ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนของการต่อยอดรูปแบบการเลี้ยงดูในมิติของ Pet Humanization เข้าสู่ Petriarchy และ Pet Celebrity ที่หนุนบทบาทให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากเทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ดูแลเดิมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง และ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทาง ttb analytics ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาทต่อตัวต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ในบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ซึ่งบนบริบทการเลี้ยงดูที่ตามใจ โดยสัตว์เลี้ยงเป็นผู้รับที่ไม่สามารถปฏิเสธของที่เจ้าของเลือกซื้อให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์ และค่าดูแล มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) เมื่อมีการนำเสนอนิสัยหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงนั้นผ่านการเล่าเรื่องหรือการสร้าง Content โดยเจ้าของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ถูกยกระดับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ที่สามารถสร้างรายได้ผ่าน Content ต่าง ๆ ที่เจ้าของได้สรรสร้างเพื่อนำเสนอให้กลุ่มผู้ติดตาม ทำให้นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์และค่าดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ยังมีความถี่ในการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงในลักษณะเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) แบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งจากบริบทการเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ “การเลี้ยงแบบครอบครัว-ที่ตามใจ-และสร้างรายได้” ส่งผลให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยทาง ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2567 คาดมีมูลค่าแตะ 7.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.5% โดยรูปแบบการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแบ่งออกเป็นดังนี้

 

1. กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และ บริการรักษาสัตว์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการเติบโตจากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของตระหนักถึงสัตว์เลี้ยงเป็นประหนึ่งเหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้รูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กลุ่มอาหารที่เริ่มมีการใช้อาหารเฉพาะเพิ่มมากขึ้นจากคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคตที่การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว รวมถึงอาหารสัตว์ในปัจจุบันก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบนี้มักใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมที่มีราคาสูง เช่น อาหารเปียก รวมถึงในผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็เลือกใช้อาหารดิบที่ไม่ผ่านความร้อน (BARF) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.0% สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และต้องรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ประหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 21.7% ด้วยมูลค่า 6.64 พันล้านบาท ในปี 2567

2. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มที่นอกจากได้รับแรงหนุนของกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแล้ว (Pet Humanization) มูลค่าของอุตสาหกรรมยังมีการเร่งตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากกระแสการเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวแบบตามใจ (Petriarchy) และ สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้ (Petfluencer) ที่ส่งผลให้มีความถี่ในการเข้ารับบริการดูแลและความถี่ในการจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มในอัตราเร่ง ส่งผลให้มูลค่าตลาดอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีค่าการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.3% และ 16.7% โดยคาดว่ามีมูลค่า 2.29 หมื่นล้านบาท และ 0.66 พันล้านบาท ตามลำดับ บนแนวโน้มที่ยังรักษาการเติบโตในอัตราเร่งได้

กล่าวโดยสรุป กระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เป็นกระแสที่เพิ่มความนิยมส่งผลให้การดูแลสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้เจ้าของมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นทั้งในมิติของอาหารที่ต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสุขภาพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการดูแลย่อมสูงขึ้นในอัตราเร่ง เมื่อเจ้าของมีการเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) หรือเมื่อสัตว์เลี้ยงมีนิสัยเฉพาะตัวที่ยกระดับเป็น Pet Celebrity และมากกว่าไปนั้น นอกจากมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยที่ขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงที่เปลี่ยนไปดังกล่าว รูปแบบการเลี้ยงนี้ยังส่งผลทางอ้อมไปยังธุรกิจและบริการที่สามารถรองรับมูลค่าที่ขยายตัวนี้ได้ เช่น กลุ่มโรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับฝึกสัตว์เลี้ยงให้กลายเป็น Petfluencer รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับบริการรักษาสัตว์ที่อาจมีการขยายขอบเขตบริการ Veterinary Telemedicine หรือ Virtual Vet ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เจ้าของอาจไม่สะดวกเดินทางพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษา เป็นต้น

โฉมหน้าระบบนิเวศการชำระของเอเชียแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลในตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนวิธีการชำระด้วยเงินสดเป็นระบบดิจิทัล และเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และความสามารถของผู้บริโภคในการจ่ายและรับเงินไปอย่างสิ้นเชิง

ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นตัวเร่งให้วิธีการชำระเงินแบบดิจิทัลมีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มการสมัครสมาชิก การค้าออนไลน์และโซเชียลคอมเมิร์ซ และบริการด้านการเงินแบบ on-demand

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในปี 2567 นี้ จังหวะของการเปลี่ยนแปลงยังจะดำเนินอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนวิวัฒนาการของการชำระเงินในระบบดิจิทัลต่อไปเพราะทั้งผู้บริโภค และภาคธุรกิจต่างมองหาวิธีการชำระและรับชำระที่รวดเร็วกว่า ปลอดภัยกว่า และไร้รอยต่อ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยียังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเราคาดหวังว่าโซลูชันใหม่ ๆ จะถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น”

 1. การชำระไม่ใช่แค่เรื่องของวิธีการ แต่สำคัญที่เมื่อไร

เมื่อผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการชำระแบบดิจิทัล ความสำเร็จจึงไม่ใช่เพียงแค่หาโซลูชันที่ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ แต่สำคัญที่การนำเสนอโซลูชันนั้น ๆ ให้กับลูกค้าต้องเกิดขึ้นในเวลาที่ใช่

สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ของการเงินแบบฝังตัว (embedded finance) คือการผสานบริการด้านการเงินเข้ากับแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิม ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถเสนอขายประกันแก่ผู้ซื้อที่จุดชำระเงิน ขณะที่บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ยังช่วยให้ลูกค้าสามารถแบ่งการชำระเป็นงวดได้โดยไม่ต้องออกจากหน้าเว็บ หรือแอปชอปปิง

คล้ายคลึงกับเรื่องราวของดิจิทัลวอลเล็ตที่ทำให้ชีวิตของผู้ถือบัตรชำระเงินต่าง ๆ ง่ายดายขึ้นผ่านการชำระแบบดิจิทัล และโซลูชัน Mobile-as-a-Service (MaaS) ที่ผนวกการชำระเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถวางแผน จองตั๋ว และจ่ายค่าโดยสารการเดินทางได้ในที่เดียว

โอกาสในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นในการชำระแบบ B2B โดยวีซ่าและบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจอย่าง BCG พบว่า ภายในปี 2568 การเงินแบบฝังตัวจะสร้างโอกาสทางการตลาดได้มากกว่า 242 พันล้านเหรียญสหรัฐแก่ผู้ให้บริการด้านการเงินทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMB)

 

2. โฉมหน้าการชำระเงินแบบ B2B จะถูกปรับให้เข้ากับผู้บริโภคยิ่งขึ้น

อีกไม่นานจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมโลกธุรกิจเมื่อคลื่นลูกใหม่ของผู้นำเจน Z และมิลเลนเนียลก้าวขึ้นมามีบทบาท พวกเขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการชำระเงินแบบดิจิทัลที่ใช้งานง่าย และความคาดหวังของพวกเขานั่นเองที่ช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการการชำระเงิน B2B ให้มีโฉมหน้าและฟังก์ชั่นการใช้งานให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภคยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับก่อนหน้านี้ที่ออกแบบมาสำหรับองค์กรธุรกิจเท่านั่น

มีสองพลังสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างแรกคือการทำงานร่วมกัน ระบบที่ต่างกันจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อได้มากน้อยเพียงใด มันจำเป็นต้องมีนักพัฒนา ธุรกิจ และภาครัฐ มาร่วมมือกันและใช้งานการเชื่อมต่อโปรแกรมประยุกต์ APIs แบบเปิดที่สามารถรองรับวิธีการชำระแบบต่าง ๆ ได้ในแพลตฟอร์มเดียว เช่นเดียวกับองค์กรในเอเชียแปซิฟิกที่อีกไม่นานจะสามารถชำระเงินอย่างไร้รอยต่อบนแพลตฟอร์ม SAP ด้วยบัตรวีซ่าเพื่อธุรกิจ โดยไม่ต้องยุ่งยากกับวิธีการชำระเงินหรือออกจากระบบอีกต่อไป

พลังอย่างที่สอง คือ ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นต่อโซลูชันการชำระเงินแบบ B2B ที่สามารถทำได้หลายอย่างในแพลตฟอร์มเดียว แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเพราะ รวบรวมบริการต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน อาทิ การชำระเงิน การกู้ยืม และการจัดการใบแจ้งหนี้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการงานด้านการเงินที่สำคัญให้จบได้ในอินเตอร์เฟซเดียว

 3. ความเสี่ยงมีให้เห็นบ่อยขึ้น แต่จับพิรุธได้ยากขึ้น

การชำระเงินแบบดิจิทัลที่เติบโตขึ้นในเอเชียแปซิฟิกส่งผลให้อาชญากรรมทางไซเบอร์มีเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Generative AI ที่สร้างขึ้นบนโมเดลภาษาขนาดใหญ่เริ่มเลียนแบบการตอบสนองที่เหมือนมนุษย์ได้เนียนขึ้น และมิจฉาชีพสามารถใช้ความสามารถของมันไปสร้างอีเมลหลอกลวง และข้อความหลอกลวงแบบฟิชชิ่งโดยการใช้ภาษาที่ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจับพิรุธได้ยากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของการฉ้อโกงระบุตัวตน การยึดครองบัญชี และรูปแบบการโกงแบบ “ได้คืบจะเอาศอก” ที่นักต้มตุ๋นมักใช้ล่อเหยื่อด้วยการจ่ายเงินจำนวนไม่มากนักเพื่อซื้อใจเหยื่อ นอกจากนี้ธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีความเชื่อมต่อกันมากขึ้น ความสุ่มเสี่ยงต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ปัจจุบันวิธีการฉ้อโกงใหม่ ๆ มีหลายร้อยเล่มเกวียน ทำให้วิธีการเดิม ๆ ในการตรวจจับและป้องกันนั้นไม่เพียงพอ ข่าวดีก็คือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เร่งเครื่องเพื่อตามกลโกงเหล่านี้ให้ทัน เทคโนโลยี Machine learning (ML) และ โซลูชัน AI อย่าง Visa’s Advanced Authorisation (ViAA) ของวีซ่า สามารถขจัดความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการทำธุรกรรมได้โดยการตรวจจับความผิดปกติและภัยคุกคามอย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ไม่มีทรัพยากรในการจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง

ข่าวดีอีกเรื่องคือการยอมรับการชำระด้วยบัตรเวอร์ชวล (virtual card) ซึ่งเป็นบัตรที่ใช้งานได้เหมือนบัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงินทั่ว ๆ ไปในกระเป๋าสตางค์ของคุณ แต่ใช้หมายเลขบัตรแบบใช้ครั้งเดียวและจํากัดเวลาในการชำระเงินแต่ละครั้ง ซึ่งสิ่งที่ทำให้บัตรเวอร์ชวลแตกต่างจากบัตรทั่วไปคือมันมาพร้อมกับ Dynamic CVV2 (dCVV2)

บนบัตรพลาสติกเพื่อการชำระแบบมาตรฐานทั่วไปจะมีตัวเลข CVV2 จำนวน 3 หลักพิมพ์ลงบนด้านหลังของบัตร หากตัวเลขดังกล่าวถูกมิจฉาชีพล่วงรู้ ก็จะสามารถใช้บัตรและนำเลขกลับมาใช้ใหม่เพื่อทำธุรกรรมที่ฉ้อโกงได้ แต่ด้วย Dynamic CVV2 ค่าตัวเลขจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยระหว่างการชำระเงินออนไลน์ผู้ถือบัตรจะกรอกเลข Dynamic CVV2 (dCVV2) ปัจจุบัน แล้วหลังจากนั้นระบบ VisaNet จะทำการตรวจสอบรหัสด้วยฟังก์ชันการตรวจสอบสิทธิ์ dCVV2 Authenticate เพื่อยืนยันตัวตน โดยเทคโนโลยี dCVV2 นอกจากจะช่วยป้องกันการใช้ซ้ำของบัตรที่ถูกมิจฉาชีพล้วงข้อมูลแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการโจรกรรมและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องก้บการฉ้อโกงต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

4. ธุรกิจ SMB มองไปยังอนาคต แต่ต้องการตัวช่วยสู่ความสำเร็จ

ในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป ภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMB) ในเอเชียแปซิฟิกจะยังประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลได้สร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจแบบเท่าเทียม ที่เจ้าของธุรกิจรายย่อยก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ และธุรกิจ SMB เหล่านี้ในภาคอื่น ๆ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องรับเอาเทคโนโลยีที่ฉลาดและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากขึ้นมาใช้งานด้วยเช่นกัน

หมายความว่า SMB จะช่างเลือกมากขึ้นในการยอมรับโซลูชันการชำระเงินในปี 2567 นี้ พวกเขาต้องการการชำระเงินแบบดิจิทัลที่สะดวก เชื่อถือได้ และไร้รอยต่อ ควบคู่ไปกับการขยายการทำธุรกิจไปต่างประเทศเติบโตขึ้น ส่งผลให้ SMB จะให้ความสำคัญกับโซลูชันที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้นเป็นอันดับแรก

“โซลูชันการชำระเงินที่ใช้งานได้จริงและเหมาะกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจ SME ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ คือ บัตรเวอร์ชวล ซึ่งบัตรเวอร์ชวลเพื่อธุรกิจไม่จำเป็นต้องผลิต ถือเป็นความคุ้มทุนเพราะผู้ประกอบการสามารถขอบัตรเวอร์ชวลได้มากตามที่ต้องการ และลูกจ้างไม่จำเป็นต้องรอให้บัตรพลาสติกจัดส่งมาให้ บัตรเวอร์ชวลยังสามารถตั้งค่าได้อย่างรวดเร็วและกำหนดวงเงินได้ตามต้องการ ซึ่งมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับธุรกิจ SME เพราะการชำระเงินไม่

จำเป็นต้องรวมที่ศูนย์กลางและลูกจ้างสามารถทำการชำระได้อย่างอิสระ ขณะที่บริษัทยังคงควบคุมกระแสเงินสดได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย” ปุณณมาศ กล่าวเสริม

นอกจากนี้เรายังจะเห็นธุรกิจ SMB หันไปหาแหล่งเงินทุนที่คล่องตัวและยืดหยุ่นกันมากขึ้น เช่น บัตรที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่มีความยืดหยุ่น

เมื่อนวัตกรรมและการพัฒนาการชำระเงินยังคงขับเคลื่อนต่อไปในเอเชียแปซิฟิก สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือระบบนิเวศการชำระจะต้องอยู่ต้นแถว เพราะความรวดเร็ว สะดวกสบาย และปลอดภัย ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราหวังจะได้ทำงานร่วมกันทั่วทั้งระบบนิเวศทางการเงินเพื่อสร้างโซลูชันใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาภูมิทัศน์ของเอเชียแปซิฟิกไปด้วยกัน

กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2567 – โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำใจกลางกรุงเทพฯ เปิดศักราชใหม่ปี 2567 ประกาศเดินหน้ายกระดับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุม ภายใต้กลยุทธ์ “Outside In” มุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น ตลอดจนเทรนด์สุขภาพยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ “แอมิลิ (AMILI)” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในลำไส้ จากความร่วมมือครั้งนี้ รพ.วิมุต พร้อมนำนวัตกรรมในการตรวจ “ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร” มาใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีการดูแลเชิงป้องกันที่กำลังมาแรงและเป็นความหวังใหม่ในการป้องกันโรคร้ายในอนาคต นอกจากนี้ รพ. วิมุต ยังเผยตัวเลขการเติบโตของตลาดไมโครไบโอม มั่นใจนวัตกรรมใหม่ช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมร่วมเป็นหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของไทย คาดรายได้ปี 2567 ของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุตจะเติบโตกว่า 30% จากการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

ไมโครไบโอม (Microbiome) คือชื่อเรียกระบบนิเวศของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งรวม โพรไบโอติกทั้งตัวดีและไม่ดีที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยหากไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) มีความสมดุล กล่าวคือ มีจุลินทรีย์ดีหลากหลายสายพันธุ์ในจำนวนมากพอ ก็จะช่วยทำหน้าที่ย่อยอาหาร เสริมการเผาผลาญ ดูแลระบบภูมิคุ้มกัน สังเคราะห์วิตามิน และช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย สมอง และอารมณ์ได้ โดยไมโครไบโอมได้รับการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่องและพบว่าการรักษาสมดุลของไมโครไบโอมในลำไส้ เป็นวิธีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโดยรวมเพื่อป้องกันโรคร้ายและสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีในระยะยาว ปัจจุบัน วงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และความงามทั่วโลกให้ความสนใจการดูแลสุขภาพด้วยการปรับสมดุลจุลินทรีย์ให้ร่างกายทั้งภายในและภายนอก

 

นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รพ. วิมุต เล็งเห็นถึงการตื่นตัวของคนไทยและทั่วโลกในเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนล้มป่วย ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยวิเคราะห์ไมโครไบโอมในลำไส้กำลังเป็นเทรนด์สุขภาพมาแรง โดย Research Reports World (RRW) เผยว่าตลาดไมโครไบโอมทั่วโลกมีมูลค่าถึง 743.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และจะแตะ 3,523.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) ที่ 29.61%

“รพ. วิมุต มุ่งเสาะหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสริมทัพบริการด้านสุขภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดภายใต้กลยุทธ์ Outside-In เดินหน้าพัฒนาธุรกิจจากมุมมองของผู้ใช้บริการ เราได้ลงนามร่วมทุนกับแอมิลิ (AMILI) บริษัทเฮลท์เทคชั้นนำจากสิงคโปร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านจุลชีพในลำไส้ เพื่อเปิดตัว Gut Microbiome Test โปรแกรมตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้เฉพาะบุคคลที่โรงพยาบาล พร้อมมุ่งช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างตรงจุด ช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำการปรับสมดุลจุลินทรีย์ให้เหมาะกับแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคต รพ. วิมุต มีแผนจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัย

ด้านไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารแห่งแรกในไทยร่วมกับ AMILI ช่วยยกระดับการศึกษาไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยเพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาการรักษาโรคและผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาอาหารเสริมโพรไบโอติกส์เพื่อเสริมการรักษาโรคทางเดินอาหาร ลำไส้แปรปรวน และโรคอ้วน” นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ กล่าวเสริม

 

นายแพทย์เจเรมี ลิมป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AMILI กล่าวว่า “AMILI มีฐานข้อมูลและตัวอย่างไมโคร ไบโอมจากคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยังเป็นธนาคารไมโครไบโอมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้พัฒนา "AMILI PRIME" เครื่องมือวิเคราะห์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ที่ทำการทดสอบ วินิจฉัย ทำนายอัลกอริธึม และปรับเปลี่ยนไมโครไบโอมได้อย่างแม่นยำ ความร่วมมือครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของ รพ.วิมุตในการยกระดับบริการสุขภาพขึ้นไป อีกขั้นผ่านนวัตกรรมการตรวจไมโครไบโอม เราจะร่วมกันนำเสนอการตรวจสอบสุขภาพลำไส้และการนำวิธีปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal Microbiota Transplantation: FMT) เข้าสู่ตลาดประเทศไทย AMILI พร้อมทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ตามความตั้งใจของ รพ. วิมุตในการดูแลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”

 

นายแพทย์กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ กล่าวว่า “หลายคนอาจไม่ทราบว่าการดูแลสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานที่เป็นปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดภาวะไม่สมดุล เราอาจเผชิญกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ อาทิ ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก ท้องเสียเป็นประจำ ระบบการเผาผลาญไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ๆหรือมีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันโดยไม่ทราบสาเหตุ Gut Microbiome Test ที่ รพ.วิมุต ช่วยตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ผ่านการตรวจอุจจาระ เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ความสมดุล (Balance) และความหลากหลาย (Diversity) ของจุลินทรีย์ในลำไส้ และวางแผนการปรับสมดุลในลำไส้ ซึ่งรวมถึงการปรับการรับประทานอาหารและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้คนไข้แต่ละคนได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ อาจแนะนำให้รับประทานโพรไบโอติกส์ที่มีสูตรและสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะกับสุขภาพลำไส้ตามผลการตรวจจุลินทรีย์เฉพาะบุคคล เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากโพรไบโอติกส์”

สำหรับผู้ที่สนใจโปรแกรม Gut Microbiome Test ตรวจสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ สามารถติดต่อศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต ถนนพหลโยธิน พร้อมพบกับโปรโมชันพิเศษช่วงเปิดตัวโปรแกรม ในราคาเริ่มต้น 18,000 บาท สามารถโทรนัดหมาย 02-079-0034 เวลา 07.00-17.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX

การ์ทเนอร์เปิดเทรนด์สำคัญของวงการการควบรวมและซื้อกิจการ หรือ Mergers and Acquisitions - M&A ในปี 2567 ซึ่งรวมถึงการปลดล็อกโอกาส M&A ทางเทคโนโลยี ท่ามกลางความคลุมเครือทางเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาปรับปรุงกระบวนการ M&A การเข้าซื้อกิจการในธุรกิจกลุ่ม AI และสำรวจสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

มาร์ค แครอล รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การควบรวมกิจการทั่วโลกยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลดลง 50% จากจุดสูงสุดที่เป็นประวัติการณ์ในปี 2564 โดยความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาคและกฎระเบียบเป็นแรงเสริมของแนวโน้มดังกล่าว แต่การมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ AI ที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถพาองค์กรกลับเข้าสู่ตลาด M&A อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในปีหน้านี้”

คริส แกนลี่ รองประธานทีมผู้จัดการของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การควบรวมกิจการยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรส่วนใหญ่ ดังนั้นปีหน้าเราจะเห็นความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มตลาดนี้อย่างไร โดยความสำเร็จของการควบรวมกิจการหมายถึงการที่ผู้บริหารสามารถวางตำแหน่งองค์กรของตนให้เป็นผู้นำตลาดต่อไปได้ในอีกหลายปีข้างหน้า”

เทรนด์ที่ 1: ความคลุมเครือทางเศรษฐกิจมหภาคปลดล็อกโอกาสการควบรวมกิจการทางเทคโนโลยี

การ์ทเนอร์ระบุว่าความคลุมเครือทางเศรษฐกิจมหภาคจะยังคงมีอยู่ในปีหน้า โดยมีสัญญาณบวกและลบปะปนกัน ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงาน ต้นทุนของเงินลงทุน และความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงจะต้องต่อสู้เพื่อการระดมทุนรอบถัดไป และจะมองหาทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการเปิดให้เข้าซื้อกิจการโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนและอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือ Strategic Buyers การ์ทเนอร์แนะนำว่าองค์กรที่มีเงินทุนควรใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยการเข้าซื้อกิจการธุรกิจเทคโนโลยีขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า Techquisitions ด้วยความที่มีมูลค่าต่ำกว่าและเข้าถึงเงินทุนได้น้อยกว่าที่โดยทั่วไปมักจะเปิดให้เข้าซื้อกิจการได้ในสภาวะเศรษฐกิจสดใส

เทรนด์ 2: การใช้ AI จะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ

การ์ทเนอร์ระบุว่า การใช้ AI จะมีผลอย่างมากต่อความเร็ว ประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพโดยรวมของกระบวนการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตามความเฉพาะของวิธีการและตำแหน่งที่ AI ถูกนำไปใช้นั้นกำลังเกิดขึ้นเพื่อระบุสิ่งที่ใช้ได้จริงในปัจจุบันเทียบกับความเป็นไปได้ในระยะยาว

การ์ทเนอร์แนะนำให้ใช้ AI ในกระบวนการ M&A แบบภายในก่อน โดยพัฒนาและทดสอบเคสการใช้งานที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์สัญญาที่เป็นการประยุกต์ใช้ AI ที่ทรงประสิทธิภาพในตอนนี้ เพื่อปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือแสดงเจตจำนง สัญญาการตรวจสอบประเมินสถานะของกิจการ สัญญาหลักที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และการเจรจาข้อตกลงร่วมกันในการโอนย้ายธุรกิจหรือ TSA รวมถึงการต่ออายุและการรวมสัญญา

เทรนด์ที่ 3: กลยุทธ์ AI จะต้องใช้แนวทางใหม่ ๆ เพื่อควบรวมธุรกิจ AI

แม้ว่าการควบรวมกิจการของธุรกิจ AI ยังไม่ได้รับความนิยมสำหรับองค์กรต่าง ๆ แต่การ์ทเนอร์เชื่อมั่นว่าการที่องค์กรต่างมุ่งให้ความสำคัญในด้านเทคโนโลยีจะนำไปสู่การสร้างข้อตกลงหรือดีลธุรกิจมากมายในปี 2567 จากการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอและผู้บริหารธุรกิจของการ์ทเนอร์ ประจำปี 2566 พบว่า AI เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่สุด การ์ทเนอร์แนะนำว่าการเข้าซื้อธุรกิจ AI จะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญในปีหน้า ส่วนองค์กรที่ขาดทักษะหรือมีเวลาจำกัดในการพัฒนาความสามารถด้วยตนเองสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ M&A เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีแทนได้

เทรนด์ที่ 4: กฎระเบียบและการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นจะขีดขวางการควบรวมกิจการขนาดใหญ่

การ์ทเนอร์คาดว่า การตรวจสอบกฎระเบียบในดีล M&A โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผูกขาดทางการค้าและความมั่นคงของชาติกำลังทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและจะเป็นปัจจัยสำคัญขัดขวางดีล M&A ขนาดใหญ่ในปี 2567 อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้กลับเพิ่มความน่าสนใจในการดำเนินการดีลข้อตกลง M&A กับบริษัทขนาดเล็กและบริษัทหลากหลายในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในสภาพแวดล้อมนี้

“แม้การตรวจสอบกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อธุรกรรม M&A ขนาดใหญ่ แต่สามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับองค์กรที่เป็นผู้นำในการบรรลุดีลขนาดเล็ก ๆ มากขึ้น สำหรับผู้ที่มุ่งเน้นดีลที่ใหญ่กว่า สิ่งสำคัญคือต้องใช้แนวทางเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในปีหน้า” แกนลี่ กล่าวเพิ่มเติม

 

ในยุคที่มีการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจ B2B ได้ยืนอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากดิจิทัลดิสรัปชั่น พฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไป การปรับแต่งแบบ personalization รวมถึงพลังของคนรุ่นใหม่ (Gen M) ทำให้การมองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเชิงกลยุทธ์จำเป็นสำหรับธุรกิจ B2B ซึ่งไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่เพื่อความสำเร็จของธุรกิจด้วย

DHL Express Thailand  ได้เผยบทความเเพื่อชี้ถึงแนวโน้มของอีคอมเมิร์ซ B2B เพื่อที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวทันเทรนด์และความเปลี่ยนแปลง ฟันฝ่าวิกฤต และยกระดับสู่การเป็นผู้นำยุคอีคอมเมิร์ซ B2B โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน ‘The Ultimate Guide On B2B E-Commerce Trends in APAC’  โดย ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสได้ รวบรวมเทรนด์ที่น่าจับตา คือ

ยอดขายอีคอมเมิร์ซ B2B ล็อตใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ องค์กรธุรกิจต่างๆ ลังเลที่จะลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากลูกค้าไม่สะดวกที่จะซื้อสินค้าล็อตใหญ่ผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ การจัดซื้อในรูปแบบดิจิทัลมักเป็นแบบ B2C มากกว่า B2B แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดขึ้นเมื่อมีการชำระเงินแบบเข้ารหัส (encrypted payment) ทำให้การทำธุรกรรมโดยรวมมีความสะดวกมากขึ้น องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินออนไลน์อีกต่อไป โดย 35% ระบุว่าพวกเขายินดีใช้จ่ายเงิน 500,000 ดอลลาร์ขึ้นไปสำหรับการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งผ่านช่องทางดิจิทัล และ 15% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรรู้สึกสบายใจที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ผ่านทางออนไลน์1 อีคอมเมิร์ซจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการซื้อขายสินค้าล็อตใหญ่  การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเร่งให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะการแพร่ระบาด ส่งผลให้ธุรกรรมออนไลน์ขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยระบบการชำระเงินแบบเข้ารหัสและความแพร่หลายของธุรกรรมออนไลน์ของธุรกิจ B2B องค์กรจึงรู้สึกมั่นใจในการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย มีการปรับตัวให้เข้ากับวิวัฒนาการทางดิจิทัลของเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยในปี 2560 รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบ ‘พร้อมเพย์’ ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการริเริ่มใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลระดับประเทศอย่างกว้างขวาง โดยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงวิธีการชำระเงินที่ครอบคลุมทุกธนาคารและเข้าถึงได้สะดวก ระบบนี้ช่วยให้ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจในไทยมีส่วนร่วมในธุรกรรมอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นได้จากขนาดการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ B2B ในประเทศที่

เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่า 0.84 ล้านล้านบาทในปี 25632 และคิดเป็น 27% ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในปี 25653

 

ประสบการณ์แบบ Personalization จะเพิ่มมากขึ้นเพราะคนรุ่นมิลเลนเนียล

ทุกวันนี้ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดย 73% ของกลุ่มมิลเลนเนียลมีหน้าที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของบริษัท และ 34% เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ4 ด้วยเหตุนี้ การปรับแต่งแบบ Personalization จึงเพิ่มมากขึ้นในธุรกรรมและการดำเนินงานของธุรกิจ B2B ซึ่งอาศัยประสบการณ์จากการทำธุรกรรม B2C สมัยใหม่ เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมของลูกค้าแบบ B2C พวกเขาจึงใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการทำธุรกิจ B2B

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกับประสบการณ์ของผู้ซื้อที่ต้องเป็นส่วนตัว เป็นมิตร และกระตุ้นให้เกิดความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ B2B ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มุ่งเน้นความได้เปรียบด้านราคาแต่ตอนนี้มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เหมาะกับความต้องการเชิงกลยุทธ์มากขึ้น

โซลูชั่นดิจิทัลแบบบริการตนเอง (Self-serve digital solutions) จะแพร่หลายมากขึ้น

องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวเลือกในการบริการตนเองสำหรับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น การแพร่ระบาดทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้แนวทางแบบ ‘hands-off’ มากขึ้น โดยจำกัดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการและการจัดการสินค้า การบริการตนเองช่วยสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการลดต้นทุนการขาย โดยไม่กระทบต่อการบริการลูกค้าและประสบการณ์ความสัมพันธ์แบบ B2B

 

ด้วยการเปลี่ยนแคตตาล็อก รายการราคาสินค้า เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้เป็นรูปแบบดิจิทัล และเปิดให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว องค์กรธุรกิจต่างๆ จะสามารถลดภาระงานด้านธุรการ และมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า จากการสำรวจของ CRM Magazine พบว่าโซลูชั่นแบบ self-serve มีความสำคัญมากขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรธุรกิจของตนใช้ช่องทางการบริการตนเองในระบบ CRM และคาดว่าแนวทางนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น5

การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชนมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ผลจากการแพร่ระบาดทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงได้ และต้องพึ่งพาช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทำธุรกรรม ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้องค์กรธุรกิจจำนวนมากในภาค B2B เริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานและระบบการจัดการโลจิสติกส์ของตน ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

B2B International ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Merkel แนะนำให้องค์กรต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชน โดยให้ความเห็นว่า “การรู้ว่าซัพพลายเออร์ ไซต์งาน ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่มีความเสี่ยงในช่วงวิกฤต จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงสินค้าคงคลังและกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดในไซต์อื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน”6 การแพร่ระบาดได้แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายซัพพลายเชนที่หลากหลายจะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

มุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น

ลูกค้าในวันนีั้ให้ความสำคัญกับการซื้อขายอย่างมีจริยธรรมมากกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ลูกค้าในกลุ่ม B2B และ B2C จะยังคงเลือกใช้จ่ายเงินสำหรับทางเลือกที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกที่ชาญฉลาดและมีจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ระบุว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ และลูกค้ายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน7 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทอีคอมเมิร์ซ B2B สามารถขยายช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้และความร่วมมือ ด้วยการปรับใช้นโยบายที่ดึงดูดฐานลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลดขยะและของเสียให้เหลือน้อยที่สุดตามแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของระบบนิเวศจะช่วยธุรกิจต่างๆ ลดการสูญเสียรายได้ที่เป็นผลมาจากของเสียจากผลิตภัณฑ์อีกด้วย

เฮอร์เบิร์ต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า “อีคอมเมิร์ซ B2B มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบการค้าโลก โดยมีบทบาทในการรักษาความยั่งยืนของซัพพลายเชน การลงทุนอย่างต่อเนื่องของเราในด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ความยั่งยืน และโครงสร้างพื้นฐาน ตอกย้ำถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของเราในการช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับประสบการณ์อีคอมเมิร์ซที่ดีขึ้น ได้มีโอกาสใหม่ๆ พร้อมทั้งก้าวไปสู่ตลาดโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click