November 23, 2024

ศูนย์บริการวิชาการ FAM-KMITL มุ่งเน้นคุณภาพและการใช้งานได้จริง

June 06, 2019 10541

งานบริการวิชาการเป็นงานที่นำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้กับสังคมภายนอกเครือข่ายต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการค้นหาและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างตรงจุด

นำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดย ดร. พรศรี เหล่ารุจิสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการ FAM-KMITL หรือ SMART KnowledgeManagement Center (Smart KM Center) คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ตั้งโมเดลการทำงานของศูนย์ฯ เอาไว้สองส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกเป็นงานบริการของศูนย์ฯในด้านต่างๆ

โดยงานในส่วนนี้ จะมีงาน3 ส่วนใหญ่ได้แก่

(1) งานด้านฝึกอบรม เพื่อเติมความรู้

(2) งานสร้าง Big Data

(3) งาน Business Consultant โดยเฉพาะงานในส่วนที่สามยังแบ่งเป็น 4 งาน

3.1 จะมีการ Coaching พัฒนา Products ต่างๆ นำเอาสินค้าในเครือข่ายของ สจล. ทั้งหมดมาหาโอกาสเพื่อขับเคลื่อนออกสู่ตลาด กับผู้ประกอบการทุกขนาดทั้งกลุ่ม OTOP เกษตรกรรายย่อย และ SMEs เพราะ สจล. มีการคิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมามากมายและต้องการที่จะกลับไปช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้นอย่างครบวงจร โดยจุดแข็งของศูนย์ฯ คือ การบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ทั้งทางด้านบริหารธุรกิจและงานวิจัยทางนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเกิดการบริการ อย่างครบวงจร ทั้ง Supply Chain Management

3.2 การ Coaching เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้จริง เพื่อการพัฒนาภายในองค์กรและ เครือข่าย โดยกระบวนการขับเคลื่อน อาจจะใช้งานวิจัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดการ Action ตัวอย่างเช่น หลายครั้งที่ผู้ที่เข้ามารับบริการอาจจะยังไม่ทราบสาเหตุของปัญหาที่ต้องการแก้ไขด้วยซ้ำ ศูนย์ฯจึงต้องเข้าไปทำงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำมาต่อยอดสู่การบริการที่ตรงจุดมากขึ้นแล้วทำการอบรมเพื่อให้พนักงานในองค์กรมีความเข้าใจที่ตรงกัน บางครั้งการทำงานวิจัยลักษณะนี้ก็มีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนงบวิจัยบางส่วน ซึ่งเอกชนที่สนใจก็สามารถมาขอทุนผ่าน KMITL โดยทางศูนย์ฯ ประสานงานให้ได้ เกิดการดำเนินการเฉพาะเจาะจงตามลักษณะธุรกิจและปัญหาที่ผู้ใช้บริการต้องการ (Tailor Made)

3.3 การเป็นที่ปรึกษาให้ชาวต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ทางทีมงานของเรามั่นใจว่าเราจะประยุกต์ใช้งานวิชาการและเชื่อมเครือข่ายให้บริการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานจริงได้ตลอดจนการทำ Business Matching กับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ

3.4 บริการผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ไปลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการผลักดันให้เกิดการ Matching กับ Investor ต่างประเทศ

ส่วนที่สอง เป็นงานโครงการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมศูนย์ระยะยาวเพื่อให้ศูนย์ฯ อยู่ได้อย่างยั่งยืน ได้แก่

(1) ศูนย์ฯ จะรวบรวมศิษย์เก่าและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Knowledge Management Sharing

(2) ศูนย์ฯ จะเป็นผู้ประสานงานผลักดัน Startup ของคณะและเครือข่าย ตอนนี้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนกับ KMITL ค่อนข้างจะเป็น Generation ใหม่ที่มีความหลักแหลม และมีไฟต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจ นับเป็นโอกาสอันดี ที่จะขับเคลื่อนทำงานร่วมกับ Startup ในและต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมในด้านนี้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์ฯ เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นานนัก ดร. พรศรี จึงได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนให้ศูนย์ฯ แห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น "สิ่งที่จะทำให้เกิดชื่อเสียง คือ เราต้องเน้นงานบริการเชิงวิชาการและมีการบูรณาการความรู้แบบสหวิทยาการ ศูนย์ฯ พร้อมประสานงานกับทุกคณะของ KMITL และ มหาวิทยาลัยอื่น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและ เอกชนภายนอกอื่นๆ ด้วย เพื่อให้วิชาการที่เกิดขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะต้องดำเนินการเรื่อง บริษัทจำลอง เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงไม่ใช่แค่เป็นแค่นามธรรมอีกด้วย จะเห็นว่าโครงการที่เรามีนั้นค่อนข้างหลากหลาย เพราะธุรกิจปัจจุบันงานฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ถ้าเขากลับไปแล้วทำอะไรไม่ได้ก็จะไม่เกิดโมเมนตัมขึ้น เราเชื่อว่าถ้าเขาสามารถนำเอาสิ่งที่เรามอบให้ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ก็จะเกิดการบอกต่อและสิ่งเหล่านี้เองที่จะกลับมาสร้างชื่อเสียงให้กับเรา"

 

      

 


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
ภาพ : ฐิติชญาน์ แปลงกูล

 

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 08 July 2022 07:24
X

Right Click

No right click