มองหาโอกาสลงทุนหนุนสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้าในช่วงเศรษฐกิจผันผวน

SCB CIO หนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy พร้อมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องและมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการเงินมีแนวโน้มนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น สนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ ที่ทำกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ส่วนนักลงทุนสถาบันมุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ด้านนักลงทุนรายย่อย หันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขานรับเป้าหมายประเทศไทยมุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ขณะที่ล่าสุด ไทยได้มีการประกาศ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 โดยกิจกรรมเศรษฐกิจเป้าหมายกลุ่มแรก คือ ภาคพลังงานและขนส่งซึ่งก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของทั้งหมด

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภูมิภาคหลักๆ ในโลกได้จัดทำมาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(ESG) โดยระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใสเพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหมวดธุรกิจที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy)

โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดเงินตลาดทุนไทย ควรทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในโครงการหรือกองทุน ESG รวมทั้งนักลงทุนหรือสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้โครงการ ประเมินได้ว่าควรลงทุนในโครงการไหน ด้วยเม็ดเงินเท่าไหร่ และรู้เท่าทันในการดำเนินการด้าน ESG อย่างแท้จริง ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุนจัดทำโครงการ ก็จะสามารถชี้แจงและส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุน หรือ สถาบันการเงินทราบได้ว่าโครงการที่กำลังระดมทุนอยู่ มีการดำเนินการอย่างจริงจังและมีผลต่อการบริหารจัดการทางด้าน ESG อย่างไร

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์มาตรฐานด้าน Green Taxonomy ของกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ EU Taxonomy . ASEAN Taxonomy และ Thailand Taxonomy พบว่า EU Taxonomy เป็นต้นแบบกฎหมาย Green Taxonomy ของทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2020 เป็นกฎหมายกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2050เน้นลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หัวใจสำคัญของ EU Taxonomy คือต้องการจัดการปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในตลาดเงินตลาดทุน ลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังกำหนดหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลเชื่อมโยงกับ Taxonomy ไว้ให้บริษัทและผู้มีส่วนร่วมในตลาดเงินต้องปฏิบัติตามด้วย

ส่วน ASEAN Taxonomy ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนำไปปรับใช้และดำเนินการจัดทำกฎหมายหรือข้อบังคับ Taxonomy ของประเทศตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับ EU Taxonomy แต่มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนคำมั่นสัญญาของกลุ่มอาเซียน ในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris

Agreement) และข้อตกลงในระดับชาติ ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนในประเด็นปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเล และป้องกันควบคุมมลพิษ

สำหรับ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ ได้แก่ 1.การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 5) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ 6) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่ง Thailand Taxonomy มีการระบุกิจกรรมเศรษฐกิจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน คือ หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายแรกคือ ภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด

ในส่วนของ ประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม UN Climate Change Conference ครั้งที่ 26 ว่า ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero ) ภายในปี 2065 ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อ และการลงทุนภายในปี 2050

ทั้งนี้ Green Taxonomy จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องพยายามปรับเปลี่ยนหรือดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ Taxonomy มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีแนวโน้มต้องมุ่งเน้นนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ เพื่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับTaxonomyและนักลงทุนสถาบัน จะต้องประยุกต์ใช้Taxonomyกับการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น ลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับTaxonomy นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เพราะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Sustainable Finance Disclosure Regulation)

ส่วนนักลงทุนรายย่อย เมื่อหันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องแก้ไขข้อกำหนดการบริหารพอร์ตลงทุน และการให้คำแนะนำลงทุนโดยพิจารณาเรื่องความยั่งยืน ควบคู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนที่สร้างผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ Taxonomy ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสของบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ในการเข้าถึงนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น

SCB WEALTH จัดสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2023 ภายใต้ชื่อ “EMBRACING THE LIGHTNING OPPORTUNITY”ให้กับกลุ่มลูกค้า First

บนเวทีสัมนา   SCB CIO  ชี้เศรษฐกิจสหรัฐเป็น Soft Landing ปีหน้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4% หุ้นสหรัฐแพงแต่ถือต่อได้ หากซื้อเพิ่มแนะรอจังหวะย่อตัวค่อยทยอยสะสม ส่วนตลาดEM ไทย จีน เวียดนาม ราคายังถูก ด้านวิกฤติอสังหาในจีนกระทบตลาดหุ้นกู้เป็นหลัก ในตลาดหุ้น A-share และH-shareกระทบเพียงบางตัวเท่านั้น ชี้ตราสารหนี้สกุลดอลล่าร์ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินบาท กองทุนตลาดเงินอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง Double Shark Fin Note รักษาเงินต้นอายุ 1 ปี อยู่ที่ 0-15% และ KIKO โอกาสรับผลตอบแทน 15 -25%ต่อปี ช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ด้าน InnovestX คาดภายในครึ่งหลังของปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับได้ถึง1,650-1,700จุด หลังรัฐบาลใหม่พร้อมบริหารประเทศ หุ้นกลุ่มได้รับอนิสงค์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหุ้นที่ได้อนิสงค์วัฐจักรโลก คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจWEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2023 ภายใต้ชื่อ “EMBRACING THE LIGHTNING OPPORTUNITY ” ว่า ในช่วงที่ภาวะตลาดทุนโลกมีความผันผวนหลังวิกฤติโควิด จนส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน นำไปสู่เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางหลักทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและคงไว้ในระดับสูง จนส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ มองว่าวัฐจักรดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะใกล้จุดสูงสุดแล้ว แม้เงินเฟ้อทั่วโลกจะยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบของนโยบายการเงินของหลายประเทศ แต่มีแนวโน้มลดลง เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอาจจะลดน้อยลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศไทย ขณะนี้ได้รัฐบาลใหม่พร้อมเข้าบริหารประเทศแล้ว ทำให้มุมมองโอกาสในการลงทุนมีความชัดเจนขึ้น การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change ) เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการที่ทั่วโลกตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ การปล่อยสินเชื่อ และพอร์ตการลงทุนของธนาคาร ต้องเป็น Net zero ในปี 2050 นอกจากนี้ธนาคารมุ่งมั่นในการเฟ้นหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตมีเสถียรภาพในทุกช่วงจังหวะของการลงทุน และพร้อมเดินเคียงข้างลูกค้า เพื่อดูแลความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย จาก 0.25% มาอยู่ที่ 5.5% ภายในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ทำให้เงินเฟ้อชะลอลงบ้าง แม้ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง เราจึงปรับปรุงมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft landing) ซึ่งคาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ แต่ละเดือนจะปรับลดลง 0.2% ทำให้ในปีหน้าอยู่ที่ประมาณ 2.4% และดอกเบี้ยใกล้จบรอบการปรับขึ้นแล้ว แต่จะยังค้างอยู่ในระดับสูงจนถึงกลางปี 2024 ส่วนพันธบัตรระยะสั้นให้อัตราผลตอบแทน (yield) มากกว่าพันธบัตรระยะยาว ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนกลับทิศ (Inverted yield curve) ทั้งนี้ หากย้อนดูช่วงที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ส่วนต่างของ Inverted yield curve จะเริ่มลดลง โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า และกลางปี 2024 yield ของพันธบัตรรระยะยาวจะกลับมามากกว่าพันธบัตรระยะสั้น

นอกจากนี้ เรามองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนแต่จะช้ากว่าที่คาดส่วนความกังวลที่จีนอาจเผชิญภาวะ Balance sheet recession หรือภาวะที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนกังวลกับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้จ่ายบริโภคและลงทุน รวมถึงไม่กู้ยืมเพิ่มเติมแต่เน้นการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน เนื่องจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับลดลงเร็วกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งอาจลุกลามทำให้เกิด Lost Decades เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปี 1980-2000 ราคาบ้านในจีนไม่ได้เข้าสู่ภาวะฟองสบู่เหมือนกับญี่ปุ่น และภาคธนาคารพาณิชย์ของจีนไม่ได้มีหนี้เสียสูงเท่ากับญี่ปุ่น (ล่าสุด NPLจีน อยู่ที่ 1.6 % และญี่ปุ่นอยู่ที่ 6.2% ) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ของจีนยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานทุนและสภาพคล่อง

ทั้งนี้ เมื่อดู Valuation หุ้นประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างแพง โดยหุ้นสหรัฐฯ แม้จะปรับลงมาบ้าง แต่ในเดือน ส.ค. ดัชนี S&P500 ยังซื้อขายที่ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 19-20 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในค่าเฉลี่ย ดังนั้น หากมีหุ้นสหรัฐฯ อยู่ สามารถถือต่อได้ แต่ถ้าต้องการซื้อเพิ่ม เราแนะนำให้รอจังหวะย่อตัวลงมาแล้วค่อยทยอยสะสม ส่วนหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) ราคายังถูก เช่น ไทย จีน และเวียดนาม แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง โดยเรามีมุมมอง Neutral กับหุ้นเวียดนาม (ถือได้แต่ยังไม่ซื้อเพิ่ม) เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลง ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่น้อยกว่าที่คาด

ส่วนตลาดหุ้นจีน H-Share มีมุมมอง Neutral แม้ว่าตลาดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจะปรับขึ้น 5-6% แต่ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และน่าจะทำให้ตลาดผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง ตลาดหุ้นจีน A-Share ซึ่งเน้นอุปสงค์ในประเทศ เราแนะนำให้ทยอยซื้อ เนื่องจากราคาค่อนข้างถูก และซื้อขายที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เท่า ประเด็นภาคอสังหาฯ จีน มองว่า สัดส่วนหุ้นกลุ่มอสังหาฯ คิดเป็น 1% ของตลาดหุ้น A-Share และกว่า 2%ของ H-Share เท่านั้น และเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว สถานการณ์ภาคอสังหาฯจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นกู้เป็นหลัก ส่วนในตลาดหุ้นกระทบเพียงหุ้นรายตัวที่มีปัญหา แต่โดยรวมไม่มีผลกับตลาดหุ้นมากเพราะมูลค่าตามราคาตลาดไม่สูง ขณะที่หุ้นไทย แนะนำทยอยซื้อ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงไปมาก ส่วนเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทจดทะเบียนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product Function และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสให้ผลตอบแทนน่าสนใจกว่าผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันที่เป็นสกุลเงินบาท และ ครอบคลุมในทุกระดับความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไปถึงความเสี่ยงสูง ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน บนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.0% ต่อปี ในขณะที่สกุลเงินบาท ผลตอบแทนประมาณ 1.68% ต่อปี ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงปานกลางและมุ่งรักษาเงินลงทุน เช่น Double Shark Fin Note หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง แบบรักษาเงินลงทุน อายุการลงทุน 1 ปี เหมาะกับตลาดที่ยังมีความผันผวน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผลตอบแทนประมาณ 0-15% ต่อปี สกุลเงินบาท ให้ผลตอบแทน 0-10% ต่อปี และผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง เช่น KIKO ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีมุมมองเคลื่อนไหวในกรอบแคบ (sideway) เมื่อสิ้นสุดสัญญา ได้รับคืนเงินต้นในรูปแบบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง โดยมีเงื่อนไขเรื่องราคาปรับลดลงไปถึงระดับราคาต่ำสุดที่ตกลงกันไว้ (Knock-in) เป็นตัวช่วยลดโอกาสการรับหุ้น ซึ่ง KIKO สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผลตอบแทนประมาณ 15-25% ต่อปี ขณะที่ สกุลเงินบาท ให้ผลตอบแทนประมาณ 6-10% ต่อปี

โดยรวมแล้วการใช้กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนได้ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนกังวลเรื่องการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เรามองว่าในระยะสั้นทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ไปอีกระยะ เนื่องจากมีทั้งปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและแข็งค่าหักล้างกันอยู่ เช่น ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ได้แก่ การท่องเที่ยวฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า คือ เงินบาทเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเงินหยวนมากขึ้น เพราะไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนสูงขึ้น ซึ่งเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง เป็นแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เงินลงทุนต่างชาติไหลออก และราคาทองคำลดลง ทำให้คนขายเงินบาทเพื่อไปซื้อทองคำ เป็นต้น ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระดับที่ผู้ลงทุนสามารถทยอยแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไปลงทุนในต่างประเทศได้

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีสัญญาณฟื้นตัว ถ้ามองในเชิงนโยบาย เมื่อได้รัฐบาล

ใหม่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีหลังควรจะเติบโตดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรก ปรับตัวลดลง 10% โดยเงินลงทุนไหลออกไปตลาดหุ้นอื่น เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับสู่ขาขึ้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีแรงขายลดลง ดังนั้น โอกาสที่จะกลับมาซื้อจึงเป็นไปได้ และเวลานี้ไทยถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะการเมืองมีความชัดเจนแล้ว โดยมองว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปได้ถึง 1,650-1,700 จุด ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่วนความเสี่ยงด้านการปรับลดลงประเมินไว้ที่ 1,450 จุด ซึ่งปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ระดับกว่า 1,500 จุด และมองว่าน่าจะผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้ หุ้นขนาดใหญ่ ราคายังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเลือกตั้ง ส่วนหุ้นกลุ่มการแพทย์ก็ยังปรับตัวขึ้นน้อยมากจึงยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ ธุรกิจที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตมีเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น พลังงาน ท่องเที่ยว การแพทย์ ค้าปลีก และ พาณิชย์

สำหรับหุ้นที่ได้อานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลและนโยบายพักหนี้เกษตรกรส่วนนโยบายลดราคาน้ำมันและค่าไฟจะให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้คนใช้แรงงาน นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ได้อานิสงส์จากวัฎจักรเศรษฐกิจโลก ที่เซมิคอนดักเตอร์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยพิจารณาจากผลประกอบการ เรามองว่า มี 4 อุตสาหกรรมและ 8 หุ้นเด่น ได้แก่ 1) กลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันฟื้นตัว ได้แก่ PTT และ BCP 2) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากอุปสงค์ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ได้แก่ KCE และ HANA 3)กลุ่มท่องเที่ยว ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ได้แก่ AOT และ ERW และ4) กลุ่มสุขภาพ จากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น ได้แก่ BDMS และ BCH

SCB EIC เตรียมปรับลดมุมมองมูลค่าส่งออกไทยปี 2023 มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ค. หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

SCB CIO คาดเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงแบบSoft landing จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่อง แม้อีก 1-2 ปีถึงจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2%มองในปี 2567–2568 เฟดจะลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. มาอยู่ที่ 3.4% พร้อมแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้High Yield โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์จีนจากภาวะหนี้สินสูงและการฟื้นตัวช้า ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นและเวียดนามเป็น Neutral และยังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทยหลังความชัดเจนทางการเมืองมีมากขึ้น

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO ได้ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดว่า จะชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft landing) จากเดิมที่มองว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แม้จะยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าที่จะเข้าสู่อัตราเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายในช่วงปี 2568 แต่ด้วยตลาดแรงงานโดยเฉพาะในภาคบริการที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 2566-2567 มีการชะลอตัวแบบจัดการได้ โดยจากประมาณการล่าสุดของ Fed (มิ.ย. 2566) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566-2568 จะเติบโต 1.0% , 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ เทียบกับอัตราการเติบโตในระยะยาวเฉลี่ยที่ 1.8%

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจแบบ Soft landing บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้า ทำให้การลดดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้จะมีลักษณะค่อยๆ ลดลง (small and slow rate cuts) และน้อยกว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ โดย Fed คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. ในปี 2567-2568 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ปลายปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed ยังอยู่ในระดับสูงถึง 3.4% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับนี้ในช่วงการลดดอกเบี้ยของFedครั้งสุดท้ายเกิดขี้นในปี2551 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอมากกว่าคาด น่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย เช่น จีนและเวียดนามหรือการหยุดขึ้นดอกเบี้ย เช่น ไทย ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างระหว่างสหรัฐฯ และประเทศ Emerging ยังคงอยู่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประเทศที่มีบริษัทและครัวเรือนที่มีการก่อหนี้สูงจำนวนมาก มีความเสี่ยงภาวะ Balance sheet recession คือภาวะภาคธุรกิจและครัวเรือนกังวลกับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ราคาสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวช้าหรือปรับลดลงบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้รายได้ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้จ่ายบริโภคและลงทุนรวมถึงไม่กู้ยืมเพิ่มเติม แต่เน้นการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปี 2533 และล่าสุดจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ตลาดเริ่มมีความกังวลในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม

เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปี 2533 ภาคการธนาคารของจีนในปัจจุบันยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงกว่า รวมถึง ราคาสินทรัพย์ของจีนโดยเฉพาะราคาบ้านแม้ฟื้นตัวช้าแต่ไม่ได้ประสบปัญหาราคาร่วงลงรุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ดร.กำพล กล่าวว่า จากมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเป็นภาวะ Soft landing ทำให้เราปรับมุมมองหุ้นกู้ Investment Grade กลับขึ้นมาเป็น Slightly Positive หรือทยอยสะสมได้ แต่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield หรือ HY) โดยเฉพาะในตลาดหุ้นกู้จีน เนื่องจาก เราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและแนวโน้มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567 จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่ม HY ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน

สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ส่วนใหญ่ดีกว่าที่คาด โดยยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอตัวลง แต่มีผลประกอบการและกำไรที่ดีกว่าคาดหรือลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นหุ้นของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ในNasdaq 100 ตามมาด้วย S&P500 โดยรวมจะดีกว่าหุ้นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก ใน Russell 2000 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยอดขายสินค้าและบริการชะลอลงเล็กน้อย แต่ผลกำไรยังเติบโตตามอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยวและค่าเงินเยนอ่อนค่า นอกจากจะเติบโตได้มากแล้ว ยังทำได้ดีกว่าคาดอีกด้วย ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป EuroStoxx600 มียอดขายและกำไรหดตัว ตลาดหุ้นเวียดนาม กำไรจากยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทยังคงฟื้นตัวช้า แต่แย่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และตลาดหุ้นไทย ยอดขายและผลประกอบการหดตัวและต่ำกว่าคาด แรงฉุดหลักมาจากกลุ่มพลังงาน สินค้าบริโภค และอสังหาริมทรัพย์

SCB CIO มองว่า ความตึงตัวของ Valuation ของตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มปรับลดลงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯกลุ่มTech ซึ่งเราแนะนำสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นทนทานความผันผวน (Defensive) ไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเราได้ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็น Neutral (หยุดขายหรือถือไว้) หลังตลาดรับรู้การเปลี่ยนกรอบนโยบายการควบคุมการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ในระยะถัดไปยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นเน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้นและแนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท

นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง ปรับมุมมองหุ้นเวียดนามเป็น Neutral (หลัง Valuation ปรับความตึงตัวลงและงบออกมาแย่น้อยกว่าคาด) สำหรับหุ้นจีน H-share เรายังคงมุมมองเป็น Neutral แม้ Valuation จะถูกลงค่อนข้างมาก แต่ความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร ( 18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง

X

Right Click

No right click