×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ข่าวสารที่มีอยู่ในโลกโซเชียลถูกแชร์กันออกไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย แต่ความถูกต้องและสมบูรณ์ของข่าวสารและข้อมูลนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาก่อนแชร์ ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่อง “น้ำต้มเดือด”

ในการสนทนากันเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทยทางออกของประเทศ ประเด็นหนึ่งที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยในวงกาแฟ

คือเราไม่สามารถนำงานวิจัยของสถาบันศึกษาในประเทศที่มีอยู่มาใช้ทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจังหลายคนเรียกเรื่องนี้ว่า การนำงานวิจัยที่อยู่บนหิ้งในสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ห้าง คือทำออกเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่แม้แต่ในวงการผู้กำหนดนโยบายก็ต้องมีแผนงานรองรับ ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบาย การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบต่างๆ แต่เราก็ยังเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากมันสมองของนักวิจัยไทยผสานกับความสามารถของนักธุรกิจในตลาดไม่มากเท่าที่อยากจะได้เห็น

ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตนวัตกรที่สามารถนำนวัตกรรมผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยแปรสภาพกลายเป็นสินค้าและบริการในวงกว้างในชื่อ หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม

ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตร และทีมผู้บริหารหลักสูตรประกอบด้วย ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ผศ.ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา และ ดร.กวิน อัศวานันท์ มาร่วมกันให้สัมภาษณ์กับ MBA เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ว่า

หลักสูตรนี้กำลังจะก้าวขึ้นปีที่ 12 และมีผู้จบจากหลักสูตรไปแล้วเกือบ 500 คน มีการเรียนการสอน 2 ระดับคือปริญญาโทและปริญญาเอก รับสมัครระดับละ 30 คน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนนิสิตปริญญาเอกของหลักสูตรนี้มีมากที่สุดในจุฬาฯ แสดงให้เห็นความสนใจของผู้เรียนที่เลือกเรียนในหลักสูตรนี้ โดยมีทั้งผู้บริหาร เจ้าของกิจการ อาจารย์และนักวิจัยที่หน่วยงานต่างๆ ส่งมาเรียนเพื่อกลับไปขับเคลื่อนนวัตกรรมของแต่ละองค์กร

คณะผู้บริหารหลักสูตรให้ข้อมูลว่า จุฬาฯ มีงานวิจัยและองค์ความรู้ที่สะสมไว้อยู่มากมาย รวมถึงทีมงานวิจัยและนักวิชาการที่จุฬาฯ มีจำนวนมาก ตัวหลักสูตรวางตำแหน่งให้นิสิตเป็นแกนกลางเชื่อมโยงงานวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ กับภายนอก ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมและแหล่งทุน เพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างประโยชน์ในวงกว้าง ผู้เรียนผ่านหลักสูตรนี้จึงสามารถประสานงานได้ทั้งผู้ประกอบการ นักวิจัย และมีความสามารถค้นหางานวิจัยที่มีศักยภาพไปทำเป็นธุรกิจได้ 

รูปแบบการเปิดรับที่มีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. ให้อาจารย์สามารถประกาศรับนิสิตได้ เพื่อมาช่วยทำโครงการพัฒนางานวิจัยออกสู่ตลาด 2. เป็นโจทย์จากฝั่งผู้ประกอบการ และทางจุฬาฯ ตั้งทีมอาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตขึ้นมาช่วยทำโครงการนั้น และ 3. นิสิตมีโครงการของตัวเองก็สามารถเข้ามาเรียนและใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญในจุฬาเพื่อทำโครงการต่างๆ ได้

การเรียนการสอนของหลักสูตรนี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากเป็นหลักสูตรของบัณฑิตวิทยาลัย จึงสามารถเปิดกว้างให้เลือกอาจารย์จากคณะใดก็ได้มาช่วยเป็นทีมที่ปรึกษาให้กับนิสิต โดยนิสิตจะได้เรียนรู้กระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรม จัดเป็นระบบที่เปิดกว้างไม่ว่าผู้เรียนจะเรียนมาจากสาขาใดก็สามารถเข้ามาเรียนได้ 

 

สิ่งสำคัญที่นิสิตที่มาเรียนกับหลักสูตรนี้ต้องทำคือการพัฒนานวัตกรรมอย่างน้อย 1 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ บริการ Business Model กระบวนการทำธุรกิจใหม่ๆ และสามารถคิดแผนธุรกิจของโครงการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ในระดับปริญญาโท ส่วนระดับปริญญาเอกจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และวางตลาดนวัตกรรมหนึ่งอย่าง

ผู้บริหารหลักสูตรระบุว่า ทุกคนต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา และต้องทำให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อสังคม คือต้องการให้นิสิตทุกคนต้องมี 3 P Prototype จด IP (Intellectual Property) และมี Business Plan 

ทีมบริหารหลักสูตรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากำลังอยู่ระหว่างการเตรียมปรับปรุงหลักสูตรให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะทำเป็นหลักสูตร Double Degree ร่วมกับสาขาวิชาอื่น โดยอาจจะเริ่มกันภายในจุฬาฯ ก่อนและมีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อผลิตนักวิชาชีพที่เป็นนวัตกรให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ในโอกาสครบรอบ 12 ปี ทางหลักสูตรยังได้เตรียมจัดงานประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองด้านนวัตกรรมในช่วงต้นปี 2562 ที่กำลังจะมาถึง และยังมีการจัดหลักสูตรระยะสั้นรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้กับทางหลักสูตรได้เป็นระยะ

หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม เป็นหนึ่งในการตอบโจทย์การนำงานวิจัยของสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวงการวิชาการและแวดวงธุรกิจไปพร้อมกัน โดยมีนิสิตของหลักสูตรเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้เทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจและสาธารณะ เป็นการใช้ประโยชน์จากความพร้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้และงานวิจัยสะสมอยู่จำนวนมากเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

ทีมบริหารนักพัฒนานวัตกรรม

ทีมบริหารหลักสูตรนี้ จัดได้ว่ามีชื่อชั้นในวงการสร้างนวัตกรรมของประเทศ อย่างเช่น ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมนิสิตปริญญาโทและเอกสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้รับรางวัล Grand Prize จากผลงาน “เฟรชทูจอย” (Fresh2Joy) เทคโนโลยียืดอายุผลไม้ผิวบาง ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2017 ที่ประเทศเกาหลี และยังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล

ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กำกับดูแลด้านวิจัยและนวัตกรรม และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนวัตกรรมมากมาย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ กว่า 100 เรื่อง เป็นผู้พัฒนานวัตกรรมซิลเวอร์ นาโน และคิดค้นจุฬาสมาร์ตเลนส์ ชุดอุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟนที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาในการวิจัยที่ต้องถ่ายภาพที่มีการขยายสูงพอสมควร แต่ไม่สูงมากจนถึงกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคป 

ผศ.ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กำกับดูแลด้านวิชาการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผู้สอนรายวิชาหลัก Product Planning and Development (PPD) เกี่ยวกับกระบวนการวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Innovation) และมีผลงานออกแบบเก้าอี้ย้ายตัวสำหรับผู้ป่วย

ดร.กวิน อัศวานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการหลักสูตรฯ และกำกับดูแลด้านกิจกรรมนิสิตและอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ศิษย์เก่าปริญญาเอกหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่อง Startups และการระดมเงินทุนโดยสามารถระดมทุนจำนวน 13,000,000 บาท (400,000 USD) จากนักลงทุน บริษัท Startups ได้รับการคัดเลือกจากองค์กร e27 ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัท Startups ที่น่าสนใจที่สุดในเอเชีย ปี 2013

นวัตกรรมจาก CUTIP

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดจากหลักสูตรนี้และกลายเป็นบริการที่เราสามารถสัมผัสได้ที่น่าสนใจ เช่น “นวัตกรรมต้นแบบของกระบวนการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการสำหรับบริการสินไหมทดแทนธุรกิจประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย” ที่เป็นผลงานของนิสิตปริญญาเอก ดร.ชูพรรณ โกวานิชย์ ที่ใช้การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ จนค้นพบกระบวนการย่อยที่สำคัญมากที่สุดที่ลูกค้ามีประสบการณ์ในการรับบริการ คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วแจ้ง Call Center และเป็นที่มาของนวัตกรรมบริการในชื่อ CLAIM DI ที่ลดเวลาให้บริการ 73 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่าย 90 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการแจ้งความเสียหายไม่ตรงความเป็นจริงได้ เป็นตัวอย่างของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยเชิงลึกออกสู่ตลาด สามารถสร้างนวัตกรรมการบริการ และกระบวนการการให้บริการใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการประกันภัยรถยนต์ ช่วยเสริมองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการต่อยอดงานวิจัยในประเทศไทยที่ต้องการคือ การบริหารจัดการที่ดีนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงยิ่งขึ้น

นวัตกรรมที่เกิดจากหลักสูตรนี้ยังมีอีกหลากหลายเช่น ผลงาน Goldjic Wise เป็นนวัตกรรมที่นำส่งสาร โคจิก แอซิด ผ่านผิวหนังด้วยอนุภาคนาโนทองคำที่ออกแบบเฉพาะ คิดค้นโดยกลุ่มวิจัย ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะ นวัตกรรมนี้จะทำให้สาระสำคัญต่างๆ ซึมเข้าสู่ผิวได้ง่ายขึ้น และกำลังมีการผลิตออกวางจำหน่ายในไม่นานนี้

นวัตกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตข้าว : เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เป็นงานวิจัยที่ศึกษา ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวงอกลงแปลงนาอย่างเป็นระเบียบ ควบคุมปริมาณเมล็ดข้าวและระยะห่างในการหยอดโดยกลไกที่ไม่ซับซ้อนและราคาไม่สูง ช่วยลดต้นทุนกว่าการปักดำประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการหว่านเหลือไร่ละ 10-15 กิโลกรัมจากค่าเฉลี่ย 30 กิโลกรัม

 

 

“ไม่มีแม่น้ำสายไหนในประเทศญี่ปุ่นที่ร่อนหาทองแล้วจะไม่พบ”

คือคำบอกเล่าของ ฟุกาซาว่า ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เหมืองทองแห่งประวัติศาสตร์ The Yunooku Museum of Gold Mining History ที่จังหวัดยามานาชิ ด้วยประสบการณ์และความรอบรู้ที่สัมผัสกับงานของพิพิธภัณฑ์เหมืองทองมาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้จัดการท่านนี้ ตั้งสมมุติฐานต่อประโยคข้างต้นว่า “เพราะญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ผุดจากใต้ท้องทะเล เป็นแผ่นผืนดินแดนเกาะเดียว จึงเชื่อว่าทรัพยากรดิน หิน แร่ธาตุต่างๆ จึงน่าที่จะมีลักษณะเหมือนๆ กัน” และที่สำคัญ ในประเทศญี่ปุ่นมีชมรมนักร่อนทอง ที่มีกิจกรรมร่อนหาทองตามแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งก็มีการร่อนพบทองจริงๆ อยู่ทั่วไป และเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และส่งเสริมความรู้และความบันเทิงให้กับนักขุดทองที่มีเครือข่ายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั่วโลก

 

เหมืองทองยุคอาณาจักร “ไค” 

ยามานาชิ หนึ่งในจังหวัดของญี่ปุ่นที่ในอดีตมีชื่อว่า “เมืองไค” ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่หลายร้อยลูก โดยหนึ่งในนั้นมี ฟูจิซัง ภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง ของประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ภายใต้การตั้งอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาน้อยใหญ่ ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรป่าไม้ และแหล่งอาหาร เทือกเขาเหล่านี้แต่ยังเป็นต้นทางของแหล่งน้ำจำนวนมากมาย หลายร้อยสายทอดเป็นสายธารแหล่งน้ำให้ผู้คนใช้ดื่มกินและดำรงชีวิตตลอดมาอย่างยาวนาน เป็นความอุดมสมบูรณ์อยู่ดีกินดี และที่เหนือไปกว่านั้น เทือกเขาเหล่านี้ยังเป็นขุมทองที่ส่งมอบความมั่งคั่งให้กับเมืองไค จนขยายตัวเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้การค้นพบ “เหมืองทอง” บนภูเขาของเมืองไค

กว่า 400 ปีก่อนในยุคเซ็งโกกุ ที่มีไดเมียวหรือเจ้าเมืองของเมืองไค นามว่า ทาเคดะ ชินเง็น (Takeda Shingen) เป็นผู้นำและผู้ปกครองที่ทรงอำนาจและบารมี ปรากฏให้เห็นจากมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาและพบเห็นเป็นประจักษ์ว่าจนทุกวันนี้ ชาวเมืองยามานาชิยังคงให้ความเคารพนับถือและแสดงศรัทธาต่ออานุสาวรีย์ของไดเมียวทาเคดะ ชิงเง็น ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ไปเยือนเมืองหลวงโคฟุ ของจังหวัดยามานาชิ จะพบว่า การวางผังเมือง สิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง ตลอดจนสถาปัตยกรรมจากอดีตที่ปรากฏอยู่เป็นสิ่งที่ฉายแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะมรดกทางภูมิปัญญา ที่ปรากฏชัดของยุคนั้นคือ การสร้างเหรียญเงินตราของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ที่เรียกว่า “โคชูคิง”

“โคชูคิง” เป็นเงินตราของญี่ปุ่นที่ทำขึ้นใช้เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้น การซื้อขายแลกเปลี่ยน ถ้าไม่นับว่าเป็นระบบแลกของกับของ หรือ barter system เงินตราที่มีใช้ในยุคสมัยก่อนนั้นก็เป็นเงินตราที่มาจากเมืองจีน โคชูคิง จึงเป็นเงินตราแรกเริ่มของญี่ปุ่น ในยุคของผู้นำ ทาเคดะ ชินเง็น โดยทำขึ้นจากทองคำที่ขุดได้จากเหมืองทองที่ค้นพบบนภูเขา

ฟูกาซาว่าซัง บรรยายให้ฟังในระหว่างนำชมพิพิธภัณฑ์เหมืองทองว่า “สันนิษฐานกันว่า การค้นพบทองคำในตอนแรก เกิดจากการที่ชาวบ้านร่อนพบทองคำตามแม่น้ำสายต่างๆ ซึ่งร่อนไปก็จะพบในแม่น้ำแทบทุกสายของเมืองไค ทำให้เกิดผู้ฉุกคิดได้ว่า ทองคำที่มีอยู่ตามแม่น้ำ น่าจะไหลมาจากแหล่งต้นกำเนิดไหน หรือจะเป็นบนภูเขาจึงมีการส่งคนไปสำรวจและค้นพบว่า หินผาบนภูเขามีแร่ทองคำปะปนอยู่”

เมื่อขุดพบขุมทอง เจ้าเมืองทาเคดะ ชินเง็นจึงได้กำหนดให้เหมืองทองคำ เป็นสมบัติของส่วนรวม ห้ามผู้คนรุกล้ำขุดนำมาเป็นของส่วนตัว แต่ต้องขุดนำมาเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อคนทุกคน ซึ่งต่อมาได้มีการปรับลานบนภูเขาสูงกว่า 120 แห่งตั้งเป็นหมู่บ้านของนักขุดทอง ในสมัยนั้นเรียกขานนักขุดทองที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า “คานายามาชู” และทำการขุดทองบนเทือกเขา คายาโกยะมะ นาคายะมะ และภูเขาฟูจิยามะ เป็นเวลาหลายปี 

ทองคำที่ขุดได้อย่างมากมายในยุคสมัยผู้นำทาเคดะ ชินเง็น ถูกนำมาทำเป็นก้อนทองคำ ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นเงินตรา โคชูคิง ทองคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้ ซื้อขาย-แลกเปลี่ยนเป็นอาวุธกับเรือสินค้าชาติตะวันตก โดยนักเดินเรือเหล่านั้น เมื่อแลกอาวุธกับทองคำมาได้ ก็นำทองคำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าอย่างอื่นต่อไปตามเส้นทางเดินเรือ โดย 'ฟูกาซาว่าซัง' เชื่อว่าตั้งแต่ยุคนั้น ทองคำของญี่ปุ่นก็หลั่งไหลออกไปทั่วโลก 

ด้วยอาวุธที่ซื้อหามาได้ด้วยทองคำ ทำให้ผู้นำทาเคดะ กลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ทั้งร่ำรวย มั่งคั่ง และมีอำนาจ สามารถขยายอาณาจักรของเมืองไคออกไปอย่างกว้างขวาง มีคำกล่าวขานกันโดยชาวเมืองยามานาชิ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ว่า ถ้าไม่เพราะผู้นำทาเคดะ ชินเง็น ต้องมาเสียชีวิตเร็วเกินไป เชื่อว่า เมืองไคจะเป็นศูนย์กลางของประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน 

ในปัจจุบันนี้ เหมืองทองได้ถูกปิดลง ไม่มีการเปิดสัมปทานอนุญาตให้มีการทำเหมืองและขุดทองอีกต่อไป แต่ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เหมืองทองชื่อว่า The Yunooku Museum of Gold Mining History ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการทำเหมืองทองคำในอดีต รวมทั้งยังมีกิจกรรม “ร่อนทอง” ที่เป็นหนึ่งในสันทนาการที่สนุกสนานและยังมีโอกาสได้ทองกลับบ้านเป็นที่ระลึกอย่างง่ายดาย

 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ "สาธิตวิธีการร่อนทอง"  ได้ที่นี่

เทคโนโลยีบล็อกเชนที่เข้ามาทดแทนตัวกลางในการ
ทำธุรกรรมต่างๆ เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว ในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยังมีตัวกลางก็เช่นกันเมื่อ อุ๊คบี ยู จับมือกับ YDM (Yello Digital Marketing) สตาร์ตอัพยักษ์จากประเทศเกาหลี และ COMPUTERLOGY เปิดตัว SIX Network เครือข่าย
บล็อกเชน ที่มีเป้าหมายสร้างระบบ Decentralized Services Platform เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและการแบ่งปันผลประโยชน์
ที่ดีที่สุดให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ใช้บริการ

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งอุ๊คบี ยู และ Co-Founder และ Co-CEO, SIX Network และ วัชระ เอมวัฒน์ Co-Founder และ Co-CEO, SIX Network ร่วมกันเล่าปัญหาของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยและทั่วโลกคือ การรวมศูนย์ของระบบการจัดการทางการเงิน ทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่าย ส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้ผลิตผลงาน รวมถึงการไม่สามารถนำ
ผลงานที่สร้างขึ้นมาเป็นหลักทรัพย์หรือใช้เป็นหลักฐานสำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ผู้ให้บริการหลายรายพยายามลอง
แก้ปัญหาด้วยการออก Token ของตัวเอง แต่ยังติดปัญหาที่ไม่สามารถใช้ข้ามแพลตฟอร์มได้ 

SIX Network จึงออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ให้ผู้ใช้งานสามารถรับผลตอบแทนโดยมีต้นทุนที่ต่ำ และทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร Digital Assets ของแพลตฟอร์มต่างๆ โดยใช้ Token ที่เรียกว่า SIX ในการแลกเปลี่ยนไม่ต้องผ่านตัวกลาง 

ภายใน SIX Network แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ SIX Digital Asset Wallet ที่นอกจากไว้เก็บ Cryptocurrency ยังสามารถเก็บข้อมูลดิจิทัลคอนเทนต์และทรัพย์สินทางปัญญาได้อีกด้วย Decentralized Financial Services ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับนักสร้างสรรค์ สามารถนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นหลักทรัพย์สำหรับทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้ และ Wallet-to-Wallet Decentralized Commerce ที่จะช่วยให้การขายของโดยไม่ต้องมีคนกลางทางการเงิน เชื่อมตรงระหว่างผู้สร้างสรรค์กับผู้ซื้อ ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินลง

การออก ICO ครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ใน SIX Project โดย อุ๊คบี ยู และ YDM ลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสองบริษัทจะได้ Token กลับมาบางส่วน ซึ่ง Token นี้จะไม่สามารถขายได้ ทั้งสองบริษัทจะต้องนำเอาไปใช้ผ่าน Platform ของตน เพื่อจ่ายออกไปยังนักสร้างสรรค์ เป็นการสร้าง Ecosystem ของเหรียญนี้ขึ้นมาอีกทางหนึ่ง 

เงินที่ได้จะใช้ในการพัฒนาระบบกลางการวิจัยและพัฒนาระบบเครือข่าย และนำไปลงทุนใน Creators Platforms อื่นๆ ของพันธมิตรหรือธุรกิจสตาร์ตอัพใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อช่วยเป็นต้นทุนในการสร้างระบบรองรับให้กับ SIX Network รวมถึงใช้เพื่อสร้างการรับรู้ และทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึง SIX Network ได้

บ.เจ เวนเจอร์ส (JVC) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันทางด้านฟินเทค และลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เจมาร์ท (JMART) เปิดเกมรุกธุรกิจใหม่ในโลกของฟินเทค เตรียมเปิดตัว JFin DDLP ระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง อีกทั้งเตรียมนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประเดิมใช้งานในกลุ่มเจมาร์ทภายในปี 2562 นี้

สำหรับก้าวรุกครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่อง จากที่ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ประกาศความสำเร็จของบ.เจ เวนเจอร์ส โดยได้เปิดระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่
ผ่านมา และการระดมทุนครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์ จากการเปิด Pre-Sale JFin Coin ที่ราคา 6.60 บาทต่อโทเคน และจำนวน 100 ล้านโทเคนนั้น สามารถขายหมดเกลี้ยงภายใน 55 ชั่วโมง

 

 

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC เผยถึงการพัฒนาระบบสินเชื่อแบบ DDLP คือ ระบบการกู้ยืมเงินแบบดิจิทัลบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง รองรับกระบวนการแบบครบวงจร ตั้งแต่การระบุตัวตน (KYC) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ การประเมินเครดิต การอนุมัติสินเชื่อ และการติดตามหนี้สิน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการบริการด้านสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงรองรับระบบ P2P Lending ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้ผู้กู้ที่มีศักยภาพสามารถกู้เงินได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนั้นระบบ DDLP จะเป็นหนึ่งในระบบสำคัญที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในอนาคตอันใกล้นี้ ตั้งเป้าระบบจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มใช้งานในปี 2562

สำหรับจุดแข็งของ JFin DDLP คือ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นจากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้สามารถสร้างระบบการเงินที่ยั่งยืน ขยายตลาด และเข้าถึงประชากรได้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารหรือการให้บริการทางการเงิน โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการจับกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตดี วิเคราะห์จากฐานข้อมูลลูกค้าของกลุ่มเจมาร์ทที่มีรวมกันมากกว่า 3 ล้านราย

โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และรับจ้างติดตามหนี้สิน เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เรามีฐานข้อมูลและสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

รวมถึงการเสริมทัพด้วยการจับมือพันธมิตรและกลุ่ม
ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้แก่บริษัทฯ ให้มี Big Data ที่สามารถสร้าง Credit scoring หรือการประเมินการขอสินเชื่อบุคคลโดยอัตโนมัติผ่านเทคนิคการให้คะแนนเครดิตผ่านข้อมูลต่างๆ ที่ระบุไว้ เพื่อให้สามารถคัดเลือกลูกค้าที่มีเครดิตดีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในโลกการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลดีต่อ JVC ในฐานะผู้นำในธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันทางด้านฟินเทคให้ได้รับการตอบรับมากขึ้นในอนาคต 

​ICO นวัตกรรมการระดมทุนแบบใหม่ ที่กล่าวกันว่าเปรียบเสมือนการติดปีกแนวคิด Crowdfunding ด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยใช้ Cryptocurrency ในรูป Token หรือ Coin เป็นสื่อกลางเสมือน asset ในการซื้อ-ขาย เพื่อการลงทุนและการระดมทุน และด้วยความใหม่ของ ICO ต่อระบบเศรษฐกิจไทยใน ณ ขณะนี้ จึงมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุน และผู้ที่สนใจต้องการใช้เครื่องมือนี้ พึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจ

โดยหนึ่งในประเด็นคือเรื่อง ICO Valuation หรือการประเมินมูลค่า ICOซึ่งหมายความไปถึงการกำหนดราคา Token หรือ Coin โดยเรื่องนี้ ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเกาะติดในเรื่อง Blockchain และ Fintech ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mba เรืองแนวคิดการประเมินมูลค่าของ ICO ไว้อย่างมีหลักการ​ในเบื้องต้น ศ.ดร. อาณัติ ได้แบ่งประเภทของ คริปโต Coin หรือ Token ออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ซึ่งแต่ละแบบจะมีแนวในการประเมินค่าแตกต่างกันไป

แบบแรกของ Coin ประเภทนี้มีลักษณะ Really Nothing Backup กล่าวคือ Coin แบบนี้ไม่มีสินทรัพย์มารองรับหรือค้ำยันมูลค่าแต่อย่างใด เช่น Bitcoin, Ethereum หรือ Ripple แต่ Coin ประเภทหน้าที่เป็น "สื่อกลาง" ในการแลกเปลี่ยน อย่างเช่น Ripple คือ Coin ที่กลุ่มธนาคารนำมาใช้ เป็น Consortium Blockchain เพื่อรองรับกับวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารด้วยกัน มิใช่เป็นแบบสาธารณะ (Public Blockchain) เพราะแนวคิดของ Ripple เป็น Coin ที่ถูกออกแบบมาเป็นเสมือนเงิน เพื่อใช้โอนไปยังธนาคารปลายทาง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทางธนาคารผู้รับก็สามารถแปลงเปลี่ยนแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นได้ทันทีตามมูลค่า โดยระบบนี้จะแตกต่างจากระบบการโอนเงินในอดีตที่ใช้ระบบ Swift ที่เป็นระบบการส่งคำสั่งโอนเงิน ที่ทุกธนาคารต้องนำเงินไปกองที่ธนาคารกลาง ที่ตกลงกันไว้ จากนั้นทุกคำสั่งของการโอนเงินคือการตัดเงินจากธนาคารกลาง เช่นนี้ Ripple จึงมีความคล่องตัวและต้นทุนที่ถูกกว่าและแทนค่าได้เสมือนเงินจริง มูลค่าของ Coin ตัวนี้จึงกำหนดขึ้นตามความพอใจ ขึ้นอยู่กับการยอมรับและความพอใจใช้งาน

​ส่วนกลุ่ม Bitcoin, Etherum, Litecoin หรือ Zcoin เหล่านี้แม้จะเป็น Coin ที่ไม่มีสินทรัพย์มาค้ำยัน แต่คอยน์เหล่านี้มี Blockchain เป็นของตัวเอง เป็น Native Blockchain และซึ่งเป็น Public Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่มีการตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกรายการ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ส่วนเหรียญไหนจะมีจำนวนเครื่องในเครือข่ายกี่เครื่อง, กี่คน ความมั่นคงเป็นอย่างไรก็ แตกต่างกันไป เช่น Bicoin มีจำนวนเครื่องในเครือข่ายนับล้านเครื่อง นั่นหมายความว่า ความเข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัยย่อมมีมากกว่า ส่วน Value ของ Coin ประเภทนี้ ในความคิดเห็นของ ศ.ดร. อาณัติ กล่าวว่า "ค่าของมันคือ "ความหายาก" เปรียบเหมือนทองคำ ที่เรายอมรับเพราะมันหายาก ซึ่งถ้าวันหนึ่งเราไปพบว่า บนดาวอังคารมีแร่ทองคำอยู่มากมาย และทองคำกลายเป็นของหาง่าย มีอยู่มากมาย มูลค่าทองคำก็ย่อมมีอันต้องลดน้อยถอยลงไป Bitcoin ก็ไม่ต่างกัน เพราะมันเริ่มหายากและมีจำกัด ผู้พัฒนาได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีจำกัด Bitcoin จึงได้รับการยอมรับในการเก็บมูลค่า"

​ศ.ดร. อาณัติ ยังกล่าวเสริมว่า "เคยมีคำถามในทำนองว่า ก็ในเมื่อ Bitcoin ราคาเริ่มแพง และมีคริปโต ตัวอื่นที่ราคาถูกกว่า และก็เป็น Native Blockchain เหมือนกัน มีระบบตรวจสอบธุรกรรมเหมือนกัน ทำไมไม่ได้รับความนิยมเหมือน Bitcoin ซึ่งเหตุผลก็มีอยู่ 2 ประการคือ ข้อแรก เป็นเรื่องความมั่นคง เพราะ Bitcoin ทุกวันนี้มีเครื่องในเครือข่าย Blockchain ของตัวเองที่คอยช่วยทำหน้าที่ Verify หรือตรวจสอบธุรกรรมอยู่ร่วม 1 ล้านเครื่อง ย่อมมีความมั่นคงและแข็งแกร่งของระบบที่มากกว่า คริปโตที่มีเครื่องในเครือข่ายจำนวนน้อยกว่า จริงอยู่ว่า เทคโนโลยีที่ออกมาระยะหลังของ Blockchain มีความทันสมัยและได้รับพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีกว่า เร็วกว่าของ Bitcoin ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในยุคแรกๆ แต่การมีเครือข่ายของ "สายขุด" อยู่นับล้าน นั่นคือความมั่นคง ที่ทำให้ระบบของ Bitcoin น่าเชื่อถือได้เป็นที่ยอมรับมากกว่า

​อีกประการคือเรือง "สภาพคล่อง" เรียกอีกอย่างคือ "ความเป็นที่นิยม" แม้ทุกวันนี้จะมีสกุลเงินคริปโตอยู่มากกว่า 1,350 สกุล แต่ Bitcoin ก็ยังเป็นที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับของ Crypto Exchange ทุกแห่งทั่วโลก คล้ายๆ กับเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ไปประเทศไหนก็เป็นที่ต้องการ ทั้งสองเหตุผลนี้คือปัจจัยที่ผลักดันให้ มูลค่าของ Bitcoin โลดละลิ่วแบบโจนทะยานในเวลาที่ผ่านมา"


 นิยามและความสำคัญ ของ "สายขุด" (Miner)

​เพื่อฉายภาพการรับรู้ที่แจ่มชัด ศ.ดร. อาณัติ ได้อธิบายถึงความเกี่ยวพันระหว่างกันของ Bitcoin, Blockchain และ นักขุด (Miner) ผู้มีหน้าที่เสมือนหน่วยร่วมตรวจสอบธุรกรรม (Verify) ในระบบ ทั้ง 3 ส่วนล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทหน้าที่เกื้อกูลหนุนนำกันไปมา โดยมีความว่า

​เมื่อครั้งที่ ซาโตชิ นากาโมโต้ ได้พัฒนา Bitcoin ออกมาด้วยเทคโนโลยี Blockchain นั้น ระบบได้ถูกออกแบบให้เป็นในแบบที่เรียกว่า Public Blockchain ที่ต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเพื่อช่วยทำหน้าที่ในการVerify หรือตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยซาโตชิได้ออกแบบระบบไว้ตั้งแต่ต้นว่า Blockchain ของ Bitcoin จะทำหน้าที่ในการโอนเงิน และทุกธุรกรรมของการโอนจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยคอมพิวเตอร์ในระบบ ซึ่งเหตุผลเช่นนี้ ในข้อดีคือ ธุรกรรมจะมีความโปร่งใสตรวจสอบได้และที่สำคัญคือผ่านการรับรอง แต่การทำเช่นนี้ ย่อมเกิดต้นทุนของการตรวจสอบ โดยซาโตชิ จึงออกแบบการตั้ง Incentive เพื่อตอบแทนต้นทุนการร่วมตรวจสอบธุรกรรมให้กับคอมพิวเตอร์ในระบบ หรือที่เรียกกันว่า นักขุด (Miner) บิทคอยน์ โดยมีเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ใน Smart Contracts ทุกๆ 10 นาทีจะมีการแก้สมการคณิตศาสตร์ได้ 1 เครื่อง และจะได้รับรางวัลตอบแทน เป็นจำนวน 1 บิทคอยน์

ซึ่งโจทย์หรือสมการที่ถูกกำหนดขึ้นมา เป็นสิ่งที่ยากจะหาคำตอบได้ด้วยการคำนวณ มีเพียงวิธีเดียวที่จะแก้ได้คือการมั่วตัวเลขใส่เข้าไป แล้วอาศัย Capacity ของเครื่องที่มีพลังสูงๆ สุ่มส่งตัวเลขเข้าไปให้มากที่สุด เพื่อหาโอกาส เพราะระบบกำหนดไว้แล้วว่าทุกๆ 10 นาที ซึ่งแน่นอนว่าการใช้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังสูงๆ ย่อมมีความเป็นไปได้ของโอกาสในการแก้สมการได้เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพน้อยกว่า แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องจำนวนของเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ที่ยิ่งมีมาก โอกาสของความน่าจะเป็นของการชนะการแก้สมการและได้รางวัลเป็น Bitcoin นั้นก็ย่อมยากมากขึ้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ การขุด Bitcoin ในช่วงระยะแรกๆ ที่มีผู้เข้าร่วมขุด (แก้สมการ) จำนวนไม่มาก เพียงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คธรรมดาก็สามารถขุด บิทคอยน์ได้อย่างง่ายดายเป็นหมื่นๆ เหรียญ จนมีเรื่องเล่าติดตลกในหมู่สายนักขุดว่า ในช่วงปี 2009-2010 มีคนขุด Bitcoin ได้นับหมื่นเหรียญแต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงได้ใช้ Bitcoin ที่ขุดได้ร่วม 10,000 เหรียญจ่ายค่าพิซซ่า ซึ่งหากประเมินเทียบกับราคาในตลาดแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เรียกได้ว่า พิซซ่าถาดนั้นถูกจ่ายไปด้วย ราคาร่วม 2,000 ล้านบาท 

​ซึ่งสถานการณ์สายขุด Bitcoin ในปัจจุบันไม่ง่ายดายเหมือนในอดีตเพราะจำนวนเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายมีมากมายนับล้านเครื่อง โอกาสที่ทุก 10 นาทีจะเป็นของเครื่องใด ก็ย่อมลดน้อยลง ยิ่งจำนวนเครื่องเพิ่มจำนวนเข้าไปรุมขุด โอกาสก็ยิ่งยากมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะปรับใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระดับซุปเปอร์ก็อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ดีนัก เพราะโปรแกรมของ Blockchain ได้ถูกกำหนดไว้เป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว และที่น่าสนใจคือ ระบบมันมีความฉลาดมาก โดยมันจะทำการปรับระดับของความยาก หรือ Level Of Difficulty อย่างอัตโนมัติ เช่น ถ้าจำนวนเครื่องเข้ามา Solve สมการ (ขุดเหรียญ) มีน้อย ระบบก็จะปรับระดับของความยากง่าย เช่นเหลือศูนย์เพียง 3 หลัก แต่ทันทีที่มีเครื่องเข้ามาในระบบมากขึ้น โปรแกรมซึ่งเป็น Self-Regulate จะทำการปรับระดับของความยากของมันเองเลย ยิ่งคนมาเยอะ ระดับของ Level Of Difficulty อาจจะเปลี่ยนเป็นตัวเลข 12 หลักอย่างอัตโนมัติ แต่ผลตอบแทนการตรวจสอบธุรกรรมโดยเครื่องในเครือข่าย (สายขุด) ยังคงข้อกำหนดเดิม คือ 1 บิทคอยน์ในทุกๆ 10นาที

​เมื่อราคาของ Bitcoin พุ่งสูงทะยานในตลาดแลกเปลี่ยนตลอดสองปีทีผ่านมา ปรากฏว่ามีนักขุด (Miner) เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างผันตรง จากแรงจูงใจในด้านราคา ทาง ศ.ดร. อาณัติ ได้เคยศึกษาและลองทำ Fesibility Study เพื่อประเมินการลงทุนในเรื่องนี้ว่า ถ้าลงทุนซื้อเครื่องมาขุดบิทคอยน์ และดูความเป็นไปได้ของผลตอบแทน ที่ปัจจุบันจำนวนเครื่องในระบบมีอยู่มากกว่า 1 ล้านเครื่อง ย่อมหมายความว่าโอกาสคือ 1 ในล้าน มองตรรกะแล้วก็ดูราวกับว่าชาตินี้อาจจะไม่มีโอกาสขุดได้เลยเหรียญหรือสักบาท แต่ก็ยังมีคนกล้าลงทุน ซึ่งก็เหมือนกับการซื้อหวย พอมีการลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือ ซื้อคอมพิวเตอร์ และการ์ดจอราคาแพง ทุกวันนี้สายขุดบิทคอยน์ก็มีการพัฒนารูปแบบเป็นเหมือนสหกรณ์ขุดคริปโต อย่างเอาจริงเอาจัง แนวคิดคือการพูลพลังของคอมพิวเตอร์ของหลายเครื่องเข้าด้วยกัน เป็นสมาชิก และทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์กันเป็นเปอร์เซนต์ เมื่อเครืองที่เป็นพูลกันขุดเหรียญได้เครื่องใดก็ตาม ระบบ ก็จะกระจายสัดส่วนผลตอบแทนให้กันอย่างถ้วนหน้า หลักการก็เหมือนซื้อหวยคนเดียวโอกาสถูกน้อย เลยเอาเพื่อนมาเป็นร้อยคนพันคน โอกาสถูกย่อมมีมากกว่าแต่ว่าถ้าถูกเมื่อไหร่ผลตอบแทนก็ต้องแบ่งกันไป กล่าวได้ว่าทุกวันนี้เหรียญ Bitcoin อยู่ในมือสายขุดอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว

​ประเด็นสำคัญก็คือการที่ Blockchain ของ Bitcoin มีความแข็งแกร่งก็เพราะการที่สายขุดเหล่านี้เอาเครื่องเข้ามาในระบบ และการแก้สมการก็คือการทำหน้าที่ในการ Verify ธุรกรรมทำให้เกิด Proof Of Work อันนำมาซึ่ง "ความแข็งแกร่ง และมั่นคงและปลอดภัย" ของระบบ ที่ยิ่งมีเครื่องในเครือข่ายมาก็ยิ่งมั่นคง และนั่นก็คือส่วนหนึ่งของที่มาของการประเมินค่า หรือ Valuation ของบิทคอยน์นั่นเอง

​ในสายตาของผู้ที่ประเมินแบบเรื่องนี้อย่างเหมารวมว่า Bitcoin คือการเก็งกำไร แต่ Blockchain เป็นระบบที่ดีนั้น ศ.ดร. อาณัติ อยากให้มีความกระจ่างในประเด็นนี้ว่า

​"ที่ว่า Blockchain ดีนั้น ดีจริงแต่ต้องเป็น Public Blockchain เพราะระบบได้รับการ Verify ด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะจำนวนมาก ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบธุรกรรม แต่ถ้าเป็น Blockchain แบบปิดที่มีเครือข่ายของคอมพิวเตอร์เพียงแค่ 10-20 เครื่องก็ย่อมไม่ได้มีความเข้มแข็ง มั่นคงสักเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่า ถ้าไม่มี Bitcoin เป็น Incentive หรือผลตอบแทนให้กับนักขุด ก็คือกลุ่มที่ทำหน้าที่ Solve สมการในระบบ ที่ถือว่ามีส่วนในการ Contribute ความเข้มแข็งให้กับระบบ การได้ Bitcoin ไปก็เสมือนการให้ผลตอบแทนต่อต้นทุนที่เข้ามาร่วมในเครือข่าย" และแนวคิดเรืองการเก็งกำไรนั้น ศ.ดร. อาณัติให้มุมมองว่า "ควรจะให้ความรู้กับนักลงทุนจะถูกต้องกว่า และที่สำคัญในฟากฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และกระจ่าง จะได้ไม่เข้าใจในประเด็นที่ผิดๆ"


สำหรับ Token ประเภทที่สองเรียกว่า Utility Token ซึ่ง Token แบบนี้เปรียบเหมือนคูปองสินค้า หรือคูปองบริการ ซึ่งกล่าวได้ว่า ICO ส่วนใหญ่ทั้งในประเทศไทย และในโลกจัดอยู่ในกลุ่ม Utility Token ที่ออกเหรียญเพื่อระดมทุน ในขณะที่เหรียญที่ออกมา ก็ได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือนคูปองที่สามารถนำมาใช้แลกสิทธิ์ในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่กำหนดไว้ในระบบ ซึ่งการประเมินหามูลค่า ICO และเหรียญว่าควรจะมีมูลค่าเท่าไรนั้น ศ.ดร.อาณัติ มีแนวคิดในการประเมินมูลค่าโดยกำหนดเป็นสมการ คือ "กำหนดมูลค่าของธุรกรรมเป็นราคาต่อหน่วยด้วย P บาท และยอดขายต่อหน่วยเท่ากับ Q ครั้งใน 1 ปี ปริมาณเหรียญที่ออกมาเท่ากับ M เหรียญ และความเร็วในการเปลี่ยนมือของเหรียญเท่ากับ V ครั้งต่อปี ซึ่งอาจประเมินจากความต้องการเหรียญนั้น จากนั้นก็ใช้ทฤษฏีปริมาณเงินที่นักเศรษฐศาสตร์สาย Monetarist ใช้ประเมินรายได้ประชาชาติ ในลักษณะสูตร c MV = PQ โดย C คือราคาในรูปของ บาทต่อ 1 เหรียญ ดังนั้นหากเราทราบค่าตัวแปรทั้งหมด ก็สามารถแก้สมการนี้ และหาราคาของเหรียญประเภทนี้ได้ว่าเท่ากับ PQ / MV นั่นเอง" 

​Token แบบที่สามเรียกว่า Asset-Backed Token เป็นเหรียญในแบบที่มีสินทรัพย์ค้ำยันมูลค่า ศ.ดร.อาณัติ กล่าว "กลุ่มนี้สามารถประเมินมูลค่าได้โดยง่ายโดยประเมินในลักษณะเดียวกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น (Book Value) เช่น หากว่า เหรียญที่ออกมา บริษัทจะใช้ในการซื้อสินทรัพย์มูลค่า 100 ล้านบาท โดยจะออกเหรียญ จำนวน 1 ล้านเหรียญ ในกรณีนี้ เหรียญหนึ่งเหรียญก็พึงมีมูลค่า 100 บาท หรือบริษัทอ้างว่าจะออกเหรียญเพื่อให้ผู้ถือเหรียญไปใช้กู้ภายใต้การจัดการของบริษัท แบบนี้ก็ใช้พอร์ตลูกหนี้มาค้ำเหรียญ ดังนั้นหากบริษัทมีพอร์ทลูกหนี้ 660 ล้านบาท แล้วออกเหรียญมา 100 ล้านเหรียญ แบบนี้เหรียญ 1 เหรียญก็พึงมีมูลค่า 6.6 บาท ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เพราะพอร์ตเงินกู้ไม่สามารถมี Capital Gain ได้ ในส่วนดอกเบี้ยก็จะประเมินแยกต่างหาก เพราะบริษัทจะใช้วิธีจ่ายดอกเบี้ย ด้วยการนำเงินบาทจากดอกเบี้ยออกมาสำรองแล้วออกเหรียญให้ ในกรณีนี้ เหรียญใหม่ก็จะถูกออกมาหักล้าง แต่หากบริษัทไม่จ่ายดอกเบี้ยด้วยการออกเหรียญเพิ่มมูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของดอกเบี้ยในพอร์ตนั้น เช่นยกตัวอย่าง เมื่อสักครู่ หากบริษัทไม่อยากออกเหรียญใหม่เพื่อจ่ายดอกเบี้ย และเมื่อรวมดอกเบี้ยพอร์ตลูกหนี้ 660 ล้านบาท จะได้เป็น 700 ล้านบาท เช่นนี้เหรียญก็จะมีมูลค่า 7 บาท อย่างไรก็ตาม นักลงทุนพึงสังเกตว่า การกล่าวถึงสินทรัพย์บริษัท พอร์ตลูกหนี้ของบริษัท มักจะมีความสับสนกับสินทรัพย์ลูกหนี้อื่นที่บริษัทมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัท โดยไม่เกี่ยวกับการออกเหรียญ หากเป็นแบบนี้การคำนวณมูลค่าก็ต้องแยกสินทรัพย์หรือพอร์ตลูกหนี้เพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหรียญขึ้นมาก่อน เพื่อให้การคำนวณแม่นยำ"

ทั้งนี้ ศ.ดร. อาณัติ ได้ให้ความทิ้งทายไว้ว่า "ICO ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับบ้านเรา จึงจำเป็นอย่างมากที่นักลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจให้กับนักลงทุนและสังคม อย่างตัวผมเองเคยผ่านประสบการณ์ทำงานกับภาครัฐในช่วงหลังปี 40 ที่เคยพร่ำวิตกกังวลกับการเตรียมตั้งรับกับกติกาที่มหาอำนาจเขียนกำหนดขึ้นใน ณ ขณะนั้น จนพบข้อสรุปสำคัญว่า กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แม้เรายังไม่คุ้นเคยหรือรู้จักดี แทนที่จะมามัววิตกกังวล ขบคิดเรืองได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือกลัวเกรงในปัญหาที่อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง จนละเลยที่จะส่งเสริมหรือเรียนรู้ มิสู้ฝึกคนของเราให้มีความพร้อมกับการแข่งขันในเกมของโลก ในเมื่อกติกามันถูกเขียนมาแบบนั้น เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะสู้และอยู่กับโลกให้ได้"  

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” เปิดเผยกับนิตยสาร MBA หลังเข้ารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จากบทบาทเดิม ที่นั่งแท่นประธานกรรมการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจด้วยวิธีคิดปรับตัวรับเทคโนโลยีมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Thailand 4.0 นี้ เขามองถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยหลากหลาย ทั้งการแข่งขันในต่างประเทศ และกระแสดิจิทัลที่รุกเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง นอกจากนั้นการที่มีระบบไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องยังทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคในทุกสายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป ระบบที่รวดเร็วของโซเชียลเน็ตเวิร์ก การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การออกสินค้าใหม่จึงต้องทำให้ผู้คนสนใจ และสร้างความนิยมอย่างรวดเร็ว

สุพันธุ์ ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสำเร็จที่ผ่านพร้อมเผยถึงแนวคิดต่อไปว่า

“เรามองมานานแล้ว มอง Technology Trend เป็นหลัก เพราะการที่เราอยู่ในวงการที่ใกล้เทคโนโลยีมากที่สุด ทำให้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีว่าจะไปทางใด เราจึงปรับตามได้อย่างทันเวลา มองว่าเทรนด์จะมาแบบไหน ตั้งแต่เรื่องโทรศัพท์มือถือ จนเมื่อ 4.0 เข้ามาเราก็มีบริษัทที่รองรับ Hardware ทางด้าน 4.0 หรือกระทั่ง
เรื่องของโดรนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต Entertainment เป็นต้น ยังมีเรื่องของ Database ก็มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหลาย ตั้งแต่การเก็บรักษาข้อมูล อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์เชื่อมต่อ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ตอบสนองเรื่องของ Smart home Solution ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังมาในอนาคต เรียกว่าเราสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม”

สิ่งที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับการบริโภคและการผลิต ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการผลิต (Production) ต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวโน้ม ที่สถานการณ์ความต้องการแรงงานของภาคการผลิตลดลง และมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน รวมทั้งการเสริมศักยภาพให้กับสินค้าในทุกอุตสาหกรรมเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม นั่นเพราะการขาดนวัตกรรม คงไว้แต่สินค้าเดิมถือเป็นจุดอ่อนทำให้
เดินหน้าต่อไปได้ยาก

ระบบการผลิตจึงต้องสอดคล้องกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการประเมินกันว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าเราจะเห็น Production line ในโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบไอที และระบบเซนเซอร์ของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต มีราคาลดลงเกินกว่าครึ่งจากในอดีต จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนเพิ่ม
ในเทคโนโลยีทางการผลิตที่มีแนวโน้มราคาถูก ซึ่งสวนทางกับค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ต้นทุน (Costing) และคุณภาพ (Quality) เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย จะทำได้ง่ายกว่าการใช้แมนพาวเวอร์ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้
เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กต้องเตรียมตัว หันไปมองว่าจุดแข็ง (Strength) ของเราคืออะไร ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นมีการนำร่องไปในทิศทางนี้อย่างแน่นอนแล้ว

ตัวอย่างประเทศของเรานั้นมีจุดแข็งที่การเกษตร สิ่งที่ทั่วโลกมองเข้ามาที่ประเทศเรานั้นเป็นเรื่องของอาหาร ซึ่งวิธีการปรับตัวที่ง่ายที่สุดของคนในอุตสาหกรรมอาหาร คือ การพยายามหาเทคโนโลยีและวิธีการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางด้านอาหารขึ้นมา จะสังเกตได้จากงาน Food ทั้งหลายผลิตภัณฑ์ของไทยใกล้จะถึงระดับ World Class แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับอาเซียนอีกต่อไป ทั่วโลกให้ความสนใจในอาหารของไทย มีการตอบรับที่ดี ถือว่ามีข้อได้เปรียบตั้งแต่วัตถุดิบ แต่ต้องไม่จำกัดการทำแต่เพียงต้นน้ำ คือ การจำหน่ายแค่เพียงวัตถุดิบคือสินค้าการเกษตร แต่ต้องพยายามทำการแปรรูปไปจนถึงกลางน้ำและปลายน้ำให้ได้

รับมือกับ Technology Disruption อย่างไร

ในบทบาทของประธานสภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย ยังมองเห็นว่า การต่อยอดจากจุดแข็งเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับ Disruption ของเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องของ R&D (การวิจัยและพัฒนา) อย่างเต็มรูปแบบ โดยทำร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อการวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ SME มีโอกาสนำไปใช้เสริมศักยภาพให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างมั่นคงและมีความยั่งยืน

“เพราะลำพัง SME เอง จะไม่มีกำลังที่เพียงพอในการลงทุนพัฒนา เพียงแต่อาจจะมีไอเดีย ดังนั้นรัฐบาล ภาคการศึกษา และภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาสินค้า สำหรับในส่วนของภาคการผลิต รัฐบาลก็ต้องสนับสนุน Financing Knowhow เพื่อให้ SME ตามให้ทัน ให้มีความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ทางด้าน Production ของ Industry 4.0 เมื่อมีความเข้าใจในเทคโนโลยี ตระหนักถึงการลงทุนทางเครื่องจักร ก็จะต้องมีความเข้าใจทาง Financing”

เรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา SME คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่ต้องมี
นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อดึงดูดผู้ซื้อให้ได้ จากนั้นคือเรื่องของการผลิต เรื่อง Finance และการทำ R&D ซึ่งต่างเป็นเรื่องที่สำคัญและสอดคล้องกัน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อควบคุมต้นทุน และควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ได้คุณภาพเป็นมาตรฐาน ในกรณีที่มีการขยายจำนวนการผลิต

เพราะจากการศึกษาหาข้อมูลถึงปัญหาส่วนใหญ่ของ SME ในอดีต คือ ไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้คงที่ได้ เมื่อมีจำนวนการผลิตมากขึ้น ซึ่งความพร้อมในวันนี้ ทุกคนมีความตื่นตัวตั้งแต่เรื่องของการลดค่าใช้จ่าย (Cost saving) การผลิต (Production) และการหาเครื่องมือและอุปกรณ์ (Equipment) ใหม่ๆ เข้ามาเสริมสร้างศักยภาพทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพและมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาด

อุตสาหกรรมดาวรุ่งและเข้มแข็งของไทย

โดยเฉพาะการโฟกัสไปที่ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นดาวรุ่งของอุตสาหกรรมไทย และแม้ว่าดาวรุ่งใน GDP หลักของประเทศจะอยู่ในส่วนของยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม แต่จำนวนผู้ประกอบการยังคงมีไม่มากนัก และตามที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีกำลังอยู่ในระหว่าง Disruption เช่น ยานยนต์ที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นระบบไฟฟ้า หรือยานยนต์ไร้คนขับ

ในขณะที่ “อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ SME ไปได้ง่ายที่สุด” ไม่ต้องมีการลงทุนที่สูงมาก การขยายสามารถค่อยเป็นค่อยไปได้

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสุขภาพ เป็นอีกอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่งและมีโอกาสเติบโต นั่นเพราะวันนี้กระแสการก้าวสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) กำลังเข้ามาอย่างชัดเจน เรามีวัตถุดิบในประเทศที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีกมาก โดยเฉพาะวันนี้ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเราก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ทั้งในด้านมาตรฐาน และความปลอดภัย จึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับอาเซียน รวมไปถึงสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ Aroma Therapy ศาสตร์ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยบำบัดเป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเข้มแข็งเป็นส่วนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตามที่กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกษตร ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ โดยวันนี้รัฐบาลก็มีนโยบาย EEC: Eastern Economic Corridor หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ต่างประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เข้ามานั้น มีเรื่องของ 10 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก S Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมเก่า 5 และใหม่ 5 ถือว่ามาถูกทาง แต่ที่สำคัญคือจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในประเทศมีส่วนร่วมอย่างไร

ปัจจัยในความสำเร็จของอุตสาหกรรมเข้มแข็ง

สุพันธุ์ มองว่านอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์ เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ "คนที่มีอยู่ต้องเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนไป" Skill set ต้องเปลี่ยน วันนี้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพราะเราพร้อมทุกอย่าง ขาดแต่เพียงเรื่องของคน

“ที่น่าเป็นห่วงคือเราขาดแคลน Engineer การสนับสนุนเรื่องนี้ต้องทำตั้งแต่การปรับปรุงด้านพื้นฐานการศึกษา ไม่ใช่ส่งเสริมให้จบแค่ปริญญาตรี เรื่องสาขานั้นเป็นสิ่งสำคัญ หรือหากไปต่อถึงปริญญาตรีไม่ไหวก็ต้องสนับสนุนไปในสายอาชีวะแทน ยกตัวอย่างวันนี้มีเด็กที่จบสาขาสังคมเป็นจำนวนมากเกินกว่าดีมานด์ในตลาด ในขณะที่เมกะเทรนด์ของวันนี้คือ engineer และไอที ซึ่งมีดีมานด์เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง เพราะดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกอุตสาหกรรม”

การที่เทคโนโลยีมีผลให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วนั้น เราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะวิวัฒนาการที่ทำให้สินค้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไลฟ์ไทม์ของผลิตภัณฑ์นั้นสั้นลง

ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยง (Take risk) ภาคอุตสาหกรรมวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ ต้องมีการปรับตัว สร้างโอกาสในการออกไปดูงาน ศึกษาผลิตภัณฑ์ งาน R&D ต้องทำอย่างหนักและต่อเนื่อง

ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ดำเนินการเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว องค์กรขนาดเล็กจำเป็นต้องพึ่งภาครัฐ เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์ และภาคการศึกษาเข้ามาช่วยในเรื่องของงานวิจัยอย่างเหมาะสม ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคเอกชนทั้งขนาดใหญ่และสตาร์ตอัพ

“เชื่อว่าการเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนตามที่กล่าวมานั้น จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการ SME ไทยมีความสำเร็จในธุรกิจ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตาม GDP ในวันนี้สัดส่วนของ SME ไทยมีเพียง 30% จากภาพอุตสาหกรรมรวม ซึ่งที่เหมาะสมนั้นควรจะอยู่ที่ 40% ขึ้นไป” 

กระแสความนิยมการขุดเหรียญดิจิทัล ทำให้มี miner หรือนักขุดเหรียญดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่กระแสนี้ก็มาแรงไม่แพ้กัน 

กิตติพงษ์ หิริโอตัปปะ นักพัฒนาในการออก ICO (Initial Coin Offering) อธิบายกับ นิตยสาร MBA ถึงหลักการขุดเหรียญดิจิทัลและที่มาของรายได้จากการขุดเหรียญ (Mining) ว่าผลลัพธ์และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขุดเหรียญนั้นมี 2 เรื่องหลักๆ  คือ

1. รายได้ที่เกิดขึ้นมาให้กับคนที่ขุด โดยนักขุดใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น
เครื่องมือในการถอดรหัส แก้โจทย์โดยการหาสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งคิดค้นขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีระบบ Blockchain (บล็อกเชน) เมื่อการขุดสำเร็จจะได้รางวัตอบแทนเป็นเหรียญ ตรงนี้คือที่มาของรายได้เหรียญหลากหลายสกุลที่เกิดขึ้น เช่น เหรียญสกุลดิจิทัลยอดฮิตอย่าง บิทคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) เป็นต้น

2. การ “แก้โจทย์” สมการทางคณิตศาสตร์ จากคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล หรือในภาษาทั่วไปที่เรียกกันว่า “การขุด” โดยคอมพิวเตอร์หลายเครื่องทั่วโลก ระดมสรรพกำลังแข่งขันกันขุด ซึ่งโปรแกรมการขุดเหรียญจะสุ่มเลข 1 ชุด แล้วโยนตัวเลขนั้นเข้าไป เนื่องจากสมการคณิต-ศาสตร์เป็นสมการที่แก้ไขได้ยาก สิ่งที่ Miner จะต้องทำคือการโยนค่าของผลลัพธ์ 1 ชุดที่คาดการณ์ความน่าจะเป็นเข้าไปโมดิฟายที่บิทคอยน์ (กรณีเป็นบิทคอยน์) ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ จะเหมือนกับการซื้อหวย เพราะบิทคอยน์ จะตอบผลกลับมาว่าใช่หรือไม่ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะถูกรีเจ็คท์ออกมา

โอกาสในการขุดและแก้สมการสำเร็จ จึงขึ้นอยู่กับสรรพกำลังในการโยนค่าผลลัพธ์ และการสุ่มตัวเลขให้ตรง นั่นหมายถึง พลังของ GPU หรือการ์ดจอในการขุด ยิ่งซื้อรุ่นที่มีราคาแพงมาก จะทำให้มีกำลังในการส่งสูง คือมีความสามารถในการคิดได้มากขึ้น

ประการต่อมาคือ ยิ่งส่งไปมาก โอกาสที่จะใช่ก็มีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการขุดแบบ Pool แต่คนที่ขุดคนเดียวก็สามารถทำได้ ใช้การ์ดจอราคาถูกโยนตัวเลขเข้าไปได้มา 10 บิทคอยน์ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะตามที่กล่าวคือ เหมือนการถูกหวย แต่โอกาสอาจจะยากกว่าการขุดแบบ Pool ซึ่งเป็นการขุดที่มีหลายคนมาร่วมกัน มีการ์ดเป็นจำนวนหลักพัน ช่วยกันโยนตัวเลขเข้าไป ทำให้ความเป็นไปได้จะมีมากกว่า ด้วยความสามารถตั้งแต่รุ่นของการ์ดจอที่มีราคาสูง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงพลังคอมพิวเตอร์ของการขุดร่วมกัน 

สำหรับรูปแบบการให้ผลตอบแทนนั้น กิติพงศ์กล่าวว่าเกิดจากการแก้โจทย์สมการว่า เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์โยนตัวเลขถูกแล้ว บล็อกเชนจะส่งผลตอบแทนมาที่ Pool แล้วหลังจากนั้น Pool จะกระจายรายได้ แบ่งรางวัลกันต่อไป ตัวอย่างเช่น 50 บิทคอยน์ หารเฉลี่ย 1 พันการ์ดจะได้คนละ 0.2 บิทคอยน์เป็นต้น

เมื่อติดตามสถานการณ์การขุดเหรียญ จะเห็นได้ว่ามือใหม่ขุดเหรียญในเมืองไทย ส่วนใหญ่เริ่มต้นขุดเหรียญจากการใช้โปรแกรม Nicehash ซึ่งจะมีการเลือกขุดเหรียญที่ให้กำไรดีที่สุดให้เลย นี่คือการขุดแบบง่ายที่สุดใช้โปรแกรมที่ Install ไว้ และซอฟต์แวร์สามารถทำทุกอย่างได้อย่างชาญฉลาดมาก แต่ข้อเสียก็คือเงินจะไป Pool กับ Nicehash และผลตอบแทนจะน้อยกว่าการไปขุดที่ Pool อื่นๆ จึงอาจจะมีนักขุดบางรายที่รู้สึกว่ารายได้น้อย และอาจขยับขยายไป Pool อื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า รายได้ต่อเนื่องกว่า และมีโอกาสในการขุดแล้วเจอบล็อกมากกว่า 

ถามว่า Pool ในเมืองไทย มีแนวโน้มอย่างไรบ้างนั้น มีคนที่เข้ามาทำบ้าง แต่ผลลัพธ์ไม่ค่อยดีมากนัก เพราะว่ามีกำลังน้อยกว่า Pool ในต่างประเทศ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามความเห็นส่วนตัว การตั้ง Pool ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ จำนวนเครื่องที่เข้าไปร่วมต้องมีจำนวนเริ่มต้นที่หลัก 1 พันการ์ดจอเป็นต้นไป 

สภาพตลาดในประเทศไทยย้อนหลัง 2-3 ปีตั้งแต่เริ่มมีการตั้ง Pool ขุดเหรียญนั้น ประสบปัญหาภาวะการ์ดจอที่เป็นเครื่องมือหลักในการขุดเหรียญ ขาดตลาดต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีตัวเลขที่คาดการณ์กันว่าประมาณ 20-30% ของจำนวนทั้งหมดเป็นของตลาดเกมเมอร์ ส่วนที่เหลือเป็นของตลาดขุดเหรียญ ซึ่งเป็นหลักหมื่นการ์ดจอ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตลาดเกมเมอร์มาก ทำให้เกิดการ
โก่งราคาขาย ไปจนถึงการเปลี่ยนโมเดลมาเป็นการขายพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ หากต้องการซื้อจะต้องซื้อที่ประกอบเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ครบชุด 

การทำมาร์เก็ตติงลักษณะนี้สร้างความไม่เห็นด้วยจากคนส่วนใหญ่ ในมุมมองของเกมเมอร์ จะมองเพียงแค่จะซื้อการ์ดจอทำไมต้องลงทุนซื้อชุด ซื้อ CPU ซื้อเมนบอร์ด ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่อง ในขณะที่บางคนหนีไปซื้อการ์ดจอจากออนไลน์ นำเข้าจากต่างประเทศ จะประสบปัญหาไม่มีการรับประกัน หรือกรณีมีประกันก็จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก เพราะผู้ซื้อต้องส่งอุปกรณ์เคลมตรงไปที่ต่างประเทศด้วยตนเอง 

กิตติพงษ์ กล่าวในมุมมองส่วนตัวคิดว่า การขุดเหรียญเป็นวิธีการลงทุนที่ทำรายได้อย่างคุ้มค่าดี ทั้งคุ้มค่าไฟฟ้า และคุ้มค่าเครื่องในจำนวน 10 การ์ดจอหรือ 10 เครื่อง โดยเทคนิคของการขุดคือต้อง Hold เอาไว้ให้ค่าเงินสูง 

“มีคนบอกว่า Mining ช่วงนี้ไม่ได้กำไร จะขาดทุน ซึ่งไม่จริง แต่เราชอบเอาเงินของคริปโตฯ ไปเทียบกับโลกจริง เมื่อเกิดการเปรียบเทียบ จะคิดว่าช่วงนี้ขุดคุ้ม ช่วงนี้ขุดไม่คุ้ม Strategy ของนักขุดที่อยากให้แชร์กันได้เลยคือ เขาจะเก็บเงินไว้ จนกว่าค่าเงินจะปรับขึ้น แล้วขายออกตอนนั้น ไม่จำเป็นต้องรีบขาย ส่วนใหญ่พวกเม่าที่เข้ามา จะรีบขายออกโดยเร็วที่สุดเพราะอยากคืนทุนเป็นเงิน Fiat ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงที่ไม่น่าขายอะไรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดซบเซาและราคามีความผันผวนสูง” 

นอกจากนี้ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ในระบบการกระจายบิทคอยน์แต่ละวันนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และจะมีการป้องกันคนที่มี Hashing power คือคนที่มีพลังการขุดสูงมาก แบบที่เข้ามาคนเดียวแล้วเก็บเงินไปหมด ดังนั้นโดยการจัดการของระบบ ถ้ามีนักขุดที่มีกำลังมากๆ เข้ามา ก็ยังคงได้เงินหนึ่งบาทเท่าเดิม เพราะมีการตั้งไว้แล้วว่าจะให้ 1 บาทใน 1 วัน ไม่ว่าใครจะมีการ Hashing power สูงเท่าไหร่ก็จะมาเก็บไปทั้งหมดไม่ได้ สำหรับบาทที่เหลือจะกระจายเป็นอัตราส่วนไปให้คนอื่นๆ ที่ขุด 

แม้ว่าการขุดเหรียญจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทว่าในด้านความคุ้มค่าและความสำคัญก็ยังคงมีอยู่เป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีคนขุดเหรียญ ก็จะไม่มีการค้นพบสมการใหม่ และไม่มีการแก้โจทย์สมการทางคณิตศาสตร์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่ง
นั่นหมายถึงการรันของเทคโนโลยีระบบ
บล็อกเชน จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ตลอดจนจะไม่มีเหรียญสกุลดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน 

ในบรรดาผู้รู้จริงในเรื่อง BLOCKCHAIN ของเมืองไทย ซึ่งมีกันอยู่ไม่มากนัก จักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน คือหนึ่งในนั้น เขาคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “Six Network” ที่ดูแลทางด้านเทคโนโลยี และ Blockchain ของกิจการ

จักรกฤษณ์ เป็น Serial Entrepreneur ที่ทำสตาร์ตอัพมาแล้วหลายกิจการ ตั้งแต่ Co-Working Space และการสร้างฮาร์ดแวร์ที่ใช้ทดสอบสัญญาณมือถือ ไปจนถึงการทำ SDK เพื่อการโอนเงินผ่านมือถือ ผ่านเสียงที่คนไม่ได้ยิน เรียกว่าผ่านงานในเชิง เทคโนโลยี + นวัตกรรม มาไม่น้อย

จักรกฤษณ์มองว่า หัวใจของบล็อกเชนคือเรื่อง “TRUST” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม

“บล็อกเชนทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เกิดความไว้วางใจกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลาง ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ในการโอนเงิน โอนข้อมูล หรือโอนมูลค่าให้กัน" เขากล่าว

ที่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะบล็อกเชนมัน "เปิดเผย"

เป็นการลงบัญชีที่เปิดเผย ทำให้ทุกคนเห็นและตรวจสอบธุรกรรมนั้นๆ ได้ โอกาสที่จะกลับมาแก้ไขค่อนข้างยาก ยกเว้นว่าต้องรวมหัวกัน

ดังนั้น มันจึงค่อนข้าง "ปลอดภัย" ด้วย สำหรับธุรกรรมบนโลกออนไลน์

"และเมื่อตกผลึกเรื่องนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าบล็อกเชน เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนทุกอย่างในโลกที่ต้องมีหน่วยงานกลาง โดยการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Smart Contract อย่างในกรณีของ Ethereum นั้น ช่วยให้ผู้คนจินตนาการถึง Business Model ได้อีกเป็นล้านอย่าง"

 

ทลายกำแพงคนกลาง

จักรกฤษณ์ได้ยกตัวอย่างการออกแบบ Business Model ของ Six Network เอง ที่ช่วยลดความสำคัญของตัวกลางลง

Six Network ออกแบบ Business Model โดยอาศัยการสร้างสมาร์ตแพลตฟอร์มบนบล็อกเชนที่เปิดให้ผู้ซื้อและผู้สร้างงานครีเอทีฟสามารถมาตกลงกันได้โดยตรง โดยอาศัย Smart Contract เป็นตัวช่วย

"สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ Platform โดยเราแบ่งเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ คือ Financial Service ที่เราจำลองหลาย Model ที่มีใน Traditional Finance Service เดิม เช่น Payroll เป็นต้น"

และในอนาคตอาจจะมี Assets to Loan เพื่อให้ธุรกิจทำงานคล่องมือมากขึ้น

ส่วนที่สองคือ Digital Asset Wallet เพราะคนในวันนี้ยังคงมอง Cryptocurrency Wallet เป็นเหมือนกระเป๋าเงินเก็บ Crypto แต่ในส่วนของ Six Network เรามองการดีไซน์ ว่าจะให้ครอบคลุมไปถึง Business Token ต่างๆ เช่น คูปองทางการค้า หรือ Token ที่มหาวิทยาลัยออกให้นักศึกษาเพื่อการ Access เข้าห้องสมุด หรือร่วมกิจกรรมของสถาบัน เป็นต้น

โดยในเครือข่ายกิจการของผู้ร่วมก่อตั้งของเรา เรามีลักษณะนี้อยู่มาก เช่นในเครือข่าย OOKBEE ก็มี Platform ต่างๆ หลายสิบแอปพลิเคชัน ให้อ่านหนังสือ ดูการ์ตูน วิดีโอ ฟังเพลง ในกลุ่มเกาหลีมีอีกเป็นร้อย

ในอนาคตพวกแต้มต่างๆ ของบัตรเครดิตที่จะหมดอายุ เราจะสามารถ Swap แต้มมาเป็น Six coins ให้เป็นประโยชน์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Win-Win และ Liquidity จะสูงขึ้น และแต่ละธุรกิจสามารถ apply เงื่อนไขขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายได้

ความคล่องตัวในการทำธุรกิจจะง่ายดายขึ้น การหาพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ สร้างความร่วมมือในเครือข่ายจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีภายในไม่กี่วัน หากพบพาร์ทเนอร์ที่ต้องการในเครือข่ายของ Six Network จะสามารถติดต่อ แลกเปลี่ยน Token กันได้เลย เริ่มทำธุรกิจได้ในเวลารวดเร็ว ต่างจากการเริ่มความร่วมมือทางธุรกิจในอดีตที่ยากลำบาก

 

 

นอกจากนี้ Digital Asset Wallet ยังมีส่วนช่วยในปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แพร่ขยายจากอิทธิพลการแชร์ไฟล์ดิจิตอล การฟ้องร้อง การตรวจสอบมีความยุ่งยาก แต่ Blockchain จะเป็นตัวช่วยในเรื่องนี้ เพราะสามารถทำให้เกิด Prove of Ownership (พิสูจน์หลักฐานการเป็นเจ้าของ) ได้

เราเพียงอาศัย Blockchain IP ที่เป็น Smart Contract ก็จะสามารถออกแบบ Business Model ได้เลยว่าจะแบ่งรายได้กันอย่างไรเมื่อมีผู้ซื้อผลงานแบ่งรายได้กันอย่างไร ระหว่างตัวศิลปินและคนที่มาช่วยขายซึ่งอาจจะเป็น Decentralize Application ที่มาช่วยขาย Concept ให้ คือศิลปินยังเป็นเจ้าของผลงานของตนเองอยู่ เพียงแต่กระบวนการจะช่วยเกลี่ยให้คนกลางมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

ส่วน Platform ที่สาม คือ Decentralized Commerce

ทุกวันนี้เรามี commerce จำนวนมาก ตั้งแต่ Level Marketplace ทั้ง EPay, Alibaba และที่เป็น Platform เช่น iTune AppStore และ OOKBEE เอง ซึ่งการรวมศูนย์หรือ Centralize อาจมีข้อเสียในแง่ที่ว่า เขาเป็นผู้ตั้ง Business Model ขึ้นมา บางที่มีเงื่อนไขของตนเองที่ให้เราต้องทำตามทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่ศิลปินเสียคือ Ownership เพราะนำทั้งหมดไปฝากไว้ที่ตัวกลาง

สิ่งที่ Six Network มอง คือเมื่อเราสร้าง Wallet ขึ้นมาแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดคุณเป็นผู้ดูแลเอง โดยผ่านทาง Smart Contract หรือ Service ต่างๆ ที่จะมาช่วย ในขณะที่ฝั่ง End-User ก็มีกระเป๋าเงิน ซึ่งมี Token ต่างๆ ในนั้นเหมือนกัน จะมีเพียง Decentralized App. ที่มี Platform เหมือน Marketplace เข้ามาวาง แต่คนสองกลุ่มนี้สามารถหากันเจอ และแลกเปลี่ยนกันได้ในต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมมาก และที่สำคัญคือหากตัวกลางนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีตัวกลางใหม่ยื่นมือเข้ามาเพื่อเสนอให้ใช้บริการของตนเองแทน เป็นกระบวนการ End to End ที่เมื่อจบกระบวนการ ได้เงินครบวงจร จึงไม่น่ามีข้อสงสัยถึงการเติบโตของ Token ที่นำไปใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

 

ข้อดีของ Stellar

Six Network มิได้ออก Token โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Ethereum เหมือนผู้ออก ICO ส่วนใหญ่นิยมทำกัน แต่กลับเลือกใช้เทคโนโลยีของ Stellar

จักรกฤษณ์เล่าเหตุผลเบื้องหลังการเลือกใช้ Stellar ครั้งนี้ว่า "เกิดจากการ Explore แบบลงลึกทางเทคโนโลยี"

"คือในเบื้องต้น เราจะเห็นว่าทั้ง Bitcoin และ Ethereum นั้น สามารถโอนเงินได้ทั้งคู่ โดย Bitcoin อาจจะมีค่าโอนที่สูงกว่าและช้ากว่า ด้วย Security Model ที่แน่นหนากว่า ส่วน Ethereum นั้นโอนเงินได้แบบไม่แพงมาก แต่ถ้าลองมารัน Smart Contract (Software) จะพบว่ามันยังไม่คล่องตัวเท่าใดนัก และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น"

"แต่ในทางกลับกัน Stellar มีระบบ Security เทียบเท่ากับ Ripple ซึ่งธนาคารนำมาใช้ และมีค่าใช้จ่ายต่อ Transaction ต่ำ รวมทั้งใช้เวลาสั้นมากเทียบเท่ากับการโอนเงินปกติในปัจจุบัน สะดวกต่อ Micro Payment ระดับ 10-20 บาท ซึ่งมองในวงกว้างแล้วตอบสนองได้มากกว่า และแฟร์กว่าระบบเดิมที่มีต้นทุนสูง เช่นสามารถเก็บเงินคนฟังเพลงได้เป็นรายวินาที เป็นต้น"

"ถ้าจะเปรียบเทียบแบบง่ายๆ สำหรับ Bitcoin วันนี้อาจจะใช้เพียงแค่การรับส่งเงิน ยังไม่มีอะไรมาก และช้า ส่วน Ethereum นั้น ทำอะไรได้มากมาย เปรียบเสมือนกับรถบรรทุก แต่ก็ช้า หนัก และแพง ในขณะที่ Stellar แกะโน่นแกะนี่ทิ้งหมด เปรียบเหมือนรถ F-1 ทำอะไรได้น้อย แต่ส่งเงินได้เร็วมาก เราจึงเลือกเทคโนโลยีนี้มาใช้ในส่วนที่เป็น Transaction Layer ของเรา เพื่อความรวดเร็วของธุรกรรม"

 

ข้อจำกัดของบล็อกเชน

กระนั้นก็ตาม บล็อกเชนก็เหมือนกับของใช้ทั่วไป ที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด

จักรกฤษณ์ได้ยกตัวอย่างข้อจำกัดอันหนึ่งที่น่าสนใจ

"ธรรมชาติของบล็อกเชนเป็นดาต้าเบส จึงไม่มีประสิทธิภาพที่ดีในการแบกอะไรที่ใหญ่มากและใช้ความเร็ว เช่น ไม่เหมาะจะนำมาทำวิดีโอ ตอนนี้ได้ทดลองบล็อกเชนตัวหนึ่งที่เป็น Chat เห็นได้ว่าช้ามาก" เขากล่าว

แต่เขามองอย่างมีความหวังว่า ในอนาคตก็น่าจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เพราะวันนี้เราเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีบล็อกเชน เท่านั้น 

เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความตื่นเต้นให้กับโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีการเชื่อมโยงกับโลกเทคโนโลยีจนกลายเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับคนในศตวรรษนี้ เราสามารถซื้อหาสินค้าออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อขายกองทุนหรือหุ้นผ่านแอปพลิเคชันบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือกันแบบง่ายๆ จนบอกได้ว่าข้อมูลของเราแขวนอยู่บนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก

Page 5 of 9
X

Right Click

No right click