×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

 

             สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประกาศผลประกอบการครึ่งปี 2561 ว่า  ภาพรวมในครึ่งแรกของปี 2561 เอไอเอสมีรายได้รวมเติบโตขึ้น 6.7% จากปีก่อน ขณะที่รายได้หลักจากการให้บริการเพิ่มขึ้น 4.9% จากปีก่อน เป็นผลมาจากทั้งบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือและธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre โดยปัจจุบันเอไอเอสมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 4G คิดเป็นสัดส่วน 54% ของฐานลูกค้าทั้งหมด 40.1 ล้านเลขหมาย ขณะที่การใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็น 8.9 กิกะไบต์ต่อเดือน จาก 4.7 กิกะไบต์ต่อเดือน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 623,400 และมีรายได้เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน และจากการควบคุมต้นทุนและรายได้ที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2561 เอไอเอสมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16,042 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.6% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 8,005  ล้านบาท

            ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปี 2561 มีการแข่งขันทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เอไอเอสจึงพิจารณาปรับคาดการณ์การเติบโตรายได้ของทั้งปี 2561 เป็น 5-7% โดยคงตั้งเป้าอัตรากำไร EBITDA ที่ 45-47% และยังคงแผนการลงทุนเช่นเดิม โดยคาดว่างบลงทุนสำหรับปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท

           เอไอเอสยังคงเดินหน้าต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มและเครือข่าย NB-IoT ที่ครอบคลุมแล้ว 77 จังหวัด รวมถึงเครือข่าย eMTC ที่จะยกระดับบริการ IoT ไปอีกขั้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าองค์กร และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับขีดความสามารถของซีเอส ล็อกอินโฟร์ ที่เชี่ยวชาญการให้บริการลูกค้าองค์กร ที่ขยายศักยภาพของเอไอเอสให้สามารถสร้างสรรค์รูปแบบโซลูชั่นที่หลากหลายได้อย่างต่อเนื่อง

          สมชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเอไอเอสร่วมกับภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ซัมซุง และโมไบค์ นำเทคโนโลยี IoT ให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร เพื่อตอบโจทย์แต่ละอุตสาหกรรมทั้งในระดับผู้บริโภคหรือในระดับองค์กร ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ Smart Tracking และ Face Recognition เข้ามาช่วยเสริมด้านความปลอดภัย ระบบ Smart Bike และ ระบบ Smart Lightning ช่วยส่งเสริมด้านการประหยัดพลังงาน นำไปสู่การยกระดับเมืองสู่ Smart City เป็นต้น อันเป็นการช่วยเสริมขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน สอดรับนโนบาย Thailand 4.0

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) รายงานโดยคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 จะขยายตัวที่ 8.5 % โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง หลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลกเติบโตช้าลงสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ที่ชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาและลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 53.0 ในเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสงครามการค้าที่ต้องจับตาในกรณีที่มีมาตรการและการตอบโต้ออกมามากขึ้น แม้ในปัจจุบันผลต่อการส่งออกไทยในปี 2018 ยังมีค่อนข้างจำกัด

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2561 EIC ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวที่ 13.5 % โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการส่งออก การลงทุนในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งอีไอซีประเมินว่าการเพิ่มสูงขึ้นของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันในปีนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัดมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาดว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2018 ยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 8% ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพระหว่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี

ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนมิ.ย. ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.2% YOY โดยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ  น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 23.5%YOY และ 13.6%YOY ตามลำดับ สินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตได้ดี ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.0%YOY และ 7.4%YOY ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางพารายังคงหดตัว 10.4%YOY จากราคาตลาดโลกที่ตกต่ำ การส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) โดยรวมลดลง 21.8%YOY สาเหตุสำคัญมาจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (safeguard tariff) ซึ่งส่งผลให้การส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำไปยังสหรัฐฯ หดตัวที่ 84.6%YOY อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของสินค้าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยังขยายตัวได้ที่ 4.7%YOY และ 24.9%YOY ตามลำดับ เนื่องจากราคารวมอัตราภาษีดังกล่าวของสินค้าส่งออกไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ประกอบกับผู้ผลิตเหล็กบางรายได้รับการยกเว้นภาษีจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวในภาพรวมยังขยายตัวอยู่ที่ 5.0%YOY และ 21.4%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 11.0%YOY

ด้านมูลค่าการนำเข้าเดือนมิ.ย. ยังเติบโตต่อเนื่องที่ 10.8% YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 49.9%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวที่ 23.1%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัว 15.2%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 15.6%YOY

 

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)  คาดการณ์ว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2561 จะมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลก็จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชน อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งสถานการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้สพัฒน์ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมียอดขาย 34,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และมีกำไรอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท

 สำหรับกลยุทธ์การตลาดที่สหพัฒน์ให้ความสำคัญในปีนี้ คือ การจับมือกับคู่ค้า (Principal) ใหม่ ในด้านการจำหน่ายสินค้า อาทิ วินามิลค์ (VINAMILK) แบรนด์โยเกิร์ตอันดับ 1 จากเวียดนาม ที่มีจุดเด่นในเรื่องรสชาติ คุณภาพและมาตรฐานอียู ซึ่งได้มอบหมายให้สหพัฒน์เป็นผู้จัดจำหน่ายรายเดียวในประเทศไทยในทุกช่องทางตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พร้อมทั้งวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตโยเกิร์ต นมเปรี้ยว และนมข้นหวานในประเทศไทยในอนาคต, ดอร์โก้ (DORCO) แบรนด์มีดโกนยักษ์ใหญ่จากเกาหลีที่มีการเติบโตในตลาดต่างประเทศและส่งออกไปมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมี สินค้าใหม่จากคู่ค้า (Principal) เดิม อาทิ ริชเชส ผลิตภัณฑ์ประเภทนมเปรี้ยว โยเกิร์ต เยลลี่ ซึ่งปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่ และคาดว่าจะออกวางตลาดในช่วงเดือนเมษายนปีนี้, ซื่อสัตย์ สึนามิ มิลค์ ซีฟู้ด บะหมี่แนวใหม่จากตระกูลซื่อสัตย์ ซิกเนเจอร์ที่มีจุดเด่นอยู่ที่น้ำซุปนม และน้ำมันเจียวที่ปลอดไขมันทรานส์, ผลิตภัณฑ์หมวด Oral Care จากไลอ้อน ได้แก่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ภายใต้แบรนด์ KODOMO, SYSTEMA, SALZ, GOOD AGE, ZACT, WISE และซื่อสัตย์ ที่มุ่งเน้นสินค้าเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของผู้บริโภคครอบคลุมทุกช่วงวัย และครบถ้วนกับการดูแลสุขภาพช่องปาก เหงือก และฟัน ให้แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี, ผ้าอนามัยเอลิส และทิชชู่เปียกเอลิแอล แบรนด์ใหม่ล่าสุดจากญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐานการผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และ มาม่าโอเค บะหมี่แห้งสไตล์เกาหลี โดยมีจุดเด่นที่รสชาติเผ็ดร้อน เส้นบะหมี่หนานุ่มแบบบะหมี่เกาหลีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น

 อีก 2 กลยุทธ์ คือ การเสริมความสัมพันธ์กับ Strategic Partners อย่างเข้มแข็งผ่านโครงการคู่ค้าพันธมิตร โดยมีการตั้งเป้าหมายการขายรายเดือนร่วมกับร้านค้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และ การเน้นการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยให้ความสำคัญกับช่องทาง B2B และ B2C ของบริษัทมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าของบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ของคู่ค้า

บุญชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของสหพัฒน์ในปี 2560 ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มียอดขายอยู่ที่ 31,360 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% มีกำไร 1,444 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่สหพัฒน์  มีการบริหารระบบขนส่งสินค้าและคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ขณะเดียวกัน สินค้าหลายแบรนด์มีอัตราการเติบโตที่ดี อาทิ น้ำแร่มองต์เฟลอ น้ำตาลมิตรผล และผงซักฟอกเปา ซึ่งไลอ้อน (ประเทศไทย) ได้เปิดตัวโรงงานใหม่ Green Building ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้สหพัฒน์มีสินค้าจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมี การเปิดตัวสินค้าใหม่ ออกสู่ตลาด ได้แก่ กะทิพร้าวหอม, Project Beyond ซึ่งเป็นร้าน Multi-brand ที่ได้แบรนด์ชั้นนำจากอเมริกาอย่าง Under Armour มาเป็นไฮไลต์ ร่วมด้วยแบรนด์ดังอื่นๆ ได้แก่ Converse, Mizuno และ Crocs ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค, สินค้าในกลุ่ม Sea snack อาทิ แก้มกุ้งทอดกรอบปรุงรส รวมทั้งมาม่าโจ๊กต้มยำกุ้ง, มาม่าข้าวต้มหมูกระเทียมพริกไทย, มาม่ากะเพราแซ่บแห้ง, มาม่าคาโบนาร่า, โมรินางะ ลูกอมชิวชิวบอล (Chew Chew Ball) และ Under Armour Kids

 

 วิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต มองปัจจัยที่ส่งผลต่อการวางแผนกลยุทธ์ในปี 2561 ของบริษัทว่า มีปัจจัยหลัก 6 ประการประกอบด้วย

1.ผลจากการที่ธนาคารกรุงเทพมีพันธมิตรด้านประกันชีวิตรายใหม่ที่จะเริ่มเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก

2.ความกดดันจากข้อกำหนดทางกฎเกณฑ์ เช่นการเปลี่ยนอัตรามรณะ ซึ่งจะส่งผลให้เบี้ยประกันชีวิตต่ำลง เป็นความท้าทายต่อทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตในการดำเนินงาน รวมถึงการเตรียมพร้อมใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่จะส่งผลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต การตั้งสำรอง และการบันทึกบัญชีของบริษัทประกันชีวิต

3.เศรษฐกิจยังเติบโตไม่เต็มที่ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ  โดยบริษัทเตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์ระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

4.การแข่งขันที่สูงมากในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยจะเห็นทิศทางการเปิดขายแบบ Open Platform เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ซึ่งอาจจะส่งผลให้บริษัทประกันชีวิตรายเล็กมีการควบรวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น

5.กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว

และ6. การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่จะส่งผลในอนาคตทำให้จำนวนประชากรลดลง

โดยกรุงเทพประกันชีวิตวางแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ประกอบด้วย กลยุทธ์หลัก 5 ด้าน คือ

1.การเน้นพัฒนาคุณภาพตัวแทน ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และแบ่งกลุ่มตัวแทนให้ตรงกับระดับความเข้าใจทางการเงินของลูกค้ามากขึ้น ช่องทางธนาคารจะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และวิธีการขายเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ช่องทางอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการเจราจาเพื่อหาช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้จำนวนมาก  

2.การรับมือกับกระแสดิจิทัล โดยบริษัทจะปรับเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนานวัตกรรม เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ เตรียมความพร้อมและพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการขายประกันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้น การพัฒนาระบบบริการลูกค้า และช่องทางออนไลน์อื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าและตัวแทน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

3.การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ตั้งแต่ยังไม่เป็นลูกค้าของบริษัท โดยจะต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีจนครบทุกกระบวนการ โดยยึดหลักการดำเนินงานให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง

4.ผลิตภัณฑ์ จะมีการปรับวิธีการคิด ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านดิจิทัล กฎระเบียบใหม่ๆ และความต้องการของลูกค้า ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจนมาก การสร้างความแข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรในช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินแก่ผู้บริโภค เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการวางแผนการเงินอย่างรอบด้าน

5.ด้านบุคลากร บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างทีม และสร้างที่ปรึกษาการเงินที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญ พร้อมพัฒนาตนเองให้ทำงานในแนวทางของนักวางแผนการเงิน และยังได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อผลักดันศักยภาพบุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

กลยุทธ์ทั้งหมดนี้กำหนดขึ้นตามแนวคิดMake a Change เปลี่ยนเพื่อชีวิตที่แตกต่าง”  โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ในตลาดปี 2561 ที่จะทำให้ กรุงเทพประกันชีวิต บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัท ไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 วิพลเปิดเผยว่าบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายด้านอาทิ เบี้ยประกันภัยใหม่จากแบบประกันหลักเติบโตร้อยละ 18 จากปีก่อนหน้า สามารถสร้างที่ปรึกษาทางการเงินเติบโตมากกว่า ร้อยละ 10 โดยปัจจุบันมีนักวางแผนทางากรเงินที่ได้รับคุณวุฒิ CFP® และ AFPT™ มากกว่า 100 คน และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 252 เปอร์เซ็นต์

Page 3 of 3
X

Right Click

No right click