October 04, 2024

รัฐบาลพร้อมผลักดันข้อเสนอเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มโอกาส ชีวิตดี เศรษฐกิจโต สิ่งแวดล้อมยั่งยืน หลังรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม กว่า 3,500 คน ร่วมแสดงพลังและระดมสมองในงาน ESG Symposium 2024 มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเร่งเดินหน้า 4 แนวทาง ได้แก่ ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว หนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพ SMEs รัฐบาลเชื่อมั่นพลังความร่วมมือจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และรับฟังข้อเสนอร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จากการระดมความคิดทุกภาคส่วน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนรวมกว่า 3,500 คน ร่วมแสดงพลังและระดมสมองเพื่อหาแนวทางร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมาซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ในงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ และได้สรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่าน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมกับผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.) ใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาข้อติดขัด ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ควบคู่กับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสรุปเป็น 4 ข้อเสนอ ดังนี้

  • ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law & Regulations) โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ กำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อความเสถียรยิ่งขึ้น ภาครัฐนำการจัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งระบบ กระตุ้นการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิล และจัดการของเสีย กำหนดมาตรการจูงใจ เช่น ลดภาษีหรือเงินสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมนโยบาย Green Priority’ ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีนและสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เข้มแข็ง
  • ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) โดยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอน ที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว โดยเอสซีจีพร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
  • พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Technology & Green Infrastructure) โดยรัฐสนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโครงสร้างและผลักดันการใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้เร่งปรับปรุงระบบขนส่งสีเขียวครบวงจร ให้ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน ลดเวลา เช่น ใช้ระบบวิเคราะห์เส้นทาง วิเคราะห์การบรรทุกสินค้าที่เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการแยกขยะเปียกและขยะแห้ง โดยจัดตั้งศูนย์คัดแยกและจัดการขยะที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น เทคโนโลยีการคัดแยก ระบบบำบัดและจัดการขยะเหลือทิ้ง
  • สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

“อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทยยิ่งขึ้น หากรัฐบาลสนับสนุนการเดินหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public–Private–People Partnership) และนำทั้ง 4 ข้อเสนอมาปฏิบัติในพื้นที่จริง ซี่งจะทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัด แนวทางแก้ไข โดยรัฐบาลส่งเสริมกระจายอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินงานสู่หน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อลดขั้นตอนและความไม่ชัดเจนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนทุกด้านมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นโอกาสขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคต”

นายธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า “คณะจัดงานขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอจากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและมีศักยภาพทางการแข่งขันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่สละเวลา ทุ่มเท มุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างบูรณาการตลอดมา เอสซีจีและพันธมิตรทุกภาคส่วนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนข้อเสนอข้างต้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง”

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ข้อเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับไป สิ่งใดที่สามารถทำได้จะประสานงานโดยเร็ว สิ่งใดต้องการความร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เรายินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน นอกจากสิ่งที่รัฐจะทําแล้ว ภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัว แสวงหาโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อเป้าหมาย Net Zero โดยบูรณาการมาตรการเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เราทุกคนจะร่วมกันเปลี่ยนความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจํากัด เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือหัวใจแห่งความสําเร็จ รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนทุก ๆ นโยบายสําคัญ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

งาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ จัดขึ้นวันที่ 30 กันยายน 2567 ณ Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 11.00-16.30 น. โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วน และมีวิทยากรระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมชมนิทรรศการจำลองการใช้ชีวิตแบบโลว์คาร์บอน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.scg.com 

ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี ร่วมเป็น Keynote Speaker เรื่อง Green Infrastructure ในงาน SETA 2024 มุ่งนำเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS)  และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Infrastructure)  มาใช้กับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว  ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเข้าถึงคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

เอสซีจีในฐานะองค์กรผู้นำด้าน ESG ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  โดยร่วมแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน” (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในอนาคต   และ “โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” (Green Infrastructure) เช่น ข้อมูลสายส่ง สำหรับพลังงานสะอาด มาใช้กับกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ทั้งรวดเร็ว  ลดค่าใช้จ่าย และเข้าถึงคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  ทั้งนี้ การร่วมบรรยาย แลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศ และพลังงานผันผวน   เป็นหนึ่งในการระดมสมองเพื่อหาวิธีการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา

งานแสดงพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย (Sustainable Energy Technology Asia 2024)   หรือ SETA 2024  จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก Low Carbon & Sustainable ASEAN Economy ประกอบด้วย งานแสดงเทคโนโลยีแสงอาทิตย์และระบบการกักเก็บพลังงาน (Solar+Storage Asia 2024) งานยานยนต์อนาคตของเอเชีย (Sustainable Mobility Asia 2024) งานแสดงสินค้าทางด้านอุตสาหกรรม  เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม (FTI Energy Expo 2024) งานฟอรั่มในระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำในภาคตะวันออกและอาเซียน The Fourth Asia CCUS Network Forum และงานประชุมวิชาการเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ครั้งที่ 1 (The Thai Photovoltaic Science and Engineering Conference)  ตั้งแต่ปี 2016 SETA มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนและเอเชีย และมุ่งสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ซึ่งประสบความสำเร็จ ได้รับความร่วมมืออย่างดีตลอด 8 ปีที่ผ่านมา 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่าการที่เอสซีจีได้รับรางวัลDAILYNEWS TOP CEO 2024 สาขาสุดยอดองค์กรธุรกิจ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งปี 2024 เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพวกเราชาวเอสซีจี ที่มุ่งมั่นทุ่มเทตามภารกิจ มุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโต พร้อมร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ตามแนวคิด Passion for Inclusive Green Growth ซึ่งต่อยอดจาก ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ยึดหลักความไว้วางใจและโปร่งใส) ของเอสซีจีให้แข็งแกร่ง เข้มข้นยิ่งขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกทั้งด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitics) และโลกเดือด (Climate Crisis) ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ในปัจจุบัน  

เอสซีจี เร่งเดินหน้าพัฒนา “นวัตกรรมกรีน” ในทุกธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และมุ่งสู่  Net Zero ภายในปี 2050  อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์เดิม ซึ่งขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก พร้อมดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน ตอบสนองความต้องการลูกค้าสายกรีน เช่น ฉนวนที่ช่วยประหยัดพลังงาน หรือวัสดุทดแทนไม้ที่ช่วยลดความร้อนเข้าบ้าน  และสมาร์ทโซลูชัน ยกระดับการอยู่อาศัย เช่น ‘ออนเนกซ์ (ONNEX)’ ที่ประหยัดพลังงาน ด้วยระบบบำบัดอากาศเสีย ‘Air Scrubber’ และโซลูชันพลังงานสะอาด ‘Solar Hybrid Solutions’ ดูแลคุณภาพอากาศในบ้านและอาคาร ‘Bi-on’ ตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ  รวมทั้งเร่งผลักดัน นวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM  สู่ตลาดสีเขียวที่มีความต้องการมาก อาทิ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

รางวัลดังกล่าวฯ จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ซึ่งพิจารณาจากทีมงานบรรณาธิการฯ ที่มากด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ที่ร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรชั้นนำทั่วประเทศที่มีความโดดเด่นในการบริหารองค์กรในสาขานั้น ๆ รวมถึงผลลัพธ์และความสำเร็จจากการดำเนินงาน

ครบ 1 ปีทุกภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม รวมพลัง “ร่วม-เร่ง-เปลี่ยน ไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” เกิดความคืบหน้าชัด ทุกฝ่ายขานรับ ปรับวิธีคิด “ทำงานแบบบูรณาการ” ยึดเป้าหมายเดียวกัน สื่อสารตรงไปตรงมา และลุยหน้างานจริง ช่วยปลดล็อค เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยให้เกิดขึ้นจริง  ส่งเสริมการก่อสร้างสีเขียวด้วยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ  เอกชนจับมือจัดการแพคเกจจิ้งใช้แล้วผ่านโครงการรีไซเคิลแบบ Closed-Loop  สนับสนุน SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together  ปีนี้ทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คนรวมพลัง เร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อเนื่องใน ESG Symposium 2024 วันที่ 30 กันยายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ที่ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายของประเทศตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเริ่มต้นจากการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ในงาน ESG Symposium 2023 ออกมาเป็นข้อเสนอ 4 แนวทางในการกู้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์  ส่งเสริมเกษตรกรมีอาชีพ-รายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน  สนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย และลดคาร์บอน  ผลักดันการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการขยายผล “ตาลเดี่ยวโมเดล” รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน  เสริมแกร่งเครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ติดตั้ง Solar Carport ที่ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี ซึ่งจะขยายผลสู่หน่วยงานอื่นต่อไป  ส่งเสริมความรู้ SMEs เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together โดยรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จากทั้งหมด 20 รุ่นทั่วประเทศ ตามแผนปี 2567-2568 ตั้งเป้าส่งต่อความรู้สู้โลกเดือดให้ SMEs 1,200 คน  ขณะที่โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นการจับมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจีซี เป็นตัวอย่างการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามารีไซเคิลแบบ Closed-Loop  สำหรับบางโครงการแม้ยังมีข้อติดขัด แต่ก็มุ่งมั่นเดินหน้าต่อ ร่วมกันปลดล็อคให้การทำงานติดสปีดเร็วขึ้น อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) รองรับการเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือการสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Green Finance) ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความคืบหน้าข้างต้นเกิดขึ้นได้จากการปรับวิธีคิด เน้นทำงานแบบบูรณาการ (Open Collaboration) มี 3 หัวใจหลัก 1) เป้าหมายร่วมกัน (Same Goal) คือเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำตาม NDC Roadmap (แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ)  2) แบ่งปันสื่อสาร (Open Communication) พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พบระหว่างการทำงาน  3) ลงหน้างานจริง (Hands-on) ให้เข้าใจสถานการณ์ ข้อจำกัด และความต้องการของอีกฝ่าย แล้วนำมาปรับวิธีทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายร่วมกันได้ดีที่สุด ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น  หลังจากนี้ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนทุกโครงการ เพื่อให้สังคมคาร์บอนต่ำเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย”

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การเปลี่ยนจังหวัดสระบุรี เมืองอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เป็นเรื่องท้าทายมาก แต่เราก็ทำได้ด้วยโมเดล PPP หรือ Public-Private Partnership ที่ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เห็นชัดจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จัดการวัสดุเหลือใช้ทั่วทั้งจังหวัด อาทิ โครงการธนาคารขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนคัดแยกขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันดำเนินการครบทั้ง 108 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดเป็นกองทุนธนาคารขยะ 123 กองทุน ขณะเดียวกันช่วยลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย  โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 3,495 ตัน CO2 เทียบเท่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท  ขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ปลดล็อคด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นตัวกลางเชื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมมารับซื้อ สร้างความมั่นใจในด้านรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันปลูกแล้วกว่า 100 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คาดว่าสามารถแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปี และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตัน CO2 เทียบเท่า”

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “ฐานกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศกว่าร้อยละ 80 อยู่ที่สระบุรี ที่นี่จึงเป็นเสมือนบ้านของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เราจึงอยากพัฒนาบ้านของเราให้ดีขึ้น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งเปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค : Hydraulic Cement) ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตัน CO2 (ข้อมูลสะสม มกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2567) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายของ จ.สระบุรี โดยไทยตั้งเป้าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่มีปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปี 2568 อีกทั้งมีแผนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำประเภทใหม่ ๆ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น สำหรับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งมีความชำนาญและเครื่องมือในการจัดทำแผน Energy Transition ของสหรัฐอเมริกา โดยร่วมกันประเมินเส้นฐาน (Baseline) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และกำหนด Energy Roadmap ของ จ.สระบุรี รวมถึงประเมินแนวทางการใช้พื้นที่ของจังหวัดฯ​ ทำเป็น Solar PV พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน นอกจากนั้นควรเร่งพัฒนา Green Infrastructure รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศ โดยศึกษากระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของจีน ที่มีการแบ่งลำดับขั้นตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างของไต้หวันที่มีโครงสร้างไฟฟ้าแบบการประมูลรายวัน ปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนา Grid Modernization ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โฮมโปรในฐานะผู้นำเรื่องบ้าน เล็งเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนสินค้าในบ้าน แต่ไม่รู้วิธีจัดการสินค้าใช้แล้วที่ถูกต้อง จึงริเริ่มโครงการ Closed-Loop Circular Products ซึ่งเป็นการนำสินค้าที่ใช้งานแล้วจากลูกค้าโฮมโปร มาจัดการอย่างถูกวิธี โดยคัดแยกชิ้นส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ และได้ความร่วมมือจากพันธมิตรหัวใจสีเขียวอย่างเอสซีจีซี ที่มีเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเหมือนกัน ช่วยพัฒนาสูตรพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่เรียกว่า Green Polymer เพื่อนำกลับมาผลิตอีกครั้งเป็นสินค้ารักษ์โลกให้กับลูกค้าโฮมโปร ปัจจุบันโฮมโปรมี Circular Products ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น พัดลม ไปจนถึงกระเบื้อง กล่องอเนกประสงค์ ถุงช้อปปิ้ง และอื่น ๆ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด Circular Products ด้วยระบบ Closed-Loop ถือเป็นภารกิจที่ตอบเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ของโฮมโปรได้อย่างเป็นรูปธรรม”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า “ความท้าทายของผู้ประกอบการรายย่อยไทยต่อจากนี้คือ การปรับธุรกิจให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกิดจากประเด็นความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อาทิ Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงทางการค้า  ธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อน จะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวและพาธุรกิจอยู่รอดได้เร็ว ดังนั้นสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจึงสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงความรู้ มาตรฐานใหม่ ๆ เทคโนโลยีกระบวนการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แหล่งเงินทุนสีเขียวทั้งในและนอกประเทศสำหรับใช้ในการปรับธุรกิจ เน้นสร้างกลไกเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ทั้งการเงิน ส่งเสริมความรู้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วย SMEs ให้ร่วมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนด้วย”

นายธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่เพียงช่วยบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตโลกเดือด แต่ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและประเทศ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขาลง ตลาดแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าจากจีน การบังคับใช้มาตรการ CBAM ที่จะกระทบต่อภาคการผลิต นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอน เราจึงต้องเร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยวิธีการอื่น ๆ  ปีนี้ทุกภาคส่วนจึงร่วมกันจัดงาน ESG Symposium 2024 ภายใต้ธีม “Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” โดยนำข้อเสนอจากการหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 ด้านสำคัญ ได้แก่  1) Saraburi Sandbox โมเดลต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  2) Circular Economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้คุ้มค่าสูงสุด  3) Just Transition การสนับสนุนทรัพยากรแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน  4) Technology for Decarbonization การพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  5) Sustainable Packaging Value Chain การจัดการแพคเกจจิ้งทั้งระบบอย่างยั่งยืน  มานำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เร็วขึ้นกว่าเดิม”

งาน ESG Symposium 2024 จัดขึ้นวันที่ 30 กันยายนนี้ ณ Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 11.00-16.30 น. โดยมีวิทยากรระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมชมนิทรรศการจำลองการใช้ชีวิตแบบโลว์คาร์บอน รับชมการถ่ายทอดสดได้ที่ Facebook และ Youtube ของเอสซีจี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.scg.com

มูลนิธิเอสซีจี มุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนไทยในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ในสายอาชีพ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ 3 สาขา คือสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย สาขาการประกอบอาหาร และสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดส่งผู้แทนเยาวชนไทยจำนวนทั้งสิ้น 22 คนไปร่วมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานนานาชาติ 19 ทักษะฝีมือในการแข่งขัน WorldSkills Lyon 2024 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10-15 กันยายน ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฎว่า นางสาวอริยพร ลิ้มกมลทิพย์  หรือน้องแก้ม พยาบาลวิชาชีพจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เข้าแข่งขันในสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) เหรียญเดียวของไทยปีนี้ และรางวัล Best of Nation หลังจากทำคะแนนรวมได้เป็นลำดับที่ 1 ของโลกจาก 19 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ นางสาวกนกวรรณ อินทะ นักศึกษาชั้นปี 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ผู้เข้าแข่งขันสาขาการประกอบอาหาร ได้รับรางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และ นายธนกร ช่วงรัตนาวรรณ นักศึกษาชั้นปี 2 วิทยาลัยดุสิตธานี ผู้เข้าแข่งขันสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับรางวัลเหรียญความทุ่มเทเสียสละ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจี และประเทศไทย

นอกจากที่ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนเยาวชนทั้ง 3 สาขา ในการเก็บตัวฝึกซ้อม ดูแลจิตใจของน้องๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมอบทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี มูลค่ารวม 3,000,000 บาท ไปแล้วนั้น ยังมีการพิจารณาจัดมอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญทอง เงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้ได้รับเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และเงินจำนวน 5,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญความทุ่มเทเสียสละ กลับมาในครั้งนี้อีกด้วย

นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว มูลนิธิเอสซีจี ยังมุ่งสร้างโอกาสและมุ่งแสวงหาเวทีให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเชิง Hard Skill หรือ Soft Skill ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตามแนวคิด LEARN TO EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด นำมาพัฒนาทักษะของตนเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศในสายวิชาชีพต่อไป

Page 1 of 63
X

Right Click

No right click