บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด (Kao) รุกตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจความยั่งยืน จับมือสองผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ระดับโลก ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภคเพื่อความยั่งยืน เน้นบรรจุภัณฑ์คุณภาพที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำลงและรีไซเคิลได้ เตรียมนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของคาโอในประเทศไทยในอนาคต
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สินค้าแบรนด์ดัง คู่ครัวเรือนคนไทยต่าง ๆ อาทิ แอทแทค บิโอเร ไฮเตอร์ มาจิคลีน ลอรีเอะ ฯลฯ ได้ปักหมุดพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจความยั่งยืน โดยเข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ เอสซีจีซี และ ดาว พร้อมเปิดโอกาสพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ณ อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ สำนักงานใหญ่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย โดยมีนายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด นายพิสันติ์ เอื้อวิทยา ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมลงนามในครั้งนี้
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "คาโอ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อย่าง เอสซีจีซี และ ดาว ในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมสำหรับสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตามหลัก 4R: Reduce, Reuse, Recycle และ Replace สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้าน ESG หรือ "Kirei Lifestyle Plan" (คิเรอิ ไลฟ์สไตล์ แพลน)
คาโอมีเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero ในปี ค.ศ. 2040 เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการดำเนินธุรกิจของคาโอ เราจึงใส่ใจในการจัดการพลังงานภายในโรงงานผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรอายุ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และตั้งเป้าหมายลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2040 หมายความว่าปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เราจำหน่ายออกไปจะต้องเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คาโอต้องมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เชี่ยวชาญ และมีเป้าหมายร่วมกัน อย่าง เอสซีจีซี และ ดาว เพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง”
นายพิสันติ์ เอื้อวิทยา ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “แนวทางเพื่อความยั่งยืนที่ SCGC ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง คือ การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยพัฒนากรีนโซลูชัน (Green Solutions) ที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อความยั่งยืน สำหรับความร่วมมือกับคาโอในครั้งนี้ SCGC พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาขวดและถุงบรรจุภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก จาก SCGC GREEN POLYMERTM ซึ่งมี 4 โซลูชันหลัก ได้แก่ การลดใช้ทรัพยากร (Reduce) การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ (Recyclable) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Renewable) เพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ภายใต้คาโอ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "ดาวมุ่งมั่นในการสนับสนุนลูกค้าของเราในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน และลดขยะพลาสติกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เราพร้อมสนับสนุนคาโอ ในการออกแบบและพัฒนาถุงบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ด้วยความเชี่ยวชาญจากดาวทั้งในประเทศไทย และ ดาว แพค สตูดิโอ (Dow Pack Studio) สิงคโปร์ ผสานกับนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษของ ดาว เช่น INNATE, ELITE, DOWLEX และ Dow PCR เพื่อให้ถุงบรรจุภัณฑ์ของคาโอสามารถรีไซเคิลได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น และยังคงตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี"
ข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การออกแบบพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ และการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าต่างภายใต้คาโอ ให้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำลง และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทั้งบรรจุภัณฑ์ชนิดขวด และชนิดถุง โดยยังคงคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ดีในการปกป้องผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายในและให้ความสะดวกกับผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของคาโอในการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับแนวทางของ เอสซีจีซี และ ดาว ที่มุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้บริโภคชาวไทย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับภาคี Dow & Thailand Mangrove Alliance เปิดใช้งานและจัดอบรมระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา 1.9 ล้านบาท จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชนในการติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการบุกรุกป่าชายเลนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เริ่มใช้งานได้แล้ววันนี้
ระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนนี้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2A/2B และ ดาวเทียม Landsat-8/9 นำมาวิเคราะห์จุดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลน ด้วยการสร้างแบบจำลองเชิงพื้นที่ร่วมกับการคัดกรองข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมหลายช่วงเวลาและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA การใช้ระบบดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนได้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจสอบและคัดกรองก่อนส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นหากประชาชนพบเห็นการบุกรุก หรือตัดไม้ทำลายป่าชายเลน ก็สามารถร่วมแจ้งเหตุผ่านทางระบบนี้ได้เช่นกัน
ล่าสุด ได้เปิดระบบใช้งานจริงแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่กว่า 70 คน ผ่านการอบรมการใช้งานระบบในครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 โดยจะมีการอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และมีแผนจะประชาสัมพันธ์วิธีการใช้งานเพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถรายงานการบุกรุกป่าชายเลนทั่วประเทศได้ด้วยแผนที่และภาพถ่ายจากดาวเทียมต่อไป
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow เป็นบริษัทนวัตกรรมซึ่งเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และความร่วมมือ เรามีความมุ่งมั่นในการต้านโลกร้อนด้วยการอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง Dow จึงยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับ ทช. ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ระบบติดตามพื้นที่ป่าจากภาพถ่ายดาวเทียมยังจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งการบุกรุกป่าชายเลนทั่วประเทศให้ ทช. ทราบได้อย่างทันท่วงที”
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยินดีที่บริษัทเอกชนเช่น Dow ได้เข้ามาสนับสนุนและทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบบดังกล่าวจะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลาในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสำรวจข้อมูลภาคพื้นดิน เนื่องจากข้อมูลภาพดาวเทียมสามารถถ่ายภาพได้เป็นบริเวณกว้าง มีความเป็นปัจจุบัน รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลการบริหารจัดการการติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าใช้งานระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ได้ที่ https://change.dmcr.go.th/main
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และพันธมิตร เปิดรับสมัครผู้ท้าชิงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.1-ม.6 หรือเทียบเท่า ร่วมสร้างทีมจำนวน 4-10 คน (ควรมีสมาชิกผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน (inclusive member) เพื่อส่งเสริมความหลากหลาย) เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ FIRST® Tech Challenge Thailand ครั้งที่ 5 มุ่งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ STEM Education พัฒนาผู้เรียนด้านทักษะกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การออกแบบ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพิชิตภารกิจในหัวข้อ “CENTERSTAGE Presented by RTX” ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2566 ณ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่
ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา ได้รับสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติที่สหรัฐอเมริกา ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ www.ftcthailand.org/start-a-team/ โดยปิดรับสมัครภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันได้ที่ www.ftcthailand.org/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Inbox ของ www.facebook.com/FIRSTTechChallengeTHAILAND
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Material Sciences)
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เดินหน้าโครงการจัดการพลาสติกใช้แล้ว