บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าระดับสากล เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2567 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าของ BPP สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”
ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
*หมายเหตุ: เทียบกับ EBITDA ที่ไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ในปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน
ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์
“BPP จะยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่มุ่งส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายอิศรา กล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
จากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการผลิตพลังงานที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ภายใต้การนำของ นายอิศรา นิโรภาส ซีอีโอ BPP ผู้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานกว่า 30 ปี จึงมองหาโอกาสที่จะเดินหน้าเติบโตท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจ “Beyond Megawatts Portfolio” เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจโดยเพิ่มการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าที่มีอยู่ รวมทั้งการผลิตพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีความสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม (Affordable) สามารถส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) จากนี้ต่อไป นอกจากจะรักษาจุดยืนนี้แล้ว BPP ยังพร้อมขยายขอบเขตของธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสเติบโตจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนพัฒนาโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นในจุดแข็งที่จะทำให้ BPP เดินทางตามแนวทางใหม่นี้ได้”
จุดแข็งเพื่อขับเคลื่อนให้ BPP ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio
“การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio จะทำให้ BPP เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เราจะได้เห็นพอร์ตธุรกิจของ BPP ที่ยังคงความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และมีความคืบหน้าในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอื่น ๆ ที่สอดรับกับเทรนด์ของพลังงานแห่งอนาคต ในฐานะบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Generation Company) เหนือสิ่งอื่นใด BPP ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG ที่คำนึงถึงทั้งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการให้มี
ความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่น การได้รับการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) และการสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการไปยังพนักงานในองค์กรทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ” นายอิศรา กล่าวสรุป
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากลที่ ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน แจงผลประกอบการปี 2566 เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญสามารถรักษาประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และรุดหน้าการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ชูทิศทางปี 2567 โดยเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม (Powering Society with Quality Megawatts) นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ มีผล 2 เมษายนนี้
ผลการดำเนินงานปี 2566 BPP มีรายได้รวม 30,443 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีกำไรสุทธิ 5,319 ล้านบาท ทั้งนี้ถ้าไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่และขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของอนุพันธ์ทางการเงิน BPP มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ไม่รวมกำไรจากการจำหน่าย เงินลงทุนและกำไรสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของอนุพันธ์ทางการเงินในปี 2565 นอกจากนี้ BPP ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยยังคงมุ่งมั่นในการรักษาประสิทธิภาพ และความพร้อมของระบบการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุก ๆ แห่งให้สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าไปยังชุมชนและสังคมได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง อีกทั้งยังผลักดันการดำเนินงานในทุกกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนหรือ ESG อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG Committee) ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาทิศทางและนโยบาย ESG ของบริษัทฯ และทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส ซึ่งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปี 2564 และผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ครบวงจรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขายไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Wholesale) และตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงร่วมลงทุนในโครงการ Cotton Cove ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่ธุรกิจดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดกับธุรกิจโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการปรับตัวลดลงของราคาเชื้อเพลิงและรายได้จากการขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Allowances - CEA)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยในปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT Thailand) ธุรกิจกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ครบวงจรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนในโอยิกะ (Oyika) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (Battery Swap Solutions) รวมถึงเดินหน้าโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในญี่ปุ่น เพื่อการต่อยอดในธุรกิจซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) ในอนาคต
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา BPP สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในสหรัฐอเมริกาถือเป็นผลสำเร็จที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บริษัทฯ สร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับในปี 2567 นี้ BPP ยังคงพัฒนาและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม หรือ Powering Society with Quality Megawatts ผ่าน 3 จุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ดำเนินงานด้วยคุณภาพระดับสากลจากความเชี่ยวชาญของทีมงานของ BPP เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจและปรับตัวกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ผสานพลังร่วมในระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ของ BPP และผนึกกำลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปูผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ และ 3) สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี ผ่านการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน”
ทั้งนี้ BPP ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรภายในผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร และการดำเนินตามแนวทางการวางแผนและพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession planning and high potential management) ของกลุ่มบ้านปู โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติให้นายอิศรา นิโรภาส ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยนายกิรณ ลิมปพยอม จะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operation Officer: COO) ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารจัดการการดำเนินงาน (Operation) ของธุรกิจแหล่งพลังงานและธุรกิจผลิตพลังงานในทุกประเทศ
นายอิศรา นิโรภาส ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สายงานปฏิบัติการธุรกิจไฟฟ้า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำในการบริหาร BPP ว่า “ผมต้องขอขอบพระคุณคณะกรรมการบริษัทในความไว้วางใจให้ผมรับหน้าที่สำคัญนี้ต่อจากคุณกิรณ จากประสบการณ์การทำงานในสายปฏิบัติการในกลุ่มบ้านปูมาตั้งแต่ปี 2537 และการมีส่วนร่วมในการออกแบบทางวิศวกรรม การพัฒนาธุรกิจ และการจัดการงานด้านปฏิบัติการในโครงการสำคัญต่าง ๆ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อภารกิจของ BPP ในการเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และบริหารธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าใน 8 ประเทศ โดยยึดหลัก ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ”
“ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,642 เมกะวัตต์ มุ่งสร้างการเติบโตด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ บริษัทฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและทีมงานมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของ BPP โดยมีหลัก ESG เป็นแนวทางในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายกิรณกล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน