พร้อมชี้โอกาสของนักลงทุนจากการเปลี่ยนแปลง จากงาน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand’ โดยธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง ร่วมกับลอมบาร์ด โอเดียร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จากการใช้พลังงาน การเกษตร การพัฒนาและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ หรือที่เรียกว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีพของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงการก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากมนุษย์ยังไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและวิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อนาคตอันน่าเศร้าของโลกคงหนีไม่พ้น ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 จะเกิดขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและเตรียมรับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ในฐานะสถาบันการเงินและผู้ให้คำแนะนำการลงทุนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงมือทำ เพื่อพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero จัดงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้หัวข้อ RETHINK SUSTAINABILITY : A CALL TO ACTION FOR THAILAND พร้อมความร่วมมือจากตัวแทนองค์กรใน 4 อุตสาหกรรมของไทย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste ที่มาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ตลอดจนบทบาทและแนวทางปฏิบัติ เพื่อหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ เพื่อปฏิวัติเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง CLIC® คือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Lean) ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive) และเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (Clean) พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนี้ด้วย

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

(Building Through a Sustainable Future in Tourism and Service Industry)

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้มหาศาล และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากขึ้น กระแสของการท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างยั่งยืนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในเรื่องหลักๆ ที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ส่วนเกินได้ เช่น อุตสาหกรรมการบิน การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และการปรับปรุงระบบทำความร้อนและเย็นในโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ ความสำคัญของการลงมือทำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง มี 3 แกนหลัก ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Protect Environment) และ การรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของสังคมให้ยั่งยืน (Save Social) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่อยู่บนบรรทัดฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับใช้ โดยเริ่มมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการจองที่พัก (Online Travel Agency: OTAs) ยักษ์ใหญ่บางเจ้า เริ่มจำแนกประเภทที่พักหรือบริการการเข้าพักแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งรายเล็ก และใหญ่ต้องปรับตัว ในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีการริเริ่มจัดโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐาน การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยการให้มาตรฐานดาวแห่งความยั่งยืน กับผู้ประกอบการ มากกว่า 10 ประเภทกิจการ ภายใต้ STGs (Sustainable Tourism Goals) หรือ STAR : (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ที่ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน ซึ่งถอดมาจาก SDGs ของ UNWTO ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 555 แห่ง โดยผู้ประกอบการประเภทโรงแรมที่พักเข้าร่วมมากที่สุด โดยภาครัฐจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของการส่งเสริมเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

อาหารแห่งอนาคต บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

(New Food System that Feed the World and Nourish the Planet)

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว 1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100 ฉะนั้นการปรับรูปแบบการผลิตอาหารโดยใช้แนวทางการเกษตรยั่งยืน อย่าง Regenerative Agriculture ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นแหล่งช่วยกักเก็บคาร์บอน ยังช่วยเพิ่มผลผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง กำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero เช่น เริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมโดยเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษ (Paper Tray) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80% ในขณะที่ยังคงรักษาความสด ความสะอาดของผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพึช (Plant-based protein) ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์มาก ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางน้ำ และลดการใช้พื้นที่ อีกทั้งมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานมากขึ้นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนในธุรกิจอาหารที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการผลิต การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผล

พลาสติกหมุนเวียน: อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต

(Plastic Circularity: Chemistry Shaping the Future)

 

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดของทุกประเทศรวมถึงในประเทศไทยซึ่งเกิดจากการจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มองหาคือการลงทุนในธุรกิจที่ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นแกนหลักในการจัดการช่วยให้พลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เน้นหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse Recycle ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากการจัดการขยะและออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การลงทุนในพลาสติกชีวภาพ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่ช่วยในการผลิตพลาสติกให้มีคุณภาพดีขึ้น ใช้ได้นานขึ้น รวมถึงการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาส ลงทุนในเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สามารถกักเก็บไว้ได้ใต้ดิน และนำออกมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทยกับโอกาสในการลงทุนด้านพลังงาน

(Carbon Opportunities and Future Electrification)

 

ปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 70 มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและภาวะโลกเดือด ดังนั้น หากธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในระดับโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่งอย่างชัดเจน ในระดับการขนส่งสาธารณะก็ได้มีการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้สำหรับรถบัส เรือโดยสาร รวมไปถึงรถไฟ นอกจากนี้ ในระดับบุคคลทั้งต่างประเทศและประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์น้ำมัน มาเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เท่าตัว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายดำเนินการร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนต่อยอดในธุรกิจพลังงานทางเลือกของนักลงทุน

กลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน

(Investment-led Sustainability)

 

KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน จึงต้องการให้นักลงทุน ผู้ที่สนใจการลงทุน เตรียมพร้อมรับมือกับโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเกิดเม็ดเงินการลงทุนด้านความยั่งยืนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2573 ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero นักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนการรับรู้ (Awareness) เป็นการลงมือทำ (Action) เน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว (Solution Providers) หรือกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Transition Candidates) ทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ KBank Private Banking เชื่อมั่นในบทบาทของการลงทุน ว่าสามารถยกระดับองค์ความรู้และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทุกภาคส่วนได้จริง

 

งานเสวนา “RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand" เป็นงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต สามารถติดตามรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ www.youtube.com/@KBankPrivateBanking

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกทุกมิติมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปรับการดำเนินงานภายในองค์กรสู่การผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการลดคาร์บอน ล่าสุดเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange นำร่องใช้งานจริงแล้วในกรุงเทพฯ และภูเก็ต นอกจากนี้ ยังช่วยให้ลูกค้าของธนาคารได้มีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ด้วยการจัดทำบัตรเครดิต/เดบิตที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล พร้อมทยอยเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบให้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 770 ตันคาร์บอนฯ หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564 โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ที่สนใจร่วมรักษ์โลกไปกับธนาคารสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครใช้บริการ ได้ที่

 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (KAsset) จับมือ J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงนวัตกรรมด้านการลงทุน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการคัดเลือกและจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลกเพื่อยกระดับการลงทุนของไทย พร้อมสร้างความเข้าใจเชิงลึกให้กับผู้ลงทุนไทยเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่มีการลงทุนในกองทุนรวมเกือบ 1 ล้านราย (ณ วันที่ 25 ธ.ค. 66) และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง KAsset และ JPMAM ตั้งแต่การบริหารจัดการไปจนถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ตรงความต้องการของลูกค้าธนาคารกสิกรไทย จะช่วยยกระดับประสบการณ์การลงทุนของลูกค้าได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับความมุ่งหมายของธนาคารในการส่งมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่นักลงทุนไทย อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้ KAsset เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด หรือ KAsset กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ลงทุนไทยประมาณ 60% กำลังเผชิญปัญหาพอร์ตการลงทุนมีความผันผวน (ที่มา: บลจ.กสิกรไทย ณ วันที่ 25 ธ.ค. 66)  โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัจจัยเหล่านี้ได้นำไปสู่ความผันผวนของตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น KAsset จึงมุ่งพัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคัดเลือกและจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลก พร้อมปรับรูปแบบการลงทุนให้สอดรับและทันทุกการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ KAsset ที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนไทยมีความมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายแดน วัตกินส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ.พี. มอร์แกน แอสเซท แมเนจเม้นท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ทีมงานของ JPMAM รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ KAsset ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ลงทุนไทย โดยมองว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่มีความคึกคักและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนทั่วโลกของ JPMAM ทำให้พวกเรามีความพร้อมที่จะนำเสนอโซลูชั่นการลงทุนที่ได้มาตรฐานระดับโลกให้กับผู้ลงทุนไทย และเป็นการเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจของ JPMAM ไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังจาก 2 บลจ.ชั้นนำด้านการลงทุน โดย JPMAM เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการลงทุนระดับโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ KAsset เป็นผู้นำตลาดกองทุนรวมของไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 1.49 ล้านล้านบาท ที่มีความเข้าใจเชิงลึกต่อสินทรัพย์และสถานการณ์การลงทุนในไทย โดยความร่วมมือนี้จะมุ่งเสริมศักยภาพของ KAsset ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้ข้อมูลเชิงลึกที่เข้าถึงผู้ลงทุนได้ทันสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา และการให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจ ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงิน

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click