×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

ข่าวการมาถึงของการระดมทุนรูปแบบใหม่อย่าง STO (Security Token Offering) ได้สร้างความตื่นตัวไปทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนีไม่พ้น อีกทั้งยังได้รับการคาดการณ์จากหลายสำนักว่าน่าจะเติบโตในหลักล้านล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทรัพยากรบุคคลในไทย ควรจะต้องเริ่มศึกษา สั่งสมความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้พร้อมตั้งรับต่อ STO หรือแม้แต่เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้เล่นคนสำคัญในระดับภูมิภาค

กาย นันต์ธนะ Developer และ Co-Founder บริษัท Mainnetus Blockchain Academy & Solution ได้ผ่านสนามการระดมทุนมาอย่างโชกโชน รวมถึงเคยออก ICO จริงๆ มาแล้ว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Blockchain และ STO ในประเทศไทย โดยตั้งใจให้เป็นภารกิจหลักของ Mainnetus เพื่อกระจายองค์ความรู้ทั้งในสถาบันการศึกษา การจัดสัมมนาหรือเวิร์คชอปที่ผู้เข้าร่วมได้ทดลองระบบ Wallet จริงๆ

จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราได้เผยแพร่ บทสนทนากับเขา ถึงความกระตือรือร้นต่อโครงการมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงกรณีศึกษาส่วนตัว ที่มีต่อ Blockchain และ STO

บทบาทของ Mainnetus

การเกิดขึ้นของ Mainnetus Blockchain Academy & Solution เป็นความตั้งใจในการสร้าง สถาบัน Pop-Up ขนาดย่อมที่มีทั้งความเป็น Blockchain Lab และศูนย์กระจายความรู้เรื่องเทคโนโลยี Blockchain ในประเทศไทย โดยได้เริ่มโครงการไปแล้วที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยถือเป็นการเริ่มถ่ายทอดความรู้สู่นักศึกษา ก่อนที่จะขยายสู่บุคคลทั่วไป รวมถึงบริษัทต่างๆ ในอนาคตอันใกล้

กาย ได้เล่าถึงเป้าหมายของ Mainnetus ไว้ว่า “เราตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพราะอยากจะให้ความรู้ ซึ่งไม่ได้ต้องการกำไรจากการจัดเลยครับ แต่มีเป้าหมายคือต้องการปูพื้นฐานให้เมืองไทยมี Blockchain Developer ที่เทียบเท่ากับเวียดนามเป็นอย่างน้อย ฉะนั้น เราเลยต้องมาเริ่มจากมหาวิทยาลัย แล้วก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าบริษัทอาจจะได้ประโยชน์ เมื่อวันนึงที่เขาจบไปก็อาจจะอยากมาสมัครงานหรือนึกถึง Mainnetus ก่อนก็ได้”

“แต่ที่สำคัญคือการจัดครั้งต่อไป ที่เราตั้งใจจะจัดในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยที่ผม มีกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ตั้งใจเชิญมาอย่างชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ เช่นกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คือผมอยากได้คนที่เข้ามาแล้วได้ประโยชน์จริงๆ ไม่อยากเห็นคนที่มาร่วมเฉยๆ แล้วนั่งหาว ฉะนั้น ความรู้ที่เราจะให้ ก็คิดไว้ว่าจะมีช่วงของการบรรยายสั้นๆ แล้วจากนั้นจะใช้การเรียนรู้ผ่านเวิร์คชอป ให้เขาได้ลองทำกันจริงๆ ให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกฝนตั้งแต่การเปิด Wallet เลย เพราะบรรดากลุ่มผู้บริหาร บางทีเขารู้ว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ไม่มีใครมี Wallet บางคนไม่กล้าเปิด บางคนงง แต่เราจะบอกว่าการเปิด Wallet นั้นเป็นสิ่งจำเป็น แล้วเราสอนให้ ผ่านการทดลองทำจริง แล้วตัวผมก็มีเหรียญอยู่แล้ว ก็ตั้งใจจะให้ใช้ลองโอนกันไปมา”

อีกโครงการที่สำคัญของ Mainnetus คือการผลิต Platform สำเร็จรูป ที่ทำให้การเข้าถึง Blockchain เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ทั้งยังตั้งรับกับการมาถึงของ STO โดยเฉพาะ “ตัว Platform ที่กำลังจะเสร็จ มันจะทำให้เห็นเลยว่า ตอนจะออก STO มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนึงข้างหน้าคุณสามารถมาใช้ได้ ไม่ว่าจะลองไปใช้ภายในโรงงาน ในบริษัทก่อนก็ได้ครับ แล้วเราก็ตั้งใจจะสอนอยู่แล้วว่า หากเห็น platform หน้าตาแบบนี้ คุณจะซื้อเหรียญยังไง ตรงนี้ก็เตรียมให้ลองทำ และเราคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมากครับ”

ความสำคัญของ STO และข้อแตกต่างต่อ ICO

จากประสบการณ์ของคุณกายที่ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภททั้งบริษัทประมูล บริษัทประกัน แอปพลิเคชั่นจองสปา บริษัทโฮลดิ้งในสิงคโปร์ รวมถึงมีประสบการณ์ในการใช้ Blockchain และทำ ICO ออก utility coin เพื่อจับจ่ายภายในเครือธุรกิจมาแล้ว ได้เล่ามุมมองต่อการระดมทุนในอนาคตว่า แม้ผลกระทบของระดมทุนแบบ ICO ต่อ IPO จะไม่ได้ชัดเจนขนาดพลิกวงการ แต่หาก กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ประกาศรับรอง STO ขึ้นมา เมื่อนั้น เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการระดมทุนอย่างชัดเจน, STO จะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ และจะกลายเป็นภาคบังคับที่จะผู้ประกอบการและนักลงทุนเพิกเฉยไม่ใช่

“ตอนผมทำ ICO ซึ่งทำเป็น Utility Coin ไว้ใช้ซื้อสินค้าและบริการในเครือบริษัทของผมเอง จริงๆ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะรวยจากการขายเหรียญด้วยซ้ำครับ ผมแค่รู้สึกว่าปัจจุบันหากใครจะออกเหรียญคุณควรจะต้องมีธุรกิจจริงๆ ก่อน แต่ถ้าหากต้องการระดมทุนล้วนๆ สำหรับ ICO ผมว่ามันหมดเวลาไปแล้วครับ เพราะข้างในนั้นมันมีโปรเจกต์รอระดมทุนที่ค้างไว้เต็มไปหมด เป็นหมื่นโปรเจกต์ บางคนถือเหรียญไว้ โดยไม่รู้ว่าเขาระดมให้อะไรด้วยซ้ำ ปัญหาสำคัญของการระดมทุน ICO คือมันเป็นเรื่องของความฝันล้วนๆ เรื่องของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก ไม่รู้ด้วยว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่จริง บางโปรเจกต์ที่ออกกันมา ผมว่าชั่วชีวิตก็อาจจะไม่ได้เห็นมันด้วยซ้ำ การที่ผมมีธุรกิจอยู่แล้ว มันทำให้เราได้ trust จากคนซื้อ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ”

“แต่ถ้าหากเป็นการระดมทุนแบบ STO ผมเห็นด้วยครับ เพราะมันคือการลงทุนจริงๆ มีพันธสัญญา มีการให้หุ้น มีเงินปันผล มีส่วนร่วมในธุรกิจ แค่มันอยู่บนระบบ ไม่ได้อยู่บนกระดาษเป็นใบๆ และมีเรื่องของ Cryptocurrency และ Blockchain เข้ามาเกี่ยวข้อง คือว่ากันจริงๆ มันก็คือการซื้อขายหุ้นดีๆ นี่เอง แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่การวาดฝันอีกต่อไป แต่จะกลับมาสู่พื้นฐานทางธุรกิจ ที่พึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งมันจะมีหนทางไปได้มากกว่า ด้วยความชัดเจนของมันแบบ IPO ผนวกกับความไร้ข้อจำกัดของเทคโนโลยีแบบ ICO แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องมีบริษัทก่อนอยู่ดีนะ”

จงใช้ประโยชน์จาก Blockchain อย่าให้ Blockchain ใช้ประโยชน์จากเรา

“อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนคือ Blockchain ช่วยคุณได้ยังไง” กาย กล่าวเสริมถึงข้อสังเกตที่ว่า แท้จริงแล้ว แม้ในระดับสากล ก็เกิดการเข้าใจผิดต่อประโยชน์ของ Blockchain, ICO หรือ ไอเดียของการระดมทุน

จากกรณีศึกษาจากประสบการณ์ส่วนตัว คุณกายเล่าให้ฟังถึงการทำงานกับ Blockchain ไว้ว่า “ผมเห็นด้วยว่าเราต้องเริ่มตื่นตัวเรื่อง Blockchain กันแล้วครับในเวลานี้ เพราะบางบริษัทยังไม่รู้จักเลย แต่สถาบันทางการเงินเขาใช้กันหมดแล้ว ที่สำคัญมากๆ เลยคือหลายคนยังคิดว่าประโยชน์จริงๆ ของมันเป็นเรื่องการระดมทุน หรือหนทางรวยเร็วอยู่ ซึ่งผมอยากบอกว่า ต้องตัดทิ้งเรื่องระดมทุนไปเลยครับ!”

“ที่ผ่านมา ICO ทำให้คนสนุกกับการระดมทุนที่ไม่มีจริง ทั้งคนออกเหรียญ คนซื้อเหรียญมันเหมือนสนุกกันอยู่ในฝันมากๆ แล้วคนก็ตื่นตัวมาก แต่ขาดความรู้ ผมว่าก็มีหมดตัวกันเยอะครับ ฉะนั้น ใครที่อยากรวยเร็ว หรือคิดเรื่อง speculate ผมว่าต้องคิดใหม่ก่อน ต้องคิดว่า Blockchain มันช่วยคุณได้ยังไงก่อน แล้วเดินทางนั้น อย่างตัวผม ก็รู้แค่ว่าถ้าวันนึงราคาในโลกมันล่มสลาย วันนั้น Blockchain จะยังอยู่ มันจะมาช่วยผมตรงนี้ ผมอยากให้มองตรงนี้เป็นพื้นฐาน ส่วนเรื่องราคาเหรียญ ถ้าหากว่ามันได้ก็ถือซะว่าเป็นโบนัส แต่ก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผมทำมันง่ายกว่านะครับ มันก็มีความยากของมัน เช่น ลูกค้าซื้อ Coin เพื่อมาจับจ่ายสินค้าบริการของผม แต่ผมก็ไม่สามารถสร้างทุกอย่างที่เขาอยากซื้อได้ แล้วพอลูกค้าใช้ Coin ตัวผมเองก็ต้องมีเงินสดสำรองเอาไว้ เพื่อจ่าย Supplier ซึ่งก็ไม่ง่ายครับ ...ผมมองว่า ก่อนหน้านี้ที่สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ หรือเยอรมัน ที่คนออก ICO กันไม่หยุดหย่อน เขาไม่ได้เอา Blockchain มาช่วยตัวเขาเองเลย แต่เขาช่วยให้ Blockchain มันเติบโตอย่างรวดเร็วต่างหาก… อะไรพวกนี้ เป็นเรื่องที่ผมว่าในประเทศเรายังขาดประสบการณ์และความรู้กันอยู่มากครับ”


เรื่อง : คุณากร วิสาลสกล

ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จัดการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาพิจารณาเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอและการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

                รายละเอียดโดยสรุปของเกณฑ์ที่จะออกมามีดังนี้

ผู้จะออกไอซีโอ Isuuer

ผู้ลงทุน Invester

ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล  ICO Portal ,ExChange, Broker, Dealer

-เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย

-มีแผนธุรกิจชัดเจน

-มีงบการเงินผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

-ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนชัดเจน

-เปิดเผยชุดรหัสคอมพิวเตอร์ (Source Code)

-เสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดย ICO Portal ทำหน้าที่คัดกรอง โครงการและทำ KYC ผู้ลงทุน

-ผู้ลงทุนสถาบัน ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ(Ultra High Net Worth) ลงทุนได้ไม่จำกัด

-กิจการร่วมทุน (Private Equity, Venture Capital)  ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาท

-วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 70% ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

-ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี

-มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

-สินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายเป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซึ่งได้รับความเห็นขอบจาก ก.ล.ต.

 ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบในการยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน็ได้ทันทีออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง Utiliy Token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์ หรือแต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.นี้

 ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมา อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างทางการและธุรกิจ

Page 2 of 2
X

Right Click

No right click