EXIM BANK จับมือมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียและทัณฑสถานหญิงกลาง พัฒนาผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบางสู่ธุรกิจส่งออกผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ พร้อมจับมือลูกค้าธนาคารที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนสินค้าจากสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมโดยรวม สานพลังต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวม
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และนางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการ ทัณฑสถานหญิงกลาง ร่วมแถลงผลสำเร็จ “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานในการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบางให้สามารถประกอบธุรกิจ โดยเรียนรู้วิธีพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความแตกต่างและโดดเด่น การทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัล และการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อจะได้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจและขยายธุรกิจในโลกการค้าไร้พรมแดนได้ นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง การสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม
โอกาสนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และกรรมการอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับลูกค้าของ EXIM BANK ประกอบด้วยนายจักร บุญ-หลง ประธานกรรมการ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายกมลสุทธิ์ ทัพพะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและประธานกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป โดยมีนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอนุกรรมการกำกับดูแลการประเมินผลการพัฒนาองค์กรรัฐวิสาหกิจ สาขาสถาบันการเงิน และนางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการ ทัณฑสถานหญิงกลาง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา มุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับฐานราก EXIM BANK จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ (CSR in Process) ควบคู่กับการบริหารจัดการด้านการเงินด้วยความรับผิดชอบและการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Society and Environment : ESG) ยึดหลักการ 4P เริ่มต้นจากการดูแลคน (People) เพื่อดูแลโลก (Planet) ด้วยความใส่ใจในประสิทธิภาพ (Productivity) และนำไปสู่กำไร (Profit) ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ EXIM BANK จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลคนในชุมชนรอบข้าง โดยให้ความสำคัญและสนับสนุนความหลากหลาย (Diversity) ในสังคม ทั้งในมิติเพศ อายุ และความเปราะบางทางสังคม อาทิ เพื่อนผู้พิการ และสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนในกลุ่มเปราะบางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงข้อมูลความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และแหล่งเงินทุนที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้จับมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลผู้ประกอบการสตรีในชุมชนรอบ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตพญาไท และเขตจตุจักร กรุงเทพฯ รวมถึงกลุ่มผู้ที่สนใจจากทัณฑสถานหญิงกลาง ให้ได้รับความรู้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงสามารถนำเครื่องมือดิจิทัลไปใช้ในการทำตลาดและส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ Facebook และ Shopee นอกจากนี้ EXIM BANK ยังได้สานพลังกับลูกค้าของธนาคารเพื่อต่อยอดโครงการ ฯ ด้วยการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่แข่งขันได้เพิ่มมากขึ้นในตลาดการค้าโลกยุคใหม่
นายริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในระดับภูมิภาคที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยมานานถึง 27 ปี มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้และทักษะความชำนาญให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางผ่านโครงการกว่า 1,000 โครงการในไทย เวียดนาม และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคพหุภาคีและภาคเอกชน ซึ่งมูลนิธิได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นในปัจจุบัน จนปัจจุบัน มูลนิธิคีนันเป็นผู้ให้บริการฝึกอบรมโครงการ Meta Boost ที่ได้รับการรองรับรองจาก Facebook ประเทศไทยเพียงรายเดียวในประเทศไทย จึงมีความพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง EXIM BANK เพื่อเสริมสร้างโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดสากลผ่านแพลต์ฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะ SMEs และกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ฐานทุนน้อย โดยใช้เครื่องมือดิจิทัลง่าย ๆ อาทิ Smart Phone หรือ Tablet โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เพื่อให้เกิดชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป
นางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องขังสตรียังขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลความรู้เพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการประกอบอาชีพอิสระภายหลังจากพ้นโทษแล้ว โครงการความร่วมมือกับ EXIM BANK และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจึงตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเปราะบางนี้อย่างมากในโลกการค้ายุคดิจิทัล ที่ผ่านมา ทางทัณฑสถานหญิงกลางได้คัดเลือกและส่งผู้ต้องขังสตรีเข้าร่วมอบรมภายใต้โครงการนี้แล้วกว่า 50 คน ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย เสริมสร้างวินัย และเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การเย็บกระเป๋าลายสม็อค หรือการจีบรูดเพื่อให้เนื้อผ้าเกิดรอยย่นอันเป็นลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้างานฝีมือของผู้ต้องขังสตรีที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อจำนวนมาก ภายใต้โครงการนี้ ผู้ต้องขังสตรียังได้รับคำแนะนำจากตัวแทนผู้ส่งออกในการพัฒนารูปแบบกระเป๋าสม็อคเป็นสินค้าส่งออกต่อไป
EXIM BANK ได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนระดับดีเด่น ประจำปี 2566”
นางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางสาวถนอมวงศ์ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารส่วนกลาง บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (เบทาโกร) ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK จํานวน 2,800 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการขยายธุรกิจของเบทาโกร รองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในไทยและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีนางศิริวรรณ อินทรกำธรชัย กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารการเงิน เบทาโกร และนางสาวอัจโนมา พรธารักษ์เจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 1 EXIM BANK เป็นสักขีพยาน ณ อาคารเบทาโกร ทาวเวอร์ (นอร์ธปาร์ค) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566
รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อสนับสนุนเบทาโกร ในฐานะผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเป็นพื้นฐานการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดจำหน่ายอุปกรณ์และการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ภายใต้เจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นธรรม สร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในเครือข่ายการผลิตและการจัดจำหน่ายทั่วทุกภูมิภาคของไทย รวมทั้งมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา
“การสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK เป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจส่งออก (Value-added Integrator) ภายใต้เป้าหมายการเป็น ‘Green Development Bank’ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนโลกโดยรวม สร้างโอกาสการพัฒนาของภาคเกษตรกรรม เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นางวรางคณา กล่าว
นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมบรรยายหัวข้อ “ความท้าทายของรัฐวิสาหกิจในการมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (lRDP) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเตรียมองค์กรเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่ง โดยมีนางสาวคณิตา ชินะกาญจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ IRDP ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ EXIM BANK ได้ถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์และบทบาทด้านการพัฒนาความยั่งยืน รวมถึงแนวทางการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาองค์กรควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายของ EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank และเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รับรางวัล “Transport Deal of the Year” ประเภทพาหนะพลังงานไฟฟ้า