×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

แผ่นรองพรมรักษ์โลกจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ย่อยสลาย ลดปัญหาขยะพลาสติก ผลงานนักศึกษาปริญญาโท นางสาวประภัสสร วันนิจ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ดร.วีราภรณ์ ผิวสอาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้าเหรียญทอง ในงาน “Seoul International Invention Fair 2018” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

 

 

นางสาวประภัสสร วันนิจ เล่าว่า พรมปูพื้นในปัจจุบันทำจากพลาสติกจำพวกพอลิโพรไพลีน(Polypropylene, PP) หรือพอลิเอสเตอร์ (Polyester) ประเภทพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Poly(ethylene terephthalate), PET) ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ไม่ย่อยสลาย และจากปริมาณการผลิตพรมในประเทศไทยมีมากกว่า 4,000 ตันต่อปี ดังนั้นปริมาณของขยะพลาสติกที่เกิดจากพรมในแต่ละปีจึงมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าปริมาณการผลิต เนื่องจากอายุการใช้งานของพรมอยู่ระหว่าง 2-5 ปี ขยะพลาสติกจากพรมจึงเป็นปัญหาต่อการกำจัด ซึ่งการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่เหมาะสมเนื่องจากคุณภาพและสมบัติทางกายภาพของพอลิเมอร์ที่ลดลง พอลิเมอร์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นแหล่งของปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงศึกษาหาวัสดุชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทน PP หรือ PET โดยศึกษาการใช้พอลิแลคติคแอซิด(Poly(lactic acid), PLA) เพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนของพรมและใช้ทดแทนพอลิเมอร์แบบเดิม

 

 

งานวิจัยได้ทำการศึกษาการประยุกต์เทคโนโลยีการใช้พอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อผลิตชิ้นส่วนของพรม และศึกษากระบวนการขึ้นรูปที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการแบบเดิมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติที่ดีกว่าเดิม โดยศึกษากระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwoven) แบบใหม่คือ Melt jet spinning หรือ Cotton candy method เป็นกระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีขนาดเล็กได้ในระดับไมโครเมตร และสามารถผลิตเส้นใยได้ในประมาณที่มาก ไม่ต้องใช้แรงดันไฟฟ้าสูงในกระบวนการ ทำให้ประหยัดพลังงานและได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความนุ่มมากขึ้นและมีสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น ลักษณะของพรมรักษ์โลกต้นแบบเป็นแผ่นผ้าที่มีลักษณะคล้ายสำลีหรือขนมสายไหม ฟูๆ นิ่ม สีขาว

 

 

ความแตกต่างของพรมรักษ์โลกต่างจากพรมในปัจจุบันเรื่องของการย่อยสลาย พรมส่วนใหญ่ที่ผลิตจากพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 400 ปี สำหรับแผ่นรองพรมที่คิดค้นจากพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อทิ้งเป็นขยะจะสามารถเริ่มกระบวนการย่อยสลายได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ทำให้ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตพรมโดยใช้พอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพเพื่อทดแทนพอลิเมอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมและไม่ย่อยสลาย การผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอจากกระบวนการ Melt jet spinning หรือกระบวนการ Cotton candy เป็นกระบวนการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เนื่องจากใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำ และยังสามารถผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอได้เป็นจำนวนมาก

รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในครั้งนี้ และภูมิใจที่งานวิจัยสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติกมากขึ้น

เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 100 ปี ของพานาโซนิคในประเทศญี่ปุ่น พานาโซนิคทั่วโลกได้มีการเฉลิมฉลอง และจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำความเป็นแบรนด์คุณภาพ ภายใต้แนวคิด “A Century of Reliability หนึ่งร้อยปีแห่งความไว้วางใจ” โดยตลอดระยะเวลา 57 ปีที่กลุ่มบริษัทพานาโซนิคดำเนินงานในประเทศไทย มีการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกับโครงการ “พานาโซนิค มอบ 10,000 หลอดไฟทั่วไทย ปันรอยยิ้มสู่ชุมชน” มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบหลอดไฟให้กับโรงเรียนและโรงพยาบาลที่ต้องการใช้หลอดไฟเพื่อสาธารณประโยชน์ ซ่อมแซมหลอดไฟเดิม หรือเพิ่มความสว่างให้กับสถานที่ โดยมีเป้าหมายในการมอบจำนวน 10,000 หลอดทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นหลอดประหยัดไฟแอลอีดีรุ่น LDAHV8DG4A ที่ประหยัดไฟมากกว่าหลอดไส้ทั่วไป ทนต่อการเปิด-ปิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะปราศจากสารปรอท และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

โดย มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มต้นมอบหลอดไฟให้กับโรงเรียนและโรงพยาบาลแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านศาลา จ.เชียงใหม่ จำนวน 200 หลอด โรงเรียนบ้านชัยพร มิตรภาพ ที่ 67 จังหวัดอุดรธานี จำนวน 200 หลอด และโรงพยาบาลอุดรธานี จำนวน 500 หลอด

สำหรับโรงเรียนหรือโรงพยาบาลที่ต้องการหลอดไฟใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-2731 – 8888 #2911 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนางรสชรินทร์ คำโพธิ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านศาลา จังหวัดเชียงใหม่

 

บรรยากาศการรับมอบหลอดไฟพานาโซนิค โรงเรียนบ้านชัยพร มิตรภาพ ที่ 67 จังหวัดอุดรธานี

 

มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ และ นายยืนยง อภิชนกิจ มอบหลอดไฟแก่โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีนพ. เกรียงศักดิ์ พิมพ์ดา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ พร้อมด้วยเภสัชกรดำรงเกียรติตั้งเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และพญ.ศศินี อภิชนกิจ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นผู้รับมอบ

ย้อนเส้นทางสานต่อศาสตร์พระราชา ผ่านโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” โดยเอสซีจี ผลสัมฤทธิ์แห่งการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพลิกฟื้นความเข้มแข็งให้ชุมชน

“เพราะน้ำคือชีวิตของทุกสรรพสิ่ง ที่ใดมีน้ำที่นั่นย่อมมีชีวิต...” เอสซีจี จึงได้เดินอยู่บนเส้นทางแห่งการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายมากว่า 10 ปี

จุดเริ่มต้นเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งเเวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่

เอสซีจี ได้น้อมนำเเนวพระราชดำริ 'จากภูผาสู่มหานที' ผสานเเนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาต่อยอดโครงการ “รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ที่ดำเนินมากว่า 10 ปี ด้วยโครงการ “รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” ในปี 2561 เพื่อขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับเเต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำที่สมบูรณ์ สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ตลอดจนเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จิตอาสา เเละพนักงาน เพื่อสร้างพลังเเละเชื่อมความรู้การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

“ฝายชะลอน้ำ” ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ต้นน้ำ

เริ่มต้นจากพื้นที่ต้นน้ำ อ.เเม่ทะ จ.ลำปาง ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งในฤดูเเล้ง น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เเละป้องกันไฟไหม้ป่า ก่อนขยายไปยังพื้นที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อฝายชะลอน้ำช่วยให้น้ำกลับคืนมาสู่พื้นที่ จึงนำไปสู่การสร้างสระพวงเชิงเขา วิธีการกักเก็บน้ำที่ใช้การเชื่อมต่อสระน้ำเป็นพวง ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ไม่อุ้มน้ำ ชุมชนสามารถเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชแบบใช้น้ำน้อย เช่น ฟักทอง บวบ ถั่วฝักยาว มะระขี้นก ได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี เกิดรายได้รวมในชุมชนถึง 18 ล้านบาทต่อปี และยังใช้วิธีการกระจายน้ำในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง ทำให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ สร้างรายได้กว่า 100,000 บาท / ครัวเรือน / ปี ช่วยให้ชุมชนมีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งอีกประมาณ 134,000 ลบ.ม. สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มระบบและพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ไม่เฉพาะภาคเหนือ แต่แนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำยังได้ขยายผลสู่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ชุมชน ภาคีเครือข่าย และเอสซีจี ได้ร่วมสร้างฝายเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำของลำน้ำสาขาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช อันเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งต่อแนวคิดไปสู่พื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน และหน้าดินที่ถูกชะล้างซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ฝายชะลอน้ำจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยชะลอน้ำและฟื้นคืนสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“ฝายช่วยคืนความสมดุลให้ป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัวและแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนของเรามีโอกาสพูดคุย เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้นผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว

“แก้มลิง” กักเก็บน้ำในพื้นที่กลางน้ำ พลิกฟื้นพื้นที่ทำการเกษตร

สำหรับพื้นที่กลางน้ำ เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ต้นแบบชุมชนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขยายการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนสู่บ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น โดยจัดทำ “แก้มลิง” แหล่งสำรองน้ำจากการขุดลอกหนองน้ำเดิม เพื่อเชื่อมต่อจากแม่น้ำชีไปสู่หนองน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชน สำหรับเก็บกักน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมพื้นที่เกษตรได้กว่า 250 ไร่ อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเลี้ยงปลาเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างน้อยปีละ 30,000 บาท และบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคในครัวเรือน

“บ้านปลาเอสซีจี” ผลสำเร็จในพื้นที่ปลายน้ำ

ทอดยาวไปยังพื้นที่ปลายน้ำ เอสซีจีได้นำท่อ PE100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทย โดยปัจจุบันได้วางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้ว 1,600 หลัง ใน จ.ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 40 ตร.กม. เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของสัตว์น้ำเศรษฐกิจและปลาสวยงามกว่า 172 ชนิด

“หัวใจสำคัญของโครงการตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา คือ ความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลา และดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพลังของจิตอาสาที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 11,500 คน และขณะนี้ เอสซีจียังทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเล และชุมชนมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย” นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าว

นอกจากนี้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่สามารถออกหาปลาในทะเลช่วงมรสุมได้ เมื่อจะใช้คลองที่อยู่ใกล้ชุมชนเป็นที่ทำกินก็พบว่า ปลามีจำนวนน้อยเพราะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ เอสซีจีจึงเข้าไปร่วมกับชุมชนพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยนำนวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี มาหล่อเป็นบ้านปลาในลักษณะวงกลมที่มีช่องขนาดหลากหลาย เพื่อให้ปลาสามารถว่ายผ่านไปมาได้และสามารถใช้หลบภัยได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง และหญ้าทะเล สำหรับช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ด้วย

เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม

ด้วยความเชี่ยวชาญของเอสซีจี เเละประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เอสซีจีมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จึงได้นำ "นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต" ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์เเละเทคโนโลยีสังเคราะห์ซึ่งมีความเเข็งเเรงและปรับรูปแบบได้ตามต้องการ มาใช้สร้างสระพวงสำหรับกักเก็บน้ำที่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง เพื่อแก้ปัญหาดินทรายไม่อุ้มน้ำ

นอกจากนั้น ยังได้มีการใช้ นวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี” ที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ในน้ำทะเลได้นานกว่าปูนธรรมดา มาหล่อเป็นบ้านปลาสำหรับเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ทะเลในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังแข็งแรงทนทาน ไม่มีส่วนประกอบที่สามารถแตกหักเสียหายกลายเป็นขยะใต้น้ำได้

ขณะเดียวกันก็ได้นำ "นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100" ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกของธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยในการขนส่งน้ำ มาออกแบบสร้างเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งพบปัญหาจำนวนปลาใกล้ชายฝั่งลดน้อยลง

เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ จิตอาสาเพื่อความยั่งยืน

ทุกๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี 2561 ไม่เพียงแต่จะมีชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และพนักงานเอสซีจี ร่วมเป็นจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำและประกอบบ้านปลาเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่ม Young รักษ์น้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหลากหลายสถาบันการศึกษากว่า 80 คน ร่วมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ร่วมกับเอสซีจีในทุกทริป เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ไปชมผลสำเร็จของบริหารจัดการน้ำ ด้วยเชื่อว่าพลังจากคนรุ่นใหม่จะช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริให้คงอยู่สืบไป

 “ไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ในชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสา กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่ลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรานางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ Young รักษ์น้ำ

ก้าวต่อไปของ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที”

เอสซีจีจะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2020 ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมชนและจิตอาสา สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 83,200 ฝาย และจะขยายการสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้ครบ 100,000 ฝาย ขุดสระพวงเชิงเขาส่งต่อน้ำเพื่อทำการเกษตรไปแล้ว 7 สระ โดยมีเป้าหมายจะขุดสระพวงให้ครบ 20 สระ และจัดทำระบบแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำไปแล้ว 8 พื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้ครบ 20 พื้นที่ รวมถึงวางบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำไปแล้ว 1,900 หลัง โดยตั้งเป้าหมายจะวางให้ครบ 2,600 หลัง รวมทั้งเอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมชุมชนให้มีความสามารถในการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพและส่งเสริมให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scg.com/lovewater

ด้วยเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ เอสซีจีจึงยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

นายยรรยง มุนีมงคลทร (ขวา) ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย)​ จำกัด มอบมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ระบบแท็งค์ EcoTank L6190 จำนวน 5 เครื่อง ให้แก่มูลนิธิกระจกเงา โดยนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อใช้ในภารกิจการติดตามคนหายและโครงการด้านสังคมต่างๆ ของมูลนิธิฯ  ประกอบด้วยโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการโรงพยาบาลมีสุข โครงการอ่านสร้างชาติ และโครงการศูนย์รับบริจาค ณ มูลนิธิกระจกเงา เมื่อเร็วๆ นี้

เอไอเอ ประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสังคมไทยให้แข็งแกร่ง โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เอไอเอได้เดินทางลงใต้เพื่อส่งมอบ “ห้องสมุดเอไอเอ” หลังที่ 36 ให้แก่นักเรียน โรงเรียนอนุบาลบ้านด่าน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ซึ่งมีนักเรียนจำนวนรวมกว่า 778 คน ซึ่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ด้านการศึกษา รวมถึงห้องสมุดที่จะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ของเด็กนักเรียนและคนในชุมชน เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอไอเอ ที่ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ พร้อมสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไทย ซึ่งโครงการ “ห้องสมุดเอไอเอ” เป็นโครงการที่เอไอเอ ประเทศไทย ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยได้สร้างห้องสมุดและส่งมอบให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตามชุมชนที่อยู่ห่างไกลมาแล้วทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ

 

 

โดยในพิธีเปิดห้องสมุดเอไอเอ หลังที่ 36 ได้รับเกียรติจาก นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยตัวแทนจาก เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นางสาวรพีพร วงศ์ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ และนายกฤษณ์ อัตตะสาระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายตัวแทนภูมิภาค 5 ร่วมกันส่งมอบห้องสมุดเอไอเอ หลังที่ 36 ให้แก่ นายมนูญ จันทร์สุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง และนายวันชาติ สุทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านด่าน โดยมีคณะครูและนักเรียน ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

 

สำหรับห้องสมุดเอไอเอหลังนี้ เป็นห้องสมุดขนาด 54 ตารางเมตร โดยได้มีการออกแบบให้มีความสวยงาม โปร่งตา และดูทันสมัย เพื่อดึงดูดให้เยาวชนอยากเข้ามาใช้บริการ เน้นประโยชน์ใช้สอย และรวบรวมหนังสือและนิตยสารที่มีคุณภาพ ครอบคลุมสาขาวิชาแขนงต่างๆ ที่สำคัญ เอไอเอ ยังได้มอบคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ค้นหาความรู้ใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก โดยเอไอเอ หวังว่าห้องสมุดหลังนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้นักเรียนและคนในชุมชนได้ค้นคว้าหาความรู้ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน

 

 

นอกจากนี้ เอไอเอ ประเทศไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีและมีจริยธรรม ทั้งสิ้น 6 ทุน ทุนละ 2,000 บาท พร้อมกับมอบอุปกรณ์เสริมทักษะการศึกษา อุปกรณ์กีฬา และเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลบ้านด่านอีกด้วย

 

ในปี 2561 เป็นปีที่ เอไอเอ ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันชีวิตที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา เอไอเอได้รับความไว้วางใจจากคนไทยทั่วประเทศให้ดูแล พร้อมทั้งได้ส่งมอบหลักประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่งคงให้แก่ชีวิตและสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดย เอไอเอ ประเทศไทย ยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์โครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญาของเอไอเอ “Healthier, Longer, Better Lives”

X

Right Click

No right click