“Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่มีพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมด ที่นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรของเมือง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้สูงขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการใช้บริการข้อมูล และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบและรูปแบบต่างๆ มากมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมืองหรือในสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ไว้อย่างน่าสนใจและอธิบายต่อว่า
หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองเป็น Smart City เป็น Smart Community เมืองอัจฉริยะ ชุมชนอัจฉริยะ คือต้องมี “ผู้นำ” ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงาน องค์กรใด และตำแหน่งอะไรก็ตาม หากผู้นำท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มและมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองและรู้จักหรือยอมรับที่จะนำเอาเทคโนโลยีมีมากมายในโลกใบนี้มาใช้ และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องแพง แต่ทำให้ทุกคนในเมืองหรือชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงชุมชนเมืองให้เป็น Smart City ขึ้นมาได้
เพราะเมืองที่ฉลาด ก็คือเมืองที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของประชากรในเมืองได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน การที่เมืองจะตอบโจทย์คนในเมืองได้จึงอยู่ที่ผู้นำผู้เข้าใจและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นโจทย์พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้บริการกับคนในเมือง โดยเหตุผลที่ผู้นำต้องเข้าใจและรู้จักการใช้เทคโนโลยี ก็เพราะว่าเทคโนโลยีจะมาเป็นเครื่องมือที่เข้าช่วยให้คนสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับวันศักยภาพของเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน
โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะมาพร้อมกับประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้นและสามารถส่งข้อมูลจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ความสามารถนี้ทำให้เราส่งภาพที่คมชัด บันทึกไฟล์ได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด ประมวลผลที่มีความซับซ้อนได้ดีมากขึ้น นำไปใช้ได้ในหลายด้าน
ยกตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร ปัญหาหนึ่งของเราคือ การเดินทางไม่ว่าจะโดยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะคนในเมืองต้องคิดเผื่อเวลากันเองเพราะไม่รู้ว่าปริมาณรถในเส้นทางที่เราต้องการจะเดินทางเป็นอย่างไร มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเส้นทางนั้นหรือไม่ หรือรถโดยสารที่เราต้องการใช้บริการจะมาถึงป้ายรถหรือสถานีเวลาใด คน กทม. ไม่สามารถประเมินเวลาการเดินทางในแต่ละวันได้เลย โดยเฉพาะวันไหนฝนตกลงมาการจราจรก็จะติดขัดมากกว่าปกติและหากเส้นทางหลักๆ เกิดสถานการณ์น้ำระบายไม่ทันก็จะเป็นอัมพาตกันทั้งเมือง
แต่หากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ ก็อาจจะมีการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมร่วมกับระบบผังเมือง ระบบการจราจร และระบบรายงานอากาศ เข้าด้วยกัน กลายเป็นระบบที่เข้ามาช่วยให้คนในเมืองสามารถทราบตารางรถสาธารณะที่จะผ่านเข้ามายังจุดที่ต้องการ ว่าแต่ละคันจะมาถึงเวลาใด และใช้เวลาในการเดินทางถึงที่หมายเท่าไร รู้สภาพการจราจรล่วงหน้า สามารถเลือกเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน หรือสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในฤดูฝน เพื่อให้คนในเมืองได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝน หรือทราบว่าบริเวณไหนจะมีน้ำขังรอการระบาย ก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของระบบในเมืองอัจฉริยะที่มาตอบโจทย์ชีวิตของคน กทม.
จากแนวคิดข้างต้นของ ดร.สุชัชวีร์ ข้างต้น นำมาสู่การศึกษาพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ 6 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำลังศึกษา พัฒนา และเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่ทางออกใหม่ให้กับคนในเมืองกรุง ผ่านสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ของสถาบันฯ เกี่ยวกับเรื่อง Smart Living หรือ ระบบการอยู่อาศัยอัจฉริยะ Smart Utility หรือระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ Smart Environment หรือระบบสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart IT หรือ ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และ Smart Mobility หรือ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ
สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “Smart City” ชีวิตยุคใหม่ในเมืองอัจฉริยะ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่
รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้บรรยายถึงประเด็นสำคัญบนเวทีใหญ่งาน Thailand MBA Forum 2018
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ผลสืบเนื่องคือพฤติกรรมของผู้บริโภคถูกเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบทางสภาพสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายถึงสภาพการแข่งขัน และแรงกดดันของการแข่งขันก็มีการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นกัน สิ่งสำคัญในฐานะผู้บริหาร คือการเตรียมแผนและการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้เท่าทัน ในด้านของนักศึกษา ทั้งบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดงาน ต้องตระหนักให้ได้ว่า ทักษะและความรู้ที่จะทำงานในยุคดิจิทัลต้องเป็นอย่างไร”
รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้สรุปความโดยอ้างอิงข้อมูลของ Oliver Ratzesburger ที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้การยอมรับและการนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่ในอัตราตอบรับที่เร่งมากขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนั้น ยังได้เผยถึงตัวเลขมูลค่าการตลาดของโมไบล์แอปพลิเคชัน ของปี 2017 ที่อเมริกามีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงเม็ดเงินในโซเชียลมีเดียอย่างมหาศาล รูปแบบการเก็บข้อมูลเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปสู่การเก็บ-ใช้ข้อมูลใน คลาวน์ มีการนำ Big Data ที่เป็นการใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อการออกแบบกลยุทธ์ เรื่อง Neuroscience เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต ผลิตภัณฑ์และการบริการเริ่มประยุกต์นำ Sensor มาติดวัดเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายข้อมูล เพื่อศึกษาและพัฒนาการเข้าถึงแนวคิดและการรับรู้ของลูกค้าต่อคุณภาพสินค้าและบริการอย่างเป็นตรรกะและเชื่อถือได้ และต่อไปเรื่อง AI และ Deep Learning เป็นสิ่งที่ยุค 5G จะมีการหยิบยกมาใช้อย่างเป็นเรื่องปกติสามัญ
ทั้งนี้ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ได้เน้นย้ำว่า “ประเด็นสำคัญที่อยากให้ดูคือ การทำงานทุกอย่างนับแต่นี้จะเป็น Real-Time มากขึ้น ลูกค้าต้องสามารถทำทุกอย่างได้เอง เทคโนโลยีได้เปิดโอกาสและอนุญาตให้หลายสิ่งเป็นไปได้ แต่คำถามคือ “องค์กรปรับตัวตามได้มากน้อยแค่ไหน” มีกรณีศึกษาของหลายองค์กรที่ตามไม่ทันเทคโนฯ หรือการตัดสินใจไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง อาทิ บริษัท โกดัก ผู้ผลิตฟิล์มที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต หรือ กรณี Blockbuster ที่ปฏิเสธการลงทุนใน Netflix ร้านของเล่น Toyrus ที่ปิดตัวลง เพราะพฤติกรรมการเล่นของเด็กเปลี่ยนไปอยู่ในออนไลน์ในที่สุด”
ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจชั้นนำล้วนปรับนำ Algorithm มาใช้ในการบริหารงาน ซึ่งสามารถทำงานแทนคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการข้อมูล เพื่อคาดการณ์ เพื่อการวางแผนทั้งในด้าน Operation และการวางกลยุทธ์ในการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทุกองค์กรต้องปรับตัวแทบทั้งหมด เหตุผลสำคัญคือ เพื่อการลด Uncertainty หรือความไม่แน่นอน บนข้อมูลที่จะสามารถรวบรวมและประมวลมาได้ ทั้งข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลอุตสาหกรรม และข้อมูลต่างๆ เพื่อค้นหา Trend หา Spotting Trend เพื่อค้นหาว่าจะมี signal หรือสัญญาณใดที่จะบอกให้รู้ว่า สิ่งไหนคือเทรนด์ที่ถ้าองค์กรไม่ปรับ คือ ตายแน่นอน! และนอกเหนือจากนั้น คือการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ” รศ.ดร.จงสวัสดิ์
6 กลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อองค์กร : 6 Types of Digital Strategy (HBR)
รศ.ดร จงสวัสดิ์ ได้อ้างอิงถึง 6 กลยุทธ์เพื่อการปรับตัวขององค์กรและธุรกิจ ในยุคดิจิทัล ของ Harvard Business Review เพื่อเป็นแนวคิดและแนวทาง อาทิ การปรับเปลี่ยน Platform Play ที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือการสร้างแนวทางกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น H&M หรือ IKEA ที่ใช้กลยุทธ์ New Marginal Supply เช่นการเปิดช่องทางขายสินค้ามือสองให้กับลูกค้าชั้นดี เพื่อเป็นทางเลือก และที่น่าสนใจและจับตาคือ ใช้กลยุทธ์ Digital-
Enabled Products and Services ที่ปรับสินค้าและบริการให้เชื่อมต่อกับความเป็นดิจิทัล โดยมีการนำ Sensor มาติดกับผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ที่ปั๊มนม และกรณีศึกษาที่โด่งดังคือ แปรงสีฟัน Oral B โดย Sensors เหล่านั้นจะส่งผ่านข้อมูลของการใช้งาน อาทิ ความชื้นของผ้าอ้อม แรงดันและปริมาณน้ำนมจากการปั๊ม และคุณภาพของการแปรงฟัน ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลกับผู้ใช้งาน
นอกจากนั้น Digital Strategy ยังมีในเรื่อง Rebunding and Customizing, Digital Distribution Channel และ Cost Efficency ที่ HBR ได้เสนอแนวคิดและแนวทางไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ต้องการชี้ให้ตระหนักและเล็งเห็นคือ “เมื่อเรารู้ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยน เราจะ adopt เทคโนโลยี หรือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร นั่นคือประเด็นที่สำคัญกว่า”
สำหรับนักศึกษาในสาขา MBA ในยุคนี้ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ กล่าวว่า
“เป้าหมายของการเรียน MBA ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ 10 ปีก่อน เป้าหมายสำคัญของการเรียน MBA จะกำหนดเป้าหมายไปที่เรื่อง Logical Thinking, Critical Thinking, Analytical Thinking และ Strategic Thinking หมายความว่า นักศึกษาที่จบ MBA จะต้องมีความรู้ มีแนวคิด กระบวนการคิดจนไปสู่กระบวนการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารและการตลาดได้ ซึ่งภายใต้เป้าหมายและความคาดหวังใหม่ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้เสนอการ+ เพิ่มเรื่อง Technological Data Driven IT-Background เข้าไปด้วย เพราะทุกวันนี้และต่อไปจะไม่มีองค์กรใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องไอที หมายความว่า นักศึกษา MBA จะต้องสื่อสารและทำงานร่วมได้กับนักจัดการ IT เพื่อธุรกิจและองค์กร”
“ในปัจจุบัน การตลาดประเภท Traditional Marketing ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จากอดีตที่เคยเป็น Top-Down Approach ที่รู้ทฤษฎีด้านการตลาดแล้วสามารถแปลงทฤษฎีมาเป็นกลยุทธ์ แต่คำตอบของยุคปัจจุบันคือ Bottom-Up Policy ที่จะเป็นการใช้ดาต้า ใช้ข้อมูลจากทั้งลูกค้า พฤติกรรมต่างๆ มาสร้างกลยุทธ์”
สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Technology Effects & Management Transformation โดย รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่
"MBA เป็นหลักสูตรที่มีคนต้องการเรียนมากที่สุดในโลก เพราะเป็นหลักสูตรที่สอนทักษะจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจหรือต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมธุรกิจความรู้ MBA เป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ใครก็ตามที่คิดจะเป็นผู้บริหารหรือทำธุรกิจส่วนตัวไม่ว่าจะเรียนจบสาขาอะไรมาก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ MBA"
ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศอีกประการที่นอกจากเราจะผลิตสินค้าอาหารประเภทต่างๆ เลี้ยงชาวโลกได้แล้ว เรายังสามารถมีส่วนแบ่งในเรื่องไบโอเทคโนโลยีได้อีกด้วย
5. 5G ตัวเปลี่ยนเกมอุตสาหกรรมโลก การให้บริการ Mobile broadband กำลังก้าวไปสู่ระบบ 5G โดยมีแผนที่จะ roll out ครั้งแรกไม่เกินปี 2018 ซึ่งถือได้ว่าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 2 ปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในความพยายามที่จะผลักดันให้การบริการ Mobile broadband สามารถให้บริการในทุก digital platform