×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ภาคอุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความต่อเนื่องมานับครึ่งศตวรรษ และเมื่อมาถึงจุดที่เทคโนโลยีกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงไปแทบทุกวงการ อุตสาหกรรมของประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดโอกาสให้นิตยสาร MBA เข้าพบเพื่อรับฟังแนวทางมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตของประเทศเป็นแต้มต่อสำหรับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

กระทรวงฯ มีนโยบายอย่างไรในการสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำ พัฒนาองค์ความรู้ออกแบบ ผลิตและจำหน่าย

นโยบายเราชัดเจนอยู่แล้ว และรัฐบาลนี้ทำจริงจัง คือวันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ตอัพ ต้องเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้น ชุดมาตรการเรามุ่งไปทางนั้น เป้าหมายตอนนี้คือภาครัฐ เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ สสว. ทั้งหลาย ทำงานด้วยกัน เพื่อเปิดทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีทักษะที่จะใช้ และรัฐก็ดูแลส่งเสริมให้เขาแข็งแกร่ง เรื่องทุนก็เป็นอีกด้านหนึ่ง ที่จะให้เข้าถึงเครื่องมือเครื่องจักร เป้าหมายเป็นแบบนี้ มาตรการที่ออกมาก็สอดรับกัน เช่น ในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี วันนี้เราลงไปถึงระดับชุมชน เพราะวันนี้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งก็เปิดให้ระดับชุมชนเข้ามาใช้ได้ เราอาจจะดู Simple นั่งอยู่กรุงเทพแต่สำหรับชุมชนสามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ ได้ด้วย ดีไซน์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติง

กระทรวงฯ มีการปรับโครงสร้างการสนับสนุนอย่างไร
วันนี้ผมมีศูนย์อุตสาหกรรมภาค ทั้งหมด 10 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพ ที่กล้วยน้ำไท วันนี้เราปรับให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับกลุ่มจังหวัด ศูนย์ฯ วันนี้ไม่ได้ทำแต่หน้าที่แค่ออกไปตรวจโรงงาน ควบคุมดูแลเรื่องมลพิษ แต่ที่เสริมเข้ามาใหม่ คือหน้าที่ในเรื่องส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยี เราเรียกว่าเป็นแล็บหรือโรงงานต้นแบบมีเครื่องมือทั้งหลายไม่ว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือพวกจักรกล ออโตเมชัน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้ได้ มีที่ปรึกษา เราก็รู้ว่าในระดับชุมชนมีสินค้าดีๆ เยอะ แต่พอไปแล้วของไทยไปไม่ถึงฝั่งเพราะแพ็กเกจจิ้งของเราสู้เขาไม่ได้ ศูนย์พวกนี้ก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือเรื่องดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง และทำต้นแบบให้ดูเลยว่าอย่างนี้นะ สมมติพื้นที่ 150 ตารางเมตรจะมีทุกศูนย์ตอนนี้ทำเสร็จไปครึ่งหนึ่งคือ 5 ศูนย์ เพื่อให้ยั่งยืนเราเชิญชวนผู้-ประกอบการรุ่นใหญ่ Big Brother มา อย่างที่ศูนย์กล้วยน้ำไท เดนโซ่เข้ามา เขาปรับปรุงใหม่หมดเลย เขาเอากระบวนการผลิตจำลองสำหรับเอสเอ็มอีที่เดนโซ่เขาพัฒนาโดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นมาตั้งเลย เป็นระบบออโต-เมชันซึ่งเดี๋ยวจะโยงไปมาตรการที่สองเรื่องหุ่นยนต์และออโตเมชันและการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ตอนนี้เราไปโยงกับโครงการ Big Brother ประมาณ 50 ราย รวมถึงบริษัทไทยเช่น SCG ปตท. ผมมีศูนย์ 10 แห่งก็เชิญชวนเป็นกลุ่มมาช่วยกัน เหมือนพี่เลี้ยงสปอนเซอร์ให้ศูนย์ขณะที่คนของกระทรวงเข้าทำงานเต็มที่อยู่แล้วแต่ละศูนย์เป็นโรงงานต้นแบบ แต่แตกต่างกันได้ คือเราคุยในพื้นที่ก่อน ไม่ใช่ไปยัดใส่ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าต้องการอะไร ถ้าภาคเหนือเขาบอกว่าผมต้องการเป็น Food Valley เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องไปทางนั้น ถ้าอีสานบางที่บอกผมหนักวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่อง Packaging Design เครื่องไม้เครื่องมือก็ไปทางนั้น ถ้าตรงกลางอย่างกล้วยน้ำไท หนักเรื่องกระบวนการผลิต เพราะเอสเอ็มอีแถวนี้ค่อนข้างใหญ่แล้ว ก็ต้องออกไปเรื่องออโตเมชันเยอะหน่อย มิฉะนั้นการเข้าถึงก็จะช้า และวันนี้เทคโนโลยีไปเร็วมากถ้าเอสเอ็มอีต้องไปหาความรู้เอง ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และไม่กล้าลงทุน

กระทรวงมีมาตรการสนับสนุนด้านทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไร
ก็มามาตรการที่ 2 เรื่องของเงินทุน ถ้าเขาเข้ามาใช้ประโยชน์จากศูนย์ที่เรามี ได้รับคำแนะนำจาก Big Brother เขาก็จะบอกว่าแล้วผมเอาเงินทุนที่ไหนมาปรับเปลี่ยน เรามีมาตรการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ปล่อยเป็นระดับเอสเอ็มอีใหญ่จนถึงชุมชนระดับแสนเราก็ปล่อย แต่วัตถุประสงค์เดียวกันหมดคือเพื่อการปรับตัวสู่ 4.0 ดังนั้นเงินทุนมีพร้อมแต่ต้องมาคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว เราจะไม่ให้แต่เงิน เราจะผูก สมมติคุณจะไปซื้อเครื่องจักร เราจะมีพี่เลี้ยงดูแลไปด้วยในช่วง 3-4 ปีว่าเครื่องจักรติดตั้งโอเค และใช้เป็น พี่เลี้ยงก็คือ 50 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมนั่นเอง

ในเรื่องผลิตภาพ (Productivity) มีแนวนโยบายอย่างไร
เรื่องผลิตภาพเอสเอ็มอีต้องเข้าใจว่า เวลาเราพูดถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี จะเอาเทคโนโลยีมาใหม่ ในการผลิต แม้กระทั่งเอสเอ็มอีภาคบริการ สุดท้ายเป้าหมายคือ ยกระดับผลิตภาพของตัวเอง ซึ่งสะท้อนออกมาในด้านที่สำคัญมากๆ เช่น ต้นทุนที่แข่งขันได้ ในยุคของอินเทอร์เน็ต ดิจิทัล การจัดซื้อเปลี่ยน การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory) เปลี่ยน เอา Enterprise Software สำหรับเอสเอ็มอีมาใช้ และที่สำคัญถ้าพูดถึงกระบวนการผลิตออโตเมชัน ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ (Robotic) ต้องรู้แล้วว่าจะใช้ได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ต้องเอามาทุกราย
กระทรวงการมีโครงการใหม่ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมนี กลุ่มสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่อง Robotic Automation ขณะนี้มีประมาณ 8-10 มหาวิทยาลัย แนวทางคือเราเชิญเอสเอ็มอีให้เข้าโครงการ แบ่งเป็นหลายระดับ เราวางเป็นกลุ่มใหญ่ๆ
1. กลุ่มเกษตรแปรรูป เพราะอย่างไรประเทศไทยก็เป็นพื้นฐานเกษตร
2. กลุ่มผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซัพพลายเออร์ทั้งหลายและมีความพร้อมจะออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง
3. กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแต่เราต้องเริ่มวางพื้นฐานให้
เราเอาเข้ามา ที่ปรึกษาเราเข้าไปวินิจฉัยร่วมกันก่อนเลยว่า ของคุณนี่เทคโนโลยีระดับไหนเหมาะ เราก็ขอว่าต้องมาทำด้วยกันนะ มีโปรแกรมมีซอฟต์แวร์ที่จะมาช่วยวินิจฉัยแม้กระทั่งการเงิน เช่นที่เราคิดว่าต้นทุนที่จะลงจำลองขึ้นมาเลย เจ้าของต้องมานั่งกับเราว่าจริงไหม แล้วเครื่องมืออะไร ลงทุนเท่าไร ถ้าสมมติบอก 20 ล้านภายใน 3-4 ปี ถ้าเห็นตรงกัน มาตรการเงินทุนเราก็จะเข้าไปเสริมโครงการผลิตภาพเกิด วินิจฉัย ทุนมา ติดตามดูแล นี่ต้องรับเป็นเงื่อนไข ถ้าไม่อย่างนี้ เราไม่เอา อย่างน้อยต้องปั้นให้ผ่านตรงนี้ และต้องมีเป้าหมาย อย่างโครงการนี้เป้าคือในปีแรก ถ้าพูดถึงต้นทุนต้องลดให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไม่ใช่ว่าต้องเข้ากี่รายต้องนับว่าทำได้กี่ราย ถึงเวลาต้องปฏิบัติ ก็ตั้งเป้าไว้ว่า 3 ปีแรก น่าจะเชิญชวนเอสเอ็มอีเข้าโครงการนี้ได้ประมาณ 10,000 ราย

กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณเท่าไร
ผมคิดว่าไม่เกิน 2 เดือนวินิจฉัยแล้ว ภายใน 3-4 เดือน Simulation เสร็จ ก็พอๆ กับแบงก์ แต่เราไม่ได้ไปแทนที่ธนาคาร วัตถุประสงค์เราคือมาเติมเต็ม และเราต้องส่งเสริมเขาว่าสุดท้ายต้องเข้าระบบธนาคาร เข้า VC ได้
ผมโยงไปอีกมาตรการ Financial Literacy เราทำร่วมกับธปท. สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ที่สำคัญที่สุดคือสมาคมธนาคารไทย ดังนั้นตามเครือข่ายศูนย์ที่ผมมีเราจับมือกันไป ในพื้นที่ให้นายธนาคารเขามาสนับสนุน ออกไปให้ทักษะ เพราะคนที่สอนเรื่องการเงินดีที่สุดไม่ใช่คนกระทรวง เพราะสุดท้ายเราต้องการให้เขากู้แบงก์ได้ ก็ไปสอนตั้งแต่ทำไมต้องมีบัญชีเดียว เราก็มีเป้าหมายว่า ให้เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียว ให้จดนิติบุคคล อย่างเรื่องเงินกู้ไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลทันทีแต่เราจะบอกว่าถ้าเราให้การสนับสนุนขอว่าภายใน1-2 ปีแล้วแต่กรณี จดทะเบียนนิติบุคคล นี่พูดถึงรายเล็กที่ยังไม่ได้จดนะ แล้ววันนี้จดทะเบียนนิติบุคคลกระทรวงพาณิชย์เขาจด 48 ชั่วโมงก็จดได้ และไม่ต้องใช้ 7 คนแล้ว ถามว่าทำไปทำไม เพราะไปสอดรับว่า ในเรื่องการเงินคุณจะเข้าระบบ กระทรวงการคลังก็เป็นระบบในเรื่องฐานภาษี ทุกอย่างก็ไปด้วยกัน

สถาบันการศึกษาจะอยู่ส่วนใดในมาตรการเหล่านี้
กลับไปที่โครงการเพิ่มผลิตภาพ โครงการนี้จะคู่ไปกับโครงการ Robotic and Automation ซึ่งเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ ดังนั้นในโครงการนี้ เราใช้กลไกที่เรียกว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรบอต CORE (Center of Robotic Excellence) แต่ละศูนย์คนที่ดูแลเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา มี 8 ศูนย์ทั่วประเทศไทย ตรงกลางอาจจะมากหน่อย นี่คือเครือข่าย คนจาก CORE สภาอุตสาหกรรม เอาตัวจริงเข้าไปมีเรื่องของวิทยาการเข้าไป ขณะเดียวกัน CORE ก็กลับไปที่คำถามว่าเมื่อไรคนไทยจะสร้างอะไรเป็น นี่ผมแค่พูดเรื่องใช้ โครงการหุ่นยนต์นี่จะทำเรื่องสร้างด้วย เพราะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หมายความว่าคนไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้เอง วันนี้เรานำเข้าหุ่นยนต์มูลค่าประมาณแสนกว่าล้านบาทที่จำเป็นต้องใช้นะครับ ตรงนี้คนไทยทำได้เองเยอะมากผลิตเครื่องจักร ชิ้นส่วนได้ระดับหนึ่งเลย และสองผลิต System Integrator ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นบุคคลไม่ใช่บริษัทใหญ่ System
Integrator เป็นคนศึกษาและบอกผู้ประกอบการว่าโรงงานคุณต้องใช้ Automation System ไหนบ้าง จากเจ้าไหนบ้าง เวลาสั่งซื้อของคนนี้เป็นคนสำคัญ วันนี้ประเทศไทยมีอยู่แค่ 400 คน เป้าหมายหนึ่งปีจากนี้ไปเราจะมี 1,200 คน นี่คือการพัฒนาการสร้างหุ่นยนต์ Robotic Automation System ในประเทศ เราเริ่มอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยเรามองเรื่องสร้างคนไปพร้อมกัน นี่คือยึดโยงโจทย์สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายคู่ขนาน เพราะเอสเอ็มอีจำนวนมากก็อยู่ในคลัสเตอร์ ถ้าเราต้องการส่งเสริมก็ต้องพัฒนาคู่กันเพื่อให้ตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง นี่เป็นวิธีที่เราทำวันนี้ เสียเวลานิดหนึ่งตอนแรกที่ต้องมาออกแบบให้ยึดโยงกันและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่ปัญหาของประเทศไทยที่เราสังเกตมาตลอดคือเรื่อง Content
เราก็ต้องเริ่ม อย่างหุ่นยนต์ CORE เขารู้อยู่เขามีองค์ความรู้ หน้าที่เขาคือมาดูว่าประเทศไทยทำตรงไหนได้อย่างไร และอนาคตจะเอาอย่างไร เซนเซอร์ยังไม่ได้วันนี้ 5 ปีข้างหน้ามาพูดกันสิว่าทำได้ไหม และจะต้องส่งเสริมอย่างไร พูดถึงส่งเสริมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทุกคลัสเตอร์เป้าหมาย เราคุยกับ BOI ใกล้ชิดมาก วันนี้มีว่าถ้าบริษัทไหนที่ลงทุนเรื่องหุ่นยนต์ BOI ให้สิทธิพิเศษอย่างไร ก็คือมาทั้งแพ็กเกจ 10 อุตสาหกรรมมีโรดแมปหมด กระทรวงเป็นคนประสาน ผมเอาเข้าครม.หมด ตอนนี้ยังไม่ครบ เข้าครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ผูกพันที่ต้องสนับสนุน

แนวทางการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีอย่างไร
สิ่งที่ทำ เอาญี่ปุ่นเป็นเคสจริงๆ เลย รมต. METI พูดเองเลยว่า วันนี้ประเทศไทยอย่างไรเขามองว่าเป็น Strategic Partner ของเขา โดยที่ตั้งโดยความคุ้นเคย แต่ด้วยเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวง ญี่ปุ่นก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน เขาก็ต้องดูแลว่าพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยรวมถึงระดับเอสเอ็มอีไปด้วยกันนะ เราไม่ได้ดีลกับเขาคนเดียวแต่เราใกล้ชิดเป็นพิเศษ และโดยเทคโนโลยีวันนี้ต้องยอมรับว่านวัตกรรมใหม่ๆ เกิดจาก SME ไม่ใช่รอบริษัทใหญ่ เมื่อก่อนเป็นแบบนั้น บริษัทใหญ่ทุนหนาสร้างนวัตกรรม อย่างที่ว่าเก็บเทคโนโลยีไว้ วันนี้ภาพเปลี่ยนแล้ว เอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพสามารถคิดของใหม่แล้วขายกลับยังได้เลย เขารู้แล้วว่าเขาต้องมาช่วยบ่มเพาะเอสเอ็มอีในประเทศไทยเหมือนกัน ดังนั้นการแชร์ แน่นอนอาจจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าใจว่าเขาลงทุนมาเป็น 10-20 ปี เทคโนโลยีบางอย่างเขาไม่สามารถให้เราได้ทันที แต่วันนี้ผมเชื่อว่าเปิดขึ้น เรามีโครงการอีกโครงการ Technology Transfer ในรูปแบบที่ Practical ภายใต้ข้อตกลงเป็นทางการ ญี่ปุ่นมี แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีและรายใหญ่เชื่อมกันวัตถุประสงค์ตรงนี้คือแชร์เทคโนโลยี ชื่อ J-GoodTech.com เรากำลังสร้าง ThaiGoodTech.com เป็น B2B ไม่ใช่ B2C แลกเปลี่ยนกันตรง แต่ไม่ใช่แค่เอสเอ็มอีกับเอสเอ็มอี บริษัทใหญ่ที่เราจะเชื้อเชิญ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน บริษัทใหญ่ทางญี่ปุ่นเขาก็เห็นแล้วเอสเอ็มอีไทยเดี๋ยวนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เอสเอ็มอีทางนี้ก็เห็นแล้วว่าเขามีเทคโนโลยีอะไร จะเกิดการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อก่อนไม่มีท่อนี้ เขาก็ไม่เห็นเอสเอ็มอีไทยเก่งๆ มีศักยภาพสูง วันนี้จะเห็นเลยเพราะเราเอาข้อมูลขึ้น และเขาติดต่อตรง ThaiGoodTech คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 2 ของปีนี้

ผู้ประกอบการจะเข้าร่วมได้อย่างไร
เราจะเป็นคนเชิญ เรามีอยู่แล้วและนี่ไม่ใช่แต่กรุงเทพ เราสั่งการไปทั่วประเทศ ผ่านศูนย์ ตอนนี้เราทำข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมกับหอการค้า คัดเข้ามา ที่จะขึ้น ThaiGoodTech รู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอย่างไร ในพื้นที่ของท่านอะไรเด็ดก็มาหารือกันก่อน แล้วเชิญต้องโค้ชเขาเหมือนกัน จะขึ้น ThaiGoodTech ติดต่อ J-GoodTech คุณต้องมีข้อมูลอย่างไร คุณต้องระดับไหน เป็นการส่งเสริมในตัวถ้าเราทำให้ติดได้ในแง่การตลาดให้คนอยากขึ้น นี่ B2B นะไม่ได้ให้ขายของ และให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ระดับเอสเอ็มอีจับมือกันเอง เป็นการกระตุ้นเขาออกสู่ตลาด

เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ EEC
EEC ประเด็นที่ผมมักจะคุยกับหลายคนเสมอ คือ EEC เป็นโครงการซึ่งถูกพัฒนาให้ขับเคลื่อนเรื่องการปรับเปลี่ยนประเทศ แล้วว่าทำไมต้องไปทำตรงนั้น เพราะว่าต้องการทำให้เป็นรูปธรรม ตรงนี้ทำได้เพราะมีฐานเดิมอยู่แล้ว แต่เราต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น ต่อยอด และเราต้องการสร้างเอสเอ็มอีใหม่ด้วย EEC เป็นก้าวแรกที่จะยกฐานตรงนี้ขึ้นมา

ประเด็นที่สองไม่ใช่เรื่องอุตสาหกรรมเท่านั้น ทุกโครงการใน EEC แม้จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่คิดในองค์รวมหมด (Holistic) เป็นเรื่องการสร้างฐานความเจริญ อุตสาหกรรมแน่นอนมีบทบาทสูง สร้างเมืองใหม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ เรื่องของคน ผู้ประกอบการเราจะใช้ EEC เป็นพื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ตรงนั้น สถาบันการศึกษาแข็งๆ มีอยู่เยอะ ดังนั้นเป็นภาพองค์รวม ระบบโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนอยู่แล้ว รถไฟไม่ใช่แค่ตัวรถไฟเอง ผ่านตรงไหนเมืองใหม่มีโอกาสเกิด ไม่ใช่ไปรองรับอุตสาหกรรมเฉยๆ และเราคิดโยงกับระบบคมนาคมทั่วประเทศออกสู่เพื่อนบ้าน
ดังนั้น เราเริ่มจาก EEC จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดฐานความเจริญใหม่ในหลายๆ ด้าน ประชุมล่าสุดคณะกรรมการที่มีนายกฯ เป็นประธานก็มีมติให้เริ่มขยายพื้นที่ได้แล้ว จะใช้เวลา 4 เดือนทำการศึกษาจังหวัดโดยรอบ สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว บางคนถามทำไมสระแก้ว ไม่เห็นมีอุตสาหกรรมเท่าไร นี่คือประเด็นเลย สระแก้วเป็นเรื่องของประชาชนที่เราต้องการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ผมใช้คำว่าครอบคลุมและทั่วถึง สระแก้วไม่ใช่ระยอง ไม่ใช่ฉะเชิงเทราจันทบุรีที่มีอุตสาหกรรมมีผลไม้ แต่ถามว่าสระแก้วต้องเอาเขาเข้ามาไหม ถ้าพูดถึงช่องทางค้าขายลงทุนเขาเป็นทางออกกัมพูชา รถไฟวันนี้เราคิดไปถึงตรงนั้น เส้นนั้นต้องทำแล้ว ฉะนั้นคิดในกรอบใหญ่และคิดแบบ Inclusive นี่คือ EEC ที่กำลังจะเกิด
ขอกลับไปประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตัวอย่างอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะเกิดที่ EEC คือ การบำรุงซ่อมสร้างอากาศยาน MRO (Maintenance Repair Overhaul) แอร์บัสจับมือกับทีจีจะลงทุนสร้าง MRO แต่ไม่เพียงเท่านั้น จะสร้างคู่ขนานคือคลัสเตอร์ของชิ้นส่วน อุปกรณ์อากาศยานซึ่งคนไทยสามารถทำได้เอง นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เขาต้องถ่ายทอดมา เพราะเป็นเงื่อนไขของเราว่าไม่ใช่คุณมาลงทุนแค่ MRO ซึ่งเขาอยากทำด้วยอุตสาหกรรมตรงนี้ นี่เป็นเอสเอ็มอีจะไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะมาทำ จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีคลัสเตอร์ที่จะเกิดแถวอู่ตะเภา เราผูกเป็นแพคเกจมาต้องมาด้วยกัน

ICO กับอุตสาหกรรมไทย

ในฐานะที่ ดร.อุตตม มีพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในธุรกิจการเงินมายาวนาน MBA จึงสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในโลกทุกวันนี้นั่นคือ ICO (Initial Coin Offering) ว่าจะสามารถนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในระดับใด
ดร.อุตตม มองว่า “ผมคิดว่าต้องแยกเป็น 2 เรื่อง หนึ่ง คือพื้นฐานที่ว่า วันนี้ถ้าพูดถึง สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการใหม่ หลีกไม่พ้นที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นจะมากจะน้อยก็ต้องรู้ เพราะประเดี๋ยวมาเคาะประตูถึงบ้านแล้ว นั่นเรื่องหนึ่งว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มเข้าใจ
ประเด็นที่สอง คือในเชิงปฏิบัติ ว่า ถ้าเราพูดถึงสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลาง ก็ต้องการทุนที่จะโต การเข้าถึงทุนวันนี้เปิดกว้างขึ้น VC (Venture Capital) คือแนวทางเดิม แต่วันนี้มี Crowdfunding วันนี้มา Cryptocurrencies ซึ่งวันนี้ต้องพูดกันตามตรงว่ายังมีความสับสน ความไม่เข้าใจอยู่พอสมควร ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย ในหลายที่ว่า คืออย่างไรแน่ รู้แต่ว่าน่าจะใช้ระดมทุนได้ และผลตอบแทนดูเหมือนสูงมาก ตรงนี้ผมคิดว่าแน่นอนเปิดโอกาส แต่ประเด็นที่สองอยากจะเรียนคือ ต้องเรียนรู้และใช้ด้วยความระมัดระวัง คือนวัตกรรมเป็นของใหม่ นวัตกรรมมีทั้งที่ดี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงมาด้วยต้องระมัดระวังในกรณีนี้ ในการใช้ยังใหม่มาก
อย่างวันนี้ในประเทศไทยเอง ผู้กำกับดูแลก็ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าเป็นหลักทรัพย์ประเภทไหน คุณจะระดมทุนระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ ยังไม่ชัดเจนว่าประเภทไหน และอะไรในแง่ของมูลค่าที่ Support จริงๆ จะประเมินราคาอย่างไร นี่เป็นเพียงยกตัวอย่างว่ามันมีความซับซ้อนเรื่องนี้อยู่
เพราะฉะนั้นถ้าผมเป็นสตาร์ตอัพเป็นเอสเอ็มอี ผมจะเรียนรู้แต่ไม่ใช่กระโดดใส่เพราะว่า ด้วยความที่เราไม่รู้ Cryptocurrencies โดยธรรมชาติซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าอย่างไรจะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ในฐานะภาครัฐ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ต้องยอมรับทุกอย่างเป็นไปได้หมดในโลกปัจจุบัน แต่วันนี้ถ้าถามผมว่าควรให้เกิดไหม ผมยังไม่ตอบ เพราะอย่างที่เราคุยกันตอนต้นเราต้องดูให้ชัดว่าความเสี่ยงคืออะไรและวันนี้รัฐกำลังออกกฎเกณฑ์อะไร ถ้าจะให้ตอบว่าควรไหมผมยังไม่ตอบ ควรเข้าไปศึกษาไหมผมว่าควร แต่ถ้าฟันธงว่าทำเลย ผมว่ายังไม่ใช่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การดูแลให้รอบคอบเป็นสิ่งสำคัญมาก นวัตกรรมมีประโยชน์แต่นวัตกรรมโดยตัวมันเองต้องดูให้รอบคอบทุกกรณี โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและการเงิน
ผมไม่ต่อต้านนะ แต่จากประสบการณ์ บริหาร Private Equity มา แบงก์ก็ผ่านมา มาอยู่ภาครัฐถึงเห็นว่า ต้องดูแลในทุกด้าน แล้วจะไปได้อย่างยั่งยืน”

 

อิศราดร หะริณสุต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บ.โอมิเซะ จำกัด ผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ และเป็นผู้ออก ICO ที่ฮือฮาเมื่อปีที่ผ่านมา ในชื่อ Omise Go (OMG) ให้ความเห็นว่า ปีที่ผ่านมามีการพูดถึง Cryptocurrency กันในวงกว้าง และคิดว่าปีนี้ตลาดน่าจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น รัฐบาลหลายแห่งเริ่มสนใจทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย มีตลาดแลกเปลี่ยนที่ได้รับการรับรอง ขณะที่ในประเทศไทยหน่วยงานกำกับดูแลก็ให้ความสนใจติดตามเรื่องนี้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด เพราะโลกของ Cryptocurrency มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก  

ในส่วนของโอมิเซะ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการจะรุกเข้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่เมื่อเห็นความต้องการด้านระบบชำระเงิน เพราะการทำอีคอมเมิร์ซ ปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือการชำระเงินของลูกค้า หากมีขั้นตอนที่มากมายก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าได้ กลายเป็นที่มาของการทำธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ของโอมิเซะ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 

แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้มูลค่า (Value) ที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว อาจจะเป็นคะแนนสะสม ไอเท็มในเกม ไมล์สะสม มีเยอะแยะไปหมด แต่มีข้อจำกัดคือมูลค่าต่างๆ ใช้ได้ในแพลตฟอร์มของตัวเองเท่านั้น จะมีวิธีอย่างไรในการที่จะทำให้สามารถนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ หรือใช้ข้ามกันได้ เป็นที่มาที่เราไปโยงกับบล็อกเชนแล็ปที่เราตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2015 เราไม่ได้หยุดแค่การทำเพย์เมนต์เกตเวย์ แต่เรามองว่าในอนาคตเราสามารถมีอะไรที่ดีขึ้นได้”  

ตัว Omise Go ที่มีการ ICO ไปเมื่อปีที่แล้ว เป็นผลพวงของความต้องการพัฒนาระบบบันทึกบัญชีให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน และจะมาช่วยแลกมูลค่าที่มีอยู่มากมายในโลกดิจิทัลสามารถข้ามกันไปมาได้  

“Omise Go เหมือนเรากำลังสร้างอินเทอร์เน็ตของ payment ที่ใครก็สามารถมาใช้ได้ เป้าหมายคือการให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถมี Interoperability การแลกมูลค่าข้ามกัน เป้าหมายแรกที่เราตั้งไว้คือผู้ประกอบการที่เป็นกระเป๋าวอลเล็ต ส่วนใหญ่จะส่งเงินได้แค่ในเครือข่ายของตัวเองไม่สามารถส่งไปที่อื่นได้ เราสร้างเน็ตเวิร์กให้วอลเล็ตต่างๆ สามารถส่งมูลค่าข้ามกันได้ 

อิศราดรเล่าแผนงานที่วางไว้ว่า ในไตรมาสแรกคาดว่าตัวเน็ตเวิร์กที่เป็นแบบ Limited Mode จะแล้วเสร็จและภายใน 8-12 เดือน Decentralized Exchange Network (DEX) ก็จะเปิดตัวเป็นเครือข่ายสาธารณะ ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะเป็นบริษัทแรกในโลกที่จะไปถึงสปีดนี้ได้ คือไม่มีใครเคยทำมาก่อน เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ต้องมีการวิจัยเยอะ และเราได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างเยอะจากชุมชนทั้ง Ethereum Community เอง หรือ Vitalik Buterin, Joseph Poon ที่เป็นท็อปในวงการ ทำให้ตัวโปรเจกต์ Omise Go ได้รับเสียงตอบรับดีมาก เกินที่เราตั้งไว้”  

ในฐานะผู้ประกอบการที่ออก ICO และได้รับความสนใจอย่างมาก อิศราดรเล่าถึงเรื่องนี้ว่า ตอนที่เราระดมทุน เรากำหนดไว้ที่ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ภายในเดือนเดียวหรือเดือนครึ่ง มูลค่ารวมเกิน 1 พันล้านเหรียญ ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าโปรเจกต์ที่เราทำ คนให้ความหวังมาก เราจึงมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการส่งมอบสิ่งที่เราได้สัญญากับผู้คน และเราเชื่ออย่างยิ่งว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะเปลี่ยนฉากอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลกได้ 

 

การเงินโลกจะเปลี่ยนไป 

สิ่งที่โอมิเซะตั้งใจจะพลิกวงการการเงินโลก คือการลดตัวกลางทางการเงินลงไป เพื่อให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยง่าย  พลิกการจับจ่ายด้วยเงินสดสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริงด้วยเครือข่าย Omise Go ที่กำลังพัฒนาอยู่ 

“เนื่องจากบล็อกเชนมี Smart Contract การมี Smart Contract สามารถที่จะเอาตัวกลางออกไปได้ เพราะโดย Smart Contract โกงกันไม่ได้อยู่แล้ว ต้องทำตามเงื่อนไขอะไรบางอย่างถึงจะมีผล สิ่งที่เรากำลังทำคือ เราสามารถลดตัวกลางลงไปได้มากเลย ต่อไปในอนาคตการทำธุรกรรม บางเรื่องธนาคารอาจจะไม่มีบทบาทแล้ว หรือธนาคารอาจจะผันตัวเองมาเป็นดิจิทัลแบงก์ได้อย่างเต็มตัว เงินสดอาจจะหายไปเลย  

จริงๆ แล้วบางทีคนเราลืมไปว่า เงินที่เรามีถูกสมมติขึ้นมา เวลาเราเอาเงินไปธนาคารก็เป็นตัวเลข ธนบัตรที่เราถือเป็นแค่ตัวแทน เงินไทยเอาไปใช้ประเทศอื่นก็ไม่ได้มีค่าอะไร จริงๆ แล้วทุกอย่างถูก Tokenize เป็น Digital Form อยู่แล้ว แทนที่จะต้องพิมพ์แบงก์ออกมา ก็อยู่ในโทรศัพท์ อยู่ในฟอร์มอะไรก็ได้ และเงินสดก็มีต้นทุนเยอะ (เช่นค่าขนส่ง ค่ารักษาความปลอดภัย) และบิ๊กเดต้าก็มองไม่เห็น ระบบแบบนี้สามารถสร้างความโปร่งใสได้ โดยเฉพาะในบล็อกเชน รู้ที่มาที่ไปหมดเลย ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ 

เขาบอกต่อว่า การจะทำเช่นนี้ยังต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลคอยควบคุม เพราะโอมิเซะก็ไม่อยากจะเป็นช่องทางให้กับธุรกิจผิดกฎหมาย ดังนั้นบริษัทจึงสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนโดยกำลังผลักดันการพิสูจน์ตัวตนในรูปแบบดิจิทัลเช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยจะมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา เช่น ไบโอเมทริก ระบบจดจำใบหน้า การสแกนนิ้ว นำมาใช้ร่วมกันเพื่อความมั่นใจ โดย Omise Go ในฐานะเน็ตเวิร์กเพื่อส่งมอบมูลค่าต่างๆ จะเป็นเสมือนอินเทอร์เน็ตของเพย์เมนต์ 

อิศราดรมองต่อว่าในประเทศไทยที่ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนในบางกลุ่มอยู่ เทคโนโลยีนี้จะสามารถช่วยให้ทุกคนเข้าถึงได้  

คนปัจจุบันที่บ้านอาจจะไม่มีทีวีไม่มีอะไร แต่มีมือถือแน่นอน เราอยากจะทำให้คนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินโดยไม่ต้องไปธนาคารหรือตัวแทน อยู่บ้านก็สามารถเปิดบัญชีได้ เงินที่ไปเข้าอาจจะต้องมีตัวแทน แต่พอเข้าแล้วก็ไปอยู่ในนั้น Tokenize ไปเลย จะใช้บัตร จะใช้มือถือ คิวอาร์โค้ด ใช้ Face Recognition ไปตัวแทนสแกนหน้า อาจจะใช้โทรศัพท์ธรรมดา ไปจ่ายแล้วมีเอสเอ็มเอสวิ่งมา นี่คือสิ่งที่โอมิเซะมองอยากให้เกิดขึ้น เรามองว่ามูลค่าต่างๆ สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ ลองคิดดูต่อไป ไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต้องเอาเงินไทยไปซื้อเงินเยนแล้ว ไปแล้วใช้แอป คือสิ่งที่เราอยากทำให้เกิดขึ้น”  

อีกข้อดีที่อิศราดรมองคือ เมื่อการจับจ่ายเป็นดิจิทัล จะทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลจำนวนมาก ที่การใช้เงินสดอาจไม่เห็น ขณะเดียวกับก็ช่วยลดการหลอกลวงทางการเงิน การจี้ปล้น และเป็นช่องทางที่จะช่วยกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มรากหญ้าได้ สิ่งที่เราทำกันอยู่คือการต้องการคืนอำนาจให้กับทุกคน จะเป็นคนไหนก็ได้ในสังคม 

อิศราดร หะริณสุต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บ.โอมิเซะ จำกัด

ทำความเข้าใจ ICO  

อิศราดรให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำ ICO (Initial Coin Offering) ที่ Omise Go ทำไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมาว่า หลายองค์กรอาจจะมองว่าเป็นช่องทางในการะดมทุนแทนที่จะไประดมทุนตามปกติที่ต้องเสียหุ้นไป ซึ่งนั่นเป็นเพียงบางส่วนของ ICO  

“เพราะการทำ ICO ก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะนำเสนอ และเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนด้วย ซึ่งมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันอยู่ บางคนผมก็งงว่าโปรเจกต์แบบนี้ทำ ICO คือเขาคิดว่าการทำ ICO คือ Easy Money แต่จริงๆ ไม่ใช่ การทำ ICO คือการที่คนจะมาเชื่อถือเราได้มีหลายปัจจัยมากๆ ทั้งความน่าสนใจของโปรเจกต์ ความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ ความมั่นคงของโปรเจกต์ ทีมที่จะมาทำ และเทคโนโลยีนี้บอกเลยว่า คนในโลกมีที่เป็นมืออาชีพไม่กี่คน ไม่ใช่สิ่งที่ใครนึกอยากจะทำก็ทำได้ คือปัจจุบันใช้คำว่าบล็อกเชนพร่ำเพรื่อเกินไป กลายเป็นว่า บางธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีบล็อกเชนก็ได้ แต่พอบอกแล้วดูดี หรือสิ่งที่เขาพยายาม จะปรับใช้จริงๆ แล้วอาจจะไม่สามารถทำได้ก็ได้ คือผมบอกได้ว่าโปรเจกต์ ICO ส่วนใหญ่ก็เป็น Proof of Concept โพรดักส์จริงๆ ยังไม่มี ซึ่งก็เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพออกมา มีการทำ ICO แบบหลอกเงินคน ทำให้คนทำ ICO จริงๆ มีโปรเจกต์จริงๆ ก็ลำบาก  

ฉะนั้น ก็คล้ายๆ เวลามี IPO ต้องอ่านเอกสารดีๆ ลักษณะเดียวกัน การจะลงทุนในตลาดนี้ก็ต้องหาความรู้พอสมควร ไม่ใช่ว่าพอบอก ICO นี่ได้เงินคืนแน่ๆ

โอมิเซะก็มีกลุ่มที่เราปรึกษาหารือ ว่าจะทำอย่างไรให้คอมมูนิตี้ของเราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และพยายามปกป้องคอมมูนิตี้จากคนที่คิดไม่ดี ทำให้เราเสียภาพพจน์ เราทำงานร่วมกับ Ethereum Foundation ค่อนข้างใกล้ชิด เพื่อปกป้องชุมชนหรือมีอะไรให้ชุมชน เพราะบล็อกเชน เราไม่สามารถยืนกระต่ายขาเดียวทำ ต้องมีเพื่อน บล็อกเชน หรือ Decentralized ยิ่งเราให้มากเรายิ่งได้มาก ถ้าเราคิดจะรวบคนเดียวไม่โต จะแตกต่างจากโลกธุรกิจที่ผ่านมา”  

  

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ 

อิศราดรอธิบายวิธีการรักษาความเป็นผู้นำของบริษัทที่ตนเองและเพื่อนผู้ก่อตั้งโอมิเซะ (จุน ฮาเซกาวา)  ชอบคือความท้าทายทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ การที่ไม่หยุดเรียนรู้ การรับฟังมุมมองจากคนในหลากหลายแวดวง การมีทีมที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมและเป้าหมายในการทำงานแบบเดียวกัน มีความเชื่อในเป้าหมายของบริษัท  

ปัจจุบันเราเชื่อว่า ปลาที่เร็วกว่า กินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  ถ้าเราไม่พยายามสร้างนวัตกรรม หรือทำอะไรที่บ้าๆ ที่คนอื่นไม่คิดว่าจะทำได้  ถ้าเราชะล่าใจไปว่าฉันเจ๋งกว่าคนอื่น แล้วหยุดอยู่ที่เดิม เวลาเราวางแผน เราไม่ได้มองแค่ 1-2-3 step เราคิดไป step 20 เลยครับ ว่าจากตรงนี้จะพาเราไปถึง step 20 อย่างไรบ้าง นี่คือวิธีที่เราวางมาตลอด ระหว่างทางที่เราวางแผนไว้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่เราพร้อมไหมที่จะเปลี่ยน บางทีเดี๋ยวก็เจออะไร  คนที่ออฟฟิศนี้จะตกใจบ่อย อะไรวะ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วยังคุยอย่างนี้อยู่เลย  แต่ไม่ใช่เราเปลี่ยนเป้า แต่วิธีในการไปหาระหว่างทางเราอาจเปลี่ยนได้ตลอด เป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตมาอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้น เรายังมีผู้ใหญ่ และคนในวงการให้การสนับสนุน ต้องบอกเลย ถ้าไม่มีคนให้การสนับสนุน วีซี และ คอนเนกชันต่างๆ เราก็คงไม่มาถึงจุดนี้” 

ความชัดเจนในการออกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีบทบาทในการทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

จากกรณีที่กระทรวงการคลังได้ออกหนังสือเตือนนักลงทุนมาตลอดว่าสกุลเงินดิจิทัล ไม่ใช่สกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย การลงทุนมีความเสี่ยง

ตามด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิทัล) ทั้งการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายเพื่อประโยชน์ของสถาบันการเงินและหรือผลประโยชน์ของลูกค้า, การให้บริการรับแลกเปลี่ยน, การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นสื่อกลางทำธุรกรรมระหว่างลูกค้า, การใช้บัตรเครดิตในการซื้อ และการรับให้คำปรึกษาเพื่อลงทุนหรือการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency

จากนั้นมีความเคลื่อนไหวของ เจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจวีซี) บริษัทลูกของบริษัท เจมาร์ทจำกัด (มหาชน) ได้เปิด ICO (Initial Coin Offering)  ออก Cryptocurrency ที่มีชื่อว่า "เจฟินคอยน์" โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมทุนเงินดิจิทัลสำหรับนำมาเปิดตัวโปรเจคโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามกระแสของโลกยุคดิจิทัล

อย่างไรก็ตามในด้านของความชัดเจนในการออกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัลนั้น รพี สุจริตกุล เลขาธิการกรรมการในคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  กล่าวถึงการระดมทุนในรูปแบบ ICO อยู่ระหว่างการพิจารณาของ 4 หน่วยงานรัฐ โดยจะมีการพิจารณาเพื่อนำกฎหมายที่มีอยู่มากำกับ Cryptocurrency ซึ่งแนวทางในการกำกับดูแลเป็นเรื่องใหม่ และในปัจจุบันนี้ยังไม่มีประเทศไหนที่มีแนวทางในการกำกับดูแลได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้แนวทางกำกับดูแลการระดมทุนผ่านเงินสกุลดิจิทัลของก.ล.ต.นั้น กำลังศึกษาแนวทางเพื่อนำข้อสรุปเสนอสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

 

ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ กรรมการในคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  กล่าวถึงประกาศของธปท. ที่ไม่ให้สถาบันการเงินเข้าลงทุนในเงินดิจิทัลนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ขัดกันในนโยบาย

ซึ่งมองว่าธปท.ดำเนินการเพื่อเตือนไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น และบริษัทที่มีการระดมทุน ICO ก่อนที่เกณฑ์จะออกนั้น ก.ล.ต.ไม่สามารถห้ามไม่ให้บริษัททำธุรกิจได้ และยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการดูแล ดังนั้นผู้ที่จะออกต้องคำนึงถึงผลกระทบของราคาหุ้น หรือกิจการของบริษัทจดทะเบียนด้วย ซึ่งบริษัทต้องมีการกำกับดูแลความเสี่ยงด้วย

ในด้านของการพิจารณากฎเกณฑ์การควบคุมสินทรัพย์การลงทุนในรูปดิจิทัล หรือดิจิทัล แอทเซส ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีความเห็นให้ก.ล.ต.เป็นผู้ดูแลในการดำเนินการหาแนวทางควบคุม

ซึ่งดิจิทัล แอทเซส มีความคล้ายคลึงกับหลักทรัพย์ และสามารถซื้อขายในตลาดรองได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถนำพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เข้าดูแลได้ นั่นเพราะดิจิทัล แอทเซส ไม่ใช่หลักทรัพย์จึงต้องหาแนวทางโดยทำงานร่วมกับทีมกฎหมายของกระทรวงการคลังว่า จะใช้กรอบกฎหมายแบบใดที่จะให้ก.ล.ต.กำกับดูแล ทั้งในด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือ ธุรกิจนายหน้าการซื้อขาย ซึ่งในต่างประเทศ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์การดูแลดิจิทัล แอทเซส มาก่อน จึงต้องหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงดูแลกฎเกณฑ์ ICO เพื่อเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการก.ล.ต.ในเวลาต่อไป

ICO VS. IPO

February 05, 2018

ICO เป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้และเร็วๆ นี้ก็จะมีการออก ICO ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเกิดขึ้น ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงออกอินโฟกราฟฟิกเพื่อช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ICO โดยเปรียบเทียบกับ IPO ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีในตลาดทุน แม้ปัจจุบันเกณฑ์ในการกำกับดูแล ICO ยังไม่ออกมาแต่อินโฟกราฟฟิกชุดนี้ก็เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจ

ข่าวฮือฮาเกี่ยวกับมูลค่าของ Bitcoin เงินตราอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำนิวไฮให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในโลกการเงิน ที่มีทั้งมองเงินตราดิจิทัลในแง่บวกและลบ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของกระแส Cryptocurrency บนโลกใบนี้ไปได้

 

และในโลก Cryptocurrency นอกจาก Bitcoin ที่ครองตลาดอยู่กว่าครึ่งแล้ว ยังมีเหรียญดิจิทัลอีกกว่า 1,200 เหรียญในตลาดที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2560) เป็นเรื่องที่น่าดีใจเมื่อพบว่า หนึ่งในเหรียญที่อยู่ในตลาดนี้ มีเหรียญหนึ่งที่เกิดจากมันสมองของคนไทย ผู้มีความมุ่งมั่นกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency

 

Zcoin คือเหรียญที่เรากำลังจะพูดถึง แม้จะยังไม่โด่งดังเท่ากับ Bitcoin แต่ Zcoin ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า คนไทยมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่เว้นในสายเทคโนโลยีเข้มข้นอย่างเช่นในวงการ Crytocurrency และเมื่อได้รับโอกาสก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจออกมาได้

 

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา ZCoin ปัจจุบันยังเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.สตางค์ คอร์ปอเรชัน จำกัด มาเล่าเรื่องราวของ Zcoin และความเป็นไปของโลก Cryptocurrency ที่น่าสนใจนี้

ปรมินทร์เล่าเรื่อง Zcoin ว่า จุดเริ่มต้นมาจากขณะที่ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักศึกษาที่ไปเรียนต่อมักจะหางานพิเศษทำ โดยมีงานพิเศษในร้านอาหารเป็นที่นิยมของกลุ่มนักศึกษา แต่เขามองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะใช้สิ่งที่เรียนเกี่ยวกับ Information Security หรือการรักษาความปลอดภัยบนระบบสารสนเทศมาหารายได้ 

 

“ตอนนั้น Crytocurrency เป็นหนึ่งในตัวเลือกของผมเหมือนกัน Bitcoin เพิ่งเพิ่มมูลค่าจาก 300 เหรียญไปที่ 1,300 เหรียญ เป็นปรากฏการณ์ที่ออกข่าวทุกช่อง และทุกเว็บไซต์ คนในฝั่งผมที่เปิดเว็บไซต์ออนไลน์อยู่แล้วก็ได้ดูข่าว ผมก็เริ่มสนใจ Bitcoin และเริ่มศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะหาเงินจาก Bitcoin ได้ด้วยความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับ Information Security นั่นคือจุดเริ่มต้น ซึ่งพอเข้าไปศึกษา ผมก็มองว่า Bitcoin จะมีการขุด แก้โจทย์คณิตศาสตร์แข่งกันแล้วได้ Bitcoin ไป ผมก็เข้าไปคลุกคลีในช่วงเวลาหนึ่ง และมองว่าผมยังมีศักยภาพหรือมีความรู้ที่มากกว่าการทำแบบนั้น และมองว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมา จากการที่มีความรู้อยู่แล้ว และไปดูตัวซอร์สโค้ดของ Bitcoin ที่เขาโอเพ่นซอร์สอยู่แล้ว ก็เริ่มศึกษามาตั้งแต่ตอนนั้นและใช้หัวข้อนี้ในการจบปริญญาโทด้วย ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษา ก็ทำวิจัยทางด้านนี้ด้วย” 

 

หัวข้องานวิจัยสำหรับจบปริญญาโทของเขาจึงเป็นการทำธุรกรรมให้เป็นส่วนตัวบนบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Bitcoin และ Crytocurrency อื่น ซึ่งเขาก็สามารถทำได้เข้าตานักลงทุนจนมีผู้มาสนับสนุนด้านเงินทุนและทำเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เวลาทำประมาณ 1 ปี ในชื่อ Zcoin

 

ปรมินทร์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “สมัยก่อนคนที่จะสร้างเหรียญใหม่พยายามที่จะสร้างบล็อกเชนของตัวเอง Zcoin ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้มีคนต้องการสร้างเหรียญเยอะโดยเอาบิสเนสโมเดลต่างๆ มาจับ ซึ่งการสร้างเหรียญใหม่แล้วต้องมีความรู้ในด้านเทคนิคอลเยอะๆ ก็ค่อนข้างยาก ทาง Ethereum จึงมองว่า จะทำอย่างไรให้คนสร้างเหรียญสร้างได้ง่ายขึ้น เลยทำเป็นแพลตฟอร์มออกมา อำนวยความสะดวกโดยที่ขี่บน Ethereum อีกที ผมทำตัว Zcoin มาก่อน Ethereum จะปล่อยแพลตฟอร์มออกมา เป็นเหตุที่ทำไมผมใช้บล็อกเชนของตัวเอง แทนที่จะขี่บน Ethereum จริงๆ แล้วปัจจุบัน ในทีมงานของผมเองก็ยังมีการเขียนซีคอยน์อยู่บน Ethereum เหมือนกัน โดยใช้เทคโนโลยี Zcoin ที่ชื่อว่า Zero Coin ไปรันบน Ethereum ทำให้คนที่ใช้งาน Ethereum สามารถใช้งานเทคโนโลยีเดียวกันที่อยู่ใน Zcoin ได้” 

 

จุดเด่นของ Zcoin คือความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้คนอื่นได้รู้ว่าเป็นใคร ที่ทำการโอนเงินไปให้ผู้อื่น เช่น นักธุรกิจที่กำลังอยู่ระหว่างเริ่มต้นการร่วมธุรกิจที่ยังไม่อยากให้คู่แข่งทราบ เป็นจุดเด่นที่ Zcoin มาตอบโจทย์เรื่องนี้ซึ่งหากใช้ Bitcoin จะไม่สามารถทำได้ 

 

ปรมินทร์อธิบายว่า “Zcoin ทุกคนเห็นเหมือนกัน แค่ระบุไม่ได้ ยังมีทรานเซกชันเกิดขึ้นอยู่ แต่จากที่เคยระบุได้ก็จะระบุไม่ได้ แต่ทรานเซกชันก็ยังอยู่ในบล็อกเชนอยู่ ระบุที่มาไม่ได้ ใน Bitcoin ถ้าผมสามารถผูกบัญชีกับคนคนหนึ่งได้ นั่นหมายความว่าผมจะรู้แล้วว่าเขามีเงินเท่าไร ทำทรานเซกชันอะไรบ้าง เมื่อไร ผมจะรู้เลยว่าเขาได้เงินมาจากที่ไหนบ้าง และส่งไปที่ไหนบ้าง ซึ่ง Zcoin มีเรื่องของการไม่โชว์ที่มา คือผมสามารถส่งเงินไปที่ปลายทางได้โดยที่ปลายทางได้รับ แต่ไม่ได้ระบุที่มาว่ามาจากไหน” 

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Crytocurrency คือมูลค่าของเหรียญซึ่งเกิดจากการนำราคาของเหรียญคูณด้วยจำนวนเหรียญในระบบ โดยราคาเกิดจากการนำราคาซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนทั่วโลกมาเฉลี่ยกัน เช่น Zcoin มีตลาดที่อินโดนีเซีย อเมริกา จีน และยุโรป ก็นำทั้งหมดมาเฉลี่ยว่ามีมูลค่าต่อเหรียญเท่าไร แล้วคูณกับจำนวนเหรียญที่มี

ปรมินทร์ เล่าว่า “ตอนที่ทำไม่ได้มองว่าจะโตขนาดนี้ ก่อนหน้านี้มองว่าเกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ถือว่ามากแล้ว เพราะด้วยเงินทุนที่เราได้มาเรามองว่า 10-20 เท่าก็เยอะแล้ว แต่ปัจจุบันมูลค่า  มาอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้ แต่เราก็ยังมองว่ามันยังสามารถโตไปได้อีกไกล”

 

จากราคาเริ่มต้นที่เหรียญละ 6 เซนต์ ปัจจุบัน Zcoin มีมูลค่าต่อเหรียญอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐ และมีปริมาณเหรียญในระบบประมาณ 3 ล้านเหรียญ ติดอยู่ 1 ใน 100 เหรียญของโลก เห็นได้ว่ามีการเติบโตอย่างมาก ปรมินทร์อธิบายเรื่องนี้ว่า “พวกผมเองก็ได้อานิสงส์จาก Bitcoin ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซึ่งไม่ใช่นักลงทุนมือสมัครเล่น เงินถูกใส่มาในตลาด Crytocurrency มากขึ้นทำให้ Zcoin ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะการที่นักลงทุนอาชีพมาลงทุนในตลาด Crytocurrency เขาจะไม่ได้ลงแค่เหรียญเดียว แต่เขาจะจัดพอร์ตของเขาไป เพื่อลดความเสี่ยง” ในด้านการใช้งานเงินตราดิจิทัล ผู้ก่อตั้ง Zcoin บอกว่ายังมีคนนำเงินเหล่านี้ไปใช้ไม่มากนัก เพราะการนำไปใช้ต้องมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ร้านค้าต้องเข้าใจกลไกการชำระเงินที่แตกต่างจากระบบที่มีอยู่ เช่น เมื่อจ่าย Bitcoin จะต้องรอเวลาเพื่อให้ระบบทำงานประมาณ 10 นาที ร้านค้าแต่ละร้านต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ และต้องมีแรงกระตุ้นให้เข้ามาใช้งาน เช่น เมื่อเพิ่มการชำระเงินด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วจะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยเขามองว่า เขาเข้ามาได้ถูกจังหวะในช่วงที่ตลาดกำลังมีความสนใจ Crytocurrency รวมถึงผู้กำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ 

 

สำหรับการเลือกลงทุนในเหรียญดิจิทัลเหล่านี้ ปรมินทร์บอกว่า “ถ้าให้เซฟที่สุด คือแบ่งเป็น 3 ชั้น เสี่ยงน้อย เสี่ยงกลาง เสี่ยงสูง เป็นเรื่องการลงทุน เลือกท็อป ตรงกลางและท้ายๆ ไว้ อาจจะเอาลิสต์มาดู 1-10 เลือกสัก 1-2 เหรียญ 20-50 เลือกสัก 1 เหรียญ 50-100 อีกเหรียญ แค่นี้ก็พอแล้ว ผมมองว่าตั้งแต่ 150 ไปเริ่มเสี่ยงไป บางทีเขาทำขึ้นมาไม่ได้ซีเรียสกับเหรียญที่ทำ จะลงเหรียญอะไร ถ้าไม่อยู่ใน 1-10 ต้องศึกษาดีๆ เหมือนหุ้นบลูชิป ที่มีความมั่นคงกว่า 

 

ในแง่การใช้งาน ผมก็ยังแนะนำ Bitcoin เพราะเกิดมาก่อนเขา วอลุ่มในการเทรดค่อนข้างเยอะเกินครึ่ง เราสามารถเอาไปใช้ที่ประเทศไหนก็ได้ มีตลาดทั่วโลก เป็นตลาดใหญ่ที่สุดแล้ว ถือ Bitcoin ความเสี่ยงที่จะไปที่ประเทศนั้นแล้วเอาออกไม่ได้มีน้อยกว่า อารมณ์เหมือนถือยูเอสดอลลาร์กับเงินประเทศเล็กๆ”  

 

บล็อกเชนสังคมแห่งการตรวจสอบ

ปริมินทร์กล่าวถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนว่า มีความน่าสนใจแตกต่างจากซอฟต์แวร์ทั่วไป โดยยกตัวอย่างเช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ทั่วไปจะมีการทำกันอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับบล็อกเชนการทำเช่นนั้นทำได้ยาก “ในส่วนของบล็อกเชนเราจะอัปเกรดแบบนั้นไม่ได้ การอัปเดตหนึ่งทีอาจจะใช้เวลาเป็นปี เพราะว่าผู้ใช้งานกระจายอยู่ทั่วโลก และการที่เราขออัปเดต ก็จะเกิดกรณีที่ว่าคุณเป็นใครมาสั่งให้เราอัปเดตซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์ที่คุณให้เราอัปเดตมีความปลอดภัยมากแค่ไหน มีแบ็กดอว์ฝังไปบ้างหรือเปล่า คนอื่นก็ต้องการตรวจสอบด้วย และการเอาซอฟต์แวร์พวกนี้ไปรันบนฮาร์ดแวร์ขนาดเล็ก ตู้เอทีเอ็มต่างๆ นั่นคืออุปกรณ์เหล่านั้นก็ต้องอัปเดต ด้วย ซึ่งไม่สามารถสั่งให้อัปเดตทีเดียวได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เชื่อใจผม เขาก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ในบล็อกเชน ไม่มีใครเชื่อใจกันทั้งสิ้น เช่น Zcoin ประกาศว่าจะมีการอัปเกรดใน 3 อาทิตย์ข้างหน้า ซอร์สโค้ดเราปล่อยออกแล้ว ตัวซอฟต์แวร์เราปล่อยเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถนำไปรันได้เลย เพราะอีก 3 อาทิตย์ข้างหน้าอันเก่าใช้งานไม่ได้แล้ว มันไม่สามารถวันนี้เอาไปเลย”

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Page 7 of 8
X

Right Click

No right click