แบรนด์ บำรุงราษฎร์ (Bumrungrad) เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงก็คือ การจัดอันดับ โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566 (World's Best Hospitals 2023) โดย นิตยสาร Newsweek ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย 3 ปีซ้อน และยังเป็นสถานพยาบาลจากประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่มีชื่อเข้าไปอยู่ในลิสต์ 250 อันดับแรกของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลจากแพทย์, ผู้บริหารโรงพยาบาล, บุคลากรทางการแพทย์ รวมกว่า 80,000 ราย จากโรงพยาบาล 2,300 แห่ง ใน 28 ประเทศ

เรียกว่าดังแบบไม่ต้องตะโกนเอง เพราะ บำรุงราษฎร์ ได้ 93 คะแนน เป็นอันดับหนึ่งของโรงพยาบาลในประเทศไทย และจัดอยู่ในอันดับ 182 จาก 250 อันดับของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปีนี้ จุดสนใจของทีม MBA จึงอยู่ที่ เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ว่ามีแนวคิด วางกลยุทธ์การบริหารธุรกิจโรงพยาบาล และมองเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพแบบไหน และจะพาธุรกิจโรงพยาบาลก้าวต่อไปในทิศทางใด อย่างไร

ความต้องการที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19

ภญ.อาทิรัตน์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลังโควิด-19 มีผู้ป่วยที่มารับบริการจากโรงพยาบาลเป็นคนไทยและชาวต่างชาติแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ในด้านรายได้ มาจากชาวต่างชาติ 66-67% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรักษา ‘โรคที่รักษายากและมีความซับซ้อน’

“เดิมคนนิยมเข้ามาเสริมความงาม ทำพลาสติก เสริมสวย เสริมจมูก ทำตาสองชั้น ทำฟัน ทำรากฟันเทียม แต่ระยะหลังๆ เราพบว่าประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับประเทศอเมริกาหรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นโรคที่ผู้ป่วยชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารักษาที่บำรุงราษฎร์จะเป็นโรคมะเร็ง โรคทางสมอง โรคทางสโตรก โรคหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียม หรือแม้กระทั่งการผลิตเด็กหลอดแก้ว หรือที่เรียกว่า IVF”

ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัว หลักๆ เป็นกลุ่มตะวันออกกลาง ประเทศเพื่อนบ้านก็มีเมียนมา มากเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็มีกาตาร์ คูเวต กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

‘โรคระบาด’ ผลักดันตลาด Wellness

ซีอีโอบำรุงราษฎร์เล่าย้อนถึง Medical Tourism หรือ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีโควิด ว่ามีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่า ปี 2028 ธุรกิจจะโตขึ้นเกือบ 4 เท่า หรือประมาณ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้อได้เปรียบของเมืองไทยคือ เมืองไทยมีภูเขา ทะเล แม่น้ำ มีศักยภาพและมีเอกลักษณ์ แม้กระทั่งวัฒนธรรมในแต่ละแห่งก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเข้ามารักษาตัวแล้วได้ท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยด้วย เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

นอกเหนือจากการรักษาพยาบาล ภญ.อาทิรัตน์ บอกว่า โรคโควิด-19 เกิดขึ้นและระบาดเกินความคาดหมาย คนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือมีโรคประจำตัวจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น ประเด็นนี้ทำให้ผู้คน ‘หันกลับมามองสุขภาพของตัวเองมากขึ้น’ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสในอุตสาหกรรมด้าน Wellness ของบำรุงราษฎร์

“คนเริ่มพูดถึงสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้น ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ซึ่งใน Mission ของบำรุงราษฎร์เอง เรามองเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมา 22 ปีแล้ว เราจึงก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ตอนที่เราพล็อตกราฟในอนาคตนั้น เทคโนโลยีไม่ได้ทันสมัยเหมือนยุคนี้”

ภญ.อาทิรัตน์เล่าต่อว่า บำรุงราษฎร์สร้าง VitalLife Scientific Wellness Center หรือ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการแพทย์เชิงป้องกันหรือการชะลอปัจจัยที่อาจมีผลต่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาวขึ้น จากนั้นอธิบายคำว่า Wellness ว่าไม่ใช่สปา ไม่ใช่สถานเสริมความงามอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็น การมีสุขภาพที่ดี ซึ่งส่งผลต่อ Longevity หรือ การทำให้สุขภาพดี มี Health Span - Life Span ยืนยาว

“การมีอายุ 100 ปีในยุคนี้ นับว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก อนาคตรุ่นลูกรุ่นหลานจะว่ากันที่อายุ 120-130 ปี เพราะน้องๆ ในวัย 20 30 ก็เริ่มดูแลตัวเองแล้ว รู้ว่าทำดีท็อกซ์ยังไง ออกกำลังกายยังไง กินวิตามินยังไง และเริ่มหันมามองอาหารสุขภาพ ซึ่งเราว่ามูลค่าการตลาด Wellness จะสูงมาก เพราะเราพบว่า เมื่อปี 2020 ตลาด Wellness มีมูลค่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมหาศาลมาก และไม่เกิน 5 ปีจะโตขึ้นเกือบเท่าตัว มาอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของบำรุงราษฎร์ที่เราปรับจากการเป็น Holistic healthcare with innovation มาเป็น The most trusted health and wellness destination”

Health & Wellness กับเทรนด์การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย คำแนะนำจากเภสัชกรหญิงคือ เราต้องดูแลสุขภาพโดยการ ‘ส่งเสริมดูแลตั้งแต่ยังไม่เป็นอะไรเลย’ แต่หากเป็น ก็ต้องรักษา เช่น โรคมรดกที่ได้รับมาจากคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย หากมีโรคจากพันธุกรรมบางชนิดก็ต้องดูแลสุขภาพต่อไปเรื่อย ๆ

“ถ้าเกิดครอบครัวมีคนเป็นมะเร็งทุกเจเนอเรชันเลย แจ็คพอตจะตกที่เราไหม? หรือมะเร็งต่อมลูกหมากจะตกที่เราไหม? ตรงนี้เราเรียกว่า มีโอกาส-อาจจะเป็น ที่ผ่านมา การตรวจเจอมะเร็งที่เราเห็นพัฒนาออกมาเป็นก้อนแล้ว แสดงว่าเป็นมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น แต่เดี๋ยวนี้เรามีนวัตกรรมการตรวจเจอเซลล์มะเร็งในเลือด ในระบบไหลเวียนเลือด ทำให้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ”

เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก นอกจากการตรวจ วินิจฉัยและแนวทางรักษามะเร็งก็พัฒนาสู่ ‘การรักษามะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง’ ซึ่งบำรุงราษฎร์ก็มองเห็นเทรนด์นี้

“กลับไปดูที่วงการยารักษามะเร็ง เขาก็จะปรับยาให้เป็น personalized เมื่อก่อนเวลาเป็นมะเร็งก็จะมียากิน แล้วมี side effect หรือบางคนฉายแสงแล้วร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือทนได้ แต่ตอนนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ถ้าเจอในระยะแรกๆ แล้วมารักษา ก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น อายุขัยของคนไข้ยืนยาวขึ้น”

หรือกรณีไม่มีโรคที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาทางพันธุกรรม ทางโรงพยาบาลก็สามารถตรวจเลือดเพื่อให้รู้ก่อน ระวังก่อนได้ เช่น การตรวจยีนแพ้ยาในเด็ก

“เด็กไม่สบาย กินยา แพ้ยา ก็ต้องมาหาหมออีก แล้วก็แพ้อีก เราจึงมีการตรวจยีนที่ตรวจเจอแม้กระทั่งว่า ยาอะไรที่กินแล้วอาจจะไม่ได้ผล คือต้องเพิ่มโดสมากขึ้น เพราะสมัยก่อนเวลาคนคิดสูตรยาจะให้กินตามน้ำหนักตัวเท่านั้นเท่านี้ แต่ตอนนี้มันต้อง Custom ได้ ยีนแบบนี้จะต้องกินยาชนิดนี้ มากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ ยิ่งแพ้ยาก็ยิ่งมีโอกาสเกิดการแพ้ยา ดังนั้น ตั้งแต่เด็กคลอดออกมาก็ Test เพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้เลย” ซีอีโอบำรุงราษฎร์เล่าถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่

ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วย Technology & Thai Touch

ภญ.อาทิรัตน์ อธิบายว่า มีหลายเทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาลคิดค้นขึ้น แต่ก็มีหลายเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การตรวจยีน (Genetics Testing) ที่นำเข้ามาให้บุคลากรเรียนรู้ ฝึกใช้เครื่องมือจนกระทั่งมั่นใจว่า ทำได้ จึงสั่งเครื่องมือเข้ามา และนำผลที่ได้ในไทยส่งไปตรวจสอบยันยันมาตรฐานกับต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่น้อยๆ แต่สำหรับบำรุงราษฎร์ ไม่มีคำว่าสูญเปล่า

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมากๆ หลายโรงพยาบาลมีเทคโนโลยี แต่เครื่องตั้งอยู่เฉยๆ เพราะหมอไม่ใช้ แต่ของเรา เราดึงคนที่ถนัดและเชี่ยวชาญจากอเมริกามาสอนใช้เครื่อง เมื่อหมอใช้เป็น เทคโนโลยีบางอย่างลงทุนแล้วจึงไม่แพงอย่างที่คิด แค่ต้องกล้าซื้อให้หมอใช้”

อย่าง การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ภญ.อาทิรัตน์ ยกตัวอย่างว่า การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดต่อมลูกหมาก มีข้อดีคือ มีความแม่นยำสูง ลดความเสี่ยงที่จะไปโดนเส้นประสาทซึ่งสำคัญต่อความรู้สึกของผู้ชาย และที่มากกว่านั้นคือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ใช้ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ประกบคู่กับการวินิจฉัยโรค

“สำหรับผู้ตรวจมะเร็งเต้านมก็มี AI เพราะเราต้องการ make sure ว่าตรวจไม่หลุด นี่หมอเริ่มติดแล้วที่มี AI ช่วยยืนยันให้ เพราะเราไม่ต้องการให้การวินิจฉัยผิดพลาด”

ทางบำรุงราษฎร์ยังจัดตั้ง Bumrungrad Academy โดย Spin off จากส่วนที่เป็น Education ไปเปิดเป็นบริษัทในเครือ นอกจากนี้ในด้านวิชาการเรายังมุ่งสู่การเป็นสถาบันวิชาการทางการแพทย์ภาคเอกชน (Academic Private Hospital)   ซึ่งนอกจากการสนับสนุนความเป็นเลิศทางการแพทย์ให้กับบำรุงราษฎร์แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างโรงพยาบาลเพื่อการแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ (Knowledge Sharing) ในเชิงการแพทย์ นอกจากนี้เรายังมีการริเริ่มสร้างเครือข่ายในรูปแบบของโรงพยาบาลพันธมิตร  เช่น หากโรงพยาบาล A มีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคซับซ้อนและไม่สามารถรักษาได้ เช่น การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้อง การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถส่งต่อมาที่บำรุงราษฎร์ และเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นก็ส่งตัวกลับไปให้รักษาต่อในสิ่งที่โรงพยาบาล A รักษาได้

“Dynamic ของ Health care มันเร็วมาก ก็จะเห็นว่าโควิดทำให้เราทุกคนอยู่นิ่งไม่ได้ เราต้องเริ่มออกไปในโลกอนาคตว่า อะไรจะมาแทนที่ อะไรจะมาดิสรัปวงการแพทย์ และอะไรที่ต่างชาติมี เมืองไทยยังไม่มี เราจึงจัดตั้งศูนย์วิจัย มีทีมงานซึ่งทำหน้าที่ตรงนี้โดยเฉพาะ แล้วเราก็มีงานวิจัยของเราเอง เช่น การพัฒนาแนวทางการผ่าตัดของแพทย์บำรุงราษฎร์แนวใหม่ ที่ทำให้อัตราการเกิดโรคซ้ำน้อยลง ดังที่มีอาจารย์คิดค้นว่า อะไรทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วก็ใช้เครื่องจี้เข้าไปเพื่อรักษา และผู้หญิงเวลาตรวจร่างกายจะเจอก้อนเนื้องอกที่หน้าอกชนิดปกติ (Fibroadenoma) บางคนอยากเอาออกแต่ไม่อยากผ่า จึงมีนวัตกรรม Cryoablation หรือ การรักษาด้วยความเย็นติดลบ จี้เข้าไปที่ก้อนในเต้านม

จะเห็นว่า บุคลากรและเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ และด้วยความพร้อม ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง จึงมี Business Unit ที่เรียกว่า COE: Center of Excellence บ่งบอกถึงการเป็นศูนย์กลางของการรักษาโรคที่มีความเป็นเลิศโดยเฉพาะ ได้แก่

  • สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ - รักษาอาการและโรคทั้งหมดที่เกี่ยวกับหัวใจ ดูแลตั้งแต่หัวใจล้มเหลวไปจนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งเป็นความซับซ้อนสูงสุด
  • โรคมะเร็ง - ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมดเพื่อการวิเคราะห์คาดการณ์มะเร็งได้อย่างแม่นยำและเน้นในเรื่องของการตรวจยีนก่อน เพื่อดูว่า 1) ตัวยารักษามะเร็งจะตอบสนองกับยีนหรือไม่ 2) ยีนมะเร็งนั้น ตรวจพบในหลายอวัยวะหรือไม่ 3) หากใช้ยาชนิดเดียวมันจะฆ่ามะเร็งได้หมดหรือไม่ เพื่อการเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง ระยะเวลาที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดผลข้างเคียง
  • ศูนย์โรคระบบประสาท - รักษาโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง ทั้งลมชัก Dementia, Stroke, Alzheimer’ s รวมถึงเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังและโรคซับซ้อน
  • ศูนย์ทางเดินอาหารและส่องกล้อง - รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เนื่องจากปัจจุบันเป็นสังคมก้มหน้า ผู้คนเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ กินอาหารไม่เป็นเวลา ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ส่งผลต่ออาการท้องผูก ท้องเสีย บ้างก็เป็นเรื้อรัง ซึ่งนอกจากรบกวนการใช้ชีวิตแล้วยังส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ สมองเสื่อม ซึ่งถ้าตรวจพบปัญหาจากระบบย่อยก่อนก็จะแก้ปัญหาได้ก่อน
  • Comprehensive Eyes Center รักษาอาการและโรคทั้งหมดเกี่ยวกับดวงตา รวมถึงการปลูกถ่ายกระจกตา โดยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ทำได้

โดยปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว คือ 4C1W นั่นคือ

  • Critical care – การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต
  • Complicated care - การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรคหรือโรคหายาก
  • Cutting-edge technology - การให้ความสำคัญและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • Collaboration of Expertise - การทำงานที่สอดประสานกันกับสหสาขาวิชาชีพ โดยร่วมกันดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • Wellness and Prevention - ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดโรค

นอกเหนือจากนี้ ชีวิตหลังเกษียณของชาวต่างชาติ อาทิ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ญี่ปุ่น อเมริกา สามารถเลือกประเทศที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ได้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย เนื่องจากค่าครองชีพไม่สูงและยังเป็น Land of Smiles อีกด้วย

“ต่างชาติเห็นว่าคนไทยมีมิตรภาพ มีน้ำใจ อย่างโรงพยาบาลของเรา เรียกได้ว่า เรามีความ Hi-tech แต่ก็มี Thai Touch มันก็เลยเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติทุกประเทศที่เข้ามารักษาพยาบาลแล้วชอบ และทำให้เขากลับมาใช้บริการอีก”

ปรัชญาการทำงานของเภสัชกรที่ก้าวขึ้นมาคุมบังเหียนธุรกิจโรงพยาบาล

ซีอีโออาทิรัตน์กล่าวปิดท้ายด้วยปรัชญาการทำงานผ่านคำว่า หลิง (LING) ซึ่งเป็นชื่อเล่นของตัวเองว่า

  • L – Learn for lifetime การทำงานยุคนี้จะทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วไม่ได้ ต้องเปิดหูเปิดตา ปรับกระบวนการ แนวคิด นำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือ และต้องเปิดรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • I - Improve Continuously ไม่ทำงานแบบ Routine แต่ทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบ Project Management คือ ไม่หยุดพัฒนา พร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าวันนี้ทำแล้ว พรุ่งนี้จะทำอะไรให้ดีกว่าวันนี้ แล้วทุกๆ สิ้นปีก็ทบทวนว่า ชีวิตมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ปรับปรุงอะไรในตัวเราได้อีกไหม
  • N - Never Give Up สำคัญมากสำหรับคนทำงานโรงพยาบาล เพราะเป็นงานของประเทศที่มีมิติทั้งหนัก กว้าง และลึก และต้องพร้อมที่จะตอบสนอง (response) ต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอการมอบหมาย
  • G – Grow Together / Growth Mindset มายเซ็ทที่ให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถและการพัฒนาศักยภาพของคนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้คนก้าวเดินไปด้วยกัน (Together) เติบโตไปด้วยกันได้

ถ้าถามว่ามาถึงจุดจุดนี้ได้ยังไง เราสร้างคนโดยให้ลูกน้องเก่งกว่าเรา เท่านั้นแหละที่จะทำให้เราไปต่อได้ งานเราสร้างคนแล้ว เราก็รีบไปทำงานอื่น การที่เราสร้างคนไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นแรงในการส่งเสริมให้เราเรียนรู้ และพี่ก็ไม่เคยปฏิเสธงานที่ไม่เคยทำ อาจจะเป็นเพราะพี่เป็นคนชอบเรียนรู้และอยากทำสิ่งใหม่ๆ เพราะยังไงมันก็เป็นกำไรชีวิต


บทความ: กองบรรณาธิการ
ภาพถ่าย: ฐิติวุฒิ บางขาม

พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ใหม่และทิศทางดำเนินงานสู่ความสำเร็จด้าน Medical and Wellness Destination

X

Right Click

No right click