×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

DJT model = ปัญญาภิวัฒน์

July 28, 2017 3845

ชัยชนะของการทำธุรกิจทุกวันนี้จำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า แข่งขันกับโลกที่เต็มไปด้วยความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง

ขณะที่อินเดียกำลังผลิตมันสมองชั้นยอดไม่ว่าจะด้านวิศวกรรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ จีนเปรียบเสมือนโรงงานผลิตสินค้าออฟชอร์ตั้งแต่สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ กรอบแว่นตา จนถึงชิ้นส่วนรถยนต์และอีกจิปาถะ ญี่ปุ่นก็เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารล้ำหน้ากว่าชาติใด ใครหยุดหรือชะลอฝีเท้า ก็เท่ากับหลุดออกจากวงโคจรของการแข่งขัน แล้วประเทศไทยจะจัดวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งไหนของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 
วิสัยทัศน์ของรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งได้ไม่นาน เตรียมปรับยุทธศาสตร์การศึกษาระดับประเทศให้กับสถาบันฯ เน้นการเรียนการสอนควบคู่กับทำวิจัย ประกอบกับสร้างโมเดลการทำธุรกิจใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตมืออาชีพระดับประเทศ โดยนำพื้นฐานความได้เปรียบของไทยที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมในการเป็นเศรษฐกิจที่อิงกับภาคบริการ (service-based economy) มาสร้างภูมิรู้รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
 
 
“เราเป็นประเทศที่เหมือนกับไส้แซนด์วิช จะขึ้นไปข้างบนก็เบียดเกาหลี ญี่ปุ่นไปไม่ได้ ข้างล่างก็มีเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซียเบียดขึ้นมา ฉะนั้นจะทำให้ตัวเองหลุดออกจากกับดักแซนด์วิชนี้ได้ยังไง เราจะเป็นจับกัง economy ต่อไปไม่ได้แล้ว”  รศ.ดร.สมภพ  กล่าว
 
 
โลกที่แบนราบลง การแข่งขันเกิดขึ้นทุกทิศ หลายประเทศกำลังฉกฉวยโอกาสจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศผงาดขึ้นเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ อย่างจีน เป็นตัวอย่างประเทศที่เห็นได้ชัดจากการก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจด้วยฐานแรงงานคนนับล้าน ประกอบกับมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ หมุดหมายเพื่อที่จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเทศที่เป็นฐานการผลิตสินค้าแบบเดิมแต่เพียงเท่านั้น ทว่า ภายในห้วงระยะเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจีนจะเขยิบไปถึงการเป็นผู้ออกแบบสินค้า และปลายทางสุดยอดคือผลิตสินค้าที่คิดค้นโดยคนจีน
และจะทำอย่างไรให้ไทยก้าวข้ามจากการเป็นไส้แซนด์วิชที่ถูกขนาบด้วยประเทศต่างๆ และเป็นเพียงแค่ผู้ผลิตแบบ OEM ให้ไปสู่การผลิต OBM และ ODM ได้ในที่สุด โมเดลการศึกษา DJT (Deutsche Japan Thailand Business Model) ของสถาบันฯ เป็นคำตอบหนึ่งให้กับผู้เรียนและการสร้างธุรกิจยุคปัจจุบัน โดยการเรียนรู้ที่ผสานข้อดีของการทำธุรกิจของแต่ละประเทศรวมเป็นหนึ่งเดียว เชื่อมโยงความรู้ด้านวิชาการไปสู่ภาคปฏิบัติจริง (work-based learning) เพิ่มศักยภาพของสถาบันฯ โดยการเป็น corporate university สร้าง business alliance เครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจซัพพลาย-เออร์ สถาบันการเงิน ภาคบริการไปพร้อมกัน

 
“ทุกวันนี้หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MBA มันเป็น Anglo-Saxon model มาก คือ โมเดลที่มาจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ใช้ตำราเดียวกัน เราน่าจะมีทางเลือกใหม่ๆ ทำไมเราเลือกเยอรมนี เพราะเยอรมนีดำรงที่ 1 หลายสิบปีก่อนสงครามโลกจนถึงบัดนี้ ทุกวันนี้ ยูโรโซนขาดเยอรมนีอยู่ไม่ได้ ทำไมเราเลือกญี่ปุ่น เพราะ GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยี มีดีไซน์ มีแบรนด์เนม” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
 
โมเดลแบบ DJT จึงเป็นทางเลือกของการศึกษาที่ไม่ได้นำวิทยาการและความรู้จากตะวันตกแบบเดิมๆ มาประยุกต์ใช้กับการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านการบริหารจัดการ (MBA) ที่นำตำราแบบตะวันตกมาทั้งเล่ม หากแต่องค์ความรู้ หรือแนวคิดของเยอรมนี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ของไทยต่างก็มีเอกลักษณ์และไม่ด้อยไปกว่าชาติตะวันตก เยอรมนีโดดเด่นด้านการฝึกบุคลากรทางการศึกษาควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน (work-based learning) เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม (Innovation) เจ้าแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการประกอบการ (Productivity & Perfectionism) ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาด (Marketability) ชาติแห่งข้อมูลข่าวสาร (Information) และเทคโนโลยี (Technology) ส่วนไทยเก่งในเรื่องการสร้างสรรค์ (Creativity) มีความยืดหยุ่น (Flexibility) เรียบง่ายและสบายๆ (Relaxation)
 
ถ้าเปรียบ DJT ก็เหมือนกับดึงเอาบุคลิกลักษณะที่แตกต่างของคนแต่ละประเทศมาปรับประยุกต์เข้ากับบริบททางการศึกษาของไทย พัฒนาองค์ความรู้การเรียนการสอนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบ ประกอบกับการเป็นสถาบันที่มีเครือข่ายความร่วมมือทางภาคธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ยิ่งเพิ่มโอกาสเรียนรู้การทำธุรกิจจากชาติที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเอเชียในอนาคตได้อย่างถึงแก่น ผู้เรียนก็จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบความรู้จากตะวันตก
 
อย่าลืมว่าขณะที่คุณวิ่งอยู่ในลู่โดยที่ไม่ได้หันไปมองนักวิ่งคนอื่นที่กำลังวิ่งตาม ไม่แม้แต่ที่จะพยายามเร่งฝีเท้าของคุณให้เร็วขึ้น ก็เท่ากับคุณกำลังย่ำอยู่กับที่ และปล่อยให้คู่แข่งวิ่งไล่กวดขึ้นมาอย่างกระชั้นชิด จากนี้ไปจะทำอย่างไรให้คุณวิ่งได้เร็วที่สุด เพราะโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจ ตลาดไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นการเชื่อมโยงตลาดทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตลาดที่เต็มไปด้วยความรู้ที่เคลื่อนเข้าหากัน ใครฉกฉวยแย่งชิงความได้เปรียบในพื้นที่ได้มากกว่าก็จะเป็นนักวิ่งที่ได้รับชัยชนะในเกมธุรกิจ
Last modified on Tuesday, 19 November 2019 07:06
X

Right Click

No right click