เคทีซีเผยธุรกิจสินเชื่อบุคคลแข่งขันเข้มข้น ครึ่งปีหลังเตรียมรุกสร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน จากพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า มุ่งปล่อยสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ประเดิมด้วยสินเชื่อเพื่อการศึกษากับ 4 สถาบันสอนภาษา เจาะกลุ่มบุคคลที่ต้องการพัฒนาการศึกษาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลูกค้าที่จะมีรายได้เติบโตกว่าเกณฑ์และมีวินัยในการชำระคืน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการจัดกิจกรรมการตลาดยิงยาว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกตั้งแต่เริ่มสมัครจนถึงฐานลูกค้าเดิมเกือบ 1 ล้านบัญชี โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะโตตามคาด 10% จากปีที่ผ่านมา

นางสาวพิชามน  จิตรเป็นธรรม  ผู้อำนวยการ - ธุรกิจสินเชื่อบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลนับวันยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น จากหลายผู้ประกอบการที่เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งพฤติกรรมของลูกค้าในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลง ความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคแสวงหา โจทย์หลักที่ท้าทายของคนทำธุรกิจในวันนี้ จึงต้องคิดหาวิธีจะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้า “ถูกกลุ่ม” “ถูกเวลา” และ “ถูกใจ”

“แผนการตลาดธุรกิจสินเชื่อบุคคลของเคทีซีในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราจึงรุกธุรกิจเข้มข้นขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นคุณภาพลูกหนี้และการเติบโตอย่างยั่งยืนบน 4 แกนหลักคือ 1) มุ่งปล่อยสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ 2) รักษาและผูกสัมพันธ์ระยะยาวกับฐานสมาชิก 3) พัฒนาคุณสมบัติและบริการสินเชื่อ “เคทีซี พราว” ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวก รวดเร็วในยุคดิจิทัล 4) สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า (Customer Engagement) เพื่อเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย”

“สำหรับแนวทางการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์นั้น เคทีซีจะมุ่งขยายความร่วมมือกับธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้นำร่องเปิดตัวสินเชื่อเพื่อการศึกษา (Education Loan) ร่วมกับสถาบันสอนภาษา 4 สถาบัน รวม 44 สาขา ได้แก่ วอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) แชมป์ อิงริช (Champ EngRish) แลงเกวจ เอ็กซ์เพรส (Language Express) และอินสไปร์ อิงลิช (Inspire English) เพื่อให้สินเชื่อกับสมาชิกที่ต้องการเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพความรู้กับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ผู้สนใจสามารถสมัครและยื่นเอกสารที่สถาบันนั้นๆ ได้โดยตรง และสามารถทราบผลการอนุมัติภายใน 1 ชั่วโมง โดยสมาชิกจะได้รับอัตราดอกเบี้ยฯ พิเศษ 0% นานสูงสุด 24 เดือน ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในฐานข้อมูลเคทีซีพบว่า กลุ่มลูกค้าที่ต้องการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอาชีพมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีเกณฑ์ที่รายได้จะสูงขึ้นในอนาคต

การเพิ่มปริมาณลูกค้าในกลุ่มนี้จึงนอกจากจะส่งผลดีกับค่าเฉลี่ยการใช้วงเงินสินเชื่อโดยรวมของเคทีซีแล้ว การกู้ยืมแบบมีวัตถุประสงค์ยังเป็นที่มั่นใจได้ว่า พฤติกรรมการชำระคืนของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีวินัยมากกว่าการกู้ยืมแบบทั่วไป ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเคทีซีในระยะยาว นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจการศึกษาให้มากขึ้น รวมทั้งจะมีการออกสินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง”

“การรักษาและผูกสัมพันธ์กับฐานสมาชิกในระยะยาวในครึ่งปีหลังนี้ จะยังคงใช้กลยุทธ์การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายซึ่งได้ผลและมีการตอบรับที่ดีมาก ตั้งแต่เริ่มแรกที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสินเชื่อใหม่ไปจนถึงสมาชิกเดิมในพอร์ต โดยเน้น “จัดเต็ม” “ให้ก่อน” “ให้มากกว่า” และ “ให้ต่อเนื่อง” ผ่าน 2 แคมเปญฮิต

1) “เคทีซี พราว โปรฯ เหมาๆ 199” สำหรับสมาชิกสมัครใหม่ รับสิทธิเหมาจ่ายดอกเบี้ยฯ 2 รอบบัญชีแรก เพียงรอบบัญชีละ 199 บาท เมื่อสมัครตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 – 31 สิงหาคม 2562 และ 2) “แคมเปญเคลียร์หนี้เกลี้ยง 10” สำหรับสมาชิก “เคทีซี พราว” เกือบ 1 ล้านบัญชี รับสิทธิลุ้นเคลียร์หนี้รางวัลใหญ่ 100% โดยปีนี้เพิ่มความพิเศษที่มากกว่าคือ ลุ้นได้ถึง 10 รอบ จับรางวัลทุกเดือนตลอดทั้งปี 2562”

“ในยุคดิจิทัลที่เราต้องยอมรับว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เคทีซีจึงได้พัฒนาคุณสมบัติและบริการบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ให้รองรับความต้องการลูกค้าที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว โดยได้พัฒนา 2 บริการ ได้แก่ 1) บริการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ รับเงินโอนเข้าบัญชีแบบเรียลไทม์ เลือกชำระได้เองแบบชำระขั้นต่ำ 3% หรือผ่อนชำระเป็นงวด  (Cash Installment) ผ่านแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” และเว็บไซต์ “KTC Online” ตลอด 24 ชั่วโมง ตามวงเงินที่มีอยู่  2) บริการแบ่งชำระสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ โดยได้เริ่มให้บริการผ่อนทองคำกับร้านทอง “ออโรร่า” ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.29% ต่อเดือน ผ่านเว็บไซต์ออโรร่า และแอปพลิเคชันปาปาเปย์ (Papapay Mobile Application) นอกจากนี้ สิ่งที่เคทีซีให้ความสำคัญกับลูกค้า “เคทีซี พราว” มาโดยตลอด คือการสร้างสัมพันธภาพระยะยาวกับสมาชิก ผ่านกิจกรรมเวิร์คช้อปสร้างแรงบันดาลใจที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการของสมาชิกทุก 2 เดือน ภายใต้แนวคิด Quality of Life ที่มุ่งเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนาไปสู่การสร้างอาชีพเพื่อรายได้เสริม รวมทั้งความรู้ในการวางแผนการเงินและการออมให้กับกลุ่มสมาชิก”

“ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคลช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังถือว่าเป็นบวก โดยในส่วนของเคทีซีเองมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน โดยมียอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 26,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลเท่ากับ 967,059 บัญชี ขยายตัว 12.8% อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อบุคคล 0.78% ลดลงจาก 0.82% (อุตสาหกรรม 3.49%) ส่วนแบ่งการตลาดยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ประมาณ 5.4% ของอุตสาหกรรม และคาดว่าสิ้นปีนี้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเคทีซีน่าจะบรรลุเป้าหมายตามคาด ด้วยอัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้รวมที่ 10%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.0% จากเดิมมอง 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัดแม้ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากฟอร์มรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นเครื่องยนต์ส่งออกกลับมาในปีนี้ พร้อมมองเป็นปีที่ระบบธนาคารเผชิญความท้าท้ายจากเศรษฐกิจชะลอ  คาดสินเชื่อทั้งปีโตชะลอลงที่ 4.5%  แนะระวังคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่เริ่มเห็น NPL ขยับขึ้นในกลุ่มสินเชื่อรถและบ้าน

เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วงจรขาลงแรงและเร็วกว่าคาด  ไตรมาสแรกปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าของโลกชะลอลงชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจหลักอย่างยูโรโซน ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจหลักรวมถึงแถบอาเซียนเข้าสู่โหมดชะลอตัวจนถึงหดตัว สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกเติบโตเหลือ 3.3% และ 3.4%

มองสถานการณ์ส่งออกไทยยังคงอ่อนแอ ทั้งปีโตได้เพียง 0.5% ตามประมาณการเดิม  ในไตรมาสแรก มูลค่าส่งออกของไทยติดลบเป็นไตรมาสแรกที่ 2% และคาดว่าในระยะต่อไป ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจะส่งผลกระทบมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้นกระทบซัพพลายเชนโลกชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และแรงกดดันสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมาด้วยการขึ้นภาษีทำให้ปริมาณการค้าโลกอยู่ภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกไทย แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แต่แรงส่งก็ไม่เพียงพอให้ภาพการค้าโลกดีขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องและตลาดยุโรปที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงของ Brexit ที่ค้างคา เราประเมินยอดส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปจะไม่ขยายตัวและหดตัวในตลาดจีนราว 5 % ขณะที่ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐได้ต่ำกว่าคาด หากโดนตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าราว 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 16% ของยอดส่งออกไปสหรัฐ ทำให้ภาคส่งออกทรุดตัวต่ำกว่าคาดได้อีก

 

คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 40.4 ล้านคนในปี 62 หรือเพิ่มขึ้น  5.5% ชะลอลงจากปี 61 ที่ขยายตัว7.5% และแนวโน้มในปีหน้าจะไม่เห็นอัตราการเติบโตที่สูงๆของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างที่เราคุ้นชิน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักชะลอตัวทั้งจีนและยุโรปซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%ของนักท่องเที่ยวรวมและส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวรวมหดหายไปเนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 67%ของรายได้การท่องเที่ยวรวม เรามองว่าเมื่อพึ่งต่างชาติได้น้อยลง คงต้องหันพึ่งตนเองมากขึ้นโดยปลุกกระแสไทยเที่ยวไทยให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีรายได้เติบโตเฉลี่ยราว 8-10%ต่อปีเพื่อชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

ความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ หนุนการลงทุนเอกชนครึ่งปีหลัง คาดทั้งปีขยายตัว 4%  เราประเมินสถานะความพร้อมของการลงทุนโดยใช้ตัวเลขทางการเงินที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนทั้งสภาพคล่อง(Free cashflow) ที่เหลือของภาคธุรกิจ และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ที่ปรับดีขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันบริษัทไทยอยู่ในสถานะพร้อมลงทุน บวกกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการใช้กำลังผลิตที่ปรับสูงในหลายอุตสาหกรรม และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ หากมีบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังความชัดเจนในทิศทางการเมือง นโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ การเร่งสานต่อของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ EEC เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา จะทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินการลงทุนใหม่ของเอกชนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรม S-Curve ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI ในปี 59-60 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่หากเริ่มลงทุนในปี 62 จะมีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านล้านบาท

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่ไม่เป็นอัตราเร่ง จากรายได้เกษตรกรที่ทรงตัวในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้น ในช่วงปี 60-61 การบริโภคเอกชนฟื้นตัวเติบโตเร็ว ซึ่งเป็นการขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้าแต่หลักๆมาจากแรงซื้อสินค้าคงทนกลุ่มรถยนต์จากการปลดล็อกมาตรการรถคันแรก ซึ่งสามารถสะท้อนจากสินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นทุกหมวดหมู่ทั้งสินเชื่อบ้าน รถ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ที่โดดเด่นคือสินเชื่อรถที่เติบโตในอัตราเร่ง 10-14% ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อปัจจุบันสูงแตะ 1.1 ล้านล้านบาท บวกกับเริ่มมีประเด็นคุณภาพสินเชื่อรถจาก NPL ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น แนวโน้มการขยายตัวการบริโภคเอกชนในช่วงต่อไปจะชะลอลงเพราะแรงซื้อรถน่าจะอ่อนแรงลง และยอดหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 78.6% ต่อ GDP เป็นข้อจำกัดการเติบโตของการบริโภค

มองว่าธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ตลอดปี 62 สาเหตุจากความเสี่ยงต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่มากพอให้ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีไม่มาก  ขณะเดียวกัน  การจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอลง พบว่ามีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีประเด็นคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมถอยลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น จากปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 31.6-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนุนด้วยปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นอย่างชัดเจนของธนาคารกลางหลักๆของโลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด  ทำให้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 31.2-32.0 หรือเฉลี่ย 31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าราว 2.7 % จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่  ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าช่วงต้นปี

แนวโน้มธนาคารพาณิชย์

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 62 แม้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีแนวโน้มชะลอลง ตามสภาพเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.5% ลดลงจาก 6% ในปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะขยายตัวลดลงจาก 9.4% ในปีก่อน เหลือเพียง 5.1% ตามการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงจากภาระหนี้ที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME ขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 4.6% และ 4.0% ตามลำดับ โดยคาดว่าแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และ EEC จะเกิดขึ้นได้หลังมีการฟอร์มรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลัง

คุณภาพสินเชื่อค่อนข้างน่ากังวลโดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยยอด NPL รวมทั้งระบบคาดว่าจะอยู่ที่ 4.9 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านจากช่วงต้นปี ซึ่ง NPL ของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.3 แสนล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ จากผลของการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยสูงถึง 9.4% ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มเฉลี่ยเพียง 1.7%

ประเด็นเรื่องการทำสงครามเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไม่น่ากังวล เนื่องจากสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจมีการปรับขึ้นเล็กน้อย ทำให้เงินฝากมีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.8% ให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับมาอยู่ที่ 98%

 

 

กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้ามอบประสบการณ์ใหม่แบบไร้ขีดจำกัดด้านการให้ความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่งให้กับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ (SCB Wealth) อย่างต่อเนื่อง ปูพรมเสริมแกร่งความรู้ด้วยซีรีส์สัมมนา  SCB Investment Talk 2019 ประเดิมด้วยงานสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ภายใตคอนเซ็ปต์ “เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารการลงทุนของคุณ สู่กระบวนทัศน์การลงทุนยุคใหม่…Empowering You to the New Investment Paradigm” ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจด้านกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้น และเตรียมพร้อมรับมือตลาดผันผวนกับกองทุนเด่นปี 2019 พร้อมแท็คทีมบลจ.พันธมิตร นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายในรูปแบบของ Open Architecture Platform ที่ได้รับการคัดสรรเป็นพิเศษจากทีม SCB CIO Office เพื่อให้อิสระลูกค้าได้เลือกลงทุนตามต้องการ เป็นการสร้างประสบการณ์ในการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าแบบไร้ขีดจำกัดแบบมืออาชีพ สำหรับลูกค้า SCB Wealth โดยเฉพาะ โดยมี นางสาวศลิษา หาญพานิช (กลาง) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน ผลิตภัณฑ์การลงทุนและเงินฝาก ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วย นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด นายสุกิจ อุดมศิริกุล (ที่ 2 จากขวา)  กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด นายพจน์ หะริณสุต (ซ้าย) กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด และนายยุทธพล ลาภละมูล (ขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ร่วมเปิดงานสัมมนา เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้

ธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดตัว โครงการ Smart Business Transformation เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทยให้สามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัว ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของโครงการ ผู้เชี่ยวชาญจากเดอะ ฟินแล็บ[1] จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถระบุปัญหาในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแนะนำการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ให้ความรู้และแนวทางการทำงานในการปรับตัว และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้นวัตกรรมใหม่ หลังจากนั้น จะมีการจับคู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปทดลองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค การก่อสร้าง การขนส่ง ค้าปลีก ค้าส่งและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.thefinlab.com/thailand โดยเปิดรับสมัครวันนี้ถึงเดือนเมษายน 2562 โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยี พร้อมทั้งมีแผนขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคและมีผลประกอบการตั้งแต่ 25 – 1,000 ล้านบาท

ยกระดับ SMEs ไทยคว้าโอกาสในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี2568 จากร้อยละ 36 ในปี2561 โดยข้อมูลในปี2561พบว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกือบ 3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของบริษัททั้งหมดในประเทศ จึงนับว่าเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม

ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ที่จัดทำโดย เดอะ ฟินแล็บ[2] ระบุว่า บรรดาเอสเอ็มอีในประเทศไทยต่างระบุว่า กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต 2 อันดับแรกคือ การรุกตลาดใหม่ (ร้อยละ54) และการใช้การตลาดระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขาย (ร้อยละ51) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะให้ความสำคัญกับการใช้โซลูชั่นดิจิทัลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธภาพในการให้บริการออนไลน์ แต่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 67) และความซับซ้อนของการใช้งานโซลูชั่นในการดำเนินงาน (ร้อยละ 44)

เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหมดความกังวล โครงการ Smart Business Transformation  จึงมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถรุกสู่ตลาดใหม่และใช้การตลาดระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขายได้ ตัวอย่างเช่น ธนาคารยูโอบี (ไทย) จะสามารถให้คำแนะนำผู้ประกอบเอสเอ็มอีในการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค และสนับสนุนเรื่องเงินทุนกู้ยืมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการที่มีการนำโซลูชั่นเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นาย ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “ธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายด้านการเงินมาเป็นระยะเวลาหลายปี เรารู้สึกยินดีที่ได้สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถปรับองค์กรให้เป็นดิจิทัลเต็มตัว  ผ่านโครงการ Smart Business Transformation โดยได้รับความร่วมมือจาก เดอะ ฟินแล็บ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อเอสเอ็มอีเหล่านี้สามารถปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัวและสามารถแข่งขันในตลาดได้แล้ว พวกเขาจะต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อการเติบโต ซึ่งยูโอบีเอง จะให้การสนับสนุนแผนธุรกิจและการเงินของลูกค้าเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียต่อไป”

เดอะ ฟินแล็บ ได้ดำเนินโครงการบ่มเพาะสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในสิงคโปร์มาแล้ว 3 รุ่น  โดยครั้งนี้ จะเป็นผู้ดำเนินโครงการสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดย นาย เฟลิกซ์ ตัน กรรมการผู้จัดการ เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่า “ภารกิจของ เดอะ ฟินแล็บ คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วภูมิภาคอาเซียน ปรับตัวและขยายธุรกิจในยุคดิจิทัลได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในธุรกิจได้ดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและในภูมิภาค เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้เปิดตัวโครงการ Smart Business Transformation ในประเทศไทย และรอคอยที่จะได้ทำงานร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนแปลงการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล ในการดำเนินโครงการนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบี (ไทย) รวมถึงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เราจึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยได้แน่นอน”

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นผู้สนับสนุนด้านการจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการในการใช้งานโซลูชั่นเทคโนโลยีใหม่และจะเป็นผู้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในวิธีการสมัครเพื่อขอรับทุนดังกล่าว โดยนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไปของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราเล็งเห็นว่าเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องการปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัล เรายินดีต้อนรับพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันทั้งธนาคารยูโอบี (ไทย)  และ เดอะ ฟินแล็บ เพื่อมาร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเติบโตในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation จะได้รับคำแนะนำในการค้นหาโซลูชันดิจิทัลที่เหมาะสมกับความจำเป็นทางธุรกิจ และสมัครขอรับเงินทุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการใช้งานโซลูชันเหล่านั้น”

ด้าน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   จะให้เงินทุนสนับสนุนในส่วนบริการให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล แก่ผู้ประกอบการอสเอ็มอีที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยจะเป็นการให้เงินทุนสนับสนุนผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP (Innovation Technology Assistance Programme) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “สวทช ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม( Innovation Driven Enterprises ขึ้นในปีนี้ โดยได้ให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีมาแล้วมากกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1,800 ราย ในปีนี้  โดยเป็นการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการทำงาน การออกใบรับรอง การเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ผ่าน ITAP โดย ITAPจะให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคและการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของเหล่าผู้ประกอบการ โดยโครงการ Smart Business Tranformation นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในเมืองไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการทำงานไปสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบรรดาผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับการสนุบสนุนจากเราทันที เรารอคอยที่จะได้ร่วมงานกับธนาคารยูโอบี (ไทย) เดอะ ฟินแล็บ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรดิจิทัลเต็มตัวเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในอนาคต”

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย  จะดูแลในเรื่องนโยบายและแผนงานใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “เอสเอ็มอีคือกุญแจสำคัญของการสร้างสรรค์อนาคตเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงออกนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและ เพิ่มกำลังการผลิต โดยทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สวทช. ในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้ทำงานร่วมกับธนาคารยูโอบี (ไทย) และ เดอะ ฟินแล็บ โดยเราได้ทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เชิงลึกจากโครงการนี้ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับนโยบายอันจะเอื้อต่อการส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย”


[1] ฟินแล็บ คือโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค (FinTech) ที่ดำเนินการภายใต้ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (UOB)

[2] ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ จัดทำในระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2561 โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 800 ราย ในประเทศไทย

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวกลยุทธ์เดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนไทยภายใต้ “TMB Strive MORE for You to Get MORE : ทีเอ็มบี พยายามมากกว่าเพื่อให้คุณได้มากกว่า”

โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงการพยายามตั้งคำถามเพื่อค้าหาคำตอบที่ตรงใจ พัฒนาโซลูชั่นที่ดีกว่า ตั้งเป้าหมายให้เกิดการบริการที่ครอบคลุม ทำให้ที่ผ่านมา ทีเอ็มบี กลายเป็นสถาบันการเงินที่ก้าวหน้าเป็นผู้นำหลายๆ แนวคิดที่ช่วยขับเคลื่อนคนไทยให้เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

10 ปีที่ผ่านมาโลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกกว่าที่เคย นางณัฐวรรณ อภิรัตนพิมลชัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารกลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลาง ทีเอ็มบี กล่าวถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ทุกความต้องการต้องง่ายและตรงใจ ทีเอ็มบี จึงมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch) และ ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port) เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคล่องตัวในการใช้ชีวิต ได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าและสามารถสร้างความมั่งคงในระยะยาวให้ลูกค้าได้

ท่องเที่ยวปลอดภัยไร้กังวลกับ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free)

นายชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร เผยถึงโซลูชั่นที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์นักเดินทาง ซึ่งบ่อยครั้งต้องปวดหัวกับการแลกเงิน ต้องพกเงินสดไปต่างประเทศจำนวนมากจนกังวลเพราะกลัวถูกโจรกรรม เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ยุ่งยากและทำให้เสียเวลา ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเพราะ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) บัตรเดียวสามารถพกไปใชจ่ายในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% (FX Rate) เท่ากับว่ารูดเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เพียงเดือนเดียวที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ก็ทำให้ยอดใช้จ่ายในต่างประเทศผ่านบัตรเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า มีการใช้จ่ายใน 117 ประเทศ จาก 166 สกุลเงินที่ให้บริการ และในวันที่ 6 มีนาคม 2562 ลูกค้าจะสามารถออกบัตร TMB All Free ที่มีชื่ออยู่บนบัตรหรือออกบัตรสำรองได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน มีการเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดให้จุใจถึง 2 ล้านบาท และในช่วงตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2562 ลูกค้านักเดินทางจะได้รับความคุ้มครองจากการเดินทาง (Travel Insurance) ในวงเงิน 1,000,000 บาททันที นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันคุ้มครองวงเงินในบัญชีกรณีอุบัติเหตุให้กับลูกค้าที่มีบัญชีและบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ทุกคนกว่า 3 ล้านบัญชีโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันใดๆ เพิ่มเติม

ลงทุนจัดพอร์ตง่ายกว่าที่คิดด้วย ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port)

นางกิดาการ ชัฎสุวรรณ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ทีเอ็มบี กล่าวถึงสถิติที่พบว่ามีคนไทยเพียง 1 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคนที่มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งถือเป็นอัตราที่น้อยมาก โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยมีเงินไม่เพียงพอเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร ทีเอ็มบี จึงมองเห็นปัญหาในส่วนนี้และต้องการเข้ามาช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น สามารถสร้างโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพาร์ทเนอร์จาก บจล.ระดับโลก มาคอยช่วยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ทีเอ็มบี สมาร์ท พอร์ต (TMB Smart Port) เป็นบริการด้านการลงทุนระดับ Private Wealth ที่จะมาช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการจัดพอร์ตได้มากขึ้น โดยมีความร่วมมือระหว่าง TMB และ Amundi บริษัทจัดการกองทุนระดับโลก ซึ่งจะมีการผสมผสานเทคโยโลยีเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนทำให้ได้เป็น Total Solution ที่ช่วยจัดสรรการลงทุนให้สอดคล้องกับทุกสถานการณ์ตลาดโดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100,000 บาทเท่านั้น

โมบายล์แบงก์กิ้งแอปพลิเคชันเสริมประสบการณ์ให้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นจาก ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch)

นายสหชัย ลิ้มอำไพ เจ้าหน้าที่บริหาร บริหารช่องทางบริการดิจิทัล เผยถึงการพัฒนาการใช้บริการที่หลากหลาย เสริมประสบการณ์การใช้งานที่ดีและมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch) โดยถือเป็นแบงก์กิ้งแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัยสูง มีการใช้ระบบ Bot เฝ้าระวังระบบตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาและแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาได้ทันที ตั้งเป้าเพิ่มความเร็วการใช้งานจาก 5 วินาทีเหลือเพียง 2 วินาที พร้อมกับความสามารถในการรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคตได้มากถึง 3 เท่า ผ่านการออกแบบหน้าจอด้วยหลัก 3 ง่าย คือ รูปแบบเรียบง่าย หาเจอง่าย และใช้งานง่าย พ่วงมาด้วยบริการคะแนนสะสม ทีเอ็มบี ว้าว (TMB WOW) และรางวัลทรงเกียรติจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย “TAB Digital Inclusive Awards” ที่เป็นเครื่องการันตีถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการจะทำให้ผู้ใช้บริการทุกคนได้รับความสะดวกสบายจาก ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch)

ปิดท้ายงานด้วยการตอกย้ำปรัชญาของทีเอ็มบี Make THE Difference นายรูว์ ไฮซ์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ทีเอ็มบี ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น โดยได้ศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยและพบว่าข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทย 5 ใน 10 คนเท่านั้นที่มีเงินเพียงพอหลังเกษียณ 6 ใน 10 คนยังไม่มีกรรมธรรม์ประกันชีวิต และกว่า 9 ใน 10 คนยังไม่มีการลงทุนเพื่อให้งอกเงยใดๆ ทำให้เห็นว่าคนไทนยังขาดหลักประกันพื้นฐานของตัวเองและลูกค้าก็อาจจะยังไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เขาควรมี ดังนั้น ทีเอ็มบี ในฐานะสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง จึงต้องการที่จะให้กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีตัวช่วยทางการเงินเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ทีเอ็มบี ได้มอบดอกเบี้ยส่วนต่างที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปให้ลูกค้ากว่า 2,400 ล้านบาท มอบความคุ้มครองผ่าน ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรีแล้ว 625,000 ล้านบาท และ ทีเอ็มบี ทัช ที่ช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้มากถึง 12,500 ปี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและทำให้ลูกค้าได้รับสวัสดิภาพทางการเงินอย่างมั่นคง

Page 2 of 7
X

Right Click

No right click