×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

เรียนรู้แบบไม่กดดัน

December 04, 2017 3560

รศ.ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยเขียนบนความ “Learning Platform หนึ่งเดียวในโลกที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงในนิตยสาร MBA” 

 

ฉบับเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 http://news.mbamagazine.net/index.php/people/intelligent-network/item/270-learning-platform บอกเล่าวิธีจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ความต้องการของผู้เรียนรวมถึงตลาดแรงงาน

 

เพราะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้จัดการเรียนการสอนในการพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับคนยุคใหม่ จากบทความสรุปทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 เริ่มจากความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการพัฒนาคุณลักษณะ ต่อด้วยความกว้างในสหวิชาและความลึกในความรู้แห่งวิชาชีพ ต่อยอดด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และเข้าสู่โลกแห่งการทำงานจริงเป็นขั้นตอนสุดท้าย 

 

เรามีโอกาสไปพูดคุยกับ รศ.ดร.สิริวุฒิ เกี่ยวกับการเรียนการสอนยุคใหม่ จึงอยากจะหยิบยกตัวอย่างการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่นำมาใช้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตทั้ง MBA และ Executive MBA ของคณะ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร (Learner-friendly Environment) โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นว่า

 

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) มาเยี่ยมพร้อมจัด Workshop ให้กับคณะเรา  โดยตั้งคำถามน่าคิดมากว่า จำเป็นไหมที่เราต้องวัดผลการเรียนด้วยการสอบ ท่านถามแบบนี้ ผมก็นำมาลองปรับใช้กับนักศึกษา MBA และ Ex-MBA  โดยล่าสุดผมก็ทำโพลถามนักศึกษาว่า ข้อไหนเป็นจริงที่สุดสำหรับตัวนักศึกษาคือ หนึ่ง การเรียนโดยไม่ต้องมีการสอบ แต่มีสื่อการสอนให้ทบทวนเองพร้อมกับมีการติดตามผลการเรียนแบบไม่กดดันอย่างที่ทำอยู่นี้ดีกว่ามีการสอบ สอง ถ้าเรียนโดยไม่มาสอบ นักศึกษาก็ไม่ถูกบังคับก็จะไม่ตั้งใจเรียนทำให้ได้ความรู้ไม่เต็มที่ มีนักศึกษาแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบข้อสอง ซึ่งคิดว่าตัวเองจะบังคับตัวเองไม่ได้” 

 

เทอมนี้เป็นครั้งแรกที่มีการทดลองเรียนโดยไม่มีการสอบปลายภาค เพื่อให้การเรียนอยู่ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร แต่มีการสอบย่อย (Quiz) ซึ่งมุ่งไปที่การให้ Feedback กับนักศึกษาว่าเก็บเกี่ยวบทเรียนเชิงทฤษฎีได้มากน้อยเพียงใดไม่ใช่ในฐานะเครื่องมือการสะสมคะแนนเพื่อตัดเกรด แต่ใช้การวัดผลจาก Action Learning ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา รศ.ดร.สิริวุฒิ เห็นร่องรอยของผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น 

 

“เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า ถ้าไม่สอบเด็กจะไม่ตั้งใจเรียน เอาเข้าจริงๆ พบว่าเมื่อก่อนนักศึกษาจะเกาะเกี่ยวกับการเรียนเฉพาะในห้องเรียนกับก่อนสอบ และเป็นความรู้แบบเร่งรัดอัดเอาใส่ตัวเพื่อให้สอบผ่าน ซึ่งแป๊บเดียวก็ลืม แต่วิธีการใหม่นี้กลับกลายเป็นว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนรู้มากกว่าเดิม ตั้งแต่การท้าทายก่อนเรียน ระหว่างเรียน เมื่อจบแต่ละตอนของเนื้อหา ก็จะมีสรุปสาระสำคัญประมาณ 15-20 นาทีที่นักศึกษาสามารถทบทวนด้วยตนเองในเวลาที่สะดวก ตามด้วยการทดสอบย่อยๆ ที่มาพร้อมเฉลย ทำไปทำมากลายเป็นว่าเขาอยู่กับการเรียนรู้บ่อยขึ้น ค่อยๆ ซึมซับองค์ความรู้ และย้ำทวนความรู้บ่อยกว่าสมัยก่อนคือ ไม่ต่ำกว่า 5 รอบ  จนทำให้มั่นใจได้ว่าการวัดผลด้วยข้อสอบไม่จำเป็น” 

 

รูปแบบการเรียนการสอน แม้จะไม่มีการสอบปลายภาคแต่มีการสอบย่อยซึ่งคะแนนไม่ได้มากจากการตอบถูก แต่มาจากการมีส่วนร่วมในการทำข้อสอบ รศ.ดร.สิริวุฒิอธิบายว่า “คณะเรามี แอปพลิเคชัน ชื่อ AccBA Gamification ที่ใช้เล่นเกมกับนักศึกษา เมื่อนักศึกษา Login ก็รู้เลยว่าคำตอบนี้เป็นของนักศึกษาคนไหน เป็นแอปพลิเคชัน ในมือถือที่ผมใช้สอบย่อยบ้างถามคำถามบ้าง คำถามที่ขึ้นมาในมือถือของเขา อาจเป็นแบบเลือกตอบ พิมพ์เป็นตัวเลขหรือเป็นคำ แล้วเซิร์ฟเวอร์ตรวจบอกให้เลยตอนนั้นว่าตอบถูกหรือผิด” 

การสอบย่อยผ่านแอปพลิเคชันเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างเต็มที่  เพราะเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถทดสอบวัด Feedback ให้กับตัวเองแม้ในวันที่จำเป็นต้องขาดเรียน เพราะทำจากที่ใดก็ได้ โดยผลคำตอบที่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่ได้เรียนไปและเปิดโอกาสให้ผู้สอนสามารถทบทวนเนื้อหานั้นได้อย่างทันท่วงที 

 

รศ.ดร.สิริวุฒิยังมีตัวช่วยให้นักศึกษาเพิ่มเติมด้วยการทำพาวเวอร์พอยต์สรุปเนื้อหาสำคัญที่ได้เรียนไปประกอบกับเสียงบรรยาย เพื่อให้นักศึกษาสามารถเปิดทบทวนได้ตามที่ต้องการ “เขาได้เรียนกับผมครั้งหนึ่งแล้ว และเขามีคลิปที่ทบทวน Concept หลักๆ และเข้ามา Quiz  ในห้องซึ่ง ตอน Quiz เสร็จผมก็โพสต์คำถามและคำตอบให้ดูเลยว่า ถ้าเขาตอบไม่ถูกเพราะอะไร ข้อใดที่มีคนตอบผิดมากๆ ระบบก็แสดงเป็นกราฟให้เห็นทันที ผมก็จะย้ำเฉลยอย่างละเอียด พร้อมกับเป็นข้อมูลปรับปรุงการบรรยายของผมเอง เพราะการที่สอนแล้วแต่เมื่อวัดผล คนส่วนใหญ่ตอบผิดอาจเป็นเพราะตัวเราเองอธิบายไม่ชัดหรือย้ำไม่มากพอ เป็นต้น  บางทีออกข้อสอบย่อยแบบ True/False ก็มีเทคนิคส่วนตัวผมคือ Concept ไหนที่สำคัญผมจะเขียนประโยคนั้นให้ False เพื่อที่ เวลาทำเฉลยจะได้ถือโอกาสบอกย้ำอีกทีว่าประโยคที่ว่าถ้าจะเขียนให้เป็น True ที่ตรงกับคอนเซ็ปที่ถูกต้องต้องเป็นอย่างไร กุศโลบายนี้ก็ทำให้นักศึกษาได้ย้ำทวนบทเรียนอีกรอบ กระบวนการสุดท้ายก็คือการทำ Action Learning Project ที่นักศึกษาต้องเอาความรู้ที่เขาได้จากการเรียนรู้โดยไม่กดดันเหล่านั้นไปใช้ตอบโจทย์จริงจากภาคเอกชน ตัวผมและนักศึกษาก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการ ซึ่งก็วัดผลจากการนำเสนอ และการสะท้อนความคิดถอดบทเรียนหรือ Reflection ที่เขาเรียนรู้ Learning Outcome ดีกว่ามานั่งสอบ”

 

“เราไม่ได้อยากให้นักศึกษาได้สอบคะแนนดีๆ เราอยากให้เด็กมีความรู้ มีทักษะต่างๆ เราจะทำอย่างไรให้การสอนเป็นการเรียนรู้ภายใต้ Non Pressure Condition เราก็รู้อยู่แล้วคนเราทำอะไรภายใต้แรงกดดันทำได้ไม่ค่อยดี คนบางคนเรียนดีรู้เรื่องแต่ไม่ชอบทำข้อสอบ ทำข้อสอบไม่เป็น ฉะนั้นคะแนนก็ไม่เคยได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ฉลาดไม่รู้เรื่องไม่ได้เรียนรู้ อาจจะวิธีการวัดผลไม่แฟร์กับเขา ผมก็ลองเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นว่าก็ไม่ได้ทำให้เขาตั้งใจเรียนในห้องน้อยลง ไม่สอบเลยไม่ตั้งใจเรียนอะไรอย่างนี้ แต่ผมคิดว่า เพราะเขาเรียนรู้มากขึ้นและถูกกุศโลบายของเราให้ทบทวนบ่อยขึ้น พอความรู้ใหม่มาอันเก่าก็ยังไม่ลืม เขาเรียนสนุกขึ้นและเราผูกพันกับเขา และดึงให้เขาอยู่กับการเรียนรู้ตลอดเวลา ผมว่าบรรยากาศเป็นอีกแบบหนึ่ง ทำให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งผมก็รอดูผลในระยะยาวด้วยเหมือนกันว่าถ้าทำอย่างนี้ไปหลายๆ เทอมจะเป็นอย่างไร”

 

เมื่อจบจากการสัมภาษณ์ นิตยสาร MBA เดินออกจากห้องทำงานของ รศ.ดร. สิริวุฒิ  คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับเห็นภาพอย่างแจ่มชัดว่า การเรียนการสอนรูปแบบที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างอุปนิสัยใฝ่รู้ผ่านกระบวนการพันผูกระหว่างศิษย์กับครู ผ่านการทบทวนความรู้อย่างต่อเนื่องโดยสมัครใจ และได้ฝึกฝนจากกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับสามารถติดตามวัดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนไปแล้วโดยไม่กดดัน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่น่าสนใจสำหรับ MBA ยุคปัจจุบัน   

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : นรินท์ เหล่ารุจิรากุล

Last modified on Monday, 04 December 2017 04:50
X

Right Click

No right click