ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลังค่ายผู้ผลิตเร่งปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อมุ่งสู่ยานยนต์พลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle : ZEV) เร็วกว่าที่คาดไว้มาก ทำให้ตัวเลือกรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณรถยนต์นั่งมือสองถูกผลักออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากตามวัฏจักรการใช้รถที่สั้นลงจากอัตราการยอมรับของผู้บริโภคต่อรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และมีผลต่อราคาขายต่อที่ตกลงอย่างรวดเร็ว เหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจเต็นท์รถยนต์นั่งมือสองที่ถือสต็อกรถในมือสูง สวนทางกับต้นทุนการถือครองรถที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดที่จะถูกลดบทบาทลงในไม่ช้

ผู้ผลิตรุกคืบ-มาตรการรัฐอุดหนุน ปลุกตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศคึกคัก

ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์นั่ง EV ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งได้แรงขับเคลื่อนจากดีมานด์ของฝั่งผู้บริโภค (Demand-Driven) ตามกระแสความกังวลต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากพัฒนาการยานยนต์โลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาที่ได้แรงขับเคลื่อนจากกลยุทธ์ของฝั่งผู้ผลิต (Supply-Driven) เป็นหลัก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนผ่านจากระยะบุกเบิก (Introduction Stage) ไปสู่ระยะขยายตัว (Expansion Stage) อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราน่าจะเห็นความเคลื่อนไหวจากฝั่งของผู้ผลิตอย่างมากนับจากนี้ และมองว่าในอนาคตจำนวนรุ่นยานยนต์ไฟฟ้าที่จะออกสู่ท้องตลาดอาจมากถึง 500 รุ่น เมื่อเทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ราว 300 รุ่น ส่งผลให้ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2578 คาดว่าจะสูงถึงเกือบ 60% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าในไทยที่เติบโตสูง หลังค่ายผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากทั้งสัญชาติจีน ยุโรป และญี่ปุ่นต่างเปิดตัวรถยนต์นั่งไฟฟ้าในไทยพร้อมแผนเดินหน้าลงทุนผลิตในประเทศเพื่อขานรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ส่งผลให้รถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศมีให้เลือกหลากรุ่นหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะกลุ่ม SUV ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด และด้วยสมรรถนะของรถที่สามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าได้ไกลขึ้น การใส่เทคโนโลยีความปลอดภัยเชิงรุก (Active Safety) และออปชันเสริมที่สดใหม่กว่า ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฟฟ้าป้ายแดงทั้งปี 25665 ที่สูงถึง 9,678 คัน หรือเพิ่มขึ้น 400.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 (YoY) ใกล้เคียงกับ ttb analytics ได้ประเมินไว้ขณะที่ยอดจองรถยนต์นั่งไฟฟ้าในงานมหกรรมมอเตอร์เอ็กซ์โปที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็สูงถึง 5,800 คัน เช่นเดียวกับยอดจองโดยตรงผ่านค่ายรถทางฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกาที่หันมาบุกทำตลาดเองอีกไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นคัน

ค่าครองชีพเพิ่ม-ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันลิสซิ่งปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อยากขึ้น

แม้ความต้องการรถยนต์นั่งโดยรวมจะเพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลกและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป แต่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โดย ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2566 จะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดลง (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2565 สัดส่วน NPLs ของกลุ่มนี้อยู่ที่ 1.7% ของยอดสินเชื่อรวม หรือราว 2 หมื่นล้านบาท) โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระค่างวด 1-2 เดือน ที่อาจเปลี่ยนมาเป็นหนี้เสียเพิ่มเติม ท่ามกลางแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคส่วนที่ไม่เท่ากัน (Uneven Recovery)

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่จะทยอยปรับขึ้น ทำให้ลิสซิ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มสัญญาใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อจะเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา (Flat Rate) ส่งผลให้ผู้ปล่อยกู้ (Leasing) จำเป็นต้องทบทวนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้มีความรัดกุมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเน้นปรับลดพอร์ตความเสี่ยงในกลุ่มรถแบรนด์รองที่ไม่เป็นที่นิยมหรือรถมือสองที่มีอายุมาก การเรียกวงเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 10-30% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่มีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดเพดานดอกเบี้ยใหม่ที่ไม่เกิน 10% สำหรับรถยนต์ใหม่ และไม่เกิน 15% ต่อปี สำหรับรถยนต์มือสอง

ชี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบูม-ดันอุปทานรถมือสองบวม

ttb analytics มองว่าการเร่งปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตจะดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้เติบโตเต็มที่ในปี 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า หลังจากที่การผลักดันมาตรการภาครัฐเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มเศรษฐกิจหลักเดินหน้าบังคับใช้ไปบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ในปัจจุบันจะเห็นในหลายประเทศต่างออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกระตุ้นให้ค่ายผู้ผลิตดั้งเดิมต่างเร่งปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อมุ่งสู่ยานยนต์ ZEV ได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสั้นลงมาก เมื่อเทียบกับการผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป โดยชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าหลักจะเกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังที่มีเพียงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่ ทำให้รถยนต์นั่งไฟฟ้าพึ่งพาชิ้นส่วนเฉลี่ยเพียง 2,000 ชิ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่อาจต้องใช้มากถึง 30,000 ชิ้น จึงทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมสายพานการผลิตในระดับ Mass Production ได้ไม่ยากนัก เหล่านี้เลยทำให้บริษัทผู้ผลิตน้องใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to Entry) น้อยลงกว่าในอดีตมาก และทำให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหม่หรือรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้นแล้ว การทยอยเปิดตัวรถยนต์นั่งไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ จะยิ่งทำให้รถยนต์นั่งรุ่นเก่ามีโอกาสตกรุ่นเร็วขึ้น โดยรถยนต์นั่งไฟฟ้ารุ่นใหม่มักจะนำเสนอสมรรถนะและความปลอดภัยที่ดีกว่า ที่สำคัญราคามือหนึ่งยังมีแนวโน้มถูกลงตามพัฒนาการของแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นต้นทุนเกิน 50% ของราคารถ จนอาจทำให้รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปหรือไฮบริดรุ่นใหม่ใน Segment ระดับบน ซึ่งจะกดดันให้ความต้องการซื้อรถยนต์มือสองชะลอตัว โดยเฉพาะรถยนต์นั่งหรูมือสองจากฝั่งยุโรปที่ราคาตกลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ต้นทุนการถือครองรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดที่สูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้ากว่าเท่าตัวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาพิจารณาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น เนื่องจากต้นทุนการถือครองรถ (Total Cost of Ownership) ซึ่งหมายรวมถึงราคารถ ค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาระบบเครื่องยนต์สันดาปที่สูงกว่าระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้าล้วนถึง 2-3 เท่า สวนทางกับราคาขายต่อ (Resale) ที่อาจลดลงเฉลี่ยสูงถึงปีละ 10-15% อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเพียงตัวเลือกลำดับรอง เนื่องจากความกังวลเรื่องระยะในการวิ่ง (Range Anxiety) และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ แต่หากตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศเข้าสู่ช่วงที่เติบโตเต็มที่ (Maturity Stage) ก็จะทำให้การยอมรับ (Adoption) ของผู้บริโภคต่อการพิจารณาใช้รถยนต์นั่งไฟฟ้าเร็วขึ้น และจะทำให้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดถูกลดบทบาทลงในที่สุด

แนะผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองลดสต็อก-ทำตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และเสริมสภาพคล่อง

เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก แน่นอนว่าในระยะต่อไป ปริมาณรถยนต์มือสองในตลาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสอง (เต็นท์รถ) ที่สต็อกรถไว้เป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากอุปทานรถที่เพิ่มสูงขึ้นและจะกดราคา Resale ให้ตกเร็วขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองยังเจอคู่แข่งจากค่ายผู้ผลิตเองที่ผันตัวไปเป็นดีลเลอร์ซื้อขายรถยนต์มือสอง ตลอดจนการเข้ามาของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่นำเสนอบริการแบบ Subscription ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์นั่งมือสองจากเต็นท์รถลดลง โดยเฉพาะการให้บริการแบบ Subscription หรือ “การเช่าใช้รถ” ที่ครอบคลุมไปถึงการบำรุงรักษา การประกันภัย บริการรถทดแทนระหว่างซ่อม และหากต้องการเปลี่ยนรุ่นรถ หรือแม้แต่เปลี่ยนจากสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าซื้อก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถทดลองขับรถได้อย่างอิสระจนกว่าจะพอใจในยุคที่มีรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดอย่างไม่ขาดสาย

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการเต็นท์รถในประเทศจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับอุปทานรถยนต์นั่งมือสองที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้นด้วยการทยอยลดการสต็อกรถยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะรถยนต์นั่งมือสองที่ผ่านการใช้งานหนัก รวมไปถึงแบรนด์รถหรือรุ่นนอกกระแสที่ราคาตกเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ นอกเหนือจากนั้น การหันมาขายรถบนช่องทางออนไลน์ที่ได้มาตรฐานก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ซึ่งแม้ว่าการทำตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเต็นท์รถมือสองจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ด้วยภาวะการแข่งขันในปัจจุบันที่รุนแรงขึ้นจากการรุกคืบของแพลตฟอร์มซื้อขายรถมือสองออนไลน์จากต่างประเทศ เช่น CAR24 (อินเดีย) CARSOME (มาเลเซีย) และ Carro (สิงคโปร์) ฉะนั้นแล้ว การเพิ่มช่องทางขายบนสื่อสังคมออนไลน์หรือการฝากขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อขายรถมือสองจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการรถ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า ซึ่งช่วยลดช่องโหว่จากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน (Asymmetric Information) ระหว่างสองฝ่ายได้อีกด้วย

พุ่งแตะระดับ 2.25 ล้านล้านบาท จากพฤติกรรมและรูปแบบการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ต่างไปจากเดิม

สาเหตุจากความต้องการพืชที่นำไปใช้อุตสาหกรรมลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่พืชอาหารยังขยายตัวได้ดี ตามการเปิดประเทศทั่วโลก ชี้ต้นทุนปุ๋ย ค่าเงินบาทผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่า กดรายได้สุทธิเกษตรกร

ปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.7% จากปี 2564 เมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่า อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา เพิ่มขึ้น 54.1%, 24.1%, 18.2%, 8.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณเพียงพอ ทำให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง 32.6% และ 15.8% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 18.4% , 7.7% และ 5.4% ตามลำดับ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปิดประเทศไปนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 2566

  • ปาล์มน้ำมัน : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 6% อยู่ที่ 0.95 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และราคาคาดว่าจะลดลง 34.6 % ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2563-2565) จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ในด้านราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลง เนื่องมาจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่ชายฝั่งผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง อย่างไรก็ดี ระดับราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเมื่อ 3 ปีก่อน
  • ยางพารา : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 8% อยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปี 2565 สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับลดลง 15.8% จากปี 2564-2565 ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% และ 1.5% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติ รวมถึงความต้องการยางพาราไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลทำให้ความต้องการยางพาราที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง  
  • ข้าวเปลือก : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 7% อยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 3.4% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 4.2% โดยรายได้เกษตรกรจะได้รับผลดีจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับปี 2566 ปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงในปี 2565 มีปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนราคาข้าวเปลือกปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้น จากความต้องการบริโภคข้าว เนื่องจากกิจกรรมการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ จากการเปิดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • อ้อย : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว4% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.6% และ 5.2% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวัตถุดิบอ้อยเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
  • มันสำปะหลัง : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว4% อยู่ที่ 0.90 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% และ 3.1% ตามลำดับ สาเหตุที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาหัวมันสดที่เพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคามันสำปะหลังคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล และความต้องการจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่มีการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ จะพบว่าแนวโน้มปี 2566 พืชเกษตรที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง ในขณะที่พืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรได้

ttb analytics แนะเกษตรกรลดต้นทุนด้วยการปรับสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูก อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการผลิตลง

ในขณะที่ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ และในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2566 ที่คาดว่าจะแข็งค่าและมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อล็อกผลกำไรจากการขาย ซึ่งจะช่วยรักษารายได้สุทธิของเกษตรกรได้ต่อไป

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ด้วยปัจจัยหนุนจากกระแส การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ  เทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงการป้องกัน

ช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตอาจเป็นโอกาสสำหรับบางธุรกิจให้ขยายตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีในช่วงการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็ยังคงมีแนวโน้มที่เติบโตดีต่อเนื่อง จากการเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมสินค้ามากมาย โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการตอบสนองที่รวดเร็วทันใจในทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์

ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในไทยมีมานานกว่า 20 ปี แต่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 10 แบรนด์ ด้วยจำนวนมากกว่า 30,000 ตู้ แต่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่พื้นที่เขตกรุงเทพและภาคตะวันออกรวมแล้วมากกว่า 60% โครงสร้างธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยธุรกิจตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ 60% และตู้จำหน่ายขายสินค้าอื่น ๆ 40% ส่วนแบรนด์หลัก ๆ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูง อาทิ ซัน108 ของกลุ่มสหพัฒน์ฯ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาด มีสินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ รองลงมาเวนดิ้งพลัสของกลุ่มสบาย เทคโนโลยี จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย และตู้เต่าบินที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2564 ของกลุ่มฟอร์ท เวนดิ้ง

รายได้ธุรกิจตู้จำหน่ายอัตโนมัติยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากการวิเคราะห์รายได้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ พบว่าในปี 2564 มีรายได้อยู่ประมาณ 6,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 แม้ยังเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ เมื่อดูจากตัวเลขการนำเข้าตู้จำหน่ายอัตโนมัติ พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนที่เป็นตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติมีการนำเข้าในอัตราชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ในขณะที่ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติประเภทอื่น ๆ ยังมีการนำเข้าสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจสามารถพัฒนาและผลิตตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติได้เองออกมาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากขึ้น สำหรับในปี 2565 คาดจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ตั้งเป้าขยายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติในเชิงรุก โดยมีแผนการกระจายตู้ขายไปยังจุดที่บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม บริษัท อาคารสำนักงาน สถานศึกษา

หลากหลายปัจจัยหนุนการเติบโตธุรกิจในอนาคต ดันยอดขายเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  ซึ่งปัจจัยต่างๆ นั้นประกอบไปด้วย

· พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตเร่งรีบ ชอบความสะดวกสบาย มีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น โดยกระแสความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติมากขึ้น อีกทั้งมีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น ที่สำคัญคือพัฒนาการของระบบการชำระเงินของตู้อัตโนมัติในปัจจุบันเติมเต็มไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยช่องทางชำระเงินหลากหลายทั้งเงินสดและกระเป๋าเงินดิจิทัล พร้อมเพย์และสแกนจ่าย

· เป็นทางเลือกในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ปัจจุบันนอกจากตู้บริการเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นมานาน ยังมีสินค้าอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถวางขายในตู้อัตโนมัติได้ การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติช่วยประหยัดเรื่องของต้นทุนพื้นที่เช่าและค่าพนักงาน เครื่องเหล่านี้สามารถตั้งได้ในพื้นที่จำกัดทำให้ค่าเช่าพื้นที่หน้าร้านถูกลงมาก ตัวอย่าง ค่าเช่าพื้นที่ในตึกออฟฟิศใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือคอนโดมิเนียมที่มีผู้อาศัยอยู่มาก อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากค่าเช่าถูกแล้ว ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินั้นสามารถขายสินค้าได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้ การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการดูทันสมัยยิ่งขึ้นจากการที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติทำหน้าที่เหมือนเป็นป้ายโฆษณา ดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน อีกทั้งทำให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลายอีกด้วย

· เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก สะท้อนจากความหนาแน่นของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่อประชากรไทยยังต่ำ เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติกว่า 4 ล้านเครื่องคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วโลก ในขณะเดียวกันเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ 1 เครื่องจะครอบคลุมประชากรญี่ปุ่นราว 30 คน ซึ่งถือเป็นความหนาแน่นต่อประชากรที่มากที่สุดในโลก ขณะที่สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 366 คน เมื่อพิจารณาจากจำนวนตู้อัตโนมัติทั่วประเทศราว 30,000 ตู้เทียบกับประชากร 11 ล้านคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตู้อัตโนมัติมากสุด ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี สัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 255 คน และสิงคโปร์ 1 เครื่องต่อประชากร 360 คน

· ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใช้กลยุทธแฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจขยายสาขา เจาะเมืองท่องเที่ยว เมืองใหญ่ ทำเลย่านชุมชน เมื่อธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเริ่มลงตัวและบริษัทมองว่าธุรกิจของตนสามารถเติบโตได้อีก แต่บริษัทไม่มีกำลังมากพอที่จะดูแลการเติบโต เนื่องจากปัจจัยข้อจำกัดเช่นเรื่องพื้นที่ที่ห่างไกล จำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ที่ไม่เพียงพอบริษัทสามารถพัฒนาระบบแฟรนไชส์ขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจสามารถมาลงทุนในกิจการของตน เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

จากหลายปัจจัยหนุนธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้เติบโต ทำให้ในปี 2566 คาดว่ามีผู้ประกอบการในธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นรูปแบบการเป็นแฟรนไชส์ ดันรายได้ธุรกิจในภาพรวมขยับสูงเป็น 1 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละ 13-15% รวมทั้งจะได้เห็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในรูปแบบใหม่ ๆ ดึงดูดผู้บริโภคในตลาดมากขึ้น

 ttb Analytics

X

Right Click

No right click