ข้าวหอมมะลิของไทยนับเป็นของดีที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี ด้วยความหอมอร่อยของข้าวและรสสัมผัสที่นุ่มนวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิที่มาจากทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่ประกอบไปด้วย อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์, อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม, อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดศรีสะเกษ, อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งดินทรายทำให้ข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้มีรสชาติหอม อร่อยเป็นที่ติดใจคนไปทั่วโลก แม้ทุกวันนี้สภาพภูมิประเทศของทุ่งกุลาร้องไห้จะมีการพัฒนามากขึ้น ถนนหนทางตัดผ่านช่วยการขนส่งสินค้าและผู้คน ต้นไม้ยืนต้นมีให้เห็นในทุ่งกว้างจากตำนานดั้งเดิมที่บอกว่าเป็นที่ราบแห้งแล้งไม่มีแม้แต่ต้นไม้ให้ร่มเงา หากวิถีการเพาะปลูกของเกษตรกรยังคงต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ พร้อมกันกับการพัฒนาที่เข้าสู่พื้นที่ส่งผลให้ประชากรในท้องถิ่นมีการโยกย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานในต่างเมือง การทำเกษตรกรรมที่เคยใช้แรงงานในครัวเรือนก็เปลี่ยนสู่การว่าจ้างแรงงานมาทำงานในนาแทน รวมถึงการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรหลากหลายรูปแบบมาใช้อำนวยความสะดวกในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต
นอกจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ช่วยทำให้ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้มีความโดดเด่นแตกต่างจากข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นแล้ว พันธุ์ข้าวและกระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการสีข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตผลที่ออกมามีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับ
กว่าจะได้ข้าวเปลือกเมล็ดเรียวยาว ที่เมื่อนำมาสีแล้วกลายเป็นข้าวเมล็ดเรียวสวย ขาวใสเป็นเงา มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย บรรจุลงถุงสู่มือผู้บริโภค ต้องผ่านกระบวนการและผู้คนจำนวนมาก และเมื่อปัญหาเดิมๆ ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำงานกับเกษตรกร เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพได้ดียิ่งขึ้น
ความยากลำบากของชาวนาไทย
อดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. บอกเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนลูกค้า ธ.ก.ส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทำให้พบปัญหาหลักๆ คือ การจัดการผลผลิต การที่เกษตรกรยังไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องการตลาด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร การจะช่วยเกษตรกรให้ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ จึงเป็นภารกิจที่พนักงาน ธ.ก.ส. ทุกคนต้องร่วมปฏิบัติ ไม่ว่าปัญหาจะแปรเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร จากช่วงเริ่มต้นของธ.ก.ส. ที่เน้นการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมซึ่งปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันสินเชื่อที่ให้กับเกษตรกรลูกค้ายังไม่เพียงพอ พนักงาน ธ.ก.ส. จึงต้องเน้นการเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นตามปณิธานของธนาคาร
ธ.ก.ส. มีโครงการช่วยเหลือลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งการแนะนำเกษตรกรต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรรายอื่นๆ มาศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การช่วยพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา เพิ่มมูลค่าแบบยั่งยืนให้กับเกษตรกร การสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนพัฒนากิจการด้านเกษตรกรรมของไทยต่อไป
จากแนวทางดังกล่าวจึงถูกกำหนดเป็นนโยบายและภารกิจที่ส่งต่อไปยัง ธ.ก.ส. ในแต่ละระดับ ในระดับภูมิภาค ศิริเพ็ญ โกษารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ธ.ก.ส. กล่าวถึงบทบาทของ ธ.ก.ส. นอกจากการอำนวยสินเชื่อให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด แล้ว ในเรื่องข้าว ธ.ก.ส. สนับสนุนชุมชนโดยการช่วยลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยใช้วิธีเข้าไปในชุมชน ร่วมทำแผนชุมชนและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งมีทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว เรื่องของคลัง เรื่องของการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก เรื่องของการบริหารจัดการ การรวมตัวกันใช้เครื่องจักรรวม เมื่อผลผลิตออกมาแล้ว ธ.ก.ส. ยังมีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องความยุติธรรมที่เกษตรกรควรได้รับ เช่นเรื่องตราชั่ง การตรวจสอบคุณภาพข้าว ราคาข้าว ผ่านกระบวนการสหกรณ์ที่ ธ.ก.ส. ร่วมดูแลอยู่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการกระจายองค์ความรู้ในการจัดการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น
การปฏิบัติของ ธ.ก.ส. จังหวัดที่ได้รับมอบนโยบายมาดูแลเกษตรกร วุฒิชัย ข่าขันมะลี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลปัญหาของเกษตรกรที่พบในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดว่า ปัญหาของเกษตรกรชาวนาในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่พบมายาวนาน คือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตของประเทศอยู่ที่ 466 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ที่ร้อยเอ็ด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 373 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่สูงมากอยู่ที่ 5,040.51 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศที่ 3,800 บาทต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรใช้วิธีว่าจ้างแรงงานจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาที่สามที่ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เพราะเกษตรกรไม่คัดพันธุ์ข้าวที่นำมาเพาะปลูก ไม่มีการบริหารจัดการเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้ราคา ปัญหาต่อมาคือเรื่องสภาพภูมิอากาศ ที่บางปีมีภัยแล้ง และศัตรูพืชที่รุนแรงส่งผลต่อการผลิตของเกษตรกร และสุดท้าย คือ ปัญหาด้านการตลาดที่เกษตรกรค่อนข้างเสียเปรียบพ่อค้าในกระบวนการขาย การสีข้าว ทำให้กลไกการตลาดที่ควรจะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ทั้งที่ร้อยเอ็ดเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ วุฒิชัย ในฐานะคนร้อยเอ็ดแต่กำเนิด มองเห็นมา และพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. ผ่านกลไกที่ธนาคารมีอยู่ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ปัญหาของเกษตรกรจากมุมมองของผู้บริหาร ธ.ก.ส. ทำให้เกิดแนวทางร่วมแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างครบวงจร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือเมล็ดพันธุ์ วิธีการเพาะปลูก การควบคุมคุณภาพการผลิต การแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิคุณภาพ ที่นำมาพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถสร้างเป็นแบรนด์ข้าว A-Rice ผ่านช่องทางสหกรณ์และกลุ่มชุมชนต่างๆ
คุณภาพคือทางออก
อดุลย์ มองว่าทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรคือการทำผลผลิตที่มีคุณภาพ จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากคุณภาพ เป็นหัวใจของการตลาด เมื่อมีผลผลิตคุณภาพดีสม่ำเสมอก็ย่อมสามารถจำหน่ายได้ราคาดี การเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถทำการตลาดโดยเน้นที่มาตรฐานคุณภาพ ที่ช่วยให้ได้รับการรับรองต่างๆ จึงเป็นเป้าหมายที่ธนาคารกำลังดำเนินการอยู่
ศิริเพ็ญ ให้ภาพของนโยบายระดับภูมิภาคว่า ธ.ก.ส. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นชุมชน โดยยกตัวอย่างในจังหวัดร้อยเอ็ด มีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างชุมชนเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมภาคการผลิต ลดต้นทุน การทำแผนชุมชน โดยให้คนในชุมชนวางแผนของตนเอง โดยมี สกต. และ ธ.ก.ส. สนับสนุนในเรื่องที่ขาดแคลน รวมถึงการดึงส่วนราชการ เช่น เกษตรจังหวัด กรมที่ดิน กรมชลประทาน มาช่วยร่วมมือกันจัดทำเป็นแผนงานที่ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และผลสัมฤทธิ์ ในส่วนของจังหวัด วุฒิชัย ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส. กำลังสนับสนุนให้เกษตรกรลงทุนรถเกี่ยวนวดของชุมชน เพื่อแก้ปัญหาข้าวปลอมปนที่มาพร้อมกับรถเกี่ยวนวดรับจ้างที่เดินทางไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีความพยายามจะพัฒนาชุมชนให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีกรมการข้าวสนับสนุนดูแลทั้งด้านองค์ความรู้และการรับรอง เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น มีคุณภาพ
ศิริเพ็ญ เสริมให้เห็นภาพรวมการผลิตข้าวรอบโรงสี สกต. ร้อยเอ็ด ว่า ต้องมีชุมชนต้นน้ำที่ป้อนวัตถุดิบคือข้าวให้กับโรงสี ด้วยราคาที่ยุติธรรม มีกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลรวมของชุมชน โดยแต่ละชุมชนแบ่งหน้าที่กันทำ เช่นผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย การสร้างลานตากรวบรวมผลผลิต เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน เพราะเมื่อข้าวที่ปลูกมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีราคารับซื้อก็จะดีตามกันไป ในที่สุดผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะกลับไปสู่ตัวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเอง
MBA มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำชุมชนเกษตรกร ที่เข้าร่วมกับ สกต.ร้อยเอ็ดและธ.ก.ส. พัฒนาคุณภาพกระบวนการการผลิตและแปรรูปข้าวในชุมชนโดยรอบ โรงสีข้าว สกต. ร้อยเอ็ด ถึงความเปลี่ยนแปลง วิถีการทำนา ที่กำลังเป็นไปและดอกผลที่พวกเขาได้รับจากการลงมือลงแรง เป็นตัวอย่างของการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการเพาะปลูกผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
เมล็ดพันธุ์ดี จุดเริ่มของคุณภาพ
ชาวนาผู้เริ่มอาชีพทำนากับครอบครัวมาตั้งแต่วัยเด็ก บุญทัน แซงกลาง เกษตรกรประธานศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ใน ม.4 ต.หนองแวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เกษตรกรที่ใช้วิถีชีวิตในระบบเศรษฐกิจพอเพียง คือรับประทานทุกสิ่งที่ปลูก ขายเมล็ดพันธุ์ พอมีรายได้พออยู่พอกิน
บุญทัน คือหนึ่งในเกษตรกรผู้ใฝ่หาความรู้ในการประกอบอาชีพเริ่มจาก การเรียนรู้เรื่องการทำนาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเป็นหมอดินอาสา จนเมื่อปี 2549 มีโครงการจัดตั้ง ศูนย์ข้าวชุมชน ที่เขาเข้าร่วมอบรมและนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับสมาชิก และนำไปสู่การปฏิบัติเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 โดยมีศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และสำนักงานเกษตรตำบลคอยช่วยสนับสนุน
“ทุกคนที่อยู่ในศูนย์เข้าใจขั้นตอนปฏิบัติที่จะทำให้ข้าวได้คุณภาพ ปลอดพันธุ์ปน ซึ่งได้เรียนรู้ในแปลงของตัวเอง ก็ปลูกเองกินเองและเพื่อจำหน่าย ขายทั้งเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรและขายข้าวให้แก่โรงสี”
บุญทัน อธิบายวิธีทำนาของศูนย์ข้าวชุมชน โดยยกตัวอย่างนาของตนเอง ว่า ใช้วิธีปักดำบนพื้นที่ 37 ไร่ ทำเป็นแปลงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 15 ไร่ ซึ่งจะต้องดูแลอย่างดี เพื่อเก็บเกี่ยวนำมาบรรจุจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายในพื้นที่รอบบ้าน
“ผมนำข้าวพันธุ์หลักมาจากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ทุกปี โดยเดือนกุมภาพันธุ์ มีนาคม ผมจะเริ่มจองข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวเพื่อมาทำพันธุ์ในแปลงพันธุ์ ซึ่งเขาเรียก ชั้นพันธุ์หลัก พอพวกผมมาทำก็เรียก ชั้นจำหน่าย ให้แก่สมาชิก ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนจะเก็บข้าวไว้ทำพันธุ์และบริการในเขตพื้นที่ อีกส่วนส่งไปที่โรงสี สกต.”
บุญทัน อธิบายว่า การใช้พันธุ์หลักจากศูนย์วิจัยฯ ทำให้ได้พันธุ์ที่ไม่มีการเจือปน โดยเกษตรกรที่มาซื้อเมล็ดพันธุ์ไปปลูกก็สามารถเก็บพันธุ์ข้าวของตัวเองได้เช่นกัน โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้องด้วยการตัดพันธุ์ที่ปนอยู่ในแปลงนา แยกการเกี่ยวไม่รวมกับข้าวอื่นๆ
เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่นำมาเพาะออกรวงสมบูรณ์ ได้เวลาเก็บเกี่ยว กลุ่มของบุญทันจะใช้วิธีเกี่ยวข้าวด้วยมือ นำไปตากให้แห้ง เก็บในยุ้งฉาง เมื่อใกล้ฤดูทำนาก็จะมีคำสั่งซื้อเข้ามา ทางกลุ่มก็จะนำมาทำความสะอาดแยกสิ่งเจือปนเช่นหญ้าออกไป และคัดเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์บรรจุถุงศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองช้างจำหน่ายให้แก่เกษตรกร
การจะเป็นศูนย์ข้าวชุมชนได้ บุญทันระบุว่า ต้องมีใจรัก “ใจอยากจะได้คุณภาพ ใจอยากให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่เราทำ เราทำดีมา อย่างผมเอามาขายที่นี่ ก็มีคนบอกข้าวอะไร ไม่มีอย่างอื่นปนสักเม็ด นี่ข้าวที่เราทำครับ ซึ่งพอนำมาขายก็ได้ราคา 14 บาท เพราะเกษตรกรทั่วไปบางท้องถิ่นจะหว่านข้าวรอฝน เป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตเพราะหว่านไปแล้วฝนไม่ลง พอฝนลงข้าวไม่งอก เพราะแห้งจนเกินไป พอขายพันธุ์ข้าวให้เขาก็ต้องแนะนำเขาด้วยว่า ต้องปลูกในระยะที่เหมาะสม คือให้ดินมีความชื้น บ้านเราเรียกกำดินมาตั้งก้อนได้ พิสูจน์อย่างนี้ก็ได้ ข้าวจะงอกได้ จะได้ทำนาปีละครั้ง บางคนทำปีละ 3 ครั้งก็ยังไม่ได้เพราะไม่รู้จักตัวเอง ไม่ปลูกในระยะที่เหมาะสม หว่านรอฝนก็แห้ง หว่านใหม่ก็ไม่เกิดอีก มันเพิ่มต้นทุนในการผลิต ดังนั้น ต้องดูความชื้นของดินเป็นหลัก อย่างปีนี้ผมปักดำนาวันที่ 28 กรกฎาคม ต้องรอมีน้ำถึงปักดำได้ ช่วงนี้แสงปรับเปลี่ยนมาทางทิศใต้ เข้าสู่ปลายเดือนตุลาคม ผมสังเกตปีนี้ข้าวออกดอกช้าเพราะความแห้งแล้ง ยังไม่ออกดอกเลย พอแล้ง เกษตรกรก็ไม่ได้ให้ปุ๋ย พอให้ปุ๋ยกลางเดือนกันยายน ข้าวก็เลยออกดอกช้า ก็จะเก็บเกี่ยวกลางๆ พฤศจิกายน ต่างจากบางปี 8 พฤศจิกายน ได้เก็บเกี่ยวแล้ว”
หลักสำคัญของการทำเมล็ดพันธุ์คือการไม่มีพันธุ์อื่นเจือปน วิธีการที่กลุ่มของบุญทันใช้คือ ดูให้ละเอียด เขาอธิบายว่า “เวลาเก็บเกี่ยวก็ขอร้องให้รถเกี่ยวเกี่ยวเฉพาะข้าวพันธุ์ในวันนั้น เพื่อไม่ให้ปนกับพันธุ์อื่น หลังจากเก็บเกี่ยวก็ตากโดยใช้ผ้าเขียวรอง แล้วส่งเข้าตรวจในศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดของกรมการข้าว เพื่อดูความบริสุทธิ์ การงอก ดูทุกปี ทุกราย พอศูนย์ฯ บอกว่าผ่านหรือไม่ผ่านก็จะมีรายละเอียดมาให้ แล้วในกลุ่มเองก็ตกลงกันว่า ลงตัดพันธุ์ปนในครั้งนี้ ใครมีพันธุ์ปนน้อยที่สุด จะได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง บวกคะแนนไปเรื่อยๆ และเวลาจำหน่าย ก็จะให้ข้าวที่มีความบริสุทธิ์สูงสุดจำหน่ายก่อน ซึ่งศูนย์ของเราเองก็จะผ่านทุกคน ทุกปี”
บุญทันมองว่า เป็นเรื่องดีที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรเรื่องคุณภาพข้าว ขณะที่บางพื้นที่มีปัญหาเนื่องจากผู้นำชุมชนเมื่อเข้ารับฟังข้อมูลความรู้ต่างๆ แล้วไม่สามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จึงทำให้เกษตรกรไม่เข้าใจปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง
นอกจากนี้ความรู้อื่นๆ เช่นการใช้ปุ๋ยพืชสด การปรับเปลี่ยนเข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ ทำให้ความเข้าใจเรื่องการทำนาระบบ GAP ที่ช่วยให้ตัวเกษตรกรเองปลอดภัย รวมถึงไปถึงผลผลิตที่ออกไปสู่ผู้บริโภค กระจายมากขึ้น
GAP ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) ซึ่งเป็นแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและกระบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานตรวจรับรองระบบการจัดการคุณภาพ : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) โดยได้กำหนดข้อกำหนด กฎเกณฑ์และวิธีการตรวจประเมิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับ GAP ตามหลักการสากล เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการผลิตพืชในระดับฟาร์มของประเทศ GAP ของกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว มุ่งให้เกิดกระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย ปลอดจากศัตรูพืชและคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ประกอบด้วยข้อกำหนดเรื่อง แหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การเก็บรักษาและขนย้ายผลิตผลภายในแปลง การบันทึกข้อมูล การผลิตให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ และการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ทองใบ เทียมวงเดือน ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวหนอง, ประธานศูนย์ข้าวชุมชน, ประธานโรงสีข้าว, ประธานร้านค้าชุมชน ในฐานะผู้นำเกษตรกรปลูกข้าว GAP ชาวนาผู้บอกว่า ลงนามาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จึงผูกพันและเชี่ยวชาญการทำนาไม่แพ้ใคร
เขาเล่าวิถีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่รับผิดชอบอยู่ว่า “ข้าวแถวนี้เป็นพันธุ์ขยายทั้งหมด อยู่ที่ยุ้งฉางของตัวเอง พวกผมทำพันธุ์หลักที่เหลือก็เก็บไว้ ทำอย่างนี้ตลอด เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้าวร้อยเอ็ดก็จะมาดูแลให้เราทำ EPA 02 จดตั้งแต่ไถดะ หว่านวันไหน ลงแปลงวันไหน ก็ต้องจด เขาจะมาดูเรื่อยๆ มาตรวจ ผ่านกระบวนการแล้วก็ได้ใบรับรองจากกรมการข้าวคือ ใบ GAP”
การปลูกข้าว GAP ตามเกณฑ์ที่กำหนดนั้น ผู้ใหญ่ทองใบบอกว่า ที่นาของพวกเขานั้นผ่านอยู่แล้วเพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม น้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำฝน ส่วนการใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่เดิมเกษตรกรนิยมใช้กัน เมื่อมีประชาคมร่วม มีธรรมนูญหมู่บ้านเข้ามาบังคับ ทำให้การใช้สารเคมีลดลง จนแทบจะไม่มี
เขาเล่าต่อว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทำนาโดยมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุก 3 ปี จัดเป็นกลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ที่มีการนำหลักวิชาการมาประกอบในการเพาะปลูก
“กลุ่มข้าวหอมมะลิของเราส่วนมากจะพัฒนา การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ เราบอกให้ทุกคนใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีก็ใส่เหมือนกัน แต่ใส่ปริมาณ 30 กิโลกรัมต่อไร่ ตามที่ศูนย์ข้าวร้อยเอ็ดกำหนดมา แล้วก็ได้ใบรับรอง ทุกปีเราต้องส่งเมล็ดพันธุ์ไปตรวจหาสารตกค้าง ส่งดินไปตรวจ ส่งน้ำไปตรวจ ถึงจะได้ใบรับรอง เกษตรกรคนที่ไม่ผ่านก็มี คือคนที่มีนาแล้วน้ำจากนาคนอื่นก็ไหลมา หรือมีเมล็ดพันธุ์ปนมั่ง แต่ส่วนที่เราควบคุมดูแลผ่านหมด” ผู้ใหญ่ทองใบกล่าวอย่างภูมิใจ
ข้อมูลที่ผู้ใหญ่ทองใบสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมาในพื้นที่รับผิดชอบ 184 หลังคาเรือน มีประชากร 716 คน ที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปี 3,100 ไร่ เกษตรอำเภอวิเคราะห์สรุปผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 456-457 กิโลกรัมต่อไร่ เป้าหมายของเขาจึงอยากจะพัฒนาให้ได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นความใฝ่ฝันร่วมกันของชุมชนที่คิดจะทำ อยากเพิ่มผลผลิต โดยปัญหาสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่ออกมา
“ผมทำแผน 3 ปี ไว้กับองค์การบริหารส่วนตำบล เกี่ยวกับการทำคลองน้ำหรือลงท่อ แต่ อบต. ก็ไม่ค่อยจะมีงบประมาณ รอน้ำฝน ใช้ธรรมชาติล้วนๆ กรมพัฒนาที่ดินสุวรรณภูมิก็มาช่วยเกี่ยวกับบ่อน้ำ ปีที่ผ่านมาได้มา 25 บ่อ ถ้าเรามีการระบายน้ำดี ก็ระบายน้ำออกได้ทันท่วงทีเวลาเก็บเกี่ยวข้าว ได้ยินว่าจะมีโครงการไปช่วย ธ.ก.ส. จะให้ไปทำคลองระบายน้ำ ฝาย ก็จะมีโครงการช่วย ก็คาดว่าอนาคตจะมีลักษณะนั้น เราก็อาจจะได้ข้าว 600-650 กิโลกรัมต่อไร่” ผู้ใหญ่ทองใบอธิบาย
นอกจากเรื่องเพิ่มผลผลิตชุมชนยังมีเป้าหมายเรื่องตลาด เมื่อสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นผลผลิตส่วนหนึ่งจึงจะจำหน่ายตามปกติ อีกส่วนที่เหลือจะนำมาทำเป็นข้าวออร์แกนิก และต่อไปเมื่อมีโรงสีของชุมชนก็จะสามารถทำเป็นข้าวกล้อง แล้วส่งต่อให้กับ โรงสีของ สกต. สีให้เป็นข้าวขาวจำหน่ายในอนาคต โดยปัจจุบันสิ่งที่ยังขาดอยู่คือ ลานตากข้าวหรือโรงอบข้าว ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
GAP
กองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว กรมการข้าว กำหนดวัตถุประสงค์การผลิตข้าว GAP ไว้ว่า
1. ผลิตข้าวเปลือกที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
2. ผลิตข้าวเปลือกคุณภาพตรงตามพันธุ์ มีพันธุ์ปนได้ไม่เกินร้อยละ 5 คุณภาพการสีดีได้ปริมาณต้นข้าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
โดยมี 7 ข้อที่ตรวจประเมินในการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตข้าว GAP ประกอบด้วย
1. แหล่งน้ำ : น้ำมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตราย
2. พื้นที่ปลูก : ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในข้าว
3. การใช้วัตถุอันตราย : ห้ามใช้สารเคมีต้องห้ามตามประกาศของกรมวิชา-
การเกษตร การใช้และเก็บรักษา ต้องป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นต่อผู้ใช้และผู้อื่น
4. การจัดการคุณภาพข้าว : ป้องกัน ควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้ข้าวเปลือกตรงตามพันธุ์ และมีการดูแลรักษา และป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
5. การเก็บเกี่ยวข้าว : เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ต้องทำความสะอาดและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ต้องลดความชื้นให้ไม่เกิน 15%
6. การขนย้าย การเก็บรักษา และการรวบรวมผลผลิต : อุปกรณ์และพาหนะสำหรับบรรจุ การขนส่ง และสถานที่เก็บรักษาที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนและไม่มีผลต่อคุณภาพของผลผลิต
7. การบันทึกข้อมูล : ต้องมีการจดบันทึกข้อมูลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และครบถ้วน
การตลาดข้าวผ่าน สกต.
ปัญหาหนึ่งของข้าวที่ผลิตออกมา คือเมื่อนำไปจำหน่ายแล้วเกษตรกรเสียเปรียบพ่อค้า การที่สกต. จัดตั้งโรงสีในพื้นที่ อ.เกษตรวิสัย จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงให้สามารถขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม แต่อย่างไรก็ตามโรงสี สกต. ร้อยเอ็ดยังจัดว่าเป็นหน้าใหม่ในแวดวงโรงสีข้าว จึงต้องมีผู้ช่วยในการรวบรวมผลผลิตข้าวคุณภาพมาสีแปรรูปเพื่อนำไปทำการตลาดต่อไป
ไพบูลย์ นารีไผ่ กำนัน ต.หนองแวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะผู้นำชุมชนที่ช่วย โรงสี สกต.ร้อยเอ็ดรวบรวมข้าวในพื้นที่ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเรื่องนี้ว่า ปัญหาดั้งเดิมที่เคยมีคือชาวบ้านเสียเปรียบให้กับเอกชน อย่างเช่นเรื่องตราชั่ง และเทคนิคทางการค้าของโรงสีเอกชน ซึ่งต่างจาก สกต. ที่เกษตรกรเป็นสมาชิกมีหุ้นอยู่ด้วย จึงน่าจะได้รับมาตรฐานความเป็นธรรมมากกว่า แม้ระบบของโรงสีเอกชนจะมีความรวดเร็วกว่าในด้านการตัดสินใจปรับเปลี่ยนราคาเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว แตกต่างจาก สกต. ที่มีคณะกรรมการและอนุกรรมการพิจารณาเรื่องต่างๆ แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ยังอยู่กับผู้ถือหุ้นสหกรณ์นั่นคือตัวเกษตรกรเอง
การเข้ามามีส่วนร่วมโดยชักชวนให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่จึงเป็นบทบาทที่กำนันไพบูลย์เริ่มทำตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา “เราก็ให้ความรู้เขาไปว่า ก่อนที่คุณจะไปขายให้เอกชน สมมติว่ามีตราชั่งของเอกชนใกล้บ้านคุณก็ลองไปจ้างชั่งดูก่อน เสียสัก 20 บาท เป็นค่าชั่ง ถ้าคุณไปเอกชนน้ำหนักคุณหายไป 100-200 กิโลกรัมแสดงว่าเขาเอาเปรียบคุณแล้ว คุณก็เอามาทางนี้ แต่อย่างไรก็ต้องมาที่ สกต. ของเรา ชุมชนเราอยู่ใกล้ๆ ก็ช่วยกัน ถ้าเราไม่ช่วยก็จะไปไม่ไหว ไม่รู้จะเอาทุนที่ไหนมาคืน ทำให้เขาเข้าใจ อธิบาย และมีอะไรก็ช่วยกัน เราก็ร่วมมือกับ สกต.ตลอด ทางนี้ราคาเท่าไร ถ้าไปแล้วแน่นไหม พี่น้องต้องชะลอไว้สักหน่อยไหม ไม่ใช่มาเรียงคิวเป็นร้อยคิว ก็โทรหาผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการว่าแน่นไหม วันนี้นัดตำบลไหนมา”
“ผมบรรยายอธิบายให้เขาเข้าใจนะ โรงสีของเรานะ ไม่ใช่ของคนอื่น คนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ทุกคนเป็นหุ้นส่วนหมดเลย ทีนี้เป็นเจ้าของโรงสีเองแท้ๆ ดันไปขายให้เอกชน ของตัวเองไม่เหลียวแลมีแต่ป้ายสีกันไม่มาส่งเสริม มาคุยกัน นี่แก้ยาก ก็ไปอธิบายผมก็ให้ทางนี้ (สกต. และ ธ.ก.ส.) ทำให้เห็นภาพพิมพ์ไปเลย ท่านเป็นลูกค้าเลขที่เท่านี้ มีหุ้นเท่านี้ ปีนี้ 120 มาถึงขณะนี้รวมแล้วได้เท่าไรก็ว่ากันไป ก็เริ่มตื่นตัวเหมือนกับกองทุนหมู่บ้าน คุณต้องออมเท่าไรถึงจะกู้ได้ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น”
กำนันไพบูลย์มองว่า พื้นที่ ต.หนองแวงจัดว่าได้เปรียบเพราะอยู่ในเขตบริการ 15 กิโลเมตรรอบโรงสี สกต. จึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสกต. รวมถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นก็ส่งผลดีต่อคนในชุมชน จึงจัดเป็นของดีที่มาอยู่ใกล้บ้าน ที่ทุกคนในพื้นที่ต้องร่วมกันดูแล
ปัญหาที่กำนันไพบูลย์พบจากลูกบ้านคือ การส่งข้าวที่ไม่ได้ตากให้แห้งเข้าโรงสีทำให้ได้ราคาต่ำกว่าที่ควรเนื่องจากที่โรงสี สกต.ร้อยเอ็ดไม่มีโรงอบข้าว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหารือกันว่าควรจะลงทุนหรือไม่
“ผมไม่ส่งเสริมให้ขายข้าวสดเพราะเสียเปรียบ ผมจะตาก สมมติเกี่ยวใช้รถเกี่ยวพอเสร็จก็ขึ้นรถมา เทใส่รถมาดัมพ์ลงก็ช่วยกันตาก 3 แดดก็เก็บขึ้นฉาง พอแห้งได้ดี หมักได้สัก 1-2 เดือนแข็งตัวพอ มาบดไม่หักไม่บิ่นค่อยมาขาย ก็จะได้ราคาดี แต่พี่น้องใจร้อน ปีหนึ่งทำรอบเดียวเกี่ยววันเดียวก็ขายเลย บางทีฝากคนรถมาด้วย ตัวเองกินเหล้าอยู่บ้าน นี่คือปัญหา บางคนให้เขานับสตางค์ให้ด้วย นี่คือเรื่องจริง เป็นปัญหาของชาวนาเราบางคน ผมก็บอกว่าอย่ามักง่ายเกินเพราะว่าปีหนึ่งทำแค่ครั้งเดียว กว่าจะได้ คุณข้าว คุณน้ำ แม่โพสพ สิ่งที่เลี้ยงเรามาต้องเคารพบูชา ถ้าเราศรัทธาก็อยู่กับเรานาน อย่างข้าวก็เหมือนกันถ้าเราทะนุถนอม ตอนเย็นๆ ผมมีความสุขมากนะลงทุ่งนา”
กำนันไพบูลย์มองว่าวิธีการที่ สกต. และ ธ.ก.ส. เข้ามาร่วมกับชุมชนและเกษตรกร เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตข้าวหอมมะลิ นั้นมาถูกทางแล้ว สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปคือ ต้องรักษาสิ่งดีๆ ที่มี และชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจเพราะสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังมีโรงสีเอกชนอยู่รายรอบอีกหลายแห่งในพื้นที่
โรงสี สกต. จุดเชื่อมคุณภาพ
กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ดที่จัดเป็นตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตข้าว ชุมชน สหกรณ์ และสถาบันการเงินอย่าง ธ.ก.ส. คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ที่ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของ สกต. ร่วมกัน และใช้หน่วยงานนี้เป็นตัวกลางเชื่อมโยง ถ่ายทอดองค์ความรู้ และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่
ทิพาภรณ์ ศรีพลลา ผู้จัดการโรงสี สกต. ร้อยเอ็ด จำกัด หนึ่งในลูกหม้อของสกต.ร้อยเอ็ดที่มีส่วนร่วมในการทำงานมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2535 จากเจ้าหน้าที่บัญชีจนเติบโตมาเป็นผู้จัดการโรงสี สกต.ร้อยเอ็ดในวันนี้
บทบาทหน้าที่ของ สกต. ที่สำคัญอย่างเช่นการต่อรองซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีมาจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคายุติธรรม เป็นการรวมพลังการต่อรองของสมาชิกทั้งจังหวัด และวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้สมาชิกได้สิ่งที่ต้องใช้ทันฤดูกาลและการใช้งาน
ในส่วนของการขาย สกต. เป็นตัวกลางเพื่อคานอำนาจราคาของพ่อค้าคนกลางไม่ให้สามารถกำหนดราคาได้ตามอำเภอใจ ช่วยประคับประคองราคาผลผลิตที่ออกมาช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
และที่พิเศษสำหรับที่ร้อยเอ็ดคือการมีโรงสีที่ทำหน้าที่แปรรูป ที่เป็นช่องทางหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้กับเกษตรกร ช่วยให้มีทางเลือกในการนำผลผลิตมาเพิ่มมูลค่าให้กับสมาชิก โดย ธ.ก.ส. และ สกต. ร่วมกันพัฒนาให้สมาชิกผลิตข้าวคุณภาพดีเพื่อเข้าสู่โรงสี มีการทำโครงการเชื่อมโยงกัน เป็นการประกันราคาขั้นต่ำ
“ถ้าย้อนไปปีแรกๆ 2554-2555 ที่เปิดโรงสี รัฐบาลมีโครงการจำนำข้าวตันละ 20,000 บาท ช่วงนั้น สกต. ก็ประกันให้สมาชิกตันละ 20,000 บาทเช่นกัน แต่ปีนี้เรามีโครงการพัฒนาข้าวหอมมะลิเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืนของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งเรามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความหอมเพิ่มขึ้นของข้าวเปลือกและเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ จากเดิม 400 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 500 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นโครงการที่ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผลิตข้าวคุณภาพดี โดย สกต. ประกันราคาที่ 14,000 บาท ถ้าคุณภาพเพิ่มขึ้น สกต.บวกเพิ่มให้ตันละ 200-300 บาท ถ้าราคาขณะนั้นในตลาดมากกว่า 14,000 สกต. ก็ซื้อเท่าราคาตลาดและให้ราคาเพิ่มตามคุณภาพ นี่คือการเฉลี่ยคืนทันทีสำหรับสมาชิกที่ทำธุรกิจกับ สกต. พอสิ้นปีมีกำไรก็จ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกอีก ที่เกษตรกรได้ชัดเจนคือ ราคาข้าวเปลือก โดยปกติที่ไม่มีโรงสี เราซื้อมาขายไป ส่วนต่าง 200 บาทถือว่าสูงสุด แต่พอเรามีโรงสี เราตั้งเลย ส่วนต่าง 500 บาทเป็นอย่างต่ำ” ทิพาภรณ์ กล่าว
การมีโรงสีข้าวของตัวเองทำให้ราคารับซื้อทำได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากสามารถนำมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการแปรรูปมาใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น ตามคุณภาพของข้าวที่เข้ามาสู่โรงสี
ทั้งนี้วิธีการในการได้ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานคือการส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจวิธีการผลิตโดย สกต. ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อนำประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชแบบ GAP ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น “เราคาดหวังว่ากลุ่มชุมชนต้นแบบนี้จะส่งข้าวคุณภาพดีให้โรงสี สกต.” ทิพาภรณ์กล่าว
จากข้าวคุณภาพที่เกษตรกรเพาะปลูกขึ้นมา และด้วยความที่อยู่ในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อคือทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้โรงสี สกต.ร้อยเอ็ดเป็นโรงสี สกต.เพียงแห่งเดียวที่ได้สิทธิ์ใช้แบรนด์ A-Rice ในข้าวบรรจุถุงส่งขายทั่วประเทศ ตั้งแต่เปิดโรงสีในปี 2555
“ธนาคารก็ให้พนักงานธนาคารมาตั้งมาตรฐานให้เลยว่า ต้องพรีเมียม เป็นแบรนด์เอไรซ์นะ คุณภาพต้องแบบนี้นะ เราก็ได้สิ่งดีๆ ตั้งแต่เริ่มทำ ข้าวเราสะอาด ลูกค้าพึงพอใจ และโรงสีของเราได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว ทั้ง GMP HACCP ISO14100 ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามมาตรฐานสากล เพราะเราเน้นเรื่องคุณภาพ”
ทิพาภรณ์เล่าว่า ผลตอบรับหลังจากสกต.ร้อยเอ็ดมีโรงสีของตัวเอง ที่ได้รับฟังจากสมาชิกคือ ความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของเครื่องชั่งและการตรวจคุณภาพข้าว ในขณะที่ราคาที่เกษตรกรได้รับก็เป็นรองโรงสีเอกชน พร้อมกับความเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ สกต. ที่เคยเป็นเพียงช่องทางการตลาดทางหนึ่ง จึงเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเกษตรกรที่ตั้งใจทำข้าวคุณภาพดี
A-Rice From the Farmer
อดุลย์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ในฐานะผู้บริหาร ที่ลงพื้นที่คลุกคลีกับเกษตรกรลูกค้าของธนาคารมายาวนาน มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร จนได้บทสรุปที่สำคัญว่า คุณภาพ คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้า ธ.ก.ส. ดียิ่งขึ้น การสร้างแบรนด์ A-Rice จึงเป็นความพยายามร่วมแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส.เข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่เกษตรกรยังขาดแคลน และพื้นที่ร้อยเอ็ดจัดเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกับเกษตรกร ผ่านตัวกลางคือ สกต. ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของตนเองได้ดียิ่งกว่าที่เคยเป็นดังตัวอย่างข้างต้น
ศิริเพ็ญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ธ.ก.ส. เสริมว่า ธ.ก.ส. จะช่วยลูกค้าชุมชนในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะในภาคชนบทมีภูมิปัญญาที่มีค่าอยู่มากที่ต้องช่วยกันนำมาสร้างเป็นมูลค่า นำรายได้กลับสู่ท้องถิ่น โดยบทบาทนี้จะทำควบคู่ไปกับหน้าที่หลักของธนาคารในการให้บริการสินเชื่อ
ในเรื่องตลาด สกต. มีแบรนด์เอไรซ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อนำไปทำการตลาดได้ ผลประโยชน์ก็จะกลับมาสู่ผู้ผลิต และจะช่วยให้เกษตรกรมีเป้าหมายในการสร้างมาตรฐาน และทำผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และหากโมเดลที่ร้อยเอ็ดประสบความสำเร็จก็มีโอกาสที่จะขยายเครือข่ายออกไปได้อย่างไม่มีสิ้นสุด
วุฒิชัย ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ความเห็นว่าการมีแบรนด์ A-Rice เป็นข้าวพรีเมียมให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลผลิตจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นข้าวที่มีการทำวิจัยมาแล้วว่ามีความหอมแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เมื่อกระบวนการทั้งหมดเดินไปด้วยคำว่าคุณภาพ เริ่มจากแหล่งรับซื้อคือ สกต. ที่เน้นรับเฉพาะข้าวที่ได้คุณภาพ ผู้ผลิตคือเกษตรกรก็จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามคุณภาพข้าวที่ผลิตได้ ตัวเกษตรกรก็จะใส่ใจกระบวนการผลิตเริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์จนถึงการตากข้าวก่อนส่งขาย จึงเกิดประโยชน์ต่อทุกส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
กำนันไพบูลย์ ในฐานะเกษตรกรและผู้นำชุมชน พูดถึงข้าวหอมมะลิที่ผลิตในพื้นที่ร้อยเอ็ดด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ผมว่าของผมสุดยอดจริงๆ คือเราภูมิใจ ทานแล้วก็หอมจริงๆ ผมว่าข้าวร้อยเอ็ดหอมที่สุดในโลกน่าทานที่สุด และอย่างที่เห็นเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่ต้องไปเอาน้ำจากที่อื่นมา รอน้ำธรรมชาติ ทุกอย่างธรรมชาติจริงๆ อยากให้คนทานได้มาเห็นด้วย มาเห็นแปลงที่ปลูกเป็นอย่างไร อยู่ใกล้โรงงาน สารเคมีอะไรหรือไม่ มีบ่อบำบัดน้ำเสีย มีโรงงานขยะหรือไม่ เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ น้ำก็ห้วยหนองคลองบึงไหลผ่านมาเราก็สูบธรรมดา หรือไม่สูบก็รอฝนธรรมชาติมา ข้าวออกมาก็ธรรมชาติจริงๆ หอมจริงๆ”
ความตั้งใจและความภาคภูมิใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดนี้รวมกันกลายเป็นแบรนด์ข้าว A-Rice ที่จะเป็นหัวหอกในการนำมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่เกษตรกร ด้วยสายใยที่ร้อยรัดระหว่างเกษตรกร ชุมชน สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมมือร่วมใจกันนำผลผลิตคุณภาพที่เป็นความภูมิใจของเกษตรกร และเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ไปสู่โต๊ะอาหารของผู้บริโภคที่ได้บริโภคข้าวคุณภาพด้วยความสบายใจในกระบวนการผลิตและแปรรูปที่มีมาตรฐาน และยิ่งดีกว่านั้นเมื่อได้ทราบว่าเม็ดเงินที่จ่ายเพื่อข้าวหอมอร่อยที่ทานอยู่นั้นยังย้อนกลับไปหาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ผลิตข้าวเมล็ดสวยด้วยความภาคภูมิใจต่อไป
เรื่อง : กองบรรณาธิการ