December 26, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

FAM @ KMITL Transform การปรับตัวของคณะบริหารธุรกิจ

August 13, 2018 4948

นวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของโลก มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าการอยู่นิ่งเฉยไม่ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทำให้มีหลายองค์กรที่ต้องล้มหายตายจากไป แม้จะเคยเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกก็ตาม

ภาคการศึกษาก็เช่นกัน การปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นเดียวกับที่คณะการบริหารและจัดการ (FAM) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เตรียมตัวพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้มีทักษะสามารถออกไปทำงานในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้

รศ.ดร.อำนวย แสงโนรี คณบดี คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลต่อเนื่องมาถึงสถาบันการศึกษา ที่ต้องผลิตคนที่มีความเท่าทันต่อโลกสามารถนำความรู้ที่ได้จากสถาบันการศึกษาไปปรับใช้กับโลกธุรกิจในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นยุคนี้ได้

“สังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่จะไม่มานั่งเรียนแบบเดิม มาเปิดตำรา นั่งฟังอาจารย์นานๆ ไม่โต้ตอบ เด็กสมัยใหม่เขาจะพยายามมองประโยชน์ที่เขามาเรียนในห้องเรียน การมาเรียนรู้ เพื่อรู้เรื่องและเข้าใจไม่เพียงพอแล้ว เขาต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรกับเขาได้บ้าง โดยเฉพาะเอาไปทำงานได้อย่างไร เป็นคำถามที่เราจะเจอเสมอในชั้นเรียน คณะของเราจึงพยายามปรับตัวเอง”

การปรับตัวของคณะการบริหารและจัดการจึงทำพร้อมกันในหลายด้านพร้อมกัน

เศรษฐศาสตร์ สำหรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

จากจุดเน้นของคณะการบริหารและจัดการที่เริ่มต้นจากการอยู่ในสถาบันที่มีชื่อเสียงในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเปิดหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจที่เน้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐที่กำลังต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางดังกล่าว หลังจากดูแนวโน้มความต้องการใช้งานบัณฑิตในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว คณะจึงเน้นการเรียนการสอนเพิ่มอีกศาสตร์หนึ่งคือ “เศรษฐศาสตร์” ซึ่งอยู่ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์

“เราไม่ได้เปิดเพื่อมุ่งเน้นเป็นเชิงทฤษฎีหลักทางเศรษฐศาสตร์ แต่จะเป็นเชิงที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และจะเน้นอุตสาหกรรม นวัตกรรม พวกนี้เขาสามารถคิดวิเคราะห์วางแผนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการโดยนำนวัตกรรมมาใช้เป็นประโยชน์ได้ คือลักษณะธุรกิจแค่บริหารจัดการภายใต้นวัตกรรมไม่พอ จะต้องวางแผนด้วย ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันไม่ได้ คนที่จะมาทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี น่าจะเป็นคนที่วิเคราะห์เรื่องรายละเอียดตัวเลข เศรษฐกิจ ผลกระทบในนโยบายหรือทางเลือกต่างๆ ได้ดี ในภาวะที่เราต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในธุรกิจให้แข่งขันได้ จะต้องมีการใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยออกแบบ”

เศรษฐศาสตร์ประยุกต์เป็นการขยายตัวของคณะการบริหารและจัดการ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ สามารถเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโน้มที่โลกกำลังให้ความสนใจ

รศ.ดร.อำนวยเพิ่มเติมว่า ในด้านการบริหารจัดการก็ต้องเปลี่ยนแปลง เช่นจากที่เคยซื้อขายกันด้วยเงินสดเปลี่ยนสู่สังคมไร้เงินสด แนวโน้มผู้ใช้บริการที่สาขาธนาคารลดลง รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่จะซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ธุรกิจและภาครัฐก็ต้องปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หากไม่สามารถวางแผนได้ดีโดยเกาะกระแสเหล่านี้ไปได้ ก็จะเสียโอกาสในทางธุรกิจไป

 

ฝึกนักวิเคราะห์

คณบดีคณะการบริหารและจัดการมองว่า ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรือธุรกิจเดิมๆ ไม่ได้ถูกฝึกให้คิดในกรอบของบริบทความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จึงยังเลือกทำงานแบบเดิมๆ อยู่ แต่บัณฑิตที่คณะจะผลิตออกสู่ตลาดแรงงานจะถูกฝึกให้มีวิธีมองปัญหา วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

“เราให้เขาเรียนเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่ในธุรกิจ ดังนั้นเวลาเขาทำงานเขาจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพวกนี้มากกว่า และสามารถเอาข้อมูลที่มีในระบบต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่า”

รูปแบบการเรียนการสอนและหลักสูตรจึงเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนักคิดนักวิเคราะห์ เช่น ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์มีการเรียนเรื่อง Big Data และ Data Anylysis

“เขาจะเอาเรื่องพวกนี้มาเป็นประโยชน์ในการเอาทฤษฎีไปจับ และพวกนี้เวลาคิดอะไรคิดเป็นตัวเลข จะทำให้การทำงานของเขา มีพื้นฐานภายใต้การตัดสินใจที่มีข้อมูลที่ดี เราฝึกให้เขาเป็นอย่างนั้น เราไม่ได้สอนให้เขาพอเห็นตัวเลขแล้วเอามาใช้ประโยชน์ไม่เป็น หรือเกิดเหตุการณ์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลเขาจะมองออกว่า ลักษณะแบบนี้เขามีทฤษฎีที่จะเอาไปจับเพื่อมองทางออกอย่างไรดี”

สำหรับภาควิชาบริหารธุรกิจ ก็จะผลิตคนที่ออกไปช่วยแก้ปัญหาด้านการบริหารโดยใช้ความได้เปรียบเรื่องความเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีของตนเองไปช่วยในการทำธุรกิจเมื่อพบปัญหาในกระบวนการทำงาน ก็สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เป็นเรื่องการแข่งขันที่ธุรกิจต้องมองว่าตัวเองจะดึงอะไรเข้ามาเพื่อประโยชน์ของการแข่งขันของตัวเองหรือบริการให้ลูกค้า

รศ.ดร.อำนวยอธิบายว่า ในบางครั้งนักบริหารหากไม่มีความคุ้นเคยกับเรื่องเทคโนโลยีก็จะมองไม่ออกว่าปัญหาที่มีควรใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดมาจัดการ แต่หากมีประสบการณ์ในแวดวงเทคโนโลยีมาบ้าง ก็จะพอมองออก หรือได้เห็นตัวอย่างจากที่คนอื่นทำ จึงสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้การทำธุรกิจจำเป็นต้องใช้มุมมองเหล่านี้ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน คนที่มุมมองแบบนี้จะเข้าใจธุรกิจที่ตัวเองอยู่ว่าควรนำอะไรมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“เพราะเราทำเรื่องพวกนี้มานานแล้ว นักศึกษาของเราเขาจะสามารถประยุกต์ เช่น ข้อมูลในคอมพิวเตอร์มาเป็นประโยชน์ แล้วเราสอนในเชิงปริมาณ เราไม่ได้สอนเชิงทฤษฎีพื้นฐานอย่างเดียว ซอฟต์แวร์เป็น เอาตัวเลขจากฐานข้อมูลไปเขียนโปรแกรม เอาหลักไปวิเคราะห์ เขาชินกับเรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันเราก็มีเรื่องเทคโนโลยีให้เขาเรียนรู้ สภาพแวดล้อมเขาก็อยู่กับเรื่องเทคโนโลยี และส่วนใหญ่เด็กของเราจะออกไปในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม อย่างน้อยเขาสามารถไปช่วยเรื่องการนำนวัตกรรมใหม่ๆ วิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ที่ไม่เคยวิเคราะห์เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์”

หลักสูตรที่คล่องตัว

การจัดการเรียนการสอนในยุคใหม่นอกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีการอภิปราย ฝึกปฏิบัติทฤษฎีที่เรียนไป การให้งานนักศึกษาจะต้องออกมานำเสนอหน้าชั้นทั้งในแบบกลุ่มและแบบเดี่ยว รวมถึงการทำรายงานส่งเป็นการฝึกบุคลิกภาพและทักษะการเขียนและนำเสนอ

ที่คณะการบริหารและจัดการยังออกแบบหลักสูตรให้มีความคล่องตัว เพราะตระหนักดีว่ามีเรื่องที่ต้องเรียนรู้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถเปิดหัวข้อวิชาใหม่ได้ทันที ดร.อำนวยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“เป็นการออกแบบหลักสูตรที่ปรับตัวได้ มีอย่างนี้อยู่ 2-3 วิชา เรียกว่า หัวข้อพิเศษ (Special Topics) เพื่อรองรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง อย่างปีนี้เรื่องบล็อกเชน บิตคอยน์ต้องเชิญอาจารย์มาบรรยายแล้ว คุณจะจบออกไปต้องรู้เรื่องนี้แล้ว ต้องเข้าใจ ต้องหาคนที่ทำให้เขาเห็นด้วย เพราะของเรา จะให้เขาได้เห็นตัวอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ทฤษฎี อาจจะต้องให้เขาปฏิบัติ ให้เขาลองเข้าไปหรือเห็นตัวอย่างที่คนอื่นทำ ปีนี้เราเตรียมแล้วว่าต่อไปเรื่องพวกนี้เด็กจะต้องเรียน เรื่องเอไอ บิ๊กเดต้า เราต้องให้เขามีพื้นความรู้ที่ดี เราโชคดีที่เราอยู่สถาบันนี้ เราหาคนไม่ยาก นี่คือข้อได้เปรียบของเรา อย่างบิ๊กเดต้าเราจะเชิญอาจารย์มาสอน เราก็ขอจากคณะวิทยาศาสตร์ เพราะเราจับมือร่วมมือกันหมด เราไม่ได้เป็นสถาบันที่ใหญ่มากเกินไป เด็กเราไม่รู้เรื่องนี้ดีเราเตรียมเด็กโดยการใช้ความร่วมมือระหว่างคณะในสถาบัน ไม่ต้องไปควานหาข้างนอก เพราะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเราก็เด่นอยู่แล้ว ก็ตรงกันพอดี หรืออย่างเศรษฐศาสตร์จะไปร่วมกับคณิตศาสตร์สถิติคอมพิวเตอร์ จะจับมือกันทำเศรษฐศาสตร์ในแนวที่เป็นลักษณะของการใช้สถิติใช้ตัวเลขวิเคราะห์”

 

เติมความเป็นนานาชาติ

เพิ่มเติมจากจุดเด่นของคณะการบริหารและจัดการ ที่ผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้ในสาขาที่เรียน มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ อีกสิ่งหนึ่งที่คณบดีมุ่งเน้นคือเรื่องความเป็นนานาชาติ หลังจากที่คณะเปิดภาควิชาบริหารธุรกิจนานาชาติมาแล้วระยะหนึ่ง

รศ.ดร.อำนวยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สำหรับคนที่จะออกไปทำงานในโลกต่อไปเรื่องภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษจะช่วยทำให้บัณฑิตของคณะสามารถออกไปทำงานได้ในอีกระดับหนึ่ง โดยขณะนี้กำลังมองต่อไปว่าจะเปิดเศรษฐศาสตร์ที่เป็นนานาชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มเติมความรู้ทางภาษาให้กับนักศึกษาในหลักสูตรปกติ

“ถ้าเขาเก่งภาษาอย่างอังกฤษจะทำงานได้มากขึ้น เดี๋ยวนี้บริษัทข้ามชาติมีจำนวนมาก แล้วก็ไม่ใช่แค่พูด เขียน อ่าน ในศาสตร์ตัวเอง ภาษาอังกฤษก็ต้องรู้เรื่องด้วย ดังนั้นการเรียนการสอนแบบใช้ภาษาก็จะช่วยให้เด็กมีโอกาสที่ดีในการทำงานและการไปเรียนต่ออีกมาก นี่คืออีกจุดที่เราพยายามสร้าง”

เพิ่มประสบการณ์

รศ.ดร.อำนวยกล่าวถึงอีกเรื่องที่คณะกำลังทำ คือการเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ด้วยการพาไปดูงานไม่ว่าจะเป็นในโรงงานอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจ ว่าการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากสถานที่จริง นอกจากเป็นการเพิ่มประสบการณ์ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นภาพการทำงาน สามารถ
นำสิ่งต่างๆ ที่ได้เจอมาเป็นประสบการณ์ในการทำงานต่อไป

“ได้ในเรื่องภาพที่เขาเจอ หลายๆ อุตสาหกรรมให้เขาดู แล้วเขาก็จะปะติดปะต่อเขาเอง เราหวังให้เขาได้เห็นอะไร เด็กบริหารเห็นแต่ร้านค้าธุรกิจไม่พอ เพราะเราบริหารอุตสาหกรรม เขาจะได้เห็นว่า โลกเปลี่ยน ใช้แขนกล หุ่นยนต์ แล้วเรามีเครือข่ายอยู่แล้วทำไมไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมจะพยายามให้เขาทำเพราะไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แต่เด็กก็ชอบ ได้ไป ได้คุยกัน เหมือนคนไปต่างประเทศกลับมาก็คิดโน่นคิดนี่คิดนั่น เพราะเห็นอะไรมา ก็แบบเดียวกัน ผมมองว่า ถ้าเด็กไม่เคยเห็นอะไรเลย จะไปจินตนาการก็ไม่รู้เรื่องเพราะไม่เคยเห็น”

 การจัดการศึกษาของคณะการบริหารและจัดการที่กำลังปรับปรุงในรอบนี้ จึงเป็นการเสริมจุดแข็งของคณะในการผลิตนักบริหารที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นจุดเด่นของสถาบันด้วยการเสริมศาสตร์และทักษะที่จะช่วยให้บัณฑิตที่จบออกไปสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้จากมหาวิทยาลัยไปมีส่วนช่วยให้องค์กรพัฒนาแข่งขันได้ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นในอัตราเร่งเช่นทุกวันนี้

การจะไปพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะพอสมควรดังที่ รศ.ดร.อำนวยบอกไว้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์กับบริหาร เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ เพื่อนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ แปลผล และวางแนวทางแก้ไข จึงต้องใช้เวลาและประสบการณ์ในการเลือกใช้ความรู้และข้อมูลต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้ตามบริบทที่มีอยู่ 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 08 July 2022 11:45
X

Right Click

No right click