วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ คว้าแชมป์แข่งขันฝีมือแรงงานระดับภาค ผลิตบุคคลากรฝีมือตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรม

July 18, 2019 2559

วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มุ่งผลิตนักศึกษาตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลัก พร้อมนำเสนอตัวอย่างนักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษา ซึ่ง นายกัมปนาท ถ่ายสูงเนิน หัวหน้าวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ตามนโยบายของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีการจัดการเรียนการสอนระดับเทียบเท่าคณะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศูนย์กลางนครราชสีมา มีความโดดเด่นในการจัดการศึกษาซึ่งมุ่งเน้นด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตามปณิธานที่ตั้งไว้คือ สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพจึงเป็นวิทยาลัยที่ผลิตนักปฏิบัติด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนตอบสนองประชาคมอาเซียน

ปัจจุบันวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 กลุ่มวิชา ดังนี้ กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม ประกอบไปด้วย 5 โปรแกรมวิชา คือ การบัญชี การเงิน  การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการจัดการธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มวิชาช่างอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย 10 โปรแกรมวิชา ได้แก่ ช่างโยธา ช่างกลโรงงาน ช่างผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์  ช่างอิเลคทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์  ช่างจักรกลหนัก  ช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง  ช่างโลหะ และช่างไฟฟ้าซ่อมบำรุงระบบราง เราต้องการสร้างนักศึกษาที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบันไปถึงอนาคตจะมีจำนวนเครื่องบินเพื่อการเดินทาง การท่องเที่ยวต่างๆ และการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น และมีความต้องการการบำรุงและการซ่อมแซมมากขึ้นไปด้วย เรามีสนามบินนครราชสีมาที่จะเป็นสถานที่รองรับการฝึกฝีมือและการทำงานด้านอุตสาหกรรมการบินได้ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เพราะประเทศไทยต้องการความยั่งยืนด้านชีวภาพ และการกำหนดมาตรฐานด้านชีวภาพกับการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก ทำให้เรามามุ่งเน้นเรื่องของไบโอพลาสติกที่ใช้ในการทำหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายและการส่งออกที่กำลังเป็นที่จับตาของนักลงทุนทุกชาติ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงมากในการดำรงชีพ โดยเฉพาะ ระบบอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นอุตสาหกรรมด้านการรักษาพยาบาล ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพตระหนักในเรื่องการลงทุนด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล

วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพมุ่งเน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติให้เกิดความเชี่ยวชาญ จึงได้เชิญภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการวิทยาลัยนวัตกรรมร่วมด้วย โดยจะมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ มทร.อีสาน สมาคมคุณวุฒิวิชาชีพ และสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนในการดำเนินงานของวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพตามกรอบสภา มทร.อีสาน ในอนาคตเราจะเดินต่อในเรื่องการนำนวัตกรรมด้านไมสเตอร์ (Thai-Meister) ของประเทศเยอรมันเพื่อสร้างช่างเฉพาะทางอย่างจริงจัง นวัตกรรม B-Tech และ CDIO เข้ามาจัดการเรียนการสอน เพื่อให้วิทยาลัยนวัตกรรมฯ เป็นต้นแบบที่สามารถใช้กับสถานศึกษาอาชีวะได้ทุกแห่งทั่วประเทศ 

ในปี 2563 วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ กำหนดให้มีหลักสูตรช่างเทคนิคระบบรางและช่างซ่อมบำรุงไฟฟ้าระบบราง เพื่อผลิตนักศึกษาให้ตอบโจทย์ เรื่องอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประเทศไทย เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่าง กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา รวมถึงอุตสาหกรรมรถรางเบาในกรุงเทพมหานคร เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีม่วง สีแดง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น และแถบยุโรป ติดต่อเข้ามาแจ้งความประสงค์ในการรับนักศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพในการฝึกงานด้านการค้าปลีก สิ่งเหล่านี้จะเป็นการต่อยอดที่นักศึกษาสามารถสร้างมูลค่าและค่าแรงให้ตนเองได้

ในปี 2564 เราจะทำหลักสูตรรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV Car ที่จะตอบโจทย์ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตและหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ ได้ร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ EASA ในการส่งบุคลากรไปดูงานที่บริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน รวมถึงการลงนามความร่วมมือกับสนามบินนครราชสีมา เพื่อใช้สนามบินในการฝึกงาน และอบรมการทำงาน รวมทั้ง บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซนเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบินที่จังหวัดนครราชสีมา เราพยายามเติมเต็ม ต่อยอด เพื่อวิทยาลัยนวัตกรรมเราจะได้มีเอกลักษณ์อย่างจริงจังเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ตามวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพพยายามสร้างมาตรฐานไมสเตอร์ (Thai-Meister) ของประเทศเยอรมันให้เกิดขึ้นในทุกมิติ รวมถึงการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ตอบโจทย์และรองรับการเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศหรือต่อยอด 10 อุตสาหกรรมของประเทศไทย  โดยกระบวนการหนึ่งคือการส่งนักศึกษาไปแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั้งระดับภาค และระดับประเทศ ตามศาสตร์และเชี่ยวชาญที่เรียนมา ผลคือ นักศึกษาของเราได้รับรางวัลต่างๆ มากมายและล่าสุดคือการไปคว้ารางวัลจากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค จัดโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติครับ

อาจารย์ภากร นาคศรี ผู้ควบคุมทีมและอาจารย์ประจำสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ กล่าวว่า ทราบข่าวจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 5 นครราชสีมา ว่ามีการการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพมีนักศึกษาสายช่างบริหารธุรกิจ ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงแนะนำให้นักศึกษาสายช่างและสายบริหารเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้มีเวทีในการแข่งขันและได้ฝึกประสบการณ์ในเวทีระดับประเทศ ซึ่งนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ สามารถทำผลงานได้ดี คือ ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง อันดับ 1 กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต  สาขาอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรางวัลเหรียญทองแดง ด้านเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) และ รางวัลเหรียญทองแดง กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้านเว็บดีไซน์  ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ดีมากครับ

นายรุ่งเลิศ แซ่แต้ หรือ ต่าย นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 โปรแกรมวิชาอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว จึงตั้งใจที่จะเข้ามาศึกษาต่อในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ เพราะที่นี่มีนโยบายในการสร้างผู้เรียนให้มีความชำนาญในการออกแบบวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมบำรุงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรมใช้ควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้มข้น เมื่อได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนแล้ว จึงได้รับความรู้ เกิดความมั่นใจและสนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 28 ระดับภาค ด้วยผลงานการเขียนโปรแกรมด้วยโปรแกรมอาดุยโน่ (Arduino)ใช้บอร์ด STM 3.2 ในการควบคุมหลอดไฟ LED และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ  รวมถึงการประกอบวงจรให้สมบูรณ์แบบที่สุด ก่อนที่จะไปแข่งขัน ผมพยายามฝึกฝนฝีมือตนเองอย่างหนัก  และใช้ความรู้ที่ได้จากวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มาสร้างชิ้นงานในครั้งนี้จนประสบความสำเร็จและมีจุดบกพร่องน้อยที่สุด กอปรกับทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดีซึ่ง เมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค ก็รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก สุดท้ายขอขอบคุณสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ ขอบคุณสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผมได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับภาค สำหรับการแข่งขันระดับชาตินั้น ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นเคยครับ  

Last modified on Monday, 28 March 2022 18:38
X

Right Click

No right click