ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs สอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง
ดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of the Lao PDR : BOL) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และนายอาลุน บุนยง หัวหน้ากรมคุ้มครองธนาคารธุรกิจ BOL ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public : BCEL) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนางสายสะหมอน จันทะจัก ผู้อำนวยการใหญ่ BCEL เป็นผู้ลงนาม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่ใช้เงินสกุลกีบในการดำเนินกิจการเป็นเงินสกุลหลัก และต้องการเงินสกุลกีบไว้ใช้หมุนเวียนในกิจการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ในโอกาสการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2567
EXIM BANK ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ขยายความร่วมมือกับ BCEL ในครั้งนี้ โดยสอดคล้องเป้าหมายของ EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลกในระยะยาว ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งปัจจุบัน EXIM BANK ได้จัดตั้งสำนักงานผู้แทนใน CLMV ครบถ้วนแล้ว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมประเทศไทยในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนใน CLMV โดยสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในเวียงจันทน์เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2561
EXIM BANK พร้อมสานพลังพันธมิตรภาครัฐและเอกชนใน สปป.ลาว เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งผลักดันโครงการลงทุนของไทยใน สปป.ลาว โดย สปป.ลาว ถือเป็น Land Link เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกระหว่างไทย จีน และเวียดนาม ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง ประกอบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาว อยู่ที่ 1.6 ล้านกีบต่อเดือนหรือประมาณ 2,700 บาท ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายการเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน สิทธิพิเศษด้านภาษีและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิพิเศษทางการค้ากับต่างประเทศ จึงเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะไทย เข้าไปลงทุนในสปป.ลาว อย่างต่อเนื่องและมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โครงการลงทุนของไทยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจพลังงาน การเกษตร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว มีมูลค่ารวมกว่า 7,634.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไป สปป.ลาว 4,647.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก สปป.ลาว 2,987.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไป สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ขณะที่สินค้านำเข้าจาก สปป.ลาว ได้แก่ เชื้อเพลิง ผักผลไม้ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช และปูนซีเมนต์
“การขยายความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ BCEL ในครั้งนี้เพื่อร่วมกันสนับสนุนทั้งด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน ให้เกิดความแข็งแกร่งของ Supply Chain การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว เชื่อมโยงกับ Global Supply Chain โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน และโลกโดยรวม สร้างโอกาสการเติบโตของภาคธุรกิจในทุกระดับ รวมทั้งความกินดีอยู่ดีของประชาชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน“ ดร.รักษ์ กล่าว