SCB WEALTH เผยตั้งแต่ต้นปี 2566 เงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้าตลาดเงิน (money market) สกุลดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุด ตามด้วย ตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และหุ้น โดย money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ 5 ปีที่ผ่านมา เงินไหลเข้าประมาณ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเฟดลดดอกเบี้ย เม็ดเงินใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐจะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แนะนักลงทุนหาจังหวะลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 1-3 ปี เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีและอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาอีกด้วย ส่วนตลาดหุ้นแนะหาจังหวะช่วงปรับฐานทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปสามารถลงทุนต่อได้แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงช้ากว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อติดต่อกัน 6 เดือน คาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดลงและเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มั่นใจว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2%ได้ หลังจากนั้น Fed จะกลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2567 และรวมทั้งปีนี้ คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3-4 ครั้ง โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มลดลง จะทำให้ผลตอบแทนของการถือครองเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง และผลตอบแทนไม่ได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่น

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา การถือเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 5.1% ดีกว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แต่อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ขณะที่ จากสถิติย้อนหลัง 30 ปี พบว่า เงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่นในปีที่เกิดวิกฤต แต่ในจังหวะที่เงินเฟ้อทรงตัว อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาลง เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ สินทรัพย์เสี่ยงจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์อื่น ดังนั้น เราจึงควรหาแนวทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นก่อนจะตกรถ” นายศรชัย กล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 เงินลงทุนทั่วโลกยังคงไหลเข้าไปในตลาดเงิน (money market) สกุลดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุด ตามด้วย ตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และหุ้น โดยในส่วนของ money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ หากนับรวมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเงินไหลเข้ามารวม 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้ว หมายความว่า เมื่อถึงช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง เม็ดเงินใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

สำหรับผู้ลงทุนที่นำเงินส่วนใหญ่พักไว้ใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าการลงทุนในตราสารการเงิน ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ ยังให้ผลตอบแทนได้ดี ทำให้ไม่เคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ใดนั้น ในอนาคตผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สินทรัพย์อื่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นไปก่อนแล้ว ดังนั้น เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี ผู้ลงทุนควรมองหาช่องทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้อายุประมาณ 1-3 ปี รวมถึงการเพิ่มโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ มองว่า ตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ยังให้ผลตอบแทนสูง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับลดลงในช่วง ไตรมาส 2-3 นี้ด้วย ส่วนการลงทุนในหุ้น พบว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดี ด้วยอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักในดัชนีค่อนข้างมาก เช่น ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ( YTD) ปรับขึ้นมาประมาณ 7-8% ผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่กลุ่ม 7 นางฟ้า ประมาณ 6% ส่วนที่เหลือไม่เกิน 2% เป็นผลตอบแทนของหุ้นอื่นๆ ในตลาด สะท้อนถึงการกระจุกตัวของผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างชัดเจน ส่วนตลาดหุ้นยุโรป เมื่อดูจากดัชนี STOXX 600 พบว่า นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% โดยเป็นผลการดำเนินงานจากหุ้นขนาดใหญ่ 7 ตัว เกือบ 4% มีเพียงส่วนน้อยที่เหลือที่มาจากหุ้นขนาดเล็ก

นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตลาดคาดหวังกับผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก และให้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่เป้าหมาย ซึ่งหุ้นเหล่านี้อาจมีการปรับฐาน จากการขายทำกำไร ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนให้เติบโตได้อีก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้ แม้นักลงทุนจะรับรู้ปัจจัยการลดดอกเบี้ยไปในราคาหุ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น แนวโน้มในอนาคตอาจจะปรับขึ้นไม่มากอย่างที่ผ่านมา ทำให้มองว่า นักลงทุนสามารถถือลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วต่อไปได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับอาจไม่สูงเช่นเดิม

สำหรับตลาดหุ้นในเอเชีย มองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ น่าสนใจ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ให้ผลตอบแทน 15-16% แต่ผลตอบแทนกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และเทคโนโลยีเป็นหลัก ในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้จะปรับตัวขึ้นมามาก แต่เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นในรอบก่อนที่เคยทำสถิติสูงสุด พบว่า ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีความแตกต่างกัน โดยในครั้งนี้มีระดับ P/E ที่ต่ำกว่า ขณะที่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีมาตรการในการปฏิรูปธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บริษัทนำเงินสดที่เก็บไว้จำนวนมากในงบดุล ออกไปซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ EPS สูงขึ้น และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ที่มี ROE มากกว่า 20% ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น เงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มขึ้น การจ้างงานดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ส่วนค่าแรงปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยให้การบริโภคในญี่ปุ่นดีขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มาจากนักลงทุนญี่ปุ่นมากขึ้นตาม ดังนั้น เราจึงมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจในระยะกลางถึงยาว เพียงแต่ในระยะสั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นมามาก อาจจะมีการปรับฐานบ้าง นักลงทุนอาจรอจังหวะที่ตลาดปรับฐานเพื่อกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง

ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปัจจุบันยังมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ต่ำมากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจและมีเงินสดมากในงบดุล ซึ่งตลาดหุ้นเกาหลีใต้กำลังพยายามผลักดันการเพิ่มมูลค่าบริษัทคล้ายกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผ่านการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน นอกจากนี้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้มักจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับวัฏจักรของการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น การส่งออกเกาหลีใต้ก็น่าจะฟื้นตัว ทำให้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดีขึ้น ส่วนกำไรต่อหุ้นก็

น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามการส่งออก นอกจากนี้ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ก็ยังถูกอยู่ โดย P/E ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 10.6 เท่า หรือ -0.3 S.D. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนส่วนเสริม สำหรับเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน ในไตรมาสที่ 2 นี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จากการใช้พลังงาน การเกษตร การพัฒนาและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ หรือที่เรียกว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีพของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงการก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากมนุษย์ยังไม่เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและวิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อนาคตอันน่าเศร้าของโลกคงหนีไม่พ้น ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 จะเกิดขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันและเตรียมรับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ในฐานะสถาบันการเงินและผู้ให้คำแนะนำการลงทุนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงมือทำ เพื่อพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero จัดงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้หัวข้อ RETHINK SUSTAINABILITY : A CALL TO ACTION FOR THAILAND พร้อมความร่วมมือจากตัวแทนองค์กรใน 4 อุตสาหกรรมของไทย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste ที่มาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ตลอดจนบทบาทและแนวทางปฏิบัติ เพื่อหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ เพื่อปฏิวัติเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง CLIC® คือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Lean) ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive) และเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (Clean) พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนี้ด้วย

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

(Building Through a Sustainable Future in Tourism and Service Industry)

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้มหาศาล และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากขึ้น กระแสของการท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างยั่งยืนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในเรื่องหลักๆ ที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ส่วนเกินได้ เช่น อุตสาหกรรมการบิน การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และการปรับปรุงระบบทำความร้อนและเย็นในโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ ความสำคัญของการลงมือทำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง มี 3 แกนหลัก ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Protect Environment) และ การรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของสังคมให้ยั่งยืน (Save Social) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่อยู่บนบรรทัดฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับใช้ โดยเริ่มมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการจองที่พัก (Online Travel Agency: OTAs) ยักษ์ใหญ่บางเจ้า เริ่มจำแนกประเภทที่พักหรือบริการการเข้าพักแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งรายเล็ก และใหญ่ต้องปรับตัว ในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีการริเริ่มจัดโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐาน การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยการให้มาตรฐานดาวแห่งความยั่งยืน กับผู้ประกอบการ มากกว่า 10 ประเภทกิจการ ภายใต้ STGs (Sustainable Tourism Goals) หรือ STAR : (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ที่ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน ซึ่งถอดมาจาก SDGs ของ UNWTO ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 555 แห่ง โดยผู้ประกอบการประเภทโรงแรมที่พักเข้าร่วมมากที่สุด โดยภาครัฐจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของการส่งเสริมเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

อาหารแห่งอนาคต บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

(New Food System that Feed the World and Nourish the Planet)

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว 1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100 ฉะนั้นการปรับรูปแบบการผลิตอาหารโดยใช้แนวทางการเกษตรยั่งยืน อย่าง Regenerative Agriculture ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นแหล่งช่วยกักเก็บคาร์บอน ยังช่วยเพิ่มผลผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง กำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net zero เช่น เริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมโดยเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษ (Paper Tray) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80% ในขณะที่ยังคงรักษาความสด ความสะอาดของผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพึช (Plant-based protein) ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์มาก ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางน้ำ และลดการใช้พื้นที่ อีกทั้งมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานมากขึ้นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนในธุรกิจอาหารที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการผลิต การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผล

พลาสติกหมุนเวียน: อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต

(Plastic Circularity: Chemistry Shaping the Future)

 

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดของทุกประเทศรวมถึงในประเทศไทยซึ่งเกิดจากการจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มองหาคือการลงทุนในธุรกิจที่ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นแกนหลักในการจัดการช่วยให้พลาสติกถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เน้นหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse Recycle ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากการจัดการขยะและออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การลงทุนในพลาสติกชีวภาพ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่ช่วยในการผลิตพลาสติกให้มีคุณภาพดีขึ้น ใช้ได้นานขึ้น รวมถึงการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาส ลงทุนในเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สามารถกักเก็บไว้ได้ใต้ดิน และนำออกมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทยกับโอกาสในการลงทุนด้านพลังงาน

(Carbon Opportunities and Future Electrification)

 

ปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 70 มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและภาวะโลกเดือด ดังนั้น หากธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในระดับโลกได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่งอย่างชัดเจน ในระดับการขนส่งสาธารณะก็ได้มีการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้สำหรับรถบัส เรือโดยสาร รวมไปถึงรถไฟ นอกจากนี้ ในระดับบุคคลทั้งต่างประเทศและประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์น้ำมัน มาเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เท่าตัว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายดำเนินการร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของ ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนต่อยอดในธุรกิจพลังงานทางเลือกของนักลงทุน

กลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน

(Investment-led Sustainability)

 

KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน จึงต้องการให้นักลงทุน ผู้ที่สนใจการลงทุน เตรียมพร้อมรับมือกับโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเกิดเม็ดเงินการลงทุนด้านความยั่งยืนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2573 ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero นักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนการรับรู้ (Awareness) เป็นการลงมือทำ (Action) เน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว (Solution Providers) หรือกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Transition Candidates) ทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ KBank Private Banking เชื่อมั่นในบทบาทของการลงทุน ว่าสามารถยกระดับองค์ความรู้และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทุกภาคส่วนได้จริง

 

งานเสวนา “RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand" เป็นงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต สามารถติดตามรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ www.youtube.com/@KBankPrivateBanking

โลกการเงินได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ กับการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกได้ทำการอนุมัติ Spot Bitcoin Exchange Traded Funds (ETFs) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบันได้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ผ่านช่องทางการลงทุนแบบดั้งเดิม โดยนักลงทุนจะสามารถลงทุน Spot Bitcoin ETFs ได้โดยตรงผ่านสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดหลักทรัพย์แบบเรียลไทม์ ด้วยราคาที่โปร่งใส ซึ่งจะแตกต่างจากการเทรด Futures ETFs ที่อาศัยสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าของคริปโตเคอร์เรนซี

 

ริชาร์ด เทง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Binance

ริชาร์ด เทง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Binance กล่าวว่า “การอนุมัติกองทุน Spot Bitcoin ETFs จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างรากฐานด้านความไว้วางใจในตลาดคริปโตให้แก่ผู้คนในวงกว้าง โดย Spot Bitcoin ETFs ถือเป็นใบเบิกทางที่จะนำพาคนให้เข้าสู่ตลาดคริปโตได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังช่วยดึงดูด

นักลงทุน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การลงทุนผ่านบิทคอยน์โดยตรง รวมถึงช่องทางการลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลยุทธ์การลงทุน รูปแบบความเสี่ยง และความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ นับเป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงยุคสมัยแห่งการยอมรับและความชอบธรรมของการใช้งานบิทคอยน์ เช่นเดียวกันกับการขยายพื้นที่ของคริปโตเคอร์เรนซีให้มากยิ่งขึ้น”

ลิสต์ของกองทุน Spot Bitcoin ETFs ที่ได้รับการอนุมัติ

ลิสต์ของกองทุน Spot Bitcoin ETFs ที่ได้รับการอนุมัติในเดือนมกราคม 2024 มีดังต่อไปนี้ ARK 21 Shares Bitcoin ETF (NYSE:ARKB) Bitwise Bitcoin ETF (NYSE:BITB) Blackrock’s iShares Bitcoin Trust (NASDAQ:IBIT) Fidelity Wise Origin Bitcoin Trust (NYSE:FBTC) Franklin Bitcoin ETF (NYSE:EZBC) Grayscale Bitcoin Trust (NYSE:GBTC) Hashdex Bitcoin ETF (NYSEARCA:DEFI) Invesco Galaxy Bitcoin ETF (NYSE:BTCO) Valkyrie Bitcoin Fund (NASDAQ:BRRR) VanEck Bitcoin Trust (NYSE:HODL) และ WisdomTree Bitcoin Fund (NYSE:BTCW)

ข้อได้เปรียบสำคัญของ Spot Bitcoin ETFs คือความสามารถในการขยายการเข้าถึงการลงทุนสู่ผู้คนในวงกว้าง พร้อมเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาโดยไม่ต้องถือครองบิทคอยน์โดยตรง ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนสถาบันอย่างเช่น ผู้จัดการความมั่งคั่ง (Wealth Managers) และผู้ให้บริการสำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (Private Banking) ที่ต้องการก้าวเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่มีความกระจายความเสี่ยงเหมาะสม (Passive Investment) ทั้งนี้ จากข้อมูลอ้างอิงของสถาบัน Investment Company ที่ชี้ให้เห็นถึงภูมิทัศน์ทางการเงินของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ในสินทรัพย์ 401(k) การอนุมัติในครั้งนี้จึงถือเป็นสัญญานที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านกลยุทธ์การบริหารความมั่งคั่ง และการมีส่วนร่วมของสถาบันที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

Spot Bitcoin ETFs ยังได้มอบโอกาสอันน่าสนใจให้กับนักลงทุนสถาบันที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนและป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันน้อยนิดระหว่างบิทคอยน์และสินทรัพย์แบบดั้งเดิม อย่างเช่น หุ้นและพันธบัตร จึงทำให้ Spot Bitcoin ETFs สามารถกระจายความเสี่ยงไปพร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตของเหล่านักลงทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น การที่นักลงทุนสามารถติดตามราคาบิทคอยน์ได้แบบเรียลไทม์ยังช่วยให้พวกเขาทราบสถานะการลงทุนของตนเองได้อย่างชัดเจนโปร่งใสตลอดช่วงเวลาการซื้อขายส่งผลให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที รวมถึงทยังช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความลึกของตลาด อิทธิพลของสภาพคล่อง การลดความผันผวนของตลาดให้กับเหล่านักลงทุนด้วยเช่นกัน

การที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้มีการซื้อขาย Spot Bitcoin ETFs ในตลาดหุ้นอย่าง the New York Stock Exchange (NYSE) และ Nasdaq ถือเป็นการดึงดูดนักลงทุนสถาบันที่คุ้นเคยกับการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลได้เป็นอย่างดี โดยการอนุมัติครั้งนี้ได้ผสานกฎระเบียบของตลาดการเงินแบบดั้งเดิมเข้ากับโลกแห่งนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งช่วยขยายการมีส่วนร่วมของสถาบันไปยังโลกคริปโตเคอร์เรนซี พร้อมสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับตลาด

การขยายตัวของ Spot ETFs ไปยังหลากหลายตลาดการเงินหลักได้ส่งเสริมให้ระบบนิเวศน์ทางการเงินระดับโลกมีความครอบคลุม หลากหลาย และแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากเมื่อภูมิทัศน์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต การมีส่วนร่วมของสถาบันก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องและความลึกของตลาดสูงขึ้น ราคามีความเสถียรมากขึ้น ความผันผวนลดลง จนสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดให้พร้อมดึงดูดเหล่านักลงทุนให้เกิดขึ้นในระยะยาว

การมาถึงของ Spot Bitcoin ETFs ของสหรัฐฯ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะการลงทุนทางการเงินที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในคริปโตให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักลงทุนสถาบัน ผ่านวิธีการที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญสู่การพัฒนา ETFs ของสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นในอนาคต รวมถึง Spot ที่มีศักยภาพและ future-based Etheruem ETFs ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวให้เข้ากับไดนามิกของภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้ทันต่อไป

1 มีนาคม 2024

นักลงทุนรุ่นใหม่เผยความคิดเห็นว่าบิทคอยน์มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ Supply Shock และการเกิด Bitcoin Halving เป็นแรงผลักดันราคาบิทคอยน์ ขณะที่ทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ทั้งที่ค่าเงินดอลลาร์ยังไม่อ่อนค่ามากนัก ทำให้สองสินทรัพย์นี้ยังมีความน่าสนใจแม้ราคาจะขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้นสามารถทยอยลงทุนได้

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ทั้งทองคำและบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน และยังสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ของราคาได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ถือว่ามีความน่าสนใจในการลงทุนแม้ราคาในช่วงนี้จะขึ้นมาสูงก็ตาม โดยปัจจัยหนุนราคาบิทคอยน์ คือการที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับสถาบันเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์ด้วยการไล่ซื้อในตลาด Spot ผ่านกองทุน Bitcoin ETF มากขึ้น จากความคาดหวังว่าหลังการเกิด Bitcoin Halving ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน ราคาจะปรับตัวเป็นขาขึ้นเต็มตัวตามสถิติเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต

ทั้งยังมีสถิติด้วยว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้ากองทุน Bitcoin ETF ได้เข้าซื้อบิทคอยน์กว่า 10,000BTC ขณะที่มีจำนวนบิทคอยน์ที่ออกมาสู่ตลาดในหนึ่งวันเพียง 900BTC ซึ่งหลัง Bitcoin Halving จำนวนบิทคอยน์ที่ออกสู่ตลาดจะลดลงครึ่งหนึ่ง อาจเป็นเหตุผลให้นักลงทุนรายใหญ่รีบเข้ามาเก็บบิทคอยน์ก่อนที่จะไม่สามารถหาซื้อในตลาดรองได้อีก

“ความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Supply Shock ของบิทคอยน์น่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายใหญ่เร่งสะสมบิทคอยน์ก่อนที่จะเกิด Bitcoin Halving ซึ่งต้นทุนของนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้จะอยู่ตั้งแต่ระดับ 45,000 – 50,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 69,000 ดอลลาร์ แม้จะมีกำไรแล้วแต่อัพไซด์ในอนาคตหลัง Bitcoin Halving มีโอกาสที่จะขึ้นสู่ระดับแสนดอลลาร์ขึ้นไปทำให้แนวโน้มราคาบิทคอยน์ยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้”

ทั้งนี้การที่ราคาปรับฐานลงมาประมาณ 15% หลังขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเป็นสัญญาณเตือนว่าแม้ตลาดจะเป็นขาขึ้น บิทคอยน์ยังมีโอกาสที่จะปรับฐานลงมาได้ตลอดเวลา นักลงทุนจึงยังจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมากกว่าไปรีบไล่ราคา

ขณะที่เหรียญทางเลือก หรือ Altcoin ที่น่าสนใจในการลงทุนคือ Ethereum ซึ่งกำลังมีสตอรี่ของการตัดสินใจของ ก.ล.ต.สหรัฐอเมริกา ว่าจะอนุมัติกองทุน Ethereum ETF แบบเดียวกับบิทคอยน์หรือไม่ ประกอบกับการอัพเกรดใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบล็อกเชนให้ดีขึ้น จึงสามารถทยอยสะสมลงทุนได้

ขณะที่ทองคำสามารถที่จะขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 2,140 ดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทั้งที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าที่ควร ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องรีบปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าหากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีการลดดอกเบี้ยน่าจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้กับราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้

ด้านสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นเทคโนโลยี อาจจะเริ่มมีอัพไซด์ที่จำกัด แม้ว่าผลประกอบการของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเอไอจะยังเติบโตได้อย่างดี แต่การที่ราคาปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากอาจทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจย้ายเงินลงทุนไปยังกลุ่มอื่น ถ้าจะลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต้องรอให้ราคาย่อตัวและจับจังหวะซื้อขายเก็งกำไรไปก่อน ส่วนหุ้นเทคโนโลยีกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังประสบปัญหาการแข่งขันตัดราคาจึงยังไม่น่าสนใจลงทุนตอนนี้

สำหรับสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเดือนมีนาคมนี้ คือตลาดหุ้นจีน ทั้งตลาดในแผ่นดินใหญ่และตลาดฮ่องกงที่สัญญาณทางเทคนิคเริ่มเห็นภาพการกลับตัวเป็นขาขึ้นหลังจากที่แนวโน้มเป็นขาลงมาหลายปี สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพอร์ตหุ้นจีนสามารถที่จะเริ่มต้นสะสมได้ ส่วนผู้ที่ลงทุนมาแล้วก่อนหน้านี้และยังมีเงินสดสามารถที่จะเข้าซื้อเพื่อถัวราคาได้แล้ว

ปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา คือความเคลื่อนไหวของการคัดเลือกผู้รับสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นขึ้น โดยมุมมองของผู้รับสมัครที่มีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศจะส่งผลต่อภาวะตลาดได้เช่นกัน โดยอาจจะมีความผันผวนมากขึ้นถ้าหากได้ตัวผู้สมัครที่ชัดเจนและเริ่มมีการประกาศนโยบายของตัวเองออกมา อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นปัจจัยลบอื่นที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ จึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในเดือนมีนาคมที่น่าจะยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี

7 สิงหาคม 2566 เป็นวันดีอีกวันหนึ่งของ Warren Buffet


Berkshire Hathaway เพิ่งรายงานผลกำไรของไตรมาส 2 ปีนี้ ว่าสูงถึง 3.6 หมึ่นล้านเหรียญฯ ถือเป็นกิจการที่ทำกำไรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยเป็นมา (All Time High)

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ราคาหุ้น BRKA ขึ้นไปปิดที่ 550,446.06 เหรียญฯ คือราวๆ 19.5 ล้านบาทต่อหุ้น

ถือว่าเป็นข่าวดีมากสำหรับผู้ถือหุ้น BRKA ในรอบสิบกว่าปีมานี้ ซึ่ง Buffet ช่วยให้พวกเขากลายเป็นมหาเศรษฐีกันถ้วนหน้า

 ตัวเขาเอง นอกจากจะมีตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยในระดับ Top 10 ของโลกแล้ว ยังเป็นดัง “พระเจ้า” ของแวดวงนักลงทุน นักเล่นหุ้น ทั่วโลก ที่ล้วนแต่เงี่ยหูฟังคำแนะนำของเขา

ที่ผ่านมา เขาได้แบ่งปันความรู้และวิธีคิดตลอดจนกลยุทธ์การลงทุนที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของเขาเสมอมา

ดูเผินๆ คำแนะนำเหล่านั้น ก็ราวกับเป็น common sense พื้นๆ

ใช่แล้ว เรื่องพื้นๆ นี่แหล่ะ ที่จะช่วยเตือนสติเรา ให้คำนึงถึงรากฐานที่ต้องแน่นเสียก่อนจะต่อยอดไปไหน

 

เช่นแนวคิดเรื่อง “Wide Moat” ที่เขาชอบพูดเสมอๆ

เข้าใจว่า Buffet เริ่มเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ในคราวการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire เมื่อปี 2538 ที่เขาเปรียบเทียบกิจการที่เขาชอบเข้าไปซื้อหุ้นว่า เหมือนกับปราสาทที่มีป้อมปราการสูงและมั่นคง ล้อมรอบไปด้วยคูน้ำคันดินที่กว้างขวาง ลึก และแข็งแรง ยากแก่การโจมตีของข้าศึก
อีกทั้งยังต้องบริหารจัดการโดยอัศวินหรือเจ้าของปราสาทที่เก่งกล้าสามารถและซื่อสัตย์สุจริต

ตีความได้ว่า กิจการที่เขาชอบที่จะเข้าไปลงทุนนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง และมีขีดความสามารถเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่เหนือกว่าคู่แข่ง ยากแก่การเอาชนะได้


ไม่ว่าขีดความสามารถนั้น จะเป็นต้นทุนที่ต่ำจนคู่แข่งในอุตสาหกรรมไม่สามารถเลียนแบบได้ หรือกิจการเหล่านั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีขวากหนามสูง (High Entry Barrier) ยากแก่การที่คนนอกจะเข้ามาแข่งขันได้โดยง่าย หรือกิจการนั้นอาจครอบครองแบรนด์ชั้นนำที่มีคุณค่าในสายตาลูกค้า และลูกค้ามีความจงรักภักดีอย่างยิ่ง

 

 

นั่นคือเหตุผลเบื้องลึกที่พอร์ตของ Berkshire Hathaway ต้องถือครองหุ้นอย่าง Amazon.com (AMZN), Apple (AAPL), Visa (V), และ Coca-Cola (KO)

Amazon.com เพราะสามารถทำต้นทุนต่ำ ในขณะที่มีสินค้าครอบคลุมหลากหลายอย่างมากมายมหาศาล เป็น One-stop Destination สำหรับผู้บริโภค ยากต่อการลอกเลียน

Apple เพราะเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีสาวกมากมายทั่วโลก และผลิตสินค้าทุกชนิดออกมาขาย ล้วนเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง

Visa เพราะเป็นกิจการที่คนรู้จักดีทั่วโลก แบรนด์ไม่เสีย และทะลุทะลวงสู่ตลาดใหม่ๆ เสมอ

Coca-Cola เพราะเป็นกิจการเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มีคนรู้จักแบรนด์ Coca-Cola ทั่วโลก ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ล้วนรู้จักดี

ที่สำคัญ กิจการเหล่านี้ล้วนบริหารโดยอัศวินหรือนักบริหารที่ (อย่างน้อย) เขาคิดว่าเป็นกลุ่มที่สามารถ และเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน (แม้หลายครั้ง คนเหล่านี้จะทำให้เขาต้องปวดหัว และต้องลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็ตาม)

 

 

แน่นอนว่าแนวคิดอันนี้ เป็นแนวคิดที่ทรงพลัง

ทว่า ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก และเป็นพลังพื้นฐานเบื้องหลังความสำเร็จที่แท้จริงของ Berkshire Hathaway ซึ่งบัพเฟตยึดถือมาตลอดในการสร้างพอร์ตของเขา

นั่นคือแนวคิดที่ว่า “คุณต้องพร้อมเสมอที่จะลงทุนเมื่อโลกทั้งโลกกำลังหยุด”

เขากล่าวไว้ในปาฐกถาเมื่อปี 2556 ณ มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ว่า


“Berkshire ต้องถือเงินสดจำนวน 2 หมึ่นล้าน ไว้ในมือเสมอ ฟังดูเหมือนบ้า เพราะธุรกิจไม่จำเป็นต้องทิ้งเงินไว้เฉยๆ แยะขนาดนั้น แต่วันหนึ่งในอนาคต อาจจะเป็น 100 ปีข้างหน้าที่โลกหยุดอีกครั้ง ถึงตอนนั้นเราก็พร้อมเสมอ มันต้องมีวิกฤติเกิดขึ้น อาจเป็นพรุ่งนี้ แต่ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ เราจำเป็นต้องมีเงินในกระเป๋า เพราะถึงตอนนั้น เงินสดจะเปรียบเหมือนอ็อกซิเจน (ที่เราต้องใช้หายใจ ถ้าขาดมันเราก็ต้องตาย)”


ใช่ “Cash at that time is like Oxygen”


แต่ในความเป็นจริง โลกเรามักจะเจอวิกฤติเสมอ ไม่ต้องรอถึง 100 ปีหรอก


จากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 และวิกฤติโควิดที่เพิ่งผ่านพ้นไป


มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนที่มีเงินสดในมือจำนวนมากนั้น สามารถเลือก “ช้อนซื้อ” สินทรัพย์ดีๆ ได้ในราคาถูกมากๆ อย่างยากที่จะหาได้ในเวลาปกติ


และเมื่อตลาดเริ่มเปลี่ยนเป็นขาขึ้น พวกเขาก็จะทำกำไรได้อย่างมหาศาล


นั่นคือบทเรียนที่เราเรียนรู้จากความสำเร็จของ Warren Buffet

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

29/09/2566

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click