บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ แถลงปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามมติของคณะกรรมการบริษัท ชูความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านผู้นำ (Leadership Transformation) โดยเป็นบริษัทพลังงานที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ขึ้นนำทัพขับเคลื่อนการบริหารธุรกิจได้อย่างราบรื่น มีผล 2 เมษายนนี้ พร้อมผลักดันการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรให้กระชับและทันสมัย สอดรับกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ สำหรับผลประกอบการปี 2566 ยังคงสร้างกำไรและกระแสเงินสดได้อย่างมีเสถียรภาพจากกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานและกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ควบคู่กับการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตอกย้ำการเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องและต่อยอดการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้งคุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา โดยการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบ้านปูเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร(Leadership Transformation) คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดแนวทางและวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession Planning and High Performance Management) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Business Transformation ) มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการในปี 2566 กลุ่มบริษัทบ้านปูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,343 ล้านบาท) โดยรายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 54,361 ล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มธุรกิจมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจเหมือง คงความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าราคาก๊าซจะไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทฯ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และบริหารจัดการต้นทุน เพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มดำเนินการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรียบร้อยแล้ว

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการรักษาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเท็กซัส ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในประเทศลาว โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในประเทศจีน สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง  ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีกำลังผลิตรวมจากพลังงานหมุนเวียน 870 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกประเทศต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการเติบโตต่อเนื่องของโซลูชันพลังงานฉลาดแบบครบวงจร ผ่านการขยายฐานลูกค้าและการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ ในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง อาทิ การลงทุนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในประเทศญี่ปุ่น และการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) มีความคืบหน้าสำคัญ โดยบริษัท บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์  กับเอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี นอกจากนี้ ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ยังขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) และการบริหารการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า(EV Fleet Management) เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง 2,500 จุด, คาร์แชร์ริ่งกว่า 1,500 จุด, สถานีชาร์จกว่า 300 สถานีและจุดบริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า 20 แห่ง

“สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ จะเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ต่อยอดประโยชน์สูงสุดจาก Banpu Ecosystem เพื่อทำให้บ้านปูเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่สามารถส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต ดิฉันเชื่อมั่นว่าการนำทัพของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม พร้อมการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากคณะผู้บริหารของกลุ่มบ้านปูทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยสนับสนุน จะสามารถนำบ้านปูไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน” นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.banpu.com และ https://www.facebook.com/Banpuofficialth 

*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยปี 2566 ที่ USD 1: THB 34.8022

บ้านปู เน็กซ์ บริษัทลูกของบ้านปู ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่อยอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจกับ SVOLT ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งโรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกักเก็บพลังงาน เซลล์แบตเตอรี่ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตั้งเป้าให้โรงงาน SVOLT Thailand แห่งนี้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Yang Hongxin, Chairman และ CEO บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (SVOLT) Mr. Zhang Feng, Vice President บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (SVOLT) นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ Group Senior Vice President บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือ

SVOLT และบ้านปู เน็กซ์จะเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ร่วมกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประกอบแบตเตอรี่ลิเธียม ระบบกักเก็บพลังงาน การผลิตเซลล์แบตเตอรี่ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในประเทศไทยและสอดรับกับนโยบายต่างๆ นอกจากนี้ จะศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย และอัปเกรดสายการผลิตจากแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นระบบกักเก็บพลังงานอีกด้วย โดยจะเริ่มต้นจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทยเพื่อขานรับนโยบายภาครัฐและเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตในปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือทางธุรกิจ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการพัฒนาโครงการด้านระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างแผนธุรกิจใหม่ๆ สำหรับรุกตลาดทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกาเหนือ

นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “วันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของบ้านปู เน็กซ์ ที่จะมุ่งขับเคลื่อนสังคมไร้คาร์บอนในอนาคต การต่อยอดความร่วมมือกับ SVOLT เพื่อตอกย้ำการเป็นพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมเปิดโอกาสใหม่ในธุรกิจด้านการกักเก็บพลังงาน เซลล์แบตเตอรี่ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ อีกทั้งช่วยสร้างมูลค่าในธุรกิจแบตเตอรี่ของบ้านปู เน็กซ์ ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น รวมถึงผลักดันให้เรานำจุดแข็งมาตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศและบุกเบิกนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือทางการค้า ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศไทยและทั่วโลกได้”

Mr. Yang Hongxin, Chairman และ CEO บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (SVOLT)  กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่หน่วยงานภาครัฐของไทยและบ้านปู เน็กซ์ ได้สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจของ SVOLT ในประเทศไทย การลงนามในข้อตกลงครั้งนี้เป็นผลสำเร็จจากการทำงานร่วมกันของทั้งสองบริษัท ซึ่งจะนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทย เราเชื่อว่าความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ระหว่าง SVOLT และบ้านปู เน็กซ์ จะช่วยให้ SVOLT สามารถส่งมอบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ล้ำสมัยสู่ตลาดไทยได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดพลังงานใหม่ในประเทศซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ระดับโลก และสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจและผู้บริโภคชาวไทย”

ในฐานะองค์กรด้านเทคโนโลยีโครงข่ายพลังงานระดับโลก SVOLT ได้ขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับบ้านปู เน็กซ์ ในหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มก่อสร้างโรงงาน SVOLT Thailand อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม การเข้าซื้อหุ้น SVOLT Thailand ของบ้านปู เน็กซ์ ในเดือนตุลาคม ตามมาด้วยกิจกรรมการเยี่ยมชมโรงงาน SVOLT ในเดือนพฤศจิกายนซึ่งได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ก่อนจะปิดท้ายด้วยการผลิตแบตเตอรี่ชุดแรกจากโรงงานของ SVOLT Thailand และบ้านปู เน็กซ์ ในเดือนธันวาคม ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ SVOLT และบ้านปู เน็กซ์ จะผนึกกำลังนำความแข็งแกร่งมาใช้ร่วมกันทั้งเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ระดับโลก และความหลากหลายทางธุรกิจ ซึ่งจะรวมไปถึงการร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต และผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดพลังงานของไทยและส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและสะอาดมากขึ้น

ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรม

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ได้ลงนามสัญญาเงินกู้ มูลค่า 2.4 พันล้านบาท กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งรวมถึงเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน จำนวน 10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนเพื่อเทคโนโลยีสะอาด (ADB-Administered Clean Technology) เพื่อเป็นทุนสนับสนุนธุรกิจบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 6 ที่นั่ง จำนวน 1,500 คัน และการสนับสนุนธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับการคมนาคมขนส่งขนาดเล็กในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการขยายฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 1.3 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในมณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเงินทุนนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู และสนับสนุนการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจพลังงานที่สะอาดและฉลาดขึ้น (Greener & Smarter)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูอยู่ในช่วงของการขยายพอร์ตฟอลิโอธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นรวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เพื่อรองรับเทรนด์พลังงานโลก เราขอขอบคุณ ADB ที่สนับสนุนความมุ่งมั่นของเรา ทั้งสององค์กรมีปณิธานตรงกันในการสร้างพลังงานที่ยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ความพยายามของเราสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนไปพร้อมกัน”

“ADB ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานที่มีเสถียรภาพ ราคาสมเหตุสมผล และมีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจอีโมบิลิตี้ และธุรกิจแบตเตอรี่ เราหวังว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” นางซูซานน์ กาบูรี่ ผู้อำนวยการ สำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าว

 

ปัจจุบัน ธุรกิจอีโมบิลิตี้ ของบ้านปู เน็กซ์ ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านมูฟมี (MuvMi) ในลักษณะ Ride Sharing ครอบคลุม 12 พื้นที่ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ และมีจุดให้บริการกว่า 3,000 จุด สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน บริษัทฯ มีธุรกิจที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงบริการโซลูชันด้านแบตเตอรี่ที่เต็มศักยภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต จัดจำหน่ายแบตเตอรี่ การนำแบตเตอรี่มาใช้ซ้ำและการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำรองไฟ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) “ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายระดับนานาชาติ” (International Versatile Energy Provider) ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 พร้อมฉายภาพความสำเร็จของหน่วยงาน Digital and Innovation (D&I)” หนึ่งกุญแจสำคัญที่นำพาบ้านปูเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยเป้าหมายในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน ผ่านการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาเชื่อมโยงการทำงานของบ้านปูใน 9 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจในระยะยาว ด้วย 4 ผลงานเด่น อาทิ การตรวจสอบเส้นทางขนส่ง การวิเคราะห์แนวโน้มราคาพลังงาน การจัดเก็บและรวมศูนย์ข้อมูลของบริษัทในกลุ่มบ้านปูทั้ง 9 ประเทศ ตลอดจนยกระดับ Cybersecurity สร้างความปลอดภัยด้านข้อมูลขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตทางธุรกิจภายใต้   กลยุทธ์ Greener & Smarter

 

ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ Head of Digital and Innovation บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูกำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ (Banpu Transformation) ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว บริษัทฯ ได้จัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เมื่อปี 2561 เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ และต่อมา ได้ผนวก DCOE เข้ากับหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในช่วงกลางปี 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายใต้ชื่อหน่วยงานใหม่อย่าง Digital and Innovation หรือ D&I ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของบ้านปูให้แข็งแกร่ง รองรับความต้องการขององค์กรที่มีการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากร พร้อมสนับสนุนงานปฏิบัติการของธุรกิจในกลุ่มบ้านปู ทั้งในไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยให้สำนักงานใหญ่ในไทยเป็นผู้นำในการทำ Digital Transformation โดยปัจจุบันมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 150 คนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่เติบโตเร็วมาก”

ดร.ธีระชัย กล่าวต่อว่า “เป้าหมายและกรอบการทำงานของ D&I ในช่วง 1-2 ปีแรกของการจัดตั้งหน่วยงาน เรามุ่งให้ทีมสามารถทำงานอย่างสอดประสานและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบ One Team, One Goal เพื่อสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และในช่วงปีที่ 3-4 เป็นช่วงของการใช้กลยุทธ์การทำงานที่สอดคล้องกัน โดยทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงสามารถแชร์ทีมงานดิจิทัล (Digital Workforce) กันได้ด้วย แม้ว่าการดำเนินงานในประเทศต่างๆ จะมีบริบทที่ต่างกัน แต่เราต้องผนวกความร่วมมือ (Synergy) เพื่อเร่งให้บ้านปูประสบความสำเร็จตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ได้เร็วขึ้น หลังจากที่บ้านปูดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ปี 2558”

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ D&I คือส่งเสริมให้บุคลากรของบ้านปูตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดิจิทัล (Digital Awareness) และเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่พนักงานที่เกี่ยวข้องในสายงาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถสำคัญที่ทั้งบ้านปูและโลกกำลังต้องการ โดยมีการฝึกฝนบุคลากรให้มีชุดความคิดแบบดิจิทัล (Digital Mindset) และกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยมี Digital Coach เป็นผู้สอนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ พร้อมเทรนเดอะเทรนเนอร์ (Train the trainers) เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรให้เป็นเทรนเนอร์หรือโค้ชที่สามารถถ่ายทอดทักษะให้แก่ผู้อื่นได้ต่อ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านบุคลากร (People Transformation) รวมถึงการจัดตั้ง Digital Capability Center (DCC) ในหลายประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือของพนักงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยดำเนินงานภายใต้ 4 พันธกิจคือ 1) นำเทคโนโลยีไปปรับใช้ทั่วทั้งองค์กร 2) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น 3) สร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร และ 4) สร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคต

 

ในช่วงที่ผ่านมา ทีม D&I ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในโครงการต่างๆ ที่มีความโดดเด่น ถูกนำไปใช้งานจริง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ในอนาคต อาทิ

  • Supply Chain Optimization ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น เส้นทางเดินเรือของเรือขนส่งสินค้า ตารางการจัดวัสดุ อุปกรณ์ เป็นต้น
  • Energy Trading ระบบซื้อขายพลังงานที่มีเทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์ทิศทางของราคาพลังงาน เช่น ในอีก 5-10 นาทีข้างหน้าค่าไฟจะต่ำลงหรือสูงขึ้น ช่วยในการตัดสินใจซื้อ-ขายพลังงานได้อย่างแม่นยำ แม้ระบบนี้จะยังอยู่ในช่วงของการทดสอบ แต่ได้นำร่องใช้งานในออสเตรเลียแล้ว และมีแนวโน้มขยายการใช้งานไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
  • Master Data Warehouse ศูนย์กลางข้อมูลของบ้านปูใน 9 ประเทศ เนื่องจากฐานข้อมูลของกลุ่มบ้านปูกระจายอยู่ในหลายประเทศ ทีม D&I จึงพัฒนา Master Data Warehouse ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลของบ้านปู โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเก็บดาต้าให้เป็นหมวดหมู่และควบคุมให้เป็นฟอร์แมท (Format) เดียวกัน พร้อมกับทำ Corporate Information Factory (CIF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเก็บ Data Master Files ร่วมด้วย
  • Cybersecurity ขยายขอบเขตการดูแลความมั่นคงทางไซเบอร์ ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน ส่งผลให้การประกาศสมาชิกดัชนีความยั่งยืน ดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ในปี 2022 บ้านปูได้รับคะแนนประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้าน Cybersecurity เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

“ตลอด 1 ปี 6 เดือน หน่วยงาน D&I ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ (Key Enabler) และเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยซัพพอร์ตงานด้านดิจิทัลทั้งหมดของบ้านปู เราเดินหน้าไปแล้วกว่า 270 รายการ เป็นรายการทั้งที่อยู่ในขั้นทดลอง/ทดสอบ หรือให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษา บางรายการเป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งต้น (Minimal Viable Product: MVP) หรือเป็นโครงการที่พัฒนาโซลูชันจนสามารถใช้งานในองค์กรได้ รวมถึงมีโครงการที่สร้างรายได้กลับเข้ามาในหน่วยงาน และโครงการที่ช่วยลดต้นทุนให้หน่วยงานในบ้านปูได้ด้วย เหล่านี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความก้าวหน้าในการมุ่งมั่นใช้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของ  บ้านปู” ดร.ธีระชัย กล่าวทิ้งท้าย

ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 บ้านปูยังคงเดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อย่างชาญฉลาดทั่วทั้งองค์กร สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าเพียงหนึ่งปีครึ่ง หน่วยงาน Digital and Innovation ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจหลายโครงการ ทั้งหมดนี้ เพื่อสนับสนุนการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้คนในวันนี้และในอนาคต ตอกย้ำพันธสัญญาที่ว่า ‘พลังบ้านปู สู่พลังงานที่ยั่งยืน’ (Our Way in Energy)

X

Right Click

No right click