ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถไฟบริเวณทางรถไฟ หมู่ 6 ตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2566 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้ รถยนต์กระบะคันดังกล่าวทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2566 สิ้นสุดคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2567 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน วงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 170,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 100,000 บาทต่อคน (2 คน) และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน

สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นในกรณีที่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ฒฆ-5942 กรุงเทพมหานคร (ถ้าเป็นฝ่ายผิด) ทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารรถยนต์กระบะที่เสียชีวิตทั้ง 8 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,525,000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. รายละ 500,000 บาท จากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 รายละ 1,000,000 บาท และจากค่าสินไหมทดแทนความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จำนวน 200,000 บาท โดยเฉลี่ยจ่ายทั้ง 8 ราย รายละ 25,000 บาท

ทั้งนี้ จากการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงทราบว่าญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย ได้นำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) จึงได้สั่งการไปยัง สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 รายอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย สำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประสานไปยัง โรงพยาบาลพุทธโสธรเพื่อรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลตามความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลของคดีการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป โดยสำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานและเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่
หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะเร่งประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และสำนักงาน คปภ. พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2566

โดยมีอนุญาโตตุลาการ ผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการอันเกี่ยวกับกฎหมายด้านการประกันภัยที่มีการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. อีกทั้งเพื่อให้อนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพบปะหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ข้อขัดข้องที่พบในการดำเนินกระบวนพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดขออนุญาโตตุลาการ” มีผู้ร่วมวงเสวนาประกอบด้วย อนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. และผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เป็นผู้ดำเนินการเสวนาใน 3 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเด็นแรก การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่มีมูลเหตุจากเหตุละเมิดเดียวกันและหรือมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยหลายราย โดยผู้ที่มีสิทธิตามสัญญาประกันภัยหรือทายาทได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทแยกเป็นหลายคดีและมีตั้งอนุญาตโตตุลาการในแต่ละคดีต่างรายกัน

ประเด็นที่ 2 การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด ระหว่างดอกเบี้ยตามกรมธรรม์และดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประเด็นที่ 3 การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งต้องพิจารณาถึงลำดับและวงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ทั้งสองประเภท หรือการหักค่าสินไหมทดแทนกรณีมีกรมธรรม์ประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจเพื่อให้เป็นไปตามความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์

ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นที่มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีการหยิบยกและพูดคุยกันมาก่อนอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีประเด็นการบริหารจัดการสำนวนข้อพิพาทที่มีอนุญาโตตุลาการหลายท่านรับผิดชอบในเหตุพิพาทเดียวกัน เพราะผู้มีสิทธิเรียกร้องแต่ละรายเสนอข้อพิพาทมาไม่พร้อมกัน เพื่อจะได้วางกรอบคำชี้ขาดให้ไปในแนวทางเดียวกันหรือกรณีประเด็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดตามเงื่อนไขกรมธรรม์กับอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อวางแนวทางคำชี้ขาดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นกัน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งการดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัย ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้สำนักงาน คปภ. ได้นำกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนใช้ในการระงับข้อพิพาทกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นระหว่างประชาชนผู้เอาประกันภัย กับบริษัทประกันภัย โดยไม่ต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาล

ในขณะเดียวกัน การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินกระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับเชื่อถือไว้วางใจจากคู่พิพาททั้งฝ่ายผู้เสนอข้อพิพาท (ผู้เอาประกันภัย ประชาชนผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัย) และผู้คัดค้าน (บริษัทประกันภัย) และจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยที่มีประโยชน์ต่อทั้งส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ทำให้จำนวนการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ย่อมมีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยจะเห็นได้จากสถิติการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561จนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 มีข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการที่สำนักงาน คปภ. ดำเนินการ เป็นจำนวน 6,959 เรื่อง ยุติแล้ว 5,772 เรื่อง ทุนทรัพย์ที่ยุติกว่า 769,265,314 บาท

สำนักงาน คปภ. ได้มีการศึกษาและเตรียมการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ในการแก้ไขปัญหาและระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทผู้รับประกันภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริษัทผู้รับประกันภัยที่สามารถดำเนินการกระบวนการพิจารณาที่สะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันอนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีมาใช้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ระบบ E-Arbitration ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อยอดมาจากระบบ PPMS (Policyholder Protection Management System) ที่มีอยู่ รองรับกระบวนการพิจารณาผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การยื่นคำเสนอข้อพิพาท การยื่นคำคัดค้าน การวางและคืนเงินเป็นหลักประกัน การตั้งอนุญาโตตุลาการ การกำหนดวันนัดพิจารณา การส่งและสั่งคำร้อง การสืบพยาน การจัดทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับงานอนุญาโตตุลาการนำเสนอต่อผู้บริหารได้ ทั้งนี้ ได้มีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 โดยสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th

โดยระบบ E-Arbitration นี้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายแรก ประชาชนผู้เอาประกันภัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งมีผลทำให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือยุติข้อพิพาทได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สามารถเข้าถึงและติดตามความคืบหน้าได้ตลอดทุกที่และตลอดระยะเวลา

ฝ่ายที่ 2 บริษัทผู้รับประกันภัย สามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกระบวนการพิจารณา โดยไม่ต้องเดินทางมา ณ ที่ทำการของอนุญาโตตุลาการในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งลดภาระการดำเนินการทางเอกสาร และสามารถบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และฝ่ายที่ 3 อนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกและเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ

“จะเห็นได้ว่าสำนักงาน คปภ. ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านประกันภัยมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในทุกมิติ โดยเฉพาะกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคู่พิพาท อนุญาโตตุลาการ และสำนักงาน คปภ. อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเป็นระบบและครบวงจร” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรม Phuket Marriott Resort & Spa, Merlin Beach จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 90 คน ซึ่งตลอดหลักสูตรมีการอบรม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้นเรียนและเข้าศึกษาดูงานทั้งในประเทศ รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ตลอดจนจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประกันภัยของไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) เป็นกิจกรรมที่หลักสูตรฯ ให้ความสำคัญและกำหนดให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม เพื่อช่วยกันระดมความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ มานำเสนอในรูปแบบรายงานวิชาการ โดยในการปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม GP และตอบข้อซักถามแก่คณะอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ.  

สำหรับรายงานวิชาการแบ่งเป็น 6 กลุ่ม 6 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หัวข้อ “แนวทางสำหรับภาครัฐเพื่อนำระบบประกันภัยมาใช้บริหารความเสี่ยงจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Net Zero Emission” ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมหลายประเภทมีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดและกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน การค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล Net Zero Emission เป็นเป้าหมายของประชาคมโลกที่ต้องการให้รัฐบาลทุกประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยภาครัฐและภาคธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันและปรับตัวในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการศึกษานี้เสนอแนะให้ภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำระบบประกันภัยมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคาร์บอนเครดิตให้เหมาะสมรองรับกับระบบนิเวศของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Net Zero Emission ซึ่งสามารถดำเนินการได้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว

กลุ่มที่ 2 หัวข้อ “ปัจจัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้เกี่ยวกับการประกันภัย หรืออินชัวร์เทค (InsurTech) ในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ” ภาคธุรกิจประกันภัยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่การนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ (Digital Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนางานด้านประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า อินชัวร์เทค (InsurTech) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทั้งด้านให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัย ด้านการให้บริการประกันภัย ด้านพัฒนาระบบด้านความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ด้านสถานพยาบาล การพัฒนา Chatbot ซึ่งเดิมมีผู้ให้บริการหลาย ๆ ราย และมีการให้บริการอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงได้เสนอให้นำเทคโนโลยี ChatGPT มาใช้ร่วมกับ Chatbot เพื่อให้เกิดประโยชน์ตอบโจทย์ให้กับประชาชนหรือลูกค้าได้ตรงความต้องการ สามารถรองรับการจัดการองค์ความรู้ สามารถถามคำถามและรับคำตอบได้ทันที และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่พัฒนาขึ้นจะสามารถตอบคำถามซับซ้อนและเข้าใจได้ดีขึ้น

กลุ่มที่ 3 หัวข้อ “การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบคุ้มครองสิทธิผู้ทำประกันภัย ด้านการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้พบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมและเข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) และยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ปัญหาสำคัญอันหนึ่ง คือ ด้านการให้บริการของประกันภัยไทยจากการร้องเรียนของผู้ทำประกันภัยและประชาชนผู้ได้รับความเสียหายด้านค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เป็นคู่กรณีหรือผู้เสียหาย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดประกันภัยทั้งในด้านความมั่นคง มาตรฐานที่ชัดเจน กลุ่มนี้จึงเสนอการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี “ระบบคุ้มครองสิทธิผู้ทำประกันภัยและประชาชน ด้านการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ช่วย ชด เชย” เพื่อพิจารณาค่าสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ให้มีกระบวนการที่เป็นธรรม และเป็นมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าถึงการเยียวยาด้านค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถอย่างสมเหตุสมผลและเกิดความพึงพอใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

กลุ่มที่ 4 หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อยกระดับการเข้าถึงประกันสุขภาพให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” ศึกษาแนวทางที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้มีความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง ซึ่งการเลือกสิทธิให้แก่ลูกจ้างและตนเองในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ต้องหาซื้อประกันภัยสุขภาพเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม รวมถึงสิทธิประโยชน์พิเศษที่สามารถเพิ่มได้ง่ายขึ้นหากใช้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนเข้าไปช่วยระบบประกันสังคมในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางด้านการให้บริการสุขภาพของประชากรไทย เพื่อยกระดับบริการด้านสินไหมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม เป็นการ ONTOP หรือผูกกับระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมจ่าย เอกชนจ่าย และใช้ศูนย์บริการสินไหมทดแทนเดียวกันและเป็นส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองของประกันสังคมที่มีอยู่เดิมแต่ลดค่าใช้จ่ายทดแทนที่จะจ่ายในการประกันกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้สิทธิค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อประกันภัยเพิ่มเติมโดยที่ลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันภัยส่วนบุคคลลง และสามารถเลือกซื้อประกันภัยเพิ่มเพื่อรับความคุ้มครองตามเพดานที่ตนเองต้องการได้ รวมถึงสามารถเลือกโรงพยาบาลที่ตนเองต้องการได้เนื่องจากนำไปผูกกับระบบประกันสังคม

กลุ่มที่ 5 หัวข้อ “การเสริมสร้างและส่งเสริมการขายประกันการเดินทางเพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย” สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ลดลง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อประกันภัยการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย รวมถึงความกังวลระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวและประสบการณ์การใช้บริการโรงพยาบาลในไทย พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีแผนซื้อประกันภัยการเดินทางหากเกิดอุบัติเหตุหรือต้องเคลื่อนย้ายกลับประเทศแบบผู้ป่วยโดยไม่ต้องสำรองจากจ่ายเงินก่อน การพัฒนาเว็บแอพพลิเคชันให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาประกันภัยการเดินทางที่ตรงกับต้องการและจุดประสงค์การเดินทางทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม รวมถึงเปรียบเทียบประเภทผลิตภัณฑ์หรือเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้

กลุ่มที่ 6 หัวข้อ “การพัฒนาเกมกระดาน (Board Game) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นรากฐานในการจัดการความเสี่ยง และต่อยอดไปสู่การเติบโตของธุรกิจในอนาคต” การพัฒนาเกมกระดาน (Board Game) เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการช่วยส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยให้แก่กลุ่มผู้เล่น โดยที่ยังคงสร้างความสนุกสนานพร้อมทั้งให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิชาการไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นเกมที่สนุกสนาน เล่นง่าย และสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โดยอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ เพื่อให้สร้างประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย และมีความคาดหวังว่าจะทำให้ผู้เล่นเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย และตัดสินใจทำประกันชีวิตและการประกันวินาศภัยเมื่อมีความพร้อมในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติต่อไป

ต่อจากนั้นเลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และนักศึกษา วปส. 11 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยนำสิ่งของอุปโภคบริโภคของนักศึกษาที่ร่วมบริจาค ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน เป็นต้น และเงินร่วมบริจาค จำนวน 308,501 บาท โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566

“ต้องขอชื่นชมนักศึกษา วปส. 11 ที่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการค้นคว้าและนำเสนอรายงานวิชาการ โดยทั้ง 6 เรื่อง ล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย และผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ซักถามและให้ข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุงรายงานวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และจะได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกสุดยอดรายงานวิชาการดีเด่นเพื่อนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงาน คปภ. และนำลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารด้านประกันภัยต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ภายใต้ธีม “ASCENDING TO THE INSURTECH UNIVERSE” พร้อมชิงเงินรางวัลกว่า 7 แสนบาท

สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมระดมสมองกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมประกันภัยไทยเพิ่มบทบาทเชิงรุกด้านความยั่งยืนเพื่อให้ประกันภัยไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

X

Right Click

No right click