เอไอเอ ประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสังคมไทยให้แข็งแกร่ง โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เอไอเอได้เดินทางลงใต้เพื่อส่งมอบ “ห้องสมุดเอไอเอ” หลังที่ 36 ให้แก่นักเรียน โรงเรียนอนุบาลบ้านด่าน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ซึ่งมีนักเรียนจำนวนรวมกว่า 778 คน ซึ่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ด้านการศึกษา รวมถึงห้องสมุดที่จะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ของเด็กนักเรียนและคนในชุมชน เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอไอเอ ที่ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ พร้อมสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไทย ซึ่งโครงการ “ห้องสมุดเอไอเอ” เป็นโครงการที่เอไอเอ ประเทศไทย ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยได้สร้างห้องสมุดและส่งมอบให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตามชุมชนที่อยู่ห่างไกลมาแล้วทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ
โดยในพิธีเปิดห้องสมุดเอไอเอ หลังที่ 36 ได้รับเกียรติจาก นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยตัวแทนจาก เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นางสาวรพีพร วงศ์ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ และนายกฤษณ์ อัตตะสาระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายตัวแทนภูมิภาค 5 ร่วมกันส่งมอบห้องสมุดเอไอเอ หลังที่ 36 ให้แก่ นายมนูญ จันทร์สุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง และนายวันชาติ สุทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านด่าน โดยมีคณะครูและนักเรียน ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับห้องสมุดเอไอเอหลังนี้ เป็นห้องสมุดขนาด 54 ตารางเมตร โดยได้มีการออกแบบให้มีความสวยงาม โปร่งตา และดูทันสมัย เพื่อดึงดูดให้เยาวชนอยากเข้ามาใช้บริการ เน้นประโยชน์ใช้สอย และรวบรวมหนังสือและนิตยสารที่มีคุณภาพ ครอบคลุมสาขาวิชาแขนงต่างๆ ที่สำคัญ เอไอเอ ยังได้มอบคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ค้นหาความรู้ใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก โดยเอไอเอ หวังว่าห้องสมุดหลังนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้นักเรียนและคนในชุมชนได้ค้นคว้าหาความรู้ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน
นอกจากนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีและมีจริยธรรม ทั้งสิ้น 6 ทุน ทุนละ 2,000 บาท พร้อมกับมอบอุปกรณ์เสริมทักษะการศึกษา อุปกรณ์กีฬา และเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลบ้านด่านอีกด้วย
ในปี 2561 เป็นปีที่ เอไอเอ ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันชีวิตที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา เอไอเอได้รับความไว้วางใจจากคนไทยทั่วประเทศให้ดูแล พร้อมทั้งได้ส่งมอบหลักประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่งคงให้แก่ชีวิตและสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดย เอไอเอ ประเทศไทย ยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์โครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญาของเอไอเอ “Healthier, Longer, Better Lives”
บรรยากาศเช้าวันเวิร์คช้อป The Ozonor Hackathon จัดขึ้นที่ NAP LAB จุฬาลงกรณ์ ซอย 6 หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจภายใต้โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานอย่างธนาคารโลกเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและซุ้มเสียงของผู้เข้าร่วมงานรุ่นใหม่ ที่ต่างก็พกเอาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใส่กระเป๋ามาจากบ้าน พร้อมสำหรับการระดมความคิดนำเสนอให้ได้ผลิตผลตลอดสองวันหนึ่งคืนเพื่อจะเอาไปต่อยอดพัฒนานโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ดร. วิรัช วิฑูรย์เธียร ผู้แทนธนาคารโลก หนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้อธิบายถึงจุดยืนและบทบาทของธนาคารโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยไว้ว่า “เราถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการผลิตออกสู่ตลาด โดยคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการกระจายความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ใครที่สนใจมีสิทธิเข้าร่วมทุกคนหากผ่านเงื่อนไขต่างๆ เพราะฉะนั้น ทีมของเราจึงมีทั้งนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักสิ่งแวดล้อมและวิศวกรร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งคนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างในจุดนี้ และสำหรับองค์กรเอกชนที่ต้องการเพิ่มปริมาณหรือพัฒนาธุรกิจที่สามารถทำการค้าได้แล้วในระดับหนึ่ง ทางธนาคารโลกก็มีหน่วยงานที่เรียกว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งจะมีบทบาทเข้าไปร่วมลงทุนในภาคเอกชนได้โดยตรง”
อดีตที่ผ่านมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ทำให้เรามีนโยบายในการลดละ เลิก การใช้สารทำความเย็นกลุ่ม CFCs (Chlorofluorocarbon) ในการผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และกระป๋องสเปรย์ และพยายามผลักดันทุกภาคส่วนให้หันไปใช้สารอื่นทดแทน นั่นก็คือ HFC (Hydro chlorofluorocarbon) ซึ่งไม่ค่อยมีอันตราย ไม่ติดไฟ เมื่อผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยนไปหมด ตลาดก็ไม่มีตัวเลือกมาก เหตุการณ์นี้คือการเปลี่ยนแปลงตลาดในฝ่ายผู้ผลิต จึงจะเห็นว่าในอดีตเราใช้กลยุทธ์นี้ในการเข้าถึงผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราก็พบว่า HFC เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนค่อนข้างสูง ก็เริ่มมีการคิดค้นสารตัวต่อไปคือ HC (hydrocarbon) ที่จะเข้ามาทดแทน แต่ติดปัญหาตรงที่มีคุณสมบัติค่อนข้างอันตรายคือติดไฟได้หรือมีความเป็นพิษสูง อาจมีอัตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องคอยดูแลและระมัดระวัง ต้องรู้จักการบำรุงรักษาเพื่อให้ประสิทธิภาพของการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้คงที่ ยกตัวอย่าง สมัยนี้ที่เรามักได้ยินว่าเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่พอซื้อมาเรากลับไม่ค่อยได้ดูแลรักษาเท่าไหร่ จนกระทั่งเครื่องปรับอากาศเสียเราก็จะเรียกช่างมาซ่อม ซึ่งถ้าลองไปเปิดดูจะพบว่ามีฝุ่นเกาะจำนวนมากทำให้การถ่ายเทความร้อนไม่ดี แทนที่จะประหยัดพลังงานกลับทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น ถ้ามีการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยในการประหยัดพลังงาน ก็มีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทางธนาคารโลกจึงหันมาส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยและการประหยัดพลังงานโดยการสร้างการตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด
เป้าหมายและความคาดหวังต่อ โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา”
สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือหนึ่งที่ทางธนาคารโลกดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ในเรื่องของโอโซนนี้ ทางธนาคารโลกได้มีการทำงานร่วมกันกับทางรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในช่วงแรกเรื่องของโอโซนอาจเป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิต ทางภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้อง แต่ช่วงที่ผ่านมาเรื่องโอโซนได้ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและมีเรื่องความปลอดภัยต่างๆ จากสารทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาคประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าน่าจะขยายงานและประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ให้เข้ากับภาคประชาชนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ อยากให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันชั้นบรรยากาศว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร นอกเหนือไปกว่านี้ยังคาดหวังถึงความคิดเห็น ข้อมูลต่างๆ และความคิดใหม่ๆ ของผู้ที่มาเข้าร่วม ในแง่ของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีบริบทการใช้ชีวิตต่างจากอดีตว่า ควรใช้สื่อประเภทไหนที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดความสนใจของประชาชนได้มากกว่า เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาทำแผนในการลด หรือ เลิก ใช้สารที่กำลังถูกควบคุมในอนาคตเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต
ทิศทางและแนวโน้มต่อมุมมองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งในเรื่องดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องโอโซนด้วย
ดร.วิรัช เปิดเผยเรื่องนี้กับทาง MBA ว่า “เรื่องของการรณรงค์เพื่อเป้าหมายในการลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมและการกระทำของเราก็ส่งผลต่อคนอื่นๆ จึงอาจเกิดปัญหาการว่าใครควรเริ่มก่อน แม้แต่เรื่องของการป้องกันชั้นบรรยากาศหรือโอโซนที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะเราสามารถทำปัญหานี้ให้กลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนสามารถแก้ไขได้ อย่างเรื่องน้ำยาที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศก็มีการหาทางปิดโรงงานที่ผลิตสารเหล่านี้ แล้วเอาสารทดแทนตัวอื่นไปให้ผู้ใช้หรือโรงงานที่นำสารนี้ไปใช้ต่อ ปัญหาเลยถูกแก้ไขได้ง่าย เราสามารถใส่ทรัพยากรต่างๆ ลงไปทดแทนเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ในแง่ของสภาพภูมิอากาศมีปัจจัยมากมาย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เราทุกฝ่ายต้องมีการจับมือร่วมกัน สิ่งไหนที่ทำได้เร็วทำได้ก่อนก็ต้องเริ่มทันที อย่างเรื่องสาร HFCs ที่ประเทศไทยนำเข้ามา หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ภายในปี พ.ศ.2565 หรือ พ.ศ.2566 อาจจะมีปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ถ้าเราสามารถลดการนำเข้าลงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการรั่วไหลน้อยลง เราก็สามารถลดปริมาณสารไปได้มากกว่า 30 ล้านตัน ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจากปี 2563 ถึง 2566 เราจะลดอัตราการปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 110 – 130 ล้านตัน ถ้าประชาชนเราสามารถบำรุงรักษาใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพและเกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด แค่เรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศถ้านับจากการใช้ทั่วประเทศเราอาจลดการนำเข้าสารนี้ไปได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ก็คือเป้าหมายที่จะไปจัดการในส่วนของการลดอัตราการปลดปล่อยสารเหล่านี้ออกสู่บรรยากาศ เพราะฉะนั้นเรื่องไหนที่เราทำได้ก่อนเราก็ทำเลย เรื่องไหนที่ยังทำไม่ได้เราก็พยายามพัฒนาต่อ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ภายในปี พ.ศ.2573 อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสแน่นอน”
สำหรับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์) ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ก็ต้องมีการเข้าไปสำรวจและพูดคุยกันจากหลายๆ ฝ่าย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะกระบวนการผลิตนั้นใช้คาร์บอนไดร์ออกไซด์ในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และอีกด้านก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขนส่ง อย่างอาหารทะเล บ้านเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจับได้มากขึ้นแต่เป็นการเพิ่มอัตราการส่งอาหารหรือทรัพยากรเหล่านี้ไปให้ถึงมือผู้บริโภคให้มากขึ้น จากเดิมเราจับมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ไปถึงผู้บริโภคเพียง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ก็อาจช่วยลดอัตราการจับสัตว์น้ำให้น้อยลงได้ ธนาคารโลกเองมีบทบาทในการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบทำความเย็นทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี โดยมีการกำหนดกลยุทธ์และแผนการในการขนส่งที่มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน อาจไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีการมองอย่างเป็นระบบ วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง เพราะเราไม่ต้องจ่ายให้กับส่วนต่างของมูลค่าสินค้าที่สูญเสียไประหว่างทาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูงที่สุด
และสำหรับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางธนาคารโลกก็มีกระบวนการทำงานที่ต่างจากอดีต คือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Strategic Country Diagnostic : SCD) แล้วจึงมากำหนดว่าอะไรที่ควรให้ความสำคัญก่อน โดยทางรัฐบาลจะมีการกำหนดขึ้นมาว่าต้องการให้ทางธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง มีการสร้างขอบเขตความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทยขึ้นมาภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี อย่างเร็วๆ นี้ก็จะเป็นประเด็นการลดขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและไทย ต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้
การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมสามารถทำควบคู่การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ในเรื่องการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ท่าน ดร.วิรัช ได้อธิบายแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังว่า “ในอดีตเราอาจมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอาจไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดมาช่วยรักษาสมดุลเพื่อจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อย่างในตอนนี้ที่เราเปลี่ยนการใช้น้ำยาในเครื่องปรับอากาศจาก CFCs มาเป็น HFC ที่แยกออกมาอีกหลายประเภททั้ง R22 และ R410A ซึ่งก็ยังมีผลที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้ประมาณ 1,810 – 2,090 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมจึงหันมาเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพกลางๆ คือ HFC R32 มีค่าที่ทำให้โลกร้อนเพียง 675 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ไซต์ แม้จะยังเป็นค่าที่สูงแต่ก็มีการออกแบบให้มีการรั่วไหลของสารในปริมาณที่น้อยที่สุดด้วยการลงทุนทำระบบข้อต่อต่างๆ ให้ดีขึ้น ผลปรากฏว่าระบบนี้กลับมีปริมาณการรั่วน้อยและเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถผลิตเครื่องปรับอากาศให้มีขนาดเล็กลงได้ด้วย เพราะการทำความเย็นที่ดีกว่า ขนาดของเครื่องปรับอากาศจึงสามารถลดลงส่งผลต่อการลดต้นทุนในการผลิตและท้ายที่สุดทำให้เกิดขยะน้อยลง ฉะนั้น การปฏิบัติตามแนวทางนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีที่เรามีค่อนข้างพร้อมอยู่ที่ว่าเราจะหยิบเอามาใช้ให้ได้ประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย”
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เดินไปถึงขั้นที่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด นอกจากนี้เทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศไทยมีช่างที่มีคุณภาพและประชาชนรู้ว่าการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องคืออะไร เราสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ เราก็สามารถเดินไปหน้าต่อไปในแนวทางนั้นได้ ปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของช่างซ่อมบำรุงให้มากขึ้น ดึงเอาส่วนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลรักษาของใช้ เมื่อเราพร้อมและมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือเป็นอย่างดีเมื่อไหร่ เราจึงสามารถเดินหน้าใช้สารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ (แต่อาจมีอันตรายมากกว่าด้วย) เราไม่ควรให้ความสมบูรณ์กลายมาเป็นสิ่งที่ทำลายเราในภายหลังจะดีกว่า กรณีที่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาคือ การทำความร่วมมือระหว่างทางธนาคารโลกกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเจรจาขอนำเทคโนโลยี R32ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นเจ้าเดียวที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่เข้ามาให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย โดยสุดท้ายแล้วเราก็สามารถผลิต จัดจำหน่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตร และถือเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ให้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ เพราะเราสามารถสร้างเงื่อนไขที่ทั้งประเทศไทยและเจ้าของสิทธิบัตรสามารถมีประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีภาคการผลิตในอนาคต ธนาคารโลกเองก็กำลังร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการทำ Business Matching โดยส่งเสริมให้บริษัทที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์แต่ยังไม่สามารถเปิดตลาดและบริษัทที่มีความต้องการเทคโนโลยีตัวนี้มาทำการค้าร่วมกันทั้งในตลาดประเทศไทยเอง รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์เพื่อขยายตลาด เมื่อผู้ผลิตหันมาสั่งซื้อสินค้าที่เดียวกัน ปริมาณการซื้อขายก็มากขึ้น ราคาก็จะลดลง คนที่ให้เทคโนโลยีก็สามารถทำยอดขายได้เพิ่ม เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม
ดร.วิรัช แสดงความเห็นทิ้งท้ายต่อปัญหาที่เป็นกังวลมากที่สุดในระดับสากลตอนนี้คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการประชุมและทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส คือ จะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หากเราไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งหมดทำให้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้อีก เราในส่วนของประชาชนผู้มีส่วนร่วมควรตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเรื่องความอยู่รอดและปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเรามุทะลุตั้งหน้าตั้งตากอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเพียงอย่างเดียว สักวันหนึ่งการกระทำเหล่านี้อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาลูกโซ่ทำร้ายลูกหลานของเราในอนาคตได้
เรื่อง : ณัฐพัชฐ์ สุมา
ผู้บริหาร และ พนักงานจิตอาสา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกพลังกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" บริเวณถนนสีลม และในชุมชนโดยรอบสถานประกอบการพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสนองพระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน ต่อยอด รักษา เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน
นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) นำคณะผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วม 300 คน พร้อมใจแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีเหลือง เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ทำความสะอาด ปลูกต้นไม้ ทาสีทางเท้า และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเท้า บริเวณหน้าอาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม จนถึง ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
ขณะที่ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) นำผู้บริหารและพนักงานจิตอาสา ร่วมชุมชน ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่วัดอู่ตะเภา โรงเรียน และชุมชนใกล้โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก
นอกจากนี้ ซีพีเอฟจิตอาสา โรงงานและฟาร์มยังได้จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับชุมชนทั่วประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน อาทิ เก็บขยะบริเวณชายหาด ทำความสะอาดริมถนนทางหลวง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรของบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงการตอบแทนคุณสังคม ช่วยกันพัฒนาความเจริญให้กับชุมชนที่อยู่
เอสซีจี ได้รับ 2 รางวัล Bronze Awards จากเวที “MAT Award 2018” ครั้งที่ 10 โดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ในประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง (Real Estate) จากผลงาน “เปิดตลาดหลังคาบ้านเก่า SCG Roof Renovation เรือลำแรกในมหาสมุทร Blue Ocean มูลค่า 10,000 ล้านบาท” และประเภทธุรกิจเพื่อสังคม (Sustainable Marketing) จากผลงาน “บ้านปลาเอสซีจี คืนวิถีชีวิตประมงไทย สร้างสมดุลสู่ท้องทะเลอย่างยั่งยืน” เผย “การเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง” เป็นหัวใจความสำเร็จที่ช่วยผลักดันให้เอสซีจีสามารถคิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสังคม และการอยู่อาศัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทย และพร้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า
นายฎายิน เกียรติกวานกุล Marketing Director – Roof Business บริษัท กระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด ในเอสซีจี กล่าวว่า “จากผลสำรวจที่อยู่อาศัยทั่วประเทศพบว่า มีบ้านเก่าที่อายุ 10 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 18 ล้านหลังคาเรือน และกว่า 1.5 ล้านหลังคาเรือนประสบปัญหาหลังคารั่วซึม หรือหลังคาเก่าโทรม ซึ่งเจ้าของบ้านต้องการเปลี่ยนหลังคาเก่าให้กลับมาสวยเหมือนใหม่ ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มีเพียงผู้รับเหมารายย่อยที่รับซ่อมแซม และแก้ไขปัญหาหลังคา แต่ไม่สามารถรับประกันคุณภาพงานได้ เอสซีจีเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว จึงพัฒนาบริการ “SCG Roof Renovation” อย่างครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับปรุง และซ่อมแซมหลังคาสำหรับเจ้าของบ้านให้ได้รับบริการที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้
โดยเจ้าของบ้านสามารถ “มั่นใจ” ในบริการจากทีมช่างคุณภาพและมากด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทางด้านรีโนเวทหลังคา พร้อมการรับประกัน 1 ปี สำหรับงานเปลี่ยนหลังคาทั้งผืน “วางใจได้” ด้วยเทคโนโลยีหลังคา และระบบหลังคาคุณภาพมาตรฐานเอสซีจี “ไร้กังวล” ด้วยทีมสำรวจหน้างานที่วางแผนแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และ “สบายใจ” ด้วยการติดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยเจ้าของบ้านสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ตามปกติระหว่างติดตั้ง ด้วยความเข้าใจปัญหา ตลอดจนความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงทำให้เอสซีจีได้รับรางวัลจากสมาคมการตลาดฯ ในครั้งนี้”
ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องหลังคาได้ฟรีที่ เอสซีจี คอนแทค เซ็นเตอร์ โทร.02-586-2222 เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และเอสซีจี โฮมโซลูชั่น ทุกสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://roofexpert.scgbuildingmaterials.com/service/renovate”
ด้านนางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ Brand Management & CSR Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ในพื้นที่ระยอง โดยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน และนำความเชี่ยวชาญภายในองค์กรมาช่วยแก้ไข รวมทั้งหาโซลูชั่นที่เหมาะสม สำหรับรางวัลที่ได้รับจากสมาคมการตลาดฯ ในครั้งนี้ มาจาก “โครงการรักษ์น้ำจากภูผา สู่มหานที ...จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี”
ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง โดยเอสซีจีได้น้อมนำพระราชปณิธาน “จากภูผา สู่มหานที” ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลและจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจีกับภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยอง ตั้งแต่ต้นน้ำผ่านกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเลที่ปลายน้ำผ่านโครงการบ้านปลาเอสซีจี ซึ่งนำท่อ PE 100 ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาสร้างเป็นบ้านปลา นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้วางบ้านปลาไปแล้วจำนวน 1,600 หลัง ใน 37 กลุ่มประมงพื้นบ้านทั่วภาคตะวันออก ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ซึ่งเป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน โดยมีจิตอาสาสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 11,500 คน”
รางวัล Bronze Award จาก “เปิดตลาดหลังคาบ้านเก่า SCG Roof Renovation เรือลำแรกในมหาสมุทร Blue Ocean มูลค่า 10,000 ล้านบาท” และ “บ้านปลาเอสซีจี คืนวิถีชีวิตประมงไทยสร้างสมดุลสู่ท้องทะเลอย่างยั่งยืน” นับเป็นความภาคภูมิใจของเอสซีจี และพนักงานทุกคนที่ได้มุ่งมั่นและทุ่มเทดำเนินงานอย่างสุดความสามารถ ตลอดจนเป็นการยืนยันความสำเร็จที่เอสซีจียึดถือความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียเป็นหัวใจในการคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม และการอยู่อาศัย
เอสซีจีจะยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป
ทั้งนี้ แคมเปญการตลาด MAT Award 2018 ครั้งที่ 10 นี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเชิดชูนักการตลาดไทยที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้นักการตลาดไทยก้าวสู่ระดับสากล โดยในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 40 ผลงาน ใน 11 กลุ่มรางวัล
บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด โดยผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์จิตอาสา 120 คน จัดกิจกรรมมอบความสุขและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุ มูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน ในโครงการ "เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ" ปีที่ 6 โดยกิจกรรมประกอบด้วย การจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน กิจกรรมสันทนาการร่วมกับผู้สูงอายุ และการปรับทัศนียภาพในสถานพักฟื้นฯ พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค และเงินบริจาค มูลค่ารวม 80,000 บาท ที่ได้จากการร่วมสมทบทุนของ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกค้าเชสเตอร์ ให้แก่มูลนิธิฯได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
นายธิติธัช ไกรเกรียงศรี ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน กล่าวว่า มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นโดย นาย ยก ตั้งตรงศักดิ์ นักธุรกิจและนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและอุปการะคนชรายากไร้และด้อยโอกาสที่ไม่มีผู้เลี้ยงดู ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ให้การอุปการะคนชราชายอยู่ 65 คน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับน้ำใจจากจิตอาสาเชสเตอร์ ร่วมกันเลี้ยงอาหารกลางวัน จัดกิจกรรมสันทนาการ และมอบเงินพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แก่มูลนิธิฯ ให้สามารถดูแลผู้สูงวัยที่อยู่ในมูลนิธิฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ประชากรผู้สูงวัยต้องการความเอาใจใส่ด้วยความรักจากลูกหลาน ดังนั้น การที่จิตอาสาเชสเตอร์เข้ามาจัดกิจกรรมในวันนี้ ช่วยสร้างรอยยิ้ม ความสุข ความอบอุ่น กับคนชราในสถานพักฟื้นฯ แห่งนี้ ให้ได้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีกำลังใจพร้อมดำเนินชีวิตในช่วงบั้นปลายได้ต่อไป” นายวิสุทธิ์กล่าว
นางรุ่งทิพย์ พรหมชาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ธุรกิจร้านอาหารเชสเตอร์ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เชสเตอร์ จัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 เป็นความตั้งใจของเชสเตอร์ฟู้ดที่จะสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน และกลุ่มลูกค้าให้ได้ทำกิจกรรมแบ่งปันน้ำใจแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ปีละ 2 ครั้ง โดยในปีนี้กิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นที่สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) นนทบุรี และวันนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ 2 ที่เชสเตอร์นำเงินรับบริจาคจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานชาวเชสเตอร์ฟู้ด รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ร่วมสมทบทุนผ่านกล่องรับบริจาคที่ร้านเชสเตอร์ 200 สาขาทั่วประเทศ มามอบให้สถานพักฟื้นคนชราบางเขน สำหรับการดูแลคนชราและทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไป
“เชสเตอร์ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์มีจิตสาธารณะ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเพิ่มความสุขให้กับคนในชุมชน ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในปีหน้า เชสเตอร์ยังคงจัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสให้ชาวเชสเตอร์จิตอาสาสร้างความสุขให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้น” นางรุ่งทิพย์กล่าว./
รศ.นพ.ทวีกิจ นิ่มวรพันธ์ (ที่ 3 จากขวา) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 250,000 บาท จากการจัดกิจกรรม เดิน-วิ่ง การกุศล CPF BANGNA CHARITY RUN 2018 ที่จัดโดยชมรม ซีพีเอฟ รันนิ่ง คลับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์แก่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายนิธิพงศ์ นงค์นาค (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกบางนา กม.21 ซีพีเอฟ พร้อมทีมงาน เข้ามอบ ณ มูลนิธิรามาธิบดี/.
ศูนย์จักษุ อาร์เอสยู เฮลล์แคร์ ศูนย์ตรวจรักษาและผ่าตัดโรคตาในเครือมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดให้บริการตรวจรักษาและผ่าตัดต้อกระจกในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2561 เนื่องในวันสายตาโลก เพื่อเป็นการรักษาและป้องกันการสูญเสียดวงตา “ตรวจตาล่วงหน้า ตาไม่บอด” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์จักษุ อาร์ เอส ยู เฮลท์แคร์ โทร. 0-2610-0300 ต่อ 300 Line@: @rsuhealthcare
นายปิติ ตัณฑเกษม ในฐานะประธานกรรมการ มูลนิธิทีเอ็มบี รับมอบเงินสนับสนุนมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท จากนายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการทหารไทย (TMBAM) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในโครงการไฟ-ฟ้า เพื่อจุดประกายเยาวชนและชุมชน โดยเงินสนับสนุนดังกล่าวมาจาก 10% ของค่าบริหารจัดการ (Management Fee) กองทุนรวมหุ้น ทีเอ็มบีธรรมมาภิบาลไทย โดยรับมอบในงาน “ เด็กธรรมดา คือสิ่งที่สวยงาม” ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน
บี.กริม ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสริมทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จำนวน 39 คน ด้วยการฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) หลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวน ภายใต้ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร”
บี.กริม ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 140 ปี ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า และพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทฯได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพราะในศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรเสือโคร่งในผืนป่ารอบโลกลดลงอย่างน่าใจหาย บี.กริม จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย โดยเน้นการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดต่อกันเป็นระยะมากว่า 4 ปีแล้ว
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าของไทย เพราะการมีเสือโคร่งในผืนป่า คือ ดัชนีชี้วัดที่บอกได้ว่าผืนป่าของประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์และน่าภูมิใจเพียงใด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนต้องเผชิญกับผู้กระทำความผิดที่มาพร้อมวิธีการแปลกใหม่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเทคนิคลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถือเป็นการเสริมสร้างทักษะ ช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ทั้งด้านความเข้มแข็ง ระเบียบวินัย สมรรถนะทางด้านร่างกายและจิตใจ เทคนิคการป้องกันตัว การใช้ทัศนสัญญาณในการสื่อสาร การจับกุมผู้กระทำผิด ตลอดจนการใช้และดูแลรักษาอาวุธอย่างถูกวิธี โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่นำความรู้และเทคนิคที่ได้ไปใช้ในงานด้านการป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจนำไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในหน่วยงานต่อไป
นอกจากนั้น ยังได้มอบอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติงานลาดตระเวนภาคสนามให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งสองอุทยาน ฯ ด้วย เช่น เป้สนาม เปลมุ้ง ฟลายชีท ถุงกรองน้ำ เครื่องระบุทางภูมิศาสตร์ (GPS) แบตเตอรี่ กล้องถ่ายรูป แก๊สกระป๋อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นระยะยาว คือการจัดการฝึกอบรมให้มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคนได้รับการฝึกฝนอย่างทั่วถึง ตลอดจนจัดหายุทโธปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจในการทำงานและสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
“บี.กริม เห็นว่า ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 97 มีสาเหตุหลักมาจากการถูกล่าเพื่อความเชื่อและนำอวัยวะใช้ทำยา รวมถึงสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งก็ถูกล่าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของผืนป่า เราเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงอยากช่วยให้เขามีทักษะในการทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย จึงให้การสนับสนุนโครงการนี้”
ทางด้าน ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-ประเทศไทย) กล่าวว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่คอยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ หากป่าใดมีเสือโคร่งแสดงว่าป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร หากเสือโคร่งอยู่ได้ สัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็อยู่ได้ การอนุรักษ์เสือโคร่งจึงเปรียบได้กับการอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ และอนุรักษ์ระบบนิเวศไปด้วยพร้อม ๆ กัน ปัจจุบัน ประชากรเสือโคร่งมีจำนวนลดลงจากในอดีต เหลือประมาณ 3,890 ตัว จาก 13 ประเทศทั่วโลก
“ประเทศไทย มีประชากรเสือโคร่งอยู่ประมาณ 150 - 200 ตัว การนำเทคนิคลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาอบรมแก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความมั่นใจในการการปฏิบัติงานซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะสามารถช่วยในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งซึ่งถือป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามและมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง” ดร.รุ้งนภา กล่าว
ในโอกาสที่ เอไอเอ ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี ในปีนี้ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเอไอเอ ประเทศไทยเตรียมส่งพนักงานและพลังตัวแทน 8 ท่าน เพื่อร่วมงาน Oxfam Trailwalker งานวิ่งเทรลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฮ่องกงซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-18 พฤศจิกายนนี้ Oxfam Trailwalker เป็นกิจกรรมวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับ Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ซึ่งเอไอเอ ฮ่องกงได้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 และได้ร่วมระดมทุนให้กับ Oxfam แล้วรวมกว่า 14 ล้านบาท
สำหรับในปีนี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 80 ปี เอไอเอ ประเทศไทย ไม่พลาดที่จะส่งตัวแทนนักวิ่งน่องเหล็ก 8 ท่าน นำโดย มร.ตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมกับพนักงานและตัวแทนอีก 7 ท่าน ร่วมท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง กับการวิ่งเทรลระยะ 100 กิโลเมตร ข้ามผ่านภูเขากว่า 23 ลูก เพื่อพิชิตเส้นทางธรรมชาติที่มีความชันสะสมสูงถึงกว่า 4,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ภายในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง อีกทั้งยังถือเป็นการแสดงพลังเพื่อมีส่วนร่วมในการระดมทุนสนับสนุนองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ให้ได้นำเงินบริจาคเหล่านี้ไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในยามจำเป็น นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของเอไอเอ ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น “Healthier, Longer, Better Lives” ซึ่งสำหรับผู้ที่ประสงค์ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อนำเข้ามูลนิธิ Oxfam ในครั้งนี้ สามารถคลิกบริจาคให้กับทีมนักวิ่งจากเอไอเอ ประเทศไทยได้ที่ http://bit.ly/AIATHTeam1 หรือ http://bit.ly/AIATHTeam2
“ต้นทางป่าไม้ ปลายทางประมง ระหว่างทางเกษตรกรรม” เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงวางแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำของประเทศไทยให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติให้ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นับเป็นแนวคิดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างความความยั่งยืนให้กับผืนป่าและชุมชนได้อย่างแท้จริง ... พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ที่สำคัญของประเทศ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี จะประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ทั้งจากภัยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ แต่ด้วยแนวคิดการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีป่า ชุมชนก็มีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งภายในชุมชน
เมื่อป่าอยู่รอด ชุมชนจึงอยู่ได้
ชุมชนบ้านยางโทน อำเภอไทรโยค เป็นอีกหนึ่งชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน ชุมชนจึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ปัญหา และหวังคืนความชุ่มชื่นให้ผืนดิน จนปัจจุบัน เห็นผลแล้วว่า นอกจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมา ฝายยังช่วยฟื้นสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตผลทั้งหน่อไม้ ไผ่รวก เห็ดโคน และผักหวาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน
“ชุมชนได้เข้าไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเอสซีจี ตั้งแต่ปี 2552 เพียงไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ฝายช่วยคืนความสมดุลให้กับป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัว และแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น แค่คนในชุมชน 1 คน เดินเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้เพียง 2 กระสอบปุ๋ย สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 300 บาทต่อวัน หรือประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของชุมชนที่มาจากการขายหน่อไม้ เห็ดโคน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอยในครัวเรือน มากถึง 4,000,000 บาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรง ร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนบ้านยางโทนของเรามีโอกาสพูดคุยกัน เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้น” ผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว
ไม่หยุดแค่งานชุมชน มุ่งมั่นยกระดับความรู้สู่งานวิชาการ
นอกจากชุมชนแล้ว พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค ยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อยู่ในเขตมหาวิทยาลัย เมื่อฝนตกหนักหน้าดินจะถูกชะล้างลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน มหาวิทยาลัยฯ จึงเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับเอสซีจีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ฝาย ได้ขยายเพิ่มเป็น 100 ฝาย จนปัจจุบันนักศึกษาและจิตอาสาได้ร่วมกันสร้างไปแล้ว 354 ฝาย
“ระหว่างการสร้างฝาย มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความหลากหลายของสัตว์ รวมถึงประโยชน์จากฝายที่เกิดขึ้นกับชุมชน ผลจากงานวิจัยได้พบ ชาฤาษีไทรโยค ที่เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางระบบนิเวศ ซึ่งพบแหล่งเดียวในโลก พืชชนิดนี้จะขึ้นในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เท่านั้น อีกทั้ง ยังพบการกลับมาของเสือลายเมฆซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างฝายมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นให้ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง รวมถึงฝายยังทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนเช่นที่ผ่านมาได้อีกด้วย ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” เพื่อรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำฝายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และมีเป้าหมายจะสร้างฝายให้ครบ 500 ฝายในปี 2561 นี้” ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นผลประจักษ์เชิงวิชาการที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นจากฝายชะลอน้ำ
เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักษ์สื่งแวดล้อม
ด้วยความเชื่อที่ว่า การรักษาและดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ชุมชนต้นน้ำเท่านั้น น้องแนน นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปี 4 หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook SCG โดยหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้กับเพื่อนๆ และพี่ๆ ชุมชน รวมถึงหวังว่าการร่วมกิจกรรมจะช่วยปลุกพลังที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า
“ปกติชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสและลองลงมือทำงานร่วมกับพี่ๆ ชุมชนแบบนี้มาก่อน ครั้งแรกสำหรับการสร้างฝายไม่เหนื่อยอย่างที่คิด เพราะได้แรงจากพี่ๆ ชุมชน และพี่ๆ พนักงานเอสซีจีช่วยกัน เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่คนพูดถึงฝาย แต่การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้มีโอกาสมาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายที่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ฝายช่วยชะลอน้ำสามารถช่วย
แผ่กระจายความชุ่มชื้นไปสู่พื้นที่โดยรอบได้มากกว่าแค่เก็บน้ำตามที่เราเคยคิดไว้ และไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าสภาพพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมประเภทนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา”
สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดและขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
เอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“เอสซีจีมีเครือข่ายชุมชนในโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ มากกว่า 170 ชุมชน เครือข่ายเยาวชน Young รักษ์น้ำ กว่า 80 คน และมีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 89,400 คน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำสำเร็จไปแล้วกว่า 79,300 ฝาย ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำของทั้งชุมชนบ้านเขามุสิ และชุมชนบ้านยางโทน จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงผลงานวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไป จนเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต จากนี้ไป เอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถต่อยอดพัฒนา และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากฝาย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ได้ตลอดทั้งปี” นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าว
เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ยั่งยืน สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป
สุขภาพดีนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ซึ่งการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี อีกทั้ง ยังจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้นกัน ถือเป็นแรงกำลังที่ช่วยพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดดังกล่าว แกร็บ จึงได้เชิญชวนผู้ใช้ที่รักสุขภาพ ร่วมออกกำลังกายพร้อมทำประโยชน์เพื่อสังคม ภายในงาน “Grab Running – วิ่งตัวเบา” งานวิ่งที่เรื่องน้อยที่สุด สะดวกสบายเพียงแค่พกสมาร์ทโฟนมาวิ่ง ส่วนที่เหลือแกร็บจัดให้ ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ โดยกิจกรรมเพื่อสังคมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายธารน้ำใจ เพื่อบริจาคสมทบทุนให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ในการซื้อเครื่องมือแพทย์ให้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งภายในงาน นอกจากจะได้สัมผัสกับประสบการณ์งานวิ่งที่เรื่องน้อยที่สุดแล้ว นักวิ่งและคนรักสุขภาพที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ยังได้ร่วมสนุกกับหลากหลายกิจกรรมจากบูทพาร์ทเนอร์คู่ค้าของแกร็บ ทั้ง KBank, ประกันภัย Sunday Insurance, Shopee, JOOX และ Ari Running อีกทั้งยังเพลิดเพลินกับเมนูร้านดังที่คัดสรรมาให้เพิ่มพลังจากแกร็บฟู้ด และปิดท้ายวันดี ๆ ด้วยมินิคอนเสิร์ตจากนักร้องสาวเสียงใส แพรว คณิตกุล เนตรบุตร
นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน ผู้คนหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการเดิน โดยแกร็บรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเสียงตอบรับจากกิจกรรมงานวิ่งครั้งแรกของเราเป็นอย่างดี โดยกิจกรรม ‘Grab Running - วิ่งตัวเบา’ ในวันนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมสร้างสุขภาพดีร่วมกันแล้ว ยังเป็นการตอบแทนกลับคืนสู่สังคม โดย แกร็บ ร่วมบริจาค 10 บาทต่อทุกกิโลเมตรที่ผู้ร่วมงานทุกคนวิ่ง โดยเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท เพื่อสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อเป็นทุนในการซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์และร่วมสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในอนาคตจะเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำที่รองรับผู้ป่วยได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ ความสำเร็จของกิจกรรมในวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากน้ำใจจากนักวิ่ง พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร พันธมิตรคู่ค้าทั้งหมดของเรา รวมถึงตัวแทนหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การสนับสนุนเราด้วยดีเสมอมา และเราจะเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อจัดกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมต่อไปในอนาคต”
กิจกรรม Grab Running - วิ่งตัวเบา เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามพันธกิจในการทำประโยชน์เพื่อสังคมมาในช่วงเพียงสองสามเดือนที่ผ่านมา แกร็บ ได้จัดกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อตอบแทนพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และสังคมมาหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการมอบทุนการศึกษารวมกว่าหนึ่งล้านบาทให้แก่บุตรพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่, โครงการ ‘GrabFood for Good – ทุกจานคือการให้’ เพื่อสมทบทุนมอบอาหารกลางวันให้มูลนิธิเด็กผู้ด้อยโอกาสนับหมื่นคน และโครงการบริจาคสิ่งของผ่านบริการแกร็บเอ็กเพรสให้แก่มูลนิธิผู้ด้อยโอกาส อาทิ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น และมูลนิธิอื่น ๆ ในต่างจังหวัดรวม 7 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการทั้งหลายเหล่านี้ ถือสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของแกร็บ ในการผลักดันเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
พลพรรคนักวิ่งทุกเพศทุกวัย พร้อมใจวิ่งเพื่อเปลี่ยนทุกกิโลเมตรให้เป็นเงินบริจาค สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ
มารีญา พูลเลิศลาภ สาวสวยสุขภาพดี ร่วมวิ่ง Fun Run ระยะ 5 กิโลเมตร
เหล่านักวิ่งกระโดดตัวเบา ฉลองเข้าเส้นชัยแบบยกทีม
สนุกสนานคึกคักไปกับกิจกรรมถ่ายภาพรอบ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ
เติมพลังหลังเข้าเส้นชัยด้วยเมนูอาหารและเครื่องดื่มร้านดัง จากแกร๊บฟู้ด
สีสันกิจกรรมสุดสนุก ณ บูทพันธมิตรคู่ค้าของแกร็บภายในงาน Grab Running - วิ่งตัวเบา
เอไอเอ ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี ที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบสุขภาพและชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้โครงการ “AIA Sharing A Life Charity Run” พร้อมกันใน 10 จุดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, พิษณุโลก, อุดรธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครปฐม, สุพรรณบุรี, ระยอง และสุราษฎร์ธานี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐบาล อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานประจำจังหวัด ทั้ง 10 แห่ง พร้อมใจกันมาร่วมเดิน-วิ่งการกุศล ทั้งสิ้นกว่า 50,000 พลังความดีจากทั่วประเทศ และได้ร่วมมอบเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง ในโครงการ “AIA Vitality Workout” เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรง สอดคล้องกับคำสัญญาของเอไอเอ ที่ต้องการสนับสนุนในคนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น (Healthier, Longer, Better Lives)
มร. ตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในโอกาสที่ปีนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ครบรอบ 80 ปี และเรามีคำมั่นสัญญาใหม่ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น (Healthier, Longer, Better Lives) จึงเป็นที่มาของโครงการ AIA Sharing A Life Charity Run ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมในรูปแบบการเดิน-วิ่ง พร้อมร่วมแบ่งปันให้กับองค์กรการกุศลต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทุกท่านที่มาร่วมงานนี้ ยังมีส่วนร่วมในการบริจาคเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งผ่านโครงการ AIA Vitality Workout โดยผมขอเป็นตัวแทนเอไอเอ ประเทศไทย ขอบคุณพลังความดีทั้งหมดกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ที่ออกมาแสดงพลังร่วมกันในวันนี้”
สำหรับที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกิจกรรมที่สวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ 6.00 น. โดยเริ่มด้วยกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล ต่อจากนั้น เป็นพิธีมอบเงินบริจาคแก่องค์กรการกุศลต่างๆ ต่อด้วยการร่วมส่งมอบเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง “AIA Vitality Workout” โดยมีผู้บริหารของสวนจตุจักรเป็นผู้รับมอบ และกิจกรรมปลูกต้นไม้ เพิ่มความร่มรื่นให้แก่สวนจตุจักร อีกด้วย
ทั้งนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ยังคงยึดมั่นในการทำความดี ตอบแทนสู่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นการฉลองครบรอบ 80 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมกันกับการพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั่วประเทศ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งส่งเสริมศักยภาพนักเรียนด้านทักษะการงานอาชีพและประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสการทำงานให้นักเรียนหลังจบการศึกษา รองรับความต้องการของท้องถิ่น
ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะผู้บริหารและนักเรียน ”โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา)” และ “โรงเรียนชุมชนบ้านวัด” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มุ่งสร้างครูและนักเรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
นายทวีสิน คุณากรพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของไทย โดยให้การสนับสนุนโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ตามแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาที่เพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นคนดีและคนเก่ง พร้อมกันนี้ ส่งเสริมสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ระดมสมองเพื่อทำแผน 5 ปี (2561-2566) เพื่อสนับสนุนโครงการฯทั้งด้านวิชาการและทักษะให้ตรงความต้องการและความถนัดของแต่ละคนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฝึกฝนจากการทดลองปฏิบัติจริงในโรงเรียนและการฝึกงานในโรงงาน เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์
“ทั้ง 2 โรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและจังหวัด ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐ เอกชน โรงเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนเดินหน้าสู่เป้าหมาย ช่วยยกระดับการศึกษา ทักษะและความชำนาญ ของเด็กให้แข่งขันกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายทวีสิน กล่าว
นายเมธี คอบตะขบ ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา(โคกศิลา) กล่าวว่า คณะกรรมการของโรงเรียนร่วมพัฒนา จะร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแผนระยะ 5 ปี มีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ คุณครูนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ โรงเรียนต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียนมีอาชีพติดตัวหลังจากที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 240 คน
“โรงเรียนทำโครงการ 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งแต่ละปีเด็กจะเรียนรู้ทักษะอาชีพ 2 ชิ้นงาน อาทิ ระดับอนุบาล เรียนรู้วิธีการทำจ่อมเห็ด เพ้นท์สี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำแซนวิชเห็ด ขยายพันธุ์กล้าไม้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผลิตไม้ประดับแบบแขวน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำกระถางต้นไม้จากเศษผ้าขนหนู เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียนจัดกิจกรรมโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเห็ดสด จนถึงการแปรรูปเห็ด ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้เให้แก่ชุมชนได้ด้วย” ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา กล่าว
ด้านนายธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวัด กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนบ้านวัดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เน้นพัฒนานักเรียนทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตัวเองตามสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและสภาพพื้นที่ของชุมชนโดยรอบ เช่น กิจกรรมค่ายพัฒนาภาษาอังกฤษ กิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินและกระชังบก กิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และทักษะอาชีพ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกฟักข้าว การเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น โรงเรียนคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนานักเรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ มีภาวะผู้นำ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี
ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียน 230 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังการกระจายของยาเสพติด จึงเน้นทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดกับนักเรียนและชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาและทักษะอาชีพ