×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

 

    ธนาคารไทยพาณิชน์ ประกาศเดินหน้าภารกิจ SCB Transfomation เพื่อก้าวสู่การเป็น The Most Admired Bank  โดยจะรุกสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้า แผนงานของธนาคารในปีนี้นอกจากการเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ แล้วยังรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับแพลตฟอร์มดิจิทัล และการนำเทคโนโลยี Business Intelligence ที่ช่วยให้ธนาคารตัดสินใจด้านการลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยอาศัยข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกธนาคาร และเทคโนโลยี Big Data Analysis ที่ช่วยให้ธนาคารวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกได้มากขึ้น

    ผ่านไป9 เดือน เราได้เห็นการขยับของ SCB ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์สเป็นแกนหลักในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในวงการธนาคาร ตัวอย่างที่เพิ่งผ่านมาไม่นานคือการพัฒนาแอพพลิเคชันจัตจักรไกด์ ที่ช่วยให้ร้านค้าและลูกค้าสามารถทำธุรกรรมกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงช่วยบริการด้านข้อมูลให้กับผู้ที่ใช้งาน

    ล่าสุด SCB ก็ออกมาประกาศจัดตั้ง เอสซีบี อบาคัส เป็นบริษัทในเครือที่ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการเป็นบริษัทแรกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินและการธนาคารของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

     อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเปิดตัวบริษัทลูกครั้งนี้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 2 ปีก่อน SCB จึงจัดตั้ง ดิจิทัล เวนเจอร์ส ขึ้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก SCB เป็นองค์กรใหญ่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำได้ยาก จึงต้องมีดิจิทัลเวนเจอร์สที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทดลองเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกมีบางการทดลองได้เริ่มลงสู่ตลาดบ้างแล้ว

    เอสซีบี อบาคัส ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่จะมาช่วย SCB ในการขับเคลื่อนธนาคารด้วยเทคโนโลยี ด้วยการนำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดความเข้าใจความต้องการของลูกค้าแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากจะรอระบบวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารอาจจะไม่ทันกาล การจัดตั้ง เอสซีบี อบาคัส ขึ้นก็เพื่อจะนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้กับฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อรู้จักผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เป็นไปตามแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

     อาทิตย์ระบุว่าอยากให้ เอสซีบี อบาคัส สามารถผลิตผลงานได้เช่นเดียวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่ก่อตั้งมาก่อน รวมถึงให้ทั้งสองบริษัทประสานงานกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมา

     ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ให้ข้อมูลต่อว่า เทคโนโลยี AI อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เห็นได้จากระบบการคัดแยกอีเมลที่ใช้ Machine Learning ระบบแนะนำสินค้าที่ตรงใจให้แก่ผู้ซื้อแต่ละคนในเว็บไซต์อีคอมเมอร์ซ หรือระบบการจดจำใบหน้าบุคคลที่ใช้บนโซเชียลมีเดีย เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยี AI  ทั้งสิ้น

     ในแวดวงธนาคาร เทคโนโลยี  AI ถูกนำมาใช้แยกธุรกรรมบัตรเครดิตที่น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริต ใช้สำหรับการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ที่เรียกว่า Robo-advisor และการชำระเงินด้วยระบบการจดจำใบหน้า AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของธุรกิจต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งเอสซีบี อบาคัส ด้วยพันธกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำเอานวัตกรรมอย่าง AI มาเป็นกุญแจสำคัญในการวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูล เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบโจทย์ทั้งสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ณัฏฐกานต์ ครรภาฉาย ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายนิติบริการและกฎหมายดิจิทัล (ซ้ายสุด) และ อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Digital Ventures (ขวาสุด) ร่วมเปิดตัวบริษัท เอสซีบี อบาคัส

 

     ดร.สุทธาภาระบุว่าจุดแข็งของ เอสซีบี อบาคัส ที่เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย

  • ทรัพยากรบุคคล – มีทีมบุคลากรที่มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง
  • การสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ – ให้ความไว้วางใจในการเลือกโครงการภายในธนาคาร ที่มีผลกระทบเชิงบวกสูงต่อการปรับปรุงพัฒนาบริการของธนาคาร ทำให้สามารถนำมาศึกษา พัฒนา และต่อยอดเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ ได้
  • มีพันธมิตรระดับโลก – มีข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ในสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ทั้งยังมีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร คุณวิลาสินี พุทธิการันต์ และ ศาสตราจารย์ ดร. เบ็นจามิน แวนรอย มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ

    ปัจจุบันเอสซีบี อบาคัส มีโครงการที่อยู่ในมือที่พอจะประกาศให้ทราบได้ เช่น ในแอปพลิเคชัน SCB Easy บริษัทจะเข้าไปช่วยพัฒนาระบบการแนะนำการใช้บริการธนาคารหรือที่เรียกว่า Recommendation Engine ซึ่งทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าต้องการได้รวดเร็ว ตรงใจต่อลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึง ระบบบริการด้านสุขภาพที่จะนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT  เข้ามาช่วยส่งเสริมไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพ โดยใช้ AI ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันที่เหมาะสมเฉพาะแต่ละบุคคล เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าใส่ใจดูแลสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ เอสซีบี อบาคัส จะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบ Call Center ด้วยการนำ AI มาคาดการณ์ปัญหาของลูกค้าที่โทรเข้ามา เพื่อโอนสายไปยังผู้เชี่ยวชาญที่ตอบปัญหาได้ตรงจุด ช่วยยกระดับคุณภาพบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า 

    การเปิด เอสซีบี อบาคัส ทำให้เห็นภาพความพยายามของ SCB ในการรุกตลาดฟินเทคเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งนำเอาเทคโนโลยี ATM เข้ามาเปิดให้บริการเป็นรายแรกของประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2526  

 

     นวัตกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย (ประมาณ 40 ล้านเครื่องในปี 2558 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 ล้านเครื่องในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มถึง 80 ล้านเครื่องในปี 2564)  และกลไกการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังจะกลายเป็นกิจกรรมประจำวัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงผนึกกำลังกันจัดตั้งสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) เพื่อยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และเพิ่มความไว้วางใจในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้บริโภคไทย

     สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ได้รับอนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดจนเจรจาทำความตกลงในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทางสมาคมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 16 ราย ทั้งบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบัตรโดยสาร e-Money ประกอบไปด้วย:

1. บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด
2. บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
3. บริษัท เพย์สบาย จำกัด
4. บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด
5. บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
6. บริษัท ทีทูพี จำกัด
7. บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด
9. บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)​
10. บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
11. บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
12. บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
13. บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท บลูเพย์ จำกัด
15. บริษัท โอมิเซะ จำกัด​
16. บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

     ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) กล่าวว่า “การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สะท้อนถึงนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันในการเป็นสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ ในหลายประเทศ อาทิ จีนและอินเดีย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ล้ำหน้าไปไกลมาก และในประเทศเช่นสวีเดน สังคมไร้เงินสดก็กลายเป็นภาพแห่งความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ข้อดีของการไม่ใช้เงินสดต่างๆ อาทิ การลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงในการครอบครองเงินสด ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนทำให้ลดความเสี่ยงจากการคอรัปชั่น”

     สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) จะคอยผลักดันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคไทยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้ สมาคมก็จะคอยกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางธนาคารแห่งประเทศไทยและนโยบายภาครัฐ และจะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมธุรกิจชาวไทย

     ปุณณมาศกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมหวังว่าผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ได้ตระหนักและเปิดใจรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอย่างแท้จริง และยังมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย เพราะภาครัฐและทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงมากำกับดูแลธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่าสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ทั้ง 16 ราย เป็นผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาติประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง และมุ่งเน้นให้บริการผู้บริโภคด้วยบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล”

 

บล็อกเชน (Blockchain) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรับรองความถูกต้องให้กับบิทคอยน์ (Bitcoin) ระบบสกุลเงินที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมการเงินอย่างมากเมื่อปี 2008 (พ.ศ. 2551) แกนหลักของเทคโนโลยีนี้คือการกำจัดระบบควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจากส่วนกลางด้วยการนำเสนอเครือข่ายแบบกระจายที่มีข้อกำหนดและกฎระเบียบในแบบฉบับของตัวเอง

ผลสำรวจ Financial Services Technology 2020 and Beyond: Embracing disruption โดยบริษัท PwC Consulting พบว่า ใน พ.ศ. 2563 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial Services) ทั่วโลก

โดยจากผลสำรวจพบว่า มี 10 เทคโนโลยีสำคัญที่จะมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและหน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่

1. เทคโนโลยีทางการเงินจะขับเคลื่อนธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ (FinTech will drive the new business model) ความต้องการบริการด้านฟินเทคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย (Consumer Banking) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ทั้งธนาคารขนาดใหญ่และผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพหันมาจับมือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

2. เศรษฐกิจแบ่งปันจะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน (The sharing economy will be embedded in every part of the financial system) อิทธิพลจากกระแสเศรษฐกิจแบ่งปันจะขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้น สถาบันการเงินควรพิจารณาโอกาสในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพและราคาถูกลงกว่าเดิม

3. บล็อกเชนจะปฏิวัติโลกการเงินยุคใหม่ (Blockchain will shake things up) ระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมและเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ หรือ Blockchain จะกลายเป็นส่วนที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจการเงินและนำไปสู่โลกการเงินยุคใหม่ จากศักยภาพของ Blockchain ที่สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนการให้บริการและเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำธุรกรรม

4. ดิจิทัลจะกลายเป็นกระแสหลัก (Digital becomes mainstream) ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคจะขยายวงกว้างไปอย่างหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงการลงทุนผ่านหุ่นยนต์ที่ปรึกษา ระบบควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค รวมถึงระบบการชำระเงินและธุรกรรมด้านความปลอดภัยต่างๆ 

5. ระบบลูกค้าอัจฉริยะจะเป็นตัวกำหนดการเติบโตของรายได้และการทำกำไรที่สำคัญที่สุด (Customer intelligence will be the most important predictor of revenue growth and profitability) สถาบันการเงินต้องนำเทคโนโลยีการประเมินผลข้อมูลขั้นสูงมาวิเคราะห์พฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ซื้อ และทำให้สามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตได้ง่ายขึ้น

6. ความก้าวหน้าของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and artificial intelligence) จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การกลับขึ้นฝั่ง” (Re-shoring) หรือการกลับเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ในอนาคตวิทยาการของหุ่นยนต์และความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้บริษัทที่เคยย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า สามารถย้ายกลับเข้ามาลงทุนในประเทศของตนได้

7. ระบบคลาวด์แบบสาธารณะจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานต้นแบบ (The public cloud will become the dominant infrastructure model) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าวงการอุตสาหกรรมบริการทางการเงินจะหันมาใช้ระบบคลาวด์แบบสาธารณะ หรือ ระบบคลาวด์ที่เปิดให้แต่ละองค์กรเช่าใช้บริการโดยอาจจะจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือรายปีแก่ผู้ให้บริการ (Third-Party) ซึ่งจะเป็นผู้ติดตั้งทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเก็บรักษามากขึ้น

8. ภัยไซเบอร์จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของสถาบันการเงิน (Cyber-security will be one of the top risks facing financial institutions) การรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญที่สถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องคำนึงถึงในอนาคต เป็นความท้าทายของหน่วยงานเหล่านี้ในสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า

 

9. เอเชียจะเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ของโลก (Asia will emerge as a key centre of technology-driven innovation) ในปี 2563 ทวีปเอเชียจะมีสัดส่วนจำนวน “ชนชั้นกลาง” มากกว่าทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป นอกจากนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรโลกถึง 1,800 ล้านคนจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาในทวีปแอฟริกาและเอเชียมากขึ้น ซึ่งนี่จะกลายเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจของสถาบันการเงินในภูมิภาคเหล่านี้

10. หน่วยงานกำกับดูแลจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Regulators will turn to technology, too) หน่วยงานกำกับดูแลจะหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลมากขึ้น เพื่อดูแลและคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บริษัทต่างๆ ต้องมีระบบจัดเก็บข้อมูลและระบบการควบคุมความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ เพื่อให้การทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับเหล่านี้เป็นไปอย่างราบรื่น

PwC แนะนำว่า หากพิจารณาจาก 10 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกธุรกิจบริการทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า ภารกิจเร่งด่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน คือ การอัพเดตรูปแบบการดำเนินการของระบบไอทีองค์กรและลดความซ้ำซ้อนของระบบไอทีแบบดั้งเดิม (Legacy System) เพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

ผู้บริหารจะต้องมองหานวัตกรรมในการพัฒนาและปรับปรุงระบบไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่แผนกไอทีอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายและสนับสนุนการการทำงานของระบบเดิมต่อไป นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officers) และผู้บริหารระดับสูง ต้องเร่งคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับคู่แข่ง และตลาดที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยต้องสรรหาบุคลากรซึ่งมีทักษะสูงที่รู้ทันและตอบสนองต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งบรรจุแผนรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้ไป ธุรกิจจะต้องไม่รับมือกับความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เมื่อเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยร้ายนี้ด้วย 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

Page 10 of 10
X

Right Click

No right click