×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

กระแสความนิยมการขุดเหรียญดิจิทัล ทำให้มี miner หรือนักขุดเหรียญดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่กระแสนี้ก็มาแรงไม่แพ้กัน 

กิตติพงษ์ หิริโอตัปปะ นักพัฒนาในการออก ICO (Initial Coin Offering) อธิบายกับ นิตยสาร MBA ถึงหลักการขุดเหรียญดิจิทัลและที่มาของรายได้จากการขุดเหรียญ (Mining) ว่าผลลัพธ์และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขุดเหรียญนั้นมี 2 เรื่องหลักๆ  คือ

1. รายได้ที่เกิดขึ้นมาให้กับคนที่ขุด โดยนักขุดใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น
เครื่องมือในการถอดรหัส แก้โจทย์โดยการหาสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งคิดค้นขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีระบบ Blockchain (บล็อกเชน) เมื่อการขุดสำเร็จจะได้รางวัตอบแทนเป็นเหรียญ ตรงนี้คือที่มาของรายได้เหรียญหลากหลายสกุลที่เกิดขึ้น เช่น เหรียญสกุลดิจิทัลยอดฮิตอย่าง บิทคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) เป็นต้น

2. การ “แก้โจทย์” สมการทางคณิตศาสตร์ จากคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล หรือในภาษาทั่วไปที่เรียกกันว่า “การขุด” โดยคอมพิวเตอร์หลายเครื่องทั่วโลก ระดมสรรพกำลังแข่งขันกันขุด ซึ่งโปรแกรมการขุดเหรียญจะสุ่มเลข 1 ชุด แล้วโยนตัวเลขนั้นเข้าไป เนื่องจากสมการคณิต-ศาสตร์เป็นสมการที่แก้ไขได้ยาก สิ่งที่ Miner จะต้องทำคือการโยนค่าของผลลัพธ์ 1 ชุดที่คาดการณ์ความน่าจะเป็นเข้าไปโมดิฟายที่บิทคอยน์ (กรณีเป็นบิทคอยน์) ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ จะเหมือนกับการซื้อหวย เพราะบิทคอยน์ จะตอบผลกลับมาว่าใช่หรือไม่ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะถูกรีเจ็คท์ออกมา

โอกาสในการขุดและแก้สมการสำเร็จ จึงขึ้นอยู่กับสรรพกำลังในการโยนค่าผลลัพธ์ และการสุ่มตัวเลขให้ตรง นั่นหมายถึง พลังของ GPU หรือการ์ดจอในการขุด ยิ่งซื้อรุ่นที่มีราคาแพงมาก จะทำให้มีกำลังในการส่งสูง คือมีความสามารถในการคิดได้มากขึ้น

ประการต่อมาคือ ยิ่งส่งไปมาก โอกาสที่จะใช่ก็มีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการขุดแบบ Pool แต่คนที่ขุดคนเดียวก็สามารถทำได้ ใช้การ์ดจอราคาถูกโยนตัวเลขเข้าไปได้มา 10 บิทคอยน์ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะตามที่กล่าวคือ เหมือนการถูกหวย แต่โอกาสอาจจะยากกว่าการขุดแบบ Pool ซึ่งเป็นการขุดที่มีหลายคนมาร่วมกัน มีการ์ดเป็นจำนวนหลักพัน ช่วยกันโยนตัวเลขเข้าไป ทำให้ความเป็นไปได้จะมีมากกว่า ด้วยความสามารถตั้งแต่รุ่นของการ์ดจอที่มีราคาสูง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงพลังคอมพิวเตอร์ของการขุดร่วมกัน 

สำหรับรูปแบบการให้ผลตอบแทนนั้น กิติพงศ์กล่าวว่าเกิดจากการแก้โจทย์สมการว่า เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์โยนตัวเลขถูกแล้ว บล็อกเชนจะส่งผลตอบแทนมาที่ Pool แล้วหลังจากนั้น Pool จะกระจายรายได้ แบ่งรางวัลกันต่อไป ตัวอย่างเช่น 50 บิทคอยน์ หารเฉลี่ย 1 พันการ์ดจะได้คนละ 0.2 บิทคอยน์เป็นต้น

เมื่อติดตามสถานการณ์การขุดเหรียญ จะเห็นได้ว่ามือใหม่ขุดเหรียญในเมืองไทย ส่วนใหญ่เริ่มต้นขุดเหรียญจากการใช้โปรแกรม Nicehash ซึ่งจะมีการเลือกขุดเหรียญที่ให้กำไรดีที่สุดให้เลย นี่คือการขุดแบบง่ายที่สุดใช้โปรแกรมที่ Install ไว้ และซอฟต์แวร์สามารถทำทุกอย่างได้อย่างชาญฉลาดมาก แต่ข้อเสียก็คือเงินจะไป Pool กับ Nicehash และผลตอบแทนจะน้อยกว่าการไปขุดที่ Pool อื่นๆ จึงอาจจะมีนักขุดบางรายที่รู้สึกว่ารายได้น้อย และอาจขยับขยายไป Pool อื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า รายได้ต่อเนื่องกว่า และมีโอกาสในการขุดแล้วเจอบล็อกมากกว่า 

ถามว่า Pool ในเมืองไทย มีแนวโน้มอย่างไรบ้างนั้น มีคนที่เข้ามาทำบ้าง แต่ผลลัพธ์ไม่ค่อยดีมากนัก เพราะว่ามีกำลังน้อยกว่า Pool ในต่างประเทศ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามความเห็นส่วนตัว การตั้ง Pool ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ จำนวนเครื่องที่เข้าไปร่วมต้องมีจำนวนเริ่มต้นที่หลัก 1 พันการ์ดจอเป็นต้นไป 

สภาพตลาดในประเทศไทยย้อนหลัง 2-3 ปีตั้งแต่เริ่มมีการตั้ง Pool ขุดเหรียญนั้น ประสบปัญหาภาวะการ์ดจอที่เป็นเครื่องมือหลักในการขุดเหรียญ ขาดตลาดต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีตัวเลขที่คาดการณ์กันว่าประมาณ 20-30% ของจำนวนทั้งหมดเป็นของตลาดเกมเมอร์ ส่วนที่เหลือเป็นของตลาดขุดเหรียญ ซึ่งเป็นหลักหมื่นการ์ดจอ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตลาดเกมเมอร์มาก ทำให้เกิดการ
โก่งราคาขาย ไปจนถึงการเปลี่ยนโมเดลมาเป็นการขายพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ หากต้องการซื้อจะต้องซื้อที่ประกอบเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ครบชุด 

การทำมาร์เก็ตติงลักษณะนี้สร้างความไม่เห็นด้วยจากคนส่วนใหญ่ ในมุมมองของเกมเมอร์ จะมองเพียงแค่จะซื้อการ์ดจอทำไมต้องลงทุนซื้อชุด ซื้อ CPU ซื้อเมนบอร์ด ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่อง ในขณะที่บางคนหนีไปซื้อการ์ดจอจากออนไลน์ นำเข้าจากต่างประเทศ จะประสบปัญหาไม่มีการรับประกัน หรือกรณีมีประกันก็จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก เพราะผู้ซื้อต้องส่งอุปกรณ์เคลมตรงไปที่ต่างประเทศด้วยตนเอง 

กิตติพงษ์ กล่าวในมุมมองส่วนตัวคิดว่า การขุดเหรียญเป็นวิธีการลงทุนที่ทำรายได้อย่างคุ้มค่าดี ทั้งคุ้มค่าไฟฟ้า และคุ้มค่าเครื่องในจำนวน 10 การ์ดจอหรือ 10 เครื่อง โดยเทคนิคของการขุดคือต้อง Hold เอาไว้ให้ค่าเงินสูง 

“มีคนบอกว่า Mining ช่วงนี้ไม่ได้กำไร จะขาดทุน ซึ่งไม่จริง แต่เราชอบเอาเงินของคริปโตฯ ไปเทียบกับโลกจริง เมื่อเกิดการเปรียบเทียบ จะคิดว่าช่วงนี้ขุดคุ้ม ช่วงนี้ขุดไม่คุ้ม Strategy ของนักขุดที่อยากให้แชร์กันได้เลยคือ เขาจะเก็บเงินไว้ จนกว่าค่าเงินจะปรับขึ้น แล้วขายออกตอนนั้น ไม่จำเป็นต้องรีบขาย ส่วนใหญ่พวกเม่าที่เข้ามา จะรีบขายออกโดยเร็วที่สุดเพราะอยากคืนทุนเป็นเงิน Fiat ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงที่ไม่น่าขายอะไรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดซบเซาและราคามีความผันผวนสูง” 

นอกจากนี้ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ในระบบการกระจายบิทคอยน์แต่ละวันนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และจะมีการป้องกันคนที่มี Hashing power คือคนที่มีพลังการขุดสูงมาก แบบที่เข้ามาคนเดียวแล้วเก็บเงินไปหมด ดังนั้นโดยการจัดการของระบบ ถ้ามีนักขุดที่มีกำลังมากๆ เข้ามา ก็ยังคงได้เงินหนึ่งบาทเท่าเดิม เพราะมีการตั้งไว้แล้วว่าจะให้ 1 บาทใน 1 วัน ไม่ว่าใครจะมีการ Hashing power สูงเท่าไหร่ก็จะมาเก็บไปทั้งหมดไม่ได้ สำหรับบาทที่เหลือจะกระจายเป็นอัตราส่วนไปให้คนอื่นๆ ที่ขุด 

แม้ว่าการขุดเหรียญจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทว่าในด้านความคุ้มค่าและความสำคัญก็ยังคงมีอยู่เป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีคนขุดเหรียญ ก็จะไม่มีการค้นพบสมการใหม่ และไม่มีการแก้โจทย์สมการทางคณิตศาสตร์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่ง
นั่นหมายถึงการรันของเทคโนโลยีระบบ
บล็อกเชน จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ตลอดจนจะไม่มีเหรียญสกุลดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน 

ในบรรดาผู้รู้จริงในเรื่อง BLOCKCHAIN ของเมืองไทย ซึ่งมีกันอยู่ไม่มากนัก จักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน คือหนึ่งในนั้น เขาคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “Six Network” ที่ดูแลทางด้านเทคโนโลยี และ Blockchain ของกิจการ

จักรกฤษณ์ เป็น Serial Entrepreneur ที่ทำสตาร์ตอัพมาแล้วหลายกิจการ ตั้งแต่ Co-Working Space และการสร้างฮาร์ดแวร์ที่ใช้ทดสอบสัญญาณมือถือ ไปจนถึงการทำ SDK เพื่อการโอนเงินผ่านมือถือ ผ่านเสียงที่คนไม่ได้ยิน เรียกว่าผ่านงานในเชิง เทคโนโลยี + นวัตกรรม มาไม่น้อย

จักรกฤษณ์มองว่า หัวใจของบล็อกเชนคือเรื่อง “TRUST” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม

“บล็อกเชนทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เกิดความไว้วางใจกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลาง ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ในการโอนเงิน โอนข้อมูล หรือโอนมูลค่าให้กัน" เขากล่าว

ที่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะบล็อกเชนมัน "เปิดเผย"

เป็นการลงบัญชีที่เปิดเผย ทำให้ทุกคนเห็นและตรวจสอบธุรกรรมนั้นๆ ได้ โอกาสที่จะกลับมาแก้ไขค่อนข้างยาก ยกเว้นว่าต้องรวมหัวกัน

ดังนั้น มันจึงค่อนข้าง "ปลอดภัย" ด้วย สำหรับธุรกรรมบนโลกออนไลน์

"และเมื่อตกผลึกเรื่องนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าบล็อกเชน เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนทุกอย่างในโลกที่ต้องมีหน่วยงานกลาง โดยการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Smart Contract อย่างในกรณีของ Ethereum นั้น ช่วยให้ผู้คนจินตนาการถึง Business Model ได้อีกเป็นล้านอย่าง"

 

ทลายกำแพงคนกลาง

จักรกฤษณ์ได้ยกตัวอย่างการออกแบบ Business Model ของ Six Network เอง ที่ช่วยลดความสำคัญของตัวกลางลง

Six Network ออกแบบ Business Model โดยอาศัยการสร้างสมาร์ตแพลตฟอร์มบนบล็อกเชนที่เปิดให้ผู้ซื้อและผู้สร้างงานครีเอทีฟสามารถมาตกลงกันได้โดยตรง โดยอาศัย Smart Contract เป็นตัวช่วย

"สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ Platform โดยเราแบ่งเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ คือ Financial Service ที่เราจำลองหลาย Model ที่มีใน Traditional Finance Service เดิม เช่น Payroll เป็นต้น"

และในอนาคตอาจจะมี Assets to Loan เพื่อให้ธุรกิจทำงานคล่องมือมากขึ้น

ส่วนที่สองคือ Digital Asset Wallet เพราะคนในวันนี้ยังคงมอง Cryptocurrency Wallet เป็นเหมือนกระเป๋าเงินเก็บ Crypto แต่ในส่วนของ Six Network เรามองการดีไซน์ ว่าจะให้ครอบคลุมไปถึง Business Token ต่างๆ เช่น คูปองทางการค้า หรือ Token ที่มหาวิทยาลัยออกให้นักศึกษาเพื่อการ Access เข้าห้องสมุด หรือร่วมกิจกรรมของสถาบัน เป็นต้น

โดยในเครือข่ายกิจการของผู้ร่วมก่อตั้งของเรา เรามีลักษณะนี้อยู่มาก เช่นในเครือข่าย OOKBEE ก็มี Platform ต่างๆ หลายสิบแอปพลิเคชัน ให้อ่านหนังสือ ดูการ์ตูน วิดีโอ ฟังเพลง ในกลุ่มเกาหลีมีอีกเป็นร้อย

ในอนาคตพวกแต้มต่างๆ ของบัตรเครดิตที่จะหมดอายุ เราจะสามารถ Swap แต้มมาเป็น Six coins ให้เป็นประโยชน์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Win-Win และ Liquidity จะสูงขึ้น และแต่ละธุรกิจสามารถ apply เงื่อนไขขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายได้

ความคล่องตัวในการทำธุรกิจจะง่ายดายขึ้น การหาพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ สร้างความร่วมมือในเครือข่ายจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีภายในไม่กี่วัน หากพบพาร์ทเนอร์ที่ต้องการในเครือข่ายของ Six Network จะสามารถติดต่อ แลกเปลี่ยน Token กันได้เลย เริ่มทำธุรกิจได้ในเวลารวดเร็ว ต่างจากการเริ่มความร่วมมือทางธุรกิจในอดีตที่ยากลำบาก

 

 

นอกจากนี้ Digital Asset Wallet ยังมีส่วนช่วยในปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แพร่ขยายจากอิทธิพลการแชร์ไฟล์ดิจิตอล การฟ้องร้อง การตรวจสอบมีความยุ่งยาก แต่ Blockchain จะเป็นตัวช่วยในเรื่องนี้ เพราะสามารถทำให้เกิด Prove of Ownership (พิสูจน์หลักฐานการเป็นเจ้าของ) ได้

เราเพียงอาศัย Blockchain IP ที่เป็น Smart Contract ก็จะสามารถออกแบบ Business Model ได้เลยว่าจะแบ่งรายได้กันอย่างไรเมื่อมีผู้ซื้อผลงานแบ่งรายได้กันอย่างไร ระหว่างตัวศิลปินและคนที่มาช่วยขายซึ่งอาจจะเป็น Decentralize Application ที่มาช่วยขาย Concept ให้ คือศิลปินยังเป็นเจ้าของผลงานของตนเองอยู่ เพียงแต่กระบวนการจะช่วยเกลี่ยให้คนกลางมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

ส่วน Platform ที่สาม คือ Decentralized Commerce

ทุกวันนี้เรามี commerce จำนวนมาก ตั้งแต่ Level Marketplace ทั้ง EPay, Alibaba และที่เป็น Platform เช่น iTune AppStore และ OOKBEE เอง ซึ่งการรวมศูนย์หรือ Centralize อาจมีข้อเสียในแง่ที่ว่า เขาเป็นผู้ตั้ง Business Model ขึ้นมา บางที่มีเงื่อนไขของตนเองที่ให้เราต้องทำตามทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่ศิลปินเสียคือ Ownership เพราะนำทั้งหมดไปฝากไว้ที่ตัวกลาง

สิ่งที่ Six Network มอง คือเมื่อเราสร้าง Wallet ขึ้นมาแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดคุณเป็นผู้ดูแลเอง โดยผ่านทาง Smart Contract หรือ Service ต่างๆ ที่จะมาช่วย ในขณะที่ฝั่ง End-User ก็มีกระเป๋าเงิน ซึ่งมี Token ต่างๆ ในนั้นเหมือนกัน จะมีเพียง Decentralized App. ที่มี Platform เหมือน Marketplace เข้ามาวาง แต่คนสองกลุ่มนี้สามารถหากันเจอ และแลกเปลี่ยนกันได้ในต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมมาก และที่สำคัญคือหากตัวกลางนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีตัวกลางใหม่ยื่นมือเข้ามาเพื่อเสนอให้ใช้บริการของตนเองแทน เป็นกระบวนการ End to End ที่เมื่อจบกระบวนการ ได้เงินครบวงจร จึงไม่น่ามีข้อสงสัยถึงการเติบโตของ Token ที่นำไปใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

 

ข้อดีของ Stellar

Six Network มิได้ออก Token โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Ethereum เหมือนผู้ออก ICO ส่วนใหญ่นิยมทำกัน แต่กลับเลือกใช้เทคโนโลยีของ Stellar

จักรกฤษณ์เล่าเหตุผลเบื้องหลังการเลือกใช้ Stellar ครั้งนี้ว่า "เกิดจากการ Explore แบบลงลึกทางเทคโนโลยี"

"คือในเบื้องต้น เราจะเห็นว่าทั้ง Bitcoin และ Ethereum นั้น สามารถโอนเงินได้ทั้งคู่ โดย Bitcoin อาจจะมีค่าโอนที่สูงกว่าและช้ากว่า ด้วย Security Model ที่แน่นหนากว่า ส่วน Ethereum นั้นโอนเงินได้แบบไม่แพงมาก แต่ถ้าลองมารัน Smart Contract (Software) จะพบว่ามันยังไม่คล่องตัวเท่าใดนัก และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น"

"แต่ในทางกลับกัน Stellar มีระบบ Security เทียบเท่ากับ Ripple ซึ่งธนาคารนำมาใช้ และมีค่าใช้จ่ายต่อ Transaction ต่ำ รวมทั้งใช้เวลาสั้นมากเทียบเท่ากับการโอนเงินปกติในปัจจุบัน สะดวกต่อ Micro Payment ระดับ 10-20 บาท ซึ่งมองในวงกว้างแล้วตอบสนองได้มากกว่า และแฟร์กว่าระบบเดิมที่มีต้นทุนสูง เช่นสามารถเก็บเงินคนฟังเพลงได้เป็นรายวินาที เป็นต้น"

"ถ้าจะเปรียบเทียบแบบง่ายๆ สำหรับ Bitcoin วันนี้อาจจะใช้เพียงแค่การรับส่งเงิน ยังไม่มีอะไรมาก และช้า ส่วน Ethereum นั้น ทำอะไรได้มากมาย เปรียบเสมือนกับรถบรรทุก แต่ก็ช้า หนัก และแพง ในขณะที่ Stellar แกะโน่นแกะนี่ทิ้งหมด เปรียบเหมือนรถ F-1 ทำอะไรได้น้อย แต่ส่งเงินได้เร็วมาก เราจึงเลือกเทคโนโลยีนี้มาใช้ในส่วนที่เป็น Transaction Layer ของเรา เพื่อความรวดเร็วของธุรกรรม"

 

ข้อจำกัดของบล็อกเชน

กระนั้นก็ตาม บล็อกเชนก็เหมือนกับของใช้ทั่วไป ที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด

จักรกฤษณ์ได้ยกตัวอย่างข้อจำกัดอันหนึ่งที่น่าสนใจ

"ธรรมชาติของบล็อกเชนเป็นดาต้าเบส จึงไม่มีประสิทธิภาพที่ดีในการแบกอะไรที่ใหญ่มากและใช้ความเร็ว เช่น ไม่เหมาะจะนำมาทำวิดีโอ ตอนนี้ได้ทดลองบล็อกเชนตัวหนึ่งที่เป็น Chat เห็นได้ว่าช้ามาก" เขากล่าว

แต่เขามองอย่างมีความหวังว่า ในอนาคตก็น่าจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เพราะวันนี้เราเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีบล็อกเชน เท่านั้น 

หลังจากที่ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ประกาศความสำเร็จ บ.เจ เวนเจอร์ส (JVC) บริษัทย่อยที่ระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) สำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเปิด Pre-Sale ขาย JFin Coin 100 ล้านโทเคนหมดเกลี้ยงภายใน 55 ชั่วโมง ล่าสุดเดินหน้าแผนธุรกิจตามที่กำหนดไว้ เปิดเกมรุกสินเชื่อในโลกฟินเทค โดยพัฒนา JFin DDLP ระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง อีกทั้งเตรียมนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประเดิมใช้งานในกลุ่มเจมาร์ทภายในปี 2562 นี้

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART  เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานหลังจาก บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC (เป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้นในสัดส่วน 80%)  ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ และแอฟพลิเคชั่นทางด้านฟินเทค ลงทุนในธุรกิจสตร์ทอัพ ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนด้วยการทำ ICO เป็นรายแรกในประเทศไทยของกลุ่มบริษัทมหาชน ที่สร้างปรากฏการณ์ของโลกการเงิน นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจสินเชื่อ ในชื่อเหรียญ JFin Coin

 

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้ JFin Coin เปิดเสนอขาย Pre-sale วันแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเกินคาดหมาย โดยเปิดเสนอขายในคราวนี้จำนวน 100 ล้านโทเคน ที่ราคาขาย 6.60 บาทต่อโทเคน ได้ถูกผู้สนับสนุนจองซื้อหมดเต็มจำนวนเรียบร้อยแล้วภายใน 55 ชั่วโมงแรก ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในแผนธุรกิจที่วางไว้ ในฐานะที่เจมาร์ทเป็นบริษัทมหาชน ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมา 30 ปี การันตีความถูกต้อง และธรรมภิบาลในการบริหารธุรกิจ มุ่งหวังในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีทางด้านการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เกิด ICO ที่มีมาตรฐานขึ้นในประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ มั่นใจนำเงินที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ โดยเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนราว 660 ล้านบาท ทีมงานได้เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบ Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) ไปตามแผนที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว สนับสนุนการเติบโตในธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มเจมาร์ท ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC เผยถึงการพัฒนระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Digital Lending Platform หรือ DDLP) คือ ระบบการกู้ยืมเงินแบบดิจิทัลบนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง รองรับกระบวนการแบบครบวงจร ตั้งแต่การระบุตัวตน (KYC) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ การประเมินเครดิต การอนุมัติสินเชื่อ และการติดตามหนี้สิน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการบริการด้านสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงรองรับระบบ P2P Lending ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้ผู้กู้ที่มีศักยภาพสามารถกู้เงินได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนั้น ระบบ DDLP จะเป็นหนึ่งในระบบสำคัญที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในอนาคตอันใกล้นี้ ตั้งเป้าระบบจะแล้วเสร็จ พร้อมเริ่มใช้งานในปี 2562

 

 

สำหรับจุดแข็งของ  JFin DDLP  คือ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นจากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ทำให้สามารถสร้างระบบการเงินที่ยั่งยืน ขยายตลาด และเข้าถึงประชากรได้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารหรือการให้บริการทางการเงิน โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการจับกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตดี วิเคราะห์จากฐานข้อมูลลูกค้าของกลุ่มเจมาร์ทที่มีรวมกันมากกว่า 3 ล้านราย

โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และรับจ้างติดตามหนี้สิน เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เรามีฐานข้อมูลและสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

รวมถึงการเสริมทัพด้วยการจับมือพันธมิตรและกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้แก่บริษัทฯ ให้มี Big Data ที่สามารถสร้าง Credit scoring หรือการประเมินการขอสินเชื่อบุคคลโดยอัติโนมัติผ่านเทคนิคการให้คะแนนเครดิตผ่านข้อมูลต่างๆ ที่ระบุไว้ เพื่อให้สามารถคัดเลือกลูกค้าที่มีเครดิตดีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในโลกการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลดีต่อ JVC ในฐานะผู้นำในธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์ และแอฟพลิเคชั่นทางด้านฟินเทคให้ได้รับการตอบรับมากขึ้นในอนาคต

 

หลังจากบริษัทย่อยของกลุ่มเจมาร์ท บริษัท เจเวนจอร์ส ประกาศทำ ICO (Initial Coin Offering) ในชื่อ JFin Coin โดยเริ่มเสนอขาย Pre-Sale วันแรก เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น. ผ่าน TDAX ตลาดแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลของคนไทยเหรียญที่นำมาเสนอขายครั้งนี้ทั้งหมดจำนวน 100 ล้านโทเคน ที่ราคา 6.60 บาท หรือคิดเป็นเงิน 660 ล้านบาทสามารถขายได้หมดในเวลาเพียง 55 ชั่วโมง และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดรองไม่เกิน 2 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่วงการการเงินและฟินเทคในประเทศไทยต้องบันทึกไว้

จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่นี้เริ่มจาก Bitcoin เหรียญชื่อดังเจ้าแรกเป็นต้นมา ผู้ที่สนใจวงการนี้ในประเทศไทย ก็เริ่มขยับตัวตามกันมา ในช่วงแรกยังคงอยู่ในวงแคบๆ ไม่โด่งดังเท่าไรนัก จนกระทั่งราคา Cryptocurrencies ในตลาดโลกพุ่งสูงทำสถิติกันเป็นรายวัน ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในฝั่งผู้ลงทุน และกลุ่มที่ต้องการทำเหมือง (Miner) ขุดเหรียญต่างๆ จนปัจจุบันตลาด Cryptocurrencies ในไทยมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น จำนวนเหรียญที่อยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนหลายล้านเหรียญ คือเครื่องยืนยันในเรื่องนี้รวมถึงงานพูดคุยสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีให้เห็นอยู่แทบจะทุกสัปดาห์

ตาม White Paper ของ JFin Coin ระบุว่า จะนำเงินที่ได้ไปใช้พัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกู้ยืมแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Blockchain แน่นอนว่าเจ้าของโครงการย่อมมีความยินดีที่ ICO ของตนได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) กล่าวหลังจากการ Pre-Sale สิ้นสุดเนื่องจากมีผู้จองซื้อโทเคนหมด 100 ล้านโทเคนว่า “ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้โอกาสเราในการอธิบาย และคำแนะนำต่างๆ การทำ ICO ครั้งนี้ เราถือเป็นกลุ่มบริษัท
จดทะเบียนรายแรกที่ทำเรื่องนี้ ผมเข้าใจดีว่าย่อมมีอุปสรรคในด้านการอธิบายความเข้าใจ และมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ด้วยความตั้งใจของผมและทีมงานที่มุ่งหวังให้ ICO นี้เกิดขึ้นให้ได้ในประเทศไทย ที่ผมทำธุรกิจมาตั้งแต่ต้น”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้เห็นการออกตัว ICO อีกหลายรายติดตามมา บางรายก็ไปออกขายในต่างประเทศ บางรายเสนอขายในประเทศ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดเท่าที่ควร แต่ก็เห็นได้ว่ามีหลายธุรกิจที่มองว่า ICO คือช่องทางหนึ่งในการระดมทุนสำหรับกิจการ

ความใหม่ของ ICO เป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หนึ่งในหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับ Cryptocurrency ก็ออกข่าวเตือนเกี่ยวกับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ICO มาเป็นระยะในช่วงที่เกณฑ์การกำกับดูแลยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ โดย ก.ล.ต. เตือนและให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่า “การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ICO และ Cryptocurrencies จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงในหลายแง่มุม หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเสียหายได้โดยง่ายนอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแสโดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ/หรือนำเรื่องเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน
ผู้ที่ได้รับการชักชวนหรือคิดที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน ตัวกิจการ สิทธิของผู้ลงทุน และโครงสร้างของโทเคนที่จะได้รับจากการลงทุน และประเมินความเหมาะสมเทียบกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนก่อนลงทุนเสมอ ตลอดจนระวังความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลความเสี่ยงและไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์และอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรตระหนักว่า การกำกับดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น ป้องกันการหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ ความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากการที่ระบบเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกโจรกรรมไซเบอร์ และที่สำคัญที่สุด ควรตระหนักว่า หากเกิดความเสียหาย มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ อย่าลงทุน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน”

โดย ก.ล.ต. เตรียมออกเกณฑ์กำกับดูแล ICO ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนในประเทศไทยคาดว่าจะออกมาภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาแล้ว 2 รอบ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีประกาศไปยังสถาบันการเงินให้งดทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrencies ก็เป็นอีกหนึ่งดาบที่หยุดความร้อนแรงของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยไปได้ระดับหนึ่ง

ฝั่งผู้ให้บริการอย่าง TDAX ต้องออกประกาศในหน้า ICO Portal ว่า “เนื่องจากความไม่แน่นอนต่อกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. อาจจะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ ทางเราได้ทำการระงับการดำเนินการของ ICO portal ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีความชัดเจนต่อสถานการณ์นี้มากขึ้น” ทำให้ ICO ที่เตรียมจะขายใน TDAX ต้องรอต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจน

ผลกระทบจากปรากฏการณ์ ICO ที่เปิดตัวกันอย่างร้อนแรงจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องติดตามดูท่าทีจากหน่วยงานกำกับดูแล ในการออกเกณฑ์การควบคุมดูแลที่ความชัดเจน ป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนจากผู้ที่คิดใช้เครื่องมือนี้เพื่อหลอกลวง และป้องกันการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่นี้ในทางที่ผิด โดยต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเคลื่อนตัวไปได้ทุกแห่งตราบที่ยังสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เราจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ในระดับใด และทำอย่างไรให้ประเทศไทยปรากฏตัวอยู่บนแผนที่ของเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เราเสียโอกาสได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้  

Page 6 of 8
X

Right Click

No right click