×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI) ประกอบด้วย Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และ บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิว นิเคชั่น จำกัด ได้ร่วมกันจัดการอภิปราย (Panel Session) ในหัวข้อ "Strategic CSR through SDGs: The Opportunities & Competitiveness to 2020" ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ที่จะขอนำมาถ่ายทอดไว้ ดังนี้

 เริ่มจาก การแนะนำว่า Strategic CSR นั้น ไม่ได้เกิดจากการลอกแบบ Best Practices ที่องค์กรอื่นดำเนินการ และพยายามทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือทุนที่สั่งสมในองค์กรของตน นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินการ ในทางที่เสริมสร้างขีดการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

การทำ Strategic CSR จะดำเนินการผ่านความริเริ่มหรือโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก แต่คุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เกิดขึ้น จะมีนัยสำคัญและเห็นผลเด่นชัด

ตัวอย่างหนึ่งที่ยกในการอภิปราย คือ การต่อต้านทุจริต สามารถยกระดับจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) ซึ่งเป็นการทำงาน (ตามเช็คลิสต์) ในเชิงรับ และจำกัดเฉพาะองค์กรของตน มาเป็น Strategic CSR ที่อาศัยบทบาทขององค์กร ผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งไปยังส่วนงานที่มีผลกระทบสูง อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดจากการประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลไปกับการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย ผมได้มีโอกาสชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ Strategic CSR กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการนำห่วงโซ่ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นสายคุณค่า (Value Chain) มาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุจุดที่องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบ (Minimizing Negative Impact) และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก (Increasing Positive Impact) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

Source: GRI and UNGC, Integrating the SDGs Into Corporate Reporting: A Practical Guide, 2018.

 

ตัวอย่างของธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน และวัตถุดิบจากภาคเกษตร กรณีของการลดผลกระทบเชิงลบ สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 3 เรื่องสุขภาวะ ที่เป็นการจัดสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย SDG เป้าที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ที่เป็นการลดน้ำเสียจากการประกอบการ และ SDG เป้าที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นการลดความเสื่อมโทรมของดิน

กรณีของการเพิ่มผลกระทบเชิงบวก สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 8 เรื่องเศรษฐกิจและการจ้างงาน ที่เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ และ SDG เป้าที่ 12 เรื่องแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่เป็นการเพิ่มช่องทางแก่ผู้บริโภคในการนำเครื่องนุ่งห่มใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น

จะเห็นว่า บทบาทของธุรกิจหรือภาคเอกชน สามารถใช้ Strategic CSR ในการตอบสนองต่อ SDGs ได้ โดยการวิเคราะห์สายคุณค่าที่องค์กรดำเนินงานอยู่ว่ามีส่วนใดที่ส่งผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ต่อ SDGs และองค์กรจะตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ได้อย่างไร

หากใช้ตรรกะข้างต้น ในการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างมีภารกิจของหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการบรรลุ SDGs อยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย (โดยอาจไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่) แต่จำเป็นต้องมีการประเมินและปรับกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยราชการ ในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่

  • เลิกสร้างโครงการใหม่ (New Projects) ด้วยงบประมาณก้อนใหม่
    เริ่มปรับกระบวนงานปัจจุบัน (Existing Processes) ให้สอดรับกับการตอบสนอง SDGs
  • ลดความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (Top-down)
  • เพิ่มความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up)
  • ขจัดบรรยากาศการทำงานในแบบที่มีพิธีรีตองมากเกินไป (Bureaucratic)
  • เพิ่มบรรยากาศการทำงานในแบบสานความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย (Collaborative)
  • เน้นส่งเสริมการพัฒนาแบบกลุ่มความร่วมมือ (Cluster)
  • แทนการพัฒนาในแบบทีละส่วน ทีละอย่าง (Piecemeal)

รัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงสุด จำต้องตระหนักถึงบทบาทที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุ SDGs ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย กลไก และกระบวนการขับเคลื่อน

 

 

Adapted from Michael E. Porter’s Presentation on a Strategy for Haitian Prosperity, September, 2017.

 

จากการทำงานในรูปแบบเดิม (Old Model) ที่รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนโยบายจากบนลงล่าง เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ให้ทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ (New Model) โดยตระหนักว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งรัฐบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ภาคธุรกิจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างสัญชาติ สมาคมการค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคพลเมือง

ที่สำคัญ การมีนโยบายที่ดีโดยลำพัง ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน แต่ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จ เกิดจากความแน่วแน่ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (Translating Policy into Action)


บทความ โดย : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ 

ความยั่งยืน (Sustainability) ถูกจัดให้เป็นวาระของการพัฒนาในทุกระดับ โดยในระดับโลกมีการกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ 17 ข้อ

บทสรุปของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้ง 17 Sustainable Development Goals ที่ UN ได้กำหนดไว้นี้ ดูเหมือนว่าจะมาอยู่ในหัวใจสำคัญของภารกิจพิชิต Goal สุดท้ายนี้เอง นั่นคือ การรวมพลังสานเครือข่ายจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยทุกฝ่ายมุ่งมั่นแชร์หลักการเดียวกัน ในวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อสร้างพลังยิ่งใหญ่ที่จะนำพาทุกองคาพยพให้เข้าถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันนั่นเอง

 

โดยการดำเนินการที่ควรทำอย่างเร่งด่วน คือ การปลอดล็อกเงินทุนจำนวนมหาศาลกว่าล้านล้านบาทที่กระจุกตัวอยู่ในภาคเอกชน ให้กระจายไปยังภาคส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระยะยาวด้านการพัฒนาประเทศ เพิ่มอัตราการลงทุนในการส่งออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งหมายรวมทั้ง การลงทุนด้านพลังงาน การวางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมที่ทันสมัย ไปจนถึงระบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า 

 

ภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเป็นเสาหลักในการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการตรวจสอบกรอบและกำหนดกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปบังคับใช้ในการลงทุนที่นำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้น เพื่อความสำเร็จของภารกิจยิ่งใหญ่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กร สนับสนุน ดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากภาครัฐ เอกชนแล้ว องค์กรภาคประชาสังคมก็มีบทบาทเคียงข้างภาครัฐในการมีส่วนร่วมและผลักดันโครงการดีๆ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยสถาบันไทยพัฒน์ นับเป็นองค์กรภาคประชาสังคมต้นแบบ ที่มีจุดมุ่งหมายดำเนินการให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมไทย โดยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เมื่อปี พ.ศ. 2555 และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนทางสังคม โดยสำนักงานเลขาธิการว่าด้วยหลักการลงทุนทางสังคม (Principles for Social Investment: PSI) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ

 

ขอยกตัวอย่างบทบาทสำคัญล่าสุด ที่นำสู่การขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนในทุกองคาพยพในเวลาต่อมา นั่นคือ เมื่อครั้งที่มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ณ เมืองรีโอเดจา-เนโร ประเทศบราซิล ถือเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 โดยมีความคิดริเริ่มที่สำคัญ คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งยกร่างโดยคณะทำงานของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) สถาบันไทยพัฒน์ เป็น 1 ใน 4 องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นองค์กรในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 จากสมัชชาสหประชาชาติ ให้เข้าร่วมการประชุม Rio+20 อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Meeting) ได้มีการให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์ การประชุม (Outcome Document) ที่ใช้ชื่อว่า “The Future We Want”

 

ต่อมา หลังจากที่ชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้จัดประชุมเพื่อให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 สถาบันไทยพัฒน์ก็ได้แถลงถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Develop-ment Network Board (SDNB) ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2558 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ภายใต้วาระสังคม 2020 หรือ Society 2020 ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล  

 

 

คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บอร์ดยั่งยืน” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ดร.สุนทร คุณชัยมัง คุณสุกิจ อุทินทุ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ รวม 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ  โดยบทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในลักษณะที่เป็น Collective Impact เรียกว่าเป็น ‘หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคม 2020’ หรือ Partnership for Sustainable Development towards Society 2020 ตามเจตนารมณ์ของเป้าหมาย SDG ข้อที่ 17 นั่นเอง

 

Society 2020 เป็นวาระที่บอร์ดยั่งยืนริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างขบวนเคลื่อนไหวทางสังคมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการทำงานในรูปของกลุ่มความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) ที่ต้องการเห็นภาคประชาชนทำหน้าที่ (Perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านหรือแปรรูป (Transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมได้รับการดูแลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน และภาครัฐมีการปฏิรูป (Reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform” มุ่งไปสู่ “สังคมที่เราต้องการ” (The Society We Want) ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยมีกรอบเวลา 5 ปี ในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ. 2020) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 จะมีการจัดกลุ่มการพัฒนาในแต่ละด้าน ในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นำโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีแผนงานหรือความริเริ่ม หรือมีโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาการดำเนินโครงการอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2020 โดยสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน วาระสังคม 2020 ถูกออกแบบให้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่มุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในลักษณะเครือข่าย บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยในการออกแบบการร่วมดำเนินงาน ได้คำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของหน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานมาใช้ในการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 เพราะในทุกหน่วยงานจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ที่มีความโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และที่สำคัญ คือ การทำงานตามวาระสังคม 2020 จะเน้นที่การต่อยอดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่เริ่มจากศูนย์ และพร้อมเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อขยายผลการดำเนินงานของหน่วยงานในเชิงปัจเจก มาสู่ผลลัพธ์ในเชิงท้องถิ่น ภูมิภาค และโลกโดยรวม

 

 

การร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 สามารถดำเนินการได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็น “องค์กรริเริ่ม” และระดับที่เป็น “องค์กรเข้าร่วม” ดำเนินงาน

องค์กรริเริ่ม หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ริเริ่มและนำการดำเนินงาน โดยอาจมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นำโดยองค์กรริเริ่ม ซึ่งได้มีการเสนอแผนงานหรือโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินงานอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2020 ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน

องค์กรเข้าร่วม หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้เข้าร่วมดำเนินงานที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ริเริ่ม โดยอาจเข้าร่วมในคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรเข้าร่วมมีความสนใจและสามารถให้การสนับสนุนทุน ทรัพยากร หรือความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่ในเบื้องต้น ธนาคารออมสิน ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคม 2020 ซึ่งนับเป็นองค์กรในหมวดธุรกิจธนาคารรายแรกที่ได้นำเอาเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อไปใช้เป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ก็ได้เข้าร่วมมือเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกรอบ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก

 

นี่เป็นหนึ่งในต้นแบบองค์กรภาคประชาสังคมของไทย ที่ดำเนินการจนกระทั่งเห็นผลไปในทิศทางก่อให้เกิดความยั่งยืน ทว่าในส่วนของ Goals ที่ UN ตั้งไว้ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด the global partnership for sustainable development ให้ได้ภายในปี 2030 นั้น ยังแบ่งออกเป็น การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงผสานความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติที่จะเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ การสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้มากยิ่งขั้น ขณะเดียวกัน ยังต้องพัฒนาด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาจจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ ที่จะมาเป็นสื่อกลางนำเสนอนวัตกรรมและเครื่องมือที่เหมาะสมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ UN ตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้เห็นผลภายในปี 2017 ที่จะถึงนี้ด้วย

 

เผยแพร่    นิตยสาร MBA ฉบับครบรอบ เดือนมีนาคม 2016

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

แค่กล่าวถึงข้อเท็จจริงเดียวที่อ่านเจอใน Goal 16 ของ Sustainable Development Goals อาจทำให้หลายคนตกใจโดยไม่รู้ตัวว่า ทุกวันนี้ ปัญหาการคอร์รัปชัน การรับสินบน การโจรกรรม ไปจนถึงการหลบเลี่ยงภาษีในโลกเรานั้น ยังคงเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากตัวเลขล่าสุดของมูลค่าจากการได้มาโดยมิชอบนี้ สูงถึง 1.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ให้ผู้คนที่มีรายได้ไม่ถึง 1.25 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว พวกเขาจะพอมีพอกินไปถึง 6 ปีเต็มทีเดียว

 

ที่หยิบยกมากล่าวเป็นเรื่องแรก เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า จากปัญหาคอร์รัปชันทั้งหลายนี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งขัดขวางการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม อย่างที่ทุกคนวาดหวังไว้ในอีกมุมหนึ่ง สาเหตุของความเสื่อมถอยในสังคมที่เราอยู่ ยังเกิดขึ้นเนื่องจากบนโลกใบนี้ยังคงมีการกระทำรุนแรงต่อผู้ด้อยโอกาสอย่างเด็กและสตรี ยืนยันได้จากเว็บไซต์ UNICEF#ENDviolence against children ที่ระบุไว้ว่า ทุกๆ 5 นาที สักแห่งหนบนโลกใบนี้ จะต้องมีเด็กเสียชีวิตเพราะความรุนแรง ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ UN มุ่งที่จะขจัดเพื่อพิชิต Goal ที่ 16 ว่าด้วย Peace Justice and Strong Institutions ให้ได้

 

 

มองในมุมประเทศไทย ปัญหาการคอร์รัปชันนับเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม โดยสถิติล่าสุดจากมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยระบุว่า การจัดอันดับดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชัน พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ลำดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก นี่จึงแสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เริ่มจากภาครัฐ ตั้งแต่เข้ามาดูแลประเทศก็เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสงครามกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าด้วยกัน โดยคณะกรรมการนี้ จะทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ซึ่งนี่เป็นความตั้งใจที่จะจัดระบบปราบปรามคอร์รัปชันของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ตอนนี้ ดูเหมือนว่าผลจากความตั้งใจอันดีของรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นดอกผลให้ เห็นชัด แต่ก็ถือว่ามีส่วนกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาจริงจังกับปัญหาการคอร์รัปชันมากขึ้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศชาติ ในยุคที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้

 

ส่วนตลาดทุนก็มีความตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด พิสูจน์ได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำโรดแมปการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ระยะ 5 ปี ( พ.ศ. 2557-2561 ) โดยหนึ่งในแผนงานหลัก คือ การให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ด้วยการแบ่งระดับการประเมินเป็น 5 ระดับ ในรูปแบบ Progress Indicator เพื่ออัพเดตความคืบหน้าของการดำเนินงานในเชิงที่เอื้อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรของตนเอง การทำเช่นนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทจดทะเบียนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งการปลอดคอร์รัปชันให้ภาคธุรกิจไทยอย่างเห็นผลด้วย

 

 

ต่อมา ขอพูดถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม นั่นคือ ความพยายามที่จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ อย่างในสังคมไทยก็เกิดแคมเปญรณรงค์ทำนองนี้จำนวนไม่น้อย ต้องยอมรับว่าหลายแคมเปญมีแนวคิดในการนำเสนอที่โดนใจและทำให้ทุกคนในสังคมคล้อยตาม หากแต่ยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ข่าวคราวรายวันในสังคมไทยที่เกี่ยวกับการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือแม้กระทั่งสัตว์ ลดลงได้ ซึ่งปัญหานี้ มีผู้วิเคราะห์ไว้ตรงกันว่า ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องแก้ในระดับทัศนคติหรือความเชื่อ เพราะในหลายกลุ่มคนยังคงมีทัศนคติความเชื่อว่า การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา หรือ สามีเป็นใหญ่ ลูกและภรรยาคือผู้อ่อนแอ เป็นสมบัติของสามีหรือบิดามารดา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเกิดจากปัจจัยที่อยู่ในตัวผู้ใช้ความรุนแรงเอง เช่น ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก จากบิดามารดาที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือเรียนรู้จากสื่อ อย่างอ่านการ์ตูน ดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง ยิ่งถ้าผู้นั้นได้กระทำรุนแรงแล้วได้ผล ไม่มีใครว่า ก็ย่อมจะทำบ่อยครั้งขึ้น หรือลักษณะนิสัยที่ชอบดื่มเหล้า และสาเหตุจากการป่วยทางจิตก็เป็นอีกปัจจัยที่พบเห็นได้ว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในสังคมไทย

 

ทางออกของปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะในครอบครัวนั้น จึงไม่ใช่การแก้ไขในจุดจุดเดียว หากแต่ต้องได้รับการแก้ไขแบบครบวงจร รอบด้าน ตั้งแต่แนวทางป้องกันแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยม ซึ่งต้องเริ่มจากการศึกษาในโรงเรียน จัดให้มีหลักสูตรให้ความรู้ เสริมสร้างทัศนคติที่ดี ไปจนถึงการสอดแทรกกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไม่เปิดรับการแก้ปัญหาในครอบครัวด้วยความรุนแรง ไปจนถึงการกำหนดแนวทางการป้องกันแก้ไขในระดับกฎหมาย ให้เป็นไปในทางเพิ่มโทษ เพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำรุนแรงเกรงกลัว รวมทั้งกำหนดตัวบทกฎหมายให้ครอบคลุมความผิด ที่ตอนนี้มีหลากรูปแบบมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีช่องว่างกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดพ้นโทษไปได้

 

เช่นกันกับปัญหาระดับโลก ที่เป็นอุปสรรคของการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นบนโลก นั่นคือ ปัญหาการก่อการร้าย ที่ UN เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2001 จึงได้ก่อตั้ง The Counter-Terrorism Committee (CTC) เพื่อสอดส่องดูแลและจัดการปัญหาก่อการร้ายในโลกอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า การก่อตั้งหน่วยงานมากมายที่มาต่อสู้กับภัยก่อการร้าย ก็ไม่ได้ทำให้ภัยก่อการร้ายลดลง มิหนำซ้ำ ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ ในยุคนี้ ตัวอย่างของเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นและไม่มีใครลืมลง นั่นคือ การก่อการร้ายใจกลางกรุงปารีส ด้วยการใช้ระเบิดและกราดยิงผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเหตุการณ์เลวร้ายนี้ช็อกผู้คนทั่วโลก ให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวบนโลกใบนี้เสียแล้ว 

 

 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ปัญหาการก่อการร้ายได้กลายเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุม World Economic Forum ที่จัดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยโฟกัสไปที่การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง (extremism) ตัวการของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก และทางออกของปัญหานี้ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศของตนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เพื่อสกัดกั้นได้แต่แรกก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง โดยโฟกัสไปที่กลุ่มประเทศที่เป็นผู้ต้องหาของโลกในขณะนี้อย่างประเทศมุสลิม ส่วนในประเทศไทย รัฐบาลชุดนี้แถลงชัดเจนว่ากำลังจัดเตรียมเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการก่อการร้าย อาทิ กล้องจับภาพใบหน้าความละเอียดสูงให้พอเพียงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์อะไร ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่า แต่ละเรื่องดูจะต้องใช้เวลายาวนานที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือดูว่าหนทางแห่งการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นบนโลกดูจะเป็นแสงสว่างอยู่ลิบๆ ตรงปลายอุโมงค์ แต่เชื่อเหลือเกินว่า หากทุกความเข้าใจที่กล่าวมาได้นำมาปรับเปลี่ยนและปฏิบัติในรูปแบบทางออกของปัญหา อย่างน้อยย่อมจะสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยได้ตามอัตภาพได้ไม่ยาก

 

เผยแพร่     นิตยสาร MBA ฉบับครบรอบเดือนมีนาคม 2016 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

มนุษย์เรามีความผูกพันกับท้องทะเลและมหาสมุทรมาเป็นเวลายาวนาน จนกล่าวได้ว่ามหาสมุทรหรือพื้นน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาลบนโลกนี้เองที่ได้ขับเคลื่อนระบบต่างๆ ให้กับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ผ่านความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านอุณหภูมิ องค์ประกอบทางเคมี กระแสน้ำตลอดจนการดำรงชีวิต

Page 3 of 4
X

Right Click

No right click