วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีประชันคนรุ่นใหม่ “โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 2 จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ปั้นคนรุ่นใหม่สู่สุดยอดนักกลยุทธ์ ติดอาวุธผู้ประกอบการในอนาคต เผยทีม Leppard โรงเรียนวารีเชียงใหม่คว้าแชมป์ไปครอง

ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษามุ่งมั่นในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และ ทักษะการตัดสินใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ในปีนี้ทางวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  (DPU) ได้ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมชนะเลิศ โดยการแข่งขันที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567  ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

โดย CIBA และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของประเทศให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยร่วมมือร่วมใจกันจัดงานวันนี้ เพื่อเป็นเวทีให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษา ได้ฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านโปรแกรม MonsoonSim

ดร. วรัญญู ศรีเชียงราย หัวหน้าหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) DPU และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า CIBA จัดเวทีแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 2 เป็นเวทีที่ชวนน้อง ๆ ม.4-6, ปวช. 1-3 หรือเทียบเท่า มาร่วมเปิดประสบการณ์การทำธุรกิจ และพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

ในปีนี้มีน้อง ๆ จากทั่วประเทศให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 38 ทีม โดยแบ่งออกเป็นทีมละ 3 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใช้ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะของการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ผ่านเกมจำลอง (Business Simulation) MonsoonSim ซึ่งเกมนี้เป็นการช่วยฝึกทักษะนักวางแผนโลกเสมือนที่สร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินธุรกิจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ

“เกมจำลองนี้สามารถนำธุรกิจในโลกปัจจุบันมาให้น้อง ๆ ได้ฝึกคิด วิเคราะห์ดาต้า และวางแผนได้อย่างดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ บริการต้นทุนอย่างไร และคู่แข่งขันเป็นใครบ้าง ซึ่งก็ได้ให้โจทย์ให้พัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร. วรัญญู กล่าว

สำหรับการตัดสินใช้ตามเกณฑ์ชี้วัดทางธุรกิจ แบ่งเป็น Operation Expense, Space Utilization, Market Share, Revenue และ Net Profit โดยการแข่งขันเกม MonsoonSIM จะแบ่งเป็น 2 รอบ ๆ ละ 100 คะแนน  รวมเป็น 200 คะแนน

โดยรางวัลชนะเลิศในปีนี้ได้แก่ ทีม Leppard โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 2, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Blue Horizon โรงเรียนวารีเชียงใหม่, รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม BualoyMhoogrob โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี , รองชนะเลิศอันดับ 3 ทีม We Bare Bears โรงเรียนราชวินิต บางเขน กรุงเทพฯ

ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยได้แก่ ทีม FWB (friend with business) โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต กรุงเทพฯ , ทีม LIPTON โรงเรียนเทพศิรินทร์ จ.นนทบุรี และ ทีม SB school โรงเรียนสว่างบริบูรณ์วิทยา จ.ชลบุรี

“การแข่งขันจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีความตั้งใจให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้โลกธุรกิจก่อน โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะเรียนจบแล้วออกไปทำงาน วันนี้ทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันมีโอกาสใช้ทุกทักษะความรู้ด้านการตลาด การขาย และการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าผ่านเกมจำลอง (Business Simulation) MonsoonSim ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความรู้ก่อนที่น้อง ๆ ได้เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี”  ดร. วรัญญู กล่าว

 ด้านทีม Leppard ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ “โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย นายธนัท น่วมอนงค์ (จ๊อบ) , นายภูณภัฑฐ จูฑะพุทธิ (ภู) และ นายรอนนี่ นริศ สตุดวิค (รอนนี่)  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้อง IDIP (International Digital Innovation Program จาก โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

โดยผู้ชนะจากทีม Leppard ทั้ง 3 คน ร่วมกล่าวเปิดใจว่า “รวมทีมและเตรียมความพร้อมกันประมาณ 1 เดือนก่อนวันแข่งขันจริง และ เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นได้รับโจทย์ให้วางแผนการทำตลาดน้ำผลไม้ ทำตลาดในเอเชียก็เริ่มวางแผนกันในเกม พร้อมกับแบ่งหน้าที่กันทำงาน ได้แก่ การนำเข้าส่งออกสินค้า การกำหนดราคา และการตลาด จากนั้นก็ช่วยกันวิเคราะห์ และกำหนดกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมอีเวนท์ การปรับราคาในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการเลือกใช้มีเดีย ซึ่งจุดแข็งของทีมที่สามารถชนะในปีนี้ได้นั้น คิดว่าเป็นการวางแผนเพื่อลดต้นทุนและการกำหนดราคา  รวมทั้งการสื่อสารในทีมที่ทำกันได้ดี ตั้งใจว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้รับในการร่วมแข่งขันนี้ไปใช้กับการทำธุรกิจในอนาคต”

โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 เป็นอีกหนึ่งเวทีพัฒนาทักษะและแผนงานธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมปรับตัวทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร

“การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะการวางแผน วิเคราะห์ ตัดสินใจ และการสื่อสาร พร้อมรับกับความท้าทายใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนการสอนของ CIBA ที่เปิดโอกาสของการเรียนรู้ และมีประสบการณ์จริงระหว่างการศึกษา เพื่อให้ได้ฝึกคิดกลยุทธ์ แล้วหาคำตอบผ่านเกมจำลอง เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอนาคต” ดร. วรัญญู กล่าวเสริมในตอนท้าย

ณ วันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกอย่างล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “กฎหมาย” ก็เช่นกัน มีความท้าทายทางด้านกฎหมายมากมายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคม เนื่องด้วยทุกอย่างล้วนมีกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

แน่นอน !! เมื่อโลกเปลี่ยนไปหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์ ย่อมไม่เหมือนเดิม..

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ภายใต้การนำของ
“ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ คนที่ 11 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา จะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร ? เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

ด้วยประสบการณ์การทำงานของ “ดร. สุทธิพล” ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งในสำนักงานทนายความขนาดใหญ่ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่ Law Firm ชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ผู้พิพากษาและเลขานุการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ผู้พิพากษาและเลขานุการศาลแพ่ง โฆษกศาลยุติธรรมคนแรก รองเลขานุการศาลฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการตรวจการแผ่นดิน (คตง.) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ล่าสุดตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการศึกษา “ดร.สุทธิพล” มุ่งมั่นจะนำประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในแวดวง กฎหมายธุรกิจและการบริหารมาสู่การพัฒนานักศึกษานิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU ให้เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญมีความรอบรู้กฎหมายและสหวิทยาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

นิติฯ ยุคใหม่ต้องคิดเป็นไม่เน้นท่องจำ-สร้าง DNA ให้มีใจยุติธรรม

“ดร. สุทธิพล” กล่าวว่า แม้กระบวนการร่างกฎหมายอาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ก็มีการพัฒนากฎหมายใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนแตกต่างไปจากเดิม ข้อพิพาทต่างๆ ในสังคมก็เปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU มีการปรับตัวและปรับวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีข้อได้เปรียบ คือ มีคณาจารย์ทั้งภายในและภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมี Facility ส่วนกลางที่ทันสมัย เช่น ระบบห้องสมุด ระบบการค้นคว้าออนไลน์และระบบเทคโนโลยีล้ำสมัย ดังนั้น DPU จึงผลิตนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ไม่ได้จำกัดให้รอบรู้เฉพาะตัวบทกฎหมาย แต่มุ่งผลิตนักกฎหมายที่ต้องใช้กฎหมายช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย

“หลักสูตรการเรียนการสอน ต้องให้นักศึกษาเข้าใจในตรรกะต่างๆ คิดและวิเคราะห์เป็น ไม่เน้นท่องจำ นักกฎหมายยุคใหม่จะมีความเชี่ยวชาญด้านตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้รอบด้าน และต้องเขียนให้เป็น สื่อสารหรือให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อื่นได้ชัดเจน ถูกต้อง ตรงประเด็น ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่ต้องรอบคอบและรัดกุม ต้องทำงานร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายได้ดี เพราะอาจต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ภาคธุรกิจ เทคโนโลยี การเงินการธนาคาร ล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น

ฉะนั้น จึงต้องผลิตนักกฎหมายที่มีความเป็นผู้นำ (leadership skill) สามารถนำกฎหมายไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่างๆ ได้ เพราะสิ่งที่จะเจอในความเป็นจริง อาจไม่ได้อยู่ในตำรา เราจึงต้องฝึกความพร้อมให้นักศึกษาสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องย้ำให้อยู่ใน DNA ของนักศึกษานิติศาสตร์ฯ DPU คือ การตั้งอยู่บนหลักการของความถูกต้องโปร่งใสและยุติธรรม โดยไม่หวั่นไหวไปตามกระแสหรืออิทธิพลใดๆ” ดร.สุทธิพล กล่าว

 

ลุย Reform หลักสูตร-นักกฎหมายรุ่นใหม่ ต้องรู้รอบด้าน

ขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สำหรับการผลิตนักศึกษากฎหมายคณะนิติศาสตร์ฯ DPU ใหม่โดยเร็ว “ดร. สุทธิพล” จะนำประสบการณ์ ความรู้ และเครือข่ายจากการทำงานในแวดวงกฎหมายและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา นอกเหนือจากการเพิ่มเติมทักษะที่นักกฎหมายรุ่นใหม่ ต้องมี โดยเน้นในเรื่องคุณภาพเพราะต้องการเข้าไปดูแลและติดตามให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง

“ดร. สุทธิพล” ย้ำอีกว่า นักกฎหมายรุ่นใหม่ต้องมีความพร้อมในการปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงคณาจารย์และบุคลากรของคณะต้องอัปเดตความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมต้องทำงานเชิงรุกและใกล้ชิดกับนักศึกษามากขึ้น โดยจะปรับปรุงสัดส่วนของจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ที่ปรึกษาให้น้อยลงเพื่อให้คำปรึกษานักศึกษาได้อย่างทั่วถึง และปรับการเรียนการสอนโดยเชื่อมโยงกับคณาจารย์ของคณะอื่นๆ และวิทยาลัยต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี อาจารย์ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีจะเป็นผู้เข้ามาช่วยเติมเต็มนักศึกษาในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น รวมถึงการเชิญกูรูหรือนักกฎหมายที่มีประสบการณ์ในสายปฏิบัติ เช่น อาจารย์ที่บรรยายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา เข้ามาสอนเพื่อเสริมการเรียนการสอนกฎหมายภาควิธีสบัญญัติให้กับนักศึกษา

“การเรียนเฉพาะในตำราอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ นักศึกษาต้องได้รับการฝึกปฏิบัติให้รู้จักวิธีการค้นคว้า ศึกษาเปรียบเทียบ ดู Best Practices จากประเทศอื่นๆ ด้วย เราจะสอนให้การเรียนกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญนักกฎหมายที่ดีจะต้องมีจริยธรรม เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเข้าใจในกลไกของกระบวนการยุติธรรมดีพอ ที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” ดร. สุทธิพล กล่าว

เรียนรู้เทคโนโลยีช่วยงานกฎหมาย

ปัจจุบันมีกฎหมายออกใหม่จำนวนมากและการใช้ชีวิตของผู้คนล้วนพึ่งพาเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ChatGPT, IoT (Internet of Thing) และ Big Data ดังนั้น นักกฎหมายต้องรู้จักและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้

คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU กล่าวว่า นักกฎหมายยุคใหม่ต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น การผลิตนักกฎหมาย ต้องทำให้พวกเขาได้รับรู้ถึงความเสี่ยงใหม่ๆ ว่าสามารถอุบัติขึ้นได้ตลอดเวลาต้องเข้าใจบริบทของสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนไป และเข้าใจกลไกการทำงานของเทคโนโลยีในแต่ละรูปแบบเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้ AI ค้นหาข้อมูลทางการกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว หรือวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาสนับสนุนในการตัดสินใจ โดย AI สามารถให้คำแนะนำและช่วยในการตัดสินใจทางกฎหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มของผลการตัดสินหรือการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินคดี เป็นต้น

“DPU จะผลิตนักกฎหมายที่สามารถทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง มีความชัดเจนและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะนักกฎหมายยุคใหม่ต้องเป็นผู้ใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมด้วย กล่าวคือ ต้องทำให้นักกฎหมายที่ออกจากรั้วนิติศาสตร์ฯ DPU สามารถใช้กฎหมายหรือศาสตร์ต่างๆ เข้ามาช่วยผ่าทางตันหรือผลักดันนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานหรือประเทศชาติให้สามารถเดินหน้าไปได้ รวมทั้งสามารถเป็นที่พึ่งทางกฎหมายให้กับประชาชนได้รับความถูกต้องและเป็นธรรมในสังคม” ดร. สุทธิพล กล่าว

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกทางกฎหมาย เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านนิติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งหลักสูตรของคณะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความทันสมัยและสอดคล้องต่อความต้องการของสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในหลักวิชาชีพกฎหมาย มีความรอบรู้รอบด้าน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม อยากรู้ว่านักกฎหมายรุ่นใหม่เป็นอย่างไร สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://law.dpu.ac.th/ หรือสอบถามได้ที่โทร. 02-954-7300 ต่อ 283, 308

ชูเส้นทางเดินเที่ยวย้อนรอยวันวานย่านสุดคูลกับทริป “ทรงวาด...ที่วาดไว้ในความทรงจำ”

เผยในฐานะ Green University เตรียมตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา-รับรองด้านก๊าซเรือนกระจก พร้อมให้คำปรึกษาฟรี! ปี 67

หนุนการพัฒนาศักยภาพ นร.ไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมมอบทุนการศึกษาและเงินรางวัลกว่า 50 รางวัล

X

Right Click

No right click