November 08, 2024

เปิดโครงการ Partnership for Action on Green Economy ในประเทศไทย (PAGE in Thailand Launch Event)

November 15, 2022 1367

จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานเปิดโครงการ Partnership for Action on Green Economy หรือ PAGE ในประเทศไทย จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา รวมทั้งถ่ายทอดสดผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings และ Facebook ของ PAGE Thailand สำหรับการจัดงานเปิดโครงการฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ PAGE (ประเทศไทย) พร้อมทั้งเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางนโยบาย การปฏิบัติและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวในภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งใช้งานเปิดตัวฯ ดังกล่าวเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และมุมมองของแต่ละภาคส่วน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่สนับสนุน ไม่ซ้ำซ้อน และแบ่งปันบทบาทหน้าที่และความร่วมมือในการปฏิบัติการให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวแบบบูรณาการ (Inclusive Green Economy; IGE) ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นเวทีในการนำเสนอผลการดำเนินงานในของโครงการ PAGE (ประเทศไทย) ในระยะที่ผ่านมา ได้แก่ การศึกษา Stocktaking ด้านเศรษฐกิจสีเขียว การศึกษาประเมินความต้องการด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Learning Needs Assessment) และแผนงานการศึกษาประเมินการใช้งบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Assessment) ภายใต้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดวงเงิน 4 แสนล้านบาท เป็นต้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างการร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ว่ารัฐบาลไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Partnership for Action on Green Economy โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้ำนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีความมุ่งหวังในการปรับเปลี่ยนไทยไปสู่โฉมหน้าใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดย 1 ใน 5 เป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดรับกับเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังมีนโยบายการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG[1] ควบคู่กับแผนพัฒนาฯ 13 โดยโมเดลฯ ดังกล่าว ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน จากระดับชุมชนไปถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ สร้างความสมดุลเป็นธรรมและมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำหรับการเปิดตัวโครงการ PAGE ในวันนี้ยังเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นเพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวแบบบูรณาการในทุกมิติ รวมถึงการใช้เศรษฐกิจสีเขียวในกิจกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดร. วิชญายุทธ บุญชิต ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทย และรองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวระหว่างช่วงการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งจะทำงานโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่แสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย  และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอนและมลพิษ (2) การส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (4) การเพิ่มงานที่มีคุณค่า (5) การกระจายรายได้และความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่การการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ความท้าทาย 3 ข้อที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ด้านความยากจนถาวร ด้านการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เสมอภาค และการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเท่าเทียมและเสมอภาคทางสังคม

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ขึ้น โดยในการดำเนินงานในปี 2565 คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) กิจกรรมการศึกษาการจัดทำระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ (ETS) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (2) กิจกรรมการพัฒนากลไกด้านการเงินสำหรับการจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ (3) กิจกรรมสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นในด้านเศรษฐกิจสีเขียวผ่านการสร้างความรู้ พัฒนาและจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องกลไก ETS โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคเกษตรและการสร้างงานสีเขียว และ (4) กิจกรรมการให้ความรู้และการสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้ระดับชาติและระดับภูมิภาค งานเปิดตัวแนะนำโครงการ PAGE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะสื่อสารให้แก่ประชาชนและสังคมได้รับทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการขับเคลื่อนเข้าสู่การพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจสีเขียวภายใต้โครงการความร่วมมือของ PAGE ซึ่งมีความสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบาย BCG  

ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทย ใคร่ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามีส่วนร่วมผลักดัน และขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการด้วยกัน เพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยความเท่าเทียมเสมอภาค และมีทรัพยากรคงอยู่เหลือไว้สำหรับคนรุ่นถัดไป    

นางศุกร์สิริ แจ่มสุข รองผู้แทนประจำภูมิภาค องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ PAGE ในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติพันธมิตรในโครงการอีก 4 หน่วยงานได้แก่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสถาบันการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ ร่วมสนับสนุนด้านเทคนิคจากความชำนาญและประสบการณ์ระหว่างประเทศ ทั้งด้านการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว แรงงานสีเขียว การเงินและการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการฝึกอบรมและวิจัยร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ

ปัจจุบันโครงการมีสมาชิกทั้งสิ้น 22 ประเทศ ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ PAGE เป็นประเทศที่ 20 ในปี 2562 และเริ่มดำเนินการโครงการระยะเริ่มต้น (Inception phase) ในเดือนมีนาคม 2563 ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 โดยมีระยะเวลาดำเนินระยะปฏิบัติการทั้งสิ้น 3 ปี ด้วยงบประมาณสนับสนุนประมาณหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ  การดำเนินการระยะในระยะเริ่มต้นของโครงการได้สนับสนุน ได้แก่ การศึกษารวบรวมข้อมูลประเมินสถานะความพร้อมด้านเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ (Green Economy Stocktaking) การประเมินการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวจากสถานการณ์โควิด (Green Recovery Assessment) และการประเมินความต้องการการเสริมสร้างศักยภาพด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Learning Needs Assessment)

พันธมิตรในโครงการสหประชาชาติทั้ง 5 หน่วยงาน มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมดำเนินงานกับประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะนำเศรษฐกิจสีเขียวมาสู่การปฏิบัติ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ วิเคราะห์และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด จูงใจให้เกิดการบริโภคที่คำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้การจัดงานเปิดโครงการฯ และแถลงข่าวในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ Partnership for Action on Green Economy (PAGE)  ในประเทศไทยเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการ โดยในงานฯ มีผู้บริหารหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการกำหนดนโยบาย สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานในรูปแบบ Onsite มากกว่า 120 คนและ Online มากกว่า 200 คน


[1] การพัฒนา ๓ เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

X

Right Click

No right click