ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และการค้าระหว่างประเทศได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังประสบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G ได้เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จในยุค 4G มาแล้ว

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจผิดในสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงมากจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะสามารถนำเงินเข้ากระทรวงการคลังและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้นั้น กำลังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากราคาการประมูลสูงมากผิดปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่แพงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก จึงจะเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโทรคมนาคมสูงมากจนไม่สามารถที่จะ มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาประมูลได้ในอนาคตต่อไป

การแก้ไขกฎหมายและกฎการประมูลคลื่นความถี่ 5G กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือมูลค่าคลื่นความถี่สูงเกินไป อีกทั้งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความล่าช้าในการขยายโครงข่าย 5G อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จนเป็นสาเหตุให้ขีดความสามารถของประเทศก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ

ผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศได้หันมาสนใจประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยมีแนวคิดที่จะใช้หลักการในการบริหารคลื่นความถี่ด้วยการใช้เทคนิคใหม่เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่มีราคาที่สูงมาก ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุค 5G อีกต่อไป เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้กับระบบ 5G นั้นมีความต้องการอย่างต่ำถึง 100 เมกะเฮิรตซ์ต่อหนึ่งโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่เคยใช้มาเป็นเวลานาน นับ 10 ปี ก็อาจจะทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงเกินไปจนไม่สามารถที่จะทำให้เกิดระบบ 5G ได้เลย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศได้ตระหนักแล้วว่า อุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถขยายโครงข่าย 5G ได้นั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้อีกต่อไป

ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้เริ่มต้นทดสอบการให้บริการรถไฟใต้ดิน โดยผู้โดยสารจะต้องเดินไปที่ชานชาลาและใช้ใบหน้าหรือเสียงเพื่อที่จะทำการจ่ายค่าบริการ เมื่อระบบพิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วจึงทำการตัดเงินจากบัญชี Alipay โดยบริษัท Alibaba นั่นหมายความว่าถ้าหากระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จและถูกใช้อย่างแพร่หลายเป็นการทั่วไป ผู้คนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินสด พกกระเป๋าสตางค์หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเพื่อการจ่ายเงินในระบบขนส่งของจีนอีกต่อไป

บริษัท Alibaba Group Holding Ltd. ได้ลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI รวมทั้งการออกแบบไมโครชิพ AI ด้วยเงินลงทุนถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศชั้นนำในการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ด้าน AI และการคำนวณชั้นสูงอีกก้าวหนึ่ง

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Microsoft และ Google ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาไมโครชิพเพื่อบริหารจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์ (cloud) ซึ่งมีขีดความสามารถทางด้าน AI เป็นหลัก

ในขณะนี้มีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศจีนกำลังจะกระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อออกแบบและผลิตไมโครชิพ AI ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจสอบเสียงของมนุษย์เพื่อบ่งบอกตัวบุคคล (voice recognition) และเพื่อตรวจจับและระบุวัตถุว่าวัตถุนั้นคืออะไร (object detection) ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่เคยประกาศที่จะให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาไมโครชิพในลักษณะนี้มาก่อน

"Made in China 2025" ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศจีนบนเป้าหมายเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศจีนให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศเยอรมัน โดยถือว่าเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้มีการใช้คำว่า อุตสาหกรรม 4.0” ในปี 2011 เป็นครั้งแรกของโลก และหลังจากนั้นหลายประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าว ซึ่งแก่นแท้ของแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ก็คือการผลิตที่มีความชาญฉลาดโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า “Internet of Things” หรือ IoT ทำการเชื่อมโยงระบบการทำงานขององค์กรจนไปถึงระบบการผลิตในโรงงาน ตั้งแต่การผลิตขนาดเล็กจนไปถึงการผลิตระดับกลางและใหญ่ จนนำไปสู่การผลิตแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์นั่นเอง

การจะเป็นผู้นำด้านการผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลกนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาและวิจัยทางด้าน AI ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไมโครชิพ AI ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้ประเทศจีน ได้มีความชัดเจนว่า AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคมและสามารถที่จะควบคุมอุตสาหกรรมกรรมใหม่ของโลกจนประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

สงครามกีดกันทางการค้า (trade war) เริ่มปรากฏชัด โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันประเทศจีนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เช่น เทคโนโลยีไมโครชิพ AI ซึ่งประเทศจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านไมโครชิพ AI มากกว่าปกติตั้งแต่ปี 2017 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI อันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2030 โดยบริษัท Huawei พยายามทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ AI เพื่อเอาชนะบริษัท Intel และ Qualcomm เพื่อเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้

เทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้ผลิตไมโครชิพกำลังจะกลายเป็นตัวชี้ชะตาศูนย์อำนาจของโลก โดยในขณะนี้ประเทศจีนจะต้องนำเข้าไมโครชิพด้วยการจ่ายเงินออกนอกประเทศถึงสามเท่าของเงินที่ใช้ในการลงทุนผลิตไมโครชิพเองในประเทศ ทั้งนี้เพราะประเทศจีนยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตไมโครชิพใช้เองภายในประเทศ โดยจากผลการวิจัยของบริษัทวิจัย Gavekal Dragonomics พบว่าเงินที่ประเทศจีนต้องจ่ายไปเพื่อซื้อไมโครชิพนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2017 ถึง 2020 และจากการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกและประเทศสหรัฐอเมริกา จึงยิ่งจะทำให้ประเทศจีนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาไมโครชิพให้เป็นเทคโนโลยีของตัวเองได้เลย

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ไป คือประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ AI เท่านั้น

 

Reference

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-25/the-u-s-china-trade-war-means-alibaba-is-producing-its-own-chips


บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ 

www.เศรษฐพงศ์.com

MBA Special Blockchain

December 17, 2018

หลายปีมานี้ ผมเชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Disrupt” กันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเคสของธุรกิจใหญ่น้อยทั่วโลกที่ถูกเจ้าคำว่า “Disrupt” นี่เล่นงานจนแทบจะล้มหายตายจาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เจ้า “Disrupt” นี่เองก็ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบและโมเดลในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์แหวกแนวขึ้นจนธุรกิจมีมูลค่าได้มหาศาล โดยสาเหตุของการตายจากหรือเติบโตเหล่านี้สามารถได้ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนส่งกระทบกับธุรกิจในรูปของโอกาสและภัยคุกคามแล้วแต่ว่าตัวธุรกิจนั้นปรับตัวเองได้ดีแค่ไหน  

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้งานตลอดเวลาเหมือนอากาศที่หายใจ  มีซีพียูคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หน่วยเก็บข้อมูลก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนพลังทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมของพวกเราทุกวัน  และเชื่อว่าปีสองปีมานี้เราคงได้ยินชื่อเทคโนโลยีนึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง นั่นก็คือ Blockchain

กำเนิดและจุดเด่นของ Blockchain

Blockchain นั้นเป็นแนวคิดใหม่ในการเก็บข้อมูล มันเกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวปฏิรูปที่ประสงค์จะสร้างระบบทางการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ตัวกลาง หรือธนาคารใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอิสรภาพในการโอนย้าย “เงิน” ของพวกเขาโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หรือตกอยู่ภายใต้ระเบียบข้อจำกัดใดๆ  และนั่นทำให้ต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ที่ข้อมูลไม่ได้รวมกันอยู่ในศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงจากไหนก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ แนวคิดการบันทึกข้อมูลแบบใหม่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Blockchain และเนื่องจากแนวคิด Blockchain นี้สามารถขจัดปัญหาของการเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิมที่รู้จักกันได้หลายเรื่อง จึงทำให้มันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจ และเชื่อกันว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิด  Disruption กับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางในเรื่องต่างๆ เช่น ธนาคาร ทะเบียนประวัติ กรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน เป็นต้น  โดยคุณสมบัติเด่นๆ ของ Blockchain ก็คือ

  • ข้อมูลแบบกระจายศูนย์ - Blockchain ใช้แนวคิดของการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบทุกๆ เครื่อง
  • โปร่งใสและเชื่อมั่นได้ – การทำธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะเป็นที่รับรู้ในเครือข่ายทั้งหมด และมีกระบวนการในสอบทานและยืนยันความถูกต้องอย่างรัดกุม
  • เปลี่ยนแปลงไม่ได้ – Blockchain ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์เพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกเขียนลงไปใน Blockchain โดยทฤษฎีแล้ว มันจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ หากมีเครื่องไหนที่ข้อมูลไม่ตรงกับคนอื่น ข้อมูลในเครื่องนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับและถูกตัดออกจากระบบ ทำให้ข้อมูลใน Blockchain แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ในภายหลัง
  • ใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากแนวคิดการกระจายศูนย์ของ Blockchain ส่งผลให้เครือข่าย Blockchain สามารถทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไหนชำรุด หรือระบบเครือข่ายมีการขัดข้อง

เทคนิคของ Blockchain

Distributed Database

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดหลักของ Blockchain คือการไม่มีศูนย์กลางข้อมูล แต่ให้ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับทุกคนและทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยใช้หลักฐานข้อมูลแบบกระจาย จะเห็นว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบนี้ จะลดปัญหาการที่ระบบทั้งหมดจะต้องไปพึ่งพิงฐานข้อมูลเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณไปที่สถานีรถไฟฟ้าเกิดเหตุระบบสื่อสารขัดข้อง ทำให้เครื่องอ่านบัตรไม่สามารถตรวจสอบวงเงินในบัตรของคุณจากฐานข้อมูลกลางได้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่สามารถใช้บัตรได้ ยังไม่นับว่าถ้ามี hacker ไหนเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลซึ่งมีอยู่ที่เดียว และลบข้อมูลยอดเงินของทุกคนออกเพียงเท่านี้ก็จบแล้ว แม้จะมีทางแก้ไขด้วยการสำรองข้อมูล แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะดึงข้อมูลสำรองออกมาใช้ได้  แต่อย่างไรก็ดีมันมีคำถามว่า ในสภาพที่มีฐานข้อมูลในระบบจำนวนมาก หากข้อมูลแต่ละคนเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา จะมีใครฟันธงได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร คำตอบของเรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก นั่นก็คือประชามติ

Consensus

ธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันในเครือข่าย Blockchain ก่อนเสมอ และมีโอกาสที่ข้อมูลในเครื่องเราหรือบางเครื่องในเครือข่ายจะไม่ตรงกัน ซึ่งในกรณีนั้น เครือข่าย Blockchain จะถือว่าค่าที่ถูกต้องคือค่าที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องส่วนใหญ่ของเครือข่าย และเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลในเครื่องที่ต่างออกไปเหล่านั้น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ blockchain แต่ละระบบว่าจะทำอย่างไรกับพวกชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ บางระบบก็เลือกที่จะตัดเครื่องเหล่านั้นออกไปเลย แต่บางระบบก็ออกแบบให้พวกที่ข้อมูลไม่เหมือนจะต้องทำการ Sync ฐานข้อมูลใหม่ ให้ตรงกับคนอื่น การเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลของเครื่องบางเครื่องที่ต่างออกไป ทำให้ Blockchain มีคุณสมบัติด้านความเชื่อถือได้ของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ชำรุดหรือถูกแก้ไขโดยมิชอบ จะเกิดขึ้นได้แค่กับบางเครื่อง ซึ่งจะไม่เป็นที่ยอมรับในเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับเครื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แบบนี้มันไม่ทำให้ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดเหรอ คำตอบเรื่องนี้อยู่ในชื่อของมันเอง “Block” & “Chain”

Block and Chain

ชื่อของ Blockchain นั้นมีที่มาจากสองคำ คือคำว่า Block และ Chain  เพราะการบันทึกข้อมูลของ Blockchain จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงใน “Block” เป็นอันๆ คล้ายๆ กับที่เรามีสมุดบัญชีเป็นเล่มๆ และที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูลจะไม่ใช้วิธีการเขียนทับเช่น เดิม A= 5 แก้เป็น A= 17  แต่เป็นการจดต่อไปเรื่อยๆ (Append Only) เหมือนเราเขียนธุรกรรมในสมุดบัญชีเลย (จากกรณีเก่า ก็จะเป็น A = 5, แล้วก็ A + 12)  จนกระทั่งเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น Block เต็ม หรือครบกำหนดเวลา เราก็จะเลิกบันทึกข้อมูลใน Block นี้และไปขึ้น Block ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างออกไปคือ ตอนปิด Block  เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า hash ซึ่งอธิบายสั้นๆ คือการนำข้อมูลทั้งหมดใน Blockไปเข้ากระบวนการทางคณิตศาสตร์อันนึง ผลลัพธ์ของมันจะเป็นชุดอักขระชุดหนึ่งที่ยากยิ่งจะจดทำ เช่น 00000000000008a3a41b85b8b29ad444def299fee21793cd8b9e567eab02cd81 และด้วยเหตุที่อักขระชุดนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดใน block ดังนั้นถ้าหากข้อมูลใน block นี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่เพียงน้อยนิด แล้วเอามาทำ hash ใหม่ hash อันที่สองจะไม่เหมือน hash อันแรก ดังนั้นการตรวจสอบ Block จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลทั้งหมดของ block แต่เพียงแค่เอาค่า hash มาเทียบกันก็รู้แล้วว่าเนื้อใน block ตรงกันหรือไม่ นี่คือคำว่า Block ทีนี้ แล้วอะไรคือ Chain  

เมื่อปิด Block และได้ค่า hash ก็จะเริ่มมีการบันทึกรายการต่างๆ เข้าสู่ block ถัดไปโดยจะได้มีการนำค่า hash ของ Block ก่อนหน้ามาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลใน Block ปัจจุบันนี้ด้วย  ดังนั้นหากเราปิด Block นี้และได้ค่า hash ล่าสุดออกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ฝังค่า Block ที่แล้วไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะถ้าเปลี่ยน เราจะรู้ทันทีเนื่องจากมันไม่ตรงกับ hash ใน block นี้ เจ้าตัว hash ที่ฝังต่อๆ กันไปตาม block ต่างๆ ที่จะต้องตรงกันเป็นคู่ๆ เสมือนเป็นโซ่ที่ล่าม block เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน และจากแนวคิดที่ทุกบิทของข้อมูลมีผลต่อค่า hash  + เรื่องที่ว่าค่า hash ส่งผลต่อค่า hash กันไปเป็นทอดๆ + ฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจะถูกตัดทิ้ง  ทำให้ Blockchain กลายเป็นวิธีการบันทึกข้อมูล ที่เมื่อบันทึกลงไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก เชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และสามารถใช้งานข้อมูลได้ตลอดเวลา

Blockchain กับธุรกิจ

ในแง่ประโยชน์

หากธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวพันกับคนทั้งในและนอกองค์กร ซึ่งปกติทั้งสองฝ่ายต้องมีคนคอยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในกระบวนการเช็คกันไปกันมา การใช้ Blockchain จะสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และปลอดภัยต่อการถูกแก้ไขหรือแอบนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งเครือข่ายจะมีเสถียรภาพสูง ขัดข้องได้ยาก นอกเหนือจากนี้การใช้ Blockchain  ยังเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแง่ของผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ภาคส่วนต่างๆ มาสร้างมูลค่าร่วมกันได้ อาทิ  Platform ในการสร้างสินค้า Digital เช่น เพลง การ์ตูน หรือนิยาย  แล้วบันทึกลงไปใน Blockchain ทำให้มันกลายเป็น Digital Asset ที่สามารถซื้อขาย หรือเช่าใช้ สิทธิ์ในตัว Asset นี้

ในแง่ภัยคุกคาม

หากธุรกิจของคุณเป็นตัวกลาง อาทิ ธนาคาร ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อมาขายไป เว็บขาย contents อย่าง iTune  ฯลฯ Blockchain จะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของคุณเต็มๆ เพราะตัวมันเองเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดตัวกลาง และมุ่งให้แต่ละภาคส่วนเชื่อมโยงกันเองโดยตรง ตัวอย่างเช่น เราคงรู้จักบริการแบบ Netflix ซึ่งซื้อ contents จากผู้ผลิตมาจำนวนนึง แล้วให้ผู้บริโภครับชมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ด้วย Blockchain  ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ลงโฆษณา และผู้ชม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน Blockchain จะช่วยให้เจ้าของ contents มั่นใจได้ว่าจำวนการรับชมที่เกิดขึ้นตรงต่อความเป็นจริง ผู้ลงโฆษณามั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนปรากฏขึ้นตามเงื่อนไข ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ผู้รับชมก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ

ในตอนท้ายนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่า Blockchain นั้นคืออะไร และทำไมมันถึงถูกกล่าวขวัญถึงในช่วงนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องลองคิดดูว่าเราจะใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร หรือจะ Transform ธุรกิจของเราอย่างไร จากเทคโนโลยีนี้


บทความ โดย : คณิต  ศาตะมาน   Co-Founder Siam ICO Co, Ltd.


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain Application, The new Management Instrument and Transformation
โดย คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd. จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่

ลักษณะของ SME 4.0 คือ การรวม Transformation กับ Innovation เข้าไว้ด้วยกันและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Trend) ติดปีกให้กับธุรกิจ คุณสุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายถึงการก้าวไปสู่โลกใหม่ของธุรกิจในยุค Digital 4.0 นี้ว่า “สิ่งแรกคือการเริ่มต้นด้วยการทำ Digital Transformation โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (Digitization) ช่วยลดต้นทุน ทำให้สะดวกรวดเร็วและตรวจสอบได้ ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของขั้นตอนการผลิตและการออกแบบ Packaging ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing, Visual Marketing หรือ VR และส่วนสุดท้ายคือ การนำเอาการซื้อขายขึ้นไปอยู่ใบแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital Trend) เพิ่มช่องทางการขายที่ควบคู่ไปกับการมีหน้าร้าน สถิติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่ามี SME ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีในการบริหารกิจการ 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไม่รวมช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกรณีของ Line ที่มีคนไทยใช้งานมากถึง 42 ล้านคนจากจำนวน 46 ล้านคนทั่วประเทศที่มีโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดสูงถึง 2 ล้านแอคเคาน์สูงที่สุดในอาเชียน เพราะฉะนั้น หากเราสามารถใช้ Line หรือ Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าก็จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที”

อีกสิ่งสำคัญในการปรับตัวในภาคธุรกิจให้เข้ากับโลกดิจิทัลในตอนนี้ คือ Digital Innovation ซึ่งเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เริ่มจากกระบวนการวางแผน Business Model Innovation เพื่อสร้างคุณค่าธุรกิจใหม่ร่วมกับลูกค้า Service Innovation การสร้างนวัตกรรมบริการที่เปลี่ยนสินค้าให้เป็นบริการ และ Technology Innovation สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบทางการทำธุรกิจแนวใหม่ขึ้นมาได้หมด ธุรกิจในลักษณะไหนก็สามารถคิดและเริ่มต้นทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Start up เสมอไป

ปัจจุบัน Digital Trend ที่มีผลต่อภาคธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งจากธุรกิจสู่ลูกค้าหรือระหว่างคู่ค้า (Connectivity) เช่น แอพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย และ IoT ต่อมาคือกลุ่มที่ช่วยในการตัดสินใจ (Insight & Intelligent) อย่างพวก Big Data, AI และ Cloud Computing ทำให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางในการวางกลยุทธ์เพื่อนำพาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือกลุ่มที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ระบบ (Trust Protocol) ตัวอย่างเช่น Distributed Ledger, High Performance Computer และ Blockchain สำหรับ Blockchain ในภาคธุรกิจจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างเครือข่าย ทำให้การติดต่อกับคู่ค้าจำนวนมากทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกอัพโหลดเข้าไปอยู่ในระบบ มีการจัดการตามเงื่อนไขเฉพาะที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Supplier แต่ละเจ้า ย่นระยะเวลาในการดำเนินงานและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาทุกคนในเครือข่ายจะมีโอกาสได้เห็นพร้อมกัน สามารถตรวจสอบได้และปลอดภัยจากการเจาะระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ คุณสุมาวลียังได้สรุปประโยชน์ของ Blockchain ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยไว้อย่างน่าสนใจว่า

“อย่างแรกเลย Blockchain เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นจากเดิม ด้วยระบบการระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding) และในอนาคตสถาบันการเงินก็อาจมีการพัฒนาระบบสินเชื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุดผ่าน Nano Finance Application ยิ่งไปกว่านั้น Blockchain ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ลดต้นทุนแรงงาน ลดอัตราการแลกเปลี่ยนในธุรกิจที่มีการติดต่อกับ Supplier หลายเจ้า ที่สำคัญคือความปลอดภัยในการควบคุมข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรโดยมีการกำหนดบทบาทของผู้เข้าถึงเอาไว้ชัดเจน”

จริงๆ แล้ว Blockchain ก็คือ Protocol หนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและในตอนนี้ภาครัฐก็มีความพยายามในการออกกฏหมายทั้งในส่วน Digital Asset และเร็วๆ นี้อาจจะมีกฏหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลออกมาซึ่งจะไปสอดคล้องกับการใช้งาน Blockchain มากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวหรือเป็นกังวล แต่สิ่งที่เราควรทำคือเรียนรู้และใช้งานสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อยกระดับธุรกิจของท่านไปสู่โลกยุค Digital 4.0 ด้วยกัน


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain and SME 4.0
โดย สุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล | ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่


เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

X

Right Click

No right click