บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมผู้บริโภคได้รับประทาน “ไข่ไก่” สด แบรนด์ CP และไข่ไก่ Cage Free ที่ได้มากกว่าคุณค่าโภชนาการ โปรตีนสูง พร้อมทั้งได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พัฒนาไข่ไก่สด ขึ้นทะเบียน “ฉลากลดโลกร้อน” (Carbon Footprint Reduction) และเร็วๆ นี้ ไข่ไก่ เคจฟรี (Cage Free Egg) แบรนด์ ยูฟาร์ม (U Farm) ได้รับฉลาก "คาร์บอนนิวทรัล" (Carbon Neutral Product) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพิ่มขึ้น นับเป็น “ไข่ไก่ เคจฟรี” ปลอดคาร์บอนรายแรกของภูมิภาคเอเชีย
นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Products) เพื่อร่วมลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทฯ รวมถึง “ไข่ไก่” ที่ ซีพีเอฟได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ไข่ไก่อย่างต่อเนื่องให้เหลือน้อยที่สุดผ่านโครงการต่างๆ เช่น การใช้สายพานลำเลียงไข่อัตโนมัติ การลดการสูญเสียไข่ไก่ (Food Loss) ตามแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมถึงการนำของเสียจากเปลือกไข่ไปใช้ประโยชน์ และการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวลจากระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น จากความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา ไข่ไก่สดปลอดสาร และไข่ไก่เคจฟรี 23 รายการ ของซีพีเอฟ ได้รับรอง "ฉลากลดโลกร้อน" และอีก 2 รายการ ได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากอบก. และเมื่อเร็วๆ นี้ อบก. ขึ้นทะเบียน “ฉลากคาร์บอนนิวทรัล” กับ ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ Cage Free แบรนด์ยูฟาร์ม (U Farm) ในขนาดบรรจุ 2 รายการ ประกอบด้วยขนาด 4 ฟอง/แพ็ค และขนาด 10 ฟอง/แพ็ค นับเป็นไข่ไก่เคจฟรีปลอดคาร์บอนรายแรกของไทย และภูมิภาคเอเชีย
“ไข่ไก่เคจฟรี ฉลากคาร์บอนิวทรัล หรือ ไข่ไก่ Cage Free ปลอดคาร์บอน เป็นอีกทางเลือกให้คนไทยได้บริโภคอาหารโปรตีนคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ ดีต่อใจเพราะไข่ไก่เคจฟรี คุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัย และช่วยลดโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สนับสนุนผู้บริโภคมีส่วนร่วมจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก” นายสมคิดกล่าว
ไข่ไก่เคจฟรี (คาร์บอนนิวทรัล) มีการจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานจนถึงการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์เท่ากับศูนย์ ส่วนผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดที่ได้รับฉลากลดโลกร้อน ของซีพีเอฟ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของไข่ไก่ทั่วไปถึงร้อยละ 30 และปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 617,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ ไข่ไก่ Cage Free ยังมาจากแม่ไก่อารมณ์ดี สายพันธุ์คัดพิเศษ เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หรือ แบบไม่ใช้กรงในโรงเรือนระบบปิดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ขั้นสูง ได้รับมาตรฐานกรมปศุสัตว์ และมาตรฐานสากล ใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมสภาพแวดล้อมการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงระบบสายพานลำเลียงไข่จากจุดวางไข่ไปยังห้องเก็บไข่ มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสูง เลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากธัญพืชเสริมด้วยโปรไบโอติก ช่วยให้แม่ไก่อยู่อย่างสุขสบาย อารมณ์ดีไม่เครียด แข็งแรง ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง “ไข่ไก่เคจฟรี” แบรนด์ยูฟาร์ม จึงสะอาด ปลอดภัย มีความสดกว่าไข่ไก่ทั่วไป ไม่มีกลิ่นคาว ไข่แดงมีสีส้มสด นูนสวย นอกจากนี้ ไข่ไก่เคจฟรี ยังใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้วัสดุรีไซเคิล 100% คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อีกด้วย
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตเพิ่มเติม เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวลผลิตไบโอแก๊สจากมูลไก่เป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม และตั้งเป้าพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ต้นแบบที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ มี 818 ผลิตภัณฑ์ที่มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล โดยกว่า 56 ผลิตภัณฑ์ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับ “ฉลากลดโลกร้อน” และมีไข่ไก่ 2 รายการเป็นสินค้าปลอดคาร์บอน ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายในปี 2573 ร้อยละ 40 ของรายได้บริษัทฯ มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว (CPF Green Revenue)
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ รวมถึงมนุษย์ ที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ฯลฯ และยังช่วยรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ต่างๆด้วย หากแต่ปริมาณน้ำบนโลกนี้เป็นน้ำทะเลหรือน้ำเค็มถึงร้อยละ 97 ส่วนที่เหลืออีกเพียงร้อยละ 3 เป็นน้ำจืด ถ้าหากแบ่งในปริมาณน้ำจืดนี้เป็น 100% พบว่าเป็นธารน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็งมากถึง 70% ส่วนอีก 29% เป็นน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล และมีเพียง 1% เป็นน้ำผิวดิน
การเก็บกักน้ำไว้บนผิวดินเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ กลายเป็นทั้งเรื่องที่จำเป็นและเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก วันนี้พามารู้จักกับหนึ่งในตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในภาคเกษตร ที่ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โครงการที่ริเริ่มดำเนินการโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาตั้งแต่ปี 2520 ด้วยการพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งให้เกษตรกรทั้ง 50 ราย ได้มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก และมีการเพาะปลูกพืชสวนพืชไร่เป็นอาชีพเสริม จนถึงปัจจุบันที่นี่กลายเป็นผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ มีสวนผลไม้ สวนยาง แปลงผักปลอดสาร ฟาร์มเห็ด สุดแต่ความถนัดของเกษตรกรช่วยสร้างรายได้เสริมให้ตลอดปี
สำหรับการเลี้ยงหมูและการเพาะปลูกพืช ของเกษตรกรในหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ซึ่งมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และที่ผ่านมาที่นี่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรจึงร่วมกับทีมงานของธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ช่วยสนับสนุนทั้งการผลิตหมูและทุกๆกิจกรรมของเกษตรกร ด้วยการร่วมกันคิดหาวิธีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมคือ “ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)”
ภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด เล่าว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน ถือเป็นนวัตกรรมด้านสังคมที่เกษตรกรร่วมกับซีพีเอฟดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำใช้ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อน้ำมาใช้มากถึง 50,000 คิว ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 1,000,000 บาท ส่งผลกระทบต่อรายของได้เกษตรกร ทุกคนได้ร่วมคิดหาวิธีที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับทั้งการเลี้ยงหมูและปลูกพืชได้ทั้งปี จึงเกิดเป็นแนวคิดการทำ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ของหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ที่ใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน ด้วยการขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำเพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร
“เมื่อก่อนพอฝนตกจะเกิดน้ำท่วมขังและไหลทิ้งออกนอกพื้นที่ ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ธนาคารน้ำใต้ดิน คือสถานที่เก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไปกักเก็บไว้ใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำให้ได้มากที่สุด จากบ่อที่ทุกคนร่วมใจกันประดิษฐ์ขึ้นมา ในรูปแบบนวัตกรรมทางธรรมชาติ จัดการน้ำที่ไหลอยู่บนผิวดินให้ลงไปเก็บไว้ใต้ดิน มีการเชื่อมโยงเป็นระบบเครือข่ายธนาคารน้ำ ร่วมกับแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เป็นการนำความรู้พื้นฐานการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา สังคม ชุมชน และธรรมชาติ ทิศทางการไหลของน้ำ การหมุนของโลกมาผนวกกัน เมื่อมีธนาคารน้ำใต้ดิน พอถึงฤดูแล้งระดับน้ำใต้ดินจะเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรสามารถนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ได้เพียงพอตลอดฤดูกาล” ภักดี กล่าว
ธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เริ่มดำเนินการในปี 2563 หลังจากทีมงานได้ศึกษาดูงาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเชิญวิทยากรของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ มาให้ความรู้กับเกษตรกร พร้อมวางแผนสำรวจตำแหน่งที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดินในหมู่บ้าน โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟทำการสำรวจข้อมูลปริมาณน้ำใต้ดินเบื้องต้น จนเริ่มสร้างธนาคารน้ำใต้ดินรูปแบบบ่อปิดบริเวณรอบสำนักงานและพื้นที่ส่วนกลาง และทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดที่บ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน โดยน้ำที่นำมาเก็บมาจากหลายแหล่ง ทั้งน้ำฝนที่ตกลงมา และน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด ต่อมาในปี 2564 ต่อยอดสู่ธนาคารน้ำใต้ดินรูปแบบรางระบายน้ำบริเวณถนนภายในหมู่บ้านฯ และในปี 2565 ผลักดันสู่แหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจได้มาศึกษาดูงาน
ปัจจุบันที่นี่มีธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดบริเวณพื้นที่ส่วนกลางรวม 31 บ่อ แบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อปิด 30 บ่อ และแบบรางระบายน้ำ 1 บ่อ ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดบริเวณรอบหมู่บ้านมีทั้งหมด 64 บ่อ แบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อปิด 9 บ่อ และรูปแบบรางระบายน้ำจำนวน 55 บ่อ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ภายในฟาร์ม ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด บ่อเดิม ความจุ 37,000 ลบ.ม. โดยทำการขุดบ่อเพิ่มเติมเพื่อเก็บกักน้ำให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เชื่อมต่อจากบ่อเดิม อีก 1 บ่อ มีความจุ 17,000 ลบ.ม. ทำให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้มากกว่า 18 เดือน จึงช่วยแก้ไขทั้งปัญหาภัยแล้ง การขาดน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังทั้งภายในและภายนอกฟาร์ม เพิ่มปริมาณระดับน้ำบาดาลในพื้นที่เก็บไว้ใช้อนาคต และเพิ่มความอุมดมสมบูรณ์ของพื้นดินสำหรับปลูกพืช ความสำเร็จนี้ได้ถูกต่อยอดไปยังฟาร์มหมูของธุรกิจสุกรซีพีเอฟภาคตะวันออกอีก 6 แห่ง รวมถึงขยายผลไปยังธุรกิจสุกรใน ซี.พี.ลาว ด้วย
“ธนาคารน้ำใต้ดินเปรียบเสมือนการฝากน้ำไว้กับดิน เป็นการเก็บน้ำส่วนเกินเพื่อเติมน้ำที่ขาด ช่วยแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งทุกปี และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำได้ถึงปีละ 1 ล้านบาท เกษตรกรและทีมงานซีพีเอฟทุกคนภูมิใจที่ ได้มีโอกาสเปิดรับผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานธนาคารน้ำใต้ดินของเราและนำไปประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ และให้คำปรึกษาเรื่องการทำธนาคารน้ำแก่หน่วยงานต่างๆ และยังได้ไปร่วมงานสัมมนาบริหารจัดการน้ำนานาชาติด้วย” ภักดี กล่าว
หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าพิสูจน์ ทำให้เห็นแล้วว่าน้ำบาดาลและแหล่งน้ำใต้ดินมีความสำคัญ และเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการ หากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 038-557-081
การเลี้ยงหมูแบบอิสระของพ่อแม่ ถือเป็นภาพชินตาที่ ชมพูนุท บุญทิม หรือ ใบพลู เห็นและสัมผัสมาตั้งแต่เกิด