

น้ำและปุ๋ย ถือเป็นปัจจัยการผลิตพืชที่สำคัญ และยังเป็นต้นทุนการผลิตหลักของเกษตรกร การลดภาระค่าใช้จ่ายไปพร้อมๆกับได้เพิ่มผลผลิตไปในคราวเดียว “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” เป็นโครงการที่ตอบโจทย์นี้ และยังเป็นอีกแนวทางการสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ เพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
โครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ที่ซีพีเอฟดำเนินการมานานกว่า 20 ปี ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตพืชไร่และพืชสวนดีขึ้น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่าย จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยซีพีเอฟนำน้ำปุ๋ยจากการบำบัดด้วยระบบ Biogas ในฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นน้ำที่ยังมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ในฟาร์ม ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และแปลงผักปลอดภัยซึ่งพนักงานปลูกในพื้นที่ว่างของฟาร์มไว้เพื่อบริโภค และด้วยสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆปี น้ำปุ๋ยจากฟาร์ม จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรโดยรอบ
สิงห์คำ อินทะ เกษตรกรรุ่นบุกเบิกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ มาใช้กับไร่ข้าวโพดหวาน มานานกว่า 20 ปี เล่าว่า เริ่มแรกที่ขอใช้น้ำปุ๋ยเพราะต้องการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เมื่อใช้น้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนสูงเหมาะกับข้าวโพดหวาน ต้นโตไว ฝักใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น รายได้จึงเพิ่มตาม และยังลดค่าปุ๋ยได้ถึง 50-70% จากนั้นเกษตรกรรอบข้างก็ชวนกันมาใช้น้ำปุ๋ย ปัจจุบันใช้อยู่ 15 ราย ทั้งปลูกข้าวโพดหวานและผักสวนครัวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ที่ผ่านมาไม่ต้องเสี่ยงกับภัยแล้ง มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี
ด้าน ณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร และประธานหมอดินจังหวัดจันทบุรี เล่าว่า รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นระบบท่อลำเลียงน้ำที่เปิดใช้วันละ 2-4 ราย ให้เกษตรกร 20 ราย บนพื้นที่ 200 กว่าไร่ ใช้ในสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ กล้วย เฉพาะตนเองใช้ในสวนทุเรียน 10 กว่าไร่ ผลผลิตดีขึ้นมาก ติดผลดี คุณภาพผลผลิตดี เพราะน้ำปุ๋ยมีอินทรีย์วัตถุที่ดีแทนปุ๋ยเคมี ช่วยปรับโครงสร้างดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ต้นไม้จึงเจริญงอกงาม ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีไปกว่า 20-30%
จากความสำเร็จของธุรกิจสุกร เป็นแนวทางที่ดีที่ธุรกิจอื่นๆ นำไปใช้เป็นต้นแบบ อาทิ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟ จำนวน 9 แห่ง ที่ส่งต่อน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรใกล้เคียง วิโรจน์ ใจด้วง ปลูกหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ ซึ่งการปลูกหญ้าต้องใช้ปุ๋ยยูเรียจำนวนมาก จึงเริ่มรับน้ำตั้งแต่ปี 2564 จากฟาร์มไก่ไข่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยฟาร์มวางระบบท่อยาว 1 กิโลเมตร ส่งมาให้โดยต้องผสมกับน้ำจากคลองชลประทานอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้ตอนหลังเก็บเกี่ยวหญ้าเพื่อปรับสภาพดิน ใช้น้ำ 3-4 เดือนต่อครั้ง หลังใช้พบว่าหญ้าลำต้นอวบใหญ่ใบใหญ่โตเร็ว โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยยูเรียอีกเลย ช่วยลดรายจ่ายไปถึง 4,000 บาทต่อปี และได้ผลผลิตเพิ่มเกือบ 50%
นอกจากนี้ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ยังต่อยอดสู่การทำปุ๋ยกากไบโอแก๊สด้วย ไพบูลย์ ทาพิลา เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอีกราย ที่เริ่มรับปุ๋ยกากไบโอแก๊สมาใช้กับไร่อ้อย 100 ไร่ เมื่อปี 2564 คาดหวังว่าจะช่วยประหยัดต้นทุน และลดการใช้ปุ๋ยเคมีซ้ำๆที่ทำให้สภาพดินเสียหาย หลังใช้แล้วไม่ผิดหวัง คุณภาพดินดีขึ้น อ้อยงามลำใหญ่ยาว ผลตอบแทนจากการขายอ้อยก็ดีขึ้นด้วย ก่อนนี้เคยใช้ปุ๋ยเคมีมีค่าใช้จ่ายปีละ 3 แสน หลังใช้ปุ๋ยชีวภาพช่วยลดต้นทุนได้ถึง 50-70%
เสียงสะท้อนจากเกษตรกร ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ไม่เพียงเกิดประโยชน์กับองค์กร แต่ยังมองรวมไปถึงความมั่นคงด้านน้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่าอีกด้ว
กรมป่าไม้และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอเชิญชวนป่าชุมชนทั่วประเทศ ร่วมชิงรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2568 และเงินรางวัล 200,000 บาท ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ปีที่ 18 ที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระตุ้นจิตสำนึกและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ป่าชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2568 นี้ รางวัลประเภทดีเด่นได้หยิบยกประเด็นด้านการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ผ่านกลไก “ป่าชุมชน”
ป่าชุมชนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2568 ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ เว็บไซต์กรมป่าไม้ www.forest.go.th และเว็บไซต์ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) www.ratch.co.th หรือติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่ “สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ” และสำนักจัดการป่าชุมชน โทร. 0 2561 4292-3 ต่อ 5654
การประกวดป่าชุมชน ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2568 ประกอบด้วยรางวัลรวม 16 รางวัล มูลค่าเงินรางวัลรวม 1.4 ล้านบาท ได้แก่
1. รางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ชนะเลิศระดับประเทศ จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 200,000 บาท
2. รางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน รองชนะเลิศระดับประเทศ 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน รางวัลละ 150,000 บาท
3. รางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ชนะเลิศระดับภาค 4 รางวัล จะได้รับโล่รางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน รางวัลละ 100,000 บาท
4. รางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน รองชนะเลิศระดับภาค 4 รางวัล จะได้รับโล่รางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน รางวัลละ 50,000 บาท
5. รางวัลป่าชุมชนดีเด่น ด้านการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ 4 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน รางวัลละ 50,000 บาท
การพิจารณาตัดสินรางวัลคัดเลือกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน และแผนงานการอนุรักษ์ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน
นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช (กลางซ้าย) ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี มอบเงินบริจาคจำนวน 43,025,632 บาท ให้แก่ ศิริราชมูลนิธิ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล (กลางขวา) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นผู้รับมอบ เมื่อเร็วๆ นี้
เงินบริจาคดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่ร่วมบริจาคผ่านบัตรเครดิต และใช้คะแนน KTC FOREVER ทุก 1,000 คะแนน แทนเงินบริจาค 100 บาท เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของศิริราชมูลนิธิในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลศิริราช
ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ กล่าวว่า “ศิริราชมูลนิธิเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาล เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วยและสังคมโดยรวม การสนับสนุนจากเคทีซีและสมาชิกถือเป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้มูลนิธิสามารถดำเนินภารกิจเพื่อสาธารณประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”
นางสาวสิรีรัตน์ กล่าวว่า “เคทีซีมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของหลักการ ESG ที่เคทีซีให้ความสำคัญ”
บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย จัดกิจกรรม “คน น้ำ ดี” ครั้งที่ 6 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ระดมพนักงานจิตอาสาของบริษัทฯ พร้อมคณะผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำแก่งกระจาน หน่วยจัดการต้นน้ำหุบกะพง และสถานีควบคุมไฟป่าหุบกะพง ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ณ จังหวัดเพชรบุรี ตอกย้ำค่านิยมองค์กร “การเติบโตอย่างยั่งยืน (Growing for Good)” และ “การตอบแทนกลับคืนสู่สังคม (Giving Back to Society)” โดยมุ่งมั่นนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กิจกรรม ‘คน น้ำ ดี’ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘มิซุอิกุ’ (Mizuiku: Education Program for Nature and Water) ของบริษัทฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เรื่องความสำคัญของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน รวมถึงปลูกฝังให้พวกเขามีส่วนร่วมอนุรักษ์น้ำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากเยาวชนแล้ว คนในพื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงพนักงานของ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงดำเนินกิจกรรม ‘คน น้ำ ดี’ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำผ่านการลงมือปฏิบัติจริง กิจกรรม ‘คน น้ำ ดี’ สื่อถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ในการสร้างทั้งคนเก่งและคนดีที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม เราขอขอบคุณเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ และชาวบ้านในพื้นที่ ที่ให้การสนับสนุนและร่วมทำกิจกรรมนี้ให้สำเร็จลุล่วง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จะยังคงเดินหน้าสานต่อพันธกิจรักษ์น้ำ เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่านี้ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป”
หนึ่งในพื้นที่หลักของกิจกรรม “คน น้ำ ดี” ครั้งที่ 6 คือ พื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และถือเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี แหล่งน้ำที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและระบบนิเวศของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยจัดการต้นน้ำแก่งกระจาน หน่วยจัดการต้นน้ำหุบกะพง สถานีควบคุมไฟป่าหุบกะพง ดำเนิน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1. ปลูกหญ้าแฝกจำนวน 8,000 ต้น และหวาย 1,000 ต้น บริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน โดยหญ้าแฝกเป็นพืชที่ช่วยรักษาหน้าดินเพราะเติบโตเป็นกอขนาดใหญ่และมีระบบรากที่แข็งแรง หยั่งลึกในดินได้ถึง 3 เมตร จึงช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลเซาะหน้าดินและรักษาระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ส่วนหวาย ก็ถือเป็นหนึ่งในพืชสำคัญที่ปลูกเพื่อชะลออัตราการชะล้างพังทลายของดินด้วยเช่นกัน
2. การสร้างฝายคอกหมูชะลอน้ำ ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุทราย เพื่อช่วยกักเก็บน้ำ ลดการพังทลายของหน้าดิน และดักจับตะกอนที่ไหลมากับสายน้ำ ช่วยให้แหล่งน้ำในพื้นที่ตอนล่างเกิดการตื้นเขินช้าลง ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต
3. การบูรณะระบบท่อน้ำโครงการป่าเปียก ณ วัดไร่มะม่วง พระราชดำรัส (ป่าดอนขุนห้วย) ให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แนวคิดป่าเปียกเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) โดยการสูบน้ำขึ้นไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบนภูเขาแล้วค่อย ๆ ปล่อยน้ำลงมาเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่า กลายเป็น “ป่าเปียก” ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้เป็นอย่างดี
นายทินกร สินทรัพย์ หนึ่งในตัวแทนพนักงาน บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “ผมภูมิใจและดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘คน น้ำ ดี’ ในปีนี้ ทำให้ได้มีโอกาสร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากการทำประโยชน์ตอบแทนสังคมแล้ว ยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจากเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำ รวมทั้งแนวคิดเรื่องป่าเปียกจากเจ้าอาวาสวัดไร่มะม่วง พระราชดำรัส (ป่าดอนขุนห้วย) ซึ่งตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและป่าไม้”
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ริเริ่มจัดกิจกรรม “คน น้ำ ดี” ครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำสำคัญของประเทศในหลายจังหวัด และจะยังคงเดินหน้ากิจกรรมนี้ต่อไป โดยมุ่งพัฒนาระบบนิเวศเพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่สังคมไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม พายุ และไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้วยความเข้าใจถึงความเดือดร้อนและความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนของผู้ประสบภัย ‘คาร์ ฟอร์ แคช’ ผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถ จึงได้สานต่อภารกิจสำคัญในบทบาท ‘ผู้ช่วยเบื้องหลัง’ ทั้งด้านการเงินและชีวิตความเป็นอยู่ ที่พร้อมสนับสนุนและเคียงข้างคนไทยให้สามารถก้าวผ่านอุปสรรคและเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
จากภารกิจดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดโครงการ ‘ถุงเติมรอยยิ้ม (Car4Cash Smile Pack)’ ที่สะท้อนถึงความตั้งใจของกรุงศรี ออโต้ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านการลงมือทำ โดย คาร์ ฟอร์ แคช เชื่อว่าการช่วยเหลือไม่ใช่แค่เพียงการมอบสิ่งของที่จำเป็น แต่ยังรวมถึงการส่งต่อความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยมีกำลังใจในการก้าวข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญและฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งด้วยเช่นกัน
นายพรเทพ ถิรสุนทรากุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยบทบาทของผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถ เราเชื่อว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่แค่เพียงการสร้างผลกำไร แต่ยังรวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่งโครงการ ‘คาร์ ฟอร์ แคช ถุงเติมรอยยิ้ม’ เป็นมากกว่าการให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติ แต่เป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบ และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของแบรนด์และทีมงานในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Good Corporate Citizenship) ที่พร้อมช่วยเหลือและส่งต่อกำลังใจในทุกช่วงเวลา”
นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน คาร์ ฟอร์ แคช ได้ทำการส่งมอบ ‘ถุงเติมรอยยิ้ม’ ที่ประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำดื่ม และของใช้พื้นฐาน ให้กับเหล่าผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาลช่วงโควิด เหตุการณ์น้ำท่วมจากพายุโซนร้อน ‘เตี้ยนหมู่’ ในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ไฟไหม้ตลาดร้อยปีบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงราย แพร่ น่าน และน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาสที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คาร์ ฟอร์ แคช ได้ส่งมอบถุงเติมรอยยิ้มไปแล้วกว่า 6,000 ถุง ใน 21 จังหวัดทั่วประเทศรวมมูลค่ากว่า 3.6 ล้านบาท
เบื้องหลังโครงการนี้ คือทีมงานที่ยึดมั่นในปณิธานที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Good Corporate Citizenship) โดยเชื่อว่าการช่วยเหลือในยามวิกฤติ ไม่ได้หยุดอยู่แค่การส่งมอบสิ่งของที่จำเป็น แต่คือการเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชนการดูแลผู้มีส่วนได้เสียภายนอกที่เชื่อมโยงกับองค์กรทั้งใกล้และไกลด้วย ซึ่งจากการที่ทีมงาน คาร์ ฟอร์ แคช ส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ ทำให้พวกเขามีความใกล้ชิดและเข้าใจความท้าทายของชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง ส่งผลให้การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความทุ่มเทและจริงใจ เปรียบเสมือนการดูแล ‘คนในครอบครัว’
นางผกายมาศ อนันตพงศ์ ผู้ประสบภัยที่เคยได้รับ ‘ถุงเติมรอยยิ้ม’ จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกันยายน 2567 เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า “ช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 40 ปีนั้น บ้านเราได้รับผลกระทบหนักมาก ขาดแคลนทั้งไฟฟ้าและน้ำใช้ ของในบ้านก็เสียหายหมด ตอนนั้นยอมรับว่าหมดกำลังใจไปเลย แต่พอได้รับถุงเติมรอยยิ้มจาก คาร์ ฟอร์ แคช มันเหมือนแสงสว่างในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือ ถึงแม้ว่าสำนักงานคาร์ ฟอร์ แคช ที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านจะเจอน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ทีมงานก็ยังลงพื้นที่มาให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่”
“ถุงเติมรอยยิ้ม ที่ได้รับมาครั้งนั้น เป็นชุดอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ช่วยให้บ้านของเรากลับมาสะอาดและน่าอยู่เหมือนเดิม โดยเรามองว่าถุงนี้ไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่เป็นแรงใจที่ช่วยให้ครอบครัวลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง" นางผกายมาศ กล่าวเสริม
คาร์ ฟอร์ แคช ยังมุ่งมั่นที่จะส่งมอบรอยยิ้มให้กับคนไทยในทุกพื้นที่อย่างเต็มกำลัง
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” โดย นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช (กลางขวา) ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต เป็นตัวแทนส่งมอบเงินบริจาคจำนวน 25,513,630 บาท ให้แก่ นางสาวอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ (กลางซ้าย) ผู้อำนวยการ แผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ถนนกรุงเกษม โดยเงินบริจาคมาจากสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีร่วมบริจาคผ่านคะแนนสะสม KTC FOREVER (ทุก 1,000 คะแนน แทนเงิน 100 บาท) รวมถึงการบริจาคตรงเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้ง และวิกฤติด้านมนุษยธรรมทั่วโลก
นางสาวอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ กล่าวถึงความสำคัญของการบริจาคว่า “ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่นการบริจาคผ่านบัตรเครดิตเคทีซี มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ลี้ภัยในทุกด้าน ซึ่งจากสถิติพบว่า ผู้ลี้ภัยมักตกอยู่ในสถานะนี้เฉลี่ยถึง 17 ปี การสนับสนุนที่ต่อเนื่องจะช่วยให้เรามีงบประมาณเพียงพอเพื่อช่วยชีวิตพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างอนาคตใหม่ให้กับกลุ่มที่เปราะบางได้อย่างยั่งยืน”
“เคทีซีขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ลี้ภัยทั่วโลก และขอยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน” นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช กล่าวปิดท้าย
นายคมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้งโครงการ “คมส่งฝัน” เดินหน้าสานต่อโครงการฯตอกย้ำเจตนารมณ์ และวิสัยทัศน์ที่ต้องการหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนเพราะเชื่อว่า “การศึกษา คือ จุดเริ่มต้นของโอกาสที่ดีในชีวิต” มอบทุนการศึกษาแบบให้เปล่าจำนวน 6 ทุน มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท ให้แก่เยาวชนไทยที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี และมีความตั้งใจที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนไทยเหล่านี้จะสามารถนำความรู้ ความสามารถ มาประยุกต์ใช้ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ให้กับพนักงานและบุตรอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 14 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2567 รวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 ทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 24 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความเท่าเทียมในเรื่องการศึกษาและพัฒนาทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีด้อยโอกาส ซึ่งในปี 2567 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 โดยมี นางสาวดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารบริษัทในเครือเป็นผู้มอบทุนการศึกษาแก่บุตรพนักงาน จำนวน694 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 3.05 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินทุนการศึกษาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนและการใช้บริการ ‘แม่บ้าน LPC’ และ ‘แจ๋วลุมพินี-บริการทำความสะอาดห้องชุด’ ของลูกค้าโครงการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมของ LPN และโครงการต่างๆ กว่า 300 แห่ง ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และครอบครัวของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการมอบทุนการศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานภายใต้กิจกรรม ‘แม่ดี ลูกเก่ง’ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงตอบแทนความทุ่มเทของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ทุ่มเทใส่ใจ ในบทบาทที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมชื่นชมยินดีกับโอกาสทางการศึกษาของบุตรพนักงานทุกคนให้มีความเท่าเทียมกันในเรื่องการศึกษาที่ถือว่าเป็นพื้นฐานของการมีสังคมที่ดีต่อไปในอนาคต และขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมผลักดันคุณภาพชีวิตของสตรีด้อยโอกาสอย่างยั่งยืน ร่วมกับ แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บริการ ‘แม่บ้าน LPC’ และ “แจ๋วลุมพินี” สามารถติดต่อได้ที่ โทร.02-689-6868 และช่องทางออนไลน์ https://www.facebook.com/lpcsocialenterprise
ลองจินตนาการดูสิ ถ้าคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาดูแลธรรมชาติ โลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นแค่ไหน
การปลูกฝังให้เด็กๆตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ถือเป็นอีกวิธีที่จะชวนพวกเขาให้มาร่วมเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลกได้เข้าใจปัญหาโลกร้อนและวิธีป้องกัน
ฐานโลกรวน : โลกร้อนทำให้เกิดภัยธรรมชาติเยอะขึ้น... แต่ถ้าพวกเรารู้วิธีการป้องกันและลดผลกระทบ ก็ช่วยโลกได้นะ
ฐานขยะแปลงร่าง : ขยะที่เราทิ้งไปทุกวัน แต่บางอย่างสามารถนำกลับมาเพิ่มมูลค่าได้ เพียงแค่รู้จักแยกขยะ" 3Rs ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ เริ่มจากโรงเรียน แล้วขยายสู่ชุมชน
ฐานต้นกล้าสู่ป่าใหญ่ : จากต้นกล้าเล็กๆ วันนี้ จะกลายเป็นป่าใหญ่ในวันหน้า เพียงช่วยกันปลูกต้นไม้และเรียนรู้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ก็ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้
ฐานความปลอดภัย : ดูแลตัวเองได้ ก็พร้อมดูแลโลกได้เหมือนกัน ปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นของโครงการ “ปันรู้ ปลูกรักษ์” โครงการดี ๆ จากซีพีเอฟ เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยายผลจากในโรงเรียน
สู่ครอบครัว และชุมชน เพราะเราเชื่อว่า... พลังของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกได้
กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี นำโดย นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่งมอบ ถุงผ้า จำนวน ๒,๐๐๐ ใบ ภายใต้โครงการ “ถุงผ้าใส่ยาให้ผู้ป่วยกลับบ้าน” ซึ่งได้จากการร่วมเพ้นท์ถุงผ้าของผู้บริหาร พนักงาน และประชาชนจิตอาสา โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับมอบ โดยจะส่งต่อให้กับผู้ป่วยและผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล ฯ เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็น ๑ ใน ๗๒ โครงการของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังเพิ่มจำนวนบุคลากรครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการระดมทุนในโครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการในสังคมไทย
คนพิการคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนพิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาทั้งด้านหลักสูตร โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “การขาดโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี จนนำมาสู่ปัญหาการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มคนพิการ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 พบว่า มีจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 423,936 คน คิดเป็น 19.19% ของคนพิการทั้งหมด โดยในจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั้ง 423,936 คนเหล่านี้ มีผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงที่สุด 282,410 คน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาที่ 35,899 คน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับ
การศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามีเพียง 9,227 คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งมั่นเป็นสถาบันที่เปิดพื้นที่ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี โท และเอก เพื่อผลิตบุคลากรครูสำหรับคนพิการทางการได้ยินโดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพกายและจิตใจผ่านงานบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข”
อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนล่ามภาษามือ จากสถิติกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567 พบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวนทั้งหมด 178 คน โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด และ 36 จังหวัดในประเทศไทยไม่พบล่ามภาษามือที่จดแจ้ง สถาบันราชสุดา ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตล่ามภาษามือในระดับปริญญาตรี จึงให้มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตเพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนสามารถหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการในสังคมไทย”
คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาตนเอง โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมจัดสรรเงินทุนเพื่อพัฒนาด้านการเรียนการสอนในสถาบันราชสุดา รวมถึงส่งเสริมด้านงานวิจัยนวัตกรรมด้านคนพิการและการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อให้คนพิการในสังคมไทยมีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพครูที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการในประเทศไทย”
สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเรียนรวมกับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียม โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไป พร้อมจัดบริการสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสมเพื่อลดอุปสรรคการเรียนรู้ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านความพิการ สถาบันราชสุดา เปิดสอนทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์ และวิชาเอกล่ามภาษามือไทย และ หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หลักสูตรศึกษา
ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไป พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่ปราศจากการแบ่งแยก ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ www.ramafoundation.or.th