On The New Chapter : ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์

March 28, 2019 4087

นิด้า : ภายใต้การเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในความน่าเชื่อถือ (Trust) จากสังคมมายาวนาน ความสำเร็จมีที่มาจากรากฐานการทำงานที่มีการส่งต่อและรับช่วงจากทีมบริหารชุดก่อนผ่านสภาสถาบัน

ภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยอัตราเร่งที่ไม่เหมือนเดิม ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงของทั้ง 5 ปีก่อนหน้านั้น ผู้บริหารและทีมบริหารในวาระนี้ถือกันว่าเป็น The New Chapter ของนิด้า ได้กำหนดนโยบายและแผนในการออกแบบอนาคตของสถาบันใหม่ภายใต้ธีม NIDA Transformation ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ปฐมบทใหม่ของนิด้าจะเข้ากับชุดของโอกาสและความท้าทายของสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างกลมกลืน มีความหมาย และมีความสุข คือคำกล่าวของ ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

“จุดเริ่มของเรามาจากแนวคิดที่ว่าเราจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างไร ภายใต้การคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การรวบรวมภูมิปัญญาหรือ Wisdom ที่เรามีเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลง โดยต่อจากนี้เราจะยึดโยงจุดแข็งที่สำคัญของสถาบัน ค้นหาความชัดเจนของเป้าหมาย กำหนดทางเลือก และสื่อสารให้ประชาคมนิด้าเข้าใจตรงกันว่าสามารถช่วยให้องค์กรไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างไร อย่างเช่นเป้าหมายสูงสุดที่สอดคล้องกับของอธิการบดีคือ การเติบโตอย่างยั่งยืน เราอยากทำให้คนรุ่นหลังที่มาอยู่ในนิด้ารู้สึกเช่นกันว่าเราทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้เพื่อเขา เหมือนที่เราเองก็รู้สึกว่าอาจารย์ในอดีตท่านได้ปูทางสร้างชื่อเสียงไว้ให้กับสถาบันของเราเยอะมาก บนความพยายามที่จะค้นหาจุดร่วมกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมและพวกเราอยากให้นิด้าเป็นอย่างไร” คือสิ่งที่ ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยังขยายถึงแผนและแนวทางในความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความชัดเจนก่อนนิด้าก้าวสู่ปีที่ 55 จากการแกะรอยค้นหาความสำเร็จในอดีต โดยพบว่าสิ่งที่นิด้าจะต้องทำให้เกิดขึ้นต่อไปให้ได้คือความศรัทธา (Trust) ของคนในสังคมต่อนิด้า รวมถึงความศรัทธาภายในองค์กรเองด้วย เพราะถ้ามีความเชื่อถือกันก็จะทำให้การทำงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยสิ่งที่จะเกิดตามต่อมาคือความยั่งยืนทางการเงิน สองสิ่งนี้จึงเป็นเป้าหมายที่เกื้อหนุนกันและกันส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวมของสถาบัน ความศรัทธาทำให้เรามีชื่อเสียง มีโอกาส ส่วนทรัพยากรทางการเงินที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เราสามารถลงทุนเพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือนั้นได้ต่อไปได้

ผศ.ดร. รักษ์พงศ์ ได้เผยถึงกลยุทธ์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของนิด้าว่า นิด้าประกอบไปด้วยเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกัน 4 ประเด็นคือ

  1. การเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้

       เริ่มต้นจาการออกแบบและปรับผลิตภัณฑ์ต่างๆของนิด้าที่มีคุณค่าสูงต่อกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งการจัดการการเรียนรู้ผ่านการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการผ่านการฝึกอบรมและการเป็นที่ปรึกษา และการจัดการทรัพย์สิน รวมไปถึงการขยายฐานผู้รับบริการ และการเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ๆของสถาบัน โดยนโยบายกำหนดว่าทุกห้องเครื่อง ทุกภาคส่วนในนิด้าทั้งส่วนหน้าบ้านและหลังบ้านจะร่วมกันยกระดับขีดความสามารถในการสร้างและส่งมอบคุณค่าสู่ผู้รับบริการและผู้ใช้บริการ

  1. เรื่องชื่อเสียง หรือ Reputation

       ชื่อเสียงและการเป็นที่ยอมรับของสังคมมีผลโดยตรงกับศรัทธาที่สังคมมีต่อนิด้า เราจะรักษาและต่อยอดชื่อเสียงของนิด้าทั้งในด้านการได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจากองค์กรระหว่างประเทศ การได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ การมีผลผลิตทั้งบัณฑิต งานวิจัย งานให้คำปรึกษา และผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีผลกระทบสูงต่อผู้ใช้ประโยชน์หรือเป็นทางออกของสังคม และตลดจนการรักษาและเพิ่มความประทับใจของผู้รับบริการที่มีต่อสถาบัน

  1. เรื่องความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงาน Operational Excellence

       คือในแง่ของการจัดการการเรียนรู้ที่ต้องปรับให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของคน เทคโนโลยีและความคาดหวังของผู้ใช้และสังคม ส่วนการเพิ่มความเป็นเลิศของการผลิตงานวิจัยจะไม่ใช่การมุ่งเน้นเฉพาะในเรื่องของทฤษฎี แต่ให้ความสำคัญกับการนำไปใช้ประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ งานบริการวิชาการก็เช่นกันเน้นแนวคิดของการออกแบบให้มีความผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ทุกด้านของการปฏิบัติการจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นวงจรของการเรียนรู้ มีการนำส่งองค์ความรู้จากรุ่นต่อรุ่นมาพัฒนาให้สรรค์สร้างและต่อยอดปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้กระบวนการหลังบ้านก็มีความสำคัญเช่นกัน ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ กล่าวว่า “เราเดินหน้าไปไม่ได้ไม่ไกลแน่ๆ ถ้าหลังบ้านไม่ร่วมด้วย หนึ่งในแผนงานที่สำคัญมาก คือการส่งสารเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจในความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายในนิด้า”

  1. เรื่องความเป็นเลิศของทรัพยากร Resource Excellence

       ความเป็นเลิศของทรัพยากรคือรากฐานสำคัญของการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ การมีชื่อเสียง และการมีขีดความสามารถในการสร้างรายได้  ทั้งคณาจารย์ผู้สอนในสาขาต่างๆ ความรู้ของท่าน ทักษะในการจัดการการเรียนรู้ ทักษะในการทำวิจัย รวมถึงบุลากรสายสนับสนุนที่มีความชำนาญและความเป็นมืออาชีพในงานด้านต่างๆ ตลอดจนการมีเครือข่ายความร่วมมือที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นเลิศในด้านต่างๆ การมีระบบข้อมูลสารสนเทศเชิงอัจฉริยะที่เป็นเลิศ และการมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและสนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ

 

ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ กล่าวขยายความในมุมมองนี้ว่า “นิด้ามีสินทรัพย์ที่มีคุณค่าสูง ทั้งบุคลากรสายอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนและศิษย์เก่าของเราซึ่งมีคนที่เก่งๆ เป็นผู้บริหารในองค์กรชั้นนำที่หลากหลายและมีความหมายต่อสังคมอยู่จำนวนมาก และองค์ความรู้หรือปัญญาที่สร้างขึ้นจากการจัดการการเรียนรู้ การวิจัย และการให้บริการวิชาการ ถ้ามองในเชิงธุรกิจเราจะมีกลุ่มกิจกรรมหลักของนิด้า 4 กลุ่ม คือ การจัดการการเรียนรู้ การวิจัย การบริการวิชาการ และการจัดการทรัพย์สิน ถ้ามองง่ายๆ จะเปรียบเสมือนรถที่มีอยู่สี่ล้อ และอยากให้ทุกล้อร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน (All Wheels Drive) โดยเป็นการขับเคลื่อน 4 กลยุทธ์ข้างต้น ผู้บริหารจะทำหน้าที่เป็น ECU คอยประมวลผลและควบคุมว่าต้องใช้การปรับแรงขับเคลื่อนอย่างไร และสายสนับสนุนจะเป็นห้องสูบที่สำคัญคอยส่งกำลัง ซึ่งเราอยากให้ทุกคนในนิด้ารู้สึกว่ามีช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ ตอบแทนนิด้าของพวกเรา ทำเพื่ออนาคตนิด้าของพวกเรา และเมื่อสำเร็จเขาก็จะภูมิใจ สุขใจ เมื่อถึงเวลานั้นสมาชิกของนิด้ารุ่นถัดไปก็จะรู้สึกขอบคุณสิ่งที่พวกเราได้ทำไว้ให้พวกเขา”

สิ่งท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงตามกลยุทธ์ คือ ความเพิกเฉยหรือความเคยชินกับความไม่เป็นเลิศ ปัญหาข้อจำกัด หรือการอดทนทำสิ่งเดิมๆ ซึ่งอาจมีคุณค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับทางเลือกใหม่ๆ โดย ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ มองว่าปัญหาเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไข ทำให้ทุกคนเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการพยายามผลักดันให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น กล้าคิดกล้าทำ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน โดยหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาต้อง Service ทีมเพื่อให้ลูกน้องมีไฟและส่งแรงกลับมา มีความน่าเชื่อถือระหว่างกันทั้งระหว่างเพื่อนร่วมงานและกับฝ่ายบริหารจะส่งผลให้กระบวนการทำงานง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากการเป็นสถาบันสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการบริหารภาครัฐ นิด้ายังมีภารกิจในการผลิตและสร้างคุณค่าทางสังคมให้กับประเทศไทยในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เช่น เข้าไปทำโครงการช่วยวางรากฐานให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกรักพื้นที่ของตัวเอง คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่มีพันธกิจมุ่งเน้นจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ และคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีส่วนในการสร้างหรือจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรให้มีคุณภาพและสามารถสร้างคุณค่าอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้คือความต้องการที่จะเป็นทางออกในแต่ละด้านของการพัฒนาประเทศควบคู่ไปด้วยกัน ภารกิจต่างๆเหล่านี้ของนิด้าจึงเติมเต็มและบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารการพัฒนาของ องค์กร สังคม และประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

“ผมยังเชื่อว่ามีเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่อยากรวยเร็ว แต่เป็นกลุ่มที่เข้าใจโลกได้เร็วขึ้น อาจจะเข้าใจได้เร็วกว่าผู้ใหญ่สมัยเราด้วยซ้ำว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเขา เพียงแต่ว่าเขาต้องการเครื่องมือชุดใหม่ที่อาจจะต้องถูกปรับจูนจากของเดิมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน กรณีตัวอย่างเช่น ชาวบ้านกดมือถือกู้เงินได้ องค์ความรู้ที่เขาต้องมีควรจะเป็นอย่างไร คงไม่ใช่การเอาหนังสือไปให้เขาอ่านหรือไปสอนเขา เพราะฉะนั้นทางออกในการเข้าไปช่วยบริหารการพัฒนาสังคมจะต้องมีความลุ่มลึกมากขึ้น มีความเข้าใจผู้ใช้งานหรือกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งมากขึ้น  ถ้าเราเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น เราก็จะมีคุณค่า มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อมองปัญหาหรือความท้าทายของประเทศ ผมกลับมองว่าความท้าทายในด้านเศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองเพราะมีกลไกเป็นของมันเองและมีองค์ความรู้ที่เพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่หลายๆประเทศยังคิดหาทางแก้ไขไม่ตกผลึกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปัญหาหรือความท้าทายทางสังคม เช่น ความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น ซึ่งคงเป็นความรับผิดชอบที่สังคมคาดหวังต่อนิด้า” คือมุมมองและความเห็นของ ผศ.ดร รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
ภาพ : เตชนันท์ จิรโชติรวี

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:07
X

Right Click

No right click