ศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics เผยผลการศึกษาพฤติกรรมการซื้อลอตเตอรี่และหวย(ใต้ดิน)คนไทยพบว่า หวยไม่ใช่แค่เรื่องของมวลชน กลุ่มพนักงานประจำและเจ้าของธุรกิจ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนของประเทศ กว่า 9 ล้านคน เสพติดหวย ส่วนใหญ่มีครอบครัวมีภาระ ที่ซื้อลอตเตอรี่เพราะหวังรวยทางลัดและอยากเสี่ยงโชค หวยเป็นปัจจัยพื้นฐานแม้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังซื้อ
“1 ใน 4 ของคนไทยซื้อลอตเตอรี่และหวย รวมเป็นเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี” พูดง่ายๆคือคนไทยราว 20 ล้านคนซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยเทียบเป็นมูลค่าในแต่ละปีเท่ากับ 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือมองในมุมของเศรษฐกิจเทียบเท่ากับเม็ดเงินลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเลยทีเดียว
แล้วทุกวันนี้คนไทยมองการซื้อลอตเตอรี่หรือการเล่นหวยอย่างไร เสียงสะท้อนจากสื่อโซเชียลส่วนใหญ่และผลสำรวจ พบว่าร้อยละ 55 มองหวยเป็นความฝันและความหวังที่ทำให้รวยและมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จาก สถิติชี้ว่าโอกาสที่จะรวยจากการถูกรางวัลนั้นน้อยมากไม่ว่าเป็นลอตเตอรี่หรือหวย โดยคนคาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีอยู่ 44% แต่โอกาสถูกจริงเน้นว่าเป็นเพียง 1 ในล้าน ส่วนด้านคนเล่นหวยคาดว่าจะถูก 2-3 ตัวบนล่างมีอยู่ถึง 78% แต่โอกาสถูกจริงคิดเป็น 0.4-2% เท่านั้น
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Google Trend ยังชี้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคนไทย search คำว่า “เลขเด็ด” ซึ่งเป็นคำที่ฮิตทั่วไทยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 18% ขณะที่การ search คำว่า “ฝากเงิน”เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 9% และกระจุกอยู่แค่หัวเมืองเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่ได้ยินเสมอว่าถ้ามีเลขเด็ดแพร่สะพัดไปเมื่อไรละก็ ทั่วทั้งประเทศแผงไหนๆ จังหวัดไหนก็ขายหมด และไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคนไทยก็ยังคงเสพติดหวยอย่างสม่ำเสมอ บ่งชี้จากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2552 รายจ่ายในการซื้อลอตเตอรี่และหวยของคนไทยอยู่ที่ 340 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด เทียบกับในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2560 รายจ่ายในด้านนี้อยู่ที่ 452 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด ซึ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าหวยเป็นความหวังที่ทำให้รวยและมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ในสถานการณ์ที่รายได้ตกต่ำควรเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ยังต้องการเสี่ยงโชคแทงหวย หรือหวยจะมีบทบาทกลายเป็นสินค้าจำเป็นตามหลักเศรษฐศาตร์เข้าไปทุกที
เมื่อเจาะลึกถึงหน้าตาผู้ซื้อลอตเตอรี่หรือหวยเป็นอย่างไร เราพบว่าความเชื่อที่ว่าคนรายได้น้อยเท่านั้นที่เล่นหวย ส่วนคนรวยเล่นหุ้นนั้นไม่จริง จากสถิติและผลสำรวจพบว่า คนไทยไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อยก็เล่นหวยทั้งนั้น โดยกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีการซื้อลอตเตอรี่และหวยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 680 บาท คิดเป็น 1.2% ของรายได้ ซึ่งมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท คิดเป็น 2.2% ของรายได้
และไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย ก็เล่นหวยทั้งนั้น แต่หนักไปที่คนวัยสร้างครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ แถมเริ่มเล่นหวยตั้งแต่อายุยังน้อย จากสถิติและผลสำรวจชี้ว่า กลุ่มคนวัยสร้างครอบครัว (อายุ 35-55 ปี) หรือมีภาระรับผิดชอบเยอะ เป็นกลุ่มที่ซื้อลอตเตอรี่และเล่นหวยหนักที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 500 บาท มากกว่าวัยทำงานและวัยเกษียณที่เฉลี่ยต่อเดือนราว 400 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตาม สถิติและผลสำรวจยังชี้ถึงประเด็นที่น่าตกใจว่า 10% ของจำนวนนักเรียนและนักศึกษาเล่นหวย โดยซื้อหวยต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 187 บาท เรียกว่าเริ่มเล่นหวยกันตั้งแต่ยังไม่มีรายได้ สาเหตุที่ซื้อเพราะมีแรงจูงใจมาจากผู้ปกครองและคนรอบข้าง และสื่อโซเชียล
ทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจเสพติดการเล่นหวยอยู่ในระดับใด? ที่เราเซอร์ไพรส์คือ 50% ของมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ หรือประมาณ 12 ล้านคนเล่นหวย โดยหากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะการเล่นหวย เราพบว่า 26% “เล่นขำๆ” คือ เล่นสนุกไม่จริงจัง มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล 63% “ชอบหวย” เพราะชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล และที่น่าสนใจคือ 11% “ติดหวย” ชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มองว่ามูลค่าของเงินรางวัลสูงยังไงก็คุ้มกับเงินที่ซื้อหวย จึงซื้อแบบไม่ได้คิด ทั้งนี้เราอาจสรุปได้ว่า มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ หรือราว 9 ล้านคน ชอบลุ้นรางวัลไปจนถึงเสี่ยงโชคเพื่อรวยขึ้น
เมื่อเจาะลึกถึงพฤติกรรมการซื้อหวยของกลุ่มคน “ชอบหวย” พบว่ากว่า 80% ซื้ออย่างน้อยเดือนละครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 420 บาท และซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกของการเล่นหวยราว 18% ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่า กลุ่มคน “ติดหวย” จะซื้อทุกงวด หรือ 24 ครั้งต่อปี จ่ายค่าหวยมากกว่ากลุ่ม “ชอบหวย”ถึงสองเท่า แถมยังซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึง 26% ทั้งนี้หากกลุ่มคนเหล่านี้ซื้อหวยต่อเนื่อง 50 ปี สิ่งที่พวกเขาเสียไปเทียบเท่าได้กับ รถยนต์ City Car หรือบ้านถึง 1 หลัง เลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า หวย คือความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทยจริงๆ
นอกจากนี้เราได้เจาะลึกไปถึงสาเหตุของพฤติกรรม โดยพบว่า ทั้งคน “ชอบหวย” และคน “ติดหวย” มองเงินที่ซื้อหวยเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องมี เพราะชอบเสี่ยงโชค แต่ต่างกันตรงที่ คน “ชอบหวย” มีการวางแผนทางการเงิน โดยกันเงินเพื่อซื้อหวย ในขณะที่คน “ติดหวย” ซื้อหวยแบบไม่ได้คิด คือ หากได้เงินมาก็ใช้ซื้อหวยทันที และอาจยอมลดเงินซื้อหวยส่วนหนึ่งเท่านั้น และเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้น เราพบว่า คน “ติดหวย” จะนำเงิน(ถ้าถูกรางวัล) จ่ายหนี้ ต่างจากคน “ชอบหวย” ที่เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น และให้ครอบครัว จึงเป็นข้อยืนยันว่า หวยคือความหวังที่ช่วยปลดล็อดให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจสัดส่วนในการออมเงิน คน “ชอบหวย” ส่วนใหญ่ราว 66% มีเงินออมเฉลี่ยมากกว่า 5,000 บาท ขณะที่เงินออมเฉลี่ยต่อเดือนของคน “ติดหวย” นั้นส่วนใหญ่น้อยกว่า 5,000 บาท
โดยสรุปแล้ว มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ ที่ “ชอบหวย” และ “ติดหวย” หากนำเงินเหล่านี้ไปออมเพิ่มขึ้น หรือลงทุนในทางเลือกอื่น ที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง โปร่งใส รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ จะทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้น และอาจนำไปใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เช่น ประกันสุขภาพ รถยนต์ หรือ บ้าน ได้โดยไม่ต้องหวังลุ้นเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนอีกต่อไป ¾
“ศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics เป็นศูนย์วิเคราะห์มุมมองใหม่ๆ ด้านการพฤติกรรมทางการเงิน เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น” นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของคนไทยตลอดเส้นทางทั้งการออม การใช้จ่าย การลงทุน ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งสามารถสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมในด้านต่างๆ
นายปิติ ตัณฑเกษม ในฐานะประธานกรรมการ มูลนิธิทีเอ็มบี รับมอบเงินสนับสนุนมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท จากนายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการทหารไทย (TMBAM) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในโครงการไฟ-ฟ้า เพื่อจุดประกายเยาวชนและชุมชน โดยเงินสนับสนุนดังกล่าวมาจาก 10% ของค่าบริหารจัดการ (Management Fee) กองทุนรวมหุ้น ทีเอ็มบีธรรมมาภิบาลไทย โดยรับมอบในงาน “ เด็กธรรมดา คือสิ่งที่สวยงาม” ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน
นับจากปี 2553 ทีเอ็มบี ได้ริเริ่มกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนขึ้น ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน... เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น โดยมุ่งเน้นจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และส่งมอบสิ่งดีๆ กลับสู่สังคม ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพนักงานทีเอ็มบีทั่วประเทศ ลูกค้า เยาวชน และชุมชน โดยมีพนักงานเป็นผู้จุดประกายและลงมือ “เปลี่ยน” ชุมชนให้ดีขึ้น
เริ่มจากการเข้าไปในชุมชนที่อยู่ใกล้สาขาเพื่อสำรวจปัญหาต่างๆ จุดประกายให้คนในชุมชนออกมา ร่วมกับทีมอาสาสมัคร ช่วยกันคิด วางแผน และกำหนดแนวทางในการ “เปลี่ยน” เพื่อให้เหมาะกับชุมชนหรือตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้น ซึ่งกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน มุ่งสร้างประโยชน์ให้ชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับในปีนี้มีโครงการที่เกิดขึ้นจากการจุดประกายของพนักงานทีเอ็มบีจำนวน 37 โครงการ และ “โครงการ ฟื้นฟูตำนานด่านวัดขนอน” ซึ่งเป็นโครงการที่ 3 ของเขตราชบุรี ก็เป็นอีก 1 ในโครงการของปี 2561 นี้เช่นกัน
สำหรับวัดขนอน อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรีนั้น เป็นวัดที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกในด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรม ประกาศโดยยูเนสโก มีการแสดงหนังใหญ่เป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เดิมบริเวณหน้าวัดขนอนติดกับแม่น้ำเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากรทางเรือ และเป็นตลาดที่แลกเปลี่ยนสินค้า แต่ในปัจจุบันแม่น้ำมีความตื้นเขินความเป็นมาในด้านของด่านวัดขนอนจึงเลือนหายไป
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน เล่าโดยสรุปว่า โครงการฟื้นฟูตำนานด่านวัดขนอนครั้งนี้เป็นเหมือนการ “สานต่อลมหายใจให้ชุมชน” นอกเหนือจากการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่วัดขนอนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนในด้านการอนุรักษ์ศิลปะแขนงต่างๆ โดยตลาดที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอันเป็นตำนานด่านวัดขนอนนั้น จะสามารถเติมเต็มและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันกับการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน ที่แม้จะขึ้นชื่อในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกไทย แต่การเข้าถึงมหรสพชนิดนี้นั้นยากกับการเจาะเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว การมีตลาดด้วยนั้นจะเป็นการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในวัยนี้ให้เพลิดเพลินมากขึ้นกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ มีสิ่งของดีๆ ให้เลือกในการจับจ่าย นอกจากการมาศึกษาและดูมหรสพหนังใหญ่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
นางภัทรวดี ปานเพ็ชร ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขาราชบุรี ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า “อาสาสมัครทีเอ็มบีที่เข้าร่วมพัฒนาชุมชนฯ ในครั้งนี้ เป็นพนักงาน สาขาราชบุรีที่มีจิตอาสาตั้งใจจะพัฒนาชุมชนให้ได้ประโยชน์ ผ่านการทำกิจกรรมที่มีอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปช่วยสนับสนุนเยาวชนในชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และจัดการระบบหน้าที่ต่างๆ ให้แก่เยาวชน ทำหน้าที่นักสื่อสารข้อมูลท้องถิ่น เพื่อนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว ช่วยพัฒนาการจัดการให้แก่ชาวบ้านที่มาค้าขาย และทำให้ตลาดด่านขนอนเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการจัดทำ QR Code เพื่อให้นักท่องเที่ยวสแกน และรับทราบถึงประวัติความเป็นมาของวัดขนอน จัดทำป้ายแผนที่บอกเส้นทางท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมครบทุกสถานที่ในชุมชนฯ ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบวัดขนอน และตลาดด่านขนอน ให้ดูสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยเราต้องการให้ทุกอย่างที่เราทำนี้เป็นวงจร เป็นความยั่งยืน ที่คนในชุมชนจะได้ประโยชน์”
นายจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการแสดงหนังใหญ่ วัดขนอน เล่าต่อว่า เรื่องของการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอนนั้นทำการต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์มากว่า 20 ปี โดยมีต้นทุนการแสดงที่ทางวัดขนอนได้ช่วยออกทุนในการทำการแสดงเล็กๆ ก่อน จนหางบประมาณมาทำเป็นโรงละครและลานแสดงที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาดูหนังใหญ่แล้วกลับไป ไม่ได้ท่องเที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ของชุมชน จึงมาคิดร่วมกันว่า ชุมชนเคยมีตลาดด่านขนอน จึงได้จำลองขึ้นมาใหม่ในบางส่วน และให้ชาวบ้านขายของ เพื่อเป็นการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งตลาดด่านขนอนนั้น เป็นตลาดที่ชาวบ้านโพธารามจะนำอาหารพื้นเมือง ขนม สินค้าพื้นบ้าน งานทำมือ มาขายให้แก่นักท่องเที่ยวในราคาย่อมเยา ซึ่งตลาดจะเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. โดยจะมีการแสดงหนังใหญ่แสดงทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ วันละ 1 รอบ ในช่วงเวลา 11.00 น.
สำหรับกิจกรรม เปลี่ยน ชุมชนเพื่อความยั่งยืนโดยอาสาสมัครทีเอ็มบี ได้ค้นพบความต้องการที่แท้จริงของชุมชนและสามารถแบ่งความต้องการออกเป็น 5 ด้าน เพื่อให้ทำงานตอบโจทย์ของชุมชนได้ถูกจุด ได้แก่
โครงการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อม โครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการหรือมีความต้องการพิเศษ โครงการด้านอนุรักษ์หรือฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม โครงการสร้างอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนและทั้งหมดนี้คือ หนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของทีเอ็มบี ภายใต้แนวคิด Make THE Difference ที่สร้างสรรค์และส่งมอบสิ่งดีๆ ให้ชุมชน พัฒนาและอยู่ได้อย่างยั่งยืน....
สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ ของอาสาสมัครทีเอ็มบี เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจ หรือสนับสนุนการ “เปลี่ยน” เพื่อสังคมที่น่าอยู่ ได้ที่
https://www.tmbfoundation.or.th, https://www.instagram.com/makethedifference_by_tmb
ทีเอ็มบี และ เคเอกซ์ พื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้ของประชาคมจากทุกภาคส่วน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกันเปิดหลักสูตรพิเศษ “Lean Quick Win” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย ดร. รุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบี ได้ริเริ่มโครงการ Lean Supply Chain by TMB หลักสูตรที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และนำไปใช้ได้จริง เพื่อเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพครบวงจร ด้านการบริหารจัดการการผลิต ลดสินค้าคงคลัง เพิ่มผลผลิตในองค์กร และลดระยะเวลาในการทำงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมอบรมแล้วกว่า 1,380 บริษัท สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชนได้กว่า 900 ล้านบาท ใน 5 ปีที่ผ่านมา
แต่สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีเวลาเข้าร่วมอบรมหลักสูตร 4 เดือน จึงร่วมมือกับเคเอกซ์ มจธ. ต่อยอดโอกาสธุรกิจให้กับเอสเอ็มอี ด้วย หลักสูตร “Lean Quick Win” ที่พัฒนามาจากโครงการ Lean Supply Chain by TMB เป็นเวิร์คช้อปแบบเข้มข้น 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าร่วมการอบรมได้ในวงกว้างและสะดวกมากขึ้น
และยังเป็นครั้งแรกที่เอสเอ็มอีจะได้รับความรู้ที่ผสมผสานกันระหว่างแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคนิค Lean Six Sigma กับแนวทาง Design Thinking ช่วยจุดประกายไอเดีย และครอบคลุมความรู้ที่สำคัญสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเติบโตอย่างแตกต่างในยุคดิจิทัล เน้นการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ พร้อมทั้งการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากทางเคเอ็กซ์ มจธ. และทีเอ็มบี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจเอสเอ็มอี
โดยหลักสูตร Lean Quick Win จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 8 -10 ส.ค. ณ ห้อง Xcite Space ชั้น 17 อาคารเคเอกซ์ สำหรับธุรกิจบริการสถานประกอบการทางการแพทย์ เพียง 30 บริษัทเท่านั้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของทีเอ็มบี ซึ่งภายในหลักสูตรเข้มข้น 3 วัน ผู้อบรมจะได้เรียนรู้แนวทาง Design Thinking อย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ (1) การวิเคราะห์ปัญหาและเข้าใจความต้องการของลูกค้า (2) การระดมไอเดียพัฒนาแนวคิดใหม่ (3) การมองหาความเป็นไปได้ เลือกแนวคิด พร้อมพัฒนาเป็นตัวต้นแบบ (4) การสร้างไอเดียต้นแบบ และ (5) นำเสนอ พร้อมรับข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 2 หน่วยงาน มาเสริมสร้างสมรรถนะความสามารถของ SMEs โดยในโครงการจะมีการกำหนดโจทย์/ ปัญหาทางเทคโนโลยีจากสภาพที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะนำมาศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีการนำ Design Thinking ซึ่งเป็นการผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและการออกแบบมาร่วมในกระบวนการ เพื่อให้เกิดผลเชิงนวัตกรรม โดยความร่วมมือในการจัดโครงการในครั้งนี้ จึงเป็นมิติใหม่ของการยกระดับการสนับสนุน SMEs ไทยอย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจนยิ่งขึ้น
ดร.รุจิกรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ทีเอ็มบี ยังได้ร่วมมือกับ เคเอกซ์ มจธ. ผ่านทางรีวอร์ดโปรแกรม TMB BIZ WOW ซึ่งลูกค้าทีเอ็มบีสามารถได้คะแนนสะสมจากการทำธุรกรรมการเงินและนำมาแลกเป็นสิทธิประโยชน์รูปแบบต่างๆ ที่ช่วยต่อยอดธุรกิจ โดยลูกค้าของทีเอ็มบีสามารถใช้คะแนน TMB BIZ WOW แลกรับสิทธิ์อบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงหลักสูตรที่จะเปิดอบรมในอนาคตได้อีกด้วย
ตลาดทุนและตลาดเงินของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต้องเผชิญความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และสภาพคล่องที่ลดลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมและความผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือ
หลังจากวิกฤติการเงินปี 2008 ธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลกเลือกใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโปรแกรม QE ทำให้เกิดสภาวะสภาพคล่องล้นตลาด นักลงทุนจึงเลือกที่จะเอาเงินไปลงในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรม Search for Yields ทำให้มีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ ทั้งในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน และตลาดหุ้น ทำให้ spread ของหุ้นกู้เอกชนลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น โดย spread ของหุ้นกู้ BBB rating ของไทยลดต่ำลง จากที่ระดับกว่า 300bps ก่อนที่จะมีมาตรการ QE ในปี 2009 ลงมาอยู่ที่ระดับ 170bps หลังเฟดยกเลิกมาตรการ QE ในปี 2014 ในขณะที่ SET Index ก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 500 จุด ไปเป็น 1600 จุด
ดังนั้น ตอนนี้ธนาคารกลางที่เคยเป็นคนเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ กลายเป็นคนที่ดูดสภาพคล่องของระบบออกไป โดยการยกเลิกการทำ QE และเริ่มลดขนาดงบดุล ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ทำให้สินทรัพย์ของสหรัฐฯน่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ ในขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ทำให้ค่าเงินอ่อนลงไปตั้งแต่6% ถึง กว่า 30% จากเงินทุนที่ไหลออกรุนแรง จนทำให้ประเทศเหล่านี้ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความกดดันจากค่าเงินที่อ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อที่ทยอยปรับขึ้น
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของเฟดแล้ว ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ก็ยังถูกกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ชัดเจนก็ตาม โดยหลังจาก Trump เริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ค่อนข้างรุนแรง จนค่าเงินในตลาดเอเชียอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยกว่า 5%
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เงินทุนยังไม่ไหลออกรุนแรงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แต่หากนับจากช่วงต้นปีนี้ ตลาดทุนและตลาดเงินไทยก็มีเงินไหลออกสุทธิรวมกันแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2016 และ ปี 2017 ที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิกว่า 2.8 แสนล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปี ที่ประเทศไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิมาโดยตลอด ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงตอนนี้ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10 ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าจากต้นปีแล้วกว่า 2.2%
ความผันผวนในตลาดทุนและตลาดเงินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่ตลาดมอง จากตลาดแรงงานที่ร้อนแรงขึ้น เมื่อความต้องการแรงงาน 6.7 ล้านตำแหน่งสูงกว่าจำนวนคนว่างงาน 6.1 ล้านคน กดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เกิด market correction รุนแรง เงินทุนไหลออก มูลค่าสินทรัพย์ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ดังนั้นทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ จึงควรเตรียมป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไว้ด้วย