จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ตลอดจนกระทบถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวจึงถูกยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอนาคต

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับคณะปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบ” ณ ห้องประชุมศรีสุริยวงศ์บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมตวันนา สุรวงศ์ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้

Temperature Inversion ปรากฏการณ์ฝาชีอากาศผกผัน

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า มลพิษทางอากาศที่ล้วนมีสาเหตุหลักจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต หากไม่ดำเนินมาตรการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองก็จะเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ เมื่ออากาศเปลี่ยนผันเข้ามาก็กลายเป็นฝาชีครอบเอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองจะไม่สามารถกระจายไปไหนได้ จนท้ายที่สุดฝุ่นละออง PM 2.5 ก็มีการสะสมในปริมาณมาก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ถึงขั้นก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพได้

ความมุ่งหวังต่ออายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี...ที่ดียิ่งขึ้น

บนเวทีเสวนา นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับความมุ่งหวังในอีก 20 ข้างหน้า กับการได้เห็นคนไทยมีช่วงอายุของการมีสุขภาพดีที่ยืนยาวขึ้น มีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เพราะปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาสุขภาพตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 50 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลพิษอากาศที่กระตุ้นให้เกิดโรคภัยได้ง่ายขึ้น โดยมลพิษทางอากาศนั้นจัดเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคไม่ติดต่อรองจากการสูบบุหรี่ ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งปอด ซึ่งมีประชากรปีละกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษทางอากาศ

บนเวทีเสวนา นายแพทย์พันศักดิ์ ได้เผยถึงการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า “จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เรามีการประเมินสถานการณ์ในทุกๆ วัน ผ่านการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองจากกรมควบคุมมลพิษ และนำข้อมูลเหล่านั้นแปลงเป็นสาระสำคัญสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป ขณะเดียวกันเรามีการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าง หอบหืด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งจัดทําแนวทางการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) และยังดำเนินการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน ให้ข้อมูลความรู้กับทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.สธ. 2535”

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้ายถึงภาพรวมที่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง นั่นคือการบริหารจัดการ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการวิจัยของประเทศไทยเองที่จับต้องได้ สามารถเชื่อมโยงให้เห็นได้ชัดเจนว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจริงๆ ไม่ใช้เพียงค่าประมาณการ หรืองานวิจัยอ้างอิงจากต่างประเทศ ที่อาจจะไม่ใช่บริบทของคนไทย

สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับ...ทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม

ด้านผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่มีสภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว ได้ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นในบรรยากาศอีกทั้งจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอันเกิดจากแหล่งกำเนิดต่างๆ อาทิ การคมนาคมและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยมีสาระสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดที่จะใช้หลักการจัดการเชิงรุก เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ด้วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ เพื่อนํามาใช้เป็นแนวทางในการป้องกันความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมคํานึงถึงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่

มาตรการที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยกําหนดเป็นแนวทางการดําเนินงานในระยะเร่งด่วน รวมถึงแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพื้นที่เสี่ยง โดยอาศัยกลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มาตรการที่ 2 : การป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายออกกฎระเบียบ หรือแนวทางข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มาตรการที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ผ่านการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต

เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นางสาวพะเยาว์ คำมุข ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม บอกเล่าถึงความคาดหวังในอีก 20 ปีข้างหน้าที่อยากเห็นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Green Industry ที่สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานการกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งในกลุ่มโรงงานทั่วไป กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง พร้อมตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ รวมถึงการสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ (S-Curve) ในการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ไบโอดีเซล เร่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ภายในประเทศ พร้อมพัฒนามาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษอเสียของเครื่องยนต์จาก EURO 4 เป็น EURO 5 และยังมีการร่วมมือกับ METI ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและผลกระทบของ PM 2.5 ในภาคอุตสาหกรรมไทย

มากกว่านั้น ภาคอุตสาหกรรมยังร่วมกับ ปตท. และ กทม. สร้างและติดตั้งเครื่องต้นแบบ “ระบบขจัดมลพิษแบบเคลื่อนที่” ในพื้นที่สาธารณะ 11 เครื่อง ควบคู่กับการขอความร่วมมือรณรงค์ประชาสัมพันธ์และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดให้ “ชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย” และขอความร่วมมือจากสมาชิด ส.อ.ท. ดำเนินมาตรการการหยุดหรือลดกำลังการผลิตในบางช่วงเวลา การบำรุงรักษาเครื่องจักร และ Big Cleaning โรงงาน ร่วมด้วย

งบประมาณที่เสียไป… ต้องได้กลับมาอย่างคุ้มค่า

จากการกำหนดนโยบายต่างๆ หรือแม้แต่มาตรการจัดการที่แต่ละหน่วยงานได้จัดทำออกมานั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่ประเด็นคือ เราจะใช้งบประมาณเหล่านั้นอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด? ดังนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จึงทำการตีมูลค่าจากมลพิษที่เกิดขึ้นว่าก่อให้เกิดต้นทุนกับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้มาตรการที่ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติประมาณค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือนสำหรับความเสียหายขั้นต่ำ อิงจาก PM 10 จำนวน 1 ไมโครกรัม/ลบ.ม. = 6,380 บาท/ปี และจากยอดจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพจาก 2.89 ล้านครัวเรือน ดังนั้น สำหรับกรุงเทพฯ ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ของ PM10 ที่เกินระดับปลอดภัย จึงสร้างความเสียหายมูลค่า 18,420 ล้านบาท/ปี ซึ่งในปี 2560 กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ย PM10 = 44.21 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม./ปี ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศจึงตีเป็นมูลค่าได้สูง 446,023 ล้านบาท/ปี

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอมาตรการจัดการผ่านการออกกฎหมายโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่อาศัยกลไกในการควบคุมพฤติกรรม หรือการสร้างแรงจงูใจ ไม่เน้นการบังคับอย่างเดียว โดยให้มีการจัดทำมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ ลดมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรและป่าไม้ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ลดมลพิษที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ

“มาตรการที่เสนอข้างต้นจะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อ เรามีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการริเริ่มนำกฎหมายอากาศสะอาดมาบังคับใช้ (Clean Air Act) พร้อมจัดตั้งหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) และสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิชกล่าวทิ้งท้าย

“เคทีซี” ผู้นำธุรกิจบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของไทย เผยทิศทางการทำ CSR ปี 2562 มุ่งเน้นการให้โอกาสทางการศึกษากับเยาวชนทุกกลุ่มแบบไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกาย ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาและเรียนรู้ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการนำไปปรับใช้และพัฒนาไปเป็นอาชีพในการเลี้ยงดูตนเอง และยังสามารถถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่น เพื่อสร้างความยั่งยืนในสังคมในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด SD

นางสาวอภิวันท์ บากบั่น ผู้อำนวยการ - ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า เคทีซีเป็นสถาบันการเงินที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนการให้ความรู้กับคนในสังคม โดยเฉพาะการร่วมพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีคุณภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ด้วยเป้าหมายของการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ต่อยอดในด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development Goals–SDGs) รวม 3 เป้าหมาย ได้แก่

1. การให้การศึกษาที่เท่าเทียม(Quality Education)

2. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being)                

3. การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)

“เคทีซีจึงได้ริเริ่มโครงการ CSR ประจำปี 2562 “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” เพื่อร่วมเตรียมพร้อมให้นักเรียนรู้จักการพึ่งพาตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความบกพร่องทางกายเป็นอุปสรรค โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ บรรจุโครงการนี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้ทฤษฎีและฝึกปฏิบัติการเกษตรเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาและต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และบริหารการใช้จ่ายเพื่อการใช้ชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน อีกทั้งรู้จักถ่ายทอดแบ่งปันให้กับสังคม โดยเราได้เลือกกระบวนการเพาะเห็ดออร์กานิคครบวงจร เพื่อทำกินและสร้างอาชีพเป็นโครงการนำร่อง โดยเริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ชนิดของเห็ด กระบวนการเพาะเห็ด การแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ทำให้โรงเรียนประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อ  ต่อยอดสร้างอาชีพสร้างรายได้ ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักบริหารการใช้จ่าย และเรียนรู้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อใช้ในชีวิตจริงให้เกิดประโยชน์กับตนเองและครอบครัว สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอน รวม 12 สัปดาห์ จะมีวิทยากรให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากฟาร์มเห็ดโพธิ์ทอง อาจารย์โรงเรียน เศรษฐเสถียรฯ และเคทีซี โดยจะมีการประเมินความรู้ก่อนและหลังเรียนรวมทั้งเปิดเวทีให้น้องๆ นำเสนอผลงานในสัปดาห์สุดท้าย”

อาจารย์สายใจ สังขพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ขอขอบคุณเคทีซีและทีมงานทุกฝ่าย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพให้กับคนพิการ โครงการ CSR ครั้งนี้ เน้นการออกแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกทักษะสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ในรูปแบบ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” เชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบโครงงานเพาะเห็ดในโรงเรียน นักเรียนจะได้ฝึกปฏิบัติจริงลงพื้นที่จริงกับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และอาจารย์จะร่วมถ่ายทอดด้วยภาษามือ เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งจะเรียนรู้ได้ดีจากการมองเห็นและสัมผัสจริง นอกจากนั้นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะในโครงการ ยังสามารถนำไปเป็นอาหารหรือจำหน่ายเป็นรายได้ ก็จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในการทำอาชีพมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดในเชิงบวกต่ออาชีพ จะได้คิดเป็นทำเป็น และเป็นความยั่งยืนในการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพจริงด้วยความภาคภูมิใจในตนเองและของผู้ปกครอง”

นางสาวฐิติรัตน์ พ่วงโพธิ์ทอง เจ้าของ “ฟาร์มเห็ดโพธิ์ทอง” เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเขี่ยเชื้อเห็ดและการเพาะเห็ด กล่าวถึงกระบวนการเพาะสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจ การต่อยอดทางอาชีพตามวิถีเกษตรพอเพียงว่า “จากประสบการณ์การทำงานและอยู่ในกระบวนการเพาะเห็ดอย่างครบวงจรมามากกว่า 30 ปี ตลอดจนทำการแปรรูปเป็นอาหารคาว-หวานและเครื่องดื่ม ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดเป็นอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งนี้จึงมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็น ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพาะเห็ดต่อยอดอย่างยั่งยืน โดยน้องๆ โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ จะได้เรียนรู้การ เพาะเห็ดแบบไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเมื่อเรียนแล้วสามารถนำไปทำเองที่โรงเรียนได้ สิ่งที่ได้รับจากการเพาะเห็ดจะเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้า เพราะเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงและสามารถทำได้จริง ดีใจที่จะได้ร่วมกับเคทีซีและโรงเรียนในการสร้างแนวทางให้กับนักเรียน รวมทั้งประสบการณ์ที่ได้รับนั้นจะเป็นแนวทางให้นักเรียนสร้างรายได้ สร้างความสุขและสร้างความยั่งยืนในอนาคต”

นางสาวอภิวันท์ กล่าวปิดท้าย “การที่เคทีซีเลือกการเพาะเห็ดเป็นหลักสูตรให้กับโรงเรียน เศรษฐเสถียรฯ เพราะเห็ดเป็นผักที่ได้รับความนิยม มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง สภาพดินฟ้าอากาศของไทยเหมาะต่อการเจริญเติบโต และยังได้ผลผลิตสูง ขายง่าย ได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด วิธีการเพาะเห็ดก็ทำได้ง่ายและลงทุนไม่มาก จึงน่าจะเรียนรู้และนำไปพัฒนาต่อได้ไม่ยาก โดยเคทีซียังได้สร้างโรงเรือนเพาะเห็ดในโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ เพื่อประกอบการเรียนการสอน และหวังอย่างยิ่งว่านักเรียน และบุคลากรโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ จะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ที่เคทีซีตั้งใจมอบให้ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ และส่งต่อการเรียนรู้จากรุ่นสู่ร่นต่อไป”

สถาบันไทยพัฒน์ ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG 100 ปี 62 พร้อมคัดกองทุนโครงสร้าง พื้นฐาน / รีทส์ / อสังหาริมทรัพย์ ด้วยเกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก สร้างทางเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ในปี พ.ศ.2558 เป็นปีแรก

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ถือเป็นปี ที่ห้าของการประเมินโดยทีม ESG Rating ในสังกัด สถาบันไทยพัฒน์ ด้วยการคัดเลือกจาก 771 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) รวมทั้งกองทุน รวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) ทาการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง1  จำนวนกว่า 14,278 จุดข้อมูล 

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธาน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “การประเมินในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ ได้พิจารณา ข้อมูลทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยในปีนี้ เรายังได้ทำการประเมินกองอสังหาฯ - REITs – โครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วไป”

ผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ประจำปี 2562 จำแนกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) 11 หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) 4  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) 12  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) 15 หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) 21  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มทรัพยากร (Resources) 10  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มบริการ (Services) 21  หลักทรัพย์

 

  • กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 6  หลักทรัพย์

ในจำนวนนี้ มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม ESG100 ที่มาจากตลาด mai อยู่ 9 หลักทรัพย์ ได้แก่ FPI, MBAX, MOONG, PPS, TMILL, TPCH, SPA, WINNER, XO และเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 กอง ได้แก่

  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF)
  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 7 กอง ได้แก่

  • กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG)
  • กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ต้ี (FTREIT)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC)
  • ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 10.4 ล้านล้าน บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.6 ล้านล้านบาท

รายชื่อหลักทรัพย์ ESG100 ชุดใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากปี ที่แล้ว ในสัดส่วนร้อยละ 27 และจะถูกนำไปใช้ ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com

 

 


1 ประกอบด้วย ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1) สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลการประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (ESG Rating) บริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ข้อมูลผลสำรวจการกำกับ ดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและสื่อ (Media and Stakeholder Analysis: MSA) บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

การทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคคลจากหลากหลายเพศสามารถนำมาซึ่งโซลูชันที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจะส่งผลให้เกิดผลงานที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการเหมารวมว่าวงการเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมสำหรับผู้ชายเป็นหลักนั้นอาจ

เอไอเอส คว้ารางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 จากโครงการ "Work Wizard" the digital platform for disability ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ภายในองค์กรมาสร้างอาชีพแด่ผู้พิการ เพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน สำหรับ WSIS Prizes 2019 นี้ จัดขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศของประชากรโลก โดยในปีนี้ มีโครงการส่งเข้าร่วมประกวดจากทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 1,062 โครงการ และนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่เอไอเอส สามารถคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลกนี้มาครองได้สำเร็จ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “กว่า 29 ปีที่ผ่านมา เอไอเอส มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทของภาคเอกชนไทยที่พร้อมช่วยเหลือสังคมในทุกโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเด็นหนึ่งที่เราเอาใจใส่เป็นอย่างมาก คือการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวเอไอเอส เราเชื่อมั่นว่า ทุกคนต่างมีศักยภาพและมีทักษะในการพัฒนาตัวเองไม่แตกต่างกัน หากได้รับโอกาสในการเข้าทำงาน ผู้พิการจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน สำหรับรางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 ที่ได้รับมาในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงความจริงใจและความสำเร็จของพวกเราทุกคนที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้ผู้พิการสามารถปฏิบัติงานได้เทียบเท่ากับคนปกติ ทำให้พวกเขามีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี”

“ปัจจุบัน เอไอเอส มีพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 113 คน แบ่งออกเป็น ผู้พิการทางการมองเห็น จำนวน 57 คน ผู้พิการทางการได้ยิน จำนวน 9 คน และผู้พิการทางร่างกาย จำนวน 47 คน ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้พิการทางการมองเห็น ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยติดตั้งโครงข่าย Online สำหรับฮาร์ดแวร์ พร้อมติดตั้งโปรแกรม PPA ตาทิพย์ (Text to Speech ภาษาไทย) นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่ Key Board หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ ซึ่งเป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย ช่วยให้พนักงานสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน ได้จัดให้มีซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ Web Cam (iSign) สำหรับการให้บริการ Call Center ภาษามือ ผ่านทาง Web Cam ซึ่งเป็นระบบการทำงานคล้ายกับโปรแกรม Skype ช่วยให้ทำงานได้สะดวก และสื่อสารได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และสำหรับพนักงานผู้พิการทางร่างกาย ได้มีการจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ ทางลาด และราวจับ เพื่อให้ผู้พิการทุกคนได้รับความสะดวกและปลอดภัยตลอดช่วงเวลาทำงานอีกด้วย”

“การยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมไทยได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้คนละเล็กละน้อย ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสามารถและเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราเชื่อว่า ประเทศชาติจะแข็งแรง สังคมจะต้องแข็งแรง และทุกคนสามารถช่วยกัน เติบโตไปพร้อมกัน” นายสมชัย กล่าวสรุป

X

Right Click

No right click