึดถือ เช่นเดียวกับ ลา บูทีคส์ “โต” กล่าวอยู่เสมอว่า “สิ่งที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดในหมู่ชาวจีน คือ การขายฝันของผู้หญิงผ่านการดีไซน์เสื้อผ้า แบรนด์ลา บูทีคส์ เน้นการสื่อสารผ่าน Visual Communication เพื่อให้ผู้บริโภคนั้นมีจินตนาการ และแชร์ความฝันแบบลา บูทีคส์ร่วมกัน ดังนั้นหัวใจหลักของแบรนด์จึงเน้นการสร้างแบรนด์อิมเมจ”

นอกเหนือจากการออกแบบที่ตรงใจตลาดจีนและการสื่อสารแบบลักชัวรี่แล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์คือปริมาณของสินค้า ลา บูทีคส์ เชื่อว่าจำนวนสินค้าไม่ควรถูกผลิตออกมามากเกินไป เพราะถ้าสินค้ามีมากเกินไป ความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของและอยากเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์จะถูกทำลายลง แน่นอน Market Demand เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องการ แต่ถ้าเราป้อนสินค้าออกมาเพื่อสนองความต้องการของทุกคน ความกระหายในการครอบครองย่อมลดน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะตลาดจีนที่ผู้บริโภคต้องการความแตกต่างของสินค้าและแสดงสถานะผ่านคุณค่าของแบรนด์ เราจึงพยายามสร้างวงจรของกระบวนการบริโภคสินค้าคือ 1) Searching ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ลา บูทีคส์ 2) Waiting รอคอยสินค้าในแต่ละคอลเล็คชั่นเพราะเราผลิตออกมาในจำนวนจำกัด 3) Longing สร้างความปรารถนาอยากได้ในสินค้าของแบรนด์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ลา บูทีคส์ เป็นแบรนด์สัญชาติไทยเดียวที่ Hunter จากประเทศจีนต้องคอยบินมาอัพเดตและจับจองสินค้าให้ลูกค้าวี ไอพี อย่างสม่ำเสมอ

ถ้าจะกล่าวโดยสังเขป สินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนด์ของไทยที่ต้องการเจาะตลาดประเทศจีน การสร้างและรักษา Brand Positioning ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารและการตลาดนับเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักนอกเหนือจาก Emotional Value ที่บริโภครับรู้ได้จากการออกแบบ

เรื่อง : ดร.กรรวิภา เมธานันทกูล

จากการท่องเที่ยว ทีม MBA ได้รับคำเชิญชวนจากชาวชิซุโอะกะให้ไปดูการแข่งขันฟุตบอลในสนาม ยิ่งรู้ว่าชิซุโอะกะเป็นต้นกำเนิดของ กัปตันซึบาสะ การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังเกี่ยวกับเจ้าหนูสิงห์นักเตะ เราจะพลาดชมกีฬาบันดาลใจของชาวชิซุโอะกะได้อย่างไร!

ฟุตบอลที่มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์

ที่เมืองชิซุโอะกะ (ชื่อตอนก่อตั้งคือเมืองชิมิซุ) จังหวัดชิซุโอะกะมี ชิมิซุ เอสพัลส์ (Shimizu S-Pulse) เป็นสโมสรฟุตบอลชื่อดังของ J.League หรือการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากศูนย์ คือไม่มีเงินจากภาครัฐหรือเอกชนมาสนับสนุนในตอนก่อตั้ง แต่ชาวชิซุโอะกะนี่เองที่รวบรวมเงิน ผลักดันให้ก่อตั้งทีมฟุตบอลประจำท้องถิ่นสำเร็จในปี 1991 ตามความหมายของชื่อ Shimizu S-Pulse S ย่อมาจาก Soccer, Shimizu, Shizuoka Pulse มาจาก Heartbeat หมายถึง ชีพจร, จังหวะเต้นของหัวใจ ชื่อ Shimizu S-Pulse จึงสะท้อนความตื่นเต้น ความรักกีฬาฟุตบอลของชาวจังหวัดชิซุโอะกะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในท้องถิ่นตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

 

ดูบอลกับคนชิซุโอะกะ

“โอ่เล โอ่เล โอ่เล โอ๊เล... โอเล่ โอเล่!”

เสียงกึกก้องของกองเชียร์ที่ร้องเพลงเชียร์ กับเสียงนกหวีดที่เป่าเข้าจังหวะ และเสียงตีกลองตลอดการแข่งขัน สร้างความฮึกเหิมให้นักกีฬาในสนามและสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวชิซุโอกะได้ชัดเจนยิ่ง

ณ สนาม ไอเอไอ สเตเดียม นิฮงไดระ (IAI Stadium Nihondaira) ซึ่งจุผู้ชมได้ 20,000 ที่นั่ง ทีม MBA เข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชิมิซุ เอสพัลส์ จากชิซุโอะกะ กับทีมมาชิดะ เซลเวีย (Machida Zelvia) จากโตเกียว 

ผู้ชมจำนวนมากสวมเสื้อสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำทีมชิมิซุ เอสพัลส์ และส่วนน้อยที่เป็นสีน้ำเงิน สีประจำทีมของมาชิดะ เซลเวีย เนื่องจากวัฒนธรรมการดูฟุตบอลของคนที่นี่จะสวมสีเสื้อตามทีมที่เชียร์ที่ชอบ ดังนั้นเราจะเห็นเสื้อสองสีหลักๆ ปรากฏในสนาม 

ในวันที่มีการแข่งขัน รอบนอกของสนามจะมีการออกร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่มีโลโก้ทีม เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ หมวก มือตบ พวงกุญแจที่มีรูปโลโก้ชิมิซุ เอสพัลส์ โดยสินค้าบางส่วนจะมีแบรนด์ของสปอนเซอร์ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนทีมในปัจจุบันปรากฏอยู่ เช่น Suzuyo บริษัทโลจิสติกส์, JAL สายการบินเจแปนแอร์ไลน์, Puma แบรนด์อุปกรณ์กีฬา 

 

แมตช์นี้ดุเดือดในบางช่วง แต่ในที่สุด ชิมิซุ เอสพัลส์ ก็เอาชนะมาชิดะ เซลเวีย ไปด้วยสกอร์ 2-0

 
ชิมิซุ เอสพัลส์ 

ทีมที่ไม่ต้องบอกรัก แต่คนรักมาก

“ชิซุโอะกะ เป็นเมืองของฟุตบอล ฟุตบอลเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนทำให้เกิด” Ayabe Michie, Councilor, Japan Football Association (JFA) กล่าว

ปกติทีมฟุตบอลทีมอื่นจะมีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทใหญ่ เช่น ทีมฟุตบอลในไอชิมีผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็นโตโยต้า เพราะโตโยต้าเกิดที่จังหวัดไอชิ และศูนย์กลางทั้งหมดทั้งมวลของโตโยต้าตั้งอยู่ที่นั่น แต่ทีมฟุตบอลเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ อย่างชิมิซุ เอสพัลส์ ไม่เหมือนทีมอื่น เพราะผู้สนับสนุนของทีมชิมิซุ เอสพัลส์เป็นหลัก คือ ประชาชนในจังหวัด ซึ่งพร้อมใจมอบเงินส่วนตัวเพื่อสนับสนุนทีมฟุตบอลประจำจังหวัดด้วยใจที่อยากช่วยเหลือและส่งเสริมกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่นให้อยู่คู่จังหวัด ทำให้ความผูกพันของประชาชนและทีมฟุตบอลเหนียวแน่นและมั่นคง

และแม้ว่าจะมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนชิมิซุ เอสพัลส์ เช่น ซูซูโย (Suzuyo), เจแปน แอร์ไลน์​ (Japan Airlines) แต่ชาวชิซุโอะกะกับทีมนักฟุตบอลก็ยังรักกันเหนียวแน่นเช่นเดิมไม่แปรเปลี่ยน 

รางวัลแห่งเกียรติยศ (Club Honor) ที่ชิมิซุเอสพัลส์ ได้รับและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวชิซุโอะกะ ได้แก่

• J. League : 1999 (2nd stage) 

• J. League Yamazaki-Nabisco Cup (League Cup) : 1996 

• Xerox super cup : 2001, 2002 

• Emperor’s Cup : 2001 

• Asian Cup Winners’ Cup : 1999/2000

 

Charming of Symbols

ที่ขอบสนาม เราจะได้เห็นเชียร์ลีดเดอร์และมาสคอต ปรากฏตัวเป็นระยะ โดยเชียร์ลีดเดอร์สาวของทีมชิมิซุ เอสพัลส์ มาในชุดสีส้มขาว ดูสดใส ทะมัดทะแมง คล่องตัว และเต้นพร้อมเพรียงกันมาก

 

ส่วนสองมาสคอตใบหน้ายิ้มร่าแสนน่ารัก ก็เดินทักทายผู้คนรอบสนาม ได้แก่ มาสคอตหนุ่มชื่อ พัลจัง (Pulchan) หรือ พัล (Pul) เป็นตัวแทนของนักกีฬาที่เกิดมากับความทันสมัย มีเสน่ห์ มีพลัง มีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ว่องไว แข็งแกร่ง และชาญฉลาด ส่วนมาสคอตสาวชื่อ พิคัล (Pical) เป็นตัวแทนของดวงดาวที่ส่องสว่าง สดใส ซึ่งคำว่า Star ของคนญี่ปุ่น มีความหมายโดยนัยว่า Victory หรือ ชัยชนะ พิคัลจึงเปรียบได้กับนางฟ้าที่อวยพรให้ทีมชิมิซุ เอสพัลส์ ได้ชัยชนะมาครอง

ยุทธจักร มีเดีย/เอ็นเตอร์เทนเมนต์มีจอมยุทธยอดฝีมืออยู่ไม่น้อย ที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการ และร่วมฝ่าคลื่นฝืนลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงอย่างกระแทกกระทั้น เพราะเนื่องมาแต่ Paradigm Shift ของเทคโนโลยีระดับโลกและพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้คนอยู่ในขณะนี้ 

หากยุคก่อนหน้า เป็นยุคของเจ้ายุทธจักรอย่าง ประวิทย์ มาลีนนท์ และผองพี่น้อง แห่งสำนักหมายเลข 3 หรือ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ และ กฤตย์ รัตนรักษ์ แห่งสำนักหมายเลข 7 และ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งสำนักแกรมมี่แล้วไซร้ ยุคนี้ ย่อมเป็นยุคของ ปัญญา นิรันดร์กุล เจ้าสำนักเวิร์คพอยท์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ช่องโทรทัศน์ของเขา เพิ่งจะครองเรตติงอันดับ 1 ทั่วประเทศ เหนือกว่าเจ้ายุทธจักรทั้ง 3 และ 7 ไปแล้ว และทำท่าว่าจะหยุดไม่อยู่ ราคาหุ้นของกิจการเขาก็สะท้อนถึงอัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพของการดำเนินงานได้ดีกว่าคู่แข่งขัน Market Capitalization ของเวิร์คพอยท์ ปัจจุบันมากกว่าแกรมมี่เกือบสามเท่าตัว และกำลังไล่กวดช่อง 3 (BEC World) มาอย่างน่าสนใจยิ่ง ปัญญา นิรันดร์กุล ตัดสินใจถูกแล้วที่ร่วมประมูล
ทีวีดิจิทัล

สำหรับนักลงทุนและเจ้าของกิจการมีเดีย/เอ็นเตอร์เทนเมนต์ส่วนใหญ่ ทีวีดิจิทัล คือทุกขลาภ แต่สำหรับปัญญา เขาสามารถพลิกสถานการณ์ให้มันกลายเป็น “ลาภก้อนใหญ่” เสมือนหนึ่งสปริงบอร์ด ให้เขาเด้งขึ้นมายืนอยู่หัวแถวของอุตสาหกรรมได้ในขณะนี้

บุคลิกของปัญญา เป็นคนอารมณ์ดี ขี้เล่น และอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าถึงง่าย แม้ตอนนี้เขาจะเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปแล้วก็ตาม ทว่าภาพของความเป็นนักธุรกิจหรือไทคูนของเขานั้น เบาบางกว่าไทคูนอื่นๆ มากมายนัก

ความสำเร็จของปัญญา มาจากทีมงานที่เก่งและเหนียวแน่น

ประภาส ชลศรานนท์ คือสมองซีกขวาของเขา ประภาส เป็นปัญญาชน แต่มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการตลาดสูง เขาเป็นคนอ่านหนังสือมาก เข้าใจอะไรใหม่ๆ และยากๆ ทว่าสามารถสื่อสารเป็นภาษาหรือ Image ง่ายๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจและสนุกไปกับความคิดเหล่านั้นได้ จึงไม่แปลกที่เวิร์คพอยท์จะเด่นในเรื่องนี้ ประภาส เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่ฝันจะเดินทางนั้น ทำให้เวิร์คพอยท์สามารถ Recruit ทีมเสือได้ไม่ยากเย็นเกินไปนัก ประภาสนับเป็นเสาหลักในด้านครีเอทีฟให้ปัญญา เหมือนกับที่ เรวัต พุทธินันทน์ เคยเป็นให้กับ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

การควบคุมกองหลังอย่างแข็งแกร่งของประภาส ช่วยให้ปัญญาสามารถทุ่มเทกับงานหน้าฉากได้เต็มที่โดยไม่ต้องพะว้าพะวัง เขาทั้งสองคือ Key Success Factor ของเวิร์คพอยท์ หากขาดใครคนใดคนหนึ่งหรือวันใดที่ทั้งคู่แตกกันวันนั้นย่อมเป็นจุดเริ่มต้นหายนะของเวิร์คพอยท์

กองหน้าของเวิร์คพอยท์ล้วนแต่มีความสามารถและมี Loyalty ไม่ว่าจะเป็นดาราตลกอย่าง หม่ำ เท่ง โหน่ง ตุ๊กกี้ และบรรดาพิธีกรรายการยอดฮิตทั้งหลาย ภาพยนตร์และโชว์ที่คนเหล่านี้แสดงเป็นตัวหลัก ล้วนมีเอกลักษณ์ ไม่ลอกฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี อีกทั้งทีมข่าวของเวิร์คพอยท์ก็เริ่มฉายแววขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง

Challenge ของปัญญาและเวิร์คพอยท์ยังมีอีกมาก แต่ที่สำคัญคือจะทำยังไงให้ Momentum แห่งความสำเร็จนี้ ยังคงวิ่งต่อไปด้วยความหนักแน่น มั่นคง และสปีดไม่ตก คำตอบน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ขององค์กร

จุดอ่อนของปัญญาและเวิร์คพอยท์คือการผูกพันรายได้ไว้กับรายการโชว์มากเกินไป พวกเขายังอ่อนในด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์แนวอื่น เช่น ละคร และ ฯลฯ ที่น่าห่วง คือระยะหลัง แม้แต่รายการแนวหลักที่พวกเขาถนัดหากิน พวกเขาก็คิดน้อยลง และก๊อบปี้มากขึ้น แม้แต่รายการหลักของพวกเขาอย่าง The Mask Singer ก็เป็นการเช่าไลเซนส์จากเกาหลีใต้ไปเสียแล้ว

แม้นว่า Original Idea จะเป็นสิ่งหายาก แต่การมุ่งเน้นที่ 0-1-2-3-4-5 (แทนที่จะมักง่าย เอาแต่ 6-7-8-9-10) ย่อมจะส่งผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งในแง่ของความเป็นตัวของตัวเอง ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิ และความมั่งคั่ง

ขอบคุณภาพจาก www.wikiwand.com/th/

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทยที่สามารถสร้างงานและอาชีพให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้จำนวนมาก ด้วยความพร้อมของประเทศไทย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แหล่งวัฒนธรรมโบราณ

เนื่องในโอกาสที่วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกจะครบรอบ 16 ปีในเดือนมีนาคม 2560 นี้ อาจารย์ภัทรดา รุ่งเรือง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ที่ดูแลการบริหารงาน การเงิน ประชาสัมพันธ์ และตลาดต่างประเทศ โดยดำรงตำแหน่งนี้มานานกว่า 3 ปีให้สัมภาษณ์ถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายการขับเคลื่อนวิทยาลัยซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามของบางนาและบางพลีในอนาคตว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา มีการบริการชุมชนในเขตพื้นที่บางนา และบางพลี นอกจากนี้ยังเน้นการสืบสานศิลปวัฒนธรรม และเมื่อพูดถึงการแข่งขันต่างๆ นักศึกษาที่นี่ก็มีรางวัลจากการประกวดต่างๆ มากมาย” 

 อาจารย์ภัทรดา แจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า  “เป้าหมายของเราภายใน 3-5 ปีนับจากนี้คือ จะเปลี่ยนผ่านจากวิสัยทัศน์เก่าที่ีเราใช้มานานกว่า 15 ปีตั้งแต่ก่อตั้งวิทยาลัย ไปสู่สถาบันการศึกษาหรือเป็นองค์กรที่ผลิตนักปฏิบัติมืออาชีพสู่ตลาดแรงงานไทย (Create Professional Practitioner Graduate) ภายใต้ปรัชญา คุณวุฒิ คุณธรรม คุณค่า เช่นเดิม โดยเรามีแผนยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้นักศึกษาตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างมืออาชีพ ให้เขาทำงานแบบผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติในทุกๆ สาขาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเน้นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งจะมุ่งเน้นนักศึกษาให้เรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปฏิบัติได้อย่างช่ำชอง เป็นแนวทางการเรียนรู้จากปัญหา จากประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นจริง แล้วนำมาเป็น Case Discussion กันในห้องเรียน โดยปัจจุบันหลักสูตรปริญญาโทของเรามีเปิดสอน 2 หลักสูตรคือ M.B.A. และ M.Sc. (Logistics & Supply Chain Management)”  

เมื่อถามถึงคุณลักษณะของนักศึกษาที่จะมาร่วมเป็นสมาชิกครอบครัว M.B.A. และ M.Sc. ที่วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก อาจารย์ภัทรดาบอกว่า “สำหรับ M.B.A. อยากได้นักศึกษาที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ประกอบการ เพื่อปั้นฝันของเขาให้เป็นจริง รวมถึงคนที่อยากเรียนและแสวงหาความรู้เพื่อนำกลับไปใช้ในการทำงานจริงๆ นอกจากนี้ก็ยังต้องการนักศึกษาต่างชาติมากชึ้น เช่นเดียวกับการเปิดรับคณาจารย์ต่างชาติมากชึ้น ส่วน M.Sc. ด้านโลจิสติกส์ จะมุ่งเน้นนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานในสายนี้อยู่แล้ว หรือมีเป้าหมายที่จะทำงานในสายนี้ ปัจจุบันเรามีทั้งนักศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน และนักศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงานมานานแล้ว พวกเขาได้นำกรณีศึกษาส่วนตัวมาตีแตกกันในห้องเรียน แล้วนำไปทดลองใช้ในที่ทำงาน โดยที่ไม่ต้องรอเรียนจบ ตั้งแต่คลาสแรกที่เรียนก็จะได้ประโยชน์ที่นำไปใช้ได้จริงๆ ซึ่งการที่เรานำปัญหาที่เขาประสบพบเจอในที่ทำงานมาใช้ในการเรียนการสอน จะทำให้นักศึกษารู้สึกอินและต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงนั้นให้ได้ ทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ นักศึกษาก็จะได้โซลูชันหรือแนวทางการแก้ปัญหาเยอะแยะมากมาย ผ่านการระดมความคิดของนักศึกษาด้วยกันเอง และคำแนะนำจากอาจารย์ การเรียน M.B.A. และ M.Sc. ที่วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกจึงไมใช่เรียนจากเฉพาะกรณีศึกษายอดนิยม แต่กลับนำไปใช้แก้ปัญหาจริงไม่ได้” 

จากยุทธศาสตร์ที่แน่วแน่ จึงทำให้วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ต้องเตรียมพร้อมในทุกด้าน สำหรับบุคลากรโดยเฉพาะคณาจารย์ก็เช่นกัน จะมีการเพิ่มคุณสมบัติที่เข้มข้นมากขึ้น ไม่เพียงแต่มีคุณวุฒิทางการศึกษาอันเป็นเลิศเท่านั้น หากแต่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานที่เชี่ยวชาญด้วยทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ 

สิ่งที่จะทำให้เป้าหมายในการที่จะหล่อหลอมให้บัณฑิตและมหาบัณฑิตของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกเป็น Pro-fessional Practitioner ได้นั้น อาจารย์ภัทรดาบอกว่า จะต้องทำให้นักศึกษามี Mindset ของ MIT ซึ่งประกอบด้วย Management, Innovation และ Technology  

 “เราจะสร้างบรรยากาศและสิ่ง-แวดล้อมที่อุดมไปด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น มีจำนวนห้องปฏิบัติการมากขึ้น มีการทำ MOU กับองค์กรทางด้านวิชาชีพต่างๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่ทำอยู่แล้วในด้านบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ และโลจิสติกส์ที่ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเรามีศูนย์ทดสอบพัฒนาฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์ รวมถึง TQPI มาตรฐานเอกชน และระบบ Network cisco นอกจากนี้ ในอนาคตยังจะเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในส่วนของภาษา การตลาด โรงแรม และค้าปลีก ด้วย”

“นอกจากนี้เรายังตั้งเป้าเป็น Education 4.0 เพื่อตอบโจทย์และเชื่อมโยงกับ Thailand 4.0 ของรัฐบาลด้วย เพราะเราเป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเปี่ยมด้วยคุณภาพให้กับประเทศชาติ ถ้าเราผลิตบุคลากรที่ไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ก็จะเกิดการสูญเปล่า แต่ถ้านักศึกษาของเราที่จบออกไปเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติมืออาชีพ คิดได้และทำได้ ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต” 

ขณะเดียวกันเพื่อรองรับอนาคตที่สดใสของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร ดังนี้ คณะวิทยาการจัดการและการบัญชี คณะโลจิสติกส์และเทคโนโลยีการบิน คณะศิลปศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังแยกปริญญาโทออกมาเป็น บัณฑิตวิทยาลัย เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัวและชัดเจน

ในอนาคตวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกจะเพิ่มหลักสูตรปริญญาโท M.B.A. ในสาขาต่างๆ มากขึ้น เช่น การพัฒนาองค์กร, การบริหารอสังหาริมทรัพย์, การตลาดดิจิทัล รวมถึงการสร้างศูนย์วิชาชีพสำหรับทุกสาขาวิชา  เพื่อตอบสนองความต้องการ Professional Certificate ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างแรงงานให้เป็นผู้เชี่ยวชาญมีทักษะวิชาชีพที่ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งร่วมมือกับซิสโก้และไมโครติกส์สร้างศูนย์อบรม 

การขับเคลื่อนทั้งองคาพยพอย่างจริงจังนี้ ก็เพื่อเตรียมการยกวิทยฐานะจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคต ปัจจุบันมี 2 วิทยาเขต คือ บางนาและบางพลี ซึ่งที่บางพลีเปิดสอนปริญญาตรี 2 คณะ คือ คณะโลจิสติกส์และเทคโนโลยีการบิน มีการเปิดสอนสาขาการจัดการโลจิสติกส์, การจัดการขนส่งทางอากาศ และในอนาคตมีแผนที่จะเปิดสาขาการซ่อมบำรุงอากาศยาน ด้วยข้อได้เปรียบในด้านโลเกชันของวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง, สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อีกทั้งเทรนด์ของอุตสาหกรรมการบินมาแรงมาก ซึ่งแนวทางของสถาบันอื่นอาจจะผลิตบุคลากรในเชิงพาณิชย์การบินหรือธุรกิจการบิน แต่ที่วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกจะเน้นด้านการดูแลรักษา (Aircraft Maintainance) และการบริหารจัดการการขนส่งสินค้า (Air Cargo Management)

“เราขยายหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ อย่างมั่นใจ เพราะในแง่ของแฟซิลิตีที่บางพลี เรามีพื้นที่ 88 ไร่ มีแผนแม่บทที่จะสร้างโรงประลองซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้นักศึกษาได้ทดลองซ่อมเครื่องยนต์กลไกต่างๆ จริงๆ ส่วนห้องปฏิบัติการโลจิสติกส์ก็จะมีห้องจำลองคลังสินค้าที่วิทยาเขตบางนา เพื่อให้นักศึกษาเรียนทฤษฎีให้ช่ำชองและเชี่ยวชาญในการปฏิบัติอย่างแท้จริง และก่อนนักศึกษาจะเรียนจบ เราจะเน้นให้นักศึกษาทำสหกิจศึกษาในระยะเวลา 4-5 เดือน โดยเรามีการทำสัญญากับบริษัทชั้นนำต่างๆ เมื่อนักศึกษาทำสหกิจศึกษามาเสร็จแล้ว เราก็วางแผนให้นักศึกษาก้าวสู่ตลาดแรงงานได้ทันที” อาจารย์ภัทรดากล่าวปิดท้ายอย่างมั่นใจ 

ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะเห็นโฉมหน้าและอนาคตที่สดใสอันสมบูรณ์แบบของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าตั้งแต่วันนี้ 

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรต่างๆ ของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกได้ที่ 

www.southeast.ac.th

โทร. 02 744 7356-65 ต่อ 220, 227 แฟกซ์ 02 398 1356

อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Page 9 of 9
X

Right Click

No right click