×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วันนี้ แจ้งว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 29.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เสากังหันลมขนาด 3.3 เมกะวัตต์ จำนวน 9 ชุด ดำเนินงานโดยบริษัท อีโค่วิน เอ็นเนอร์จี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ร่วมถือหุ้น ร้อยละ 51 ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระยะเวลา 20 ปี โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วินแห่งนี้ เป็นโครงการพลังงานลมติดตั้งบนบก (onshore wind farm) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ ประมาณ 180 กิโลเมตร ในประเทศเวียดนาม โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Trial run) และทดสอบความน่าเชื่อถือของการเดินเครื่องเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (Reliability test) ตามมาตรฐานของเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ถือเป็นโครงการพลังงานทดแทนแห่งที่สามของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนามที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำซองเกียง 2 และค๊อคซาน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นทั้งสามโครงการ 49.63 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบ็นแจ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 65.15 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการมีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และ ปี 2568 ตามลำดับ

เวียดนามถือเป็นประเทศเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังมีการกำหนดแผนการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้อย่างชัดเจน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลมบนบก พลังงานลมนอกชายฝั่ง และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทฯ มองเห็นศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศเวียดนามได้ โดยดำเนินการผ่านบริษัทฯ เอง หรือผ่านบริษัทร่วมทุน เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี อินเวสเมนต์ (NEXIF RATCH Energy Investment : NREI) ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578” นางสาวชูศรี กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,933 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังผลิตรวม 10,807 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สร้างรายได้แล้ว 1,566 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 1,367 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจหลักด้านพลังงานทดแทนของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 1,379.69 เมกะวัตต์ รองลงมาได้แก่ สปป.ลาว 669.10 เมกะวัตต์ ประเทศฟิลิปปินส์ 549.83 เมกะวัตต์ ประเทศอินโดนีเซีย 123.05 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนาม 114.78 เมกะวัตต์ ประเทศไทย 94.76 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่น 2.02 เมกะวัตต์

นิทรรศการผลงานศิลปะและการแสดงประจำปีของเด็กไฟ-ฟ้า เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และค้นพบศักยภาพของตนเอง

 

แสนสิริ จับมือ บีซีพีจี  ประกาศเริ่มใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในโครงการที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ก่อนจะเริ่มมีการซื้อขายอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนปีนี้

เบื้องหลังข้อตกลงครั้งนี้ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า หนึ่งในเป้าหมายของแสนสิริคือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกโครงการ ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  จึงได้ริเริ่มนำระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งในหลาย ๆ โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ การจับมือกับบีซีพีจีในฐานะพันธมิตรระดับกลยุทธ์ (Strategic partnership) ในครั้งนี้นับเป็นการผลักดันวาระ Green Sustainable Living ของแสนสิริไปอีกระดับ ด้วยการวางระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในที่พักอาศัย

โดยนับเป็นครั้งแรกของในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสำหรับโครงการที่พักอาศัยทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านระบบบล็อคเชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นการเปลี่ยนผู้บริโภค (Consumer) สู่ ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน (Prosumer) ด้วยการสร้างระบบแลกเปลี่ยนพลังงานโดยก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมที่มี

โดยประโยชน์ที่จะเกิดอย่างชัดเจนแก่ลูกบ้านแสนสิริที่อาศัยในโครงการที่มีการวางระบบนี้คือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า โดยไฟฟ้าสะอาดทุกหน่วยที่ผลิตได้จะช่วยประหยัดค่าไฟต่อหน่วยได้ถึง 15% และยังสร้างความภูมิใจให้ลูกบ้านจากการมีส่วนร่วมในดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกำลังการผลิตพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ T77 ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 530 ตันต่อปีโดยประมาณ หรือเท่ากับการปลูกป่า จำนวน 400 ไร่

โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77ประกอบด้วยที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบและไลฟ์สไตล์ฮับบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ในใจกลางสุขุมวิท 77 โดยระบบพลังงานเซลแสงอาทิตย์บนหลังคามีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ แบ่งสัดส่วนการใช้เป็น 54 กิโลวัตต์สำหรับฮาบิโตะมอลล์ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการ 413 กิโลวัตต์สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม รวมถึงโรงพยาบาลฟันที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการแลกเปลี่ยนพลังงานภายในโครงการ

นอกจากนั้น ยังจะติดตั้งระบบนี้ในโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์ โดยภายในปี 2564 แสนสิริมีแผนที่ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านอินเทอร์เน็ตในโครงการใหม่ ๆ กว่า 31 โครงการ และมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์

บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการความร่วมมือนี้ว่า ร่วมกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนพลังงานทดแทนระดับโลกจากออสเตรเลีย และเป็นก้าวแรกของบีซีพีจีในโครงการที่พักอาศัยของประเทศไทย และเป็นการเปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer)  ผ่านแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว โปร่งใส และปราศจากข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีคนกลาง ด้วยราคาที่ถูกลงและช่วยลดมลภาวะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวคิด Low Cost, Low Carbon

ในเบื้องต้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปในแต่ละอาคาร จะนำไปใช้ภายในอาคาร เพื่อให้แต่ละอาคารสามารถใช้ไฟฟ้าในต้นทุนที่ต่ำกว่าไฟฟ้าที่เคยซื้ออยู่ ในกรณีที่มีไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตใช้ภายในอาคาร แต่ละอาคารสามารถนำไฟฟ้านั้นแลกเปลี่ยนกันภายในแพลตฟอร์ม โดยภายในหนึ่งเสี้ยววินาทีนั้น สามารถเกิดสถานการณ์การใช้และการผลิตไฟฟ้าได้หลายรูปแบบ ทั้งอาคารก็จะผลิตได้เกินความต้องการ หรืออาคารที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ  สำหรับในกรณีที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าความต้องการที่ใช้เอง ระบบก็จะนำไฟส่วนเกินขายให้ผู้ใช้รายอื่นด้วยระบบ P2P  หากยังมีเหลืออีก ก็จะขายให้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไว้ขายในเวลาอื่นๆ และหากระบบกักเก็บเต็ม ไฟฟ้าก็จะถูกส่งขายเข้าระบบของกฟน.  ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่สามารถผลิตได้ ระบบก็จะทำการซื้อจากระบบ P2P  จากระบบกักเก็บพลังงาน และจากกฟน. ตามลำดับ

การดำเนินการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้เพื่อประมวลผลถึงความเหมาะสมในการกำหนดผู้ซื้อและผู้ขายในความถี่ระดับเสี้ยววินาที โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นของบีซีพีจี ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

โครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าที่ T77 นี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งยังเป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลก อีกด้วย ในเบื้องต้นคาดว่าโครงการนำร่องนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับ Community นี้ได้ถึงร้อยละ 20 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง และสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ด้วยระบบ P2P แล้ว การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแต่ละอาคารหรือแต่ละบ้าน เพิ่มโอกาสในการจัดหาสินเชื่ออีกด้วย

 

ทางด้านเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนเสริมว่า  การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานจะช่วยสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและซื้อขายแบบอัตโนมัติสำหรับทั้งอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการขายพลังงานที่เหลือใช้ให้กับลูกค้าที่สามารถเลือกได้ในราคาที่พอใจ การร่วมมือกับแสนสิริและบีซีพีจีนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังกันระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และผู้ผลิตพลังงานเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน

สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารนั้น ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย smart contract  โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตได้เหลือใช้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด ทั้งนี้ ในการทำธุรกรรมจะใช้ Sparkz Token ซึ่งเปรียบเสมือนกับคูปองในศูนย์อาหาร และเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการแลกเปลี่ยนไฟซื้อขายในระบบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ cryptocurrency และไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนใด ๆ โดยแพลตฟอร์มที่ใช้สามารถแยกระดับการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยน  เป็น 2 ขั้นตอน คือระหว่างผู้บริโภคกับบีซีพีจี และระหว่างบีซีพีจีกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์เพื่อปิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในเรื่อง cryptocurrency

พาวเวอร์เล็ดเจอร์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีแพล็ตฟอร์มที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เริ่มต้นจากการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ P2P Energy Trading ด้วยแพล็ตฟอร์มที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และดำเนินขั้นตอนการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายและชำระเงินแบบอัตโนมัติ สำหรับใช้ในอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการจำหน่ายพลังงานเหลือใช้แก่ลูกค้าที่ตนสามารถเลือกได้ ในราคาที่กำหนดเองได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น การซื้อขายไฟฟ้า ผ่านระบบไมโครกริด การซื้อขายคาร์บอน การจัดการรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ก่อนหน้านี้พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ มีความร่วมมือกับกับเวสเทิร์นพาวเวอร์และมหาวิทยาลัยเคอร์ตินในออสเตรเลีย และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในชิคาโก สหรัฐอเมริกา

 

X

Right Click

No right click